ทำไมเศรษฐกิจไทยถึงเป็นอย่างนี้
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
www.INEWHORIZON.NET
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาแถลงถึงกรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ว่าเป็นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น นั่นก็คือตั้งเป้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะให้ครอบคลุมถึง 4 เป้าหมายคือ
1.เงินเฟ้อเป้าหมาย หมายถึงการให้สัญญาเงินเฟ้อต่อประชาชน
2.เสถียรภาพในด้านราคา นั่นคือ ไม่ให้มีการผันผวนในระดับราคา
3.การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ ต้องการให้เศรษฐกิจโตด้วยเป้าหมายอันเดียวกันนี้
และ 4.ใช้เป้าหมายเงินเฟ้อนี้สร้างเสถียรภาพของระบบการเงิน
ซึ่งฟังดูก็ดีครับ แต่ที่งงๆก็คือตัวเลขอันเดียวนี้จะบรรลุเป้าหมายได้ทั้ง 4 อย่างเชียวหรือ มันช่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง แต่สำหรับชาวบ้านจะยิ่งเป็นงงไปใหญ่เพราะไม่รู้ว่า กนง.หรือธนาคารชาติหมายความว่าอย่างไร ขนาดหน่วยธุรกิจที่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถก็ยังไม่อาจจะเข้าใจได้ แล้วดอกเบี้ยนโยบายตัวนี้มันจะมีประโยชน์อะไร จะให้สัญญาณอะไรแก่หน่วยธุรกิจที่จะตัดสินใจลงทุนเพิ่มหรือชะลอการลงทุน เขาก็เลยต้องคาดเดากันไปต่างๆนานาหรือดูจากท่าทีอื่นๆมาประกอบ ก็แล้วแต่จะตีความเอา ซึ่งขาดความชัดเจนอันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายทางธุรกิจ เพราะไม่รู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกนง.จะกำหนดทิศทางอะไร
แต่โดยทั่วไปสาธารณะมองว่ามันเป็นนโยบายที่หยุดนิ่ง เพราะ กนง.ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 1.5% มา 3 ปีแล้ว และเป้าหมายเงินเฟ้อคือ 2.5%
ทั้งๆที่อัตราเงินเฟ้อจริงๆเวลานี้อยู่ต่ำกว่า 1% ธนาคารแห่งประเทศไทยก็อธิบายว่าเกิดจากการลดลงของราคาน้ำมัน และราคาอาหารสด เมื่ออัตราเงินเฟ้อมีทิศทางที่จะลดลง และต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเป้าหมาย และต่างกับเงินเฟ้อเป้าหมายที่กนง.กำหนด โดยยังไม่มีสัญญาณใดๆเลยที่จะบอกว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น การคาดคะเนของผู้ที่จะใช้จ่ายเงินก็จะชะลอลง เพราะค่าของเงินมันเสื่อมค่าน้อย แถมเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังมีแนวโน้มจะผลิตสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง ผู้คนก็จะเลื่อนการใช้จ่ายออกไปเพื่อซื้อของถูกในอนาคต อย่างนี้เศรษฐกิจก็มีโอกาสจะชะลอตัวลงได้มาก
และแม้ว่ารัฐบาลจะแถลงว่าเศรษฐกิจมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะเติบโตขึ้น โดยทังรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทยต่างให้ข้อมูลว่า เศรษฐกิจจะโตไม่น้อยกว่า 3% และอาจเพิ่มถึง 3.8% โดยส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่ภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว คาดว่ารายได้เหล่านี้จะมีการกระจายตัวไปยังภาคอื่นๆ แต่เราลองมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ โดยพิจารณาถึงมุมมองจาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ซึ่งท่านได้อธิบายในเชิงเทคนิคที่ถ้าไม่ใช่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเงินโดยตรงแล้วคงยากเข้าใจ ผู้เขียนจึงขออธิบายอย่างง่ายๆพอสังเขป และอาจจะครอบคลุมเพียงบางส่วนเท่านั้น เอาพอจับประเด็นได้ก็แล้วกัน
