ทำดีคู่ควรกับอาหารที่ได้รับ
ทำดีคู่ควรกับอาหารที่ได้รับ
โดนพระไพศาล วิสาโล
เช้าวันนี้เป็นเช้าที่สำคัญมากสำหรับสามเณร เพราะอะไรนะ เพราะเป็นเช้าวันแรกที่เราได้ออกไปเดินบิณฑบาตรเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่เคย ไม่เคยเดินออกบิณฑบาต เพราะฉะนั้นเช้าวันแรกแบบนี้ก็ขอให้เราระลึกนึกถึงเอาไว้จดจำเอาไว้ว่า เราได้ออกบิณฑบาตเช้านี้ ในฐานะสามเณรหรือว่า ในฐานะของทายาทศาสนา
และอาหารที่เราได้ ขอให้สามเณรได้ระลึกว่ามันเป็นอาหารที่เราได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา ก่อนหน้านี้ อาหารที่เรากินส่วนใหญ่ก็เพราะเมตตากรุณาของพ่อแม่
พ่อแม่หามาให้ บางทีก็ปู่ย่าตายายก็ทำให้กิน แต่ว่ามื้อเช้านี้ที่เราจะได้กินเป็นอาหารที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของเราควรที่จะภาคภูมิใจและจดจำเอาไว้ ที่จริงแล้วอาหารที่เราได้มาวันนี้ไม่ว่าจะเป็นอาหาร บิณฑบาตก็ดี หรืออาหารที่เราจะตักในเช้านี้ก็ดี เกิดจากอานิสงส์ อานิสงส์ก็หมายถึงผลของผ้าเหลือง ถ้าเราไม่ได้นุ่งห่มผ้าเหลืองก็คงไม่มีใครมาใส่บาตรให้เรา แม้เราจะถือบาตรไปแต่ก็ไม่มีชาวบ้านใส่อาหาร ให้เรา แต่ทันทีที่เราห่มเหลืองห่มจีวร ชาวบ้านก็เกิดศรัทธาถวายอาหารให้เรา เรียกว่าถวาย ไม่เรียกว่าให้
ตอนเราเป็นเด็กอาจจะมีคนให้อาหารเรา แต่พอเราเป็นเณรนี่ไม่ได้ให้ เขาเรียกถวาย ถวายเพราะอานิสงส์ของผ้าเหลือง คือจีวรซึ่งเป็นเสมือนธงชัยของพระอรหันต์ แล้วก็เพียงเพราะเราห่มจีวร ชาวบ้านก็เลยเกิดศรัทธา แต่ว่าถึงแม้เขาจะถวายอาหารให้เราเพราะศรัทธาในผ้าเหลือง เราก็ควรจะทำตัวให้ควรค่ากับผ้าเหลือง ทำตัวให้คู่ควรกับธงชัยพระอรหันต์
ทำยังไงล่ะ ก็คือศีลสิบที่เราสมาทานนี้ก็ขอให้รักษาให้ดี แล้วก็ประพฤติตัวให้เรียบร้อย บางข้อก็ไม่อยู่ในศีลสิบ แต่เราก็ต้องปฏิบัติ เช่นจะไปไหนเราก็ไม่วิ่ง เวลาจะฉันน้ำ หรือว่าฉันขนมเราก็นั่งฉัน ไม่ใช่ยืนเหมือนเมื่อก่อน รวมทั้งการปฏิบัติตามระเบียบของวัดและมีความเอื้อเฟื้อต่อหมู่คณะ
ถ้าเราทำตัวให้คู่ควรกับผ้าเหลืองก็ถือว่าอาหารที่เราได้รับ เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเราจริงๆ ชาวบ้านเขาจะไม่ได้ศรัทธาแค่ผ้าเหลือง แต่เขาศรัทธาในการกระทำของเรา ในความดีของเราด้วย
พวกเราคงเห็นแล้วนะว่า ที่จริงไม่ใช่ชาวบ้านอย่างเดียวนะ โยมพ่อโยมแม่ปู่ย่าตายายทันทีที่เราห่มผ้าเหลืองนี่เขาไหว้เราเลยนะ แต่ก่อนนี้เราไหว้เรากราบพ่อแม่กราบปู่ย่าตายาย แต่ทันทีที่เราบวชห่มผ้าเหลืองเสร็จ ท่านเหล่านั้นเขาไหว้เราเลย บางคนก็ถึงกับกราบ ดังนั้นเราก็ต้องทำตัวให้ดีสมกับที่ท่านเคารพแล้วก็กราบไหว้เรา ทำตัวให้คู่ควรกับอาหารที่ชาวบ้านถวายให้กับเราด้วยศรัทธา แล้วสิ่งหนึ่งที่เรา ควรจะใส่ใจด้วย คือเวลาเราฉันอาหาร ให้ฉันด้วยอาการสงบสำรวม
