อิหร่านกับภาษาเปอร์เซีย
อิหร่านกับภาษาเปอร์เซีย
โดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิหร่านศึกษาและภาษาเปอร์เซีย วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
หนึ่งจากปัญหาต่าง ๆ ที่ถือได้ว่าเป็นข้ออ้างมาตลอดของนักล่าอาณานิคมและชาวตะวันตก คือ ชาวมุสลิมได้บีบบังคับชาวอิหร่านให้ยอมรับศาสนาอิสลาม และยังกล่าวอีกว่า ชาวอิหร่านในอดีตได้เพียรพยายามจะรักษาภาษาของตนเองพวกเขาไว้ แต่ด้วยอำนาจของรัฐคอลีฟะฮ์ยุคนั้น บีบบังคับให้พวกเขาต้องเปลี่ยนภาษาเดิมนั้นมาเป็นตัวเขียนแบบอาหรับ ดังที่กล่าวขานกันว่าภาษาเปอร์เซียแบบใหม่
คงจะน่าแปลกอย่างยิ่ง ถ้าการยอมรับอิสลามหรือการเปลี่ยนศาสนาอื่นมาเป็นศาสนาอิสลาม ต้องเป็นเหตุให้ละทิ้งภาษาแม่ภาษาเดิมของตนเอง หรือต้องมาพูดมาสื่อสารภาษาอาหรับอย่างเดียว ทั้งๆที่กรอบแนวคิดและความเชื่อของศาสนาอิสลาม ไม่ได้ผูกมัดอยู่กับภาษา(แต่เน้นให้เข้าถึงแก่นคำสอน)และไม่มีหลักฐานยืนยันใดๆถึงการบีบบังคับให้ชาวอิหร่านต้องเปลี่ยนศาสนาเดิมมารับศาสนาอิสลามหรือได้บีบบับคับให้ใช้ภาษาอาหรับแทนภาษาเปอร์เซีย
ชาวอิหร่าน ไม่เคยคิดว่าภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาที่ตรงกันข้ามกับภาษาอาหรับ หรือภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาที่ต่อต้านอิสลาม แต่พวกเขาถือว่าภาษาอาหรับเป็นภาษาของศาสนาอิสลาม ไม่ใช่ภาษาของเผ่าใดเผ่าหนึ่งของเผ่าอาหรับ เพราะว่าอิสลามได้ครอบคลุมไปทุกชนเผ่า ทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา และที่สำคัญคือภาษาอาหรับเป็นภาษาของมุสลิมทั่วโลกและชาวอิหร่านยังให้ความสำคัญต่อภาษาอาหรับอย่างมากทีเดียว
ดังจะเห็นว่าชาวอิหร่านหลังจากที่ได้ยอมรับอิสลาม พวกเขาก็ยังสนทนาภาษาเปอร์เซีย อยู่ปกติเหมือนเดิม มิได้ละทิ้งภาษาเดิมของพวกเขา และถ้าวันนี้ภาษาเปอร์เซียได้สูญหายไปหรือเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว เราคงไม่ได้เห็นร่องรอยอันทรงคุณค่าทางวรรณกรรมด้านอิสลามที่อยู่บนภาษาเปอร์เซียอย่างงดงาม ดั่ง เช่น หนังสือมัษนะวี ยะลาลุดดีน รูมี บทกวีกุลิสตอน หรือ ดีวานฮาฟิซ และอีก ๆ นับร้อยเรื่องจากวรรณกรรมเปอร์เซีย ล้วนแต่มีคำสอนของอิสลามซ่อนอยู่อย่างน่าทึ่งทีเดียว
ในหนังสือ “รัยฮานะตุลอะดับ” บันทึกไว้ว่า…”ในปี๑๗๐ แห่งฮิจเราะฮ์ คอลีฟะฮ์มะมูน อับบาซี ได้เดินทางไปยังเมืองโคราซาน (อิหร่านปัจจุบัน) และเขาจะเข้าพบกับผู้ทรงคุณวุฒิ จากนักอ่านกลอน นักแต่งบทกวีอย่างใกล้ชิด และหนึ่งจากผู้ทรงคุณวุฒิคือท่าน อะบุลอับบาส มะรูซี เป็นนักพูดที่เก่งและมีความสามารถในการใช้วาทศิลป์ และมีประสบการณ์กับการพูดได้หลายภาษา สามารถแต่งบทกลอน หรือพูดผสมประสานระหว่างภาษาอาหรับกับภาษาเปอร์เซียอย่างดี และเขาได้ประพันธ์บทกลอน ผสมประสานระหว่างสองภาษาให้คอลีฟะฮ์มะมูนฟัง ทำให้คอลีฟะฮ์มะมูนประทับใจ ตบรางวัลให้ถึงหนึ่งพันดีนาร และทำให้ทุกคนตื่นตัวกันในเรื่องการใช้ภาษาเปอร์เซีย จากครั้งนั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่พูดภาษาเปอร์เซียนำภาษาเปอร์เซียมาเผยแพร่และมาพูดสนทนากัน หรือได้แต่งบททกวี หรือบทลำนำเป็นภาษาเปอร์เซีย จนกระทั่งภาษาเปอร์เซียเป็นที่ยอมรับเท่า ๆ กับภาษาอาหรับ หรืออาจจะมีกระแสแรงกว่า” (รัยฮานะตุลอะดับ เล่ม ๗ หน้า ๑๘๑)
อีกด้านหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ มีชาวอิหร่านที่เป็นมุสลิม ที่ไม่ค่อยจะให้ความสนใจกับภาษาเปอร์เซีย เช่นชาวเมืองตอฮีรียอน(Tahiriyan) หรือเผ่าชามอนียอน(Zamaniyan) ซึ่งเป็นชาวเปอร์เซียแท้ แต่ไม่มีความเป็นชาตินิยมต่อความเป็นเปอร์เซีย เลยไม่ค่อยจะสนใจต่อภาษาเปอร์เซียสักเท่าไหร่ แตกต่างกับเผ่าฆอราวียอน (Karawiyan) ซึ่งไม่ใช่เปอร์เซียแท้ กลับได้ฟื้นฟูภาษาเปอร์เซีย มากกว่าเผ่าดังกล่าว
เผ่าฆอรอวียอน เป็นเผ่นเติร์ก อยู่ในนิกายซุนนี เป็นชาวอิหร่านที่มีความเป็นชาตินิยมสูง พวกเขาได้ฟื้นฟูและพัฒนาภาษาฟัรซีอย่างต่อเนื่อง นี่คือการส่งเสริมภาษาเปอร์เซียด้วยหลักความรักในความเป็นเปอร์เซีย และชาวสะฟาวี(Zafawi) อีกกลุ่มชนหนึ่งที่ได้ส่งเสริมภาษาเปอร์เซีย
ท่านเซอร์ ฟีไรด์ กล่าวว่า..”เป็นไปได้ว่าในสมัยของราชวงศ์ซาฟาวิด ประชาชนที่ได้สนใจภาษาเปอร์เซีย และได้พัฒนาภาษาสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ เนื่องจากผู้รู้ท่านหนึ่งชื่อ ยะกูบ ไม่ใช่อาหรับ ป็นผู้วางรากฐานและการประพันธ์ด้านบทกลอนต่างๆ จนเป็นที่กล่าวขาน”
เซอร์ ฟิไรด์ กล่าวอีกว่าว่า “การเกิดภาษาเปอร์เซียแบบใหม่ (ที่มีอักษรได้ผสมประสานระหว่างอาหรับกับเปอร์เซีย) ไม่ได้เกิดจากการปลุกปั่นให้ต่อต้านอิสลามหรืออาหรับแต่อย่างใด “
และเขาได้กล่าวไว้ในหน้าที่ ๔๐๐ ภายใต้หัวเรื่อง”การกำเนิดใหม่ของอิหร่าน”ว่า…
“ในบางวัฒนธรรม ภาษาถือว่าเป็นสิ่งมีอิทธิพลและมีบทบาทต่อศาสนาและต่อสังคมมากเลยทีเดียว เพราะจะเป็นการสืบสานต่อ (ทางความคิด) หรือจะทำให้วัฒนธรรมนั้นธำรงอยู่ด้วยกับความสำคัญทางภาษา ซึ่งประจักษ์พยานได้จากชาวอิหร่านและภาษาของพวกเขา เพราะว่าจะพบว่า ภาษาชาวอิหร่าน ภาษาเปอร์เซียเดิมจากสมัยกกษัตริย์ซาซาเนียน และภาษาเปอร์เซียใหม่ หลังการเข้าสู่อิสลาม (ของอิหร่าน) ดังนั้นไม่เป็นการสงสัยว่าทั้งสองนั้นไม่ได้เหมือนกันแต่มีความแตกต่างกัน สิ่งที่แตกต่างระหว่างเปอร์เซียเดิมกับเปอร์เซียใหม่คือ การค้นพบและเปลี่ยนการเขียนอักษรนั้นเป็นอาหรับในภาษาเปอร์เซียใหม่ ซึ่งในมุมมองของศิลปศาสตร์ถือว่ามีอิทธิพลสูงมากและจะครอบคลุมได้ดีกว่า ซึ่งจะแตกต่างกับเปอร์เซียแบบโบราณที่มีวงจำกัดที่แคบกว่า และเป็นอัตลักษณ์ใหม่ทีว่าเปอร์เซียในเสื้อคลุมอักษรอาหรับ โดยจะสร้างความน่าสนอกสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะด้านบทกวีเปอร์เซีย ซึ่งสร้างความงดงามและความน่าจับต้องยิ่งนัก และภาษาเปอร์เซียใหม่คืออีกทางหนึ่งที่ก้าวไปข้างหน้าและพัฒนาโดยกลุ่มมุสลิมของชาวอิหร่านนั่นเอง”
ดังนั้นภาษาเปอร์เซียถือว่ามีเอกลักษณ์และจุดเด่นอันทรงคุณค่าที่ถูกซ่อนไว้ในบทกวี บทกลอน และคีตกวีที่แทรกอยู่ในวัฒนธรรมและอารยธรรมอิสลามของชาวอิหร่านตลอดมา ทำให้ภาษาเปอร์เซียทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น ทำให้ศูนย์กลาง สถาบัน และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย เช่น ในจีน ญีปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีการเรียนการสอนภาษาเปอร์เซียกันอย่างเอาจริงเอาจัง
อาจจะกล่าวได้ว่า ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาทางการ ศิลปะวิทยาการ บทกวี อักษรศาสตร์ และวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในทั่วมุมโลก อย่างเช่น อินเดีย จีน และกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ซึ่งมีนักกวีชื่อดัง อาทิ นิซอมี กันญาวี ,อะมีร คุซโร, อิกบาล ลาโฮรี ต่างใช้ภาษาเปอร์เซียในบทกวีของพวกเขา ที่เต็มไปด้วยวิทยปัญญาอันยิ่งใหญ่ และภาษาเปอร์เซียถือว่าเป็นวิทยปัญญาอันยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมและอารยธรรมของอิหร่าน โดยผลงานอันทรงคุณค่าที่ได้จดบันทึกไว้ในรูปบทกวีของนักกวีผู้มีชื่อเสียงร่ำลือและโด่งดังไปทั่วโลก เช่น อุมัร คัยยาม ,เมาลานา ญะลาลุดดีน รูมี , ฮาฟีซ , ซะดี และท่านอื่นๆอีกมากมาย