สถานการณ์ชายแดนอียู-เบลารุส : บทพิสูจน์หลักการสิทธิมนุษยชน
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
สถานการณ์ชายแดนอียู-เบลารุส : บทพิสูจน์หลักการสิทธิมนุษยชน
วิกฤตการณ์ชายแดนสหภาพยุโรปตลอดหลายเดือนที่คุกรุ่นตลอดแนวชายแดนของยุโรปและเบรารุส ตั้งแต่ลิทัวเนียมาจรดโปแลนด์ ได้แปรสภาพเป็นข้อพิพาททางการเมืองที่ร้ายแรง และทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรง
ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน จำนวนผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ที่มุ่งหน้าไปยังชายแดนเบลารุส-โปแลนด์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นจำนวนเกือบครึ่งหมื่น โดยคาดหวังว่าจะได้เคลื่อนผ่านไปยังยุโรปตะวันตก อันเป็นที่คาดหวังว่าจะได้ตั้งหลักแหล่งอาศัย ด้วยหนีร้อนมาพึ่งเย็น
แต่บรรดาผู้อพยพจากเบลารุส ถูกปฏิเสธจากโปแลนด์ ด้วยมาตรการที่เข้มงวดไม่ว่าจะเป็นรั้วรวดหนาม กำลังทหารพร้อมอาวุธจำนวนมากจากกรุงวอร์ซอ
ขณะที่พวกผู้อพยพติดอยู่ในพื้นที่หนาวเย็น อุณหภูมิเยือกแข็งโดยไม่มีที่พักพิงนอกจากเต้นท์ ขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มเพื่อป้องกันความหนาวอย่างพอเพียง ขาดเวชภัณฑ์และเริ่มขาดแคลนอาหาร โดยยังไม่ต้องพูดถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็น
มีรายงานว่าจำนวนผู้อพยพจำนวนหลายพันคนนั้นมาจากตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน โดยตั้งค่ายพักแรมระหว่างชายแดนเบลารุส-โปแลนด์ ที่เป็นดินแดนรกร้างว่างเปล่า
กลุ่มองค์การสิทธิมนุษยชน และองค์การนานาชาติได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของพวกเขาตามสิทธิมนุษยชน และตามหลักมนุษยธรรมพื้นฐาน มีบางกลุ่มเริ่มถามหาและเรียกร้องให้ EU ได้ตะหนักถึงหลักมนุษยธรรมที่มักอ้างถึงเสมอ แต่ EU ก็ยังคงทำตนประดุจคนตาบอด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแรงกดดันจากประชาชนภายในประเทศ ซึ่งโดยรวมแล้วมันเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่สหภาพยุโรป และนาโต้ ภายใต้การนำของสหรัฐฯ ที่เข้าไปรุกรานและแทรกแซงในตะวันออกกลาง ตั้งแต่การล้มล้างรัฐบาลอิรักสมัยซัมดดัม การล้มล้างรัฐบาลลิเบียสมัยกัดดาฟี การพยายามล้มล้างรัฐบาลซีเรีย ของประธานาธิบดีอัสซาด หรือการเข้าสนับสนุนการแทรกแซงในเลบานอน และเยเมน ซึ่งทำให้เสียสมดุล เกิดสงครามกลางเมือง และก่อให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของผู้คนจำนวนนับหลายล้านคน
ดังนั้นการถามหาเรื่องมนุษยธรรมจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่เริ่มขึ้นอย่างรุนแรง และมีผู้อพยพเริ่มเสียชีวิตบ้างแล้ว
และเพื่อปกปิดการกระทำที่รุนแรงของกองทัพโปแลนด์ นักข่าวตลอดจนตัวแทนกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆถูกห้ามมิให้เข้าไปใกล้ชายแดน ด้วยเหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัยของคนเหล่านั้น
วิกฤตการณ์ชายแดนนี้ เริ่มต้นเมื่อต้นปีนี้จากการที่ประธานาธิบดีลูเชนโก แห่งเบลารุส ที่ครองอำนาจมายาวนาน ได้ตอบโต้การคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป โดย EU ได้ลงโทษเบลารุส (รัฐบาลมินสค์ ฐานบังคับให้เปลี่ยนเครื่องบินโดยสารที่จะเดินทางไปมินสค์ เมื่อเดือนพฤษภาคม และต่อมารัฐบาลมินสค์ได้จับกุมนักหนังสือพิมพ์ Roman Protasevch ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล
ทั้งนี้รวมทั้งการลงโทษ (Sanction) เบลารุส ในการปราบปรามประชาชนที่คัดค้านการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเซนโก เมื่อปีค.ศ.2020
ลูกาเชนโก จึงประกาศตอบโต้การลงโทษด้วยการยกเลิกมาตรการป้องกันผู้อพยพจากตะวันออกกลาง และอัฟกานิสถาน มิให้เดินทางไปยุโรป โดยอ้างว่าการคว่ำบาตรเบลารุสทำให้ขาดงบประมาณที่จะดูแลผู้อพยพเหล่านั้น ตั้งแต่นั้นมาจึงมีจำนวนผู้อพยพที่จะข้ามแดนไปยุโรปมากขึ้น
อย่างไรก็ตามสหภาพยุโรปโจมตีว่าลูกาเซนโก จงใจสร้างสถานการณ์ด้วยการไปชักจูงผู้อพยพเข้ามาในประเทศ และใช้เป็นเครื่องมือในการตอบโต้ยุโรป ซึ่งลูกาเซนโกปฏิเสธข้อกล่าวหาและตอบโต้ว่าสหภาพยุโรปหนุนให้โปแลนด์ดำเนินการโดยทำลายหลักมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง เช่น การผลักดันผู้อพยพกลับไปอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นต่ำกว่าศูนย์
นอกจานี้ลูกาเชนโกยังประกาศว่าจะตัดการส่งก๊าซจากรัสเซียผ่านทางเบรารุสไปยังยุโรป แต่งานนี้ปูตินไม่เล่นด้วย โดยกล่าวว่ายังมิได้มีการปรึกษาหารือกัน และรัสเซียจะส่งก๊าซให้ยุโรปตามสัญญา
อนึ่งปูตินยังปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังการกดดันยุโรป ด้วยผู้อพยพพร้อมตอบโต้ สหภาพยุโรปว่าควรจะหันไปทบทวนพิจารณาเรื่องการลงโทษเบลารุสแบบรัดคอให้ตายนี้ และควรกดดันให้รัฐบาลวอร์ซอผ่อนปรนมาตรการปิดกั้นชายแดนอย่างเข้มงวดเพื่อมนุษยธรรม
และเพื่อทำให้เบลารุสอุ่นใจ มอสโกส่งพลร่มจำนวนหนึ่งไปเบลารุสเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน เพื่อทำการซ้อมรบ นอกจากนี้ยังส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ 2 ลำ ไปลาดตระเวนเหนือเบลารุส ตั้งแต่วันที่ 10 และ 11 พฤศจิกายน
ส่วนท่าทีของสหภาพยุโรปนั้นได้ประกาศที่จะไม่รับผู้อพยพเพิ่มขึ้น โดยการแถลงผ่านสื่อที่บรัสเซล และได้รับการขานรับจากนางแองเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมันที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง
แต่วิกฤตการณ์ชายแดนโปแลนด์-เบลารุส นี้ก็ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและโปแลนด์กระชับกันมากขึ้น และเป็นผลดีต่อการขยายตัวของ NATO
นอกจากนี้ทาง EU ยังกล่าวหาว่าเบลารุส ใช้วิธีการเดียวกับเอโดกัน แห่งตุรกี ที่รับผู้อพยพจากตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน โดยอ้างว่าเป็นผู้อพยพจากซีเรียที่เป็นเพื่อนบ้าน และให้ตั้งค่ายอพยพประชิดชายแดนกรีซ อันจะเป็นประตูเข้าสู่ยุโรป ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกดดัน EU ในการเจรจาต่างๆ
ดังนั้นลูกาเซนโก จึงได้ขนเอาผู้อพยพจากตุรกีบางส่วนมาที่เบลารุส โดยสัญญาว่าจะมีทางที่ง่ายกว่าเข้ายุโรป แม้คำกล่าวหานี้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ แต่สื่อโปแลนด์ส่วนใหญ่จะรายงานตรงกัน
ความตึงเครียดนี้แม้จะไม่ถึงขนาดที่จะนำไปสู่การเกิดสงครามขนาดใหญ่ระหว่าง NATO กับรัสเซีย แต่มันก็ช่วยเพิ่มบรรยากาศของความตึงเครียดระหว่าง 2 ขั้วอำนาจที่เกิดในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ ไต้หวัน และในภูมิภาค Indo-Pacific ซึ่งในขณะนี้สหรัฐฯได้จัดตั้งภาคีจตุรมิตรตะวันตกขึ้นมาอีกเพื่อเสริมกำลัง QUAD (จตุจักรเดิม) นั่นคือจัดตั้งภาคีระหว่างอิสราเอล ยูเออี อินเดีย และสหรัฐฯ เพื่อไปควบรวมกับ QUAD (ตะวันออก) ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย พร้อมกับปิดผนึกด้วย AUKUS คือพันธมิตรข้อตกลงเรือดำน้ำนิวเคลียร์ระหว่างออสเตรีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ
และแม้ว่าข้อตกลง AUKUS จะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 15 ปี กว่าออสเตรเลียจะผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ได้ตามเป้าประสงค์ แต่มันก็เป็นภัยคุกคามที่จีนจะประมาทมิได้
นั่นยิ่งจะทำให้จีนยิ่งต้องพยายามขยายบทบาทและอิทธิพลไปสู่ภูมิภาคต่างๆ เช่น ในทวีปแอฟริกา และเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย และอาเซียน
พูดถึงบทบาทของอาเซียนที่ตลอดเวลาประเทศไทยดูเหมือนจะยังเกรงใจรัฐบาลทหารเมียนมาอยู่นั้น ขณะนี้มีข่าวเล็กๆอ้างว่านายดอน ปรมัถ์วินัย ได้เดินทางลับๆไปคุยกับพลเอกมิน อ่องหล่าย ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีผลออกมาอย่างไร และเป็นไปในทิศทางไหน แต่จะมีผลกระทบไทยแน่นอนไม่ว่าบวกหรือลบ