แต่ก่อนเรากินอาหารเราก็อาจจะกินไปคุยไป หรือบางทีก็กินไปดูโทรศัพท์มือถือไป กินไปด้วยเล่นเกมไปด้วย หรือบางทีอาหารไม่อร่อยก็บ่นว่าไม่อร่อยเลย อาจจะบ่นใส่พ่อใส่แม่ที่ทำอาหารให้เรา แต่ว่าอยู่ที่นี่เราจะไม่บ่นละ เราจะไม่เลือกกิน เราจะฉันเฉพาะสิ่งที่มีคนถวายให้เรา จะไม่ไปซื้อที่ร้านค้าเหมือนเมื่อก่อน จะไม่ไปเรียกร้องให้คนซื้อน้ำอัดลมให้เรากิน ไม่ทำอย่างงั้น
เช้านี้เป็นวันแรกที่เราจะได้เรียนรู้การขบฉันอย่างสำรวม สงบ ไม่พูดไม่คุย ด้วยความรู้สึกขอบคุณผู้ที่ถวายอาหารให้เรา แล้วด้วยสำนึกว่าเราจะปฏิบัติตัวให้ดีงาม สมกับที่ชาวบ้านเขาศรัทธาถวายอาหารให้เรา แล้วก็ไหว้เรา
ก่อนจะฉันจะมีธรรมเนียมแบบหนึ่ง ที่สามเณรจะต้องทราบเอาไว้ คือจะมีการสวดปฏิสังขาโยนี่เรียกแบบชาวบ้านคือพิจารณาอาหาร พิจารณาอาหารเป็นภาษาบาลีสวดเป็นภาษาบาลี แต่ว่าความหมายคือว่าเราจะไม่ได้กินอาหารเพื่อความเอร็ดอร่อย เพื่อความสนุกสนานตามใจปาก หรือเพื่อความเท่ เพื่อรูปร่างหน้าตา แต่เพื่อลดความหิวบรรเทาทุกขเวทนาจากความหิว เราจะฉันเพื่อให้ชีวิตอยู่ได้ แล้วจะมีคำหนึ่งว่า เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อจะให้เราสามารถประพฤติพรหมจรรย์ ดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข
แล้วถ้าเราระลึกตรงนี้อยู่เสมอ ก็จะทำให้เรารู้ว่าเราควรจะกินอะไร ถ้าเรากินเพื่อความสนุกสนาน กินเพื่อความเอร็ดอร่อย เราจะกินแต่ของที่ชอบโดยเฉพาะอาหารที่เรียกว่าอาหารขยะ ขนมกรุบกรอบ ของหวาน แต่ถ้าเรารู้ว่าเรากินไม่ใช่เพื่อความเอร็ดอร่อย เพื่อให้สุขภาพดี เราจะกินอย่างอื่นมากกว่า เช่น ฉันผักให้มากขึ้น ฉันหวานให้น้อยลง
หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่ดื่มเหล้าเมาสุรา กินอะไรก็ต้องรู้ว่ากินเท่าไหร่ อร่อยแค่ไหนก็ไม่ได้กินจนกระทั่งจุก กินมากๆ ก็ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เดี๋ยวนี้ผู้ใหญ่จำนวนมากนี่อ้วนเลยนะ น้ำหนักเกิน เด็กๆ ก็เป็นกันเยอะมากขึ้น หนึ่งในห้าหนึ่งในสี่น้ำหนักเกิน เพราะกินเยอะ กินมาก กินเกินความจำเป็นเรียกว่าไม่รู้ว่ากินเท่าไหร่แล้วไม่รู้ว่ากินอะไร หรือควรกินอะไร รู้ว่าควรกินอะไรรู้ว่าควรกินเท่าไหร่แล้วก็ต้องรู้ว่าควรกินอย่างไร กินอย่างสงบสำรวม กินอย่างมีสติไม่ปล่อยใจลอยฟุ้งซ่านใจอยู่กับการกิน ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น
จำเอาไว้เลยนะ ถ้าเราจะเป็นสามเณรที่เรียกว่าชิโนรสโอรสของพระพุทธเจ้า หรือบุตรของพระพุทธเจ้าก็ต้องฉันอย่างมีสติ ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น ทำอะไรทำทีละอย่างเวลาฉันก็ด้วยใจเต็มร้อย ไม่ต้องไปนึกอย่างอื่น แล้วก็ถ้ามีโทรศัพอยู่ใกล้มือเวลาเป็นฆราวาสก็ปิดโทรศัพท์เสีย เพราะดูโทรศัพท์ไปฉันไปนี้ก็ทำสองอย่างพร้อมกัน ไม่ดี จะทำให้ฉันแบบไม่มีสติ แล้วไปฝึกจิตฝึกใจนะ เห็นความอยาก อาหารบางอย่างอร่อยแล้วก็ฉันมูมมามอันนี้ก็ไม่ดี ฉันอย่างสำรวม
ที่จริงมีสติตั้งแต่ตอนไปตักอาหารแล้วนะ เดี๋ยวเราไปตักอาหาร เราต้องเข้าคิว บางคนที่อยู่ข้างหลังก็อาจจะรู้สึกรำคาญ เพราะทำอะไรชอบทำเร็วๆ คอยไม่เป็น เวลาคอยรอตักอาหารก็จะหงุดหงิดรำคาญ เพื่อนว่า ทำไมตักช้านี้ก็ต้องอดกลั้นอารมณ์เอาไว้ ส่วนคนที่ตักก่อนก็อย่าตักแต่เฉพาะของที่ชอบแต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ของที่ไม่ชอบแต่มีคุณค่าก็ต้องตักด้วย แล้วก็ต้องนึกถึงเพื่อนที่อยู่ข้างหลัง แล้ว ก็ญาติโยมแม่ชีด้วยว่ามีคนข้างหลังเรารออยู่ด้วย ไม่ใช่ว่าชอบอะไรแล้วตักโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น เสร็จแล้วก็เหลือ ฉันไม่หมด อันนี้ก็ต้องรู้จัก รู้ทันกิเลสความอยากของตัวด้วย
อันนี้คือการฝึกที่ทำให้เรามีคุณค่า หรือคู่ควรกับการเป็นสามเณร คู่ควรกับผ้าเหลือง แล้วก็จะทำให้ชาวบ้าน เวลาเขาถวายอาหารก็ถวายด้วยความศรัทธาไม่ใช่ศรัทธาเฉพาะผ้าเหลือง แต่ศรัทธาในคุณงาม ความดีของเรา แม้จะเป็นเด็กน้อยแต่ผู้ใหญ่ก็ศรัทธาได้ถ้าเรามีความดี ถึงตอนนั้นเราจะภูมิใจว่า อาหารที่เราได้มา ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ของเราจริงๆ น้ำพักน้ำแรงไม่ใช่แรงกายอย่างเดียว แต่หมายถึงคุณงาม ความดีที่ทำให้เราภาคภูมิใจ ทำให้การเป็นนักบวชของเรามีความหมายอย่างแท้จริง ไม่ใช่บวชเล่นๆ แต่ว่ามาบวชมาปฏิบัติทำอย่างนี้ได้นะ
แม้แต่พระบางรูปบางทีก็ต้องเคารพนะเพราะพระบางรูป ถ้าไม่ปฏิบัติก็สู้สามเณรที่ตั้งใจปฏิบัติไม่ได้
ในสมัยพุทธกาลมีสามเณรที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มากมาย แม้แต่พระที่อายุมากกว่าก็ต้องเคารพ นับถือเป็นอาจารย์ก็มีเพราะว่าเรานับถือกันที่ความดี ที่คุณธรรมไม่ใช่ที่อายุ ไม่ใช่ที่เพศไม่ว่าจะเป็นเพศ หญิง เพศชาย ตอนนี้เราอยู่ในเพศสมณะ ไม่อยู่ที่ตรงนั้น อยู่ที่เพศสมณะคือเพศพระ สมณะคือสามเณรนั่นแหละความหมายเดียวกันใกล้เคียงกัน
Facebook Comments