อย่าให้อัตตาครองใจ
อย่าให้อัตตาครองใจ
พระไพศาล วิสาโล
พระอาจารย์พยอม กัลยาโณ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้วว่า ช่วงที่มีความขัดแย้งระหว่างสีนั้นเป็นช่วงที่ชีวิตของท่านตกต่ำมาก เวลามีเหตุการณ์บ้านเมืองเกิดขึ้น หนังสือพิมพ์ก็ไม่ค่อยมาสัมภาษณ์เหมือนก่อน กิจนิมนต์ลดลง เวลาไปบรรยายที่ไหนคนก็มาฟังน้อยมาก ผลก็คือสินค้าที่ลูกศิษย์นำไปขายในงาน มีคนซื้อน้อยลง ทำให้รายได้ที่จะเป็นทุนสนับสนุนมูลนิธิวัดสวนแก้วลดลงไปด้วยจนไม่พอกับรายจ่าย
ทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นผลจากการที่คนมองว่าท่านฝักใฝ่เสื้อแดง ลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากเป็นผู้ที่ไม่ชอบเสื้อแดง จึงไม่พอใจท่าน บางวันท่านไปบิณฑบาต ชาวบ้านก็ถามว่าทำไมไม่ห่มจีวรสีแดงซะเลยล่ะ บางทีก็ด่าว่าท่านแรงๆ ท่านก็พยายามอธิบายชี้แจงแต่ไม่ค่อยเป็นผล ท่านบอกว่าที่เสียใจอย่างหนึ่งคือ แม้แต่พระสวนโมกข์ก็บอกว่าท่านฝักใฝ่เสื้อแดง ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้วางตัวแบบนั้น
เหตุการณ์นี้ทำให้ท่านบอกว่าบางช่วงทุกข์มาก จนจิตตก แต่เวลาที่จิตตกท่านก็นึกถึงคาถาไล่ทุกข์ของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านก็รู้สึกดีขึ้น คาถานั้นก็คือ “กูไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์โว้ย”
คาถานี้ใครที่มีความทุกข์เอาไปใช้บ้างก็ดี เวลามีความทุกข์ ก็ตวาดใส่มันบ้าง จะช่วยให้ได้สติ และบรรเทาความทุกข์ใจไปได้ไม่มากก็น้อย ปกติคนเราเวลาทุกข์ จิตจะจมดิ่ง จนลืมตัว ไม่ได้ตระหนักว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร สำหรับชาวพุทธ จุดหมายของชีวิตคือการพ้นทุกข์ หรือการไม่ถูกครอบงำด้วยความทุกข์ แต่บางครั้งพอมีเหตุร้ายมากระทบ ก็ทำให้ลืมไปว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร คาถานี้จะช่วยเตือนใจให้เรากลับมาตั้งหลักได้
นอกจากความทุกข์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรตวาดใส่บ้าง ก็คือ กิเลส เพราะมีกิเลสที่ไหน ความทุกข์ก็เกิดขึ้นที่นั่น ในสมัยพุทธกาลมีพระบางรูปใช้วิธีการทำนองนี้ เช่น พระวิชิตเสนะ มีช่วงหนึ่งท่านทำกรรมฐานแล้วจิตพยศมาก ทำอย่างไรจิตก็ไม่ยอมร่วมมือด้วย ท่านจึงตวาดใส่ว่า “แน่ะ จิตผู้ชั่วช้า ดื้อด้าน …เราจะบังคับเจ้าให้อยู่ในอำนาจให้ได้ จะใช้สติผูกเจ้าไว้” อีกท่านหนึ่งคือพระตาลปุฏ จิตของท่านเบื่อหน่ายในการปฏิบัติ ท่านจึงตำหนิว่า “จิตเอ๋ย เจ้าร้ายนัก เราจักไม่ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าอีกแล้ว กามล้วนเป็นทุกข์ มีผลเผ็ดร้อน มีภัยใหญ่หลวง เราจักมุ่งแต่พระนิพพานเท่านั้น…จิตเอ๋ย เมื่อเรามั่นคงเสียแล้ว เจ้าก็ทำอะไรเราไม่ได้หรอก” ไม่ช้าไม่นานทั้งสองท่านก็บรรลุอรหัตผล
เวลาถูกตำหนิหรือถูกท้วงติงแล้วเกิดความรู้สึกขุ่นเคืองไม่พอใจ มองให้ดีจะพบว่า ที่จริงแล้วไม่ใช่เราที่เป็นทุกข์ กิเลสหรือมานะ คือความถือตัวว่า ดีกว่า สูงกว่า เก่งกว่า ต่างหากที่เป็นทุกข์ แต่คนเราก็มักจะเผลอยึดเอาความทุกข์ของกิเลสมาเป็นความทุกข์ของเรา เมื่อมีคนตำหนิ กิเลสหรือมานะย่อมไม่พอใจ มันก็เลยสั่งให้เราด่ากลับหรือตอบโต้ทันที ทั้งที่มันไม่ได้เป็นผลดีกับเราเลย
ถ้าเรารู้ทันก็อย่าไปปล่อยให้กิเลสหรือมานะครองใจหรือขี่คอเรา เมื่อใดที่เป็นทุกข์มากเพราะคำตำหนิก็ควรตวาดใส่มันบ้างว่า “กูไม่ยอมมึง อย่ามาก่อกวนกู” เราต้องรู้จักตวาดใส่กิเลสบ้าง เพราะถ้าเรายอมมัน มันก็ขึ้นมาขี่คอ จนเป็นนายเหนือหัวเรา คนส่วนใหญ่ปล่อยให้กิเลสครอบงำใจจนโงหัวไม่ขึ้น ใครแตะนิดแตะหน่อยไม่ได้ บ่อยครั้งที่เราปกป้องกิเลส ยอมตายเพราะกิเลสทั้งๆ ที่กิเลสไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย กลับเป็นอันตรายต่อเราด้วยซ้ำ
อาตมาเคยอ่านเรื่องราวของเต่าทองจากนิตยสารเนชันแนลจีโอกราฟฟิก เต่าทองเป็นแมลงที่ดุมาก พวกนกไม่กล้าเล่นงานเพราะมันมีพิษ เวลาที่นกจะกิน แมลงเต่าทองก็คายพิษออกมา นกก็ต้องคายมันทิ้งไป แต่มันกลับไปเสียท่าแมลงชนิดหนึ่งซึ่งเป็นพวกปาราสิต เรียกว่าแตนเบียน ตัวเต็มวัยของแตนเบียนจะต่อยแมลงเต่าทอง จากนั้นก็จะวางไข่ไว้ในช่องท้องของแมลงเต่าทอง แล้วตัวอ่อนแตนเบียนก็เติบโตขึ้นโดยกินสารอาหารในตัวแมลงเต่าทอง พอโตจนเข้าระยะดักแด้ ตัวหนอนก็จะเจาะท้องแมลงเต่าทองออกมา แล้วสร้างรังไหมห่อตัวเอง แมลงเต่าทองแทนที่จะเล่นงานแตนเบียน กลับคอยปกป้องมัน ป้องกันภัยให้มัน เวลามีสัตว์เข้ามาใกล้ ๆ เต่าทองจะขยับแย้งขยับขา เพื่อขู่ไม่ให้ใครมากินตัวอ่อน ทั้งที่ตัวอ่อนของแตนเบียนนี้เป็นปาราสิต ดูดเอาอาหารจากเต่าทอง เต่าทองแทนที่จะเล่นงานมัน กลับปกป้องเสียอีก ไม่ให้ใครเข้ามาทำร้ายตัวอ่อนแตนเบียนในรังไหมได้
แมลงเต่าทองโง่มากเลยนะ แตนเบียนเป็นอันตรายกับมันแท้ๆ แต่กลับปกป้องมัน แต่จะว่าไปแล้ว คนเราก็ทำอย่างนั้นกับกิเลสและอัตตาเหมือนกัน กิเลสไม่ได้เป็นคุณต่อเราเลย อัตตาก็เป็นโทษมาก มันทนฟังคำวิจารณ์คำแนะนำไม่ได้ ทั้งที่คำแนะนำคำวิจารณ์อาจมีประโยชน์ แต่มันไม่ชอบก็เลยสั่งให้เราไปด่าคนที่วิจารณ์หรือคนที่แนะนำท้วงติง เราก็เลยกลายเป็นผู้พิทักษ์อัตตา คอยเล่นงานหรือคอยไล่ล่าคนที่มากระทบกระแทกอัตตา
ถ้าเรามีสติ เราจะไม่ปกป้องมัน แต่จะต้องเล่นงานมันด้วยซ้ำ ถ้ามันกร่างมากก็ต้องตวาดมัน อย่าให้มันเป็นใหญ่เหนือเรา เวลาอัตตารู้สึกขุ่นเคืองใจเมื่อมีเพื่อนร่วมงานมาท้วงติง เราไม่ควรจะปกป้องมัน เราไม่ควรเป็นข้ารับใช้มัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ทำอย่างนั้น พอมันสั่งให้ด่า เราก็ด่า เลยเกิดปัญหากับเพื่อน นี่เราโง่หรือเราฉลาด ถ้าฉลาดเราควรฟังคำวิจารณ์ และนำมาพิจารณาว่าเขาพูดถูกหรือไม่ มีประโยชน์หรือไม่
ส่วนความทุกข์ที่เกิดขึ้นเวลาถูกตำหนิ ก็ให้ตระหนักว่านั่นเป็นความทุกข์ของอัตตาหรือกิเลส ไม่ใช่ความทุกข์ของเรา เหมือนที่แมลงเต่าทองคิดว่า ความทุกข์ของแตนเบียน เป็นความทุกข์ของมัน มันก็เลยปกป้องแตนเบียน หารู้ไม่ว่าพอแตนเบียนโตเต็มที่แมลงเต่าทองก็ตาย เพราะอวัยวะภายในถูกทำลายไปเยอะแล้ว ที่จะมีชีวิตอยู่รอดต่อไปมีน้อยมาก คนเราก็ถูกอัตตากระทำเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราอย่าไปยอมเป็นเครื่องมือของมัน เวลารู้สึกเสียหน้า ขุ่นเคืองเพราะถูกข้ามหน้าข้ามตา หรือถูกวิจารณ์ แทนที่จะโกรธก็ต้องมาดูว่าเขาพูดจริงไหม ยิ่งถ้าเขาพูดจริงพูดถูก ก็ต้องขอบคุณเขา
นอกจากการตวาดใส่กิเลสหรือมานะแล้ว การทำให้มันลีบเล็กลงก็สำคัญ การพยายามทำอะไรเพื่อลดละมานะ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า ลดละอัตตา เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อนคนหนึ่งมีวิธีลดอัตตาที่น่าสนใจ เธอเป็นนักเขียนหญิงที่มีชื่อเสียง ทุกปีเธอจะไปอาสาเป็นพนักงานเสิร์ฟให้ร้านอาหารของเพื่อน ไม่ได้หวังเอาเงินหรือประสบการณ์ แต่ทำเพื่อช่วยลดอัตตา เพราะการเป็นนักเขียนชื่อดัง มีคนยกย่องมากมาย บางทีก็ลืมตัว พอไปเป็นพนักงานเสิร์ฟ ก็ช่วยได้มากเพราะต้องบริการผู้อื่น ลูกค้าหลายคนปฏิบัติไม่คอยดีกับพนักงานเสิร์ฟ บางทีเธอก็ฉุนขึ้นมาว่า “ทำอย่างนี้กับกูได้ไง กูเป็นนักเขียนดังนะโว้ย” แต่มันโผล่มาแป๊บเดียวก็รู้ทัน ระงับได้ นี่เป็นวิธีลดอัตตาที่ดีมากสำหรับเธอ
หมอผู้หนึ่งเป็นคนมีความสามารถมาก ได้รับเชิญเป็นวิทยากรตามที่ต่างๆ มากมายทั่วประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์บ่อยๆ แต่เขาไม่คอยสนใจเรื่องการแต่งตัว ไม่ค่อยหวีผม ภรรยาต้องคอยเตือนให้หวีผมเป็นประจำ วันหนึ่งก่อนจะออกไปบรรยาย ภรรยาก็เตือนให้หวีผม พอได้ยินเขาก็ฉุนกึกขึ้นมาทันที นึกในใจว่า “พูดอย่างนี้ได้ไง กูเป็นวิทยากรระดับชาตินะโว้ย” ตอนนั้นอัตตาครองใจ จนเขาลืมไปว่าตนเองเป็นสามีของเธอ ดีที่เขามีสติรู้ทัน จึงไม่ได้พูดประโยคดังกล่าวออกไป
หมอเอาเรื่องนี้มาเล่าด้วยความขำ ชี้ให้เห็นฤทธิ์ของอัตตาว่ามันร้ายกาจมาก หลงในความเป็นวิทยากรระดับชาติ ขนาดอยู่กับภรรยา ก็ยังไม่ยอมถอดหัวโขนดังกล่าวลง แต่คนที่ไม่รู้ทันอัตตา คงไม่ขำกับเรื่องแบบนี้ ยิ่งต้องเก็บงำเอาไว้เพราะกลัวเสียหน้า แต่ถ้าต้องการกำราบอัตตา ก็ต้องกล้าแฉความเกเรของอัตตา ไม่ใช่เก็บซุกซ่อนเอาไว้
เจ้าของสายการบินแอร์เอเชีย ชื่อโทนี่ เฟอร์นันเดส เขาตั้งกติกากับตัวเองว่าทุกเดือนจะทำงานเป็นพนักงานขนกระเป๋า ทุกสองเดือนเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และทุกสามเดือนจะเป็นพนักงานที่เคาน์เตอร์ ไม่แน่ชัดว่าเขาทำเช่นนั้นเพื่อลดอัตตา หรือเพื่อจะได้ใกล้ชิดกับพนักงานและเรียนรู้ปัญหาที่อาจเกิดกับบริษัท จะได้ปรับปรุงให้บริการดีขึ้น อย่างไรก็ตามการที่เขาลงมาทำงานระดับเดียวกับพนักงาน ก็มีส่วนช่วยลดอัตตาของตัวเองได้มาก เพราะธรรมชาติของผู้บริหารหรือเจ้าของ ย่อมรู้สึกว่ามีอำนาจเหนือพนักงาน ทำให้เกิดความหลงตัวลืมตนได้ง่าย
แต่ละคนควรมีวิธีการของตัวเองในการลดอัตตา หากเราไม่ใช่เป็นคนเด่นคนดัง ไม่ต้องทำถึงขั้นนั้นก็ได้ เพียงแค่เปิดใจฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ คำท้วงติง ก็ช่วยได้มาก เพราะเวลาเจอคำท้วงติง อัตตาจะไม่ยอม มันจะฮึดฮัดขัดขืน เมื่อไรก็ตามที่เรารู้ว่ามันฮึดฮัดขัดขืน แทนที่จะเดือดร้อนกับมัน ควรสมน้ำหน้ามัน ถือว่าถ้อยคำเหล่านี้เป็นการทรมานอัตตาให้กร่างน้อยลง มันจะได้สงบเสงี่ยมเจียมตัวมากขึ้น เพราะถ้าเราไม่ทรมานมันบ้าง ไม่ฝึกให้มันอยู่เป็นที่เป็นทางบ้าง มันก็จะยกหูชูหาง แล้วมาครอบงำเรา ทำให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
ที่มา : http://www.visalo.org/article/dhammamata9_3.html