ประชาธิปไตยปากีสถานยังไปไม่รอด
สบาย สบาย สไตล์เกษม
เกษม อัชฌาสัย
ประชาธิปไตยปากีสถานยังไปไม่รอด
วันนี้อยากจะเล่าเรื่องการเมืองปากีสถานครับ เพราะเป็นอีกชาติหนึ่งที่พยายามเอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้แบบสาธารณรัฐ(ไม่มีกษัตริย์)
คือมีแค่ประธานาธิบดี เป็นศูนย์รวมความสามัคคีภายในชาติ
แต่ก็ยังคงล้มลุกคลุกคลานมาจนทุกวันนี้
ปากีสถานได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ๑๙๔๗ ด้วยการแยกออกจากอินเดีย มีประธานาธิบดีคนแรกคือ “อิสกานเดอร์ มีรฺซา”เป็นอดีตทหารที่ทุ่มเทชีวิตมาทางด้านการเมือง
นับเป็นความพยายามขั้นแรกของปากีสถานที่เอาพลเรือนมาปกครอง
แต่แล้วเขาถูกทำรัฐประหาร เพราะชอบเข้าแทรกแซงการบริหารของนายกรัฐมนตรี เลยถูกตราหน้าว่าเป็นผู้บ่อนทำลายประชาธิปไตย
ปากีสถานปกครองโดยทหารมาพักหนึ่งในยุคของนายพล”อัยยุบ ข่าน”และนายพล”ยะห์ยา ข่าน”(ประธานาธิบดีคนที่ ๒ และคนที่ ๓)
ต้องขอบคุณ”ซุลฟิกอรฺ อาลี บุตโต”ประธานาธิบดีคนที่ ๔ ที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา แยกอำนาจ นิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอาจตุลาการออกมาอย่างเด็ดขาด ซึ่งก็ได้รับการรับรองด้วยเสียงเอกฉันท์และยังคงใช้มาจนทุกวันนี้
ก็มิใช่ พลเรือนอย่างเขามิใช่หรือ ที่นำความทันสมัยมาสู่ปากีสถาน รวมทั้งการดำริคิดค้นระเบิดปรมาณูขึ้นมา สร้างดุลถ่วงทานอำนาจกับอินเดีย
แต่ทหารก็ยังต้องเข้ามากุมอำนาจอีกเป็นครั้งคราว เช่นในสมัย”เซีย อัล ฮัก”ก่อนขึ้นเป็นประธานาธิบดีและสมัย”เพอร์เวซ มุชารฺรอฟ”(ก่อนขึ้นเป็นประธานาธิบดีอีกเช่นกัน)
หากจะมีทหารเข้ามายึดอำนาจอีกกี่ครั้ง นอกจากที่กล่าวนี้ ผมก็จำไม่ได้แล้วครับ
แต่ทุกครั้ง ก็กลับมาเป็นรัฐบาลพลเรือนเช่นเดิม จวบจนปัจจุบัน
ทำไมกลุ่มทหารในปากีสถานเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างไม่ยอมถอย จนกระทั่งปัจจุบันนั้น ผมพยายามหาคำตอบที่แท้จริงอยู่ครับ
รู้แต่ว่า งบการใช้จ่ายทางทหารสูงขึ้น ๑๑ เปอร์เซ็นต์ในช่วงปีที่แล้ว
รู้มาบ้างว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ว่าในสมัยรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน สูงมากเหลือเกิน
สูงจนชาติที่เคยให้ความช่วยเหลืออย่างซาอุดีอาระเบีย ยอมถอย เลิกให้ความช่วยเหลือ จนกว่าจะเกิดความโปร่งใส เพราะสู้ไม่ไหว
ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่(จากจำนวนกว่า ๒๐๐ ล้าน)ต้องเผชิญกับความยากลำบากตั้งแต่ต้นปีนี้ เป็นต้นมา
ราคาอาหารหลักๆ เช่นแป้งสาลี ที่ใช้ทำโรตีหรือจาปาตี ขึ้นสูงกว่าเดิมสองสามเท่าตัว อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ ๗.๙๔ เปอร์เซ็นต์ (เปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อช่วงระหว่างปี ๒๐๑๐ – ๒๐๒๓)
นักวิจัยบางคนอธิบายว่าการยักยอกและการขัดขวางการปฏิรูปที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งให้เกิดภาวะ”ติดหล่ม”ทั้งในการเมือง การทหาร ซ้ำซากอยู่นั่นแล้ว
ภาวะซ้ำเติมทางภูมิอากาศ เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมช่วงปีที่แล้ว พื้นที่ ๑ ใน ๓ ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ รวมทั้งผลกระทบที่จากโควิดอย่างต่อเนื่องสามปี ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง มีหนี้สินล้นพ้นตัว
กว่า๓๐ เปอร์เซ็นต์ของหนี้สินต่างประเทศเป็นหนี้จีน เพียงแต่จีนเขาไม่เร่งรัดหนี้เท่านั้น
เรื่องทุจริตคอรัปชั่นนี่ ขนาด”อิมรอน ข่าน”อดีตนายกรัฐมนตรียอดนิยม ที่โด่งดังสนั่นโลกจากกีฬาคริกเก็ต ก็ยังโดนศาลต่อต้านการก่อการร้ายที่ลาฮอร์ ออกหมายจับในคดีรับสินบน ซ่อนทรัพย์สิน ฯลฯเลย
ก่อให้เกิดจลาจลขึ้น เผาโน่นนี่ จากกลุ่มคนที่สนับสนุนและรักเทิดทูนเขา
แต่ในที่สุด ก็ให้ประกันตัว ก่อนที่จะเกิดภาวะตึงเครียดมากกว่านี้
คนเรานี่ ลองตกหลุมรักและศรัทธาใครเข้าแล้ว ก็มักจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวและอาละวาด เช่นนี้ เมื่อคนที่ตนรักและศรัทธาถูก”จัดการ”
เรื่องเหตุเรื่องผลนั้น ไม่ต้องคำนึงถึงให้มากความแล้ว
นี่ครับ ความพยายามของปากีสถาน ในการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อให้”พลเรือน”เข้ามาบริหาร แต่ก็ยังคงติดหล่มอยู่ ไม่ก้าวไกล ไปสักเท่าไร
ผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีนะครับ ที่เมืองไทยเรา จะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือนอีกครั้ง จะใช่”พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”หรือไม่ ก็ช่างเถิด
เพราะนี่คือประชาธิปไตยที่ทุกคนอยากจะเห็น รวมทั้งกลุ่มทหารที่ทรงอำนาจมากที่สุด
ไม่เช่นนั้นคงไม่ร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เปิดทางไว้ให้ อย่างแน่นอน
เชื่อสิ ทหารไม่ต้องการสืบต่ออำนาจหรอก หากรัฐบาลพลเรือนมีความโปร่งใสเพียงพอ