เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง ๔๐ ปีหลัง ๑๔ ตุลา ฯ
โดย พระไพศาล วิสาโล
พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๒๕๕๖
จัดพิมพ์โดย มูลนิธิ ๑๔ ตุลา
ตามปกติ ปาฐกถาหรือการบรรยายที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส ฯ มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะหรืองานบุญงานกุศล โดยมักจะปรารภถึงเหตุการณ์ทางศาสนา แต่ปาฐกถาวันนี้แตกต่างจากปาฐกถาทั้งหลายที่เคยจัดที่นี้ เพราะหัวข้อกระเดียดไปทางสังคมและการเมือง อีกทั้งยังจัดขึ้นในโอกาสที่ไม่เกี่ยวกับแวดวงศาสนาเลย นั่นคือจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปีแห่งเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ อันเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนไทย อย่างไรก็ตามท่านทั้งหลายในที่นี้คงเห็นเหมือนอาตมาว่า ความใส่ใจในความเป็นไปของบ้านเมือง จัดว่าเป็นทั้งหน้าที่และคุณธรรมของศาสนิกชน ยิ่งเป็นชาวพุทธด้วยแล้ว เราไม่ควรนิ่งดูดายต่อเหตุการณ์บ้านเมืองโดยเฉพาะในยามที่มีความทุกข์ร้อนเกิดขึ้น ใช่แต่เท่านั้นไม่ว่าจะทำอะไร หรือแม้แต่การครุ่นคิดถึงเรื่องบ้านเมือง ก็ควรเอาธรรมะมาเป็นแนวทางหรือเครื่องกำกับการคิดและการกระทำของเรา ดังนั้นหัวข้อปาฐกถาในวันนี้จึงไม่ไกลจากเรื่องธรรมะหากนิยามในความหมายกว้างที่สุด ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสก็เคยทำมาแล้วในการบรรยายเรื่อง “ธรรมะกับการเมือง” อย่างไรก็ตามอาตมาไม่มีความสามารถพอที่จะทำได้ดีอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสในการชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้ แต่หวังว่าปาฐกถานี้จะช่วยให้ท่านทั้งหลายเห็นแนวทางในการเอาธรรมะมาใช้เพื่อช่วยให้บ้านเมืองมีความสงบเย็นมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้จิตใจของท่านรุ่มร้อนน้อยลงเมื่อครุ่นคิดถึงเหตุการณ์บ้านเมือง
เมืองไทย ๔๐ ปีหลัง ๑๔ ตุลา ฯ
เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ ๒๕๑๖ เป็นหนึ่งในบรรดาเหตุการณ์สำคัญที่สุดของเมืองไทยยุคปัจจุบัน เป็นทั้งหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ อีกทั้งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางในทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างยากที่จะมีเหตุการณ์ใดมาเทียบเคียงได้ แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านไปเกือบสองชั่วอายุคนแล้ว แต่ก็ยังยากที่จะประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนและรอบด้าน
ในวาระครบรอบ ๔๐ ปีของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ เราอาจใช้โอกาสนี้ทบทวนสถานะและบทบาทของเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อประเมินคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ หรือสำรวจพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยว่าก้าวหน้าเพียงใดนับแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถบรรลุเจตนารมณ์ของการต่อสู้ครั้งนั้นมากน้อยเพียงใด แน่นอนเราควรใช้โอกาสนี้รำลึกถึงวีรกรรมของผู้ที่ยอมพลีชีพเพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย
มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราน่าจะทำในโอกาสอันสำคัญนี้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวสูญเปล่า และเพื่อทำความเข้าใจปัจจุบันและบริบทที่แวดล้อมตัวเรา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือเพื่อเข้าใจตัวเราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาชาติไทย อย่างไรก็ตามวาระเช่นนี้ยังควรเป็นโอกาสสำหรับการมองไปข้างหน้า โดยอาศัยบทเรียนจากอดีต เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคหรือขวากหนามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงสถานการณ์ปัจจุบัน อาตมาเชื่อว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกสับสน หนักใจและเป็นกังวลกับสภาพบ้านเมืองขณะนี้ สภาพดังกล่าวยืดเยื้อต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว จนหลายคนรู้สึกหดหู่ท้อแท้ เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้ตั้งข้อสังเกตในระหว่างแสดงปาฐกถา ๑๔ ตุลา ว่า สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ “ไม่เพียงเป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงในรอบ ๑๕ ปี สำหรับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยหลัง ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖ หากยังเป็นช่วงแห่งความอึมครึมสับสนทางอุดมการณ์การเมืองและศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบ ๓๔ ปีของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ”1
แม้ว่าสถานการณ์ที่อาจารย์เกษียรกล่าวถึงตอนนั้น เมืองไทยยังไม่มีการเลือกตั้งและยังอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการครึ่งใบ ต่างจากตอนนี้ที่เรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็ไม่ควรลืมว่าตอนนั้นยังไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดพฤษภา ๒๕๕๓ ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกร้าวลึกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ยังไม่ต้องพูดถึงการชุมนุมบนท้องถนนของคนสองฝ่ายสองสีเสื้อที่ใช้วิธีการเข้มข้นดุดันนานาชนิดเพื่อเอาชนะคะคานกัน ก่อให้เกิดการแบ่งขั้วอย่างกว้างขวาง จนถึงกับการเกิดการแยกข้างทั้งในทางการเมืองและศีลธรรม จนสมานเข้าหากันได้ยาก
กล่าวอีกนัยหนึ่ง สถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วงและน่าหนักใจกว่าเมื่อ ๖ ปีที่แล้วมาก ความอึมครึมสับสนทางอุดมการณ์การเมืองและศีลธรรม ที่อาจารย์เกษียร กล่าวถึง นอกจากจะไม่ลดลงแล้ว กลับหนักกว่าเดิม ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ที่ไม่สับสน เพราะได้เลือกข้างในทางการเมืองและศีลธรรมแล้ว ก็มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมากขึ้น จนผลักซึ่งกันและกันให้อยู่ในภาวะสุดโต่ง
มาถึงตรงนี้อาตมาขออธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น กล่าวคือ แม้ประชาธิปไตยของไทยจะล้มลุกคลุกคลานมาตลอด แต่เมื่อเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ ผ่านไปได้ ๒ ทศวรรษ หรือพูดให้เจาะจงก็คือ หลังจากเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ๒๕๓๕ ก็มีความเห็นสอดคล้องกันในหมู่ผู้นำทุกภาคส่วน ไม่ว่าภาคราชการ ภาคธุรกิจและภาคประชาชนว่า ประชาธิปไตย หรือการปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่เหมาะกับประเทศไทย แม้จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างใดก็หนีไม่พ้นแนวทางนี้ เช่น การมีองค์กรอิสระ หรือการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เพื่อทัดทานการใช้อำนาจรัฐมิให้เป็นไปตามอำเภอใจ จนนำไปสู่การผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี ๒๕๔๐ ได้สำเร็จ
แต่มาถึงวันนี้ฉันทามติในเรื่องประชาธิปไตยนั้น ได้เลือนหายไปแล้วก็ว่าได้ ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งยังเห็นว่า ประชาธิปไตย คือคำตอบของประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งกลับเสื่อมศรัทธาในประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นเปิดโอกาสให้นักการเมืองขึ้นมากุมอำนาจรัฐและโกงกินบ้านเมือง รวมทั้งใช้อำนาจตามอำเภอใจ กลายเป็น “เผด็จการทุนนิยม” ฝ่ายนี้เห็นว่าควรให้คนดีมีคุณธรรมขึ้นมาปกครองประเทศ ดังนั้นจึงพยายามเสนอระบอบการเมืองที่ลดความสำคัญของการเลือกตั้ง (หรือถึงกับเสนอให้ไม่มีการเลือกตั้งเลยก็มี) และเปิดโอกาสให้คนที่มีคุณธรรมและความรู้ความสามารถขึ้นมามีอำนาจในทางการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าในการปกครองหรือการถ่วงดุลกับรัฐบาลก็ตาม
จุดยืนของสองฝ่ายนั้นมาถึงขั้นว่า ฝ่ายหนึ่งเชิดชูประชาธิปไตยแบบตัวแทน จะเป็นใครก็ได้ขอให้ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนก็พอแล้ว จะเป็นคนดีหรือไม่ ไม่สำคัญ อีกฝ่ายเรียกร้องคนดีให้มาปกครอง จะเป็นระบอบอะไรก็ได้ทั้งนั้น และเมื่อโต้เถียงกันหนักขึ้น พยายามเอาชนะคะคานกันโดยอาศัยวาทกรรมดังกล่าวเป็นตัวรองรับสนับสนุน สุดท้ายก็ทำให้เกิดแรงผลักต่อกันและกัน ต่างมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อจุดยืนของอีกฝ่าย ผลก็คือ ฝ่ายแรกชูธงประชาธิปไตย ไม่เอาคุณธรรม อีกฝ่ายชูธงคุณธรรม ไม่เอาประชาธิปไตย
พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า ในความเป็นจริงจะมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเพียงเท่านี้ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงภาพหยาบ ๆ เพราะสถานการณ์ตอนนี้มีความซับซ้อนกว่านี้มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนที่เลือกข้างอย่างสุดโต่งดังกล่าวทุกวันนี้มีเป็นจำนวนไม่น้อย ยังไม่ต้องพูดถึง การเลือกข้างอย่างสุดโต่ง ระหว่าง การเปิดให้มีเสรีภาพอย่างไม่มีเงื่อนไข กับ การจำกัดเสรีภาพในนามของศีลธรรม รวมทั้งการแบ่งขั้วระหว่างสากลนิยม กับ ความเป็นไทย เป็นต้น
ความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนั้นเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมปัจจุบัน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผู้คนที่มีความเห็นแตกต่างอย่างสุดขั้วนั้น มักเกาะเกี่ยวอยู่กับการแบ่งฝ่ายทางการเมือง อันเป็นผลจากเหตุการณ์รัฐประหาร ๒๕๔๙ ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรด้วย กลุ่มการเมืองสองขั้วนั้นได้ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน และพยายามต่อสู้เอาชนะคะคานกัน จนเกิดความไม่สงบทางการเมืองถึงกับเลือดตกยางออกครั้งแล้วครั้งเล่า ความร้าวฉานขยายวงกว้าง จนเกิดความหวั่นวิตกว่าเหตุการณ์นองเลือดอย่างปี ๒๕๕๓ จะเกิดขึ้นอีก
รากเหง้าของความขัดแย้ง
เมืองไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร หลายคนมองว่าความวุ่นวายเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงเพราะคนไม่กี่คนเป็นผู้ก่อเรื่อง บ้างก็ว่าเป็นเพราะการแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำกลุ่มใหม่กับชนชั้นนำกลุ่มเก่า ระหว่างกลุ่มทุนนิยมโลกาภิวัตน์กับกลุ่มทหารและข้าราชการ มุมมองดังกล่าวมีข้อเท็จจริงรองรับอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่หากความจริงมีเพียงเท่านี้ ความขัดแย้งก็ไม่น่าจะขยายวงไปถึงทุกภาคส่วนของประเทศอย่างที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ เมืองไทยมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำมาหลายครั้ง เช่น ระหว่างนักการเมือง กับทหารและข้าราชการ จนถึงกับลงเอยด้วยการรัฐประหาร ยุบสภา ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วเลือกตั้งใหม่ ก็หลายครั้ง แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดกระแสต่อต้านจากมวลชนระดับล่างมากมายดังที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี ๒๕๔๙
แม้จะมีคำอธิบายว่ามวลชนเหล่านี้ถูกหลอกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองอย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือถูกจ้างมาประท้วง อาตมาก็คิดว่าคำอธิบายดังกล่าวไม่น่าจะเพียงพอหรือมีน้ำหนักน้อย จะว่าไปแล้วมันก็ไม่ต่างจากการอธิบายว่า นักศึกษาและประชาชนที่ลุกขึ้นมาประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจรและคณะเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ นั้น ถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือของทหารอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องการขึ้นมามีอำนาจแทน จริงอยู่การแย่งชิงอำนาจในหมู่ทหารระดับสูงตอนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธ แต่นั่นก็เป็นแค่ความจริงส่วนเดียว ความจริงอีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันและมีความสำคัญกว่าก็คือ นักศึกษาและประชาชนมีความไม่พอใจระบอบเผด็จการอย่างรุนแรง และต้องการระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้ตนมีสิทธิมีเสียงในบ้านเมืองอย่างแท้จริง
ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำนั้น เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย แต่สำหรับเมืองไทยเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว สำนึกในประชาธิปไตยที่เกิดกับนักศึกษาและประชาชนอย่างกว้างขวางจนพร้อมจะลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลเผด็จการเป็นจำนวนเรือนแสนนั้นเป็นเรื่องใหม่อย่างมาก สำนึกดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญหรือเพราะการปลุกระดมของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในระดับมหัพภาคที่สะสมสืบเนื่องมานานนับทศวรรษ
อาตมาขอใช้เวลาขยายความประเด็นนี้เพิ่มเติม เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย แม้เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ จะถูกจุดชนวนขึ้นจากการจับกุมนักศึกษาประชาชนจำนวน ๑๓ คนที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๖ ตุลา ฯ ๒๕๑๖ แต่การลุกขึ้นประท้วงของนักศึกษาและประชาชนเรือนแสนในกรุงเทพมหานคร จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากประเทศไทยไม่มีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่เริ่มในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งทำให้เมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภาคอุตสาหกรรมและบริการเติบโตอย่างไม่เคยมีก่อน โดยเฉพาะในกรุงเทพ ฯ ธนาคาร โรงแรม ศูนย์การค้า ผุดขึ้นมากมาย ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาการศึกษาขนานใหญ่ รวมทั้งการทุ่มทุนขยายมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคคลากรไปตอบสนองความต้องการของราชการและธุรกิจ ทำให้มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก2
กล่าวอีกนัยหนึ่ง การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในรอบสิบปีนั้นได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเขตเมือง ทำให้คนชั้นกลางเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นธรรมดาที่คนเหล่านี้ไม่ได้แค่ต้องการมีอาชีพที่มั่นคงเท่านั้น แต่ต้องการมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองด้วย ดังนั้นจึงย่อมไม่พอใจเมื่อพบว่าระบอบการเมืองที่มีอยู่นั้นไม่เปิดพื้นที่ให้แก่พวกตนเลย เพราะอำนาจล้วนกระจุกอยู่ในมือของทหารและข้าราชการเท่านั้น
ที่ว่ามานี้เป็นความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองแก่คนชั้นกลางที่เติบใหญ่ โดยเฉพาะนักศึกษา ปัจจัยดังกล่าวคือสถานการณ์โลก โดยเฉพาะสงครามเย็นที่ลุกลามมาถึงเมืองไทย สหรัฐ ฯ ไม่เพียงต้องการให้ไทยเป็นบริวารในการต่อสู้กับค่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีรัสเซียและจีนเป็นผู้นำเท่านั้น หากยังใช้ไทยเป็นฐานทัพในการทำสงครามอินโดจีนเพื่อต่อต้านอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ งานวิจัยของ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การที่รัฐบาลไทยยอมอยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐถึงกับการเข้าร่วมทำสงครามในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่เปิดเผย ได้ปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมในหมูนักศึกษาปัญญาชนจำนวนไม่น้อย จนเกิดความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร เพราะนอกจากไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องที่สำคัญของประเทศชาติแล้ว ยังปิดบังความจริงไม่ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล รวมทั้งเข้ามาจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น3
สถานการณ์โลกหรือปัจจัยจากนอกประเทศนั้นมีส่วนอย่างมากในการปลุกสำนึกทางการเมืองและสร้างความตื่นตัวแก่นักศึกษาประชาชนจำนวนไม่น้อย ในด้านหนึ่งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางทุนนิยมเพื่อรักษาประเทศไทยไม่ให้ตกอยู่ในอิทธิพลคอมมิวนิสต์ ทำให้คนชั้นกลางในเมืองขยายตัวเป็นจำนวนมาก ในอีกด้านหนึ่ง การครอบงำประเทศไทยโดยสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นแนวหน้าในการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกา ได้ปลุกจิตสำนึกรักชาติรักประชาธิปไตยในหมู่นักศึกษาประชาชน จนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงแนวคิดจากต่างประเทศ เช่น เสรีนิยม สังคมนิยม ซึ่งมีอิทธิพลต่อสำนึกทางการเมืองของนักศึกษาปัญญาชนเวลานั้นมิใช่น้อย
กล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ เป็นทั้งผลพวงและภาพสะท้อนของความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายในประเทศ ควบคู่กับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกที่ส่งผลระทบต่อประเทศไทย ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกนี้ได้ส่งผลให้เกิดพลวัตในหมู่คนชั้นกลางในเมืองจนขับเคลื่อนให้เกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย มองในแง่หนึ่งก็คือ ความต้องการมีพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งถูกผูกขาดโดยทหารและข้าราชการมาเป็นเวลานานนั่นเอง
กล่าวอีกนัยหนึ่ง เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ถึงเวลาที่เมืองไทยจะต้องมีระเบียบการเมืองอย่างใหม่ จะเป็นเหมือนเดิมหรือนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้แล้ว แม้ในเวลาต่อมามีความพยายามที่จะกลับไปสู่ระบอบเผด็จการเหมือนเดิม ทั้งเผด็จการทหาร เผด็จการพลเรือนในการปกป้องของทหาร (หรือที่เรียกว่า “รัฐบาลหอย”) หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีแต่การสูญเสียเลือดเนื้อและความตกต่ำถอยหลังด้านเศรษฐกิจสังคม จนในที่สุดก็ต้องกลับมาที่ระบอบประชาธิปไตย ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
การมองเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ ดังที่กล่าวมา ไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของตัวบุคคลที่มีบทบาททั้งก่อนและระหว่างเหตุการณ์ แต่อาตมาเห็นว่าการมองแค่นั้นย่อมไม่พอ ควรมองให้ลึกถึงเหตุปัจจัยในระดับมหัพภาค หรือเหตุปัจจัยที่มิใช่ตัวบุคคล (impersonal) ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลขับเคลื่อนหนุนเนื่องให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เปรียบเสมือนส่วนของภูเขาที่อยู่ใต้น้ำ แม้มองไม่เห็น แต่เป็นฐานรองรับและค้ำจุนยอดของภูเขาน้ำแข็ง โดยที่เราต้องไม่ลืมว่า ส่วนยอดที่โผล่พ้นน้ำนั้น แม้จะเห็นชัด แต่ก็มีสัดส่วนแค่ ๑ ใน ๑๐ ของภูเขาน้ำแข็งทั้งหมด
ที่พูดมาข้างต้น แม้จะยืดยาวสักหน่อย แต่อาตมาคิดว่าจำเป็น เพราะช่วยให้เราเห็นความสำคัญของการมองสถานการณ์ปัจจุบันในภาพที่กว้างขึ้น คือตระหนักว่า สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ ไม่ใช่เป็นผลพวงของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคนไม่กี่คน หรือระหว่างกลุ่มบุคคลในแวดวงชนชั้นนำเท่านั้น แต่ยังเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายในประเทศที่สั่งสมต่อเนื่องมานาน รวมทั้งจากสถานการณ์โลก ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ยากจะต้านทานได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่สามารถควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจ การมองสถานการณ์ทุกวันนี้ว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น ทำให้เราคิดแต่จะแก้ปัญหาที่ตัวบุคคล เช่น เอาบุคคลต่าง ๆ มาคุยกัน ประนีประนอมกัน หรือหนักกว่านั้นก็คือ กำจัดตัวบุคคลไปเลย แต่วิธีดังกล่าวไม่อาจแก้ปัญหาได้ ตราบใดที่เรามองข้ามปัจจัยที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศและอิทธิพลจากกระแสโลก ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกดังกล่าวล้วนมีพลังผลักดันให้เมืองไทยไม่อาจหยุดอยู่กับที่ได้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนระเบียบกติกา ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ทางอำนาจหรือการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับคนกลุ่มใหม่ เช่นเดียวกับที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วอันเป็นผลจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ
ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในชนบท
คำถามก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นคืออะไร ประการแรกก็คือ ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในชนบทไทย ในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมานอกจากรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าผลักดันให้มีการพัฒนาชนบทอย่างต่อเนื่องแล้ว ระบบทุนนิยมยังแพร่เข้าไปยังทุกซอกทุกมุมของชนบท ทำให้ชีวิตของผู้คนผูกติดกับเศรษฐกิจแบบตลาด ที่เคยทำเกษตรกรรมแบบยังชีพก็มาเป็นการทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ ใช่แต่เท่านั้นรายได้ส่วนใหญ่ของผู้คนในชนบทไม่ได้มาจากภาคการเกษตรอีกต่อไป แต่มาจากนอกภาคเกษตรกรรม เช่น รับจ้าง ค้าขาย ตัดเสื้อ ซ่อมรถ หรือเป็นผู้ประกอบการรายย่อย4 การศึกษาวิจัยหลายชิ้นได้ชี้ว่าปัจจุบัน คนชนบทส่วนใหญ่ไม่ใช่คนยากจนดังแต่ก่อนอีกต่อไป คนยากจนเป็นเพียงคนส่วนน้อย คือ มีเพียง ๕.๔ ล้านคน หรือ ร้อยละ ๘.๔๘ ของประชากรทั้งประเทศ (แม้แต่ในภาคอีสาน คนยากจนก็มีเพียง ๓.๑ ล้านคนจากจำนวน ๒๐ ล้านคน)5 คนส่วนใหญ่ของชนบทคือชาวนารายได้ปานกลาง ซึ่งมีชีวิตแบบสมัยใหม่หรือใกล้เคียงคนในเมืองมากขึ้น มีโลกทัศน์คล้ายคลึงกับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ นั่นคือมีชีวิตแบบคนชั้นกลาง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่ผ่านมาได้ทำให้ เกิดคนชั้นกลางระดับล่างขึ้นมากมายในชนบท
