ซาอุดีอาระเบีย – อิหร่าน : จากความขัดแย้งสู่ความสัมพันธ์อีกครั้ง (4)
ซาอุดีอาระเบีย – อิหร่าน : จากความขัดแย้งสู่ความสัมพันธ์อีกครั้ง (4)
จรัญ มะลูลีม
เมาลานา ตอฮีร มะห์มูด อัชรอฟี (Maulana Tahir Mahmoud Ashrafi) ผู้ช่วยพิเศษฝ่ายกิจการตะวันออกกลางของนายกรัฐมนตรีปากีสถานในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว IRNA ของอิหร่านเมื่อวันพุธที่ 29 มีนาคม 2003 กล่าวว่าตัวเขาขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลและประชาชนของทั้งสองประเทศเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียเพื่อสานสัมพันธ์ทวิภาคีอีกครั้ง และกล่าวเสริมว่าโลกอิสลาม โดยเฉพาะประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ มีความยินดีกับพัฒนาการนี้
เขาได้ชี้ถึงความมุ่งมั่นอย่างจริงจังของอิหร่านและซาอุดีอาระเบียในการพิจารณาความร่วมมือที่มีต่อกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันและช่วยเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค โดยกล่าวว่า:ปากีสถานยินดีกับข้อตกลงอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและทั่วโลก และชื่นชมบทบาทของจีนในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการสำคัญนี้
เขากล่าวต่อไปว่า อิหร่านและซาอุดีอาระเบียเป็นสองอาวุธที่แข็งแกร่งของโลกอิสลาม และพวกเขาสามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อปกป้องประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมทั้งปัญหาของชาวปาเลสไตน์และแคชเมียร์
เขาเน้นย้ำต่อไปอีกว่า สภาอุลามาอ์ (สภานักการศาสนา) ของปากีสถานพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับนักวิชาการและชนชั้นนำทางศาสนาของอิหร่านและซาอุดีอาระเบียเพื่อใช้ความสามารถร่วมกันผ่านผลของข้อตกลงอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย และการพัฒนานี้จะส่งเสริมการทูตทางศาสนาและสำนักคิดในโลกอิสลามอย่างแน่นอน
การที่การประชุมเอเปค (APEC Bangkok 2022) เป็นจุดเริ่มต้นของ ความสัมพันธ์ของ อิหร่านและซาอุดีอารระเบีย (จากการพบปะกันของ MBS และสีจิ้นผิงเพื่อการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ อิหร่าน – ซาอุดีอาระเบีย) เป็นการนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนของสองประเทศที่อย่างน้อยประเทศไทยก็มีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นสถานที่ที่สองผู้นำมาพบปะกัน
อนาคตของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านหลังข้อตกลง
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย มูซาอัด บิน มุฮัมมัด อัล-อัยบัน และหวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีน และอาลี ชัมคานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่านได้จับมือกันหลังจากลงนามข้อตกลงในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2003
ไม่กี่วันหลังจากการลงนามในข้อตกลงระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียในการเปิดสถานทูตอีกครั้ง มุฮัมมัด อัล-จาดาอัน รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียกล่าวว่าประเทศของเขาอาจลงทุนในสาธารณรัฐอิสลามในไม่ช้า
เมื่อถูกถามว่าโลกจะเห็นราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียลงทุนในอิหร่านได้เร็วเพียงใด อัล-จาดาอันตอบว่า: “ข้าพเจ้าขอกล่าวว่าในเร็ววันนี้” พร้อมกันย้ำว่า
อิหร่านเป็นเพื่อนบ้านของเราที่ยังคงเป็นอยู่และจะเป็นต่อไปอีกหลายร้อยปี” อัล-จาดาน กล่าว “ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่เห็นปัญหาใด ๆ ที่จะขัดขวางการทำให้ความสัมพันธ์เป็นปกติ รวมทั้งการลงทุนข้ามชาติ ฯลฯ
ประเทศทั้งสองยังเห็นพ้องต้องกันว่าความร่วมมือก่อนหน้านี้ ได้แก่ “ข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคง” และ “ข้อตกลงทั่วไปเพื่อความร่วมมือ” จากปี 1998 ซึ่งครอบคลุมด้านการค้า เศรษฐกิจ กีฬา เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และเยาวชน จะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
กลยุทธ์ระดับภูมิภาคของอิหร่านจะมุ่งเน้นไปที่การพลังงานและการเชื่อมต่อระหว่างกันทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน แง่มุมด้านความปลอดภัยของกลยุทธ์นี้ได้รับการกล่าวถึงในโครงการที่เรียกว่าความมุ่งหวังสู่สันติภาพแห่งฮอร์มูซ (Hormuz Peace Endeavour หรือ HOPE)
ซาอุดีอาระเบียกำลังเปิดตัวเมกะโปรเจ็กต์มูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนวิสัยทัศน์ปี 2030 ของซาอุดีอาระเบียที่มุ่งสร้างความหลากหลายที่ไม่ได้มาจากน้ำมัน ทั้งนี้อิหร่าน ซึ่งเศรษฐกิจตกอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกมาหลายปี ก็พยายามจะกระจายเศรษฐกิจของตนเช่นกัน
อัล จาดาอัน กล่าวว่ามีโอกาสมากมายสำหรับการลงทุนของซาอุดีอาระเบียในอิหร่าน ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่านี่เป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญของเจตจำนงทางการเมืองในระดับสูงสุดในซาอุดีอาระเบีย
ตามรายงานของสื่ออัมวัจ (Amwaj.media) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ครอบคลุมทั้งอิหร่าน อิรัก และประเทศต่างๆ ในคาบสมุทรอาระเบีย กล่าวว่าคลื่นลูกแรกของการลงทุนอาจก่อตัวขึ้นในอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกแซงก์ชั่น เช่น อาหารและยา ตามมาด้วยภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งการธนาคารและการทำให้ทางออกทางการเงินเข้าที่เข้าทางมากขึ้น
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วมในการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ยังมีโอกาสอีกมากมายในภาคส่วนอื่นๆ หนึ่งในภาคดังกล่าวคืออุตสาหกรรมเหมืองแร่ อิหร่านมีโครงการลงทุนที่มีความทะเยอทะยานในภาคส่วนนี้ และนักลงทุนของซาอุดีอาระเบียก็สามารถทำกำไรได้อย่างแน่นอนจากการมีผลิตภัณฑ์แร่จำนวนมากในการขับเคลื่อนการกระจายความเสี่ยง รายงานระบุ
ทั้งอิหร่านและซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าความเป็นจริงในทางภูมิรัฐศาสตร์และพลังงานใหม่อาจทำให้การทำงานร่วมกันในภาคปิโตรเลียมคุ้มค่า โดยพวกเขาสามารถเป็นพันธมิตรกันเพื่อเติมเต็มห่วงโซ่แห่งการเปลี่ยนแปลงในการนำส่งสินค้าของตนให้สมบูรณ์ โดยเปลี่ยนจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปสู่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี
ข้อตกลงในการกลับมามีความสัมพันธ์กันนี้สร้างความยินดีให้กับอมิน นัซเซ่อร์ (Amin Nasser) ซีอีโอของ Saudi Aramco ที่มองว่าข้อตกลงระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่จะช่วยให้เกิดโครงการร่วมในอนาคตได้อย่างแน่นอน รวมถึงข้อตกลงการแลกเปลี่ยนและการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
นอกเหนือจากความร่วมมือทวิภาคีโดยตรงในตลาดอิหร่านและซาอุดีอาระเบียแล้ว ยังมีขอบเขตอีกมากสำหรับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆ ที่จะเข้ามาร่วมความสัมพันธ์ทางการค้ากับสองประเทศนี้ในอนาคตอีกด้วย
ผลพวงจากความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่าน-ซาอุดีอาระเบีย
อิหร่านและซาอุดีอาระเบียได้ประกาศข้อตกลงเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่จีนเป็นคนกลาง
ทั้งนี้เชื่อกันว่ามีโอกาสมากมายสำหรับโครงการทำเหมืองร่วมกันในประเทศที่สาม ซึ่งสามารถสร้างงานและแรงผลักดันทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งการสร้างความไว้วางใจระหว่างองค์กรของอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย
ในภาคส่วนของพลังงาน โครงการหนึ่งที่จับต้องได้คือการบรรลุข้อตกลงไตรภาคีระหว่างคูเวต ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน ในแหล่งก๊าซธรรมชาติ ดอรรา/อราช (Dorra/Arash) นอกชายฝั่ง ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่จะก่อให้เกิดสถานการณ์ win-win สำหรับภูมิภาคนี้
ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านยังสามารถเชื่อมต่อด้านการไฟฟ้าของพวกเขาได้ โดยจะมีสะพานเชื่อมที่จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างกันคืออิรักซึ่งพึ่งพาไฟฟ้าของอิหร่านเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศประมาณร้อยละ 10 รวมทั้งก๊าซของอิหร่านในอิรักที่มีผลต่อการผลิตในประเทศประมาณหนึ่งในสาม