ประการแรก ดร.ศุภวุฒิไม่เชื่อว่า กนง.หรือประเทศไทยในฐานะประเทศเล็กๆจะคุมอัตราเงินเฟ้อได้ เพราะเราเป็นเศรษฐกิจเปิดที่มูลค่าการส่งสินค้าออกรวมกับมูลค่าสินค้าเข้า มีระดับสูงถึง 120% ของจีดีพี (มูลค่าผลิตภัณฑ์เบื้องต้นภายในประเทศ) ท่านได้ยกตัวอย่างเช่น ราคาข้าวในตลาดโลก แม้ไทยจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่เราคุมราคายังไม่ได้เลย มิหนำซ้ำเรายังขาดอำนาจการต่อรองด้วยซ้ำ อย่างเช่น เวลาเงินบาทแข็งราคาข้าวควรจะเพิ่มแต่เรากลับไม่สามารถเพิ่มได้ แถมต้องลดราคาเพื่อให้ต่างชาติได้ซื้อเราด้วยเงินของเขาเท่าเดิม เช่น ถ้าเงินบาทแข็งค่า10% กับดอลลาร์สินค้าเราต้องเพิ่ม 10% ในตลาดโลกเมื่อดูจากดอลลาร์ แต่เราเพิ่มไม่ได้เมื่อเพิ่มไม่ได้พ่อค้าส่งออกก็ต้องมากดราคาข้าวภายในประเทศลงประมาณว่า 10% เพื่อคงราคาเดิมในรูปดอลลาร์ ฟังดูออกจะงง แต่เอาเป็นว่าเราขาดอำนาจการต่อรองในการขายสินค้าในตลาดโลก เมื่อใดที่ค่าเงินเปลี่ยนแปลงพ่อค้าส่งออกก็ผลักภาระมาให้ชาวนา เพราะไม่อาจขยับราคาขายต่างประเทศได้
ดังนั้นดร.ศุภวุฒิจึงมองว่าภาระเงินเฟ้อของเรานั้นขึ้นอยู่กับต่างประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของเรา ซึ่งนอกจากจะเกิดจากปัจจัยของอัตราการแลกเปลี่ยนแล้ว ยังเกิดจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศนั้นๆด้วย ท่านจึงสรุปว่าเราควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจที่เปิด
นอกจากนี้ผู้เขียนยังมองว่าแม้แต่ปริมาณเงินภายในประเทศ ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการควบคุมระดับราคาภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควบคุมได้ยากลำบากมาก เพราะมันมีเงินไหลเข้าไหลออกค่อนข้างเสรี ตามข้อตกลงที่เราทำกับ IMF ข้อที่ 5
ดังนั้นดร.ศุภวุฒิ จึงมองว่าแทนที่จะควบคุมอัตราดอกเบี้ย ที่ตั้งเป้าจะควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งก็ปรากฏว่าล้มเหลวเพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าเงินเฟ้อจริงและต่างกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายอย่างมาก
สิ่งที่ดร.ศุภวุฒิเสนอแนะคือการให้ความสนใจต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ควรจะปรับเปลี่ยนตามภาวะของอัตราเงินเฟ้อที่แตกต่างระหว่างประเทศคู่ค้ากับประเทศไทย เพื่อสร้างเสถียรภาพแม้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ไม่ใช่การควบคุมหรือปรุงแต่งอัตราแลกเปลี่ยนตามเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการส่งออก คือทำให้ค่าเงินบาทต่ำจะได้ขายออกได้มาก เพราะมันมีต้นทุนในการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนสูง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเมื่อปีพ.ศ.2540 ที่เราพยายามปกป้องเงินบาทจนเงินทุนสำรองเกือบหมด สุดท้ายก็ปกป้องไม่ได้ และต้องลดค่าเงินในที่สุด นอกจากนี้ในช่วงนั้นเรากลับต้องขายข้าวในราคาที่ลดลง เพราะต่างชาติเห็นว่าผู้ส่งออกจะได้เงินบาทมากขึ้นจากการที่ขายเป็นเงินดอลลาร์จึงกดดันเราให้ลดราคาต่ำกว่าราคากลางในตลาดโลกประมาณเกือบ 20% แต่นั่นค่าเงินบาทลด ถ้าค่าเงินบาทเพิ่มก็จะมีต้นทุนอีกด้านหนึ่ง
ส่วนเรื่องการกระจายรายได้ จากภาคส่วนที่จะเติบโตคือภาคส่งออก บวกการท่องเที่ยว ดร.ศุภวุฒิมองว่าในภาวะอย่างในปัจจุบันนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะระดับราคาถูกมองว่าจะลดลง หรือชะลอตัวนั่นคืออัตราเงินเฟ้อลดลง หรือค่าของเงินเสื่อมค่าน้อยลง จึงทำให้หลายส่วนชะลอการใช้จ่าย ซึ่งทำให้การกระจายรายได้เป็นไปได้เชื่องช้า ผู้เขียนก็เห็นคล้อยตาม และยังมีมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจในระดับล่างที่เป็นส่วนหลักในการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค จะชอลอการใช้จ่ายออกไป เพราะรายได้เพิ่มไม่มาก ประกอบกับเห็นว่าระดับราคายังคงทรงตัว ซึ่งหากภาวการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้ เพราะต่างก็คาดคะเนว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว มันก็จะชะลอการใช้จ่ายออกไป นั่นคือหน่วยธุรกิจก็จะไม่ขยายการลงทุนแม้ว่าจะได้รับประโยชน์จากภาคการนำเข้า และการท่องเที่ยว ซึ่งจะเห็นได้ว่าขณะนี้ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก คือในช่วงปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเพียง 1% ถ้าแต่ละส่วนคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ดีมานด์หรือความต้องการในการบริโภคและการลงทุนจะต้องเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อต้องเพิ่มขึ้นจากการดึงของดีมานด์ หรือความต้องการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นที่เรียกว่า DEMAND PULL แม้ว่าด้านต้นทุนจะลดลงบ้างจากราคาน้ำมันและราคาอาหารสดจากการแถลงของธนาคารแห่งประเทศไทย
ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายขาดดุลอย่างต่อเนื่อง นั่นคือจ่ายเงินออกมากกว่าเก็บเงินเข้ารัฐ แต่แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ก็จะทำให้รัฐบาลต้องหาทางเพิ่มภาษี และภาษีที่เก็บง่ายสุดคือภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งก็จะเป็นภาระต่อประชาชนรากหญ้า เพราะราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ได้เกิดจากการเพิ่มของความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการเพื่อการบริโภคและลงทุน และที่สำคัญภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 120% ของ GDP จะทำให้เงินที่รากหญ้าจะใช้จ่ายเพื่อการบริโภคลดลง แต่รายได้ของระดับบนเพิ่มขึ้น จึงเกิดภาวะรวยกระจุกจนกระจายก็จะยิ่งขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องก็จะมีอันเกิดภาวะชะงักงัน เพราะความไม่ชัดเจนของทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง จนในที่สุดก็จะไปกระทบแม้แต่ภาคการส่งออกที่เราคาดว่าจะเติบโตไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เพราะภาวการณ์ผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนที่เกิดจากเงินไหลเข้า-ออก อย่างค่อนข้างเสรี โดยเราไม่สามารถจะไปควบคุมอะไรได้ หากไม่ปรับกลยุทธในการปรับตัวตามภาวะเงินเฟ้อที่เป็นจริง และสร้างอำนาจการต่อรองทางการค้าโดยการรวมกลุ่ม เช่น การค้าข้าวเราก็ควรร่วมมือกับเวียดนามและอินเดียในการกำหนดราคาข้าว และแทนที่เราจะผลิตข้าวคุณภาพธรรมดา เราควรยกระดับในการผลิตข้าวคุณภาพสูงแทน เพื่อยกระดับอำนาจการต่อรองของเราในเวทีการค้าโลก
ผู้เขียนจึงหวังว่ารัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้มีการประสานความร่วมมือและเปิดรับความคิดในแนวที่กว้างขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของชาติเป็นที่สุด มาถึงตรงนี้ผู้เขียนชักไม่แน่ใจว่าผู้กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ ไม่รู้จริงๆหรือว่าทำไมเศรษฐกิจไทยถึงเป็นอย่างนี้ หรือเจตนาจะวางยารัฐบาลกันแน่