jos55 instaslot88 Pusat Togel Online สันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

สันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม

“สันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม”
สุชาติ เศรษฐมาลินี
สาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ

อิสลามกับวิถีแห่งสันติภาพ
    โดยรากศัพท์ภาษาอาหรับ คำว่า “อิสลาม” นอกจากมีความหมายถึง การยอมจำนนต่ออำนาจของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นผู้สร้างและกำหนดทุกสิ่งในจักรวาล  “อิสลาม” ยังหมายถึง การสถาปนาความมั่นคงและความมีสันติสุขขึ้นในสังคม ดังนั้น คนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมุสลิมย่อมหมายถึง คนที่ยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยสันติ ยอมรับอิสลามโดยสันติ และจะต้องปฏิบัติตัวโดยสันติ อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่ในปัจจุบัน  ภาพลักษณ์ ของมุสลิมในสายตาของสื่อและผู้ที่ขาดความเข้าใจในอิสลามจำนวนไม่น้อยมักเชื่อมโยงศาสนาอิสลามกับความรุนแรง การกดขี่ผู้หญิง หรือมองว่าชาวมุสลิมเป็นมักเป็นพวกเห็นแก่ตัว อยู่กับใครไม่ได้ และรักแต่พวกเดียวกันเอง เป็นต้น
    ดังนั้น การทำความเข้าใจในหัวข้อ “อิสลาม สันติภาพวิถี” จึงนับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่จะต้องทำงานในชุมชนมุสลิม ทั้งนี้เนื่องจาก โลกเราปัจจุบันเต็มไปด้วยความเกลียดกลัวความแตกต่าง และเราเกลียดกันได้ ทำร้ายกันได้ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโลกทางวิชาการในตะวันตกมักแปลแนวคิด “ญิฮาด” ในภาษาอาหรับอย่างผิดๆ ว่าเป็นคำสอนสำคัญของศาสนาอิสลามซึ่งหมายถึงการทำ “สงครามศักดิ์สิทธิ์” (holy war) อันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ได้สร้างโรคเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ขึ้นในหมู่คนที่ไม่ใช่มุสลิม  ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ดร. คอลิด อะบู ฟะดัล ศาสตราจารย์ทางนิติศาสตร์อิสลามแห่งมหาวิทยาลัยแคลลิฟอร์เนียร์ ลอสแองเจลิส ได้ให้ทัศนะไว้ว่า ในทางเทววิทยาอิสลาม สงครามไม่เคยมีความศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าสงครามนั้นจะเป็นไปโดยชอบในการปกป้องศาสนาเมื่อมุสลิมถูกคุกคามเอาชีวิตก็ตาม ในทางตรงข้ามอิสลามได้มองและให้คุณค่าอย่างยิ่งยวดแก่ชีวิตมนุษย์โดยมองชีวิตมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ที่ใครจะละเมิดมิได้ การสังหารชีวิตโดยไร้ขอบเขตและเหตุผลจึงเป็นบาปใหญ่ในทัศนะอิสลาม ดังที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ในคัมภีร์ อัลกุรอานว่า “หากผู้ใดฆ่าผู้บริสุทธิ์แม้เพียงคนเดียวเท่ากับเขาฆ่ามนุษย์ทั้งโลก และหากผู้ใดรักษาชีวิตมนุษย์แม้เพียงคนเดียวเท่ากับเขารักษาชีวิตมนุษย์ทั้งโลก” (5: 32)
    ดังนั้น มุสลิมผู้ยึดมั่นในคำสอนของอิสลามจึงต้องให้ความเคารพในคุณค่าของชีวิตมนุษย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องรู้จักยอมรับในความหลากหลายของสรรพสิ่งซึ่งล้วนเป็นสิ่งสรรสร้างจากองค์พระผู้เป็นเจ้า มุสลิมจึงไม่อาจที่จะรังเกียจหรือเกลียดชังผู้อื่นเพียงเพราะเขามีความเชื่อและนับถือศาสนาต่างไปจากตน เพราะความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้านั้นได้ลงมาครอบคลุมมนุษย์ทุกผู้ทุกคนดังดำรัสของพระองค์ในคัมภีร์ อัลกุรอานว่า  “และเรามิได้ส่งเจ้า (มุฮัมหมัด) มาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย” (21: 107)
    ทั้งนี้ มาตรแม้นพระผู้เป็นเจ้าประสงค์ที่จะสร้างมนุษย์ให้มีความเหมือนกันทั้งหมด ย่อมอยู่ในอำนาจวิสัยของพระองค์ได้อย่างแน่นอน แต่พระองค์กลับทำให้มนุษย์มีความแตกต่างหลากหลายดัง อัลกุรอาน ได้กล่าวว่า “และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์แน่นอนพระองค์จะทรงทำให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน แต่พวกเขาก็ยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน” (11: 118)
ในคัมภีร์ อัลกุรอาน ยังได้ชี้ชวนให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงความแตกต่างหลากหลายไว้ว่า “และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือ การสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และการแตกต่างของภาษาของพวกเจ้าและผิวพรรณของพวกเจ้า แท้จริงในการนี้แน่นอน ย่อมเป็นสัญญาณสำหรับบรรดาผู้มีความรู้” (30: 22)
ดังนั้น หากเราลองพินิจตรึกตรองถึงแสงรุ้งอันสวยงามจากธรรมชาติอันเป็นสิ่งสรรสร้างจากพระผู้เป็นเจ้า น่าจะให้บทเรียนอันมีคุณค่าเพื่อเป็นกรอบคิดในการทำความเข้าใจและเคารพในความแตกต่างหลายหลายทางวัฒนธรรมที่เราอยู่ร่วมกันในโลกเล็ก ๆ ใบนี้ 

ภาพรุ้งกินน้ำนับเป็นภาพที่เกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดที่สุดกับยุคหลังการเหยียดสีผิว (post-apartheid) ในอัฟริกาใต้ เป็นภาพที่ย้ำเตือนตัวเราว่า เราไม่สามารถที่จะแยกตัวเองออกไปจากผู้อื่นได้อย่างสมบูรณ์ เด็ดขาด สีต่างๆที่หลอมรวมกันกลายเป็นสีรุ้งนั้น นับได้ว่าเป็นตัวแทนของการคนต่างเชื้อชาติต่างเผ่าพันธุ์ที่หลอมรวมกันกลายเป็นชุมชนแห่งอันใหม่ เป็นตัวแทนของความหวัง ความสดใส ความมีชีวิตชีวา และความมีเสรี ความงดงามของแสงรุ้งไม่ได้เกิดจากเพียงแค่การที่มีสีต่างๆ มารวมกัน หากแต่เกิดจาการที่สีต่างๆ กันนั้นต่างเข้ามาผสมผสานซึ่งกันและกันอย่างนมเนียนและกลมกลืนกลายเป็นสีรุ้งอันใหม่ที่สวยสดงดงาม ในขณะที่ ความเป็นเอกลักษณ์ ความโดดเด่น และความสดใสของแต่ละสีก็ยังคงอยู่ และในขณะเดียวกัน สีรุ้งที่สมบูรณ์ทั้งหมดนั้นก็สรรสร้างความเจิดจรัสให้กับสีแต่ละสี ภาพของรุ้งกินน้ำ
ชนเผ่าซูลูอัฟริกาใต้  มีแนวคิด “ubuntu” ซึ่งมีความหมายว่า “ที่ฉันเป็นฉันได้นั้น เพราะว่ามีเราอยู่ และเพราะมีเราอยู่ ฉันจึงเป็นฉันได้” (I am because we are, because we are therefore I am) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการอิสลามในการสอนให้มุสลิมใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติใน อัลกุรอาน จึงกล่าวถึงการสร้างมนุษย์ของพระผู้เป็นเจ้าไว้ว่า “โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชาย และเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริง อัลลอฮ์ นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน” (49: 13)
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล (จุฬาราชมนตรี) ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดของชาวมุสลิมในประเทศไทยได้ให้ข้อคิดแก่ชาวมุสลิมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2553 หลังจากการเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่า
“ความต่างเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งต่างๆในโลก แต่ความต่างเหล่านั้นหากมีความเข้าใจระหว่างกันและกันแล้ว ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการที่คนเรานั้นจะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเป็นปกติสุขได้ หากคนเรานั้นยอมรับเงื่อนไขในเรื่องขอความแตกต่างที่เป็นอุปสรรค ผมเองก็เชื่อว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่ตรงนี้ได้ก็คือ การจัดการในเรื่องขององค์ความรู้”
นอกจากนั้น ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้ให้ทัศนะเพื่อปลดล็อคความต่างศาสนา ว่า
•    มนุษย์ทุกคนต่างถูกสร้างมาจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.)  อย่างเท่าเทียมกัน
•    มนุษย์ทุกคนล้วนมีพ่อคนเดียวกัน คือ ท่านนะบีอาดัม
•    มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นประชาชาติของมูฮัมหมัด  (ซ.ล.)
•    ท่านนะบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้รับคำสั่งจากอัลลอฮ์ว่า ทุกคนที่เป็นมนุษย์ล้วนคือพี่น้องกัน
•    ศาสนิกในทุกศาสนาต่างประกาศตัวว่าเราเป็น “ศัตรูของมารร้าย” เช่นเดียวกัน
ดังนั้น มนุษย์ทุกจึงต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติแม้จะมีความแตกต่างกันในทางชาติพันธุ์ ภาษา หรือศาสนา วัฒนธรรม เพราะแม้แต่สังคมมุสลิมเองก็ประกอบด้วยความแตกต่างหลากหลายมากมาย
สภามุสลิมโลก ได้เขียนคำขวัญสำคัญเพื่อให้ข้อคิดและเตือนสติมุสลิมทั่วโลกว่า “ดีต่อมุสลิมและดีต่อคนทั้งโลก”
“การเป็นมุสลิมคือ การเป็นนักสร้างสันติภาพที่มุ่งแสวงหาแนวทางในการลดความขัดแย้งและฟูมฟักความตั้งใจที่ดีเพื่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติ พระผู้เป็นเจ้าต้องการให้เราอยู่ร่วมกับสิ่งที่พระองค์ทรงสรรสร้างอย่างสันติและสมานฉันท์”
นอกจากนั้น อัลกุรอานยังระบุถึงคุณลักษณะสำคัญของคนเป็นมุสลิมว่าจะต้องมีความสมดุลย์หรือเป็นกลาง “เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษย์ทั้งหลาย และร่อซูล ก็จะเป็นสักขีพยานแด่พวกเจ้า” (2: 143) ซึ่งผู้รู้ได้อธิบายความหมายของคำว่า “ประชาชาติที่เป็นกลาง” ว่าจะต้องประกอบด้วย
    ความสมดุล (วัตถุ-จิตวิญญาณ, กาย-ใจ)
      ความยุติธรรม
      ความดีงาม
      ไม่สุดโต่ง และไม่หย่อนยาน
ดังนั้น มุสลิมจำเป็นต้องอุทิศตัวเองต่ออัลลอฮ (ซ.บ) โดยการทำสิ่งที่ดีงามต่อผู้อื่น สร้างความยุติธรรมในสังคม ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม โดยไม่ได้แบ่งแยก (ทำดีในบางวันและทำไม่ทำดีในอีกวันหนึ่ง หรือให้ความยุติธรรมกับเฉพาะคนบางคน) แม้แต่คนที่เป็นศัตรูหรือคนที่เราเกลียดใน อัลกุรอานได้บอกว่า เราจะละเมิดความยุติธรรมไม่ได้  ดังนั้น เราต้องรักษาความยุติธรรมให้ได้ แม้แต่กับคนที่เราไม่ชอบ หรือ แม้แต่คนที่มาทำร้ายเรา
สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งมนุษย์ในทัศนะอิสลามที่อัลลอฮ (ซ.บ.) สร้างเรามานั้นเราจะต้องเป็นมนุษย์ที่มีการพัฒนา ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ การออกดอกออกผลให้กับสังคม มีหะดีษที่บอกว่าแม้ว่าเราหว่านเมล็ดพืช ถ้าเกิดมีนก มีคน หรือมีอะไรมากิน ตราบนั้นเราก็จะได้รับผลบุญอยู่ตลอด (อิสลามไม่เคยสอนว่า หากมนุษย์เอาระเบิดไปวาง แล้วไปโดนเด็ก คนแก่ ผู้หญิง หรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ แล้วจะได้รับผลบุญ) เพราะการที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงสร้างคน สร้างโลก สร้างสังคม เนื่องด้วยทรงสถาปนาคุณลักษณะประการหนึ่งที่สำคัญคือ อัส-สลาม หรือ สันติภาพ ท่านนบี (ซ.ล) จึงได้เคยกล่าวว่า
“ฉันคือศัตรูของใครก็ตามที่ไปทำให้คนไม่ใช่มุสลิมได้รับบาดเจ็บ แล้วถ้าฉันเป็นศัตรูกับใครแล้ว แน่นอนในวันตัดสินโลกหน้าฉันจะไปยืนยันในสิ่งนั้น”

และยังมีหะดิษเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกว่า
“บุคคลแรกที่จะถูกสอบสวนในวันพิพากษา (หลังจากที่เสียไปชีวิตแล้ว) คือ บุคคลที่ตายในฐานะผู้ที่พลีชีพเพื่อศาสนา (martyrs)   เขาจะถูกนำมาอยู่ต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจะบอกให้เขานับความโปรดปรานที่พระองค์มอบให้แก่เขาเมื่ออยู่ในโลกนี้ และเขาก็จะนับมัน หลังจากนั้น พระผู้เป็นเจ้าจะถามว่า ‘แล้วท่านได้ทำสิ่งใด (ให้ฉัน) บ้าง’ เขาจะตอบว่า ‘ข้าพระองค์ได้ต่อสู้เพื่อพระองค์จนกระทั่งกลายเป็นผู้พลีชีพเพื่อศาสนา’ และพระผู้เป็นเจ้าจะกล่าวขึ้นว่า ‘ท่านกำลังพูดโกหก ท่านได้ต่อสู้เพียงเพื่ออยากจะได้ชื่อว่าเป็นนักรบผู้กล้าหาญเท่านั้น และท่านก็ได้รับชื่อเสียงนั้นไปแล้ว’ ดังนั้น เขาจึงถูกพิพากษาให้ตกนรกไปในที่สุด” (หะดิษ-ศอเฮี๊ยะ มุสลิม 4688)
ในคุบะฮ์ (การเทศนา) ครั้งสุดท่าน ท่านนบีมุฮัมหมัดยังย้ำอีกว่า
..นับต่อแต่นี้ไป เรื่องของการอาฆาต พยาบาท และการแก้แค้นเข่นฆ่า ทดแทนกันด้วยเลือด เฉกเช่นในยุคอนารยชนเป็นเรื่องต้องห้าม การจองเวรล้างผลาญกันด้วยเลือดต้องสิ้นสุดอย่างเด็ดขาด..

ตัวอย่างการต่อสู้โดยสันติวิธีในสังคมมุสลิม   
    มีตัวอย่างรูปธรรมมากมายของการสร้างสันติภาพในสังคมมุสลิม โดยขอเริ่มยกตัวอย่างจากแนวคิดของท่านอดีตประธานาธิบดีของประเทศแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดลลา แม้ท่านไม่ใช่มุสลิมแต่ก็มีแนวคิดเบื้องลึกทางศาสนธรรมในการแก้ไขปัญหาความเกลียดชังการเหยียดสีผิวจนนำสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมายาวนานในสังคมแอฟริกาใต้ แม้ท่านจะถูกจำคุกอย่างอธรรมถึง 27 ปี ที่เกาะร็อบเบน แต่เมื่อท่านได้ออกมาและได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ท่านไม่เคยคิดแก้แค้นแต่อย่างใดและพร่าสอนผู้คนให้เอาชนะความโกรธเกลียด ท่านกล่าวว่า
ไม่มีใครที่เกิดมาพร้อมกับการเกลียดผู้อื่นเพียงเพราะสีผิว หรือศาสนา ที่แตกต่างกัน แสดงว่าคนเรียนรู้ความเกลียดในภายหลัง ดังนั้น หากคนเรียนรู้ที่จะเกลียดได้ เขาก็ย่อมที่จะถูกสอนให้รักกันได้เช่นกัน เพราะความรักนั้นมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ยิ่งกว่าความเกลียด
    คำถามคือว่า ในสังคมมุสลิมนั้นมีตัวอย่างการต่อสู้โดยใช้สันติวิธีบ้างหรือไม่ ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างประวัติการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ของผู้นำมุสลิมชื่อ อับดุล กัฟฟาร์ ข่าน ท่านได้ต่อสู้เคียงข้างกับมหาตมะคานธี เพื่อปลอดปล่อยอินเดียจากอาณานิคมอังกฤษ โดยท่านมีทหารนับแสนแต่ไม่ยอมให้ใช้อาวุธในการต่อสู้
    ในปี ค.ศ. 1929 ท่านได้จัดตั้งกองทัพ “คูได คลิดมัธกัร” โดยท่านใช้สันติวิธีเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปสังคมเพื่อบรรลุต้องการ 2 ข้อใหญ่

(1) ยุติความรุนแรงภายในกลุ่ม เพราะชาวปัชตุน
     – รักปืนยิ่งกว่าลูกและพี่น้อง
     – ชีวิตราคาถูกมาก และไม่เคยกลัวตาย
     – ล้างแค้นทุกเมื่อแม้เรื่องขี้ปะติ่วหากได้รับการดูถูกเหยียดหยาม
(2) ต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษ
    อับดุล กัฟฟาร์ ข่าน กล่าวว่า
เมื่อครั้งยังเด็กๆ ฉันมีแมนโน้มนิยมความรุนแรงเนื่องจากความร้อนแรงของปาทานที่ฝังในสายเลือด แต่เมื่ออยู่ในคุก ฉันไม่รู้จะทำอะไร จึงได้แต่อ่านและศึกษาอัล      กุรอาน ฉันศึกษาประวัติความอดทน ความทุกข์ทรมาน ความเหนื่อยยากเสียสละของท่านนบีเมื่อครั้งอยู่ในมักกะฮ์ ซึ่งฉันเคยเรียนมาทั้งหมดเมื่อตอนเด็ก แต่เดี๋ยวนี้ฉันได้อ่านศึกษามันอีกรอบในบริบทของการต่อสู้โดยคานธีเพื่อปลดแอกจากอังกฤษ”
และท่านได้มีคำกล่าวอีกมากมายที่เน้นย้ำถึงแนวทางสันติวิธีตามวิถีอิสลาม ได้แก่
•    มันไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดในหมู่คนมุสลิมหรือคนปาทานอย่างฉันที่จะใช้สันติวิธีเป็นหลักปรัชญาชีวิต มันไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด มันเจริญรอยตามแนวทางของท่านศาสดาในมักกะฮ์มากว่าหนึ่งพันสี่ร้อยปีแล้ว
•    ศาสนาของฉันคือสัจธรรม ความรัก และการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและมวลมนุษย์ ทุกศาสนาที่มีมาในโลกนี้ต่างนำสารแห่งความรักและความเป็นพี่น้องกัน ผู้ใดที่ไม่สนใจใยดีในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ผู้ที่หัวใจปราศจากความรัก แสดงว่าพวกเขาไม่รู้ความหมายของค่ำว่าศาสนา
•    ทุกวันนี้โลกเดินทางไปในทิศทางที่แสนประหลาด คุณจะเห็นโลกที่เต็มไปด้วยการทำลายล้างและการใช้ความรุนแรง และความสามารถพิเศษของความรุนแรงก็คือการสร้างความเกลียดและความกลัวระหว่างผู้คน ฉันเชื่อมั่นในสันติวิธี และฉันขอบอกว่าจะไม่มีความสงบสุขสู่ชาวโลกได้เลยหากไม่ใช้วิธีการสันติวิธี เพราะว่าสันติวิธีคือความรัก และมันจะสร้างความกล้าหาญให้กับผู้คน
•    ฉันอยากจะให้อาวุธท่านชนิดหนึ่งซึ่งไม่ว่าตำรวจหรือทหารไม่มีทางจะสู้กับท่านได้ มันคืออาวุธของท่านศาสดาซึ่งท่านมักไม่ค่อยตระหนักกับมัน อาวุธที่ว่าคือ ความอดทน และความดีงาม ไม่มีอำนาจใดในโลกที่จะสู้กับมันได้ 
•    สำหรับฉันแล้วสันติวิธีคือ ตัวแทนของยาครอบจักรวาลที่จะต่อสู้กับความชั่วร้ายทุกอย่างที่รายล้อมผู้คน ดังนั้น ฉันจึงอุทิศพลังที่มีของฉันทั้งหมดเพ่อสถาปนาสังคมที่วางอยู่บนพื้นฐานของสัจธรรมและสันติสุข  
•    ฉันเชื่อมั่นอย่างสุดซึ้งว่า อิสลามคือ การปฏิบัติอย่างทุ่มเท (อะม้าล) ความศรัทธา (ญากีน) และความรัก (มุฮาบัท) 
•    ศาสนาอิสลามตั้งอยู่บนหลักง่าย ๆ ว่า จะต้องไม่สร้างความเจ็บหวดให้ผู้ใดไม่ว่าด้วยลิ้น หรือด้วยมือ
•    ศาสดามุฮัมหมัดถูกส่งมายังโลกนี้เพื่อสอนเราว่า คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นมุสลิมจะต้องไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ใดไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำ หากแต่สรรสร้างประโยชน์และความสุขให้กับเพื่อนมนุษย์ การศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า ก็คือการให้ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ 
•    อัลกุรอาน สอนเรื่องญิฮาด ซึ่งความหมายที่แท้จริงก็คือการต่อสู้เพื่อการมีชีวิตที่ดี และความก้าวหน้าของผู้คนและสังคม

ในหลักการของ คลูได คลิดมัท ได้มีการกล่าว เป็นคำปฏิญานโดยสมาชิกใหม่ทุกคนดังนี้
•    ฉันคือบ่าวของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ซึ่งพระองค์ไม่ทรงต้องการความช่วยเหลือใดๆ การรับใช้สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างคือการรับใช้อัลลอฮ์ (ซ.บ.)
•    ฉันสัญญาที่จะรับใช้มนุษยชาติในนามของอัลลอฮ์ (ซ.บ.)
•    ฉันสัญญาที่จะไม่ใช้ความรุนแรงและการแก้แค้น
•    ฉันสัญญาที่จะให้อภัยต่อผู้ที่กดขี่และเคยปฏิบัติการอย่างโหดร้ายต่อฉัน
•    ฉันสัญญาที่จะระงับจากการอาฆาตมาดร้าย การทะเลาะวิวาท และการสร้างศัตรู
•    ฉันสัญญาที่จะปฏิบัติดีชาวปาทานทุกคนเสมือนเป็นพี่น้องพ้องเพื่อน
•    ฉันสัญญาที่จะไม่ต่อต้านประเพณีและการปฏิบัติทางสังคม
•    ฉันสัญญาที่จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย กระทำสิ่งที่ดี และละเว้นสิ่งที่ชั่วร้าย
•    ฉันสัญญาที่จะเป็นคนมีจรรยามรรยาทที่ดี และไม่ใช้ชีวิตอย่างขี้เกียจ
•    ฉันสัญญาที่จะอุทิศเวลาอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมงในการช่วยเหลืองานชุมชน/สังคม

ในปี 1962 อับดุล กัฟฟาร์ ข่าน ได้รับเสนอให้เป็น “บุคคลแห่งปี” ขององค์การนิรโทษสากล และเป็นคนที่ไม่ใช่อินเดียคนแรกที่ได้รับรางวัล Bharat Ratna (รางวัลที่มีเกียรติสูงสุด) ในปี ค.ศ. 1985 ท่านถูกเสนอชื่อรับรางวัลโนเบล และท่านเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1988 (อายุ 98) หลังจากถูกคุมขังนานถึง 30 ปี
ดังนั้น จากบทเรียนการต่อสู้ของท่าน อับดุล กัฟฟาร์ ข่าน โดยใช้แนวทางสันติวิธีในวิถีอิสลาม จึงสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าเป็นหลักการที่สามารถปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงแนวคิดในอุดมคติเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีคำสอนของท่านอิหม่ามชาฟีอี ที่สะท้อนได้ดีถึงบทสรุปแนวคิดสันติวิธีวิถีอิสลาม และถือเป็นแนวคิดพื้นฐานสำคัญของสันติวิธีในปัจจุบัน ได้แก่
•    ท่านอย่าพยายามเอาชนะในทุกเรื่องที่ขัดแย้งกัน เพราะบางครั้ง การเอาชนะใจผู้อื่นนั้นสำคัญกว่าการได้ยืนหยัดในจุดยืนของตน
•    จงอย่าทำลายสะพานที่ท่านสร้างขึ้น และได้ข้ามมันไป เพราะบางทีสักวันหนึ่งท่านอาจจำเป็นต้องใช้มีนในการข้ามกลับมาอีกครั้ง
•    ท่านจงรังเกียจความผิดเสมอ แต่จงอย่ารังเกียจผู้กระทำผิด
•    ท่านจงเกลียดการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) อย่างหมดหัวใจ แต่จงอภัยและเมตตาต่อผู้ที่ทำการฝ่าฝืน
•    จงวิพากษ์วิจารณ์คำพูด แต่จงให้เกียรติต่อผู้พูด
•    แท้ที่จริงหน้าที่ของเราคือ การกำจัดโรคภัย แต่ไม่ใช่กำจัดผู้ป่วย
และขอจบด้วยคำกล่าวของนักปรัชญามุสลิมผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของโลกมุสลิม คือ จัลลาลุดดิน รูมี ท่านได้กล่าวให้ข้อคิดในการมองเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกไว้อย่างคมคายว่า
“ตะเกียงอาจมีหลากหลายชนิด แต่แสงที่มันส่องออกมานั้น ล้วนมาจากลำแสงเดียวกัน”

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *