นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(12)
นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(12)
โดย รศ.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
การพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน
เกษตรกรรมเป็นอาชีพพื้นฐานของประชาชนในชนบท การพัฒนาชนบทจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร นโยบายการพัฒนาชนบทมีส่วนประกอบหลายด้าน เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการผลิตและการจัดจำหน่ายผลิตผล การสื่อสารคมนาคม การศึกษา สาธารณสุข การช่วยเหลือด้านสินเชื่อ การพัฒนาชุมชน การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างภาคการเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม และบริการ ฯลฯ
กิจกรรมด้านต่างๆในการพัฒนาชนบท ควรมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ(nongovernment organization: NGOs) นำเทคโนโลยีด้านต่างๆมาใช้ประโยชน์
การพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน จะประสบผลสำเร็จได้ ต้องมีนโยบายระดับชาติที่ชัดเจน มีแผนงาน มาตรการและโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานทุกภาคส่วนในประเทศ ทั้งหน่วยงานในภาครัฐบาล และภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องผนึกกำลังและประสานร่วมมือกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ประสบการณ์การขจัดความยากจนและการพัฒนาชนบทของประเทศจีนเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ประเทศต่างๆที่มีความปรารถนาแก้ไขความยากจนของประชาชน ควรศึกษานโยบายและประสบการณ์ของจีนในเรื่องนี้อย่างละเอียด แล้วนำมาปรับใช้กับประเทศของตน
ในบทความนี้ จะเล่าประสบการณ์การกระจัดความยากจนและการพัฒนาชนบทของจีน แล้วสรุปข้อคิดบางอย่างที่น่าจะนำมาปรับใช้ได้กับประเทศไทย นโยบายของประเทศจีน เริ่มจากการขจัดความยากจนก่อน แล้วจึงทำการพัฒนาชนบทอย่างรอบด้านหลังจากนั้น นโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ ที่เริ่มตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 มีผลทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีนได้รับการปรับปรุงดีขึ้นมามาก ในช่วงเวลากว่าสี่ทศวรรษหลังการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ ประชาชนจีนหลายร้อยล้านคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความยากจนในเขตชนบทก็ลดลงไปมาก แต่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของชาวพื้นเมืองและชาวชนบทก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ในปีค.ศ.1994 รัฐบาลจีนเริ่มมีนโยบายการขจัดความยากจนที่เป็นกิจจะลักษณะ โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีฐานะยากจนที่ชัดเจน ย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 รัฐบาลจีนมีการกำหนดรายละเอียดในการช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้มากขึ้น ในปลายปี 2012 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้สั่งให้หน่วยงานรัฐบาลทั่วประเทศผนึกกำลังดำเนินนโยบายขจัดความยากจน ในปลายปีค.ศ. 2013 เขาเริ่มกล่าวถึงแนวคิดเรื่องการช่วยเหลือผู้ยากจนแบบตรงจุด(精准扶贫)ต่อมา ในปลายปีค.ศ. 2015 คำ”ช่วยเหลือผู้ยากจน”(扶贫) ได้เปลี่ยนมาเป็น”ขจัดความยากจน”(脱贫) และความคิดการกระจัดความยากจนอย่างตรงจุด ได้นำมาจัดทำนโยบายและมาตรการที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติ ในปีนั้น รัฐบาลจีนมีการจัดประชุมข้าราชการในมณฑลต่างๆทั่วประเทศ และทำพิธีเซ็นชื่อรับรองว่าจะรับผิดชอบในภารกิจขจัดความยากจนตรงจุดที่ได้รับการมอบหมาย ในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 19 ในปลายปีค.ศ. 2017 นโยบายการขจัดความยากจน ถูกระบุว่า เป็นส่วนสำคัญของการสร้างสังคมที่มีอันจะกินทั่วหน้า(全面小康社会) คือทุกคนในประเทศมีกินมีใช้ ไม่อดอยาก ไม่ขาดแคลนในสิ่งสิ่งที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศในศตวรรษที่ 21 ที่ประกาศก่อนหน้านั้น
จนถึงปีค.ศ. 2020 ในประเทศจีนมีประชาชนที่หลุดพ้นความยากจนแลัวเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ยังมีอยู่หลายล้านหมู่บ้านในกว่าห้าสิบอำเภอ ที่ยังมีผู้ยากจนอยู่มาก พื้นที่ที่ขจัดความยากจนลำบาก กระจายอยู่ในมณฑลกวางสี(广西) เสฉวน(四川) กุ้ยโจว(贵州) หวินหนาน (云南) กันซู่(甘肃) หนิงเซี่ย(宁夏) และซินเจียง(新疆) ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ มีสภาพทางธรรมชาติที่เลวร้ายมาก
หลังการระบาดของโรคโควิด มีคนหลายล้านคนที่เดิมทำงานในเมืองกลับสู่ชนบท ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นที่ยากจนมาก มีความยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการทุ่มเททำงาน ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ของหน่วยงานทั้งที่อยู่ในภาครัฐภาคเอกชน และองค์การต่างๆ ในที่สุด ก็เอาชนะอุปสรรคทั้งหลายที่มีอยู่และสามารถขจัดความยากจนในท้องที่เหล่านี้ได้สำเร็จ
ในวันขึ้นปีใหม่ ค.ศ.2020 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้ประกาศแก่ชาวโลกว่า ประเทศจีนได้ประสบผลสำเร็จในการต่อสู้กับความยากจน ประชาชนทั้งประเทศได้หลุดพ้นจากความอดอยากยากจนดักดาน และภารกิจการต่อสู้กับความยากจนของจีนได้บรรลุเป้าหมายแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากยึดตามนิยามของธนาคารโลก เส้นความยากจนคือมีรายได้ตํ่ากว่าวันละ 5.5 เหรียญอเมริกา ตามคำนิยามนี้ ประเทศจีนยังมีประชาชนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนอยู่กว่าสามร้อยล้านคน แต่รัฐบาลจีนกล่าวว่า เส้นความยากจนของจีนไม่เพียงคิดจากรายได้ที่เป็นตัวเงินเท่านั้น ยังคำนึงถึงปัจจัยอื่นที่ไม่สามารถวัดเป็นเงินได้ด้วย มาตรฐานการหลุดพ้นความยากจนของจีนคือ: ประการแรก สองไม่ห่วงและสามรับรอง(兩不愁三保障)คือไม่ต้องห่วงเรื่องกิน และไม่มีเสื้อผ้ารับรองการได้รับการศึกษาภาคบังคับ ได้รับการรักษาพยาบาล มีที่อยู่อาศัย ประการต่อมา ได้รับสิ่งที่ระบุในรายการขจัดความยากจนโดยครบถ้วน คือ มีอาชีพการงาน ได้รับการศึกษา ได้รับสวัสดิการจากรัฐ มีบ้านของตนเอง มีนํ้าดื่มสะอาด คนแก่และคนพิการได้รับการดูแล และประการสุดท้าย มีการปรับปรุงสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในพื้นที่ เข่น มีถนนหนทาง มีไฟฟ้า เข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ทและสื่อสารมวลชนต่างๆที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ลักษณะสำคัญของการขจัดความยากจนของประเทศจีนคือ
1. มีโยบายระดับชาติที่ชัดเจน โดยหน่วยงานทุกภาคส่วนในรัฐบาลล้วนมีหน้าที่ในการดำเนินนโยบาย จัดตั้งกองทุนที่จะใช้ในภารกิจขจัดความยากจน มีระบบที่ชัดเจนในเรื่อง ความรับผิดชอบ การลงทุน ทั้งในการสร้างสิ่งสาธราณูปโภค และการลงทุนในกิจกรรมอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การค้าบริการ มีการให้ความช่วยเหลือดูแลที่หลากหลาย ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ส่งเสริมการงานอาชีพ และการเคลื่อนย้ายทางสังคม
2. ขจัดความยากจนอย่างตรงจุด มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อทราบถึงสภาพและปัญหาในแต่ละพื้นที่ และรู้ว่าประชาชนควรได้รับการช่วยเหลือในลักษณะใด มีการส่งทีมงาน ประกอบด้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักศึกษา และบุคคลจากองค์การอื่นเข้าศึกษาสภาพและปัญหา ในเขตชนบท ในบางพื้นที่ ทีมการศึกษานี้ จะอยู่ประจำในพื้นที่เป็นแรมปี และเมื่อมาตรการต่างๆขจัดความยากจนดำเนินการไปได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว จะมีการติดตามตรวจสอบ ทั้งในระดับพื้นที่ ครัวเรือน และบุคคล ทำการประเมินผล แล้วแก้ไขประบปรุงโยบาย มาตรการการขจัดความยากจน เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
3. หลายภาคส่วนประสานร่วมมือกันทำงาน นอกจากหน่วยงานของรัฐแล้ว สถานประกอบการเอกชนและองค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชน ล้วนมีส่วนร่วมในภารกิจขจัดความยากจนในลักษณะต่างๆ สถาบันการเงิน ก็ได้ให้ความช่วยเหลือโดยการให้สินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ประชาชนนำไปชำระหนี้ และลงทุนในการผลิต การจำหน่าย และการสร้างที่อยู่อาศัย
4. ในการดำเนินการนโยบายขจัดความยากจน มีการใช้เทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านการผลิต การจัดจำหน่าย การสื่อสารคมนาคม และในเรื่องอื่นๆ เช่น ทำการขายสินค้าออนไลน์ในผลิตผลเกษตร และหัตถกรรมพื้นเมือง โฆษณาแหล่งการท่องเที่ยว แนะนำที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร และเส้นทางที่จะเข้าถึงพื้นที่ได้สะดวก ระบุสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยมีการบรรยายหรือเล่าเหตุการณ์และตำนานต่างๆในอินเตอเน็ตอย่างน่าสนใจ
ตั้งแต่ปีค.ศ.2015 เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมาก หลังจากมีการเจริญเติบโตอัตราสูงเป็นเวลาหลายทศวรรษ ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลก การกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ ต้นทุนที่สูงขึ้น และการแข่งขันจากประเทศอื่น ล้วนมีส่วนทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ในเวลาต่อมา ยังต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิดอีก
อย่างไรก็ตาม ก่อนการระบาดของโรคโควิด เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ก็มีชาวชนบทที่ไปทำงานในเมืองส่วนหนึ่งกลับสู่ภูมิลำเนาในชนบท ตรงข้ามกับกระแสการเข้าเมือง(进城潮)ในทศวรรษ 1980 ในช่วงทศวรรษ 2010 มีกระแสการกลับชนบท (回乡潮 ) มีคนงานในเมืองกลับเข้าสู่ชนบทเป็นจำนวนหลายสิบล้านคน คนงานเหล่านี้ ร่วมกับคนที่จบการศึกษา แต่ยังหางานทำในเมืองไม่ได้ พากันกลับสู่ลำเนาของตนในชนบท นำความรู้ความสามารถและเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ได้มาจากการทำงาน หรือการศึกษามาใช้ประโยชน์ในชนบท เช่น ปรับปรุงวิธีการผลิต การจำหน่าย และโฆษณาสถานที่ท่องเที่ยว โดยมีส่วนร่วมในการขจัดความยากจนในเขตชนบทด้วย
หลังจากการขจัดความยากจนประสบผลสำเร็จแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การพัฒนาชนบทอย่างรอบด้าน ซึ่งมีขอบเขตการครอบคลุมที่กว้างขวางกว่าและทำได้ยากกว่ามาก เกี่ยวข้องกับชนบททั่วประเทศ และประชาชนกว่า 900 ล้านคนในกว่า 2700 อำเภอ ในขณะที่นโยบายการขจัดความยากจน มุ่งประชาชนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นมากประมาณ 100 ล้านคนเท่านั้น (ในบางเขตพื้นที่ชนบท ก็ไม่มีคนยากจนดักดานที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเลย)
นโยบายการพัฒนาชนบท มุ่งปรับปรุงการผลิต การจำหน่าย การสื่อสารคมนาคม การศึกษา สาธารณสุข และสิ่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย มีเครื่องใช้ที่ทันสมัย เป็นคนมีคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดี
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) ได้บรรจุแนวคิดการสร้างความเจริญให้หมู่บ้านในชนบท พัฒนาชนบทให้มีความเจริญรุ่งเรืองรอบด้าน(全面推进乡村振兴) เอกสารหลายฉบับที่กล่าวถึงโยบายด้านนี้ ในเอกสารรัฐบาล คำที่ใช้มากคือ: “ความเจริญรุ่งเรือง” (振兴) “ความทันสมัย“(现代化) เทคโนโลยีระดับสูง (高科技) และการสานต่อผลของนโยบายการขจัดความยากจน(巩固拓展脱贫攻坚成果)
สิ่งที่รัฐบาลจีนกังวลก็คือ นโยบายการขจัดความยากจนจะไม่มีความยั่งยืน เนื่องจากคนจนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร มีสิ่งสาธารณูปโภค ทรัพยากร และมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย แม้ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ จนสามารถหลุดพ้นความยากจนแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ก็อาจกลับมายากจนอีก ในกรณีนี้ การดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญ
นโยบายการพัฒนาชนบทของจีน จึงเน้นการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตชนบทที่ทุรกันดารด้วย นโยบายพัฒนาชนบท จึงทำควบคู่กับการขจัดความยากจนที่ต่อเนื่องและยั่งยืน
นโยบายการพัฒนาชนบท เน้นการแก้ปัญหาชาวชนบทรอบด้าน โดยอาศัยเทคโนโลยีทันสมัย สร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ประสานการพัฒนาเมืองกับชนบท มีแผนการพัฒนาชนบทดิจิตัล (ค.ศ. 2019-2024) ซึ่งนำเอาเทคโนโลยีดิจิตัลมาสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรและการพัฒนาชนบทในกิจกรรมต่างๆ ทั้งการพัฒนาการผลิต (การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง และป่าไม้ และสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง) การสร้างสิ่งสาธารณูปโภค การเชื่อมโยงระหว่างการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ และระหว่างเมืองกับชนบท รวมทั้งการบริหารจัดการระบบนิเวศน์ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มีแผนการลงทุนเพื่อสร้างไร่นาที่มีความทันสมัย เน้นการยกระดับมาตราฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตชนบท โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ทุรกันดาร
นโยบายการพัฒนาชนบทของประเทศจีน ดำเนินการในขนาดที่ใหญ่มาก ใช้กำลังเงินและกำลังคนมากมาย และดำเินกรรอย่างต่อเนื่อง แม้ประสบผลสำเร็จได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็ยังมีการดำเนินการต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง
ประสบการณ์การขจัดความยากจนและการพัฒนาชนบทของประเทศจีน น่าจะนำมาปรับใช้กับประเทศอื่น รวมทั้งประเทศไทยได้ แม้ระบอบการปกครองของประเทศไทยกับจีนจะมีความแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างในระบอบการปกครอง ไม่ควรถูกเอามา กล่าวอ้าง บางคนอ้างว่า “ประเทศจีนทำได้ เพราะมีการปกครองแบบเผด็จการ รัฐบาลเขาสามารถสั่งให้คนทั้งประเทศร่วมการทำงานได้ แต่ประเทศเรา มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่น่าทำอย่างเขาได้” ในความเป็นจริง สถานประกอบการเอกชนและองค์กรต่างๆที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานในภารกิจขจัดความยากจนและการพัฒนาชนบทในจีน ส่วนใหญ่ร่วมทำงานด้วยความสมัครใจ และหากนโยบายการขจัดความยากจนและการพัฒนาชนบทประสบผลสำเร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของเขาด้วย ถ้าชาวชนบทมีรายได้มากขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เขาก็จะสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น และมีรายได้มากขึ้นด้วย
ในประเทศไทย สถานประกอบการธุรกิจบางแห่ง มีการทำกิจกรรมในลักษณะต่างๆ ที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบด้านสังคม (Corporate social responsibility: CSR) เอ็นจีโอ (Nongovernmental organization:NGOs)หรือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลจำนวนไม่น้อยก็สนใจกิจกรรมการพัฒนาชนบท หากรัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาชนบทสถานประกอบการเอกชนและองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ น่าจะมีจำนวนหนึ่งที่สนใจเข้าร่วมในภารกิจการพัฒนาชนบทด้วย
ข้อคิดที่ได้จากการศึกษาประสบการณ์การขจัดความยากจนและการพัฒนาชนบทของจีนคือ: มีนโยบายระดับประเทศที่มีการดำเนินการจริงจังและต่อเนื่อง มีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงาน มีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ มีการประเมินผล และแก้ไขปรับปรุงตามความเหมาะสม สิ่งต่างๆเหล่านี้ ประเทศไทยน่าจะทำได้หากมีความตั้งใจจริง ประเทศจีนมีขนาดประเทศทั้งทางด้านพื้นที่และประชากรมากกว่าไทยหลายสิบเท่า สภาพทางภูมิศาสตร์โดยเฉลี่ย ก็ไม่ดีกว่าประเทศไทย ประเทศจีนสามารถทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้?
ปัญหาสำคัญของการดำเนินนโยบายการขจัดความยากจนและการพัฒนาชนบทคือ รัฐบาลไทยสมัยต่างๆไม่ได้ให้ความสนใจแก่นโยบายการขจัดความยากจนและการพัฒนาชนบทมากนัก และไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้ในเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยหลายชุด มีนโยบายการช่วยเหลือผู้ยากไร้ในเขตชนบทอยู่หลายอย่าง เช่น การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) กองทุนหมู่บ้านและชุมชน พักชำระหนี้ ประกันรายได้เกษตรกร และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายบางอย่างที่ทำได้ดี ก็ถูกเลิกล้มไป ไม่ดำเนินการต่อ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการให้เงินให้สวัสดิการ แม้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนยากจนเป็นครั้งคราว แต่ไม่ด้ขจัดความยากจนได้อย่างยั่งยืน
สิ่งควรทำในนโยบายการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจนในประเทศไทย คือ
1.มีนโยบายระดับชาติที่ชัดเจน มีหน่วยงานรับผิดชอบทำหน้าที่อย่างเป็นกิจจะลักษณะ
2.จัดสรรงบประมาณและบุคลากรในการดำเนินนโยบายอย่างเพียงพอ
3.มีข้อมูลในพื้นที่ชนบททั่วประเทศที่ละเอียดชัดเจน รับรู้ถึงปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจนในแง่มุมต่างๆเพื่อกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
4.รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนในประเทศให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการโดยมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆอย่างใกล้ชิด มีเครือข่ายความร่วมมือประสานงานทีมีประสิทธิภาพ
5.ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ การโฆษณาแหล่งท่องเที่ยว และการนำเสนอข้อมูลต่างๆที่มีความสำคัญต่อชาวชนบท การส่งเสริมการผลิตการจำหน่ายสินค้า และการสื่อสารในเรื่องต่างๆ ล้วนใช้เครื่องมือการสื่อสารสมัยใหม่ได้
6.มีการใช้ไฟฟ้าและเข้าถึงบริการสื่อสารต่างๆในเขตชนบทอย่างทั่วถึง มีการพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอื่นแก่ชาวชนบทอย่างทั่วถึง ซึ่งจะทำได้ต้องใช้เวลาและงบประมาณ แผนพัฒนาพื้นที่ในเขตภูมิภาคที่ดำเนินการมาบ้างแล้ว อาจขยายขอบเขตให้มีการครอบคลุมถึงพื้นที่ชนบททั่วประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาพอควร แต่อาจทยอยทำเป็นขั้นเป็นตอนอย่างต่อเนื่อง
7.ส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพ นอกจากกิจกรรมในไร่นาแล้ว กิจกรรมนอกไร่นา(off-farm activities) ก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะควรมีการสร้างงานสร้างอาชีพแก่เกตรกรในนอกฤดูการเพาะปลูกพืชผลและฤดูเก็บเกี่ยว
กล่าวโดยสรุป การพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน ควรเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลชุดต่างๆ ที่มีการดำเนินการต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายนี้ก็ต้องดำเนินการต่อไป มาตรการต่างๆที่ประสบผลสำเร็จไปบ้างแล้วไม่ควรถูกยกเลิก แต่ควรทำการปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รัฐบาลชุดต่างๆ ควรหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน และยกเลิกนโยบายประชานิยมเพื่อซื้อเสียงประชาชนที่ทำมามากแล้วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา