นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(9)
นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(9)
โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
ข้อคิดบางประการจากการทบทวนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา จากการทบทวนความเจริญและความเสื่อมของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาต่างๆหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พบว่า นโยบายเศรษฐกิจ สังคมสถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกของรัฐบาลไทย ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมของประเทศ ล้วนมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ
ก.) ก่อนปีค.ศ. 1960
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาหลายประการ เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ข้าวของมีราคาแพง ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตํ่า
ระหว่างปี ค.ศ. 1947 ถึง 1955 ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา(multiple exchange-rate system) ต่อมาเมื่อไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จึงเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนอัตราเดียว
การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ทำให้ภาวะเงินเฟ้อลดลง และรัฐบาลมีเงินตราต่างประเทศมากขึ้น แต่มีผลเสียหลายประการ เช่น เกิดตลาดมืดในตลาดเงินตราต่างประเทศ มีการลักลอบการนำเข้าและการส่งออก แต่โดยทั่วไปแล้ว การใช้อัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ก็มีส่วนที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้ปรับปรุงดีขึ้นมาบ้าง
หลังจากหันมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนอัตราเดียว รัฐบาลมีการเก็บค่าพรีเมี่ยมในการส่งออกข้าว นโยบายพรีเมียมข้าวนี้ ในเวลาต่อมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการจำนวนมากว่า เป็นนโยบายที่มีผลเสียต่อชาวนาที่เป็นคนยากจน และในที่สุดก็ถูกยกเลิกไป แต่การเก็บค่าพรีเมี่ยมข้าวนี้ อาจเป็นนโยบายที่จำเป็นในช่วงเวลานั้น เพราะก่อนหน้านั้น รายรับเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการส่งออกข้าว จะต้องนำมาแลกเงินบาทกับรัฐบาลในอัตราที่ทางการกำหนด ซึ่งต่ำกว่าอัตราตลาดมาก ถ้ามีอัตราแลกเปลี่ยนอัตราเดียว ผู้ส่งออกข้าวสามารถนำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับมาแลกในอัตราใหม่ที่สูงกว่าอัตราเดิมมาก พ่อค้าข้าวก็จะพากันส่งออกข้าว ทำให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในเวลานั้นนโยบายเศรษฐกิจอีกอย่างของรัฐบาลสมัยนั้น คือ การตั้งรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้คนไทยมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งป้องกันไม่ให้ชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งยังถือว่าเป็นชาวต่างด้าวในสมัยนั้นมีบทบาท ควบคุมเศรษฐกิจไทยมากเกินไป แต่รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพตํ่า มีผลประกอบการไม่ดี ทั้งยังมีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างแพร่หลาย ต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายการตั้งรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นจึงเลิกล้มไป แต่รัฐวิสาหกิจที่ตั้งไว้แล้วจำนวนมาก ก็ยังดำเนินการต่อไป
ข.) ทศวรรษของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยยุคใหม่
ในทศวรรษ 1960 นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเปลี่ยนไปมาก ประเทศไทยเริ่มมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุน ของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ มีการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคจำนวนมาก ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา และเขื่อนชลประทาน ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่หนึ่งและสอง(ค.ศ. 1961-1971) จึงเป็นช่วงปูพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ของประเทศไทย
ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในทศวรรษ 1960 นี้ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า(import substitution) โดยการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งคุ้มครองด้วยอัตราภาษีการนำเข้าในระดับสูง เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ
มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ยุทธศาสตร์ทดแทนการนำเข้าว่า เป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม ต้องคุ้มครองด้วยอัตราภาษีศุลกากรที่สูง ทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพ และก็ประหยัดเงินตราต่างประเทศได้ไม่มาก เพราะในการผลิตสินค้าบริโภคเพื่อทดแทนการนำเข้า ต้องนำเข้าเครื่องจักร ชิ้นส่วนอุปกรณ์ และวัตถุดิบจากต่างประเทศ นโยบายทดแทนการนำเข้าจึงมีผลทำให้ประเทศต้องขาดดุลการค้า มากขึ้น อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น ก็กระจุกตัวในเขตกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งผู้บริโภคมีรายได้สูง และมักตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นท่าเรือนำเข้า เพื่อประหยัดค่าขนส่งในการขนส่งเครื่องจักรและ สินค้าขั้นกลางที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการกระจุกตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ สร้างมลภาวะ ทำลายสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความแออัดของการจราจรในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าในช่วงแรกของการพัฒนาเศรษฐกิจ อาจมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย ซึ่งยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศอ่อนแอ การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ทำให้ประเทศไทยมีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหลายชนิด และทำมีการผลิตในอุตสาหกรรมที่ถือว่าใหม่ในเวลานั้น เช่น รถยนต์ ยางรถยนต์ กระจก เคมีภัณฑ์ และเครื่องไฟฟ้าในประเทศได้ในระยะเวลาไม่นาน
ค.) การขยายตัวของการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรม
ในทศวรรษ 1970 รัฐบาลเริ่มให้ความสนใจเรื่องการส่งเสริมการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรม และการกระจายอุตสาหกรรมสู่เขตภูมิภาค ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สาม(ค.ศ. 1972-76) มีการแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์มากขึ้นแก่อุตสาหกรรมส่งออก และอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตภูมิภาค และมีนโยบายคืนเงินภาษีศุลกากรที่จัดเก็บจากการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ใช้เพื่อผลิตสินค้าส่งออก
ในทศวรรษนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจ และการเงินโลก จากปลายปีค.ศ. 1971 ถึงปี 1979 เงินดอลล่าร์อเมริกันมีค่าลดลงมาก ส่งผลให้เงินบาทซึ่งผูกติดกับอเมริกันดอลล่าร์มีค่าลดลงด้วย การลดลงของค่าเงินบาททำให้สินค้าออกของไทยในตลาดโลกมีราคาลดลง และส่งออกได้มากขึ้น
ปีค.ศ. 1973 เกิดวิกฤติราคาน้ำมันครั้งแรก ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันน้อยกว่าประเทศอื่นหลายประเทศ แม้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศจะสูงขึ้นมาบ้าง แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นสินค้าออกสำคัญของไทย เช่น ข้าว และยางพารา ก็ขยับสูงขึ้น การขยายตัวของการส่งออก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการขาดดุลการค้า ที่เนื่องมาจากการขึ้นราคาน้ำมันที่ต้องนำเข้า
ในทศวรรษ 1970 ประเทศไทยยังมีการเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าในอัตราสูง ดังนั้น เราจึงมีนโยบายการส่งเสริมการส่งออก ควบคู่กับการทดแทนการนำเข้า แต่นโยบายและมาตรการส่งเสริมการส่งออก มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยในทศวรรษนี้ได้มาก
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เป็นนโยบายที่สอดคล้องกับความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของประเทศ ที่มีวัตถุดิบและแรงงานราคาถูก จึงสามารถส่งออกในสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น(labor-intensive) และสินค้าที่มีทรัพยากรในภาคการเกษตรเป็นวัตถุดิบ(resource-based) เช่น อาหาร สิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้เป็นจำนวนมาก
นโยบายส่งเสริมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมนี้ ในระยะแรก มีคนคัดค้านหรือไม่เห็นด้วย เกรงว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในตลาดโลก แต่เมื่อเห็นว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จ เสียงคัดค้านในเรื่องนี้จึงลดลง
ง.) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 1980
ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษนี้ เศรษฐกิจไทยประสบกับปัญหาหลายประการ: ในช่วงค.ศ. 1979-1981 เกิดวิกฤติการณ์ราคาน้ำมันโลกครั้งที่สอง สินค้าเกษตรในตลาดโลกราคาตกต่ำ ทำให้มีปัญหา การขาดดุลการค้ามากขึ้น และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ ในเวลานั้น ค่าเงินดอลล่าร์อเมริกันได้ปรับสูงขึ้นมาก จากการใช้นโยบายลดภาษี โดยไม่ลดการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และต้องกู้เงินจากตลาดเงินเพื่อใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น จนมีเงินทุนไหลเข้าสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ส่งผลให้ดอลล่าร์อเมริกันมีค่าสูงขึ้น เมื่อค่าเงินดอลล่าร์สูงขึ้น ค่าเงินบาทไทยซึ่งผูกติดกับค่าเงินดอลล่าร์ จึงขยับตัวสูงขึ้นด้วย ส่งผลเสียต่อการส่งออกของสินค้าไทย
ในปีค.ศ. 1981 และ 1984 รัฐบาลไทยได้ปรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะในปี 1984 มีการลดค่าเงินในอัตราสูงถึงร้อยละ 14.8 ควบคู่กับการลดค่าเงิน รัฐบาลได้มีการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น นโยบายการลดค่าเงินในครั้งนั้น ถูกคัดค้านจากบุคคลหลายฝ่าย แต่เมื่อเวลาผ่านไปผลปรากฏว่า การปรับค่าเงินบาท ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้มาก
ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจโลก เช่น การลดลงของราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และการเปลี่ยนแปลงค่าเงินของประเทศต่างๆ ในโลก ถ้าไม่มีการลดค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ประเทศไทยคงได้รับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้น้อยลง
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ห้า(ค.ศ. 1982 -1986) รัฐบาลไทยมีนโยบายการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก ข้อตกลงพลาซาแอคคอร์ด(Plazza Accord) ของประเทศมหาอำนาจของโลกในปี ค.ศ. 1985 ทำให้ค่าเงินของประเทศต่างๆเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนี้ ค่าเงินดอลล่าร์อเมริกันลดลงมาก เงินเยนญี่ปุ่น และค่าเงินของเขตเศรษฐกิจอื่นในเอเชีย เช่น เกาหลีและไต้หวัน ก็สูงขึ้นมาก บริษัทอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น และเขตเศรษฐกิจอื่นในเอเซีย จึงพากันออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการแข็งค่าของเงิน ในช่วงนั้น ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก โครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปมากเช่นกัน นอกจากอุตสาหกรรมส่งออกแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและสินค้าขั้นกลางอื่นๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งมีการการกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะในชายฝั่งทะเลตะวันออกมากขึ้น
บทเรียนราคาแพงจากวิกฤตต้มยำกุ้ง
เกือบทศวรรษก่อนเกิดวิกฤติ”ต้มยำกุ้ง” ซึ่งเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆในทวีปเอเชีย ในปีค.ศ. 1997-1998 เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราสูง แต่การมีนโยบายที่ผิดพลาด หลังจากที่เศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตอัตราสูง ทำให้ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจที่สร้างผลเสียหายมหาศาล
แม้เหตุการณ์จะผ่านไปกว่า 25 ปี แล้ว ผู้บริหารเศรษฐกิจของรัฐ นักธุรกิจ และนักวิชาการในประเทศไทย ยังจดจำเหตุการณ์ครั้งนั้น และพยายาามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนั้นอีก
กล่าวโดยสรุป ความผิดพลาดของนโยบายเศรษฐกิจในเวลานั้น คือ การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การเปิดเสรีทางการเงินในเวลาที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม และการผู้ยืมเงินจากต่างประเทศจำนวนมาก นักเกินกำไรคาดว่า ในที่สุด เงินบาทจะต้องลดค่าลง จึงมีการโจมตีค่าเงินบาท จนทุนสำรองเงินตราของประเทศไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้ต่างประเทศ ส่วนในประเทศ ก็มีปัญหาความไม่มั่นคงในภาคการเงิน ประชาชนและธุรกิจและประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเงิน แห่กัไปถอนเงินที่ธนาคารและสถาบันการเงิน วิกฤติเศรษฐกิจต่างประเทศ จึงถูกซ้ำเติมโดยปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ
ปัญหาทั้งภายในและภายนอกประเทศมีความสัมพันธ์กัน ในเวลานั้น อัตราดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมาก นักธุรกิจและประชาชนทั่วไป จึงพากันกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก การที่มีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ทำให้ผู้กู้เงินไม่รู้สึกว่ามีความเสี่ยง เมื่อมีการกู้เงินกันจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยมีหนี้สินล้นพ้นตัว นักเก็งกำไรค่าเงินนานาชาติ คาดว่า ค่าเงินบาทจะต้องลดลง จึงพากันโจมตีค่าเงินบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาปกป้องค่าเงินบาท จนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงถึงระดับที่ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ต่างประเทศ ในที่สุด ประเทศไทยต้องประกาศลดค่าเงินบาท และขอความช่วยเหลือ กู้ยืมเงินจากไอเอ็มเอฟและประเทศต่างๆ
เงื่อนไขการกู้เงินจากไอเอ็มเอฟที่เข้มงวด ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก ในปีค.ศ. 1997 และ 1998 เศรษฐกิจไทยถดถอยลงไปมาก สถาบันการเงินปิดตัว ธุรกิจล้มละลาย มีคนตกงานจำนวนมากประชาชนและธุรกิจต่างได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารงานต่อในปี 1998 มีนโยบายและมาตรการ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และรับความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ จนเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง
แต่ยังไม่ทันที่จะดำเนินนโยบายที่จะสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจของประเทศ ก็มีการเลือกตั้งใหม่ และมีการเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ มีความแตกต่างจากเดิมมาก ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยความไม่พร้อมที่จะพัฒนาให้มีความเจริญรุ่งเรือง และเข้าสู่ยุคที่มีนโยบายเศรษฐกิจประชานิยม ข้อสังเกตจากการทบทวนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดต่างๆในช่วงเวลาที่ผ่านมา -การเลือกเอาคนดีคนเก่งและคนที่มีจริยธรรมมาบริหารประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ในเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลทหารที่ถูกกล่าวหาว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย กลับมีรัฐมนตรีและข้าราชการที่เป็นคนเก่งมากำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และสามารถบริหารประเทศได้ดี ตัวอย่างคือ กรณีดอกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในทศวรรษ 1960 ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลทหาร สมัยนั้นรัฐบาลสามารถบริหารการเงินได้ดี ทำให้เศรษฐกิจไทยมีการพัฒนาไปมาก และสะสมเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศได้จำนวนมาก หรือกรณีของด็อกเตอร์เสนาะ อูนากูล ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นรัฐบาล “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เพราะพลเอกเปรมไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน) ก็มีผลงานการบริหารเศรษฐกิจที่ดี และที่สำคัญคือในทั้งสองกรณี เทคโนแครต หรือขุนนางนักวิชาการทั้งสอง สามารถบริหารงานได้อย่างอิสระ โดยที่รัฐบาลไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายแต่อย่างใด ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็มีรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก ซึ่งผิดกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีพรรคที่มีเสียงข้างมากเป็นแกนนำรัฐบาลในสมัยต่อจากนั้น ซึ่งนักวิชาการหรือเทคโนแครต มักไม่มีบทบาทในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศมากนัก -นโยบายบางอย่าง เมื่อนำสู่การปฏิบัติแล้ว มีผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่ตอนประกาศนโยบาย ก็มีคนไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างคือ นโยบายส่งเสริมการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมในทศวรรษ 1970 และการลดค่าเงินบาทในปีค.ศ. 1984 ซึ่งได้รับการคัดค้านจากบุคคลหลายฝ่าย แต่ผลปรากฏว่า นโยบายทั้งสองนี้ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ในทางตรงกันข้าม นโยบายบางอย่างที่มีผลเสียต่อเศรษฐกิจ กลับมีคนสนับสนุนเป็นอย่างมาก ตัวอย่างคือ นโยบายการรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมาก และการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงกว่าอัตราที่มีมีอยู่เดิม และให้ใช้อัตราเดียวกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้บางจังหวัดซึ่งมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำกว่าอัตราใหม่มาก ต้องขึ้นค่าจ้างทันทีเมื่อรัฐบาลประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ต้นทุนของโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กสูงขึ้นทันที โรงงานหลายแห่ง จึงต้องปลดคนงานเพื่อลดต้นทุน บางแห่งต้องปิดกิจการ หรือย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า ในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ มักใช้นโยบายจูงใจประชาชน เพื่อหวังผลการเลือกตั้งโดยไม่มีการศึกษาว่า เป็นนโยบายที่นำมาใช้ได้จริงหรือไม่ และเมื่อนำมาใช้แล้ว จะสร้างปัญหาแก่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร เพียงเพื่อหวังให้ถูกใจประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง นโยบายเหล่านี้ทำให้พรรคการเมืองเจ้าของนโยบายได้รับความนิยมและชนะการเลือกตั้ง เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ
เมื่อพรรคการเมืองเหล่านี้ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ถ้าไม่ทำตามสิ่งที่ได้หาเสียงไว้ ก็จะถูกกล่าวหาว่า พูดแล้วไม่ทำ หลอกลวงประชาชน เพียงเพื่อได้คะแนนเสียง แต่ถ้านำนโยบายที่หาเสียงไว้มาปฏิบัติ ก็สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศมาก เช่น นโยบายการลดภาษี และการจ่ายเงินสวัสดิการในวงเงินสูงให้แก่ประชาชนจำนวนมาก ล้วนผลกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับความเสียหายมาก ข้อคิดในเรื่องนี้ก็คือ ประชาชนทั่วไป มักไม่สามารถจำแนกได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจอะไรเป็นนโยบายที่ดี นโยบายอะไรที่ทำแล้วเกิดความเสียหาย ในเวลาที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่มีสมาชิกไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ แต่มีกลอุบายการหาเสียงทำให้ประชาชนมีความนิยมชมชอบ เมื่อพรรคการเมืองนี้ชนะการเลือกตั้ง และขึ้นเป็นรัฐบาลแล้ว ประเทศก็ต้องประสบกับความเสียหายมาก ในช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร เป็นนักการเมืองที่มีบทบาทมาก ในปีพ.ศ. 2001 พรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้สามารถอยู่ครบเทอม เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคไทยรักไทยก็ได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ได้เป็นรัฐบาลต่ออีก เมื่อรัฐบาลไทยรักไทยสิ้นสุดอำนาจจากการรัฐประหาร และ ทักษิณชินวัตร ต้องหนีออกนอกประเทศ ต่อมาไม่นาน ก็มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคพวกของทักษิณ ชินวัตร ก็ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นรัฐบาลอีก ในนามของพรรคการเมืองที่มีชื่อใหม่ ต่อมา เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล มาเป็นรัฐบาลที่ไม่ใช่พรรคพวก ทักษิณ ชินวัตร ก็ปลุกปั่นยุยงจากนอกประเทศ ให้ลูกสมุนก่อการจลาจล ทำการเผาบ้านเผาเมือง จนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ต้องยุติการปฎิบัติหน้าที่ เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคพวกของทักษิณ ชินวัตร ในนามของพรรคเพื่อไทยก็ได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง จากนโยบายประชานิยมที่ถูกใจประชาชน ได้ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีก โดยมียิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว ของเขาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้นโยบายประชานิยม และมีพฤติกรรมทุจริต จนเกิดการประท้วงเป็นวงกว้าง มีการใช้ความรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตหลายคน จนเกิดรัฐประหารในเวลาต่อมา เมื่อมีการดำเนินคดีการทุจริตคอรัปชั่น มีผู้ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกหลายคน รวมทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ตัวเขาเองก็ได้หลบหนีออกนอกประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงโทษจำคุกจากคดีทุจริต ถึงกระนั้นก็ตาม พรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคพวกของทักษิณ ชินวัตรยังมีอยู่ และทักษิณก็ยังมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายของพรรคนี้ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคเพื่อไทยที่มีลูกสาวของทักษิณเป็นแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรี ก็ได้รับคะแนนเสียงไม่น้อย แม้ไม่ได้เป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงสูงสุดก็ตาม ผลการเลือกตั้งในประเทศไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า นโยบายประชานิยมแบบลดแลกแจกแถม ยังเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนโดยส่วนใหญ่ ส่วนพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ กลับไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน อาจมีคนรู้สึกประหลาดใจว่า เหตุไฉน ทักษิณ ชินวัตร จึงยังได้รับความนิยมจากประชาชน ทั้งๆที่มีนโยบายและพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศและประชาชน ที่เป็นเช่นนี้ สาเหตุหนึ่งคือ เขารู้จักกำหนดนโยบายที่ถูกใจประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่นเดียวกับเหมาเจ๋อตง ที่มองเห็นว่า จะมีอำนาจรัฐ ต้องได้รับการสนับสนุนจากชาวไร่ชาวนาประเทศจีน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทักษิณมองเห็นว่า กลุ่มคนรายได้ต่ำ ที่มีอยู่มากในประเทศ เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนสูงในการเลือกตั้ง ดังนั้น เขาจึงกำหนดนโยบายประชานิยม ที่ได้รับความนิยมชมชอบของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ และได้คะแนนเสียงจำนวนมากในการเลือกตั้ง ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) กล่าวคือ สามารถยกระดับการพัฒนาประเทศขึ้นมาจนเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle-income country) และอยู่ในระดับนี้เป็นเวลานานปี จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถยกระดับเป็นประเทศรายได้สูง(high-income country)ได้ สาเหตุที่ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาให้เจริญขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้นั้น มีอยู่หลายประการ เช่น ประชาชนติดกับดักนโยบายประชานิยม ไม่สามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ มีรัฐบาลที่ไม่สนใจในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจต่างๆ และไม่สนใจการแก้ปัญหาระยะยาวของประเทศ ดังนั้น เหตุสำคัญของการติดกับดักรายได้ปานกลาง ก็คือการติดกับดักนโยบายประชานิยม กับดักการมีนโยบายที่ผิดพลาด และยังมีความไม่สงบในสังคมในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา