กบฎรัสเซีย : หมากรุกชั้นเดียวหรือหมากรุกหลายชั้น ตอนที่ 2
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
กบฎรัสเซีย : หมากรุกชั้นเดียวหรือหมากรุกหลายชั้น ตอนที่ 2
สาเหตุของการก่อกบฎตามที่เป็นข่าวเปิดเผยมา คือ ความขัดแย้งจากคน 2 คน นั่นคือ เซอเก ชอยกู รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กับ เยฟกินี พริโกซิน เจ้าของบริษัททหารรับจ้าง PMC วากเนอร์
ดังนั้นจึงขอเปิดประเด็นตอนที่ 2 นี้ด้วยการนำเสนอที่มาที่ไปของบุคคลทั้ง 2 คนนี้
เซอเก ชอยกู สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ และ เข้ามารับราชการทหารเป็นทหารช่าง และพึงทราบด้วยว่า ชอยกู นั้นเป็นญาติกับภริยาของนายบอรีส เยลซิน อดีตประธานาธิบดีคนแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย ประกอบกับความสามารถจึงเติบโตในชีวิตราชการทหารมาอย่างดี และเคยเป็นรองนายกเทศมนตรีนครมอสโคว์ ต่อมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทั่งได้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และยังมีชื่ออยู่ในศูนย์เยลชิน (YELZIN CENTER) ซึ่งศูนย์นี้เคยถูกสอบสวนจากอัยการสูงสุดและในขณะนี้ได้มีการรื้อฟื้นการสอบสวนขึ้นมาใหม่ ด้วยข้อหาว่าศูนย์นี้รับเงินจากตะวันตก แบบเดียวกับการที่สี จิ้นผิง จัดการกับกลุ่มของ หู จินเทา
ส่วนเยฟกินี พริโกซิน นั้นย้อนไปปี ค.ศ.1981 ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี ในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์และทำร้ายร่างกาย โดยก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นทหารนาวิกโยธินมาก่อน ภายหลังพ้นโทษได้ออกมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเปิดร้านอาหารในนครเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก และมีโอกาสได้รู้จักกับปูตินในขณะนั้นที่ดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีของเยลชิน จากจุดนั้นทำให้เขามีฐานะดีขึ้น และจากการที่เคยเป็นทหารผ่านศึก และโดยคำแนะนำของปูติน จึงได้จัดตั้งบริษัท PMC วากเนอร์ ทำธุรกิจด้านการรักษาความปลอดภัยและทหารรับจ้าง โดยมีการส่งกองกำลังไปดูแลรักษาเหมืองทองของรัสเซียในแอฟริกา เช่น ที่มาลี และซูดาน นอกจากนั้นยังมีการส่งทหารับจ้างไปร่วมรบที่ซีเรีย ลิเบีย ซูดาน และอีกหลายประเทศในอาฟริกา ตลอดจนส่งกองกำลังไปช่วยประธานาธิบดีมาดูโร แห่งเวเนชูเอลล่า
ต่อต้านความพยายามล้มล้างรัฐบาลจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ แต่ความที่พรีโกซิน ประกอบกิจการด้านร้านอาหาร และได้รับการสนับสนุนจากปูตินให้จัดอาหารมาเลี้ยงในงานต่างๆของรัฐบาลท้องถิ่นในยุคปูติน จึงได้รับฉายาว่า “พ่อครัวของปูติน” ซึ่งระยะเวลาของการคบหานั้นยาวนานถึง 20 กว่าปี
เมื่อพรี โกซิน ก่อกบฏด้วยการยกกำลังมายึดเมืองรอสตอฟ ออนดอน โดยอ้างว่าเพื่อทำการประท้วงชอยกู ที่ออกระเบียบให้ทหารวากเนอร์ไปทำสัญญาโดยตรงกับกระทรวงกลาโหม
ทว่าก็มีข่าวจากอีกด้านว่าพรีโกชิน รับเงิน CIA เป็นจำนวนถึง $ 2,600 ล้าน ผ่านบัญชีโอนเข้าที่ยูเครน
นอกจากนี้ยังมีข่าวที่สนับสนุนข้อกล่าวหาคือหัวหน้าหน่วยข่าวกรองยูเครนอ้างว่า FSB หรือ KGB ของรัสเซียสั่งการให้บรรดาสายลับออกล่าสังหารพรีโกซิน
ตามมาด้วยข่าวลือว่ามีการจับกุมตัวนายพลอมาเกดอน พล.อ.สุโรวิกิน ฐานรู้เห็นเป็นใจกับพรีโกซิน
ในรายงานข่าวพรีโกซินอ้างว่ามีกำลังสนับสนุนถึง 25,000 คน แต่จากการตรวจสอบไม่น่าจะเกิน 8,000 คน
จึงมีข้อพิจารณาว่าพรีโกซินมีกำลังแค่นี้ จะไปต่อต้านกับกองทัพรัสเซียที่ประจำการอยู่ในประเทศทั้งหมด 850,000 คนได้อย่างไร นอกจากจะมีคนในกองทัพร่วมมือในการก่อกบฏ
ทว่าก็ไม่พบว่ามีการเคลื่อนกำลังออกมาสมทบ และเหตุการณ์ในมอสโคว์ก็ปกติ แม้ประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ก็มิได้ควบคุมการดำเนินชีวิตโดยปกติ
จะว่าพล.อ.สุโรวิกิน ร่วมมือก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันอะไร นอกจากข่าวลือ และขณะนี้ไม่อาจติดต่อได้โดยการเสนอข่าวของมอสโคว์ไทม์
แล้วทำไมคณะรัฐมนตรีของปูติน จึงต้องบินไปเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก รวมทั้งปูติน ก็ยังไม่มีคำอธิบายว่ามันมีเหตุอันใด
ต่อให้พรีโกซิน มีกำลัง 50,000 ก็ไม่อาจยึดอำนาจได้ถ้ากองทัพไม่เอาด้วย
ที่น่าสังเกตคือ การเข้ายึดเมืองรอสตอฟ ซึ่งเป็นศูนย์กลางส่งกำลังบำรุงปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ก็ไม่มีการต่อต้านอะไร ทหารที่นั่นทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ครั้นพอเคลื่อนกำลังบางส่วนจะไปมอสโคว์ ก็มีข่าวว่าทหารวากเนอร์ยิงเครื่องบินของกองทัพตกหลายลำ แต่ก็ไม่อาจยืนยันข่าวได้ นอกจากปูตินจะพูดถึงการเสียชีวิตของนักบิน ในส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ครั้งที่ 2 ทว่าก็ไม่ได้มีการระบุว่าด้วยเหตุใด เมื่อใดและใครทำ ตรงข้ามปูตินกลับยกย่องทหารวากเนอร์ว่าได้ทำประโยชน์ให้ชาติ ประดุจเป็นวีรบุรุษสงครามและไม่มีการต่อต้านจากกองทัพแต่อย่างใด
นั่นจึงนำมาสู่ข้อพิจารณาข้อที่ 2 นั่นคือ การกบฏครั้งนี้เป็นแผนของปูตินหรือไม่ เพราะปูตินมิได้สั่งการให้กองทัพบดขยี้กองกำลังวากเนอร์ ประมาณ 5,000 คน ที่เดินทางมุ่งสู่มอสโคว์
ตรงข้ามจากข่าวอ้างว่าโทรศัพท์สายแรกที่ปูตินโทรออกต่างประเทศ เป็นการโทรไปหาอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีเบลรารุส และเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับพรีโกชินกว่า 20 ปี เช่นกัน
แม้ว่าในภายหลังลูกาเชนโก จะออกมาให้ข่าวว่าเขาเป็นคนโทรหาปูติน และขอร้องไม่ให้ทำลายวากเนอร์ และพรีโกซินที่ก่อกบฏ แต่ก็ฟังไม่ค่อยขึ้น เพราะโดยปกติลูกาเชนโก มิได้มีอิทธิพลต่อปูติน ตรงข้ามปูตินนั่นแหละมีอิทธิพลต่อลูกาเซนโก และเคยส่งทหารไปช่วยแก้สถานการณ์การจลาจลในเบลารุสมาก่อน
ดังนั้นจึงเป็นไปได้มากที่ปูตินจะส่งลูกาเซนโก ไปเจรจากับพรีโกซิน ให้ล้มเลิกการยกกำลังบุกมอสโคว์ มิฉะนั้นก็คงต้องปราบปรามอย่างรุนแรง พร้อมกันนั้นเมื่อพรีโกซินยอมถอยปูตินก็เปิดทางให้ทหารวากเนอร์เลือก 3 ทาง คือ เข้ามาทำสัญญากับกลาโหม โดยเฉพาะพวกที่ไม่ได้ร่วมขบฏ ทางที่สองกลับไปอยู่บ้าน และทางที่ 3 ไปอยู่เบลารุสกับพรีโกซิน โดยไม่เอาโทษ ซึ่งเหตุก็สงบลงด้วยดี ดังนั้นปูตินคงต้องดำเนินการกระชับอำนาจของตนต่อไป ด้วยการจัดระเบียบกองทัพใหม่
หากพิจารณาในกรณีขบฎวากเนอร์ ตามนิสัยของปูติน เมื่อขึ้นสู่อำนาจใหม่ๆ จะเป็นคนใจร้อนและเด็ดขาดก็คงสั่งทำลายวากเนอร์ ตามแผนตะวันตกไปแล้ว
แต่ปูตินในปัจจุบันด้วยวัยและการอยู่ในอำนาจมานาน จึงพลิกวิกฤติเป็นโอกาสเปิดเจรจา และที่สำคัญกองทหารวากเนอร์ ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญของรัสเซีย เพราะเป็นทรัพยากรทางการทหารที่ทรงคุณค่า ถ้าทำลายเสียก็จะเป็นการสูญเสียมากสำหรับรัสเซีย
เพราะในศึกยูเครนวากเนอร์มีวีรกรรม มากมายตั้งแต่ต้น เช่น การรุกประชิดชานเมืองเคียฟ และชานเมืองคาคอฟ ต่อมาก็สามารถยึดเมืองมาริโอโปล ซึ่งเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางทหารอาซอฟ อันเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งของยูเครนได้
สุดท้ายก็ยึดเมืองบักมุดที่รบกันยืดเยื้อยาวนานมาได้ ส่วนด้านความขัดแย้งที่เยฟเกนี่ พรีโกซิน ออกมาโวยคือเรื่องการส่งกำลังบำรุงของกลาโหมที่ไม่ค่อยทันการนั้น ก็มีพล.อ.สุโรวิกิน คอยประสานให้เรียบร้อย
ครั้นวากเนอร์ก่อกบฏ พล.อ.สุโรวิกิน ก็ออกคลิปไม่เห็นด้วย ขอให้ยุติการก่อกบฏ เลิกยกกำลังไปมอสโคว์ นอกจากนี้ในศึกยูเครน สุโรวิกิน ยังวางแผนการตั้งรับที่รัดกุม จนบัดนี้ยูเครนก็ยังไม่อาจเจาะแนวต้านทาน แม้แนวแรกของรัสเซียได้ และประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก
จึงพอสรุปได้ว่าการก่อขบฏครั้งนี้ถ้าไม่ใช่แผนของปูติน ก็อนุมานได้ว่าปูตินนั้นได้แก้ปัญหาด้วยการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส และส่งวากเนอร์ไปเบลารุส แต่คงไม่ใช่การสับขาหลอกเพื่อเคลื่อนย้ายวากเนอร์ เพราะไม่จำเป็นต้องสร้างเรื่องราวใหญ่โตอันเป็นความเสี่ยงของปูตินเองอีกต่างหาก
แต่ปูตินคงมีแผนจะใช้งานวากเนอร์ต่อไปเช่นจะส่งกลับไปแอฟริกา หรือกิจการอื่นๆ ที่ทำให้บางประเทศในนาโตกำลังขวัญผวา ขณะที่ปูตินปลุกกระแสชาตินิยมและเกณฑ์ทหารเพิ่ม
ที่สำคัญพรีโกซิน อาจบ้าแต่ไม่โง่ ถึงฆ่าตัวตายแบบที่มีการกล่าวหา และดูสภาพปัจจุบันก็ดูจะอยู่สบายเป็นอิสระในเบลารุส ก็ต้องดูต่อไปว่าจะมีการจัดการอย่างไรกับพริโกซิน หากข้อกล่าวหารับเงินก่อกบฎเป็นจริง