กำเนิดแนวคิดทางวิชาการของกลยุทธ์ทางธุรกิจ
แนวคิดทางวิชาการของกลยุทธ์ทางธุรกิจกำเนิดขึ้นมาเมื่อ ค.ศ 1950s และ ค.ศ 1960s นักวิชาการหลายคนที่มีอิทธิพลมากที่สุดตอนนั้นคือ ปีเตอร์ ดรัคเกอร์, อิกอร์ แอนซอฟท์, ฟิลิป เซลซ์นิค, และอัลเฟรด ชานด์เลอร์ ก่อนหน้า ค.ศ 1960 คำว่ากลยุทธ์ได้ถูกใช้เกี่ยวกับสงครามและการเมืองไม่ใช่ธุรกิจ ปัจจุบันเราคงจะไม่มีหนังสือเล่มไหนที่สามารถสังเคราะห์ประวัติและวิเคราะห์วัฒนาการของกลยุทธ์ได้อย่างสนุกสนานและบันเทิงได้เท่ากับหน้งสือ Strategy Safari ของผู้เขียนร่วมคือ Henry Mintzberg, Bruce Ahistran และ Joseph Lampel อีกแล้ว นับตั้งแต่การพิมพ์หนังสือเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ 1987 และถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากกว่าสิบภาษา นักธุรกิจ นักวิชาการ หรือนักบริหาร ทั่วโลกยอมรับว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้เสียแล้ว
เฮนรี่ มิงท์เบิรก นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ คานาดา ยืนยันว่าเราได้มองกลยุทธ์จากประสบการณ์ที่จำกัดของเราเอง ดังนั้นเราควรจะรวมประสบการณ์ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะมองภาพรวมของกลยุทธ์ นักวิชาการกลยุทธ์ไม่อาจจะรับความหมายเดียวของกลยุทธ์ได้ ดังที่วารสารอีโคโนมิสท์ ได้กล่าวว่า”ไม่มีใครเลยที่รู้อย่างแท้จริงว่ากลยุทธ์คืออะไร”
เมื่อ ค.ศ 1912 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เปิดสอนวิชากลยุทธ์เป็นแห่งแรกของโลกคือ วิชานโยบายธุรกิจ โรแลนด์ คริสเทนเซน และเค็นเนธ แอนดูรว์ ได้เขียนหนังสือกลยุทธ์เล่มแรกขึ้นมาเมื่อ ค.ศ 1965 คือ Business Policy : Text and Casea เพื่อการสอนวิชานี้ ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
Igor Ansoff ได้เขียนหนังสือกลยุทธ์เล่มที่สองขึ้นมาภายในปีเดียวกัน อิกอร์ แอนซอฟท์ เป็นนักคณิตศาสตร์และนักบริหาร และได้ถูกยกย่องว่าเป็นบิดาของการบริหารเชิงกลยุทธ์ เขาได้สร้างมุมมองใหม่ของกลยุทธ์ การมองว่ากลยุทธ์คือการกระจายธุรกิจอย่างหนึ่ง เมื่อแกรี่ย์ ฮาเมล กล่าวถึงต้นกำเนิดของกลยุทธ์ เขาได้แสดงการยกย่องทางอ้อมอิกอร์ แอนซอฟท์ว่า “กลยุทธ์ไม่ได้เริ่มต้นด้วยอิกอร์ แอนซอฟท์ หรือเริ่มต้นด้วยมาเคียเวลลี่ หรือแม้แต่เริ่มต้นด้วยซุนวู กลยุทธ์เก่าแก่เท่ากับความขัดแย้งของมนุษย์ ด้วยคำพูดอีกอย่างหนึ่งอิกอร์ แอนซอฟท์ ยิ่งใหญ่เทียบเคียงได้กับมาเคียเวลลี่และซุนวู
ประวัติของกลยุทธ์สามารถย้อนหลังกลับไปยังการทหารยุคโบราณได้ เรื่องราวของการทำสงครามระหว่างทหารกรีซและโรมันได้แสดงความสำคัญของกลยยุทธ์เป็นอย่างดี การคิดเชิงกลยุทธ์มีต้นกำเนิดมาจากกลยุทธ์การรบ ความหมายที่เป็นทางการคือ สาขาวิชาศาสตร์ทางทหารเกี่ยวกับการบังคับบัญชาทางทหาร การวางแผนการรบ และการรบทางหาร
เรามีความแตกต่างพื้นฐานระหว่างกลยุทธ์ทางธุรกิจและกลยุทธ์ทางทหารคือ กลยุทธ์ทางธุรกิจได้ถูกกำหนด กระทำ และประเมิน บนสมสมมุติฐานของการแข่งขัน แต่กลยุทธ์ทางทหารอยู่บนสมมุติฐานของความขัดแย้ง กลยุทธ์ทางทหารและกลยุทธ์ทางธุรกิจมีแนวคิดและหลักการหลายอย่างร่วมกันอยู่ กลยุทธ์ทางทหารหลายอย่างได้ถูกใช้ภายในสถานการณ์ทางธุรกิจ เช่น ยุทธศาสตร์การบุก(Offensive Strategy) และยุทธศาสตร์การตั้งรับ(Defensive Strategy) ทางทหารเทียบเคียงได้กับกลยุทธ์ทางธุรกิจคือ กลยุทธ์การเจริญเติบโต(Growth Strategy)และกลยุทธ์การหดตัว(Retrenchment Strategy) ทางธุรกิจ แต่ความแตกต่างระหว่างการแข่งขันทางธุรกิจและการรบทางทหารต้องถูกรับรู้ด้วย วัตถุประสงค์ของการทำสงครามทางทหารคือ การทำลายล้างข้าศึก แต่วัตถุประสงค์ของการแข่งขันทางธุรกิจ ไม่ใช่การทำล้างคู่แข่งขัน บริษัทส่วนใหญ่ได้จำกัดความทะเยอทะยานทางการแข่งขัน การแสวงหาการอยู่ร่วมกันไม่ใช่การทำลายล้างกัน
ข้อเขียนเกี่ยวกับกลยุทธ์เริ่มแรกมีมานานแล้ว ซุนวู นักยุทธศาสตร์ชาวจีน ได้เขียนตำราพิชัยสงครามชื่อ The Art of War ขึ้นมาเมื่อประมาณหกร้อยปีก่อนคริสตกาล ตำราพิชัยสงครามเล่มนี้ได้ถูกแปลเป็นหลายภาษาทั่วโลก
คาร์ล วอน เคลาเซวิทย์ นักยุทธศาสตร์ชาวปรัสเซีย ได้เขียนตำราพิชัยสงครามชื่อ On War เมื่อ ค.ศ 1832
เขาได้เขียนไว้ว่า ยุุทธวิธี หมายถึงการใช้กำลังทหารถืออาวุธภายในการต่อสู้ กลยุทธ์หมายถึง การใช้การต่อสู้เพื่อวัตถุประสงค์ของการทำสงคราม คำว่า Strategy มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคือ Strategie หมายถึงศาสตร์และศิลปของการบัญชาการกองทัพหรือการเป็นแม่ทัพ
ตำราพิชัยสงครามของซุุนวู ตำรายุทธศาสตร์ทางทหารเก่าแก่ที่สุดของโลก มีอิทธิพลอย่างมากทั้งโลกตะวันออกและตะวันตก การนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั้งกลยุทธ์ทางทหารและกลยุทธ์ทางธุรกิจ แม้แต่นโปเลียน โบนาร์พาร์ท แห่งฝรั่งเศส ได้นำยุทธศาสตร์ของซุนวูไปใช้กับการทำสงครามอยู่เสมอ ต้นฉบับของตำราเล่มนี้ถูกเขียนบนไม้ไผ่ และมีทั้งหมด 13 บท
บทเรียนแพร่หลายที่สุดของซุนวูคือ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง การได้มาซึ่งชัยชนะร้อยครั้งไม่ใช่สิ่งที่เลอเลิศ แต่การได้ชัยชนะข้าศึกด้วยการไม่ทำสงครามจะประเสริฐสุด ไม่รู้เขา รู้แต่เรา อาจจะรบแพ้บ้าง ชนะบ้าง นอกจากนี้ซุนวูได้สอนว่ายุทธศาสตร์ ไม่ใช่เพียงแต่การวางแผน เพื่อการกำหนดสิ่งที่จะกระทำเท่านั้น แต่ยุทธศาสตร์ยังต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็ว และเหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสถานการณ์ด้วย
ผู้บริหารทั่วโลกได้ใช้ตำราพิชัยสงครามของซุนวูอย่างกว้างขวางภายในโลกธุรกิจ เพื่อที่จะสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน การมองการแข่งขันเหมือนกับการทำสงคราม เนื่องจากเราไม่ได้มีการผูกขาด หลักสูตรของคณะบริหารธุรกิจหลายมหาวิทยาลัยได้กำหนดให้นักศึกษาต้องอ่านตำราพิชัยสงครามของซุนวูด้วย
บทเรียนที่แพร่หลายมากที่สุดของซุนวูคือ รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง บทเรียนนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์จุดแข็ง และจุดอ่อนของบริษัทและคู่แข่งขัน และเครื่องมือที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายคือการวิเคราะห์ SWOT
เรื่องราวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของกลยุทธ์สมัยโบราณคือ ม้าโทรจัน(Trojan Horse) แห่งสงครามกรุงทรอย ตามตำนานทหารกรีซต้องการบุกเข้าเมืองทรอยที่มีป้อมปราการแข็งแรงมาก โอดิสเชียส แม่ทัพกรีซ ได้ใช้กลอุบายด้วยการสร้างม้าไม้ขนาดใหญ่ไว้หน้ากำแพงเมืองทรอย ทหารกรีซแสร้งทำเป็นล่าถอยไป ชาวเมืองทรอยเข้าใจว่าเป็นบรรณาการ และได้ลากม้าไม้เข้ามาภายในเมือง เมื่อถึงตอนดึก ทหารกรีซได้ออกมาจากม้าไม้ เผาและยึดเมืองทรอยได้สำเร็จ
Liddell Hart นักประวัติศาสตร์ทหารที่มีชื่อเสียง ชาวอังกฤษ เขาได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม Strategy เป็นชื่อหนังสือสงครามคลาสสิคที่มีชื่อเสียงมากของลิดเดิ้ล ฮาร์ท จนทำให้เขาถูกเรียกว่า “เคลาเซวิทย์” แห่งศตวรรษที่ 20
เราเคยมีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อเจียง ไคเช็ค ผู้นำทางทหารของจีน ได้พบกับลิดเดิ้ล ฮาร์ท เจียง ไคเช็ค sได้กล่าวว่า เขาได้ศึกษาการทำสงครามจนได้ชัยชนะจากหนังสือของลิดเดิ้ล ฮาร์ท แต่เจียง ไคเช็ค ได้ประหลาดใจเมื่อลิดเดิ้ล ฮาร์ท ไ้ด้ตอบว่า เขาได้อ่านหนังสือการทำสงครามทั่วโลกมากกว่า 20 เล่ม แม้แต่ On War ของคาร์ล วอน เคลาเซวิทซ์ เขาได้ยืนยันว่าตำราพิชัยสงครามของซุนวูดีที่สุด
ลิดเดิ้ล ฮาร์ท ได้มีส่วนช่วยอย่างสำคัญต่อการเรียบเรียงรายละเอียดของความเชี่ยวชาญการทำสงครามของเออร์วิน รอมเมล เรียกว่า Rommel Myth : ตำนานรอมเมล ลิดเดิ้ล ฮาร์ท ได้มีโอกาสทบทวนบันทึกที่เออร์วิน รอมเมล ได้เก็บไว้ระหว่างสงคราม และได้ถูกพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Rommel Paper เมื่อ ค.ศ 1953 เออร์วิน รอมเมล เป็นชื่อของนายพลเยอรมันที่บดบังรัศมีนายพลเยอรมันคนอื่นทุกคนไปเลยทีเดียว และได้ถูกเรียกว่า จิ้งจอกทะเลทราย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในที่สุดเขาได้ถูกบังคับจากอดอฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมัน ให้ฆ่าตัวตาย
ลิดเดิ้ล ฮาร์ทได้อธิบายถึงยุทธศาสตร์ทางทหารเรียกว่าแนวทางอ้อม(Indirect Approach) ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาได้พยายามค้นหาข้อแก้ปัญหาของอัตราผู้เสียชีวิตที่สูงภายในสนามรบ ด้วยการใช้อัตราส่วนระหว่างกองกำลังและพื้นที่สนามรบ เช่น แนวรบทางตะวันตกที่เขาเคยเป็นทหารอยู่ ยุทธศาสตร์แนวทางอ้อมของเขาได้เสนอแนะให้กองทัพเคลื่อนกองทัพไปตามแนวรบที่มีการต่อต้านน้อยที่สุด เขาได้กล่าวว่าความมุ่งหมายของยุทธศาสตร์คือ การทำให้โอกาสการต่อต้านของข้าศึกลดลง แม้แต่การรบที่แตกหักคือเป้าหมายก็ตาม ความมุ่งหมายของยุทธศาสตร์คือ การทำให้การรบนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นข้อได้เปรียบมากที่สุด สถานการณ์ที่เป็นข้อได้เปรียบมากเท่าไร การสู้รบยิ่งน้อยลงเท่านั้น
เรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อถึงวัน D-Day การบุกชายหาดนอร์มังดี ของฝรั่งเศษ เราจะต้องแน่ใจได้ว่ากองทัพพันธมิตรต้องมีตำแหน่งที่เป็นข้อได้เปรียบข้าศึก ยุทธศาสตร์ของพันธมิตร คือการรักษากองทัพเยอรมันที่กระจายเกินไปไว้ ไม่ให้ตอบโต้กลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายสูงสุดของการบุกนอร์มังดีชัดเจน กองทัพพันธมัตรต้องการชัยชนะเด็ดขาดภายในยุโรป จุดจบของความพ่ายแพ้ของอดอฟ ฮิตเลอร์ภายในเยอรมัน ดังที่ วินสตัน เชอร์ชิลล์ กล่าวไว้ว่า ” การบุกนอร์มังดีเป็นการยึดหัวหาด เพื่อการปลดปล่อยยุโรปจากการยึดครองของเยอรมันอย่างปลอดภัยของกองกำลังพันธมิตร” ิ
เมื่อ ค.ศ 1941 การโจมตีเพิรล ฮาร์เบอร์ ฮาวาย
ของกองทัพญึ่ปุน เป็นการโจมตีทางทหารที่น่าประหลาดใจ จนผลักดันให้อเมริการต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง นายพลดักกลาส แมคอาร์เธอร์ นายพลห้าดาว ผู้บัญชาการกองทัพอเมริกันต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นภายในภาคพื้นแปซิฟิค สัญลักษณ์ประจำตัวสูบไปป์ข้าวโพด เขาได้เคยให้สัญญากับชาวฟิลิปปินส์ด้วยคำพูดที่เป็นอมตะว่า “I Shall Return” เมื่อเขาต้องหลบหนีกองทัพญี่ปุ่นจากฟิลิปปินส์ไปยังออสเตรเลีย
นายพลดักกลาส แมคอาร์เธอร์ได้ใช้ยุทธศาสตร์ทางทหารเรียกว่าการกระโดดข้ามเกาะ(Island Hopping) ทำสงครามกับญี่ปุ่นจนได้ชัยชนะ
ยุทธศาสตร์การกระโดดข้ามเกาะ หรือที่เรียกกันว่าการกระโดดข้าม(Leapfrogging) หมายถึงกองทัพอเมริกันได้อ้อมผ่านเกาะที่ป้องกันอย่างแข็งแรง และได้มุ่งการโจมตีไปยังเกาะที่ป้องกันไม่แข็งแรงของญี่ปุ่น แล้วยึดครองเกาะเหล่านี้ สร้างลานบินขึ้นลง และฐานทัพขนาดเล็กอย่างรวดเร็ว และรุกไปข้างหน้าโจมตีเกาะอื่นต่อไป และในที่สุดยุทธศาสตร์การข้ามเกาะบรรลุความสำเร็จ การยึดครองเกาะภายในแปซิฟิคเข้าใกล้เพียงพอที่จะบุกญี่ปุ่นได้
อลีบาบา ดอทคอม ได้ใช้กลยุทธ์การก้าวกระโดดการแข่งขัน ไปเป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์ใหญ่ที่สุดของโลก แทนที่จะเริ่มต้นจากการเป็นผู้ค้าปลีกจริงเหมือนเช่นร้านค้าปลีกวอลมาร์ทของอเมริกา ภายในยุคของอินเตอร์เน็ตเทคโนโลยี
เมื่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบ เฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ได้ปรากฏตัวเป็นผู้บุกเบิกกลยุทธ์ ท่ามกลางผู้นำอุตสาหกรรม ณ ขณะนั้นรถยนต์เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยของบุคคลที่ร่ำรวยเท่านั้น แต่เฮนรี่ ฟอร์ดมีมุมมองเชิงกลยุทธ์ที่กล้าหาญว่าเขาสามารถผลิตรถยนต์ที่ครอบครัวทั่วไปสามารถซื้อได้ ดังนั้นเขาได้คิดค้นสายพานประกอบชิ้นส่วน เพื่อการผลิตรถยนต์ต้นทุนต่ำขึ้นมาคือ รถฟอร์ด Model T ราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่งของรถยนต์ของคูแข่งขัน
เมื่อ ค.ศ 1920 A&W Root Beer ได้กลายเป็นร้านอาหารแฟรนไชส์แห่งโลก บริษัท(ผู้ให้แฟรนไชส์) ได้ให้สิทธิที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ ตราสินค้า และกระบวนการแก่บริษัทอื่น(ผู้รับแฟรนไซด์) ทั้งนี้ผู้รับแฟรนไชส์ต้องจ่ายค่าแฟรนไชส์บวกร้อยละของรายได้แก่ผู้ให้แฟรนไชส์ แบบจำลองทางธุรกิจที่เรียบง่ายนี้ได้ช่วยให้ผู้ให้แฟรนไชส์สร้างการเจริญเติบโตตราสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ภายในไม่กี่ทษวรรษ แบบจำลองทางธุรกิจนี้ได้สร้างการเจริญเติบโตอย่างเหลือเชื่อแก่ผู้รับแฟรนไชส์ภายในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ปัจจุบันแมคโดนัลด์ ซับเวย์ และเคเอฟซี มีร้านอาหารแฟรนไชส์มากกว่า 30,000 แห่งอยู่ทั่วโลก
เมื่อก้าวไปสู่ ค.ศ 1959 คณะบริหารธุรกิจได้ยอมรับความจำเป็นของวิชากลยุทธ์ มูลนิธิฟอร์ด ได้มีรายงานแนะนำว่าคณะบริหารธุรกิจของทุกมหาวิทยาลัยต้องมีวิชากลยุทธ์เป็นตัวสุดท้ายของนักศึกษา เป้าหมายของวิชานี้คือ การรวมความรู้ข้ามสาขาวิชาธุรกิจที่แตกต่างกัน เช่น การตลาด การเงิน การผลิต หรือทรัพยากรมนุษย์ เข้าด้วยกัน เพื่อที่จะช่วยให้นักศึกษามองเห็นและเข้าใจภาพรวมของการบริหารธุรกิจ และปัญหาทางธุรกิจที่ซับซ้อนได้ รายงานของมูลนิธิฟอร์ดได้กลายเป็นตัวจูงใจให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชากลยุทธ์ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทอย่างแพร่หลาย
เมื่อ ค.ศ 1962 แซม วอลตัน ได้เปิดร้านค้าปลีกวอลมาร์ท แห่งแรก ณ โรเจอร์ อาร์คันซอร์ การใช้กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ/ราคาต่ำ และได้เจริญเติบโตจนกลายเป็นร้านค้าปลีกใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อ ค.ศ 2010
เมื่อ ค.ศ 1962 Alfred Chandler นักวิชาการ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้พิมพ์หนังสือกลยุทธ์เล่มหนึ่งชื่อ Strategy and Structure หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวว่า กลยุทธ์และโครงสร้างองค์การควรจะสอดคล้องกันอย่างไร บทเรียนที่โมเสสเชี่ยวชาญระหว่างการอพยพของชาวฮิบรูจากอียิปต์ หนังสือเล่มนี้ของอัลเฟรด ชานด์เลอร์ ได้ถูกยกย่องว่าเป็นการวิจัยกลยุทธ์เล่มแรก
เมื่อ ค.ศ 1980 เรามีเหตุการณ์ที่เป็นจุดสำคัญสองเหตุการณ์ที่ได้พัฒนากลยุทธ์จนกลายเป็นสาขาวิชาที่มั่นคง เหตุการณ์แรกคือ การเกิดขึ้นของ Strategic Management Journal วารสารที่เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นแก่นักวิจัย นักวิจัยที่สนใจต่อการสร้างความรู้ของกลยุทธ์
เหตุการณ์ที่สองคือ การพิมพ์หนังสือชื่อ Competitive Strategy ของ Michael Porter นักวิชาการ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไมเคิล พอร์เตอร์ ได้กล่าวถึงแนวคิดของการวิเคราะห์พลังห้าตัวของอุตสาหกรรม และกลยุทธ์การแข่งขันโดยทั่วไป หนังสื่อเล่มนี้มีอิทธิพลอย่างมาก และได้ถูกใช้เป็นแนวทางของการกำหนดกลยุทธ์ของบริษัททั่วโลกนานกว่าสามสิบปี