ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของก่วนจ้ง ตอนที่ 2
ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของก่วนจ้ง ตอนที่ 2
รศ.ดร.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
ข. ระบบตลาดและการแบ่งงานกันทำนอกจากด้านเกษตรแล้ว ก่วนจ้งยังให้ความสำคัญกับอาชีพอื่นๆ ในประเทศจีนโบราณมีการแบ่งอาชีพของประชาชนออกเป็นสี่ประเภทคือ1. นักวิชาการและข้าราชการ 2. เกษตรกร 3. กรรมกร ช่างฝีมือและผู้ที่ทำงานหัตถกรรม 4. พ่อค้า โดยทั่วไป อาชีพนักวิชาการ ข้าราชการ และเกษตรกรจะได้รับการยกย่องจากสังคม และถือกันว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติและสามารถสร้างประโยชน์แก่สังคม แต่การหัตถกรรมและการพาณิชย์นั้น คนจีนในสมัยโบราณยังไม่ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะพ่อค้า ถือว่าเป็นผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง แต่ไม่ได้สร้างผลผลิตที่มีคุณค่าแก่สังคม ยุคต่างๆในประวัติศาสจีนจึงมักไม่ให้ความสำคัญกับการค้าและอาชีพพ่อค้า แต่ก่วนจ้งเห็นความสำคัญของคนที่ทำงานฝีมือ และทำการค้า เขาเองก็เคยเป็นพ่อค้ามาก่อน จึงมองเห็นความสำคัญของอาชีพนี้ว่ามีบทบาทในการแสวงหาและกระจายสินค้าที่คนในสังคมต้องการ ทำให้มีการขนส่งและระบายสินค้าไปยังที่ต่างๆ และทำให้มีการนำสิ่งของที่ขาดแคลนจากที่ที่มีสินค้าล้นตลาดไปสู่พื้นที่ที่ขาดแคลนสินค้า การส่งเสริมการค้าจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ก่วนจ้งถึงกับสนับสนุนให้รัฐฉีสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งมีบริการโสเภณี เพื่อต้อนรับพ่อค้าที่เดินทางมาจากรัฐอื่นๆ และส่งเสริมให้คนในรัฐฉีเดินทางไปค้าขายไนรัฐอื่นๆ
ก่วนจ้งเห็นว่า คนเราแต่ละคนมีความรู้ความสามารถและความถนัดที่แตกต่างกัน การใช้คน ให้เหมาะสมกับงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ในส่วนของประชาชน คนที่ประกอบอาชีพแต่ละประเภท ควรมีการพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน การที่คนมีอาชีพเดียวกันมาอยู่รวมกันในที่เดียวกัน จะเอื้อประโยชน์ต่อการถ่ายทอดวิชาความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพของตน ทั้งชาวไร่ชาวนา ช่างฝีมือและพ่อค้ายังสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในอาชีพของตนให้แก่ลูกหลานและคนอื่นได้โดยสะดวก พ่อคัาก็จะได้ข่าวสารข้อมูลและสร้างเครือข่ายที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าขายของตนเองได้
สำหรับการบริหารประเทศ ก่วนจ้งเห็นความสำคัญของการใช้คนตามความรู้ความสามารถและความถนัด การมอบหมายตำแหน่งหน้าที่ทางราชการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความถนัด การแต่งตั้งและเลื่อนขั้นขุนนางข้าราชการก็ต้องพิจารณาจากผลการปฏิบัติ โดยไม่มีการปูนบำเหน็จรางวัลหรือลงโทษหรือยังพร่ำเพรื่อ
การใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบทางด้านทรัพยากรของประเทศ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ก่วนจ้งให้ความสำคัญ เขาเห็นว่ารัฐฉีซึ่งมีที่ตั้งอยู่ริมทะเล มีข้อได้เปรียบกว่ารัฐอื่นๆในการผลิตสินค้าที่ได้จากทะเล เช่น เกลือ และสัตว์น้ำ ซึ่งนอกจากใช้ในการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังสามารถส่งไปขายในรัฐอื่นๆ แล้วแลกกับสินค้าที่รัฐฉีมีความขาดแคลน นอกจากนั้น การผลิตและการค้าเกลือยังเป็นแหล่งรายได้ทางภาษีอากรที่สำคัญของรัฐบาล ก่วนจ้งจึงมีการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นเพื่อผูกขาดการค้าเกลือและแร่ธาตุโดยเฉพาะเหล็ก
ค. การส่งเสริมการบริโภค
คุณจีนตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน มักเน้นให้เห็นถึงประโยชน์ของการประหยัด ก่วนจ้งก็เห็นว่า การรู้จักประหยัดนั้นเป็นเรื่องดี ผู้เป็นกษัตริย์ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างในเรื่องความประหยัด เขายังกล่าวถึงความเสียหายของการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยของชนชั้นปกครอง โดยการยกตัวอย่างการมีความเป็นอยู่ที่สุรุ่ยสุร่ายของกษัตริย์ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ร้านแค้น จนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยก่อน เพื่อเตือนสติกษัตย์ฉี
อย่างไรก็ดี ก่วนจ้งก็มีนโยบายส่งเสริมการบริโภค ความคิดของเขาในเรื่องการบริโภคนี้ถือว่าแตกต่างกับนักคิดในสมัยนั้นและสมัยต่อๆมาโดยสิ้นเชิง ก่วนจ้ง เห็นว่า การส่งเสริมการบริโภคเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการปกครองประเทศ ประโยชน์ของการปริโภคที่สำคัญคือ ก. การบริโภคที่เพิ่มขึ้นสามารถกระตุ้นให้มีการผลิตสินค้ามากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ เกิดการจ้างงานมากขึ้น ข. หากประชาชนต้องตกอยู่ในภาวะที่อดอยากขาดแคลนโดยไม่มีอาหาร และสิ่งของอื่นๆในการบริโภคอย่างเพียงพอ หรือเมื่อผลิตสินค้าแล้ว ตนเองกลับไม่มีผลิตผลที่เพียงพอในการบริโภค เช่นชาวไร่ชาวนาต้องถูกขูดรีดภาษีจนตนเองมีข้าวไม่พอกิน หรือผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมต้องขายสินค้าในราคาที่ต่ำมาก เขาก็จะไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ค. การส่งเสริมการบริโภคเป็นวิธีการหนึ่งของการสร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ ประชาชนมีทั้งคนจนและคนรวย การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของคนมีเงินในการซื้อสินค้า มีผลทำให้รายได้ส่วนหนึ่งของผู้ที่มั่งมี ตกไปสู่ผู้ยากจนที่ทำการผลิตสินค้า เช่น เกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม
กวนจ้งเห็นว่า แม้ประชาชนกลุ่มต่างๆจะมีรายฐานะไม่เท่าเทียมกัน แต่ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และทรัพย์สิน หากมีมากเกินไป ก็จะเกิดผลเสียต่อสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความเป็นอยู่ที่อยากแค้น ในขณะที่คนส่วนน้อยมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายแล้ว สังคมก็จะไม่มีความสงบสุข
การส่งเสริมการบริโภค จึงถือว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม แต่ความคิดของก่วนจ้งในการสนับสนุนการประหยัดและส่งเสริมการบริโภค มักได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคนสมัยหลังว่ามีความขัดแย้งกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ที่วิจารณ์เขายังมีความเข้าใจความคิดของเขาไม่ดีพอก็ได้
ง. การบริหารเศรษฐกิจมหภาค
ในการบริหารราชการ รัฐต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งค่าใช้จ่ายในราชสำนัก การว่าจ้างขุนนางและข้าราชการ การป้องกันประเทศ การสร้างสิ่งสาธารณูปโภค และการช่วยเหลือประชาชนทางด้านสวัสดิการ จึงต้องมีรายได้ที่เพียงพอกับการใช้จ่ายในด้านต่างๆ โดยทั่วไป รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐมาจากการเก็บภาษีอากร กษัตริย์ฉีหวนกงมีความคิดในการเก็บภาษีจากประชาชนทุกคน จากอาคารบ้านเรือน และจากพืชผล แต่ก่วนจ้งคัดค้านการเก็บภาษีเหล่านี้ กษัตริย์จึงถามเขาว่า แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ในการปกครองประเทศ คำตอบของก่วนจ้งคือ รายได้ของรัฐควรได้มาจากการบริหารทรัพยากรของประเทศ และกำไรที่ได้มาจากส่วนต่างของการรับซื้อและการขายสินค้าโดยรัฐบาล
ก่วนจ้งเห็นว่า รัฐบาลต้องหารายได้ แต่ก็ต้องไม่ทำการขูดรีดประชาชนมากเกินขอบเขต จึงควรหาทางเพิ่มรายได้โดยประชาชนไม่รู้สึกเดือดร้อน เขาเห็นว่ารายได้ส่วนใหญ่ของรัฐสามารถหามาได้จากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลและในภูเขา และจากการบริหารราคาตลาดของสินค้าของรัฐบาล
วิธีการหารายได้จากทรัพยากรคือ การมีองค์กรของรัฐควบคุมการผลิตและการค้าทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศคือเกลือและเหล็ก ประชาชนที่อยู่ริมทะเลและอยู่บนภูเขามีเสรีภาพในการทำนาเกลือและขุดแร่ แต่จะต้องเสียภาษีให้รัฐบาล นอกจากผลผลิตที่เก็บไว้สำหรับบริโภคในครอบครัวของตนเองแล้ว รัฐบาลจะเป็นผู้รับซื้อส่วนที่เหลือแล้วนำมาขายให้แก่ประชาชน และขายให้ต่างประเทศ สำหรับแร่เหล็ก เมื่อมีการถลุงและนำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้แล้ว รัฐจะเป็นผู้รับซื้อแล้วนำมาจำหน่ายหรือแจกจ่ายให้แก่ประชาชน ในการนี้ รัฐก็สามารถหารายได้จากการซื้อขายผลิตผลอย่างเป็นกอบเป็นกำ
ก่วนจ้งเห็นว่า โดยทั่วไปประชาชนไม่อยากจ่ายเงินให้รัฐ แต่อยากได้ประโยชน์จากการบริหารงานของรัฐ วิธีการอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกว่าเขาต้องจ่ายเงินให้รัฐ แต่กลับได้ประโยชน์จากรัฐก็คือ การหารายได้เข้ารัฐ โดยประชาชนไม่รู้สึกว่าตนเองถูกเก็บภาษี ทั้งยังเห็นว่า การบริหารงานของรัฐทำให้เขาได้รับประโยชน์ วิธีการดังกล่าวนอกจากการผูกขาดการผลิตและการขายเกลือและแร่เหล็กแล้ว ก็คือว่า การที่รัฐได้กำไรจากการซื้อขายผลิตผล โดยการรับซื้อผลผลิตในช่วงที่มีราคาถูกและขายสินค้านั้นในยามที่มีราคาสูง (ชึ่งจะกล่าวในรายละเอียดมากขึ้นในตอนต่อไปของบทความนี้)
สำหรับก่วนจ้ง หลักการที่สำคัญในการบริหารการเศรษฐกิจของประเทศคือการบริหารที่สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ และการขึ้นลงของราคาสินค้า กล่าวคือ รัฐบาลต้องมีการใช้จ่ายมากขึ้น และต้องมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง รักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าโดยการรับซื้อสินค้าในช่วงที่สินค้ามีราคาตกต่ำ และเทขายสินค้าในช่วงที่สินค้ามีราคาแพง ลดความเหลื่อมล้ำในรายได้ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆของประเทศ ลงโทษคนที่แสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองแต่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เช่น การผูกขาดการใช้ทรัพยากร และการกักตุนสินค้า ตลอดจนลงโทษการกระทำอื่นๆที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม ในการนี้ จำเป็นต้องมีการบริหารเศรษฐกิจของประเทศโดยการคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นธรรม