ปรัชญาการเมืองอิสลาม: “อุตมรัฐปรัชญาในทัศนะของฟารอบีย์”
ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตาผู้ทรงกรุณายิ่ง
บทความทางวิชาการเรื่อง
ปรัชญาการเมืองอิสลาม:
“อุตมรัฐปรัชญาในทัศนะของฟารอบีย์”
Doctrine of Utopai in View Farabi
¬¬
โดย
ศ.(กิตติมาศักดิ์) ดร.เชคชะรีฟ ฮาดีย์
(Ph.D.Philosophy and Ethics)
บทนำ
สังคมคือระบบหนึ่งซึ่งประกอบด้วยส่วนย่อยหรือสถาบันจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยแต่ละส่วนมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ระบบย่อยหรือสถาบันทางสังคมที่สำคัญได้แก่ สถาบันทางการเมือง สถาบันทางการศึกษา สถาบันทางศาสนา สถาบันเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกในสังคมต้องการให้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น และจัดระบบระเบียบ ชี้แนะแนวทาง และการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตหรือปฎิบัติหน้าที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม
การศึกษากรอบแนวคิดหรือหลักคิดของบุคคลผู้เป็นปราชญ์ ไม่ว่าอยู่ในฐานะใด จะเป็นศาสดา หรือผู้นำลัทธิทางศาสนา หรือ นักปรัชญา ถือว่ามีประโยชน์อย่างมากมายทีเดียว ซึ่งจะยังประโยชน์ทั้งส่วนปัจเจกบุคคลและสังคม โดยที่มนุษย์ในยุคหลังสมัยนั้นนำคำสอนนั้นมาเป็นหลักคิดเพื่อการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ ด้านการเมืองและวัฒนธรรมและด้านอื่นๆ
ปรัชญาการเมือง (political philosophy) เป็นสาขาวิชาหนึ่งขององค์ความรู้ในวิชารัฐศาสตร์ ปรัชญาการเมืองเป็นวิชาที่เก่าแก่ที่สุดเนื่องจากเป็นวิชาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลในดินแดนคาบสมุทธเพลอพอนเนซุส หรือดินแดนของประเทศกรีซในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นของวิชาปรัชญาการเมืองเกิดขึ้นในนครรัฐที่ชื่อว่าเอเธนส์ในช่วงที่เอเธนส์เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบบอภิสิทธ์ชนธิปไตย (Aristocracy) มาเป็นประชาธิปไตยโบราณ (Demokratia)(พิสิษฐิกุล แก้วงาม. ทฤษฎีการเมืองกับการศึกษารัฐศาสตร์)
สารานุกรมปรัชญาของรูธเลท (RouledgeInterrnet Encyclopedia of Philosophy) นิยามวิชาปรัชญาการเมืองว่าเป็นกระบวนการสะท้อนความคิดทางปรัชญา ในเรื่องการจัดการชีวิตสาธารณะให้มีความเหมาะสม เหมาะควร ผ่านการครุ่นคิดว่าสถาบันทางการเมืองแบบใดที่ดีที่สุด กิจกรรมทางการเมืองแบบใดที่ดีที่สุด ฯลฯ ส่วนสารานุกรรมปรัชญา (Internet Encyclopedia ofPhilosophy) อธิบายว่า ปรัชญาการเมืองคือการแสวงหาชีวิตที่ดี แสวงหาชีวิตที่ควรจะเป็น แสวงหาค่านิยมที่ดีในการปกครอง สถาบันทางสังคมที่ดีในการปกครอง
เมื่อแยกพิจารณาคำว่าปรัชญาการเมืองในภาษาอังกฤษโดยทางนิรุกติศาสตร์แล้ว จะพบว่า Philosophy มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า Φιλοσοφος (philosophos) เกิดจากการสนธิของคำว่า philos (มิตรภาพ) และ sophia (ปัญญา) ที่แปลตรงตัวว่า “มิตรภาพกับปัญญา” หรือแปลเทียบเคียงได้ว่า “การไฝ่รู้หรือความไฝ่รู้” อย่างไรก็ดีในวงวิชาการไทยมักแปลผิดเป็น “ความรักในความรู้” ทั้งที่คำว่าความรักในภาษากรีกนั้นคือ ‘ερως (‘eros) หรือ αγάπη (aga’pe) ซึ่งมักเป็นคำที่ถูกใช้แสดงอารมณ์ ส่วนคำว่าความรู้นั้นคือ επιστήμη (episte’me) ซึ่งหมายถึงความรู้ที่แท้จริงที่มนุษย์อาจเข้าถึงหอเข้าไม่ถึงก็ได้ ปรัชญาจึงไม่ใช่ความรอบรู้ นักปรัชญาจึงไม่ใช่ผู้รู้หรือครู (sophist) การแปลคำว่าปรัชญาในภาษาอังกฤษว่า “ความรักในความรู้” จึงถือว่าแปลไม่ถูกต้องตามรากศัพท์ เพราะไม่ได้ครอบคลุมนิยามที่ว่าปรัชญาเป็นความรักที่จะเรียนรู้หรือแสวงหาความรู้ นักปรัชญาจึงมีลักษณะแบบนักสงสัย (sceptic) และนักแสวงหาความรู้ ว่าไปแล้วนักปรัชญาจึงมีลักษณะของนักเรียนตลอดชีพมากกว่าผู้รู้ที่ทรงภูมิตามความหมายแบบตะวันออก
ส่วนคำว่าการเมืองในทางรัฐศาสตร์เป็นเรื่องทางสังคมศาสตร์ของการกำหนดมุมมองของผู้คนให้มองเห็น หรือเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ในทางรัฐศาสตร์การเมืองนั้นมีความหมายอย่างน้อย 2 ระดับ (senses) คือ
• ในระดับที่แคบที่สุดคือ รัฐบาล (the narrowest sense : what governments do?) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐหรือรัฐบาลกระทำสิ่งใดขึ้นมา และ
• ในระดับที่กว้างที่สุดคือความสัมพันธ์ในสังคม (the widest sense : peopleexercising power over others) เป็นเรื่องที่คนในสังคมการเมืองใช้อำนาจต่อกัน
สรุปปรัชญาการเมืองคือ เป็นปรัชญาประยุกต์สาขาหนึ่งที่นำเอาปรัชญาบริสุทธิ์หรือนำเอาทฤษฎีทางอภิปรัชญามาตีความผลสรุปของรัฐศาสตร์ ดังนั้นเนื้อหาของปรัชญาการเมือง คือปัญหาแกนของปรัชญาการเมืองได้แก่ รัฐในอุดมคติ(ideal state)ควรเป็นอย่างไร ผู้ปกครองและอำนาจรัฐควรมีลักษณะแบบใด
ประวัติความเป็นมาของปรัชญาการเมือง
สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. ปรัชญาการเมืองคลาสสิก (Classical Political Philosophy)
โซเครติสเป็นผู้เริ่มต้นสืบทอดและพัฒนาโดยเพลโต้และเจริญถึงขีดสุดในสมัยอริสโตเติ้ล โดยมีแนวคิดที่สำคัญคือเป็นเรื่องการต่อสู้เพื่อดำรงรักษาและพัฒนาชุมชนขนาดเล็กให้มีความเจริญก้าวหน้าในการปกครองตนเองมีเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญใบประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษยชาติ
ปรัชญาการเมืองยุคนี้ พิจารณาเป้าหมายสูงสุดของชีวิตการเมืองคือคุณธรรมโดยเห็นว่าความเสมอภาคหรือประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งสูงสุดเพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างให้มีคุณธรรมเท่าเทียมกันการกำหนดให้สิทธิแก่มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในขณะที่บางคนเป็นผู้สูงกว่าผู้อื่นโดยธรรมชาติจึงเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม
เพลโต เชื่อว่ารัฐต้องมีความต้องการ ๓ ประการเหมือนกับชีวิตมนุษย์ คือ กษัตริย์หรือผู้ปกครองที่เป็นนักปรัชญา(Philosopher-King) ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง สันติภาล สำหรับรักษาความปรอดภัยด้วยความกล้าหาญและเข้มแข็ง และสุดท้ายราษฏร สำหรับผลิตเครื่องอุปโภคและบริโภค และเพลโตได้กล่าวไว้ในหนังสือRepublic ซึ่งนักวิชาการบางคนได้แปลว่า อุตมรัฐ ซึ่งเป็นการเสนอปรัชญาทางการเมืองของเพลโตอย่างน่าสนใจและแหลมคมมากทีเดียว
2. ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ (Modern Political Philosophy)
ลักษณะของปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 16 – 17 เป็นปฏิกิริยาที่มีผลต่อคริสต์ศาสนาที่แตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆอันเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของสงครามกลางเมืองและสงครามระหว่างรัฐที่ไม่หยุดหย่อน
แนวคิดนี้ สังเกตได้จากงานเขียนของ มาเคียเว็ลลี ฮอบส์ และรุสโซ่ เป็นต้นอันเป็นการต่อต้านแนวคิดอุดมการทางคริสต์ศาสนาซึ่งมีรากฐานอยู่ในปรัชญาการเมืองคลาสสิกอีกทีหนึ่ง นักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่แม้จะมีแนวคิดที่ต่างกันมากมาย แต่ที่เห็นร่วมกันคือการปฏิเสธโครงร่างของปรัชญาการเมืองคลาสสิกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
มาเคียเว็ลลีถือว่าเป็นบิดาของปรัชญาการเมืองสมัยใหม่เพราะเขาวิจารณ์แนวคิดแบบยุคคลาสสิกว่าเป็นแนวคิดที่ผิดเพราะไปตั้งสมมติฐานหาเป้าหมายที่คุณธรรมและคิดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ทางการเมือง
อันที่จริง ควรเริ่มมองมนุษย์จากแง่ความเป็นจริงว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ชั่วร้ายและจะต้องถูกบังคับให้เป็นคนดีสำหรับฮอบส์ก็ปฏิเสธแนวคิดของยุคคลาสสิก ที่เห็นว่ามนุษย์จะดีได้เพราะอาศัยการเมืองเพราะเขาถือว่า ความปรารถนาที่จะมีชีวิตรอดต่างหากเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของความยุติธรรมและศีลธรรม
โทมัสฮอบส์ มีแนวคิดทางปรัชญาการเมืองว่า มนุษย์จะมีการปกครองระบอบใดก็ได้ ขอให้รัฐมีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมให้พลเมืองแต่ละคนเห็นแก่ตัวภายใต้ขอบเขตแห่งบทบาทของตนเท่านั้น นั่นก็คือให้แต่ละคนพยายามแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนให้มากที่สุด แต่จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น อำนาจเด็ดขาดนี้ที่รัฐจะต้องมี ฮอบส์เรียกว่า”เจ้าสมุทร”(Leviathan)
3. ปรัชญาการเมืองหลังนวยุค ( Post-Modern Political Philosophy)
ในปัจจุบันนี้ฐานะของปรัชญาทางการเมืองได้รับความสนใจน้อยลงทั้งนี้เพราะสังคมศาสตร์ได้ยอมรับเอาข้ออ้างทางวิทยาศาสตร์มาเป็นบรรทัดฐานของตนโดยมีความเห็นว่าแนวคิดของโซเครติสในเรื่องความดี ความกล้าหาญ ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว พิสูจน์ไม่ได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์แนวคิดยุคคลาสสิกเป็นเพียงค่านิยมเท่านั้น
แนวคิดปรัชญาการเมืองสมัยปัจจุบันเน้นที่ความเป็นประชาธิปไตยซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดในยุคคลาสสิกโดยถือว่าสังคมจะดีขึ้นหรือเจริญขึ้นขึ้นอยู่กับสถาบันในสังคม เช่น สถาบันการปกครอง หรือ สถาบันทางเศรษฐกิจเป็นใหญ่ไม่ใช่การอบรมบ่มนิสัยสร้างบุคคลอย่างที่ยุคคลาสสิกยึดถือ(สิษฐิกุล แก้วงาม. ความรู้พื้นฐานในทางรัฐศาสตร์ (ภาคความคิด).
และท้ายที่สุดนักปรัชญาโลกาภิวัตน์พากันเสนอสังคมที่เชื่อว่าจะเหมาะทีสุดสำหรับยุคโลกาภิวัตน์ คือ การสร้างสังคมอารยะ(Civil Society) เป็นการปกครองโดยประชาชนมีส่วนร่วม หรือเรียกว่าประชาสังคม ประชาชนเป็นเจ้าของสังคมร่วมกัน โดยแบ่งรับผิดชอบระหว่างสถาบันการเมือง สถาบันเอกชน สถาบันศาสนา
เป็นสังคมอารยะเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยอยู่ในลักษณะของพหุนิยม(Pluralistie) ไม่แบ่งแยกสีผิว ภาษา ศาสนาและลัทธิ
เป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยตรากฎหมายและหลักนิติรัฐที่ยืนอยู่บนความเป็นจริงและตามบริบททางการเมืองและสังคมซึ่งไม่มีหลักเกณท์เฉพาะตัวหนือเป็น แบบที่ตายตัว
-นักปรัชญามุสลิมกับแนวคิดเรื่องอุตมรัฐ-
๑)อัล-ฟารอบี (ค.ศ.๘๗๐-๙๕๐) กับปรัชญาการเมืองในเรื่อง”นครแห่งอารยะ”(Civil of City)
ท่านอบูนัศร์ฟารอบี ได้เกิดในปีคริสศักราชที่ ๘๗๐ ท่านนั้นแตกต่างกับนักปราชญ์อื่นๆ ซึ่งชีวประวัติของท่านนั้นไม่ได้ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจน ซึ่งสานุศิษย์ของเขาไม่ได้บันทึกเกี่ยวกับชีวะประวัติของเขาไว้เลย มีเพียงท่านอิบนุคอลาค่านที่ได้นำเรื่องราวและประวัติของท่านกล่าวไว้ แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งในประวัติศาสตร์นั้น
ท่านฟารอบีได้กำเนิด ณ เมืองเล็กๆในแคว้นฟารอบ และท่านเป็นชาวเติกร์ และด้วยกับการขยายอำนาจอณาจักรอิสลามมาถึงเมืองฟารอบ ทำให้วัฒนธรรมอิสลามเข้ามามีบทบาทต่อชาวเติกร์ และปราชญ์ชื่อดังหลายท่านของมุสลิมอยู่ในสมัยของท่านฟารอบี เช่น ยูฮารีย์ นักภาษาศาสตร์ชื่อดัง
ฟารอบีย์ได้เติบมาจากการเลี้ยงดูในแวดวงของศาสนาและได้เรียนรู้ภาควิชาศาสนาและภาษาศาสตร์ได้อย่างดี เช่นวิชาฟิกฮ์(นิติศาสตร์อิสลาม)อัลฮะดีษวิชาด้านตัฟซีร และท่านยังได้เรียนภาษาอะหรับ ภาษาตุรกี และภาษาเปอร์เซียอีกด้วย และจากการบันทึกของอิบนุคอลาค่านว่า แท้จริงฟารอบีย์มีความชำนาญต่อภาษาต่างประเทศมากถึง ๗๐ ภาษา แต่นักวิชาการยุคหลังได้วิเคราะห์ว่า เป็นการกล่าวยกย่องท่านฟารอบีจนเกินไป
ท่านฟารอบีย์ มีความนิยมในศาสตร์ด้านตรรกะและการอ้างเหตุผลเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทำให้ท่านมีความชำนาญต่อศาสตร์ปรัชญาและตรรกศาสตร์เป็นอย่างดีและผลงานที่มีชื่อเสียงมากคือ
๑) มัจมูอาตุลริซาลาต(สารานุกรมวิทยาการ : Encyclopaedia)) ซึ่งได้รวบรวมบทความเนื้อหาทางวิชาการ ด้านภาษาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ และอภิปรัชญาขั้นสูง
๒) อัลญัมอุ บัยน่า เราะยัยอัลฮะกีมัย อัฟลาตูน–อะรอสตู เป็นตำราได้นำเสนอทฤษฏีทางปรัชญาและอภิปรัชญาของเพลโตและอริสโตเติลที่เกื้อกูลกันและกัน
๓) อัซซียาซะฮ์อัลมะดานียะฮ์ และ อารออ์อะลุลมะดีนะฮ์อัลฟาฎีละฮ์ เป็นตำราที่โดดเด่นอีกเล่มหนึ่งของผลงานชิ้นเอกของฟารอบี เพราะท่านได้นำเสนอทฤษฎีทางปรัชญาการเมืองได้อย่างน่าทึ่งและน่าสนใจทีเดียว
หลังจากนั้นท่านฟารอบีได้เดินทางไปยังเมืองแบกแดด และได้ศึกษาวิชาการด้านตรรกะและปรัชญา และได้รู้จักกับนักตรรกศาสตร์และนักปรัชญาระดับสูงมากมาย จนทำให้ท่าฟารอบีมีความเชี่ยวชาญและชำนาญการในศาสตร์ปรัชญาและตรรกศาสตร์ จึงได้มีฉายาว่า”บรมครูที่สอง”معلم الثانی
ฟารอบีย์ได้ใช้ชีวิตในเมืองแบกแดดประมาณยี่สิบปี และได้นำศาสตร์ปรัชญามาอรรถาธิบายอย่างน่าชื่นชมและน่าทึ่งทีเดียว และแนวปรัชญาของฟารอบีย์จัดอยู่ในแนวของพวกเหตุผลนิยมจัด และถือว่าเป็นสำนักปรัชญาแรกของอิสลามซึ่งต่อมาผู้ที่นำแนวคิดทางปรัชญาของฟารอบีย์มาขยายและเผยแพร่ต่อคือบรรดาสานุศิษย์ของเขาและต่อมาท่านอิบนิ สีน่า และอิบนิรุชด์ ได้สร้างความสมบูรณ์ทางศาสตร์ปรัชญา จนถูกเรียกสำนักของฟารอบีย์ว่า สำนักปรัชญามัชชาอียะฮ์مشائية )) สำนักปรัชญาแนวเหตุผลนิยมจัด(Peripatetic Philosophy) จนเป็นที่โด่งดังและรู้จักไปทั่วโลกทั้งโลกมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม
อัล-ฟารอบีย์ ถือว่าเป็นนักปรัชญามุสลิมที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของโลกอิสลามมีความนิยมในปรัชญาอริสโตเติ้ลมาก เขาได้นำเสนอเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองว่า แท้จริงมนุษย์นั้นต้องพัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมอารยะ ซึ่งเป็นสังคมที่ถูกปกครองโดยผู้นำที่ได้นำหลักการปกครองมาจากวิวรณ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า และมนุษย์จะไปสู่ความเป็อารยะบุคคลและสังคมอารยะได้นั้นต้องได้รับการปกครองโดยผู้นำทรงธรรม ท่านฟารอบียฺได้นำทฤษฎีทางปรัชญาการเมืองดังนี้ว่า..