เช่นเดียวกับคนชั้นกลางในเมือง คนชั้นกลางระดับล่างในชนบทมีความสนใจเหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้สะดวกกว่าแต่ก่อนเท่านั้น หากยังเป็นเพราะพวกเขาตระหนักว่าการเมืองในระดับประเทศ โดยเฉพาะนโยบายรัฐบาลนั้น ส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเขา แค่นโยบายเกี่ยวกับราคาพืชผลทางเกษตรอย่างเดียว ก็อาจทำให้เขาขาดทุนจนเป็นหนี้สินได้ ดังนั้นจึงมีความสนใจที่จะมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งมากขึ้น เพื่อเลือกรัฐบาลที่สนองผลประโยชน์ของเขาได้มากที่สุด สำนึกดังกล่าวนับวันจะเด่นชัดมากขึ้น แม้ว่าการรับเงินจากผู้สมัครเลือกตั้ง ยังมีอยู่ดาษดื่น แต่เงินซื้อเสียงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดในการตัดสินใจลงคะแนนของชาวบ้านส่วนใหญ่ สิ่งสำคัญกว่าคือศรัทธาหรือความคาดหวังในตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมืองว่าจะทำประโยชน์ให้แก่พวกเขาเพียงใด
อันที่จริงเป็นเวลาช้านานแล้วที่ประชาชนในชนบทจำนวนไม่น้อยเห็นว่าการเลือกตั้งมีความหมายเฉพาะ “วันคืนหมาหอน”เท่านั้น เพราะมีการแจกเงินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรขึ้นมาเป็นรัฐบาล พร้อมกับผลักดันนโยบายประชานิยมตามที่สัญญา แค่โครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค และกองทุนหมู่บ้าน ก็ทำให้เขาเหล่านั้นเห็นว่าประชาธิปไตยสามารถให้ประโยชน์แก่เขาอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ “กินได้”เฉพาะตอนใกล้เลือกตั้งเท่านั้น การเลือกตั้งได้กลายเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เขามีชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม
ด้วยเหตุนี้ประชาชนในชนบทจำนวนไม่น้อย (รวมทั้งคนชั้นกลางระดับล่างในเมือง)จึงไม่พอใจเมื่อเกิดรัฐประหารและโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ สำหรับเขาเหล่านั้นรัฐบาลทักษิณคือตัวแทนของประชาธิปไตยที่ใส่ใจทุกข์ร้อนของเขา ความรู้สึกผูกพันกับรัฐบาลที่เขาเลือกขึ้นมา ทำให้เขาเหล่านั้นไม่เพียงต่อต้านรัฐประหาร แต่ยังต่อต้านความพยายามใด ๆ ก็ตามที่เขามองว่าเป็นการกีดกันกลั่นแกล้งรัฐบาลของเขา ซึ่งก็คือการทำให้เสียงของเขาไร้ค่าหรือเป็นโมฆะ ผลก็คือ เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่เมื่อปี ๒๕๕๓ ซึ่งจบลงด้วยความสูญเสียยิ่งกว่าเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ
หากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ เป็นการลุกขึ้นของชนชั้นกลางในเมืองเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร เหตุการณ์พฤษภา ๒๕๕๓ ก็เป็นการลุกขึ้นของชนชั้นกลางระดับล่างจากชนบทเพื่อต่อต้านการดูถูกดูแคลนสิทธิเสียงของพวกเขา เป็นการเรียกร้องยืนยันสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลโดยผู้แทนที่เขาเลือกเข้ามา
ที่อาตมากล่าวมาข้างต้น ไม่ได้ปฏิเสธถึงข้อผิดพลาดของรัฐบาลทักษิณ รวมทั้งข้อกล่าวหาต่าง ๆ อาทิ คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติด เป็นต้น แต่อยากจะชี้ว่า เราไม่อาจเข้าใจความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาหลายปีจนถึงขณะนี้ได้เลย หากมองเห็นแต่ความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือระหว่างชนชั้นนำเท่านั้น และมองมวลชนที่เข้าร่วมว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่ถูกใช้ โดยไม่มีเจตนารมณ์หรือความต้องการที่เป็นของตนเอง หากมองเห็นเพียงเท่านั้น และพยายามเอาชนะคะคานชนชั้นนำอีกฝ่ายหนึ่งด้วยวิธีการใด ๆ ก็ได้ เช่น พยายามผลักดันพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรออกไปจากการเมือง ด้วยวิธีการที่บั่นทอนประชาธิปไตย เช่น รัฐประหาร หรือกีดกันเพิกเฉยเสียงของประชาชนในชนบททั้งทางตรงและทางอ้อม หรือไม่เปิดให้เขาเหล่านั้นมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองเท่าเทียมกับคนชั้นกลางในเมือง ความขัดแย้งก็จะไม่มีวันจบสิ้น ประชาชนในชนบทก็จะต้องต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางการเมืองอยู่ต่อไป
เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ เป็นสัญญาณเตือนชนชั้นนำในเวลานั้นว่า จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่คนชั้นกลางกลุ่มใหม่ที่อยู่นอกแวดวงทหารและข้าราชการ ฉันใด เหตุการณ์พฤษภา ๕๓ ก็เป็นสัญญาณเตือนชนชั้นกลางในเมืองว่า จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่ “คนรากหญ้า” หรือคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท อย่างเท่าเทียมกับตน นั่นหมายความถึงการยอมรับผู้แทนที่เขาเลือกเข้ามาไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม หากจะวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อสู้กัน ก็พึงทำในกรอบกติกาประชาธิปไตย ไม่ควรทำลายระบอบหรือกติกาเพียงเพื่อเอาชนะตัวบุคคล พึงตระหนักว่า การกีดกันผู้แทนที่เขาเลือกมาด้วยข้อกล่าวหาว่า เขาโง่ หรือขายเสียง มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เป็นความขัดแย้งที่ขยายวงไปทั้งประเทศ ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะชนชั้นนำดังแต่ก่อน
นี้คือความเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่งที่เราควรตระหนักและยอมรับ การต่อสู้ขัดขืนกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็คือการปฏิเสธความจริง ไม่มีปัญหาหรือความขัดแย้งใด ๆ จะแก้ได้หากเริ่มต้นด้วยการปฏิเสธความจริง แม้ความจริงนั้น ๆ จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจเราก็ตาม พวกเราที่เป็นชาวพุทธ ย่อมทราบดีว่า อริยสัจจ์ข้อแรก คือทุกข์ ท่านสอนว่าเราต้องเจอทุกข์ตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะร่ำรวยยิ่งใหญ่เพียงใด ก็หนีความเจ็บ ความพลัดพราก และความตายไม่พ้น แม้สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่น่าพึงปรารถนา แต่สิ่งที่ชาวพุทธจะต้องทำเป็นประการแรกคือ ยอมรับความจริงดังกล่าว และทำความเข้าใจกับมัน พระพุทธองค์สอนว่า กิจที่พึงทำสำหรับอริยสัจจ์ข้อแรกก็คือ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้หรือต้องเข้าใจ เมื่อรู้และเข้าใจทุกข์แจ่มแจ้ง จนเห็นสาเหตุหรือรากเหง้าของมัน การหลุดออกจากทุกข์ ก็ย่อมเป็นไปได้ คือแม้จะทุกข์กาย แต่ใจไม่ทุกข์ เพราะวางใจได้ถูกต้อง แต่หากเริ่มต้นด้วยการไม่ยอมรับความจริง ซึ่งหนีไม่พ้นแล้ว ความทุกข์ใจก็จะตามติดเราไป แม้จะยังไม่เจ็บป่วยหรือตาย แต่เพียงแค่ระลึกถึงก็ทำให้ทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง
อันที่จริงการที่คนชนบทมีสำนึกทางการเมือง หวงแหนประชาธิปไตย ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ควรถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะหมายถึงความเติบโตมั่นคงของประชาธิปไตย แม้นั่นจะหมายความว่าคนชั้นกลางในเมืองจะต้องแบ่งอำนาจที่เคยช่วงชิงมาจากชนชั้นนำมาให้แก่คนกลุ่มใหม่ ที่เราอาจมองว่าเป็นผู้ยากไร้ หรือไร้การศึกษา แต่ควรตระหนักว่าภาพดังกล่าวกำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว คนชนบทไม่ได้โง่หรือยากไร้อย่างที่เราเข้าใจอีกต่อไป เขาอาจฉลาดบางเรื่องและไม่รู้บางเรื่อง แต่เราก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกันมิใช่หรือ แต่ถึงเขาจะยากจนหรือเรียนน้อยกว่าเรา เขาก็มีสิทธิในความเป็นมนุษย์และเจ้าของประเทศเช่นเดียวกับเรา ยิ่งผู้ที่เป็นชาวพุทธด้วยแล้ว การตัดสินคนโดยดูที่ชนชั้น เศรษฐานะหรือวุฒิการศึกษาของเขา ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นี้คงไม่ต่างจากวัณณะมัจฉริยะ หรือแบ่งชั้นวรรณะ ที่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ
ความเปลี่ยนแปลงที่อาตมาได้กล่าวมานี้ ไม่เคยเกิดขึ้นที่เมืองไทยมาก่อน และเป็นสิ่งที่ก่อตัวอย่างช้า ๆ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยมองไม่เห็น เข้าใจได้ยาก จึงยังคงใช้ท่าทีหรือกรอบความคิดแบบเดิม ๆ ซึ่งอาจสวนทางกับความเป็นจริง เป็นธรรมดาว่า เมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ เราจำเป็นต้องปรับตัวปรับความคิดเพื่ออยู่กับความเป็นจริงอย่างใหม่ได้อย่างราบรื่น หาไม่ก็จะเกิดความขัดแย้งจนอยู่ไม่เป็นสุข
อิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์
อยากให้ตระหนักว่า ที่กล่าวมานี้เป็นแค่ความเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวที่กำลังเกิดขึ้น แท้จริงแล้วมีความเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่กำลังก่อตัวขึ้น ดังที่อาตมาได้กล่าวก่อนหน้านี้แล้วว่า มีปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่เป็นพลังผลักดันให้เมืองไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญอยู่ในขณะนี้ ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในชนบทซึ่งทำให้คนชั้นกลางระดับล่างขยายตัวจนต้องการพื้นที่ทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกับคนชั้นกลางในเมือง เป็นเรื่องของปัจจัยภายในที่ว่า ส่วนปัจจัยภายนอกที่อาตมาพูดถึงนั้น ได้แก่ กระแสโลกาภิวัตน์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของทุนนิยม ส่งผลอย่างมากต่อการขยายตัวของคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท ทำให้คนชนบทมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมการบริโภค และทัศนคติใกล้เคียงคนชั้นกลางในเมืองมากขึ้น แต่ถ้าโลกาภิวัตน์มีผลกระทบเพียงแค่นั้น สถานการณ์ในเมืองไทยทุกวันนี้คงซับซ้อนน้อยกว่าที่เป็นอยู่มาก
โลกาภิวัตน์นั้นด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างความพรั่งพร้อมทางวัตถุอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็สามารถสั่นคลอนวิถีชีวิต ค่านิยม โลกทัศน์ และระเบียบสังคมได้ไม่น้อย ในขณะที่คนไทยจำนวนหนึ่งร่ำรวยมหาศาลจากทุนนิยมโลกาภิวัตน์ คนจำนวนไม่น้อยซึ่งอาจมากกว่าคนกลุ่มแรกหลายเท่ากลับต้องล้มละลายสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะโลกาภิวัตน์เช่นกัน เห็นได้ชัดจากกรณีวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้กลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ ซึ่งนำโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผงาดขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่นายทุนกลุ่มอื่นต้องสูญเสียบทบาททางการเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นเหตุให้ยุคหนึ่งมีการชู “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อต้านกระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์ยังส่งผลกระทบต่อโลกทัศน์ แนวคิดและค่านิยมที่เคยยึดถือกันมา เช่น ความคิดเรื่องอธิปไตยของชาติ เราเคยมีความคิดว่ารัฐชาติจะต้องมีอำนาจทุกตารางนิ้วของประเทศ ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แต่โลกาภิวัตน์ได้ทำให้พรมแดนประเทศแทบจะไร้ความหมาย รัฐชาติไม่ว่าที่ใด ต้องยอมเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ให้ต่างชาติมาลงทุนหรือทำธุรกิจได้อย่างเสรี โดยเฉพาะเมืองไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ถูกกดดันโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ให้ต้องออกกฎหมาย ๑๑ ฉบับเพื่อเปิดทางให้แก่การค้าและการลงทุนไร้พรมแดน
