jos55 instaslot88 Pusat Togel Online ขอหอมหน่อย หอมมะลิร้อนๆจ้า - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

ขอหอมหน่อย หอมมะลิร้อนๆจ้า

ขอหอมหน่อย หอมมะลิร้อนๆจ้า
 เป็นที่ทราบกันดี ว่าผลไม้ และผลิตผลของพืชจะมีคุณภาพ และรสชาติดี ถ้าปลูกในที่ดินเค็มหรือที่ริมฝั่งแม่น้ำที่น้ำเค็มขึ้นถึง สำหรับที่ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีแม่น้ำบางปะกงไหลผ่าน ซึ่งแม่น้ำนี้ต่อมาจากแม่น้ำปราจีนบุรี และเมื่อถึงช่วงในฤดูแล้ง น้ำที่ไหลลงมาจากต้นน้ำลดลง ทำให้น้ำเค็มจากปากแม่น้ำบางปะกงหนุนขึ้นมาถึงอำเภอบางคล้าทุกๆปี ทำให้น้ำกร่อยซึมแพร่กระจายเข้าพื้นที่ อำเภอนี้ จึงเป็นแหล่งผลิตผลเกษตรที่มีชื่อเสียง เช่น มะม่วงแรด พิมเสนมัน อกร่อง และสับปะรดบางคล้า สำหรับพื้นที่อื่นๆ คล้ายๆกันคือ แถบจังหวัดสมุทรสงคราม และแถวอำเภอนครชัยศรี ที่เคยมีคำพังเพยว่า “ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย”และที่อำเภอบางปะกงซึ่งก็เป็นพื้นที่ดินเค็มด้วย ก็เหมือนกัน คือปลูกละมุดได้หวานมากๆ
ข้าวหอมบางคล้าเป็นข้าวที่ใครๆก็รู้จักมานานมากหลายปี จนกระทั่งปี ๒๔๙๗ นายสุนทร สีหเนิน พนักงานข้าว อำเภอบางคล้า ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวหอมในท้องที่ได้ ๑๙๙ รวง ส่งให้ ดร.ครุย บุณยสิงห์ ผู้อำนวยการกองบำรุงพันธุ์ข้าว กรมการข้าว ซึ่งได้ส่งไปคัดเลือกพันธุ์ที่ สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง มีนายมังกร จูมทอง เป็นนักปรับปรุงพันธุ์ และนายโอภาส พลศิลป์ เป็นหัวหน้าสถานีทดลองข้าวโคกสำโรง
จากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการพันธุ์ข้าว ได้อนุมัติพันธุ์ข้าวที่ได้คัดเลือกมาคือพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 4-2-105 หรือเรียกสั้นๆว่า ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งต่อมา ได้เอาไปอาบรังสีแกมม่า โดยใช้ปริมาณรังสี ๑๕ กิโลแรต ได้พันธุ์ กข.15 ซึ่งมีอายุเบากว่า ปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้ง หรือดินเค็ม และให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 ๔-๖ เปอร์เซ็นต์ ต่อจากนั้น ได้นำเอา ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไปอาบรังสีอีก โดยครั้งนี้ ใช้รังสีแกมมา ๒๐ กิโลแรตได้กลายเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวกข. 6 ที่ปัจจุบันใช้ปลูกแพร่หลายไปทั่วประเทศ สำหรับข้าวเหนียว กข. 10 คือ ข้าว กข. 1 อาบรังสี นิวตรอน ไม่เป็นที่นิยม เท่า กข. 6 สรุปแล้ว ข้าวหอมมะลิ คือข้าวพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 และ กข. 15 เท่านั้นสำหรับข้าวเหนียว กข.6 นั้น เมื่อหุงสุกจะมีเมล็ดเรียวยาวและนุ่ม เหมือนข้าวหอมมะลิ ปลูกกันแพร่หลายมาก กล่าวได้ว่า เห็นข้าวเหนียวที่ไหน มั่นใจไว้ก่อนว่า เป็นข้าวเหนียว กข.6
สำหรับทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นแถบที่ราบสูงพื้นที่ประมาณ ๒ ล้านไร่เศษ อยู่ในเขต ๕ จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ สุรินทร์ (ท่าตูม ชุมพลบุรี) มหาสารคาม(พยัคฆภูมิพิสัย) ศรีสะเกษ(ราษีไศล) ยโสธร( มหาชนะชัย) และ ร้อยเอ็ด(ปทุมรัตน์ เกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ และโพนทราย) มีเรื่องเล่ากันว่า มีชาวกุลา ทางแถบเมาะตะมะ เข้ามาค้าขายหลงในพื้นที่แร้นแค้นนี้ในสมัยก่อน ลำบากมากๆถึงกับร้องไห้ออกมา จึงตั้งชื่อว่าทุ่งกลาร้องไห้   ตามปกติแล้ว ดินในเขตทุ่งกุลาร้องไห้เป็นดินเค็ม ถึงขนาดมีเรื่องเล่าว่า เคยเป็นนาเกลือ และในปัจจุบันก็มี บริษัทที่สูบน้ำทำนาเกลืออยู่ทางแถบจังหวัดนครราชสีมาใกล้เคียงนั่นเอง (ซึ่งผู้เขียนไม่อยากให้ทำนาเกลือสินเธาว์ น่าจะใช้เกลือทะเลมาทำให้บริสุทธิ์มากกว่า การทำเกลือสินเธาว์นั้น ทำให้เกิดโพรงมหาศาลอยู่ใต้ดิน) สำหรับโซเดียมที่เป็นสารประกอบของเกลือนั้น เข้าใจว่ามีส่วนทำให้การปลูกข้าวหอมมะลิได้คุณภาพดี และมีกลิ่นหอมโดยเฉพาะตอนที่เก็บเกี่ยวและสีเป็นข้าวใหม่ โซเดียมน่าจะทำหน้าที่เหมือนกับธาตุ โปแตสเซี่ยม ซึ่งเป็นตัวบำรุงทำให้พืชออกผลผลิตที่มีคุณภาพ และโปแตสเซี่ยมเองก็มีอยู่เพียงพอในดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่แล้วด้วย ข้าวหอมมะลิ จึงเป็นที่นิยมปลูกในเขตทุ่งกุลาร้องไห้มาเป็นเวลานาน ต่อมา ทางส่วนราชการต่างๆของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มาพัฒนาพื้นที่บางส่วนของทุ่งกุลาร้องไห้ ให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น จึงเป็นตำนาน แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน
สำหรับคุณลักษณะของข้าวหอมมะลิ ที่เป็นที่น่ารับประทาน คือมีเมล็ดเรียวยาว ประมาณ ๗.๕ มิลลิเมตร นุ่ม ที่นุ่มเพราะส่วนของแป้ง amyloseต่ำ ประมาณ ๑๒-๑๗ เปอร์เซ็นต์ สำหรับความหอมที่คล้ายใบเตย เนื่องจากสารที่อยู่ในเมล็ด มีสูตรเคมีดังนี้ 2-Acetyl-1-Pyrroline[2 AP]
ปกติ เกษตรกร นิยมปลูกข้าวหอมมะลิ เนื่องจากอายุสั้น (ประมาณ ๑๒๐ วัน)  ปลูกในวันแม่ (ประมาณ ๑๒ สค.) แล้วเก็บเกี่ยววันพ่อ ( ประมาณ ๕ ธค.) ไม่แนะนำให้ปลูกในฤดูแล้ง เพราะเป็นพืชที่ไวต่อช่วงแสง คือจะออกดอกในช่วงที่มีช่วงแสงพอเหมาะ (ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม) ข้าวหอมมะลินี้ อาจจะให้ผลผลิตน้อยกว่าข้าวพันธุ์อื่น หรือได้ผลผลิตประมาณ ๓๐-๔๐ ถังต่อไร่ ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรจึงใช้แรงงานในการเก็บเกี่ยวน้อย โดยเฉพาะในการขนส่ง ทำให้ลงทุนลงแรงน้อย แต่กลับได้ราคาดี ได้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ นอกจากในเขตทุ่งกุลาร้องไห้แล้ว ยังมีจังหวัดที่มีพื้นที่คล้ายกับที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เช่นทางอิสานเหนือ หรือจังหวัดในภาคอื่นๆเช่นที่เชียงราย หรือที่กาญจนบุรี ก็สามารถปลูกข้าวหอมมะลิให้คุณภาพดี โดยสังเกตคือถ้าสภาพพื้นที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์  มีเกลือโซเดียม หรือโปแตสเซี่ยมสูง ปลูกข้าวหอมมะลิได้ผลผลิตต่ำ แต่ได้ข้าวหอม คุณภาพดี ทั้งนี้ ถ้านำไปปลูกในดินที่มีน้ำและธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ก็ อาจจะได้ผลผลิตที่สูง แต่คุณภาพของเมล็ด และกลิ่นหอมจะสู้การปลูกในที่ไม่อุดมสมบูรณ์ไม่ได้
สำหรับข้าวหอมมะลิอินทรีย์ น่าจะยิ่งทำให้คุณภาพของเมล็ด โดยเฉพาะกลิ่นหอมดีคงทนยิ่งขึ้น เพราะ การทำเกษตรอินทรีย์ คือการที่ให้พืชเจริญเติบโตทางธรรมชาติ ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี หรือไม่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้ข้าวดูดไนโตรเจนลดลง ก็จะดูด โปแตสเซี่ยม โซเดียม และสารอื่นๆที่เป็นสารจำพวกที่พืชต้องการไม่มาก แต่จำเป็นนั้นเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้ว ดิน หรือสรรพสิ่งวัตถุมีประจุไฟฟ้าสถิต ถ้ามีประจุตรงข้ามกันจะดูดกัน และถ้าประจุเหมือนกันจะผลักกัน ซึ่งถ้าดินใส่อินทรีย์วัตถุมีคุณสมบัติให้ดินเปลี่ยนประจุ เรียกว่าค่า CEC ( cation exchange capacity) ทำให้ ฟอสฟอรัส ที่ดินดูดไว้ ผลักออก (ดินประจุบวกเปลี่ยนเป็นลบ ฟอสฟอรัสประจุลบเหมือนกัน ดินจึงไม่จับฟอสฟอรัส ) รากพืชสามารถดูดฟอสฟอรัสเข้าไปได้มากขึ้น
ความเห็นของคุณอภิรดี อิ่มเอิบ อดีตนักปฐพีวิทยา กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงประจุไฟฟ้าสถิตเกี่ยวกับโซเดียม และโปแตสเซี่ยมไว้ว่า โซเดียมมีทั้ง ๒ ขั้ว บวกและลบ มันจึงสามารถจับได้ทั้งสารประจุบวกและประจุลบในคราวเดียวกันได้ พวกธาตุโลหะหนักประจุบวก เช่น ซิลิก้า เหล็ก แมงกานิส ทองแดง สังกะสีจึงมีโอกาศเข้าสู่รากโดยมีโซเดียมเป็นพาหะ สำหรับโซเดียมเข้าสู่รากได้ ๒ ทางคือมีฟอสฟอรัสเป็นตัวนำพา หรือเข้าด้วยขบวนการ osmosis ธาตุโลหะหนักเหล่านี้ เป็นตัวช่วยให้ขบวนการสร้าง enzyme หรือ hormone ต่างๆ รวมทั้งกลิ่นหอม ทั้งนี้ ขนาดประจุของโซเดียม เท่ากับโปแตสเซี่ยม จึงมีโอกาสเท่ากันที่พืชจะดูดเข้าไป โดยผ่านขบวนการที่ฟอสฟอรัส ซึ่งมีประจุลบดึงเข้าไปได้จะเห็นว่า ถ้ารากดูดไนโตรเจนลดลง ก็สามารถดูดฟอสฟอรัส และธาตุอาหารอื่นๆเข้าไปเพิ่มขึ้น ด้วย เป็นคำตอบของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ว่าทำไมถึงมีคุณภาพดีกว่าเกษตรเคมี
ข้าวหอมมะลิ นอกจากจะเป็นข้าวขาวที่นิยมบริโภคกัน ก็ยังมีข้าวกล้อง และข้าวกล้องงอก ที่มีคุณประโยชน์หลายประการ โดยเฉพาะ สาร oryzanolและสาร GABA  ทั้งนี้ ถ้ากินข้าวกล้อง หรือข้าวกล้องงอกล้วนๆไม่อร่อยอาจจะใช้ข้าวขาว ผสมกับข้าวกล้อง หรือข้าวกล้องงอก หุงรับประทานก็ได้
นานมาแล้ว เมื่อครั้งที่ ข้าวหอมมะลิเพิ่มความนิยมขึ้นมาใหม่ๆ พวกเราชาวส่งเสริมข้าว-พืชไร่ ได้เอา ข้าวกล้อง หอมมะลิถุงละ ๕ กก.ไปจำหน่ายในงานที่ส่วนราชการจัดขึ้นที่ศูนย์สิริกิติ์ และติดป้ายประกาศโฆษณาว่า “ขอหอมหน่อย หอมมะลิร้อนๆจ้า”  ปรากฏว่า จำหน่ายหมดทุกวัน

ชวาลวุฑฒ ไชยนุวัติ (บู๊ คนเคยหนุ่ม)

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *