วิกฤตธนาคารอิสลาม
ธนาคารอิสลาม “เจ๊งเพราะการเมือง”
อดีตประธานกรรมการ แจง…ทุกวันนี้ต้องแบกหนี้เสียเกือบ 5 หมื่นล้าน มาจากคอรัปชั่น ที่การเมืองบีบให้ทำ!
จากกระแสข่าว ที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า การจัดการปัญหาธนาคารอิสลาม มีสองทางเลือก คือปล่อยให้ล้ม กับประคองต่อไปนั้น
“สื่ออิสระ” ที่กำลังเกาะติดสถานการณ์ ได้ขอสัมภาษณ์ อดีตประธานบอร์ด ธ.อิสลามฯ ศ.พล.ท. ดร.สมชาย วิรุฬหผล ได้รับเปิดเผยความจริงว่า…
“หลังจากที่เช็คข่าวแล้ว เกิดความคลาดเคลื่อน ท่านนายกไม่ได้สื่อว่าจะปล่อยให้ธนาคารอิสลามล้ม… เห็นว่าไม่ล้มค่อนข้างแน่นอน
และขณะนี้หนี้เสียของธนาคาร ก็ได้ถูกถ่ายโอนไปยัง IMC บริษัทบริหารสินทรัพย์ (ของรัฐ) แล้ว จากที่มีอยู่เกือบ 5 หมื่นล้าน ขายไปในราคา ประมาณ 12,000 ล้าน ซึ่งจะทำให้ธนาคารอิสลามมีรายได้จากการขายหนี้ และไม่ต้องตั้งสำรอง ทำให้ปลอ่ยสินเชื่อได้ และจะกู้สถานการณ์ได้
อย่างไรก็ตาม แผนฟื้นฟูที่ธนาคารส่งไปแล้วถูกตีกลับจากรัฐบาลนั้น เป็นเพราะยังมีบางส่วนที่ไม่ชัดเจน และเป็นคนละส่วนกับการจัดการคนทุจริต ที่ทำให้เกิดหนี้เสีย ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการ โดยไม่ต้องรอให้แผนฟื้นฟูผ่าน
อดีตประธานกรรมการธนาคารอิสลาม ยังแสดงความเห็น ถึงสาเหตุที่ทำให้แบงค์อิสลาม มาถึงจุดวิกฤต ที่มีหนี้เสียและขาดทุนอยู่ในขณะนี้
ว่า… เกิดการคอรัปชั่น ด้วยการยัดเยียดสินเชื่อที่ไม่ดี มาให้ฝ่ายบริหารของธนาคารอนุมัติ ซึ่งความไม่เป็นมืออาชีพ และความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง ทำให้ยอมปล่อยเงินกู้ ในที่สุดแล้วก็กลายเป็นหนี้เสีย
กรณีเช่นนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดที่ธนาคารอิสลาม แต่เคยเกิดกับธนาคารกรุงไทยในอดีตมาแล้ว
ข้อที่น่าสังเกตคือ ผู้บริหารแบงค์อิสลาม ดูจะมีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองมากเป็นพิเศษ ทำให้โดนปัญหาเรื่องนี้เยอะ ซึ่งในอนาคตก็ไม่แน่ว่าจะแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาข้อกฎหมายไทย ที่ไม่สอดคล้องกับวิธีการที่ธนาคารอิสลามฯ เลือกใช้ในการให้สินเชื่อบ้าน คือการซื้อมาขายไป (ธนาคารฯ ซื้อบ้านมา บวกกำไร แล้วขายให้ลูกค้าด้วยการผ่อนชำระ)
เพราะวิธีนี้ ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการโอน ภาษี และต้นทุนอื่นๆ ในการให้บริการที่สูง ทำให้ระบบธนาคารอิสลาม ทำหน้าที่ไม่ได้เต็มที่
ศาสตราจารย์ พลโท ดร.สมชาย วิรุฬหผล