๑)เป้าหมายของการสร้างมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ไปสู่ความไพบูลย์พูนสุข และอันดับแรกจะต้องเข้าใจและรู้จักความหมายของคำว่าความไพบูลย์สุขเสียก่อน ความไพบูลย์สุขที่ว่านั้นไมมีใครจะนิยามและให้ความหมายได้อย่างถูกต้อง นอกจากเขานั้นต้องผ่านองค์ความรู้ที่ได้รับการเปิดเผยมาจากพระเจ้า และผู้ที่จะสร้างความไพบูลย์สุข คือ บุคคลที่อยู่ในฐานะผู้นำและมีภาวะผู้นำ
๒)สังคมใดหรือนครรัฐใดที่มีผู้นำทรงธรรมและมีภาวะผู้นำสูง จะทำให้สังคมนั้นหรือนครรัฐนั้นเป็นนครรัฐแห่งอารยะ(Civil of City)และสังคมอารยะ(Civil of Society)
๓) แท้จริงนครรัฐแห่งอารยะ(Civil of City) ต้องมีผู้นำ และผู้ปกครองนั้นต้องมีภาวะผู้นำอย่างผู้ยำเกรงและสำรวมตน มาจากบุคคลที่เป็นปราชญ์และผู้ทรงธรรม อยู่ในฐานะราชาแห่งปราชญ์(Philosopher of King) และอัล-ฟารอบีได้กล่าวอีกว่า แท้จริง”นครแห่งอารยะ”(Civil of City) ประกอบด้วย
หนึ่ง ผู้นำที่ทรงธรรม ทรงความรู้ ทรงเป็นปราชญ์(Philosopher)
สอง ประชาชน เป็นกลุ่มคนที่มีศิลธรรม
สาม เป็นระบอบการเมืองที่ใสสะอาด โดยผ่านองค์ความรู้ที่มาจากวิวรณ์แห่งพระเจ้า มีความสมบูรณ์ทางกายภาพและจิตภาพ โดยเน้นความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า
โดยใช้หลักนิติรัฐนิติธรรมผ่านกระบวนการคิดเชิงปรัชญาและคำสอนหลักการปกครองตัวแทนของพระเจ้า
บทบาทอันโด่งดังของฟารอบีย์คือการนำเสนอปรัชญาเรื่องอุตมรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นคำสอนที่แหลมคมและน่าสนใจทีเดียวของปรัชญาฟารอบีย์ และถือว่านักปรัชญาในยุคต่อมาได้นำทฤษฎีทางปรัชญาการเมืองนี้มาอรรถาธิบายและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง”นครแห่งอารยะ”หรืออุตมรัฐที่ฟารอบีย์ได้กล่าวไว้
ฟารอบีย์ได้กล่าวเรื่องปรัชญาการเมืองนี้ไว้ในหนังสือปรัชญาสำคัญของท่านชื่อว่า” ซียาซะตุลมะดีนะฮ”(หลักรัฐศาสตร์แห่งอุตมรัฐ)
ท่านฟารอบีย์ได้กล่าวถึงเรื่อง”นครแห่งอารยะ”(المدينةالفاضلة)หรืออุตมรัฐในปรัชญาการเมืองของท่านไว้ว่า
“ระบอบการเมืองที่มีคุณธรรมคือ การนำพาความดีงามไปสู่ประชาชนและนำมนุษยชาติสู่เป้าหมายของการสร้างคือความสันติสุขที่แท้จริง ซึ่งการไปสู่ความผาสุกและสันติสุขนั้นจะเกิดขึ้นมาเองมิได้ นอกจากผ่านระบอบการเมืองและการปกครองที่มีคุณธรรม(ธรรมารัฐ)เท่านั้น อีกทั้งจะนำพาพลเมือง ประชาชนไปสู่ความดีงามทั้งโลกนี้และโลกหน้า”
ท่านฟารอบีย์ได้หยิบยกเรื่องอุตมรัฐเป็นหัวข้อย่อยหนึ่งในหมวดเรื่องตำแหน่งศาสดาและการสร้างเอกภพและมนุษย์ โดยท่านได้นำหลักปรัชญาว่าด้วยเรื่องผู้นำทางจิตวิญญาณ และจากแนวคิดในเรื่องการสร้างโลกและมนุษย์ ถือเป็นความจำเป็นที่โลกและเอกภพวิวัฒนาการไปสู่ความสมบูรณ์ทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณ นั่นหมายความว่าทางกายภาพและชีวภาพเป็นโครงสร้างของโลกและเอกภพนี้ที่จะต้องพัฒนาตัวตนของมันไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุด เพื่อแสดงออกถึงการปรากฏความเดชานุภาพแห่งพระผู้เป็นเจ้า หรือเรียกตามภาษาหลักอภิปรัชญาคือ วายิบุลวุยูด”(ภวันต์แท้)และแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของวัตถุธาตุและสสารที่อยู่ในฐานะ มุมกินุลวุยูด(ภวันต์ใหม่)
ส่วนทางจิตวิญญาณกล่าวคือมนุษย์ต้องไปสู่ความสมบูรณ์แบบ ซึ่งแบบของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นสังคมคือตัวแปรที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ในแบบองค์รวมได้ สังคมที่ว่านั้นเป็นสังคมที่ผ่านการชี้นำโดยปราชญ์ และประชาชนเป็นผู้ตาม โดยปราชญ์เป็นผู้กำหนดหลักนิติรัฐที่สอดคล้องกับตัวตนของมนุษย์ แล้วทั้งสององค์ประกอบทั้งผู้นำและผู้นำจะขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นอตมรัฐ รัฐที่สมบูรณ์ รัฐที่เต็มไปด้วยความไพพูลย์ รัฐที่มีแต่ความสวยงามโดยการจัดตั้งรัฐและการปกครอง
ทัศนะของฟารอบีย์ในเรื่องอุตมรัฐ เขามีความเชื่อว่าผู้นำรัฐในอุดมคติและผู้สร้างรัฐแห่งความสมบูรณ์ขึ้นมาได้นั้นคือผู้อยู่ในตำแหน่งของตัวแทนพระเจ้า คือตำแหน่งศาสดา ตำแหน่งผู้นำ และปวงปราชญ์ที่ทรงธรรม
๒) อบูอะลี อิบนุ สีนา Avencinna (ค.ศ. ๙๘๐-๑๐๓๗) กับปรัชญาสังคมในเรื่อง”ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด”(Good Government)
อิบนุสีนา (Avencinna)นักปรัชญาอีกท่านหนึ่งที่ได้นำเรื่องปรัชญาการเมืองและปรัชญาสังคมมากล่าว และชี้แนะต่อเหล่านักปกครองทั้งหลายให้รับรู้ว่า แท้จริงมนุษย์มีความจำเป็นต่อการมีระบอบการปกครองที่ดีและการมีรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง เพราะจะสร้างสังคมให้มีความยุติธรรมและความมั่นคง
และการจะสถาปนาระบอบที่ดีที่สุด(النظامالاحسن)ต้องผ่านการปกครองโดยผู้นำทรงธรรม ดังที่ศาสดาได้มาประกาศและปฎิบัติเป็นแบบอย่างไว้ และอิบนุสีนาได้กล่าวอีกว่า แท้จริงการนำสังคมไปสู่ระบอบที่ดีที่สุดนั้น จะต้องมีกฏหมายและกฏระเบียบที่ถูกต้องมีหลักนิติรัฐนิติธรรม และผู้นำที่มีภาวะผู้นำเท่านั้นจะบริหารจัดการและบัญญัติกฏหมายนั้น ท่านอิบนุสีนา ได้นำเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับผู้นำและภาวะผู้นำไว้ว่า แท้จริงผู้นำนั้นทำหน้าที่ปกครอง โดยนำหลักธรรมาภิบาลมาบริหารจัดการบ้านเมือง เพื่อไปนำไปสู่ความสันติสุขของมวลมนุษยชาติทั้งปวง.
๓)มุลลาศ็อดรอ (ค.ศ. ๑๕๗๑-๑๖๐๒) กับปรัชญาสังคมเรื่อง”รัฐและผู้นำรัฐ”(State and The Leader of State)
มุลลาศอ็ดรอ เป็นนักปรัชญามุสลิมนิกายชีอะฮเจ้าของสำนัก”ฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ”حکمة المتعاليةปรัชญาอันสูงส่ง ได้มีทัศนะทางปรัชญาสังคมและการเมืองไว้ว่า แท้จริงทุกสังคมต้องการรัฐและผู้นำรัฐ และสังคมใดไร้การปกครองและไม่มีผู้นำรัฐ ไม่สามารถจะขับเคลื่อนไปสู่ความสมบูรณ์ได้ และมุลลาศอ็ดรอ ได้กล่าวอีกว่า แท้จริงผู้นำรัฐนั้นจะต้องมีหลักการปกครอง ที่เป็นกฏหมาย เพื่อสร้างสรรค์สังคม ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า.
“ทุกสังคมมีความต้องการและจำเป็นต่อกฏหมายหนึ่ง ที่มนุษย์จะต้องย้อนกลับไปยังมัน และมนุษย์ไม่สามารถจะดำเนินชีวิตไปได้อย่างสมบูรณ์แบบในโลกนี้ นอกจากจะต้องมีผู้ปกครองหรือผู้นำที่ทรงยุติธรรม และมีกฏหมาย บัญญัติมาจากพระเจ้า”(อ้างจากบทความเรื่อง มุฟักกิรอนอิสลามี ว่าฮัมบัสเตกีดีน ว่า เดาลัต)
ท่านมุลลาศ็อดรอได้อรรถาธิบายเกี่ยวกับบทบัญญัติทางการปกครอง (โดยพระเจ้า) ว่ามันคือวิญญาณของการเมือง ถ้าการเมืองใดไร้กฏหมายที่เป็นบทบัญญัติแห่งพระเจ้า ถือว่าการเมืองนั้นไร้วิญญาณ เป็นการเมืองที่ตายแล้ว ไร้ชีวิต เมื่อการเมืองไร้ชีวิต ก็จะไม่สามารถให้ชีวิตแก่สังคมได้
บรรณานุกรม
กีรติ บุญเจือ ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอร์น รู้จักปรัชญา เล่ม ๑ กรุงเทพฯ , มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๕
เชคชะรีฟ ฮาดียฺ คำสอนจากนะฮญุลบะลาเฆาะฮ กรุงเทพฯ, สถานศึกษา ดารุลอิลมฺ มูลนิธิ อิมามคูอีย์ ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
เชคชะรีฟ ฮาดียฺนะฮญุลบะลาเฆาะฮ :ปาฎิหาริย์แห่งวาทศิลป์ของท่านอิมามอะลี บิน อะบีฎอลิบ(อ) กรุงเทพฯ, สถานศึกษา ดารุลอิลมฺ มูลนิธิ อิมามคูอีย์ ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๒
พิสิษฐิกุล แก้วงาม. ความรู้พื้นฐานในทางรัฐศาสตร์ (ภาคความคิด). มหาสารคาม : หลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม, 2552
วิโรจน์ สารรัตนะ. 2546. ภาวะผู้นำ : หลักการ ทฤษฎีและประเด็นพิจารณาในบริบททางวัฒนธรรมสังคมและองค์กรไทย.[Online]./Available: URL: http://ednet.kku.ac.th/~ed128/ad06/article6.html
AyatullahMisbahYazdi. Jami ah waTareek. Qom Iran : SazmanTabliqat 1372
Ali RubbaniKulbaikani .HukumatvilaeewaImamatRahbari. Qom Iran 1388
ปรัชญาการเมืองอิสลาม:
“อุตมรัฐปรัชญาในทัศนะของอิมามโคมัยนี”
Doctrine of Utopai in View Imam Komaini
โดย ศ.(กิตติมาศักดิ์) ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
อิมามโคมัยนีย์กับแนวคิดเรื่องอุตมรัฐ
การปกครองในมุมมองของอิสลามถือว่าเป็นระบอบหนึ่งทางสังคมที่ได้ถูกจัดระเบียบแบบแผนเอาไว้ โดยผ่านกระบวนการคิดทางปรัชญาและทางอภิปรัชญา ดังนั้นจะเห็นไว้ว่าในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม เราจะพบนักคิดมุสลิมและนักปรัชญามุสลิมหลายต่อหลายท่านและในหลายสำนักได้มีแนวคิดและหลักคิดทางปรัชญาในเรื่องการปกครองและการเมืองไว้น่าสนใจทีเดียว
ท่านอิมามโคมัยนีย์อีกท่านหนึ่งที่ได้ถูกกล่าวขานมากที่สุดในยุคปัจจุบัน ซึ่งท่านอยู่ในฐานะปราชญ์ผู้ยิ่งยงและยิ่งใหญ่ของโลกอิสลาม โดยท่านอิมามโคมัยนีได้สร้างวาทกรรมทางการเมืองและการปกครองให้ชาติอภิมหาอำนาจต้องนอนไม่หลับและนอนฝันร้ายจนจึงวันนี้
ท่านอิมามโคมัยนี(ร.ฎ.)คือปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งหลังนวยุคPost-modern ท่านได้สร้างปรากฏการณ์ทางสังคม ทางการเมือง ทางวัฒนธรรมอย่างที่ไม่มีผู้ใดจะเปรียบเสมือนได้ ท่านอิมามโคมัยนี(ร.ฎ.)ได้สถาปณาสาธารณรัฐอิสลามแห่งอีหร่าน เพื่อเป็นการปูทางไปสู่ชัยชนะสูงสุดและความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งมวลมนุษยชาติ นั่นคือการสร้างระบอบการปกครองอันทรงธรรมและเป็นการเมืองที่ใสสะอาดพร้อมกับนำวัฒนธรรมอันพิสุทธิ์แห่งอิสลามให้ชาวโลกประจักษ์ว่า อิสลามคือศาสนาแห่งทางนำและเป็นศาสนาแห่งศานติและเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตที่แท้จริงของมนุษยชาติ.