ยังไม่ต้องพูดถึงการหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสารและกระแสบริโภคนิยมจากทุกสารทิศชนิดที่รัฐไม่อาจสกัดกั้นได้ ทำให้ผู้คนมีรสนิยมการบริโภคและการใช้ชีวิตที่มิอาจถูกตีกรอบด้วยค่านิยมเดิม ๆ ได้ สิ่งหนึ่งที่ถูกกระทบอย่างมากก็คือ แนวคิดเรื่องความเป็นไทย สมัยหนึ่งความเป็นไทยหมายความถึงการนิยมสินค้าไทย มีชื่อไทย พูดภาษาไทย เป็นต้น แต่โลกาภิวัตน์ทำให้ความเป็นไทยมีความหมายเลอะเลือนหรือจางคลายลง การนิยมสินค้าต่างประเทศ ดูหนังเกาหลี ชื่นชมนักร้องญี่ปุ่น มีชื่อฝรั่ง พูดไทยคำฝรั่งคำ เป็นเรื่องธรรมดา โดยที่คนเหล่านั้นยังรู้สึกว่าเป็นคนไทยอยู่
สิ่งที่ถูกกระทบตามมาก็คือ ทัศนคติชาตินิยม ชาตินิยมนั้นเรียกร้องความรักชาติ และรักทุกอย่างที่เป็นของชาติ แต่อารมณ์ผูกพันดังกล่าวกลับถูกกระแสโลกาภิวัตน์กัดเซาะ ดังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมลิเวอร์พูลและทีมชาติไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าร้อยละ ๘๐ ของผู้ชมในสนามรัชมงคลสวมเสื้อทีมลิเวอร์พูล อีกทั้งยังส่งเสียงเชียร์ทีมอังกฤษทีมนี้ตลอดการแข่งขัน โดยเฉพาะเมื่อทีมนี้ยิงประตูทีมไทยได้ แม้เราไม่สามารถสรุปได้ว่านี้เป็นภาพตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์นี้ก็คือ ชาตินิยมในความหมายที่เป็นความรักชาติและผูกพันกับทุกอย่างที่เป็นของชาตินั้น มีความหมายน้อยมากต่อผู้ชมส่วนใหญ่ในสนามรัชมงคลวันนั้น ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดแฟนทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและทีมเชลซี ซึ่งมีอีกมากมายนับแสนคน
โลกาภิวัตน์ยังส่งผลกระทบต่อแนวคิดเชิงศีลธรรมของผู้คน การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน การมีเพศสัมพันธ์อย่างเสรี การเปลี่ยนคู่นอน การทำแท้ง พฤติกรรมทางเพศซึ่งสวนทางกับจริยธรรมทางเพศที่ยึดถือกันมา ได้แพร่หลายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีทั่วทุกสารทิศ รวมไปถึงทัศนคติแบบเสรีนิยม ซึ่งตั้งคำถามกับศีลธรรมหรือคำสอนทางศาสนา รวมทั้งพุทธศาสนา ตลอดจนอุดมการณ์ทางโลกที่ตีกรอบควบคุมความคิดและพฤติกรรมของผู้คน เช่น อุดมการณ์ชาตินิยม ยิ่งมีการเปิดเสรีด้านสื่อ ก็ยิ่งทำให้แนวคิดใหม่ ๆ เหล่านี้แพร่หลายและท้าทายแนวคิดเชิงศีลธรรมและอุดมการณ์ดั้งเดิมมากขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต แนวคิด ความเชื่อ และโลกทัศน์เดิม ๆ ที่เคยยึดถือ เป็นธรรมดาที่ว่า ผู้คนที่ยึดถือสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นคุณค่าหรืออัตลักษณ์ของตน ย่อมรู้สึกหวั่นไหวเสมือนตัวตนกำลังถูกกระทบหรือถึงกับถูกคุกคามไปด้วย ขณะเดียวพฤติกรรมที่ไม่อยู่ในกรอบเดิม ซึ่งนับวันจะแพร่หลายมากขึ้น ก็ทำให้ผู้คนไม่น้อยรู้สึกว่า ศีลธรรมกำลังเสื่อมโทรม กลุ่มคนที่มีความรู้สึกลบกับสภาพดังกล่าวเป็นอย่างมากก็คือ คนชั้นกลางในเมือง ซึ่งแม้จะไม่ทั้งหมด แต่ก็มีเป็นจำนวนมาก เขาเหล่านี้รู้สึกว่า อุดมการณ์และค่านิยมที่ตนหวงแหนกำลังถูกบั่นทอน ระเบียบสังคมที่คุ้นเคยกำลังจะถูกทำลาย ยิ่งคนเหล่านี้พบว่าผู้คนมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ตัวใครตัวมันหนักกว่าเดิม ขณะที่ตัวเขาเองก็รู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวท่ามกลางสังคมสมัยใหม่ จึงรู้สึกสูญเสียความมั่นคงในจิตใจ ผลก็คือเกิดปฏิกิริยาต่อต้านในลักษณะตอบโต้ที่เข้มข้นพอ ๆ กัน ยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงมากเท่าไร ก็ยิ่งต่อต้านความเปลี่ยนแปลงมากเท่านั้น โดยหันมายึดถือหวงแหนค่านิยมประเพณีเดิม ๆ อย่างเหนียวแน่น
ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เราเห็นบ่อยขึ้นในระยะหลังก็คือ ลักษณะจารีตนิยมที่เข้มข้นขึ้น ยิ่งความเป็นไทยถูกบั่นทอนหรือเลือนหาย ก็ยิ่งมีการเรียกร้องและปกป้องความเป็นไทยมากขึ้น ใครที่คิดแหวกแนวหรือท้าทายความเชื่อเดิม ๆ มักจะถูกตั้งคำถามว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า ?” ยิ่งผู้คนมีทัศนคติเสรีทางเพศมากขึ้น ก็ยิ่งมีการควบคุมกวดขันในเรื่องทางเพศมากขึ้นโดยเฉพาะในสื่อของรัฐ (เช่นมีการเซ็นเซอร์บางส่วนของตัวการ์ตูนชุดโดเรม่อนที่กำลังเปลือยกายอาบน้ำ ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนถือเป็นเรื่องธรรมดาเพราะไม่ได้มีลักษณะยั่วยุหรืออนาจารแต่อย่างใด) ในทำนองเดียวกันก็มีการกลับไปหาพิธีกรรมและรูปแบบทางพุทธศาสนามากขึ้น เพื่อตอบโต้กับสิ่งที่เชื่อว่าเป็นตัวการบั่นทอนพุทธศาสนา
ปฏิกิริยาดังกล่าวส่งผลรวมคือ ความรู้สึกหวาดระแวงหรือถึงกับต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อพยายามรักษาระเบียบสังคมแบบเดิม ๆ เอาไว้ ความเปลี่ยนแปลงใดที่จะทำให้เกิดระเบียบใหม่ทางสังคม จะถูกตั้งข้อสงสัยหรือถูกต่อต้าน ปัญหาก็คือ เมืองไทยตอนนี้กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะถูกขับเคลื่อนทั้งจากความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในชนบท และการผลักดันจากกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการระเบียบสังคมอย่างใหม่ รวมทั้งการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างใหม่ ที่เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่คนชั้นกลางระดับล่างให้มากขึ้น หรือเท่าเทียมกับคนส่วนอื่น การต่อต้านความเปลี่ยนแปลงเพราะกลัวว่าสิ่งที่ตนหวงแหนหรือให้ความมั่นคงทางจิตใจแก่ตนจะสูญเสียไปนั้น นอกจากจะทำให้เป็นทุกข์แล้ว ยังพาไปสู่ความขัดแย้งกับผู้คนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากความขัดแย้งสู่การแบ่งข้างแยกขั้ว
มาถึงตรงนี้ ก็คงจะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งที่กำลังลุกลามไปทั่วเมืองไทยทุกวันนี้ แก่นแกนของมันก็คือ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่เรียกร้องสิ่งใหม่ กับฝ่ายที่ต้องการรักษาของเดิมเอาไว้ ว่าจำเพาะความขัดแย้งทางการเมืองที่ดูเหมือนแวดล้อมอยู่รอบตัวบุคคลนั้น เบื้องลึกก็คือความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มใหม่หรือ “พลังใหม่” (คือนายทุนซึ่งต้องการมีอำนาจผ่านการเลือกตั้ง โดยมีพันธมิตรคือชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งก็เป็นคนกลุ่มใหม่ที่เติบใหญ่ในชนบท) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น “ทุนนิยมสามานย์” หรือ “เผด็จการทุนนิยม” กับคนกลุ่มเก่า หรือ “พลังเก่า” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น “อำมาตย์” (คือชนชั้นนำในภาคราชการ โดยมีพันธมิตรคือชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งต้องการจำกัดอิทธิพลของนายทุนเหล่านี้เพราะมองว่าต้องการมีอำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว) เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีความขัดแย้งที่ซ้อนทับอีกชั้นหนึ่งก็คือ อันเป็นผลจากอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ ดังได้กล่าวมา นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสรีนิยมซึ่งเรียกร้องเสรีภาพทางความคิดความเชื่อ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยอุดมการณ์เดิม ๆ กับฝ่ายจารีตนิยมซึ่งต้องการรักษาอุดมการณ์และค่านิยมดั้งเดิมเอาไว้ในรูปแบบเดิม ไม่ว่า ความเป็นไทย ความเป็นพุทธ หรืออุดมการณ์ชาติ –ศาสน์-กษัตริย์
ความขัดแย้งทั้งสองมิติดังกล่าว อันได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมือง กับความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ บ่อยครั้งมักจะไปด้วยกันหรือเสริมซ้อนกัน กล่าวคือ ผู้คนที่สนับสนุนพลังใหม่ทางการเมืองนั้น จำนวนไม่น้อยก็เป็นผู้ที่นิยมอุดมการณ์เสรีนิยม ส่วนผู้ที่สนับสนุนพลังเก่า หลายคนก็อยู่ฝ่ายจารีตนิยม ทำให้เกิดการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนและเข้มข้นรุนแรงขึ้น บ่อยครั้งการถกเถียงประเด็นทางสังคมหรือความคิด เช่น จริยธรรมทางเพศ หรือเสรีภาพของสื่อ ก็ถูกลากไปเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมืองเรื่องสีไป เพราะฝ่ายที่สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยมนั้นมักจะเป็นฝ่ายเสือแดง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนจารีตนิยมมักจะอยู่ฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเป็นปฏิปักษ์กับเสื้อแดง
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ดูเหมือนว่าบ้านเมืองมีคนสองฝ่ายที่เห็นต่างกันแทบทุกเรื่อง และมีจุดยืนต่างกันในแทบทุกประเด็น จึงทำให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการตีขลุมเอาไว้ล่วงหน้าเมื่อพูดถึงประเด็นอะไรก็ตาม เช่น ถ้าใครพูดเรื่องประชาธิปไตย ความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพ ก็แสดงว่าเป็นพวกเสื้อแดง แต่ถ้าใครพูดเรื่องคอร์รัปชั่น คุณธรรม หรือสิ่งแวดล้อม ก็หมายหัวไว้ก่อนว่าเป็นพวกเสื้อเหลือง เป็นต้น
การแขวนป้ายตีตราเอาไว้ล่วงหน้าทำให้เกิดอคติต่อกัน กลายเป็นกำแพงขวางกั้นระหว่างกัน ฟังกันน้อยลง และเกิดความเกลียดชังหรือหวาดระแวงกันง่ายขึ้น ดังนั้นการสนทนากันจึงเกิดขึ้นได้ยากมาก มีแต่การโต้เถียงโจมตี มุ่งหมายเอาชนะ ผลก็คือ ต่างผลักกันและกันให้ออกห่างมากขึ้นทีละนิด ๆ จนกลายเป็นสุดโต่งทั้งสองฝ่าย เช่น ฝ่ายหนึ่งเชิดชูประชาธิปไตยเต็มที่ ขอให้มาจากการเลือกตั้งแล้วกัน จะมีคุณธรรมหรือไม่ ก็ไม่เป็นไร ซ้ำยังดูถูกดูแคลนคุณธรรมด้วยซ้ำ อีกฝ่ายก็ปฏิเสธประชาธิปไตยไปเลย เห็นว่าเปิดทางให้คนชั่วมากินบ้านกินเมือง ดังนั้นจะเป็นระบอบอะไรก็ได้ เป็นใครก็ได้ ขอให้มีคุณธรรมก็พอแล้ว ในทำนองเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งก็ปฏิเสธความเป็นไทยไปเลยเพราะเห็นว่าล้าหลังคับแคบ ขณะที่อีกฝ่ายเชิดชูความเป็นไทยเต็มที่ หากจะต้องจำกัดเสรีภาพทางความคิดความเห็น เพื่อรักษาความเป็นไทย ก็ยินดีสนับสนุน
ภาวะสุดโต่งดังกล่าวเข้มข้นรุนแรงมากขึ้นเมื่อแต่ละฝ่ายมีสื่อของตัว ซึ่งมีมากมายหลายช่องทาง จึงรับข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นจากสื่อของตัวเท่านั้น สื่อเหล่านี้เป็นสื่อเลือกข้างที่ให้ข้อมูลและความคิดเห็นแต่ด้านเดียว ดังนั้นเมื่อเสพสื่อเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อของตนให้ฝังลึกหนักแน่นขึ้นจนสำคัญมั่นหมายว่าเป็นความจริงแท้ เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “โฆษณาฝังหัวตัวเอง” (auto propaganda) อะไรที่แตกต่างจากที่ตนเชื่อหรือรับรู้มา ก็จะถูกปฏิเสธไปทันที ยิ่งปัจจุบันมีสื่อสังคมทางอินเทอร์เน็ต ที่เปิดโอกาสให้แต่ละคนคบหากับคนมีความคิดเหมือนกัน คอเดียวกัน ความสุดโต่งจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยแทบไม่มีการตั้งคำถาม
ความสุดโต่งทางความคิดนั้นไม่เป็นผลดีแก่ใคร โดยเฉพาะกับตนเอง มันทำให้เราปฏิเสธสิ่งดี ๆ ของคนอื่นที่อยู่คนละฝ่ายกับเรา เช่น ปฏิเสธประชาธิปไตย หรือคุณธรรม เพียงเพราะมันเป็นคุณค่าที่ฝ่ายตรงข้ามเชิดชู ทั้ง ๆ ที่เป็นคุณค่าสำคัญทั้งคู่ และอาจเป็นคุณค่าที่เราเคยยึดถือมาก่อน มันทำให้ฝ่ายหนึ่งปฏิเสธของเดิมอย่างสิ้นเชิง ขณะที่อีกฝ่ายไม่เห็นว่าของใหม่มีอะไรดีแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่ของเดิมที่ดีก็มีไม่น้อย ของใหม่ที่เป็นประโยชน์ ก็มีมาก
ความสุดโต่งยังปิดใจของเราไม่ให้เปิดรับความจริงหรือความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความคิดความเชื่อของเรา ทำให้เราคับแคบและหลงทางได้ง่าย ใช่แต่เท่านั้นความสุดโต่งยังเปิดช่องให้ความโกรธเกลียดครอบงำจิตใจเราได้ง่าย ใครที่คิดต่างจากเราก็จะทนเขาไม่ได้และมองเห็นเป็นคนละฝ่ายกับเรา จนเกิดความรู้สึกเกลียดชัง จากนั้นความโกรธก็ตามมาได้ง่าย ขณะที่บางคนอาจเริ่มต้นจากความรู้สึกโกรธเมื่อพบว่าคนใกล้ชิดคิดต่างจากตน ยิ่งคิดต่างกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งโกรธจนกลายเป็นเกลียด ถึงกับตัดญาติขาดมิตรไปเลย
โกรธ เกลียด และ กลัว
เมื่อโกรธเกลียดกันแล้ว ความกลัวและความหวาดระแวงก็ตามมา คือกลัวว่าอีกฝ่ายจะคุกคามบั่นทอนสิ่งที่ตนรักและหวงแหน เช่น ฝ่ายเสื้อเหลืองก็กลัวว่าสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังถูกคุกคาม ส่วนฝ่ายเสื้อแดงก็กลัวว่าประชาธิปไตยจะถูกโค่นล้มหรือตัดตอน ความกลัวทำให้หวาดระแวงและจ้องจับผิด จนกลายเป็นว่าถ้าถ้าไม่สนับสนุนรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา ก็แสดงว่าเป็นพวกที่ไม่หวังดีต่อประชาธิปไตย หรือถ้าไม่แสดงความจงรักภักดีสถาบันกษัตริย์ให้เห็นเป็นรูปธรรม ก็แสดงว่าเป็นพวกล้มเจ้า
บางคนไปไกลกว่านั้น คือถ้าใครเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ก็น่าสงสัยว่าต้องการทำอะไรกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ดังเมื่อเร็ว ๆ นี้ อาตมาได้แสดงความเห็นกรณีที่มีข่าวพระพฤติกรรมผิดพระธรรมวินัยจนเป็นเรื่องอื้อฉาวซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาตมาเสนอว่าควรมีการปฏิรูปโครงสร้างคณะสงฆ์ หลังจากนั้นก็มีมิตรทาง Facebook ผู้หนึ่ง ซึ่งอาตมาไม่ได้รู้จักเป็นส่วนตัว แต่ทราบว่าทำงานในมหาวิทยาลัย เขียนมาถามเชิงทักท้วงว่า อาตมามักพูดเรื่องการปรับโครงสร้างเสมอ เช่น เวลาพูดถึงปัญหาความยากจน ก็พูดว่ามีสาเหตุมาจากโครงสร้าง เวลาพูดถึงคณะสงฆ์ ก็บอกว่าต้องปรับโครงสร้าง “แต่ผมยังไม่เคยได้ยินชัด ๆ สักทีว่า โครงสร้างที่ว่านั้นคืออะไร และจะปรับอย่างไร คำว่า “โครงสร้าง” ของอาจารย์หมายถึงระบบสถาบันพระมหากษัตริย์รึเปล่าครับ”
คำถามดังกล่าวบ่งบอกถึงความหวาดระแวงของผู้ถามที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง คือถ้าใครพูดเรื่องนี้บ่อย ๆ ก็ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าต้องการทำอะไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้องเป็นเรื่องไม่ดีแน่ ๆ ทั้ง ๆที่คำสัมภาษณ์ของอาตมาก็ไม่ได้มีอะไรที่พูดพาดพิงถึงสถาบันนี้เลย มีแต่ข้อเสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างการปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์ ใช่แต่เท่านั้น มิตรผู้นั้นยังถามว่า “อาจารย์เป็น Marxism เกินไปหรือเปล่า ?” อาตมาก็ได้แต่อธิบายไปว่าไม่ได้มีแต่มาร์กซิสม์เท่านั้นที่มองปัญหาในเชิงระบบหรือโครงสร้าง แนวคิดอื่น ๆ เช่น systems thinking หรือ holistic ก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน ยังไม่ต้องพูดถึงแนวคิดกระแสอื่น เช่น เสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ที่ใช้คำว่า “ปรับโครงสร้าง”อย่างเป็นเรื่องธรรมดา เช่น ปรับโครงสร้างภาษี ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงไม่ควรเข้าใจว่า “ปรับโครงสร้าง”เป็นศัพท์แสงของ Marxism เท่านั้น
กรณีข้างต้นเป็นตัวอย่างที่บ่งชี้เป็นอย่างดีถึงความหวาดระแวงต่อการเปลี่ยนแปลง ใครที่เสนอเรื่องความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง จะถูกตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่ามีความมุ่งหมายที่จะแตะต้องล่วงเกเนสิ่งที่ตนหวงแหนหรือไม่ คนที่มีความรู้สึกเช่นนี้คงมิได้มีแต่มิตรผู้นี้ แต่คงมีจำนวนไม่น้อยทีเดียว ความหวาดระแวงดังกล่าวคงไม่ได้มีเฉพาะฝ่ายเดียว แต่คงมีกับอีกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งด้วย เพราะในความขัดแย้งที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่ละฝ่ายมักเป็นกระจกสะท้อนตัวตนของอีกฝ่ายเสมอ
ความกลัวนั้นทำให้มองเห็นโลกอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ง่าย เห็นแต่ด้านลบของอีกฝ่าย จนมองไม่เห็นด้านดีหรือสิ่งที่น่าไว้วางใจเลย ความกลัวนั้นเกิดจากความรู้สึกถูกคุกคาม จึงมีความไม่มั่นคงภายในคคทำให้ต้องการ “พวก”ที่เห็นพ้องต้องกัน มากกว่า “เพื่อน”ที่เห็นต่างกัน ความกลัวจึงเรียกร้องความภักดีและความสามัคคีสูงมาก ใครที่ทำอะไรผิดหูผิดตาอาจถูกผลักให้เป็นอีกฝ่ายได้ง่าย ความกลัวยังทำให้หลงเชื่อข่าวลือได้ง่าย เพราะมีความหวาดระแวงเป็นพื้นอยู่แล้ว อีกทั้งต้องการสิ่งที่ยืนยันสนับสนุนความเชื่อเดิมของตน วิจารณญาณที่เสียไปยังทำให้การทักท้วงหรือวิจารณ์ตนเอง เกิดขึ้นได้ยากเพราะกลัวจะรู้สึกไม่มั่นคงยิ่งกว่าเดิม
ความโกรธและความเกลียด เป็นตัวบ่มเพาะความกลัว ในอีกด้านหนึ่งความกลัวก็ทำให้ความโกรธและความเกลียดเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะเห็นแต่ด้านลบและหวาดระแวงเจตนาร้ายของอีกฝ่าย ขณะเดียวกันเมื่อมีท่าทีเป็นลบ ก็ง่ายที่จะกระตุ้นความโกรธ ความเกลียด และความกลัวของอีกฝ่ายให้เพิ่มพูนขึ้น ผลก็คือ ต่างหล่อเลี้ยงความรู้สึกลบของอีกฝ่าย และติดอยู่ในวัฏจักรแห่งความโกรธ ความเกลียด และความกลัวแน่นหนาขึ้น ยากจะถอนตัวออกมาได้
ยอมรับความแตกต่าง
ท่านทั้งหลายคงเห็นด้วยกับอาตมาว่า ทุกวันนี้ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ได้แพร่ระบาดไปทั่ว และส่งผลต่อมุมมอง การรับรู้ และความสัมพันธ์กับผู้คน ทำให้เกิดการผลักไสต่อต้านจนแบ่งข้างแยกขั้วรุนแรงขึ้น ถึงกับอยากใช้ความรุนแรงกับอีกฝ่าย หรือยินดีลิงโลดที่เห็นอีกฝ่ายมีอันเป็นไป ดังมีตัวอย่างเกิดขึ้นมากมาย ท่าทีเช่นนี้ย่อมไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธ อย่าว่าแต่การทำร้ายด้วยกายและวาจาเลย แม้แต่การคิดร้ายต่อผู้ที่ทำร้ายเรา ก็ไม่พึงกระทำ ความข้อนี้พระพุทธองค์ได้ตรัสเตือนพวกเราว่า “ถ้ามีใครประหารเธอด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ด้วยท่อนไม้ หรือด้วยศาสตรา….เธอพึงทำความสำเหนียกอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่วิปริต เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ เราจักคงเป็นผู้มีความเอ็นดูเกื้อกูล มีเมตตาจิต ไม่มีโทษอยู่ในภายใน” ในอีกที่หนึ่งถึงกับตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย หากพวกโจรผู้ประพฤติต่ำทราม จะพึงใช้เลื่อยที่มีที่จับสองข้างเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีจิตคิดร้ายแม้ในโจรพวกนั้น ก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา” (กกจูปมสูตร มัชฌิมนิกาย)
คำสอนดังกล่าวของพระพุทธองค์ แม้เป็นเรื่องยาก แต่เราชาวพุทธควรถือเป็นอุดมคติของชีวิต เสมือนดาวเหนือที่บอกทิศทางให้แก่การเดินทางของเรา จะว่าไปแล้วทุกวันนี้หากยกเว้นผู้ที่สูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อในเหตุการณ์ชุมนุมปี ๕๒ และ ๕๓ แล้ว จะมีกี่คนที่ถูกทำร้ายด้วยก้อนหิน ท่อนไม้ หรือศาสตรา อันเนื่องจากความขัดแย้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่สาเหตุที่หลายคนมี “จิตคิดร้าย” หรือมีความโกรธเกลียด มักเป็นเพราะความแตกต่างทางความคิดยิ่งกว่าอะไรอื่น ไม่ว่าความเห็นต่างในเรื่องผู้นำที่พึงประสงค์ เรื่องประชาธิปไตย เรื่องสถาบันกษัตริย์ เรื่องความเป็นไทย รวมทั้งเรื่องศีลธรรมและศาสนา เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้คนยึดถือเป็นคุณค่าที่สำคัญอย่างมาก ชนิดที่อาจสำคัญยิ่งกว่าชีวิตก็ได้
เป็นธรรมดาที่เราแต่ละคนย่อมให้ความสำคัญแก่คุณค่าแต่ละอย่างแตกต่างกัน เพราะยุคนี้เป็นยุคที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย หลากหลายแตกต่างทั้งในแง่วิถีชีวิต ทัศนคติ มุมมองและผลประโยชน์ เป็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นไม่จำเพาะระหว่างคนที่มีฐานะหรือเศรษฐกิจต่างกันเท่านั้น แม้คนที่มีฐานะหรือเศรษฐกิจเหมือนกัน ก็ยังมีแง่รสนิยม การดำเนินชีวิต และมุมมองที่ต่างกัน ยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เกิดขึ้นในระยะหลัง เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมดังได้กล่าวมาข้างต้น ก็ยิ่งทำให้ความหลากหลายแตกต่างเพิ่มทวีขึ้น คุณค่าบางอย่างที่เราเห็นว่าสำคัญอย่างแน่แท้ เป็นอื่นไปไม่ได้ แต่คนอื่นกลับไม่เห็นเช่นนั้น กลับชื่นชมยึดถือสิ่งที่เราเห็นว่าไร้คุณค่า ไม่น่ายึดถือเลย กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ เห็นเป็นเรื่องผิดเพี้ยนหรือวิปริตไป ถึงกับทับถมดูถูกกัน
ความหลากหลายแตกต่างดังกล่าว คือความจริงอย่างหนึ่งของโลกทุกวันนี้ที่เราควรเปิดใจยอมรับ เช่นเดียวกับที่ต้องยอมรับว่าความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพรากและความตายเป็นความจริงของชีวิตที่เราหนีไม่พ้น หากเราปฏิเสธความจริงแห่งชีวิตดังกล่าว เราก็จะถูกความจริงนั้นตามล่าหลอกหลอนจนหาความสุขได้ยาก ฉันใดก็ฉันนั้น ความจริงของโลก ก็เป็นอีกสิงหนึ่งที่เราต้องเปิดใจยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ไม่ใช่ปฏิเสธผลักไสต่อต้านมัน อย่างไรก็ตามการยอมรับความหลากหลายหรือความเห็นต่างของผู้อื่น จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเราวางใจอย่างถูกต้องต่อคุณค่าหรือความคิดที่เรายึดถือด้วย ถ้าหากเรายึดติดถือมั่นมากเกินไป เห็นว่าเป็นความจริงแท้ เราย่อมอดไม่ได้ที่จะดูถูกคนที่ไม่ได้ยึดถือหรือคิดเหมือนเรา ใช่แต่เท่านั้นเมื่อใดที่เราเห็นเขาไม่เคารพสิ่งที่ยึดถือเทิดทูน เราก็จะรู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบ หรือรู้สึกถูกละเมิดลบหลู่ จึงง่ายที่จะเกิดความรู้สึกโกรธเกลียดคนผู้นั้น ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้พูดร้ายหรือจ้วงจาบสิ่งที่เราเคารพเลย ดังที่ชาวพุทธหลายคนอาจจะเคยรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นเพื่อนชาวคริสต์หรือมุสลิมไม่กราบไหว้พระพุทธรูป ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้แสดงอาการดูหมิ่นเหยียดหยามเลย แต่แค่เขาไม่กราบไหว้นอบน้อมเหมือนเรา ก็ทำให้เราขุ่นเคืองใจ หรือรู้สึกถูกละเมิดเสียแล้ว
อาการเช่นนั้นเกิดจากอะไร หากไม่ใช่เป็นเพราะเราเอาอัตตาไปผูกติดกับสิ่งเหล่านั้น หรือพูดอีกอย่างคือ ยึดติดถือมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นอัตตาหรือตัวตนของเรา เมื่อคนอื่นไม่แสดงอาการเคารพเชิดชูสิ่งนั้น เราจึงรู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบ จึงเกิดความทุกข์ ตามมาด้วยความไม่พอใจ ซึ่งหากไม่มีสติรู้ทัน ก็สามารถลุกลามเป็นความโกรธและเกลียด และอาจส่งผลให้มีการกล่าวร้ายหรือทำร้ายกัน
ทำผิดในสิ่งที่ถูก
สิ่งที่ดี มีคุณค่า หากเรายึดติดถือมั่น ก็อาจส่งผลร้ายได้ ดังหลวงพ่อเฟื่อง โชติโก อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต จ.ระยอง ได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้ มันก็ผิด” ตัวอย่างเช่น คนที่ทำความดีแล้วยึดติดในความดีนั้น ง่ายมากที่จะเกิดความหลงตนว่าดีกว่าคนอื่น เกิดอาการยกตนข่มท่าน และ ชอบเอาความดีของตนไปตัดสินผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่เห็นคนอื่นไม่ดีเหมือนตน หรือไม่ดีเหมือนที่ตนคิด ก็จะไม่พอใจเขา เห็นเขาเป็นลบทันที คนดีที่ยึดติดความดีของตน จึงกลายเป็นคนที่น่าระอา ไม่น่าคบ หรือเบียดเบียนคนอื่นได้ง่าย ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องราวของการทำร้ายผู้อื่นในนามของคุณธรรมความดี ยิ่งมีการตีตราหรือแขวนป้ายใครว่า เป็นคนเลว ประพฤติผิดศีลธรรม ด้วยแล้ว ผู้คนก็รู้สึกว่ามีความชอบธรรมที่จะกำจัดเขา หรือใช้วิธีการใด ๆ กับเขาก็ได้ แม้จะเป็นวิธีการที่ฉ้อฉล ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องความดี การยึดติดความดี จึงสามารถผลักให้ “คนดี” ทำชั่วได้ง่ายมากในนามของความดี ซึ่งแท้จริงก็คือการทำชั่วเพื่อสนองอัตตาของตนมากกว่า ซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ ภิกษุชาวภูฐาน กล่าวเตือนใจได้ดีว่า “ศีลธรรมคืออาหารของอัตตา ทำให้เรากลายเป็นพวกเคร่งศาสนา และตัดสินผู้อื่นซึ่งมีศีลธรรมแตกต่างจากเรา การยึดมั่นในศีลธรรมในแบบฉบับของตนทำให้เราดูถูกผู้อื่น และพยายามจะยัดเยียดศีลธรรมของตนแก่เขาเหล่านั้น แม้มันจะหมายถึงการฉกฉวยเสรีภาพไปจากเขาก็ตาม”6
ความดีที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ไม่จำต้องเป็นความดีตามหลักศาสนาก็ได้ แม้แต่ความดีตามมาตรฐานของอุดมการณ์ทางโลก ไม่ว่า ชาตินิยม ประชาธิปไตย หรือคอมมิวนิสต์ หากยึดติดถือมั่นก็สามารถผลักดันหรือสนับสนุนให้เราทำสิ่งเลวร้ายได้ ช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน ผู้คนจำนวนไม่น้อยถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติ เพียงเพราะเห็นต่างจากเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ บางคนก็ถูกจับเพียงเพราะทำกระดุมรูปประธานเหมาตกพื้น หรือเผลอใช้ถ้อยคำไม่สุภาพเมื่อพูดถึงประธานเหมา คนเหล่านี้กลายเป็นคนเลวของรัฐไปทันที และดังนั้น “คนดี”จึงสามารถทำอะไรกับเขาก็ได้ เช่น รุมซ้อมทุบตีเขาก็ได้ เจียงชิง ภรรยาของประธานเหมา กล่าวสนับสนุนการกระทำดังกล่าวว่า “เมื่อคนดีทุบตีคนเลว นั่นเป็นสิ่งที่คนเลวสมควรได้รับ” ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงเวลานั้นก็พูดให้ท้ายเช่นกันว่า “หากพวกเขาทุบตีผู้คนด้วยความโกรธจนตาย ก็ต้องปล่อยไปตามนั้น ถ้าเราบอกว่า ทำอย่างนั้นผิด ก็เท่ากับสนับสนุนคนเลว ถึงอย่างไร คนเลวก็เลววันยังค่ำ ถ้าเขาถูกตีจนตาย ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่”7
ในทำนองเดียวกัน ถ้ายึดติดถือมั่นในประชาธิปไตยเสียแล้ว ใครที่ไม่เชื่อมั่นในระบอบนี้ ก็อาจถูกตราหน้าได้ง่าย ๆ ว่าเป็นคนเลว ดังนั้นหากจะปิดปาก พรากเสรีภาพ หรือทำร้ายเขาก็ได้ในนามของประชาธิปไตย กลายเป็นว่ายิ่งยึดติดในประชาธิปไตยมากเท่าไร ก็ง่ายที่จะทำสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากเท่านั้น
กล่าวโดยสรุป เมื่อสำคัญตนว่าเป็นคนดีเสียแล้ว จะทำอย่างไรกับคนเลวก็ได้ พูดอีกนัยหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่ตัดสินว่าใครเป็นคนเลว นั่นคือการออกใบอนุญาตให้คนดีมีสิทธิทำอย่างไรกับเขาก็ได้ คนเลวคนผิดจึงมีสิทธิเป็นศูนย์เมื่ออยู่ในมือของคนดี นี้เป็นสิ่งที่เราชาวพุทธพึงตระหนักเอาไว้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเมื่อจะตัดสินใครว่าเป็นคนเลว คนไม่ดี โดยใช้มาตรฐานทางศีลธรรมของตน เพราะนั่นอาจเปิดช่องให้กิเลสหรือทิฐิมานะครอบงำได้ง่าย กลายเป็นว่าแทนที่จะปกป้องความดี กลับส่งเสริมความชั่วแทน
เส้นแบ่งดี-ชั่วที่รางเลือน
การตัดสินว่าใครเป็นคนเลวนั้น มักจะเริ่มต้นจากการแบ่งเขาแบ่งเรา แล้วตีตราแขวนป้ายให้เขา เช่น ทีแรกก็เป็น “แดง” เป็น “เหลือง” จากนั้นก็มีสมญานามอื่น ๆ ตามมาจนสุดท้าย กลายเป็น “ควายแดง” กับ “แมลงสาบ” หรือ “ทุนนิยมสามานย์”กับ “ศักดินาล้าหลัง” ตราหรือเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ถ้อยคำที่ใช้แสดงความดูถูกเหยียดหยามอีกฝ่ายเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อทัศนคติของผู้เรียก ทำให้เห็นแต่ด้านที่เลวร้ายของเขา หรือหลงติดอยู่กับภาพที่ตนเองสร้างขึ้น จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา ถึงตรงนั้นแล้วก็ไม่ยากที่จะทำอะไรกับเขาก็ได้ แม้จะใช้วิธีการที่เลวร้าย ก็ไม่รู้สึกผิด เพราะ “มันเลว จึงไม่สมควรที่จะทำดีกับมัน” หรือเพราะว่า “มันไม่ใช่มนุษย์แล้ว” เป็นเพราะคนเยอรมันเห็นว่าคนยิวนั้น คือ “เชื้อโรค” “ไวรัส” หรือ “อสูร” หรือ “เดนมนุษย์” การล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจึงเกิดขึ้นได้ ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทหารอเมริกันเปรียบทหารอิรักว่าเป็น “แมลงสาบ” ขณะเดียวกันก็เรียกการสังหารทหารอิรักที่ล่าถอยว่า “การยิงไก่งวง” ถ้อยคำเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ช่วยให้การสังหารเพื่อนมนุษย์ทำได้ง่ายขึ้นโดยไม่รู้สึกขัดกับมโนธรรมสำนึกของตน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ ชื่อ” (นามสูตร เทวตาสังยุตต์ สังยุตตนิกาย) ท่านที่ศึกษาธรรมย่อมตระหนักดีว่า ชื่อที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ นั้น แม้เป็นสมมุติ แต่ก็สามารถลวงให้เราเชื่อว่า มีตัวตนตามชื่อนั้น หรือมีตัวตนชื่อนั้นจริง ๆ ชื่อหรือสมมุติทำให้เรามองไม่เห็นธรรมชาติแท้จริงของสิ่งต่าง ๆ ที่ไร้ตัวตน ในทำนองเดียวกันเมื่อเราตีตราแขวนป้ายให้แก่คนใดหรือคนกลุ่มใดก็ตาม เราก็มีแนวโน้มที่จะถูกตราหรือป้ายนั้นครอบงำใจ คือเห็นเขาตามชื่อเรียกนั้น จนมองไม่เห็นว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน และสมควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์เช่นเดียวกับเรา
อันที่จริง อย่าว่าแต่การตีตราว่าเป็น “ควายแดง” หรือ “แมลงสาป”เลย เพียงแค่ตีตราใครก็ตามว่า “ไม่ใช่คนไทย” ก็สามารถปลุกเร้าให้ผู้คนเกลียดชังเขา หรือรู้สึกชอบธรรมที่จะออกปากขับไล่เขาออกไปจากประเทศไทยได้ ทั้ง ๆ ที่เขาเกิดในแผ่นดินไทย และไม่ได้ทำอะไรนอกจากพูดหรือคิดต่างจากคนอื่นเท่านั้น ทุกวันนี้ความโกรธเกลียดโหมกระพือจนนำไปสู่ความรุนแรงและการแบ่งขั้วอย่างยากจะประสาน ส่วนหนึ่งก็เพราะต่างฝ่ายต่างตีตราแขวนป้ายให้แก่กันและกันไปทั่ว ดังนั้นถ้าหากเราไม่ต้องการให้บ้านเมืองแตกแยกไปกว่านี้ เราจึงควรระวังในการตีตราแขวนป้ายให้แก่ใครก็ตามที่เห็นต่างจากเรา รวมทั้งไม่ด่วนตัดสินว่าคนนี้เลวเพราะอยู่คนละฝ่ายกับเรา เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่เพียงอีกฝ่ายมีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเราเท่านั้น เขาก็มีทั้งความดีและความเลวปะปนกันเช่นเดียวกับเรา ประเด็นนี้ โซลเชนิตซิน นักเขียนรางวัลโนเบลชาวรัสเซีย ซึ่งผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายในสมัยสตาลิน ให้ข้อคิดแก่เราว่า
“มันจะง่ายดายสักเพียงใด ถ้าเพียงแต่ว่าคนชั่วร้ายอยู่ที่ไหนสักแห่งและคอยทำแต่สิ่งชั่วร้าย เราก็แค่แยกคนพวกนั้นออกจากเราแล้วก็ทำลายเขาเสีย เท่านั้นก็จบกัน แต่เส้นแบ่งความดีและความชั่วนั้นผ่าลงไปในใจของมนุษย์ทุกคน ใครเล่าที่อยากจะทำลายส่วนเสี้ยวในใจของตน?”
เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ผู้คนมักมองออกไปนอกตัว เพ่งโทษผู้อื่นว่าเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาและสร้างความทุกข์แก่เรา น้อยคนที่จะหันกลับมามองตน และตระหนักว่า ตนเองก็มีส่วนที่สร้างปัญหาและก่อความทุกข์แก่ผู้อื่น ไม่ใช่เขาเท่านั้นที่เบียดเบียนเรา เราเองก็มีส่วนเบียดเบียนเขาด้วย ไม่ใช่เขาเท่านั้นที่เป็นผู้กระทำ หากยังเป็นผู้ถูกกระทำจากเราด้วย ถึงที่สุดแล้ว ทุกคน ทั้งเราและเขา ล้วนเป็นผู้กระทำและถูกกระทำในเวลาเดียวกัน
เส้นแบ่งระหว่างคนดีกับคนชั่ว ระหว่างผู้กระทำกับผู้กระทำในยามที่เกิดความขัดแย้งจนวิวาทบาดหมางกันนั้น มักจะเลือนรางมากจนอาจไม่มีเลยก็ได้ เพราะทุกคนเป็นทั้งคนดีและคนชั่ว เป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในเวลาเดียวกัน ขณะที่เรารู้สึกว่ามีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้ที่เขาทำกับเรา เขาก็รู้สึกว่าตนมีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้ที่เราทำกับเขา ขณะที่เรามองว่าการกระทำของเราเป็นการโต้กลับหรือปกป้องตัวเอง แต่อีกฝ่ายกลับมองว่าการกระทำของเราเป็นการรุกราน แต่สุดท้ายแล้ว ทุกฝ่ายก็ล้วนเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน
ความขัดแย้งจะไม่สิ้นสุดหากต่างฝ่ายต่างมองแบบแบ่งข้างแยกขั้ว ว่า “ฉันดี แกเลว” “ฉันถูก แกผิด” การมองเป็นขาวเป็นดำเช่นนี้ มีแต่จะทำให้เกิดการจองเวรไม่หยุดหย่อน แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายหันมาตระหนักว่า ความจริงไม่ได้แบ่งเป็นขาวและดำชัดเจนอย่างนั้น เราก็มีส่วนผิด และเขาก็มีส่วนถูก ความโกรธเกลียดและกลัว ก็จะลดลง และหันหน้าเขาหากันได้ง่ายขึ้น แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องคลายความยึดติดถือมั่นในความคิดความเชื่อหรือความดีของตน เพราะหากยังยึดติดถือมั่นอย่างเหนียวแน่น ก็จะยอมรับความเห็นต่างได้ยาก และจะรู้สึกขุ่นเคืองใจเพราะตัวตนถูกกระทบ เมื่อพานพบหรือรับรู้ว่ามีคนที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับความคิดความเชื่อของเราหรือสิ่งที่เรายกย่องเทิดทูน
สร้างเงื่อนไขทางสังคมลดความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตามถึงแม้ทุกฝ่ายจะหันหน้าเข้าหากันได้ ก็ไม่ควรคาดหวังว่าความขัดแย้งทั้งมวลจะยุติ ความขัดแย้งไม่เคยยุติไปจากโลกนี้ เช่นเดียวกับที่ความทุกข์เป็นธรรมดาของชีวิต ยิ่งเมืองไทยยุคนี้แล้ว ความขัดแย้งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะนับวันความหลากหลายทั้งรูปธรรมและนามธรรมมีแต่จะเพิ่มขึ้น เฉพาะความแตกตัวออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามวิชาชีพ การใช้ชีวิต และรสนิยม ก็มีมากมายอันเป็นธรรมดาของโลกาภิวัตน์ ความหลากหลายแตกต่างดังกล่าวย่อมนำมาสู่ความขัดแย้งทางความคิดและผลประโยชน์ ดังนั้นการคาดหวังว่าจะไม่มีความขัดแย้งเลยนั้น จึงเป็นความคิดที่สวนทางกับความเป็นจริง
เราชาวพุทธย่อมตระหนักดีว่า ทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่เราหนีไม่พ้น ไม่ว่าจะป้องกันอย่างไร ก็มีทุกข์บางอย่างที่เราต้องประสบอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว เช่น ความเจ็บป่วย ความพลัดพราก และความตาย ดังนั้นในด้านหนึ่งเราควรรู้จักบรรเทาทุกข์ อีกด้านหนึ่งก็ควรวางใจให้ถูกต้องเพื่อรับมือกับความทุกข์ รวมทั้งใช้ทุกข์ให้เป็นประโยชน์ ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อพูดถึงความขัดแย้ง สิ่งที่เราควรใส่ใจก็ คือ จะอยู่กับความขัดแย้งอย่างไร ไม่ว่าจะป้องกันอย่างไร ก็ไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้ แต่เราสามารถบรรเทาผลกระทบให้เกิดน้อยที่สุด หรือจัดการกับความขัดแย้งนั้นให้เป็นไปในทางที่เกิดประโยชน์ พร้อมกันนั้นก็ควรรู้จักปรับตัวปรับใจเพื่อรับมือกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น กับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดกับเมืองไทยก็เช่นกัน เราไม่อาจหยุดมันได้ก็จริง แต่เราสามารถจัดการมันให้เกิดประโยชน์หรือส่งผลเสียไม่มาก ขณะเดียวกันก็ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้โดยไม่ทุกข์ โดยตระหนักว่าไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ไม่สามารถยึดให้อยู่กับที่ได้ “คุณหยุดคลื่นไม่ได้ แต่คุณเรียนรู้วิธีเล่นคลื่นได้” คำกล่าวของจอน คาบาต-ซินห์ นั้นให้ข้อคิดเตือนใจที่ดีมาก
การจัดการกับความขัดแย้ง แก้ไม่ได้ด้วยการหันหน้าเข้าหากันเท่านั้น นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้น อย่างน้อยการคลายความหวาดระแวงต่อกัน เคารพซึ่งกันและกัน มองเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันก็ช่วยให้เราฟังกันมากขึ้น เข้าใจจุดยืนของอีกฝ่าย และยอมรับความแตกต่างกันได้ง่ายขึ้น แต่ความขัดแย้งจะไม่ลดลงมากนัก เพียงแต่ช่วยไม่ให้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นความรุนแรง การจัดการกับความขัดแย้ง ไม่ว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบ หรือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์ นั้นต้องอาศัยการกระทำที่มากกว่านั้น ได้แก่การร่วมกันสร้างเหตุปัจจัยทางสังคมที่ช่วยลดความขัดแย้งหรือลดความขุ่นข้องหมองใจที่มีต่อกัน ที่สำคัญก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคม อาทิความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งนับวันจะรุนแรงมากขึ้น การวิจัยในหลายที่ยืนยันว่า ประเทศที่มีความแตกต่างทางรายได้สูงมาก จะมีความรู้สึกลบต่อกันสูงมาก8
นอกจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แล้ว ยังมีความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม หรือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า คนรวยนั้นมีอภิสิทธิ์เหนือกฎหมาย หากเป็นผู้ต้องหา ก็สามารถใช้เงินและเส้นสายจนหลุดคดี ในขณะที่คนจนต้องกลายเป็นแพะรับบาปอยู่เนือง ๆ ยิ่งเป็นคนที่ต่อสู้ขัดขวางผลประโยชน์ของนายทุนด้วยแล้ว มักตายโดยจับผู้บงการไม่ได้ ทั้งหมดนี้ยังทับซ้อนด้วยความเหลื่อมล้ำทางอำนาจโดยเฉพาะระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดการเบียดบังทรัพยากรและการเอารัดเอาเปรียบในชนบท ยังไม่ต้องพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ซึ่งระยะหลังถือเป็นเรื่องใหญ่ จนคนเสื้อแดงต้องลุกขึ้นมาเประท้วงต่อต้าน“สองมาตรฐาน” ที่มีต่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองของตน
เหล่านี้เป็นเงื่อนไขทางสังคมที่สามารถส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายได้ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ในคำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท พระพุทธองค์ได้ทรงชี้ให้เห็นถึงปัจจยการทางสังคม ที่ส่งผลเป็นทอด ๆ ดังทรงยกตัวอย่างว่า เมื่อไม่มีการจัดสรรปันทรัพย์ให้แก่เหล่าชนผู้ไร้ทรัพย์ ย่อมเกิดความยากจนระบาดทั่ว ผลคืออทินนาทานระบาดทั่ว ทำให้ปาณาติบาดระบาดทั่ว มุสาวาทระบาดทั่ว ในที่สุดผู้คนก็เกิด อภิชฌาพยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ
คำสอนดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจนั้น สามารถส่งผลต่อพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของผู้คน และลงลึกไปถึงภาวะอารมณ์หรือจิตสำนึกของผู้คน นั่นคือปัจจัยภายนอกสามารถมีอิทธิพลต่อปัจจัยภายในได้ด้วย ไม่ใช่ว่าปัจจัยภายในจะส่งผลต่อปัจจัยภายนอก เพียงทิศทางเดียวเท่านั้น (ดังที่ชาวพุทธมักมองว่า ถ้าคนดี สังคมก็ดีด้วย แต่ไม่ค่อยได้ตระหนักว่า ถ้าสังคมไม่ดี คนก็ไม่ดีตามไปด้วย)
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะมองในแง่ของการสร้างความสงบสุขในสังคม หรือการส่งเสริมศีลธรรมและจิตสำนึกของผู้คน จำเป็นอย่างมากที่จะต้องลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมขึ้นมาในสังคม ไม่ว่าด้วยการกระจายโภคทรัพย์ให้แก่ผู้คนอย่างทั่วถึง เสริมสร้างสวัสดิการทางสังคมเพื่อสงเคราะห์คนยากไร้ และเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ของรัฐ เช่น การศึกษา สาธารณสุข เงินทุน และข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น เพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างเต็มที่และสอดคล้องกับความต้องการของคนในท้องถิ่น
ที่พูดมานี้เป็นเพียงตัวอย่างของการสร้างเงื่อนไขทางสังคม ซึ่งไม่เพียงช่วยลดความขัดแย้งในบ้านเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพและปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของผู้คน เพื่อความเจริญก้าวหน้าและผาสุกของส่วนรวม เงื่อนไขเหล่านี้มีอะไรบ้าง อาตมาไม่มีความสามารถที่จะนำเสนอได้อย่างครบถ้วน ขอมอบให้เป็นหน้าที่ของผู้รู้
ประชาธิปไตยส่งเสริมคุณธรรม
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่อาตมาคิดว่ามีความสำคัญอย่างมากในการลดความขัดแย้งในบ้านเมืองก็คือ กระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงการให้โอกาสแก่ทุกคนทุกฝ่ายในการแสดงความคิดเห็นรวมทั้งเจรจาต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน แน่นอน การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยที่ขาดไม่ได้ แต่ประชาธิปไตยไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเลือกตั้งเท่านั้น การมีสื่อเสรี ที่ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงและใช้เป็นปากเสียงของตนได้ก็ดี การมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มและดำเนินกิจกรรมก็ดี การมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ดี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกันก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ซึ่งโดยสาระสำคัญ ก็คือการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่ทุกคนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
เวลาพูดถึงประชาธิปไตยในแง่นี้ บางคนอาจรู้สึกอึดอัดใจเพราะมีคำว่า “การเมือง” และ “ความเท่าเทียมกัน” หรือ “ความเสมอภาค” การเมืองให้ความรู้สึกลบแก่หลายคนเป็นเพราะมันมีนัยยะถึงการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องกิเลสหรือความเห็นแก่ตัว แต่เราก็ต้องยอมรับมิใช่หรือว่า ปุถุชนทุกคนก็ต้องมีกิเลสและความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น พุทธศาสนามิได้ปฏิเสธความจริงข้อนี้ และตระหนักว่าอำนาจและผลประโยชน์เป็นสิ่งที่ผู้คนปรารถนา ดังนั้นจึงสอนให้ผู้คนแสวงหาสิ่งเหล่านี้ด้วยวิธีการที่ถูกต้องชอบธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ขณะเดียวกันก็รู้จักใช้ในทางที่ถูกต้องชอบธรรม และสามารถฝึกใจให้เป็นอิสระจากมันได้ในที่สุด ธรรมว่าด้วยอรรถะ ๓ และกามโภคี ๑๐ เป็นตัวอย่างที่ดีของคำสอนเรื่องนี้
ในยามที่ผลประโยชน์ไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกัน จะมีวิธีการใดชอบธรรมไปกว่าการเรียกร้องหรือต่อรองด้วยกระบวนการประชาธิปไตย เพราะเป็นวิธีการที่สันติ ไม่ได้ใช้อำนาจขู่เข็ญ หรือใช้กำลัง ทุกคนทุกฝ่ายมีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน และตัดสินโดยเสียงของคนส่วนมาก ซึ่งอาจถูกโน้มน้าวด้วยอำนาจของเหตุผลและข้อเท็จจริง แม้กระทั่งการปรองดองที่ผู้คนเป็นอันคาดหวังให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อนำความสงบสุขมาสู่บ้านเมือง จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อให้ความจริงและความเจ็บปวดของทุกฝ่ายได้มีโอกาสสะท้อนออกมาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่กีดกันหรือกดเอาไว้ในนามของความสามัคคี รวมทั้งเปิดโอกาสให้แก่ความเห็นค้าน เพื่อนำไปสู่การถกเถียงอย่างเปิดเผย และเคารพซึ่งกันและกัน
อันที่จริง “การเมือง”นั้น เราจะมองว่า เป็น “การแข่งขันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์หรือบุคคลเพื่ออำนาจและความเป็นผู้นำ” ดังคำนิยามของ Webster’s Third New International Dictionary ก็ได้ แต่พจนานุกรมฉบับเดียวกัน ก็ยังให้คำนิยามอีกแง่หนึ่งว่า หมายถึง “ศิลปะของการปรับและจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนการเมือง” (The art of adjusting and ordering relationships between individuals and groups in a political community.) การเมืองในความหมายนี้มีนัยยะว่า เรามีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้นจะอยู่อย่างสงบราบรื่นได้ ก็ต้องมีการปรับและจัดระเบียบความสัมพันธ์ให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย และจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยความยึดหยุ่น รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องของศิลปะ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมากในเมืองไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้มีความจำเป็นต้องจัดระเบียบความสัมพันธ์กันใหม่ ระเบียบการเมืองหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เคยลงตัวเมื่อหลายสิบปีก่อน ไม่อาจใช้ได้ในปัจจุบัน อำนาจที่เคยรวมศูนย์อยู่ในส่วนกลาง เริ่มไม่เป็นที่ยอมรับ อำนาจการตัดสินใจที่เคยกระจุกอยู่ในมือของชนชั้นนำดั้งเดิมรวมทั้งคนชั้นกลางในเมือง ถูกตั้งคำถามมากขึ้นจากคนระดับรากหญ้าที่ตอนนี้ต้องการมีสิทธิมีเสียงมากเท่ากับคนกลุ่มอื่น ไม่ใช่ในทางทฤษฎีเท่านั้นแต่รวมถึงในทางปฏิบัติด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งเขาต้องการความเสมอภาคทางการเมือง
“ความเสมอภาค”เป็นแนวคิดที่แม้เราจะคุ้นเคย แต่เรามักจะเรียกร้องความเสมอภาคต่อเมื่อเราได้น้อยกว่าคนอื่นเพราะนั่นคือความไม่เป็นธรรม แต่เมื่อใดที่เรามีมากหรือได้มากกว่าคนอื่น เรากลับไม่รู้สึกว่าความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นแล้ว บางครั้งเรากลับไม่พอใจด้วยซ้ำเมื่อเห็นคนอื่นเรียกร้องที่จะมีหรือได้มากเท่ากับเรา ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกเป็นลบกับคนที่เรียกร้องความเสมอภาคหรือความเป็นธรรม ขอให้พิจารณาดูว่า นั่นเป็นเพราะเรามีมากกว่าเขาหรือได้เปรียบกว่าเขาอยู่แล้วหรือไม่ ถ้าใช่ ความรู้สึกลบต่อการเรียกร้องดังกล่าว เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
ความเสมอภาค หรือความเท่าเทียมกัน เป็นคุณค่าของสังคมสมัยใหม่ เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสังคมไทยทุกวันนี้ยังเป็นสังคมที่มีช่วงชั้น อีกทั้งมีความเข้าใจว่าความเสมอภาคนั้นสวนทางกับความคิดทางพุทธศาสนา อันที่จริงการที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธระบบวรรณะ เน้นว่าคนจะสูงหรือต่ำ มิใช่อยู่ที่วรรณะหรือชาติกำเนิด แต่อยู่ที่การกระทำของตน ก็เท่ากับชี้ว่าคนเรานั้นเท่าเทียมกันมาแต่กำเนิด ความเสมอภาคนั้นยิ่งเห็นได้ชัดจากระบบสงฆ์ที่พระองค์ทรงก่อตั้ง เพราะไม่ว่ามีชาติกำเนิดจากไหน เมื่อบวชแล้วก็มีฐานะเท่าเทียมกัน เป็นแต่เคารพกันตามอายุพรรษาเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเหล่าพระญาติของพระองค์มาอุปสมบท จึงต้องทำความเคารพพระอุบาลี อดีตข้ารับใช้ ซึ่งบวชก่อน แต่ไม่ว่าจะบวชก่อนหรือหลัง ก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องปัจจัยสี่ การแสดงความคิดเห็น การทำสังฆกรรม รวมทั้งโอกาสที่เท่าเทียมกันในการบรรลุธรรม
ความเสมอภาคนั้น ควรถูกนับเข้ามาเป็นคุณค่าอย่างหนึ่งของพุทธศาสนา ไม่ใช่เพียงเพื่อเรียกร้องให้ตนมีความเสมอภาคเท่ากับผู้อื่นเท่านั้น แต่เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีความเสมอภาคเท่าเทียมกับตน ทั้งในด้านเศรษฐฐานะ การศึกษา การเมือง รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาตน ความเสมอภาคโดยนัยนี้ จะไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดความเห็นแก่ตัวหรือความถือตัวถือตน และส่งเสริมประโยชน์ท่านอีกทางหนึ่งด้วย
กล่าวโดยสรุป ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองแก่คนทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ยอมรับความเสมอภาคของผู้คนนั้น ชาวพุทธหรือผู้ใฝ่ในคุณธรรมหรือศีลธรรม ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องที่แยกต่างหากจากระบบจริยธรรม แท้จริงแล้วมันเป็นกระบวนการที่ช่วยเกื้อกูลให้เกิดการจัดสรรผลประโยชน์ที่เป็นธรรมได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยลดความรุนแรงในการแย่งชิงผลประโยชน์ อีกทั้งช่วยจัดความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมให้เป็นที่ยอมรับกันได้ ทำให้เกิดความขัดแย้งน้อยลง และช่วยให้ผู้คนอยู่กันอย่างราบรื่น ก่อให้เกิดบรรยากาศที่เกื้อกูลให้เกิดศีลธรรมและการพัฒนาคุณธรรมด้านใน
คุณธรรมส่งเสริมประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ประชาธิปไตยมิใช่กระบวนการที่รับประกันว่า จะเกิดผลดีมีความถูกต้องชอบธรรมเสมอไป ประชาธิปไตยสามารถเปิดช่องให้คนหมู่มากเอาเปรียบคนส่วนน้อย ที่มีความเชื่อทางศาสนา ภาษา ชาติพันธุ์ หรืออุดมการณ์ต่างจากคนส่วนใหญ่ก็ได้ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนกลุ่มน้อยในการเบียดบังประโยชน์ของส่วนรวม เช่น เปิดโอกาสให้นายทุนใช้อำนาจรัฐในการสั่งสมเพิ่มพูนผลประโยชน์ของตน โดยผลักภาระให้ตกอยู่แก่ประชาชน สาเหตุที่เมืองไทยเกิดวิกฤตประชาธิปไตย ผู้คนเสื่อมศรัทธาในประชาธิปไตย ก็เพราะผู้ปกครองใช้อำนาจเกินขอบเขต เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ทำให้คนจำนวนไม่น้อยสนับสนุนรัฐประหาร และมองหาระบบใหม่ จนถึงกับเรียกหา “ระบอบคนดี” คือจะเป็นเผด็จการก็ได้ ขอให้คนดีมาปกครองก็พอแล้ว
โทนี่ จุดท์ นักประวัติศาสตร์เรืองนามชาวอังกฤษ ได้กล่าวว่า “ประชาธิปไตยเป็นปราการระยะสั้นที่ดีที่สุดในการปกป้องทัดทานทางเลือกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่มันไม่สามารถป้องกันจุดอ่อนที่แฝงฝังมากับมันได้ ชาวกรีกรู้ดีว่าประชาธิปไตยจะไม่หลงใหลสยบยอมต่อเสน่ห์เย้ายวนของระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ระบบอำนาจนิยม หรือคณาธิปไตย แต่เป็นไปได้มากที่มันจะพ่ายแพ้เมื่อเจอกับประชาธิปไตยแบบฉ้อฉลเสื่อมทราม (corrupted version of itself)”9 กล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่มีระบอบใดเอาชนะประชาธิปไตยได้ แต่ประชาธิปไตยจะแพ้ตัวเองหากปล่อยให้มีความฉ้อฉลเสื่อมทรามเกิดขึ้นกับมัน เมื่อใดก็ตามที่มันถูกครอบงำด้วยคนที่ฉ้อฉล ลุแก่อำนาจ หรือถูกใช้ในทางที่ผิด จนผู้คนเสื่อมศรัทธา ประชาธิปไตยก็จะเสื่อมทรุดและล่มสลายได้ ดังเกิดขึ้นกับอียิปต์เมื่อเร็ว ๆ นี้ หรือเมืองไทยเมื่อปี ๒๕๔๙
ประชาธิปไตยจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อมีมาตรการป้องกันมิให้คนฉ้อฉลขึ้นมามีอำนาจหรือใช้อำนาจรัฐในทางมิชอบ จะเป็นเช่นนั้นได้นอกจากมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ มีระบบนิติธรรมที่เข้มแข็ง เป็นต้นแล้ว ระบบคุณธรรมที่มั่นคงจนเป็นวัฒนธรรมและพัฒนาเป็นสถาบันของสังคม ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้ประชาชนไม่หลงใหลเคลิบเคลิ้มกับอามิสสินจ้างหรือสัญญาสวยหรูที่นักการเมืองหยิบยื่นให้เพื่อแลกกับคะแนนเสียง หรือไม่ถูกปลุกเร้าให้เกิดความโกรธเกลียดและกลัว เพื่อแทคะแนนให้นักการเมืองขึ้นมาจัดการกับศัตรูที่ถูกสร้างขึ้น
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประชาธิปไตยกับคุณธรรม ไม่อาจแยกกันได้ หากสังคมไร้คุณธรรม ก็เท่ากับว่าขาดปราการที่จะป้องกันมิให้ความฉ้อฉลเสื่อมทรามเกิดขึ้นได้ และหากความฉ้อฉลเสื่อมทรามเกิดขึ้นเมื่อใด อวสานของประชาธิปไตยก็อยู่ไม่ไกล
อาตมาจึงอยากจะสรุปว่า สำหรับผู้ใฝ่คุณธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างความสงบสุขราบรื่นในสังคม ส่วนผู้ใฝ่ประชาธิปไตย ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างคุณธรรมให้มั่นคงในสังคม เพื่อเป็นรากฐานและปราการของประชาธิปไตยให้มีความยั่งยืน
นั่นหมายความว่า ตราบใดที่สังคมยังมีการแยกข้างแบ่งขั้ว ประชาธิปไตยอยู่ฝ่ายหนึ่ง คุณธรรมอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งประชาธิปไตยและคุณธรรม ก็จะขาดความมั่นคง ผลที่ตามมาก็คือบ้านเมืองย่อมไม่อาจเจริญก้าวหน้าและผาสุกได้ เมืองไทยนั้นต้องการทั้งประชาธิปไตยและคุณธรรม แน่นอนประชาธิปไตยอย่างไรที่เหมาะกับเมืองไทยปัจจุบัน เป็นเรื่องที่เราต้องถกเถียงกันต่อไป หามีสูตรสำเร็จไม่ ในทำนองเดียวกันคุณธรรมอย่างไรที่เหมาะกับเมืองไทยปัจจุบัน ก็ไม่ใช่คำถามที่มีคำตอบสำเร็จรูป คุณธรรมหรือศีลธรรมแบบพุทธ แม้จะมีอิทธิพลในสังคมไทยมาช้านาน แต่เมืองไทยยุคนี้มีความหลากหลายเกินกว่าที่จะเอาศีลธรรมหรือคุณธรรมแบบพุทธมาเป็นหลักอย่างเดียว เพราะคนที่ไม่ได้ถือพุทธ หรือไม่นับถือศาสนาเลย ก็มีไม่น้อย ดังนั้นจึงควรคิดถึงระบบศีลธรรมและคุณธรรม ที่เป็นสากล ที่คนทั่วไปยอมรับได้
ความเห็นต่างนั้นมีได้ และอาจเป็นความรุ่มรวยของสังคม แต่ก็ไม่ควรถึงกับเห็นต่างจนถึงกับแบ่งข้างแยกขั้วอย่างสุดโต่ง เพราะนั่นไม่เพียงหมายถึงการปฏิเสธคุณค่าอันดีงามที่บังเอิญอีกฝ่ายยึดถือเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นการปฏิเสธบางส่วนของตัวเราด้วย เพราะในส่วนลึกของเรา คุณค่าที่อีกฝ่ายยึดถือนั้น เราเองก็เห็นดีเห็นงามด้วยเช่นกัน แต่พอมันถูกตีตราว่าเป็นของฝ่ายตรงข้าม เราก็ต้องละทิ้งมันไปอย่างน่าเสียดาย ใช่หรือไม่ว่า การทำเช่นนั้น ทำให้โลกทัศน์ของเราคับแคบลง ชีวิตด้านในของเราอับจนลง แม้กระทั่งความเป็นมนุษย์ของเราก็อดจลดน้อยถอยลงไปด้วย10 ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเราต่อสู้ทุ่มเถียงโจมตีกัน ก็ส่งผลให้ระบบคุณค่าของบ้านเมืองพร่องตามไปด้วย
หลายปีมานี้แม้เส้นทางประชาธิปไตยไทยจะคดเคี้ยวและวิบาก อีกทั้งบ้านเมืองก็ตกอยู่ในวิกฤต ขัดแย้งกันอย่างหนัก แต่มองในแง่หนึ่งสภาพเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมทุกสังคม เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ หรือเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน ก็ย่อมเกิดความวุ่นวาย สับสน ดังที่เคยเกิดขึ้นไม่นานหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ฯ ใหม่ ๆ และต่อเนื่องยาวนานอีกหลายปี กว่าจะสงบเพราะผู้คนเริ่มยอมรับความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งความสัมพันธ์ทางอำนาจก็เริ่มลงตัว เกิดระเบียบการเมืองอย่างใหม่ที่ทุกฝ่ายพอใจ อาตมาเชื่อว่า ความวุ่นวาย สับสน และขัดแย้งที่เกิดกับเมืองไทยขณะนี้จะบรรเทาลง เมื่อผู้คนยอมรับความเปลี่ยนแปลง สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คนกลุ่มต่างๆ ได้ลงตัว ทำเช่นนั้นได้เร็วเท่าไหร่ ความสงบก็จะกลับคืนมาเร็วเท่านั้น
อาตมาได้ใช้เวลามากพอสมควรแล้ว ขอขอบคุณทุกท่านที่ฟังมาจนถึงนาทีนี้ อาตมาขอยุติปาฐกถาแต่เพียงเท่านี้
1 เกษียร เตชะพีระ สงครามระหว่างสี :ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ (openbooks ๒๕๕๓) น.๒๐
2 เมื่อปี ๒๕๐๔ มีนักศึกษาทั้งประเทศ ๑๕,๐๐๐ คน ครั้นถึงปี ๒๕๑๕ จำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐๐,๐๐๐ คน หรือเพิ่มเป็น ๖ เท่าตัว อ้างใน ประจักษ์ ก้องกีรติ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:การเมืองและวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน ๑๔ ตุลา (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๔๘) น.๗๓
3 อ้างแล้ว น. ๒๕๐
4 ดู อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย (สำนักงานสนับสนุนกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ ๒๕๕๖)น.๑๖ นฤมล ทับจุมพล และ ดันแคน แมคคาร์โก “คนกึ่งเมืองกึ่งชนบทในการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงปี ๒๕๕๓ : มิใช่เพียงแค่เกษตรกรยากจน?” วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๖
5 อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ พลวัตของความยากจน (สถาบันคลังสมองของชาติ ๒๕๕๖) น.๕๙
6 ซองซาร์ จัมยัง เคียนเซ เขียน รวิวาร โฉมเฉลา แปล อะไรทำให้คุณไม่ใช่พุทธ (สวนเงินมีมา ๒๕๕๖) น.๑๙๓-๔
7 Philip Pan Out of Mao’s Shadow (Picador 2008) p.95
8 สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยที่มีความแตกต่างทางรายได้สูงมาก มีเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้นที่บอกว่าผู้คนส่วนใหญ่ไว้ใจได้ ขณะที่ผู้มีความเห็นดังกล่าวมีมากถึงร้อยละ ๖๖ ในสวีเดนและเดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศที่มีความแตกต่างทางรายได้น้อยมาก ดู ริชาร์ด วิลคินสัน และ เคท พิคเก็ตต์ เขียน สฤณี อาชวานันทกุล แปล ความ(ไม่)เท่าเทียม (openbooks ๒๕๕๕)น.๘๕
9 Tony Judt Thinking the Twentieth Century (Vintage 2013) p.306
10 ดร.เกษียตร เตชะพีระ พูดถึงประเด็นนี้ได้อย่างแจ่มชัด “ชีวิตคนเราซับซ้อนเกินกว่าจะมีเพียงสีเดียว ถ้าตีความสีว่า “เหลือง”เป็นการต่อสู้คอร์รัปชั่น ไม่ยอมรับอำนาจผูกขาดโดยการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมซึ่งเราก็อาจมีตรงนั้นอยู่ในตัว ขณะเดียวกันเราก็มีสีแดง (คือ)การเมืองประชาธิปไตย ยึดหลักเสียงส่วนมาก สิ่งที่น่าเศร้าคือความขัดแย้งทางการเมืองบังคับให้เราเป็นสีเดียว บางทีเราชอบส่วนหนึ่งของเหลืองและส่วนหนึ่งแดงด้วย”
อีกตอนหนึ่งเขาได้กล่าวว่า การแบ่งขั้วแยกข้างอย่างสุดโต่งนี้ ก่อให้เกิดความรุนแรง “ความรุนแรงอย่างแรกที่กระทำคือกระทำกับตัวเอง เพราะในท่ามกลางความขัดแย้งเราทำลายสีอื่นที่อยู่ในตัวเอง เราอยากเป็นเหลืองเราทำลายความเป็นแดง คุณอยากเป็นแดงคุณทำลายความเป็นเหลือง ก่อนที่คุณจะทำลายคนอื่นคุณทำร้ายตัวเอง คุณก็เป็นมนุษย์น้อยลง เหลือมิติเดียว ถ้าไม่รู้จักหยุดตรงนั้น คุณจะเกลียดส่วนนั้นของชีวิตและทำร้ายคนอื่น ใช้ความรุนแรงต่อคนอื่น” บางตอนจากการอภิปรายเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๓