สบาย สบาย สไตล์เกษม : น่าเสียดาย”สล้าง”ฆ่าตัวตาย
สบาย สบาย สไตล์เกษม
น่าเสียดาย”สล้าง”ฆ่าตัวตาย
เกษม อัชฌาสัย
คราวนี้ขออนุญาตเว้นวรรคการเขียน”บันทึก”นักข่าวไดโนเสาร์”ไว้ชั่วคราว ด้วยมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจกว่า ที่ควรจะเขียนถึงก่อน
น่าสลดใจมากและขอแสดงความเสียใจด้วยกับญาติๆของพล.ต.อ.สล้าง บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดาผู้ว่าการตำรวจแห่งชาติยกย่องว่า เป็นผู้ที่สร้างความดีความงาม ไว้ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและประเทศชาติ ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ด้วยตกลงจากบันไดเลื่อนชั้น ๗ กระทบพื้นอย่างรุนแรงทำให้เสียชีวิต ขณะอายุได้ ๘๑ ปี
เหตุเกิดที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยไม่มีใครคาดคิด ขณะที่เพื่อนๆ ของท่านรออยู่ในงานเลี้ยงรุ่น
เจ้าหน้าที่ตรวจพบพบจดหมายลาตาย บ่งบอกความคับข้องใจ อันเป็นสาเหตุแห่งความหดหู่ไว้ โดยที่ผู้เขียนเอง ก็ไม่คิดมาก่อนว่า พล.อ.สล้างจะจริงจังอย่างมากมายถึงเพียงนั้นในเรื่องที่ว่า
โดยบ่งบอกว่าท่านจะมีชีวิตอีกเพียงสองปีเท่านั้น(ไม่ชัดเจนว่าทำไม) พร้อมขออภัยเพื่อนๆและลูกหลาน ด้วยคิดว่าการกระทำเช่นนี้(ฆ่าตัวตาย)เท่านั้นที่จะเกิดประโยชน์ ในการคัดค้านโครงการรถไฟรางคู่ขนาด ๑ เมตร คัดค้านรถก่อสร้างไฟยกระดับ และสนับสนุนการก่อสร้างทางรถยนต์แบบ”ออโต บาห์น”
ผมก็ไม่รู้ว่า ทำไมถึงสำคัญนักกับตัวท่าน จึงสืบเสาะมาและได้ เรื่องว่า สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งนายตำรวจใหญ่ ท่านเคยได้รับหน้าที่ในการดูแลการจราจร ท่านจึงสนใจมากเป็นพิเศษ
นอกจากนั้น ท่านยังเคยไปดูงานเหล่านี้มาด้วยจึงมีความเห็นว่านั่นคือทางออกของประเทศชาติ ในเรื่องการเดินทางและการจราจรของไทย
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อยู่ที่”ผู้เล่า”ครับ
ลูกชายคนโตขอเองงท่าน ก็ยืนยันผ่านโทรทัศน์เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาว่า เป็นความจริงๆ
แต่ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า ลึกลงไปมากว่านั้น ท่านน่าจะมีเรื่องอะไรอีก ที่ซ่อนลึกๆ อยู่ในใจแต่ไม่ได้เอ่ยถึง
ในชีวิตท่าน น่าจะมีสองเรื่องสำคัญที่โด่งดังเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป
เรื่องแรกคือนำกำลังตำรวจเข้าล้อมและปราบปรามนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือซึ่งผมไม่รู้แน่ว่าเป็นใครที่สั่งตรงมา
แต่จำได้ว่ารองอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น ซึ่งก็คือ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละเข้าไปรายงานต่อนายกรัฐมนตรีคือม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชในที่ประชุมครม.ด้วยน้ำตานองหน้า(ตามคำบอกเล่าของพระสุรินทร์ มาศดิตถ์)ว่า”นักศึกษามีอาวุธร้ายแรง ตำรวจบาดเจ็บและตายจำนวนมากและนักศึกษาก็ตายเยอะ”
แต่ต่อมาหลังจากนั้น “อธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพเข้าไปแจ้งนายกรัฐมนตรีว่า”ตำรวจไม่ตาย บาดเจ็บไม่กี่คน” รัฐมนตรีจึงพากันแสดงสีหน้าสงสัย”
ตามข้อเท็จจริงการปราบปราบคราวนั้นตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต ๔๖ คน บาดเจ็บ ๑๖๗ คน แต่ตัวเลขของสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย(ซึ่งทำหน้าที่กำจัดศพ)กลับระบุว่า ตายกว่า ๑๐๐ คน
เหตุการณ์ปราบปรามในลักษณะสังหารหมู่ในครั้งนั้นทารุณโหดร้ายมาก เพราะนอกจากตำรวจแล้ว ก็มีการระดม กองกำลังฝ่ายขวาจัด เช่น”นวพล” กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มแม่บ้านเข้าร่วมสมทบ ด้วยการปลุกระดมทางวิทยุยานเกราะของ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ขณะนั้น ซึ่งต่อต้านขบวนการนักศึกษาทำให้เกิดจลาจลไม่รู้ว่าใครเป็นใคร มีการลากตัวนักศึกษา หรือผู้ต้องสงสัยว่าเป็นชาวต่างชาติ(”ญวน”) ไปซ้อม แขวนคอแล้วตีจนตาย รวมเผาทิ้งกลางถนน
ขณะนั้น ผม(ผู้เขียน)ทำงานที่”สยามรัฐ”คอยทำหน้าที่รวบรวมข่าวที่เกิดขึ้นแต่เช้าตรู ได้ออกไปดูเหตุการณ์ที่ท้องสนามหลวงเห็นศพที่ถูกแขวนคอและถูกตีซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความโกรธ ก็ได้แต่กลั้นน้ำตา ว่าทำไมคนไทยทำกันได้ถึงเพียงนี้
ตอนสายๆ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ชวนชาว”สยามรัฐ”อาทิ ขรรค์ชัย บุนปานสุจิตต์ วงษ์เทศและไพบูลย์ สุขสุเมฆ ฯลฯ ออกไปดูเหตุการณ์ เมื่อกลับมาทุกคนล้วนเงียบ คงพูดจาอะไรไม่ออก จนกระทั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนำโดยพล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ เข้ายึดอำนาจในวันนั้น
สรุปแล้วเหตุการณ์คราวนั้น เกิดจากการวางแผนของกลุ่มอำนาจเก่า(ถนอม-ประภาส)ที่ตั้งใจจะเข้ายึดอำนาจกลับคืน โดยฉวยโอกาสใช้”สถาบัน”เป็นเครื่องมือ แต่แล้วก็เกิดแตกแยกกันเอง
เรื่องที่ ๒ ก็คือ กรณีตบหูโทรศัพท์อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คือดร.ป๋วยอึ๊งภากรณ์ขณะที่กำลังจะเดินทางออกนอกประเทศจากท่าอากายานดอนเมือง หลังการล้อมปราบนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อลูกศิษย์ลูกหา รวมทั้งสาธารณชนทั่วไป ที่พากันวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ แม้”สล้าง”เอง จะพยายามชี้แจงว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกองปราบฯ เพื่อป้องกันและช่วยเหลือ ดร.ป๋วย ให้รอดพ้นจากการทำร้ายของกลุ่มประชาชน กลุ่มนวพลและกลุ่มกระทิงแดงก็ตาม
ว่าไปแล้ว ก็ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะมีส่วนทำให้ลึกๆ ลงไปในจิตใจของ พล.ต.อ.สล้างเกิดอาการหดหู่ นั่นก็คือ กรณีวิสามัญฆาตกรรม”โจ ด่านช้าง”กับพวก(รวมหกคน) ซึ่งจับญาติพ่อค้าอาวุธสงครามเป็นตัวประกันในปี ๒๕๓๙ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี แม้”โจ ด่านช้าง”กับพวกยอมจำนนแล้ว
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สล้าง มีความเป็นคน”ใจเด็ด”ก็ไม่เคยเอ่ยปากในประเด็น ที่น่าจะทำให้เกิดความหดหู่เช่นที่ว่า ตามที่หยิบยกมานี้ นอกจากในเรื่องรถไฟและทางหลวง
ถ้าหาก พล.ต.อ.สล้าง โชคดีอย่างผม ที่มีโอกาสไปได้ยินคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งบังเอิญได้ยินมากับหูและยังจดจำได้อย่างชัดเจน จนถึงวันนี้ว่า
“การทำการงานทุกอย่างคือธรรมะ การทำงานในหน้าที่ตำรวจ ในการปราบปรามอาชญากรรมคือการปฏิบัติธรรม คือการทำตามหน้าที่” ซึ่งเป็นตอนหนึ่งของการเทศน์ให้แก่คณะนายตำรวจที่ไปเยือนวัดธารน้ำไหล(สวนโมกขพลาราม)ได้รับฟังในวันนั้น
พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค หากได้ยิน คงไม่ฆ่าตัวตายหรอกครับ ในเมื่อบุญบารมี ได้ส่งให้อายุของท่านยืนยาวมานาน จนถึง ๘๑ ปีเช่นนี้