ท่านอิมามโคมัยนีได้นำเสนอทฤษฎีปรัชญาการเมืองว่าด้วยเรื่องอุตมรัฐไว้ดังนี้
๑) รัฐและระบอบการปกครอง
หลักศาสนบัญญัติอิสลาม ไม่ว่าด้านภาคศาสนพิธี(พิธีกรรม) หรือด้านภาคการพาณิชย์ ภาคการเมือง จำเป็นจะต้องดำรงอยู่จนถึงวันอวสานโลก และจะไม่มีคำสอนใดที่ได้กล่าวอ้างขึ้นมาว่าหลักการทางศาสนบัญญัติ อาจจะถูกยกเลิกไปในยุคใดยุคหนึ่ง จากหลักความเชื่อนี้ เป็นเหตุให้จะต้องมีระบบการบริหารและการปกครองที่สามารถนำหลักศาสนบัญญัติมาถือปฏิบัติและบังคับใช้เพื่อสร้างความสมดุลภาพและความเหมาะสมของการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติ
ท่านอิมามโคมัยนี ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า แท้จริงการมีรัฐอิสลามถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ และถือว่าเป็นความจำเป็นข้อหนึ่ง เพราะว่าการรักษาสิ่งที่เป็นหลักการศาสนาหรือการควบคุมการออกนอกลู่นอกทางของมุสลิม ต้องอาศัยกลไกลของสร้างรัฐอันมั่นคงนั่นเอง และอิสลามยังมีมิติทางการเมือง ซึ่งการมีรัฐอิสลามสามารถปกป้องจากการรุกรานจากฝ่านศัตรูและทำให้ศัตรูอ่อนแอ
ท่านอิมามโคมัยนีได้นำหลกฐานจากตัวบทฮะดีษที่สืบสายรายงานมาจากอิมามยะฟัรอัศ-ศอดิก(อ)กล่าวถึงความจำเป็นต่อการมีรัฐอิสลามไว้ว่า
รายงานจากท่านซุรอเราะฮ์ว่า ท่านอิมามยะฟัร ศอดิก(อ)กล่าวว่า…
“แท้จริงพระองค์อัลลอฮประทานอัลกุรอาน เพื่ออรรถธิบายทุก ๆ สิ่ง ขอสาบานต่อพระองค์อัลลอฮ แท้จริงพระองค์อัลลอฮไม่ทรงละทิ้งบ่าวของพระองค์ต่อสิ่งที่บ่าวของพระองค์ยังมีความจำเป็นอยู่”
รีวายะฮบทนี้ต้องการจะกล่าวสอนว่า แท้จริงความจำเป็นของบ่าวพระองค์อัลลอฮคือ การปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสมบูรณ์ทุกประการคือการมีรัฐอิสลามและการปกครองในระบอบอิสลาม
ท่านอิมามโคมัยนีได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า..
“การเป็นผู้ปกครอง และผู้นำของประชาชนนั้นถือว่าเป็นหน้าที่ของนักการศาสนา นักนิติศาสตร์ทรงคุณธรรมและเป็นปราชญ์ และถือว่าเป็นความเหมาะสมของนักนิติศาสตร์มากที่สุดในการเป็นผู้นำผู้ปกครองของประชาคมมุสลิม”
“ถ้ามีนักนิติศาสตร์ท่านใด ได้จัดตั้งรัฐอิสลามขึ้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของนักนิติศาสตร์ท่านอื่น ๆ ต้องปฏิบัติตาม และถือว่าจำเป็นต้องให้ความสำคัญและสนับสนุน” (หน้า 33 จากหนังสือซอฮีฟะตุลนูร)
ท่านอิมามโคมัยนีกล่าวอีกว่า..
“ด้วยเหตุนี้ถือว่าเป็นการวายิบต่อนักนิตศาสตร์อิสลาม ต้องนำหลักศาสนบัญญติมาบังคับใช้ และจะต้องดำเนินการด้านการเงิน ทรัพย์สินจากเงินคุมซ์จากประชาชน และจะต้องแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน การเป็นอยู่ของประชาชน และหน้าที่ที่กล่าวมานี้ ถือว่าท่านศาสดามุฮัมมัด และบรรดาอิมาม(อ)ได้ปฏิบัติมาแล้วและเป็นหน้าที่ของพวกท่าน (อ) และสำหรับนักนิติศาสตร์ทรงคุณธรรมจะต้องมีหน้าที่เช่นนี้ด้วยเช่นกัน” (หน้า 33 หนังสือศอฮีฟะตุลนูร)
ท่านอิมามโคมัยนีเชื่อและยืนยันว่าแท้จริงมนุษยชาติและสังคมโลกจะยืนอยู่บนความสงบสุขและสันติภาพที่แท้จริงได้นั้น สังคมโลกต้องอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบอิสลาม ระบอบอิสลามถึอว่าเป็นโครงสร้างหลักของการจัดตั้งรัฐ ซึ่งในระบอบอิสลามจะเป็นตัวจักรและโครงสร้างย่อยอื่นที่มาบริหารจัดการบ้านเมือง
อิมามโคมัยนีเชื่อว่าระบอบอิสลามคือระบอบการปกครองที่ดีที่สุด เพราะเป็นระบอบการปกครองของบรรดาศาสดาและบรรดาผู้นำหลังจากศาสดาที่อยู่ในฐานะของผู้ปกครองที่ศาสดาได้สั่งเสียไว้
อิมามโคมัยนีเชื่อว่าระบอบอิสลามจะเป็นระบอบที่มาสร้างหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการบ้านเมือง โดยนำหลักนิติรัฐนิติธรรมมาปกครองและสามารถนำความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่มวลมนุษย์
อิมามโคมัยนีเชื่อว่า อุตมรัฐปรัชญามีโครงสร้างดังนี้
ผู้ปกครองกับภาวะผู้นำ
ผู้นำ(Leaders) และภาวะผู้นำ(LeaderShips) ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่อัลกุรอานและตัวบทจากวจนะของศาสดามุฮัมมัด(ศ)และผู้ปกครองอันทรงธรรมแห่งอิสลามได้กล่าวไว้ นั่นหมายความว่าสิ่งเหล่านั้นคือกรอบแนวคิดและเป็นหลักการการบริหารจัดการบ้านเมือง และผู้เขียนจะนำบางโองการมากล่าวเกี่ยวกับผู้นำและภาวะผู้นำในทัศนะของอิสลาม ดังนี้
อัลกุรอานได้กล่าวไว้ว่า..
“ แน่นอนเราได้ส่งบรรดาศาสนทูตมาพร้อมกับหลักฐานอันชัดแจ้ง และได้ประทานคัมภีร์มาพร้อมกับพวกเขาและตาชั่ง เพื่อที่มนุษย์จักได้ดำรงอยู่บนความยุติธรรม”(บทอัลฮะดีดโองการที่๒๕)
“และเราประสงค์ที่จะมอบความโปรดปรานให้กับบรรดาผู้ถูกกดขี่ บนหน้าแผ่นดิน โดยแต่งตั้งพวกเขาให้เป็นผู้นำและทำให้พวกเขาเป็นทายาทแห่งการสืบทอด”(บทอัลกอซอซ โองการที่๕)
ทั้งสองโองการนี้พระผู้เป็นเจ้าเอกองค์อัลลอฮซ.บ.ประสงค์ที่จะแจ้งให้ประชาชาติทุกยุคทุกสมัยรู้ว่า แท้จริงมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม และทุกๆ สังคมต้องการผู้นำและผู้ชี้นำที่มีภาวะผู้นำเป็นผู้ยำเกรง และเคร่งครัด สำรวมตน และอัลกุรอานได้แนะนำว่าผู้นำที่ดีนั้นมีอยู่สองกลุ่มคน คือ
๑)ผู้นำที่เป็นศาสดา เป็นศาสนทูต และเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า
๒)ผู้นำที่อยู่ในฐานะผู้เป็นปราชญ์ (Faqi)
อัลกุรอานได้นำเสนอการเป็นผู้นำของทั้งสองกลุ่มคนและกล่าวถึงภาวะผู้นำของพวกเขาไว้อย่างชัดเจน และอัลกุรอานได้กล่าวถึงระบอบการปกครอง โดยจะสามารถสรุปได้ดังนี้
๑)ผู้นำ เป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระผู้เป็นเจ้า และเป็นบุคคลที่พระผู้เป็นเจ้าไว้วางใจให้อยู่ในฐานะของผู้ชี้นำ นั่นคือ บรรดาศาสดา และอีกกลุ่มหนึ่งคือปุถุชนธรรมดา ที่เป็นกลุ่มชนที่ถูกกดขี่ (مستضعفين) นั่นก็คือบรรดาผู้นำทรงธรรมแห่งทายาทศาสดามุฮัมมัด(ศ)และตัวแทนของบรรดาอิมามผู้ทรงธรรม ที่อยู่ในฐานะเป็นปราชญ์ผู้ชำนาญการและเป็นนักการศาสนา(Faqi)โดยได้รับอำนาจการปกครองนั้นจากศาสดา(ศ)และตัวแทนของศาสดา พวกเขาอยู่ในฐานะ”วิลายะตุลฟะกีย์”(อำนาจการปกครองรัฐของนักการศาสนา)
๒)ตำแหน่งผู้นำนั้นเป็นพันธสัญญาหนึ่งของพระเจ้า นั่นหมายความว่าเป็นการกำหนดโดยพระเจ้าต่อกลุ่มคนที่เหมาะสมและทรงธรรมให้ดำรงตำแหน่งผู้นำแห่งมวลมนุษยชาติ
๓)ภาวะผู้นำจากโองการข้างต้น คือ
๓.๑ การนำหลักบริหารบ้านเมืองและกฏหมายอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ(หลักชะรีอะฮ) ดังโองการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า “เราได้ส่งมาพร้อมกับบรรดาศาสดานั้น คือคัมภีร์” ซึ่งคำว่าคัมภีร์ในความหมายของโองการนี้ คือหลักรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้หลักนิติรัฐนิติธรรม
๓.๒ สร้างระบอบการเมือง การปกครอง และระบอบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและตรวจสอบได้ ดังโองการที่ได้กล่าวไว้ว่า”ได้ส่งตาชั่งมาพร้อมกับพวกเขา” ดังนั้นคำว่า”ตาชั่ง”คือระบอบและแบบที่มีมาตรฐาน
๓.๓สร้างความมั่นคง นั่นหมายความว่าผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ในเรื่องของการสร้างความมั่นคงต่อประเทศชาติและต่อประชาชน ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้ว่า “เราได้ส่งเหล็ก” คำว่าเหล็ก คือกองกำลัง กำลังพลทางทหารและคลังอาวุธ เพื่อไว้ปกป้องการละเมิดอำนาจอธิปไตย
๓.๔ การสร้างความยุติธรรมในสังคม เป็นเป้าหมายสูงสุดของการปกครองและการสร้างรัฐ ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวว่า”เพื่อให้ประชาชนได้ยืนหยัดในความยุติธรรม”
๒) รัฐอัลมะฮ์ดี คือ อุตมรัฐที่แท้จริง
จากคำสอนอันโดดเด่นเรื่องหนึ่งของอิสลามคือ การจัดตั้งรัฐของอิมามมะฮ์ดี(อ) ผู้เป็นทายาทศาสดามุฮัมมัด(ศ) ที่จะมาปรากฏในยุคสุดท้าย โดยผ่านการพยากรณ์และการทำนายไว้ในทุกศาสนาและทุกลัทธินิกาย เป็นหลักความเชื่อหนึ่งของมวลมนุษยชาติ
๑)ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ)ดำรัสว่า…
“อัลมะฮดี มาจากลูกหลานของฉัน และสำหรับเขาจะมีการเร้นกาย(ฆัยบะฮ) เมื่อเขาได้ปรากฏ จะนำมาซึ่งความยุติธรรมและความดีงามเปี่ยมเต็มบนหน้าแผ่นดิน เหมือนกับที่มันได้เต็มไปด้วยความอธรรมและความอยุติธรรม”
๒)ท่านอิมามอะลี(อ)กล่าวว่า…
“อิมามท่านที่เก้า มาจากเชื้อสายของเจ้า โอ้ฮุเซน เขาคือ ผู้ยืนหยัดต่อสิ่งที่เป็นสัจธรรม(อัลกออิม) และเขาจะทำให้ศาสนาของพระองค์เด่นชัดกว่าศาสนาอื่นๆ และเป็นผู้สถาปนาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน”
๓)ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ)ดำรัสว่า….
“สาบานต่ออัลลอฮ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ แท้จริงมะฮดีในประชาชาติ มาจากลูกหลานของเรา ซึ่งท่านศาสดาอีซาจะมานมาซตามหลังเขา”
หลังจากนั้นท่านศาสดา(ศ)ได้เอามือของท่านไปแตะทีหลังของอิมามอุเซนแล้วกล่าวว่า “เขา(อัลมะฮดี)มาจากเชื้อสายของเจ้า” (ได้กล่าวถึงสามครั้ง)
ท่านอิมามโคมัยนีได้เรียกร้องและประกาศก้องถึงการรองรับการมาของอิมามมะฮ์ดีย์ ซึ่งท่านอิมามโคมัยนีได้ทำการปฎิวัติอิสลามในประเทศอีหร่านและได้จัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นมา เพื่อเป็นการรองรับการจัดตั้งรัฐที่สมบูรณ์แบบแห่งโลกมนุษยชาติ นั่นคืออุตมรัฐที่เหล่ามนุษยชาติได้รอคอย ซึ่งเป็นรัฐที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นการปกครองระบอบอิสลาม เป็นการปกครองอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐนิติธรรมแห่งคำสอนอิสลาม
ท่านอิมามโคมัยนีเชื่อว่าชาติมหาอำนาจได้พยายามที่จะทำลายหลักการและแนวความเชื่อในเรื่องอิมามมะฮดีย์และได้สร้างวาทกรรมทางการเมืองเพื่อทำลายรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน โดยกล่าวหาว่าแนวคิดแบบอิสลามหรือรัฐอิสลามเป็นรัฐแห่งการก่อการร้าย ดังนั้นในช่วงการไม่ปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี(อ)ให้มุสลิมจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นเพื่อรองรับและเตรียมพร้อมการมาของอิมามมะฮดีย์
อิมามโคมัยนีกล่าวว่า
“จากหลักฐานและข้อยืนยันที่ได้แสดงถึงการมีตำแหน่งผู้นำภายหลังจากศาสดามุฮัมมัด(ศ) และศาสดามุฮัมมัดได้ถูกส่งมาเพื่อจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นและบรรดาอิมาม(อ)ได้ถูกแต่งตั้งมาเพื่อจัดตั้งรัฐอิสลาม(เช่นกัน) ดังนั้นในช่วงการไม่ปรากฏกายของอิมามมะฮดีย์ เรามีหน้าที่ที่จะต้องจัดตั้งรัฐอิสลามด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อรองรับการมาของอิมามมะฮ์ดี เพราะเราไม่รู้ว่าท่านอิมาม(อ)นั้นจะมาปรากฏกายเพื่อไหร่ พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงรอบรู้ยิ่ง”
บรรณานุกรม
กีรติ บุญเจือ ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอร์นรู้จักปรัชญา เล่ม ๑ กรุงเทพฯ , มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๕
เชคชะรีฟ ฮาดียฺคำสอนจากนะฮญุลบะลาเฆาะฮ กรุงเทพฯ, สถานศึกษา ดารุลอิลมฺ มูลนิธิ อิมามคูอีย์ ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
เชคชะรีฟ ฮาดียฺนะฮญุลบะลาเฆาะฮ:ปาฎิหาริย์แห่งวาทศิลป์ของท่านอิมามอะลี บิน อะบีฎอลิบ(อ) กรุงเทพฯ, สถานศึกษา ดารุลอิลมฺ มูลนิธิ อิมามคูอีย์ ปีที่พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๒
พิสิษฐิกุล แก้วงาม. ความรู้พื้นฐานในทางรัฐศาสตร์ (ภาคความคิด). มหาสารคาม : หลักสูตรสาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม, 2552
วิโรจน์ สารรัตนะ. 2546. ภาวะผู้นำ :หลักการ ทฤษฎีและประเด็นพิจารณาในบริบททางวัฒนธรรมสังคมและองค์กรไทย.[Online]./Available: URL: http://ednet.kku.ac.th/~ed128/ad06/article6.html
AyatullahMisbahYazdi. Jami ah waTareek. Qom Iran : SazmanTabliqat 1372
Ali RubbaniKulbaikani .HukumatvilaeewaImamatRahbari. Qom Iran 1388
Dr.HenryGorbinA History of Philosophy Islmamic.Thehran Iran 1371
BahramKazimiNew Perspectives AboutMahdavismThehran Iran 1387
^http://www.rep.routledge.com/article/S099
^http://www.iep.utm.edu/polphil/
^http://en.wikipedia.org/wiki/Eros_%28concept%29
امامخمینی،آدابالصلوه،مؤسسهتنظیمونشرآثارامامخمینی،چاپاول، 1370،ص 141.
امامخمینی،مصباحالهدایهالیالخلافهوالولایه،مؤسسهتنظیمونشرآثارامامخمینی،چاپاول، 1373،ص 36.
امامخمینی،کتابالبیع،قم،چاپمهر،ج 2،ص 475ـ47