jos55 instaslot88 Pusat Togel Online วัฒนธรรมกับการปฏิรูป - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

วัฒนธรรมกับการปฏิรูป

คอลัมน์ สยามรัฐผลัดใบ
ทหารประชาธิปไตย
วัฒนธรรมกับการปฏิรูป     

ในยุคต้นๆในสมัยที่ลัทธิขงจื้อเป็นที่ยอมรับนับถือกันอย่างแพร่หลาย พฤติกรรมของคนจีนได้ถูกตีกรอบด้วยคำสอนของขงจื้อและปฏิบัติสืบต่อๆกันมาจนเป็นจารีตประเพณี เช่น การถูกสอนให้รู้จักมัธยัสต์และอดออมไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ การอบรมสั่งสอนดังกล่าวนำมาสู่การอบรมสั่งสอนเด็กๆของแต่ละครอบครัวให้รู้จักอดออม ดังนั้นจีนจึงเป็นประเทศที่มีอัตราการออมอยู่ในอันดับต้นๆในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะได้รับการปลูกฝังจากการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่ยุคขงจื้อ แม้ว่าจีนจะผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรมในสมัยเหมา เจ๋อ ตุง ที่เห็นว่าวัฒนธรรมเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่จีนก็เลือกที่จะเก็บเอาวัฒนธรรมบางอย่างที่ดีไว้เพื่อประโยชน์ของชาติ แต่คำว่าดีนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตีความของชนชั้นปกครอง เช่น ขงจื้อสอนให้รู้จักเคารพพ่อ-แม่ และ บรรพบุรุษ ตลอดจนเคารพเชื่อฟังต่อครูบา-อาจารย์ แต่ลัทธิคอมมิวนิสต์ เห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความคิดต่อต้านลัทธิ เพราะเป็นการปลูกฝังให้เห็นแก่ตัว แก่  ครอบครัว แก่พรรคพวก จึงให้จัดการปรับเปลี่ยนด้วยระบบการศึกษา และ การปฏิวัติวัฒนธรรม โดยเยาวชนเรดการ์ด     ในญี่ปุ่นลัทธิบูชิโด มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการดำเนินชีวิต และการปกครองบ้านเมือง จนกลายเป็นจารีตประเพณีสืบต่อมายาวนาน แม้จะมีศาสนาพุทธเข้าไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น นิกายเชน ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมหลักๆของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้ นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้การสนับสนุนด้วยกระบวนการศึกษา เพื่อรักษาวัฒนธรรมดีงามอันจะเป็นประโยชน์ของชาติเอาไว้ เช่น แนวคิดเรื่องการออม ญี่ปุ่นจัดเป็นอีกประเทศหนึ่งในโลกที่มีอัตราการออมสูงสุด ไม่เพียงเท่านั้น การที่ประชาชนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัย และการเสียสละเพื่อส่วนรวมก็เป็นวัฒนธรรมอันดีงามที่สืบทอดมาจากการปลูกฝัง จากลัทธิบูชิโด ที่เน้นจารีตแห่งการมีเกียรติยศ ด้วยการรับผิดชอบในหน้าที่อย่างเคร่งครัด ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ก็คือ การเสียสละของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่อาสาเข้าไปจัดการกับการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในโรงไฟฟ้าเซนได ฟูกูจิมะ ทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองจะต้องตาย นอกจากนี้ประชาชนในเขตภัยพิบัติ ยังแสดงออกถึงความมีวินัยและเสียสละด้วยการเข้าคิวรอรับของแจก หรือซื้ออาหารด้วยความอดทนโดยไม่แย่งชิงกัน ทั้งๆที่เดือดร้อน และหลายๆคนยังไม่ขอรับในสิ่งที่ตนพอมีอยู่แล้ว     และแม้ว่าศาสนาและวัฒนธรรมจะมีความเกี่ยวกันกันอย่างใกล้ชิด แต่ 2 สิ่งนี้ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน โดยที่ศาสนานั้นจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนกลุ่มต่างๆที่ได้รับคำสอน แต่คนเหล่านั้นก็มีพื้นเพความคิดของตนที่ปลูกฝังกันมาก่อนยาวนาน ดังนั้นก็จะมีการดัดแปลงหรือยึดถือคำสอนที่สอดรับกับวัฒนธรรมดังเดิมของตนอยู่หลายส่วน และมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ศาสนามีกรอบแนวคิดที่ชัดเจนและตายตัวเพื่อให้เป็นหลักสำหรับประชาชน     ในปัจจุบันแนวคิดทางด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ต่างก็ยอมรับในลัทธิผลของวัฒนธรรมต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือโดยนัยกลับกันถ้าจะปฏิรูปการเมืองการปกครอง หรือเศรษฐกิจ ก็ต้องมีการปฏิรูปวัฒนธรรม และการปฏิรูปวัฒนธรรมก็ต้องใช้วิธีการต่างๆที่จะปลูกฝังประชาชนให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะต้องปฏิรูปการศึกษา แน่นอนวัฒนธรรมหลายอย่างที่ดีก็ควรเก็บไว้ แต่หลายอย่างที่เป็นอุปสรรคสำคัญก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน เช่น ระบบอุปถัมภ์เอาแต่พรรคพวกญาติพี่น้อง โดยไม่แยกแยะความผิดถูก ความรู้ ความสามารถ แต่การรู้จักมีวินัย อดทน อดออม เสียสละ ก็เป็นวัฒนธรรมที่ดีและต้องปลูกฝัง ระบบเกียรติยศก็เป็นอีกเรื่องที่คู่ควรกับการส่งเสริม แต่อย่าไปเข้าใจผิดกับระบบที่เอายศมาเป็นตัววัด เช่น ระบบทหาร ตำรวจ หรือแม้แต่พระ เพราะมันไม่ได้บอกถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มีเกียรติ นั่นก็คือจิตใจที่รู้จักรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และจิตสาธารณะ     การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจึงควรเริ่มตั้งแต่ผู้นำ คณะผู้บริหารจะต้องเป็นไปด้วยความสุจริต ซึ่งคงไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างเพลงปลุกใจ หรือ การโปรโมทภาพยนตร์ ละคร เพราะมันเป็นเพียงผิวเผิน ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามก็เคยทำมาแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้นำมิได้แสดงตนอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้สุจริตและเสียสละ     อนึ่งวัฒนธรรมยังมีอิทธิพลต่อการบริหารจัดการบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง วัฒนธรรมที่แตกต่างจะก่อให้เกิดผลในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วได้ ทั้งนี้ผู้เขียนขอนำเอาผลการศึกษาของ Robert Putnam และ คณะจากมหาวิทยาลัย Princeton มานำเสนอ กล่าวคือ Raof. Putnam ได้ศึกษาถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมในอิตาลียุคใหม่ในผลงานที่ชื่อว่า Making Democracy Work : Civic Traditions in Modern IalyŽ ผลจากการวิจัยพบว่าอิตาลีทางเหนือ กับ อิตาลีทางใต้ มีการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่แตกต่างกันมาก ทั้งๆที่รัฐบาลกลางได้ให้การจัดสรรงบประมาณที่เท่าเทียมกัน อิตาลีทางภาคเหนือ โดยเฉพาะแถบเยนัว เป็นพื้นที่ๆร่ำรวยในระดับโลก แต่ภาคใต้ยังคงยากจน โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมเบื้องต้นใกล้เคียงกับอาร์เจนตินา หรือโปแลนด์ และ มอร์ริเซียส โดยทางเหนือนั้นพัฒนามาจากนครรัฐ ที่ขับเคลื่อนเติบโตมาจากชนชั้นพ่อค้า ส่วนทางใต้พัฒนามาจากระบบเจ้าขุนมูลนาย และระบบอุปถัมภ์ อันเป็นแหล่งกำเนิดของเจ้าพ่อมาเฟีย ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างก่อให้เกิดสถาบันทั้งที่เป็นรูปแบบและไม่เป็นรูปแบบ ตัวอย่างของผลกระทบจากวัมนธรรมเหล่านี้ปรากฏชัดในหลายเรื่อง เช่น ในปีค.ศ.1977 รัฐบาลกลางจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันของประชากรให้จัดตั้งสถาบันรับเลี้ยงเด็ก Daycare ทั่วประเทศ พอถึงปี 1983 คือ ประมาณ 7 ปีต่อมา รัฐทางเหนือ เช่น โบโลนญ่า สามารถจัดตั้ง Daycare ที่จะรองรับเด็กได้ 400 คนต่อแห่ง ทั่วทั้งภาคพื้น ขณะที่รัฐทางใต้แถวเขตเนเปิล สามารถตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กที่ต้องรอบรับเด็กถึง 12,560 ต่อแห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการบ้านเมืองของแต่ละเขต     ถ้าจะเพิ่มอีกตัวอย่างเพื่อความชัดเจนในการศึกษายังพบว่าในการจัดงบประมาณเพื่อจัดตั้งคลีนิคสำหรับครอบครัว ในปี 1974 พอปี 1978 คือ 4 ปีต่อมา แคว้นอัมเบลียทางเหนือจัดตั้งคลินิกที่ดูแลคนได้ 15,000 คน ต่อแห่ง ในขณะที่แคว้นปูเกลียทางใต้ตั้งคลินิกที่ต้องดูแลคนถึง 3,850,000 คน ได้เพียงแห่งเดียว     จากตัวอย่างดังกล่าวจึงพอสรุปยืนยันได้ว่าวัฒนธรรมมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการพัฒนาหรือการปฏิรูปประเทศ แต่การปฏิรูปวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการปฏิรูปประเทศจำเป็นต้องทุ่มเททรัพยากรจำนวนมาก ตลอดจนความตั้งใจอย่างจริงจังของผู้บริหารที่จะมุ่งมั่นแก้ไขเพื่อให้วัฒนธรรมที่ดีงามถูกปลูกฝัง ในขณะที่วัฒนธรรมที่เลวร้ายจะต้องถูกขจัดไปจากความคิดของประชาชน     ตราบใดที่เรายังยึดมั่นกับระบบอุปถัมภ์ ระบบพรรคพวก ระบบที่ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร ไม่ใช่ระบบค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน และแนวคิดแบบศรีธนญชัย เราคงยากที่จะปฏิรูปประเทศให้ประสบความสำเร็จ แน่นอนการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เน้นวัฒนธรรมที่ดีงามและขจัดวัฒนธรรมที่เลวร้ายต้องใช้เวลา แต่ถ้าไม่เริ่มต้นก็จะไม่มีก้าวต่อไป และผู้ทำ ตลอดจนรัฐบาลจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ใช่ไปเที่ยวบอกใครให้เขาทำแต่ตัวไม่ทำ หรือไม่ใช่การเปิดเพลงโฆษณาชวนเชื่อแต่ไม่ทำ การไปฝากความหวังกับสภาปฏิรูปดูจะเป็นความฝันที่เลื่อนลอย เพราะสภาที่ไม่มีอำนาจอะไรเลยในการปฏิรูปแค่นำเสนอความคิด แต่กรรมาธิการจะเอาหรือเปล่าไม่มีหลักประกัน แถมถ้าแนวคิดไม่ตรงกับกรรมาธิการ นั่นคือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ ที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการ สภานี้ก็จะถูกยุบไป แล้วกรรมาธิการเป็นใคร เป็นตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่หรือเปล่าก็เปล่า แถมยังไม่มีการทำประชามติ เพราะไปกลัวเสียงประชาชนที่อ้างว่าจะมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ก็ต้องถามว่าใครจะมาซื้อประชามติเพราะมันไม่มีผลประโยชน์ตรง และถ้าควบคุมการออกเสียงอย่างเข้มงวด ประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน คนมาออกเสียงมากก็ไม่มีใครซื้อได้หรอกครับ นี่ก็จะเป็นบทพิสูจน์อีกเรื่องหนึ่งว่าจริงใจต่อการสร้างประชาธิปไตยหรือไม่ 

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *