jos55 instaslot88 Pusat Togel Online วิกฤติเวเนซุเอลา-ลิเบีย : ความเหมือนที่แตกต่าง - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

วิกฤติเวเนซุเอลา-ลิเบีย : ความเหมือนที่แตกต่าง

 

 

เกษม อัชฌาสัย

วิกฤติเวเนซุเอลา-ลิเบีย : ความเหมือนที่แตกต่าง

ความแตกแยกคือสาเหตุสำคัญ ที่ก่อให้เกิดวุ่นวายภายในชาติ

นี่คือข้อเท็จจริง ที่กำลังอุบัติให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ในเวลานี้ ทั้งในเวเนซุเอลาและลิเบีย ไม่ต้องไปค้นหาตัวอย่างดูจากที่อื่นให้เสียเวลา

เป็นความวุ่นวายที่นำไปสู่ความพินาศย่อยยับ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ส่งผลกระทบต่ออธิปไตย ทำให้กลายเป็น”ชาติที่ล้มเหลว”(Failed State)ไปจนได้ในที่สุด   ถึงแม้เวเนซุเอลาเป็นชาติที่ร่ำรวยน้ำมัน เคยมีน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดโลกถึง ๒๙๗,๐๐๐ ล้านบาเรล(ตัวเลขปี ๒๕๕๗) แต่ความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในการใช้ประโยชน์จากความมั่งคั่งอย่างถูกต้อง จึงไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ จะถือว่าระบบการนำที่ผิดพลาด เป็นตัวการบ่อนทำลายชาติ โดยรวมไปโดยปริยายก็ได้

เดิมที่ ก่อนการค้นพบแหล่งสำรองน้ำมันสำคัญ เศรษฐกิจของเวเนซูเอลาพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่ จากการส่งออกกาแฟ โกโก้ ปศุสัตว์และหนังสัตว์

แต่หลังจากพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เวเนซุเอลาก็กลายเป็นหนึ่งในชาติผู้ส่งออกน้ำมัน รายสำคัญของโลก ตั้งแต่ปี ๒๔๖๕ และมุ่งพัฒนาธุรกิจน้ำมันเป็นการใหญ่ ขณะเดียวกันรายได้จากผลผลิตด้านเกษตกรรมที่เคยได้พี่งพา ก็ลดลงเรื่อยๆ เกษตรกรทั่วไปให้การสนใจการเกษตรน้อยลงโดยอัตโนมัติ เพราะมั่นใจในอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยว ที่เกิดจากน้ำมัน เช่นเดียวกันกับที่ภาครัฐบาล ก็ไม่สนใจส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างหลากหลาย ให้ราษฎรแสวงหารายได้จากหลายๆ ภาคส่วน

ต่อมา เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติเอาไว้ ไม่ปล่อยให้บริษัทเอกชน รวมทั้งบริษัทต่างชาติ ต่างเข้ามาตักตวง จากธุรกิจน้ำมันอย่างอิสระเช่นที่เคย

ในที่สุดเวเนซุเอลา ก็จัดตั้งบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งเวเนซุเอลา(PDSVA)ขึ้นมาในปี ๒๕๑๙  พร้อมกับออกกฎหมายโอนกิจการอุตสาหกรรมน้ำมันทั้งหมดมาเป็นของรัฐแต่ผู้เดียว เท่ากับเป็นการผูกขาดและเป็นที่มาของการเล่นพรรคเล่นพวก และการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวาง

พีดีเอสวีเอ เป็นแหล่งเงินที่รัฐบาลนำเอานโยบายประชานิยมมาใช้ผ่านโครงการต่างๆ  นับแต่”ฮูโก ชาเวซ”ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ตามนโยบายสังคมนิยม ทั้งในแง่ในแง่รัฐสวัสดิการซึ่งสร้างคะแนนนิยม ได้จากคนยากคนจน รวมไปถึงการควบคุมราคาสินค้า(อุดหนุน)ที่มีความจำเป็นต่อการบริโภค

ที่สำคัญมาก ก็คือในการนำเอามาใช้เป็นงบประมาณแผ่นดิน

แต่โชคไม่ได้เป็นของเวเนซุเอลาตลอดไป ท่ามกลางความโชคดีจากการร่ำรวยน้ำมัน กลายเป็นโชคร้าย ในเมื่อราคาน้ำมันโลกตกต่ำจาก ๑๐๐ ดอลลาร์ต่อบาเรลในปี ๒๕๕๗ ตกต่ำสุดๆ ลดลงเหลือ ๒๖ ดอลลาร์ต่อบาเรล ในปี ๒๕๕๙ (หลังจากที่”ชาเวซ”เสียชีวิตในปี ๒๕๕๖)และในขณะนี้ อยู่ที่ตั้งแต่ ๖๐ ดอลลาร์(กว่าๆ ขึ้นไป)ต่อบาเรล

ก่อนที่”ชาเวซ”จะเสียชีวิต เขาได้ตั้งนาย”นิโคลัส มาดูโร”สืบทอดอำนาจจากเขา และ”มาดูโร”ก็ดำเนินนโยบายสืบต่อจากอย่างเคร่งครัด เพราะโดยส่วนตัวน่าจะได้ประโยชน์อะไรต่างๆ อย่างมาก โดยก่อนหน้านั้น เขา(มาดูโร)ได้หยิบยืมเงินจากจีนและรัสเซียมาหลายพันล้านดอลลาร์ เนื่องจากเขาต่อต้านและไม่เล่นด้วยกับสหรัฐหรือสถาบันทางการเงินตะวันตก ซึ่งเขาหวาดระแวงว่า จะเข้ามาตรวจสอบและครอบงำประเทศไว้

ประเด็นปัญหาก็คือ ในเมื่อรายได้จากน้ำมันหดหายไป งบประมาณของรัฐก็หดหายตามไปด้วย

ผลก็คือส่งให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมหาศาล ข้าวของแพง แถมสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ก็ไม่มีให้ซื้อ-ขายและเกิดการตีชิง ปล้นทรัพย์ แพร่ระบาดไปทั่ว

สภาพการณ์ดังกล่าว ส่งให้ชาวเวเนซุเอลานับล้านคนพากันอพยพหนีความยากไร้ ไปยังประเทศเทศเพื่อนบ้าน

ในแง่การเมืองนั้นเล่า ก็ย่ำแย่มากเช่นกัน หลังจากที่ผู้นำฝ่ายค้าน”ฮวน กวยโด”ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสมัชชาแห่งชาติสถาปนาตนเองขึ้นเป็นประธานาธิบดีรักษาการ จากการรวบรวมเสียงฝ่ายค้านในสภา ลุกขึ้นต่อต้านการบริหารงานของประธานาธิบดี”นิโคลัส มาดูโร”ว่าไม่สมควร จะทำหน้าที่นี้ต่อไปเพราะนำพาชาติล่มจมแล้ว

ทั้งนี้ โดยฝ่ายสหรัฐหนุน”กวยโด”ส่วนรัสเซียและจีนนั้นเล่า ก็หนุน”มาดูโร”

หลังสุด เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา(๓๐ เมษายน)”กวยโด”นำพลพรรคฝ่ายค้านเดินขบวนเรียกร้องให้”มาดูโร”สละอำนาจ และปะทะกับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บราว ๑๐๐ คน ปรากฏว่าทางการเวเนซุเอลา ใช้ขบวนรถยนตร์หุ้มเกราะ ขับบุกตลุยใส่ผู้เดินขบวนและเมื่อวานนี้(พุธที่ ๑ พฤษภาคม)ก็จะมีการเดินขบวนครั้งใหญ่ขับไล่”มาดูโร”อีก ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

“มาดูโร”ประณามว่าการประท้วงครั้งนี้ ถือเป็นความล้มเหลวของฝ่ายที่ต้องการทำรัฐประหารโค่นล้มเขา

นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลา ซึ่งโลกกำลังจับตามอง ซึ่งการลุกขึ้นต่อต้านนั้น คล้ายคลึงกับในสมัย “กปปส.”ลุกขึ้นตอต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือไม่แค่ไหน พึงพิจารณาใคร่ครวญ

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่โลกกำลังจับตาดูแทบไม่กระพริบก็คือการที่กองกำลังของ”ขุนศึก” คอลิฟะห์ ฮัฟตารฺ”นายทหารยศจอมพล(Field Marshal)ของลิเบีย (ผู้ต่อต้านอดีตผู้นำลิเบีย”มูอัมมาร์ กัดดาฟี”) หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดและเคยเป็นผู้บัญชาการกองกำลังที่จงรักภักดีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำกองกำลังของเขารุกหมายช่วงชิงกรุง”ทริโปลิ”จากรัฐบาลลิเบีย ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาจากการสนับสนุนของสหประชาชาติ ถึงขนาดเปิดสงครามใหญ่ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดเป้าหมาย เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติ สร้างความอกสั่นขวัญแขวนแก่นักเดินทางต่างชาติไปทั่ว เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา                                                                          เหตุผลที่เขาทำเช่นนี้ก็เพราะ หลายชาติเช่น ซาอุดีอาระเบียและอียิปต์ หรือแม้แต่สหรัฐอาหรับเอมีเรตส์ สนับสนุนเขาในฐานะที่มีความเด็ดขาด จะสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยในลิเบียเอาไว้ได้ ดีกว่ารัฐบาลหุ่นเชิดที่”ทริโปลิ”โดยเฉพาะภัยจากการคุกคามของการก่อการร้าย เพราะเขาเคยมีผลงานมาแล้วจากสงครามกลางเมืองครั้งที่ ๒ ของลิเบีย ซึ่งส่งผลให้”กัดดาฟั”ถึงแก่ชีวิตในที่สุด

ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนว่า ฝ่ายตะวันตก ไม่ว่าจะสหรัฐ หรือสหประชาชาติ จะต้องไม่พอใจการกระทำของ”คอลิฟะห์ ฮัฟตาร์”ในครั้งนี้อย่างแน่นอน แต่ก็น่าสนใจ ที่ไม่ปรากฏว่า ได้สำแดงความชัดเจนอย่างไร เพื่อขัดขวางอย่างเอาจริงเอาจัง

แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เวลานี้มีผู้อพยพรุ่นใหม่นับพันๆ คนหมาย หลบหนี จากลิเบียข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนไปยังยุโรป โดยมีบางกลุ่มติดอยู่ท่ามกลางยุทธภูมิการสู้รบ ในสภาพที่อดอยากปากไหม้ ขณะที่กองกำลังของ”ฮัฟตารฺ”รุกเข้าไปในเขตกรุง”ทริโปลิ”โดยได้รับการต่อต้านน้อยมาก จากฝ่ายรัฐบาล และทูตของสหประชาชาติ”กอสซัม ซาลาเม”ก็เริ่มแถลงผ่านสื่อมวลชนว่า อยากจะเจรจาสงบศึกเพื่อตั้งรัฐบาลขนานกัน ระหว่างฝ่ายตะวันออก(ฮัฟตารฺ)กับฝ่ายตะวันตก(รัฐบาลที่ยูเอ็นสนับสนุน)ขึ้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองขึ้นมาเป็นหนึ่งเดียว  เพราะถึงอย่างไรๆ ลิเบียก็ยังมีน้ำมันให้พอตักตวงได้อยู่

จึงคาดว่าอีกไม่นานนักเรื่องนี้ก็จะจบลง หากไม่มีชาติตะวันตกใดลงมือจัดการกับ”ฮัฟตาร์”อย่างจริงจัง ซึ่งเท่ากับเป็นการสมยอมนั่นเอง

ท้ายที่สุดนี้ก็จะสรุปว่า

๑ การช่วงชิงที่เกิดขึ้นทั้งในเวเนซุเอลาและลิเบียระหว่างสองฝักสองฝ่ายนั้น เกิดจากการแก่งแย่งทรัพยากร(น้ำมัน)เป็นหลักและแย่งอำนาจ พร้อมกับการแสวงหาผลประโยชน์อื่นๆ

๒ การแตกแยกกันภายในเป็นเรื่องที่อ่อนไหวยิ่ง ในการเปิดช่องให้”มือที่ ๓” เข้าแทรกแซง ไม่ใช่เพื่ออะไร แต่เพื่อการรักษาผลประโยชน์ของ”มือที่ ๓”นั่นเอง ไม่ว่าจะในด้านทรัพยากรหรือในด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือในแง่ความมั่นคงปลอดภัย

๓ ประชาชนของทุกชาติที่เกิดความขัดแย้ง ล้วนตกเป็น”เหยื่อ”เหตุการณ์ ที่มีแต่เสียกับเสีย เสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว

๔ อุดมการที่นักการเมืองประกาศโครมๆ นั้น เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง ของการแสวงหาประโยชน์ของตัวเขาและพรรคพวก ไม่ค่อยชัดเจนนักว่า จะทำเพื่อปวงชนจริง ๆ แต่ก็ยังอุตส่าห์มีคนหลงเชื่อเสมอ

๕ ชาติใดก็ตาม อย่าหวังพึ่งอาศัยรายได้ จากอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยว เช่นจากน้ำมัน หรือข้าว หรือยางพารา เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยหลายๆ อย่าง อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องสองอย่าง เช่นซาอุดีอาระเบีย นอกจากพึ่งพาน้ำมัน ทำรายได้หลักแล้ว การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ของมุสลิมทั่วโลก ในแต่ละปี จำนวนสองสามล้านคนนั้น ก็เข้าข่ายการเดินทาง ไปเพื่อท่องเที่ยว(ในเชิงศาสนา)ได้ หากไม่โกรธกัน ที่จะตีความอย่างนี้

ใครอ่านเรื่องนี้แล้ว ได้ข้อคิดเห็นอะไร เพิ่มเติม โปรดแจ้งสำแดงให้ผู้เขียนได้รับรู้ เพื่อเป็นวิทยาทาน บ้างนะขอรับ

 

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *