เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับคนรวย
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
www.INEWHORIZON.NET
เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับคนรวย
เคยเขียนบทความไปครั้งหนึ่งว่า คนไทยต่างก็เคารพเทิดทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และได้น้อมนำเอาพระราชดำริมาใช้ หรือมากล่าวอ้างอยู่เสมอ แต่ที่อ้างอิงมากพูดถึงมากก็คือแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จนถึงกับมีการนำมาขยายจัดทำเป็นทฤษฎี และรัฐบาลเองก็นำมากล่างอ้างอยู่เสมอๆ แต่โดยรวมมักจะพุ่งเป้าไปที่คนจน ว่าควรจะดำเนินชีวิตเยี่ยงไร เกษตรกรควรดำเนินกิจกรรมอย่างไร อย่างเช่น ทฤษฏีใหม่ที่ให้แบ่งที่ดินเป็น 3 ส่วน และทำไร่นาสวนผสม ขุดบ่อน้ำ เลี้ยงปลา และเป็นแหล่งน้ำที่จะหล่อเลี้ยงพืชของตัวเอง แต่รัฐบาลจะให้ทำนารวมแปลงใหญ่
และในทางปฏิบัติ รัฐบาลกลับดำเนินการสวนทางอีกด้วย การใช้จ่ายเงินขาดดุลอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นโดยตลอด และจะเป็นอย่างนี้อีกหลายปี ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี เนื่องจากเน้นในการกระตุ้นการบริโภค เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเป็นการเข้าทางลัทธิทุนนิยมโลก คือส่งเสริมลัทธิบริโภคนิยม อันสอดรับกับการดำเนินการของบริษัทใหญ่ๆทั้งหลายที่ปลูกฝังลัทธิบริโภคนิยม ด้วยการกระตุ้นต่างๆ รวมทั้งการโฆษณาอย่างต่อเนื่อง ผลคือทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมากรวดเร็วกว่าหนี้สาธารณะเสียอีก และหนี้ครัวเรือนเหล่านี้ก็คือหนี้ของประชาชนในระดับกลาง และระดับล่างนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ายิ่งรัฐบาลทุ่มงบขาดดุลเท่าไร เพื่อกระตุ้นความเติบโตทางเศรษฐกิจ ประชาชนระดับล่างก็จะมีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น จนไม่มีทางปลดเปลื้องภาระเป็นไทแก่ตัว
ประเด็นสำคัญก็คือปากบอกว่าเคารพเทิดทูนในหลวงร.9 และจะยึดถือแนวทางที่ท่านพระราชทาน เที่ยวสั่งสอนคนทั่วไป แต่การกระทำกลับสวนทางโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่ระดับบนถึงระดับล่าง ซึ่งถ้าส่วนบนไม่หยุดการกระทำดังกล่าวมาแล้ว ระดับล่างจะหยุดอย่างไร เนื่องจากเป็นมือล่างที่ถูกชี้นำ และกำหนดกฎเกณฑ์ให้ต้องยอมศิโรราบมาโดยตลอด จึงบริโภคเกินตัวจนหนี้สินล้นพ้น
วันนี้ก็เลยจะขอนำเอาตัวอย่างของการดำเนินวิถีชีวิตของนักธุรกิจที่ร่ำรวยมาเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ขอโทษเหตุการณ์จริงนี้ไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่ไปเกิดในประเทศจีนที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์แต่ตอนนี้เป็นลักษณะ 1 ประเทศ 2 ระบบ คือมีทั้งระบบคอมมิวนิสต์เพื่อเกื้อกูลคนยากคนจน เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน กับระบบทุนนิยมเพื่อเกื้อกูลนายทุนที่มีความสามารถ ในช่วงนี้ต้องยอมรับว่าประเทศจีนในแง่มุมของศีลธรรม จริยธรรม สั่นคลอนมาก เพราะลัทธิคอมมิวนิสต์ที่วางกรอบปลูกฝังอุดมการณ์ก็หย่อนยาน ลัทธิทุนนิยมที่ขาดคุณธรรมก็เบ่งบาน มือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่ใครจะคิดว่าในท่ามกลางความสับสนนี้ จะมีบุคคลผู้หนึ่งที่เป็นแบบอย่างอันดีงาม จนสามารถนำมาเป็นตัวอย่างของคนรวยที่จะดำเนินวิถีชีวิตตามแบบฉบับเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9ได้ บุคคลผู้นั้นคือ “นายหยิ่ม เจี้ยฮุย” (เยิ่นเจิ้งเฟย) วัย 72 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทหั่วอุ๊ย หรือ หัวเหว่ย ที่โด่งดังนั่นเอง
หลักใหญ่ที่หยิ่ม เจี้ยฮุย ผู้ก่อตั้งบริษัทหั่วอุ๊ย(หัวเหว่ย) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน มีเครือข่ายทั่วโลกกว่า 150 ประเทศ บริการประชาชนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านคน มีการลงทุนในยุโรปกว่า 50% ทำเงินจากทั่วโลก 2.3 ล้านๆหยวน หรือ 11.5 ล้านๆบาท นำเงินตราเข้าประเทศจีนจากกำไรไมต่ำกว่า 6.6 ล้านๆบาท และมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน IT อย่างต่อเนื่อง ทั้งโทรศัพท์มือถือ และโครงข่ายคลื่นสัญญาณโทรคมนาคม ที่สำคัญสิ่งที่ท่านผู้นี้ประพฤติปฏิบัติและบริหารจัดการกลุ่มบริษัทของท่านนั้นนับว่าเป็นวิถีแห่งเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะเป็นแบบอย่างแก่นักธุรกิจไทย โดยสรุปได้ดังนี้
1.ท่านเสียภาษีอย่างตรงไปตรงมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยปีที่ผ่านมาจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลกว่า 1.6 แสนล้านหยวน
2.ประหยัดมัธยัสในการใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ใช้รถยนต์มือ 2 มูลค่าประมาณ 5 แสนบาท และไม่มีรถยนต์ประจำตำแหน่ง ท่านพึ่งจะเปลี่ยนรถเป็น บี.เอ็ม.ดับบลิว ซีรี่ 7 เมื่อรถเก่าพัง
3.ทำตัวธรรมดา ห้ามพนักงานมาคอยบริการเพราะถือว่าจะเสียทั้งเวลาส่วนตัว และเวลางานและท่านมีมารยาทที่นอบน้อยถ่อมตน
4.มีหุ้นส่วนตัวในชื่อตัวเอง 1.4% อีก 98.6 % กระจายหุ้นให้พนักงานทุกคน
5.ไม่เอาหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์เพราะเห็นว่าเป็นการปั่นราคา ทำกำไรโดยมิได้สร้างมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง
6.ไม่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ด้วยเหตุผลเดียวกัน
7.ไม่ยุ่งเกี่ยวกับนักการเมือง และไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมส่วนตัวของข้าราชการ
เพียงแค่นี้ก็จะเห็นได้ว่ายากที่จะหาใครมาเทียบเคียงได้ ยิ่งในประเทศไทยที่เราเอาแต่พร่ำเพ้อถึงแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ก็ยิ่งเหมือนภาพสะท้อนของสิ่งที่เรียกว่า “หน้าไหว้ หลังหลอก” ชัดเจนขึ้น
ยิ่งได้ฟังคำพูดของท่านที่กล่าวว่า “เมื่อผมได้ชัยชนะมา 1 ครั้ง ผมก็จะทำให้พ่อแม่พี่น้องญาติสนิท มิตรสหาย และพนักงานของผมได้กินข้าวเพิ่มขึ้นอีก 1 ชาม” และท่านยังได้บริจาคเงินส่วนหนึ่งให้เป็นความหวังของลูกหลานแรงงาน สามารถใช้เป็นทุนการศึกาให้เด็กๆได้เรียนหนังสือมากขึ้น
นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนที่มีความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อพี่น้องร่วมงาน และพี่น้องร่วมชาติเป็นอย่างยิ่ง และทำจริง ไม่ใช่เอาแต่พูด
ถ้าเรามีนักธุรกิจในประเทศไทย แบบนี้แม้สักคนเดียว ผู้เขียนเชื่อว่าประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าไปอีกมาก และ เราจะพบกับความสงบร่มเย็น มีสันติสุขยั่งยืน แต่มองไปแล้วช่างวังเวง มีแต่คนหวังกอบโกย สร้างความมั่งคั่งให้ตนเองและครอบครัว โดยไม่คิดที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แต่ผู้ด้อยโอกาส ขนาดภาษียังหลบเลี่ยง แล้วอย่างอื่นๆจะไม่มีการสมคบกันกอบโกย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เท่านั้น ยังไม่พอยังขนเงินไปซุกไว้ต่างประเทศอีกด้วย
ครั้นมาพิจารณาภาครัฐ นอกจากจะใช้จ่ายงบประมาณขาดดุลเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยแนวทางกระตุ้นการบริโภค เข้าทางลัทธิบริโภคนิยมจนเกิดหนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพราะรายได้ของคนระดับล่าง ไม่พอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการกระจายรายได้ไปกระจุกตัวอยู่กับคนรายได้ระดับบน ซึ่งก็หนักหนาพอแล้ว แต่รัฐบาลยังไปเน้นการหารายได้เพิ่มด้วยการเก็บภาษีทางอ้อม แทนการเพิ่มภาษีทางตรง ซึ่งในประเด็นนี้ ต้องขออธิบายเพิ่มเติมว่า ภาษีทางอ้อมนั้นผู้มีอำนาจในการต่อรองสูง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนระดับบนจะสามารถผลักภาระภาษีไปให้แก่ผู้ที่มีอำนาจต่อรองน้อย นั่นคือ คนรายได้ระดับล่าง ตัวอย่างเช่นภาษีมูลค่าเพิ่มถ้าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1 จาก ร้อยละ 7 เป็น ร้อยละ 8 รัฐได้เงินเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท แต่พ่อค้าสามารถผลักภาระภาษีทั้งหมดไปให้ผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่คือคนระดับล่าง ส่วนภาษีน้ำที่รัฐบาลจะจัดเก็บนั้น จะไปจัดเก็บกับเกษตรกรที่มีฐานะปานกลางและยากจน ซึ่งเกษตรกรนั้นขาดอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง จึงต้องรับภาระภาษีน้ำไม่อาจผลักไปในราคาสินค้า เหมือนกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ารัฐบาลรู้จักพอเพียงลดการใช้จ่ายลง โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ หรือการจัดซื้อาวุธยุทโธปกรณ์ลงในภาวะเช่นนี้ ก็สามารถชะลอการเก็บภาษีหลากชนิดลงได้ หรือถ้าจะจัดเก็บเพื่อลดช่องว่างทางการเงินที่ขาดดุล ก็เก็บภาษีทางตรง เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินหรือเงินได้ในระดับที่สูง และลดหลั่นลงมาสำหรับผู้ที่มีน้อยทำอย่างนี้รายได้ของรัฐก็เพิ่ม และช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยก็จะลดลง แต่ที่ไม่ทำ อาจเป็นเพราะเกรงใจคนร่ำรวยที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงก็ได้
น่าเสียดายที่เมืองไทยมีอะไรดีๆอีกมากมาย แต่ถ้าระบอบการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่มีเลือกตั้ง ระบบมันก็ทำให้ประเทศเสื่อมโทรมลงไปทุกที เพราะทรัพยากรมันหร่อยหรอลงไป ในขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเรากำลังย่างเข้าสู่ยุคสังคมสูงอายุด้วยแล้ว ความทุกข์ยากจะเกิดขึ้นแก่ประชาชนส่วนใหญ่ แม้เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นก็ตาม