เที่ยววัด ชมเวียง เยือนวัง ชุด”รักบ้านเกิด” แลหลังวัยเด็ก#2 วัดโมลีโลกยาราม อ.บางกอกใหญ่
จากวัดหงส์ฯผมเดินทอดน่องไปรำลึกความหลัง ที่วัดโมลีโลกฯซึ่งอยู่ติดกัน…….
นึกถึงสมัยเรียน”ทวีธา” มีเพื่อนร่วมชั้นเป็นลูกศิษย์วัดโมลีโลก เขารักภาษาอังกฤษมาก เห็นฝรั่งต้องเข้าไปทักทายไม่ว่ากาละเทศะใด ครั้งหนึ่งฝรั่งถูกตำรวจจับอยู่บนโรงพักกำลังอารมณ์เสีย เพื่อนผมเดินผ่านตะโกนทัก Hellow, What time is it?ฝรั่งตะโกนด่ากลับมา ผลจากการฝึกฝน เขาเข้าคณะบัญชีจุฬา และได้มาเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทการเงินข้ามชาติ
วัดโมลีโลกยาราม อยู่หลังพระราชวังเดิมธนบุรี ริมคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)ติดป้อมวิไชยประสิทธิ์ เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีฯ เดิมชื่อวัดท้ายตลาดเพราะอยู่ท้ายตลาดกรุงธนบุรี สมัยนั้นถือเป็นวัดในเขตพระราชฐานเช่นเดียวกับวัดอรุณฯ ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ป้อมวิไชยประสิทธิ์
สมัยต้นรัตนโกสินทร์ วัดนี้เป็นศูนย์กลางการศึกษา แทน วัดหงส์ฯ สมเด็จพุทธโฆษาจารย์(ขุม)เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่สมัยร.1 สมัยร.2ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด พร้อมพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพุทไธศวรรย์”และได้ส่งพระราชโอรสมาทรงอักษรที่วัดนี้ ทั้งนี้สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ยังได้เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของ ร.3
สมัยร.3สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มรณภาพ พระองค์โปรดให้หล่อรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน)ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ไว้ที่วัดนี้และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า” วัดโมลีโลกยาราม”
พระอุโบสถ: หลังคามุงลด3ชั้น ลายปูนปั้นซุ้มประตู หน้าต่าง และหน้าบัน น่าชมโดยมีลายปูนปั้นปิดทองมีตราไอราพต อันเป็นเครื่องหมายแห่งร.4
บานประตู หน้าต่าง แกะสลักไม้เป็นรูปต้นไม้ ดอก ใบ ฝีมืองดงาม
พระประธานปางมารวิชัย ผนังเขียนเป็นรูปภาพลายทรงข้าวบิณฑ์
เรื่องความหมายของวัดโมลีโลก ผมหวลคิดถึงความหลังเกือบ60ปีก่อน ผมมีอายุ10กว่าขวบ แม่พามางานวัด มีคณะตลก มาแสดงเป็นคนจีนสมัยเข้าเมืองไทยใหม่ๆมีเสื่อผืนหมอนใบ ต้องอดออม นั่งล้อมวงเจี๊ยะข้าวต้มกุ๊ย มีปลาเค็มแขวน ให้ดูปลาเค็มแล้วพุ้ยข้าวต้มเปล่า อาตี๋น้อยมองปลาเค็มนานเกินไป โดนอาแป๊ะตบหัว ” อาตี๋ ลื้อมองปลาเค็มนานๆ เดี๋ยวเค็มตายห่า”5555
จากนั้นอาแป๊ะก็คุยเรื่องกันเรื่องความหมายของวัดโมลีโลก ในกลุ่มคนจีน อาแป๊ะ
ผู้ทรงคุณวุฒิอธิบายด้วยสำเนียงจีนว่า”โมลี”แปลว่าผม ส่วนโลกแปลตรงตัวว่า”โรค”
โมลีโลกจึงแปลว่า”ผมเป็นโรค” 555…
ผมสงสัยมานานใครรู้ช่วยขยายความด้วย สำหรับผมสันนิฐานว่า ร.3 ท่านมุ่งมั่นผดุงศาสนา สมัยท่านสร้างวัดและบูรณะวัดมากมาย วัดนี้ได้ให้พื้นฐานแก่พระองค์โดยเริ่มทรงอักษรที่นี่ ตอนทรงผนวชก็มีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ที่นี่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์(อ่าน กำ-มะ-วา -จา-จาน) ซึ่งหมายถึงผู้แนะนำคุณสมบัติผู้บวชให้แก่ที่ประชุมสงฆ์และถามมติสงฆ์ว่า จะรับบวชหรือไม่ จึงเสมือนวัดนี้สร้างเกราะกำบังให้พระองค์เสมือน ป่าไม้ ต้นไม้ ลำธาร ภูเขา ชั้นบรรยากาศที่ปกคลุมโลก จึงพระราชทานนามว่า “วัดโมลีโลกยาราม”
พระวิหาร: หลังคามุงลด2ชั้น ในสมัยพระเจ้ากรุงธนฯใช้เป็นฉางเกลือ ภายในวิหารกั้นเป็นสองตอน ตอนหน้ากว้างประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์เป็นหมู่ เป็นฝีมืออยุธยา ทั้งสิ้น
ตอนหลังแคบ ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่
ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์( ขุน ):
ท่านเป็นพระอาจารย์ของพระโอรสใน ร.2หลายองค์
รูปปั้นทหารฝรั่งเศษผู้เฝ้าป้อม:
ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ สร้างเสริมขึ้นบนฐานของป้อมเมืองบางกอกซึ่งสร้างสมัยพระนารายณ์ ภายในแต่ละซุ้มมีประติมากรรมปูนปั้นรูปทหารฝรั่งเศษ
หอพระไตรปิฏก: อาคารไม้ทรงไทยย้อมสีเขียวทั่วตัวเรือน “ตำหนักเขียว”ช่วงนี้อยู่ระหว่างการบูรณะ
สำนักเรียนบาลีวัดโมลีโลก:
วัดโมลีโลก อยู่ปากคลองบางหลวงซึ่งเป็นแม่นำ้เจ้าพระยาสายเดิม บริเวณปากคลองนี้ ถือเป็นชุมชนเก่าแก่รุ่งเรืองสมัยกรุงธนบุรี-สมัยร.3 ตรงข้ามวัดโมลีโลก เป็นวัดกัลยาณมิตร เป็นชุมชนผสมทั้งแขก จีน ไทย ฝรั่ง มีวัด ศาลเจ้า โบสถ์คาธอลิก มัสยิด อยู่ร่วมกัน
ประชาชนอาศัยเรือนแพ หมอบลัดเลย์ ตั้งโรงพิมพ์ตรงปากคลอง บ้านเรือนขุนนางสมัยนั้นปลูกเรียงรายไปตามเส้นทางลำคลอง เช่น เรือนพระยาประสิทธิสงคราม
(ใหญ่ เกตุทัต) เรือนพระยาอาหารบริรักษ์
(ผึ่ง ชูโต) เรือนพระยากสิภูมิ(ผล ภูมิรัตน์)
วังกรมหมื่นรัชนีแจ่มจรัส(น.ม.ส.) เรือนพระยาราชานุประพันธ์(สุดใจ)เป็นต้น
ต่อมาสมัย ร.4 มีการขยายขอบเขตเมือง โดยขุดคลองผดุงกรุงเกษมหน้าทำเนียบในปัจจุบัน จากริมน้ำเจ้าพระยาข้างวัดเทวราชฯมาออก แม่น้ำเจ้าพระยาแถบวัดแก้วฟ้า สี่พระยา และ ร.5 มีการสร้างถนนเจริญกรุง สีลม ฯลฯ ทำให้ชุมชนเคลื่อนย้ายความเจริญมาบริเวณนี้
แต่อย่างไรก็ตามในสมัยร.5 ถ้าจินตนาการ สภาพคลอง ตามเรื่องสี่แผ่นดินของหม่อมคึกฤทธิ์ แถบนี้ก็ยังมีความคึกคักอยู่มาก บ้านแม่พลอยอยู่ในคลองบางหลวง เป็นบ้านใหญ่ มีกำแพงเสริมรั้วเหล็กกั้นตลอดริมน้ำ ที่ท่าน้ำมีศาลาหลังใหญ่ ทำด้วยไม้ ขณะนั้นพ.ศ.2435 แม่พลอย อายุ10ขวบ มารดาเลิกกับบิดา คือพระยาพิพิทธฯ มารดาพาแม่พลอยพายเรือเข้ามาอยู่วัง สองข้างคลองมีสภาพเรือกสวน ใกล้ปากคลองเข้าไป บ้านช่องและแพสองข้างทางที่เต็มไปด้วยของวางขายต่างๆ ก็หนาแน่นขึ้น ผู้คนที่สัญจรไปมาทั้งทางน้ำและทางบกก็จอแจยิ่งขึ้น
จากวัดโมลีโลก ผมเดินเลียบคลองบางหลวง ย่ำตามรอยสมัยเด็กที่เดินไปหาเพื่อนแถบกุฏีเจริญพาศน์และวัดราชสิทธาราม
ติดตามตอนต่อไปวัดราชสิทธาราม
ที่มา : https://janesnote.wordpress.com/2016/05/30/%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%94-%e0%b8%8a%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%a7%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%87-%e0%b9%80%e0%b8%a2%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99-12/