สำนักปรัชญามัชชาอียะฮ์ กับ อบูนัศร์ อัลฟารอบี
สำนักปรัชญามัชชาอียะฮ์ กับ อบูนัศร์ อัลฟารอบี
ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิสลามศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
อบูนัศร์ ฟารอบี ได้เกิดในปีคริสศักราชที่ ๘๗๐ อัลฟารอบีได้กำเนิด ณ เมืองเล็กๆในแคว้นฟารอบ และท่านเป็นชาวเติกร์ และด้วยกับการขยายอำนาจอณาจักรอิสลามมาถึงเมืองฟารอบ ทำให้วัฒนธรรมอิสลามเข้ามามีบทบาทต่อชาวเติกร์ และปราชญ์ชื่อดังหลายท่านของมุสลิมอยู่ในสมัยของท่านฟารอบี เช่น ยูฮารีย์ นักภาษาศาสตร์ชื่อดัง
ฟารอบีย์ได้เติบมาจากการเลี้ยงดูในแวดวงของศาสนาและได้เรียนรู้ภาควิชาศาสนาและภาษาศาสตร์ได้อย่างดี เช่นวิชาฟิกฮ์นิติศาสตร์อิสลาม ฮะดีษ ตัฟซีร และท่านยังได้เรียนภาษาอะหรับ ภาษาตุรกี และภาษาเปอร์เซียอีกด้วย และจากการบันทึกของอิบนุคอลาค่านว่า แท้จริงฟารอบีมีความชำนาญต่อภาษาต่างประเทศมากถึง ๗๐ ภาษา แต่นักวิชาการยุคหลังได้วิเคราะห์ว่า เป็นการกล่าวยกย่องท่านฟารอบีจนเกินไป
ฟารอบีย์ มีความนิยมในศาสตร์ด้านตรรกะและการอ้างเหตุผลเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทำให้ท่านมีความชำนาญต่อศาสตร์ปรัชญาและตรรกศาสตร์เป็นอย่างดี
หลังจากนั้นท่านฟารอบีได้เดินทางไปยังเมืองแบกแดด และได้ศึกษาวิชาการด้านตรรกะและปรัชญา และได้รู้จักกับนักตรรกศาสตร์และนักปรัชญาระดับสูงมากมาย จนทำให้ท่าฟารอบีมีความเชี่ยวชาญและชำนายการในศาสตร์ปรัชญาและตรรกศาสตร์ จึงได้มีฉายาว่า”บรมครูที่สอง” ฟารอบีได้ใช้ชีวิตในเมืองแบกแดดประมาณยี่สิบปี จนเป็นที่โด่งดังและรู้จักไปทั่ว
ผลงานทางด้านวิชาการของฟารอบี
ท่านฟารอบีมีผลงานด้านการประพันธ์มากมาย และส่วนมากตำราของเขานั้นเกี่ยวกับปรัชญาและตรรกศาสตร์ธรรมชาติวิทยา จริยศาสตร์ ดังนี้
๑)คำอรรถาธิบายตรรกศาสตร์ของอริสโตเติล
๒)ฟุซุซุลอิกมะฮ เป็นศาสตร์ปรัชญาอิสลาม
๓)และตำราอื่นๆเป็นต้นฉบับเขียนด้วยมือของฟารอบี และบางเล่มก็สูญหายไปแล้ว
๔) รีซาละฮ ฟีมา อันยะตะกัดดัม กอ็บล่า ตะอัลละมุลฟัลซะฟะฮ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการก่อนจะเรียนปรัชญา
และผลงานของฟารอบีย์ได้ถูกนำมาตีพิมพ์และเผยแพร่ไปทั้งในโลกอิสลามและโลกตะวันตก และทำให้นักคิดชาวตะวันตกได้รับอิทธิพลจากตำราของฟารอบีย์เป็นจำนวนมากทีเดียว
แนวคิดทางปรัชญาของฟารอบีย์
แนวคิดทางปรัชญาของท่าฟารอบีย์ เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างจะกระจ่างชัดและง่ายต่อความเข้าใจ และในตำราปรัชญาของเขานั้น บางตอนได้หยิบยกทัศนะของนักปรัชญากรีกมาอ้างสนับสนุน บางตอนได้โต้ตอบทัศนะเหล่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าท่านนั้นมีความชำนาญการต่อศาสตร์ปรัชญา และรูปแบบทางปรัชญาของฟารอบี ถูกจัดระบบและเป็นหมวดหมู่มากกว่าสมัยก่อนหน้าท่าน
๑)เป้าหมายปรัชญาในมุมมองฟารอบี
ฟารอบีถือว่าปรัชญามีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือมุ่งการสืบค้นหาความจริงแท้ ดังนั้นสำนักปรัชญาที่เกิดขึ้นมากมาย มีความแตกต่างกันในภายนอกเท่านั้น แต่ในจุดมุ่งหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ทัศนะของฟารอบี ปรัชญามีเพียงสำนักเดียวเท่านั้น และไม่ว่าในการอรรถาธิบายของสำนักปรัชญาอริสโตเติลหรือสำนักปรัชญาเปรโตจะมีความแตกต่างอยู่ แต่ถือว่าอยู่ในสำนักปรัชญาหนึ่งเดียวกัน
ทัศนะของฟารอบีในเรื่องคำสอนศาสนากับคำสอนทางปรัชญามีความแตกต่างกันแค่เพียงภายนอกในการนำเสนอเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงทั้งปรัชญาและศาสนาได้สนับสนุนซึ่งกันและกัน จากทัศนะนี้ที่ฟารอบีได้นำเสนอถือว่าเป็นทัศนะของอิสลาม และแท้จริงแล้วฟารอบีต้องการจะลบล้างแนวคิดที่กล่าวหาต่อปรัชญาว่าเป็นศาสตร์ที่ขัดแย้งกับศาสนา จนทำให้นักการศาสนามีทัศนะวิสัยที่ไม่ดีกับนักปรัชญา
จากการที่ฟารอบีได้นำเสนอเรื่องนี้ในสังคมทำให้นักคิดยุคต่อได้นิยมและถือปฏิบัติตามท่าน เช่น อบูอลี อิบนุซีน่า ได้นำตำราของฟารอบีมาอรรถาธิบาย หรืออิบนุรุชด์ ได้นำทฤษฎีทางปรัชญามาพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ได้ขัดแย้งกับหลักการทางศาสนาเลย และศาสนายังได้สนับสนุนปรัชญาอีกด้วย ฟารรอบีถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่นำการเปลี่ยนแปลงโลกปรัชญาอิสลามที่ทำให้นักคิดในยุคหลัง เห็นความสำคัญของปรัชญาและสนใจในการศึกษาปรัชญามากขึ้น
สาเหตุสำคัญของการปรากฏความสำพันธ์ระหว่างศาสนากับปรัชญาที่ฟารอบีได้นำเสนอ นั่นก็คือ
๑)เนื่องจากท่านฟารอบีได้นำทรรศนะใหม่และหลักปรัชญาที่กระจ่างขึ้นกว่าสมัยก่อนๆ เพื่อให้สอดคร้องกับเนื้อหาของศาสนา
๒)การอรรถาธิบายเนื้อหาศาสนาหรือหลักการทางศาสนาในรูปของตรรกและเหตุผลมากขึ้น
จากสองสาเหตุนี้ทำให้ศาสนาและปรัชญามีความสำพันธ์ และมองเห็นภาพของศาสนาคือปรัชญาและปรัชญาคือศาสนา และจากการนำเสนอทฤษฎีเรื่องการสร้างเอกภพในมุมมองของปรัชญาฟารอบีกับการนำโองการอัลกุรอานมาพิสูจน์ทำให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือทัศนะในเรื่องตำแหน่งศาสดาในมุมมองของปรัชญาฟารอบีกับอัลกุรอานก็มีเนื้อหาสอดคร้องกัน จนมองเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า ศาสนากับปรัชญาสนับสนุนซึ่งกันและกัน
๒. ฟารอบีกับทัศนะในเรื่องพระเจ้า
ฟารอบีมีความเชื่อต่อเรื่องพระเจ้า และถือว่าเป็นทรงเอกะ เป็นสภาวะแห่งการดำรงอยู่ ปราศจากการพึ่งพาต่อสิ่งใด ทรงสามารถ ทรงรอบรู้
ฟารอบีถือว่าการกำเนิดของเอกภพหรือสรรพสิ่งนั้นผลจากความรอบรู้พระเจ้าต่อซาตพระองค์และจากความเมตตาของพระองค์ จึงทำให้สรรพสิ่งอุบัติขึ้นมา และสิ่งแรกที่ได้อุบัติขึ้นเป็นผลมาจากความเมตตาคือ อัลลุลเอาวัล(องค์เทพแห่งพระเจ้า)
องค์เทพแห่งพระเจ้าหรืออักลุลเอาวั้ลนี้ เป็นสภาวะมุมกินุลวุยูด (สิ่งใหม่) และด้วยกับที่ทรงมีความรอบรู้ต่อซาตของตนพร้อมกับมีความเมตตา จึงอุบัติสรรพสิ่งต่างขึ้นมา นั่นคือชั้นฟ้าและชั้นดิน
๓. อัลฟารอบีกับทฤษฎีเรื่อง”อุกุลุลอะชะเราะฮ”(องคปัญญาทั้งสิบ)
ปรัชญาอิสลามเริ่มทั้งแต่สมัยของท่านกินดีย์ เนื้อหาหนึ่งที่ถือว่าสำคัญและเป็นจุดเด่นของปรัชญาในสำนักมัชชาอียะฮ คือเรื่อง”อุกูลุลอะชะเราะฮ”(ว่าด้วยเรื่ององคปัญญาทั้งสิบ) ซึ่งเป็นคำตอบในการอธิบายต่อการขับเคลื่อนของชั้นฟ้าและชั้นดิน และรากฐานของความเข้าต่อเรื่องดวงดาวและธรรมชาติ
อุกูล รากศัพท์มาจากคำว่า”อักลุน” เป็นศัพท์เทคนิคของปรัชญาอิสลาม ให้ความหมายคือ สิ่งที่เป็นอวัตถุ ที่มีสภาวะแห่งทิพย์ นั่นก็คือแท้จริงแล้วพระเจ้าทรงบันดาลอักล์แรกขึ้นมา และอักล์แรกได้บันดาลอักล์ที่สอง จนกระทั้งครบสิบ แล้วได้สร้างสรรค์พสิ่งในชั้นฟ้าและชั้นดิน
เมื่อได้ยอมรับบทนำในเรื่องนี้แล้ว ฟารอบีได้มีทัศนะว่า “แท้จริงโลกนี้ได้เกิดขึ้นเนื่องจาก ทรงความเมตตาของพระองค์ คือemanation ซึ่งด้วยความเป็นเอกะของพระองค์ทรงรอบรู้และทรงเดชานุภาพ จึงได้บันดาล อักลุลเอาวัลขึ้นมา และอักลุลเอาวัล ด้วยกับทรงความรู้และทรงสามารถด้วยกับอาตมันตัวเองที่พระองค์ทรงให้ ก็ได้สร้าง อักลุซซานีขึ้นมา และด้วยกับความสมบูรณ์ของอักลุซซานี ก็ได้สร้างอักลุซซาลิซ (ที่สาม)ขึ้นมา และได้เป็นลูกโซ่ จนกระทั้งถึงอักลุลอะชิร(อักล์ที่สิบ) และต่อมาอักล์ที่สิบนี้ได้สร้างชีวิตและวิญญาณสรรพสิ่ง หนึ่งในวิญญาณนั้นคือวิญญาณมนุษย์”
อัลฟารอบีย์ Al-farabi กับปรัชญาการเมือง
อัล-ฟารอบีย์ ถือว่าเป็นนักปรัชญามุสลิมที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของโลกอิสลามมีความนิยมในปรัชญาอริสโตเติ้ลมาก เขาได้นำเสนอเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองว่า แท้จริงมนุษย์นั้นต้องพัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมอารยะ ซึ่งเป็นสังคมที่ถูกปกครองโดยผู้นำที่ได้นำหลักการปกครองมาจากวิวรณ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า และมนุษย์จะไปสู่ความเป็อารยะบุคคลและสังคมอารยะได้นั้นต้องได้รับการปกครองโดยผู้นำทรงธรรม ท่านฟารอบียฺได้นำทฤษฎีทางปรัชญาการเมืองดังนี้ว่า..
๑)เป้าหมายของการสร้างมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ไปสู่ความไพบูลย์พูนสุข และอันดับแรกจะต้องเข้าใจและรู้จักความหมายของคำว่าความไพบูลย์สุขเสียก่อน ความไพบูลย์สุขที่ว่านั้นไมมีใครจะนิยามและให้ความหมายได้อย่างถูกต้อง นอกจากเขานั้นต้องผ่านองค์ความรู้ที่ได้รับการเปิดเผยมาจากพระเจ้า และผู้ที่จะสร้างความไพบูลย์สุข คือ บุคคลที่อยู่ในฐานะผู้นำและมีภาวะผู้นำ
๒)สังคมใดหรือนครรัฐใดที่มีผู้นำทรงธรรมและมีภาวะผู้นำสูง จะทำให้สังคมนั้นหรือนครรัฐนั้นเป็นนครรัฐแห่งอารยะ(Civil of City)และสังคมอารยะ(Civil of Society)
๓) แท้จริงนครรัฐแห่งอารยะ(Civil of City) ต้องมีผู้นำ และผู้ปกครองนั้นต้องมีภาวะผู้นำอย่างผู้ยำเกรงและสำรวมตน มาจากบุคคลที่เป็นปราชญ์และผู้ทรงธรรม อยู่ในฐานะราชาแห่งปราชญ์(Philosopher of King) และอัล-ฟารอบีได้กล่าวอีกว่า แท้จริง”นครแห่งอารยะ”(Civil of City) ประกอบด้วย
หนึ่ง ผู้นำที่ทรงธรรม ทรงความรู้ ทรงเป็นปราชญ์(Philosopher)
สอง ประชาชน เป็นกลุ่มคนที่มีศิลธรรม
สาม เป็นระบอบการเมืองที่ใสสะอาด โดยผ่านองค์ความรู้ที่มาจากวิวรณ์แห่งพระเจ้า มีความสมบูรณ์ทางกายภาพและจิตภาพ โดยเน้นความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า
โดยใช้หลักนิติรัฐนิติธรรมผ่านกระบวนการคิดเชิงปรัชญาและคำสอนหลักการปกครองตัวแทนของพระเจ้า
บทบาทอันโด่งดังของฟารอบีย์คือการนำเสนอปรัชญาเรื่องอุตมรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นคำสอนที่แหลมคมและน่าสนใจทีเดียวของปรัชญาฟารอบีย์ และถือว่านักปรัชญาในยุคต่อมาได้นำทฤษฎีทางปรัชญาการเมืองนี้มาอรรถาธิบายและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง”นครแห่งอารยะ”หรืออุตมรัฐที่ฟารอบีย์ได้กล่าวไว้
ฟารอบีย์ได้กล่าวเรื่องปรัชญาการเมืองนี้ไว้ในหนังสือปรัชญาสำคัญของท่านชื่อว่า” ซียาซะตุลมะดีนะฮ”(หลักรัฐศาสตร์แห่งอุตมรัฐ)
ท่านฟารอบีย์ได้กล่าวถึงเรื่อง”นครแห่งอารยะ” (المدينة الفاضلة) หรืออุตมรัฐในปรัชญาการเมืองของท่านไว้ว่า
“ระบอบการเมืองที่มีคุณธรรมคือ การนำพาความดีงามไปสู่ประชาชนและนำมนุษยชาติสู่เป้าหมายของการสร้างคือความสันติสุขที่แท้จริง ซึ่งการไปสู่ความผาสุกและสันติสุขนั้นจะเกิดขึ้นมาเองมิได้ นอกจากผ่านระบอบการเมืองและการปกครองที่มีคุณธรรม(ธรรมารัฐ)เท่านั้น อีกทั้งจะนำพาพลเมือง ประชาชนไปสู่ความดีงามทั้งโลกนี้และโลกหน้า”
ท่านฟารอบีย์ได้หยิบยกเรื่องอุตมรัฐเป็นหัวข้อย่อยหนึ่งในหมวดเรื่องตำแหน่งศาสดาและการสร้างเอกภพและมนุษย์ โดยท่านได้นำหลักปรัชญาว่าด้วยเรื่องผู้นำทางจิตวิญญาณ และจากแนวคิดในเรื่องการสร้างโลกและมนุษย์ ถือเป็นความจำเป็นที่โลกและเอกภพวิวัฒนาการไปสู่ความสมบูรณ์ทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณ นั่นหมายความว่าทางกายภาพและชีวภาพเป็นโครงสร้างของโลกและเอกภพนี้ที่จะต้องพัฒนาตัวตนของมันไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุด เพื่อแสดงออกถึงการปรากฏความเดชานุภาพแห่งพระผู้เป็นเจ้า หรือเรียกตามภาษาหลักอภิปรัชญาคือ วายิบุลวุยูด”(ภวันต์แท้)และแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของวัตถุธาตุและสสารที่อยู่ในฐานะ มุมกินุลวุยูด(ภวันต์ใหม่)
ส่วนทางจิตวิญญาณกล่าวคือมนุษย์ต้องไปสู่ความสมบูรณ์แบบ ซึ่งแบบของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นสังคมคือตัวแปรที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ในแบบองค์รวมได้ สังคมที่ว่านั้นเป็นสังคมที่ผ่านการชี้นำโดยปราชญ์ และประชาชนเป็นผู้ตาม โดยปราชญ์เป็นผู้กำหนดหลักนิติรัฐที่สอดคล้องกับตัวตนของมนุษย์ แล้วทั้งสององค์ประกอบทั้งผู้นำและผู้นำจะขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นอตมรัฐ รัฐที่สมบูรณ์ รัฐที่เต็มไปด้วยความไพพูลย์ รัฐที่มีแต่ความสวยงามโดยการจัดตั้งรัฐและการปกครอง
ทัศนะของฟารอบีย์ในเรื่องอุตมรัฐ เขามีความเชื่อว่าผู้นำรัฐในอุดมคติและผู้สร้างรัฐแห่งความสมบูรณ์ขึ้นมาได้นั้นคือผู้อยู่ในตำแหน่งของตัวแทนพระเจ้า คือตำแหน่งศาสดา ตำแหน่งผู้นำ และปวงปราชญ์ที่ทรงธรรม
บรรณานุกรม
กีรติ บุญเจือ 2548. แก่นปรัชญายุคกลาง กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กระทรวงศึกษาธิการ 2537. ปรัชญาอิสลาม กรุงเทพฯ: องค์การค้าครุสภา
วารีญา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม,(2247), “ปรัชญาขั้นแนะนำ: กระแสคิดที่ทรงอิทธิพลต่อโลก,หนังสือชุดนักคิดสะท้านโลกันต์.1”,กรุงเทพฯสำนักพิมพ์ชีวาภิวัฒน์.ISBN 974-92157-3-7, บทที่ 3 ปรัชญากรีก,หน้า 142 ถึง 152.
อายาตุลลอฮ์ มุเฏาะฮารี แปลโดย มัรฮูมเชคยูซุฟ กูดีหวา 2555. เทววิทยา รหัสยวิทยา และปรัชญาภาคปฎิบัติ กรุงเทพฯ. สถาบันการแปล มหาวิทยาลัยนานาชาติอัลมุศตอฟา แห่งอิหร่าน ประจำกรุงเทพฯ
อัลลามะฮ ฎอบะฎอบาอีย์ แปลโดย เชคชะรีฟ ฮาดีย์ 2553 สำนักคิดชีอะฮ์ กรุงเทพฯ :ศูนย์วัฒนธรรมอิสลาม สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำกรุงเทพฯ
ดร.อิมรอน มะลูลีม 2539 ปรัชญาอิสลาม กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อิสลามิคอคาเดมี
กระทรวงศึกษาธิการ 2537. ปรัชญาอิสลาม กรุงเทพฯ: องค์การค้าครุสภา