jos55 instaslot88 Pusat Togel Online ซาอุดีอาระเบีย – อิหร่าน : จากความขัดแย้งสู่ความสัมพันธ์อีกครั้ง (1) - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

ซาอุดีอาระเบีย – อิหร่าน : จากความขัดแย้งสู่ความสัมพันธ์อีกครั้ง (1)

ซาอุดีอาระเบีย – อิหร่าน : จากความขัดแย้งสู่ความสัมพันธ์อีกครั้ง (1)

จรัญ มะลูลีม

ภูมิหลังและที่มาของความขัดแย้ง

อิหร่าน (สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน) ซาอุดีอาระเบีย (ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย) เป็นสองประเทศของเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลางที่มีความสำคัญมากที่สุด ฝ่ายแรกเป็นประเทศผู้นำของสำนักคิดชีอะฮ์อิสลาม (Shi’ah Islam) ส่วนฝ่ายหลังเป็นหัวหอกของสำนักคิดซุนนีอิสลาม (Sunni Islam)

สองประเทศนี้เป็นศูนย์รวมของประชากรมุสลิม โดยภาพรวมแล้วทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์และความขัดแย้งต่อกันเป็นช่วงๆ จนถึงขั้นตัดความสัมพันธ์ทางการทูตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาว่าด้วยการแข่งอำนาจและการใช้ศาสนาหรือสำนักคิดมาเป็นประเด็นทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้ในบางช่วงของความสัมพันธ์แทนที่สองประเทศยักษ์ใหญ่ของตะวันออกกลางซึ่งเป็นสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation – OIC) ด้วยกันทั้งคู่จะเดินไปด้วยกัน   แต่กลายเป็นว่าทั้งสองประเทศมักจะมีความสัมพันธ์ต่อกันที่ไม่ค่อยจะแน่นอนมาโดยตลอด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งสองประเทศถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีอำนาจอยู่ในภูมิภาคและมีศักยภาพเพียงพอที่จะมีอิทธิพลเหนือภูมิภาคตะวันออกกลาง  ดังได้กล่าวมาแล้ว ความสัมพันธ์ของสองประเทศมิได้เป็นไปอย่างราบรื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าด้วยสำนักคิด (School of Thoughts) ที่ถูกดึงมาสนับสนุนกลุ่มก้อนของตนเอง  แม้ว่าในความเป็นจริงเรื่องของสำนักคิดส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องที่ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองล้วนๆ ก็ตาม

ตัวอย่างเช่นอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็นของอิรักก็เป็นผู้ถือสำนักคิดซุนนี และอยู่ในอำนาจในประเทศที่คนส่วนใหญ่ (ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60) เป็นชีอะฮ์อย่างยาวนานถึง 18 ปี    ในทำนองเดียวกันประธานาธิบดีฮาฟิซ อัล-อะสัด  บิดาของผู้นำปัจจุบันของซีเรีย  บาชัร อัล-อะสัดซึ่งเป็นชีอะฮ์อะลาวี (Alawite) ที่ถูกมองว่าอยู่นอกจารีต (Red Shi’ism) ของชีอะฮ์สายหลักก็อยู่ในอำนาจท่ามกลางคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวซุนนีมายาวนานเช่นกัน  เช่นเดียวกับบาชัร อัลอะสัด ผู้เป็นโอรส

อย่างไรก็ตาม ผู้นำคนปัจจุบันของซีเรียที่โดยอาชีพเป็นหมอมาก่อน   ก็มีภรรยาที่ชื่อสัลมา (Sulma) ที่ยังคงดำรงความเป็นซุนนีมาจนถึงปัจจุบัน   แต่ในบางช่วงประเด็นของสำนักคิดจะขึ้นมาแทรกเรื่องทางการเมือง ทั้งของซาอุดีอาระเบียและอิหร่านอยู่เสมอๆ

ความแตกต่างระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียยังมีเรื่องของบทบาททางการเมืองในพื้นที่และในชุมชนระหว่างประเทศรวมอยู่ด้วย

หากกล่าวถึงการเมืองระหว่างประเทศของซาอุดีอาระเบียก็จะพบความจริงข้อหนึ่งที่ยังคงดำรงอยู่ได้แก่การเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ แม้ว่าปัจจุบันซาอุดีอาระเบียจะถ่วงดุลย์ด้วยการเพิ่มความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซียมากขึ้นก็ตาม  ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน  ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความไม่ลงรอยกันว่าด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง การยืนหยัดเคียงข้างชาวปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอลที่เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามในปี 1979 (Islamic Revolution of 1979)

ประเทศซาอุดีอาระเบียถูกปกครองโดยกษัตริย์ซึ่งขึ้นมาสู่อำนาจด้วยการใช้ชื่อของพระองค์เองมาตั้งเป็นประเทศ  ทั้งนี้อิบนุ สะอูด (Ibn Saud) ได้ร่วมก่อตั้งประเทศนี้กับนักการศาสนามุฮัมมัด บินอับดุลวาฮ้าบ หรือที่ประเทศตะวันตกเรียกแนวคิดทางศาสนาของชายผู้นี้ว่าวาฮะบี (Wahhabi) อันเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากสำนักคิดหนึ่งที่สำคัญของสายซุนนีที่เรียกกันว่าฮัมบาลี (Hanbali)  โดยเน้นไปที่อิสลามบริสุทธิ์  ตามแนวทางที่แท้จริงของศาสดามุฮัมมัด  ชื่อที่แท้จริงของสำนักคิดวาฮะบีคือมุวาฮิดูน (Muwahidun)  ซึ่งเน้นเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้าเป็นด้านหลัก

ในซาอุดีอาระเบียร้อยละ 90 ของประชากรถือสำนักคิดซุนนี  ส่วนสำนักคิดชีอะฮ์จะมีผู้ถือตามอยู่ในดินแดนทางตะวันออกที่เรียกกันว่าฮาซา (al-Hasa) ทั้งนี้มีชาวชีอะฮ์อยู่ครึ่งล้านคน   โดยประชากรชีอะฮ์ทั้งโลกมีอยู่ทั้งสิ้นราว 140 ล้านคน   การสร้างประเด็นซุนนี-ชีอะฮ์ที่เกิดขึ้นหลังการจากไปของศาสดาท่านสุดท้ายของอิสลามคือศาสดามุฮัมมัดขึ้นมาในทางการเมืองจึงมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว

นักวิชาการส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีคนมุสลิมเป็นคนส่วนน้อยที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอินเดีย  มักไม่ถือเอาประเด็นซุนนี ชีอะฮ์มาเป็นความขัดแย้ง และเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่สามารถทำความเข้าใจกันได้  ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับสองของประเทศอย่างเช่น Aligarh Muslim University ที่เป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาลจึงได้เปิดให้นักศึกษาสามารถเรียนวิชาศาสนวิทยาสาขาซุนนี (Sunni Theology) และสาขาชีอะฮ์ (Shi’a Theology) ได้จนถึงปริญญาเอก   โดยไม่มีความขัดแย้งต่อกันให้เห็นแม้แต่น้อย

ในทางประวัติศาสตร์ประชากรในคาบสมุทรอาหรับเป็นพวกเร่ร่อนทางทะเลทราย  (Desert nomads)  หรือเบดูอิน (Bedouin)

อย่างไรก็ตามในศตวรรษที่ 7 อิสลามได้ขยายตัวออกไปทั่วคาบสมุทรอาหรับพร้อมกับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของผู้เร่ร่อนชาวทะเลทราย  มาเป็นผู้เชื่อในศาสนาอิสลามนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ดังได้กล่าวมาแล้วแนวคิดวะฮาบี (Wahhabism) เป็นชื่อที่ได้มาจากนักการศาสนาและนักเผยแพร่มุฮัมมัด   อิบนุ อับดุลวะฮ้าบ  (Muhammad ibn Abd al-Wahhab)  ซึ่งถือว่ากลุ่มก้อนของพวกเขาคือขบวนการฟื้นฟูอิสลามบริสุทธิ์ที่ยึดถือพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว  (Pure monotheistic worship) ไม่มีภาคีใดๆ มาเกี่ยวข้องกับพระองค์ซึ่งเป็นไปตามคำสอนของศาสดามุฮัมมัด  ศาสดาท่านสุดท้ายของอิสลาม

หลังการปฏิวัติตามแนวทางอิสลามปี 1979  ซาอุดีอาระเบียวิพากษ์การปฏิวัติของอะยาตุลลอฮ์ โคมัยนีว่าเป็นการปฏิวัติตามแนวชีอะฮ์  (Shi’ah Revolution)

นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียยังไปยืนอยู่ข้างอิรักในสงคราม 8 ปี อิรัก-อิหร่าน (Iran-Iraq War 1980-1988)  อันเป็นสงครามที่ 26 ประเทศรวมทั้งสหรัฐ รัสเซีย และประเทศอาหรับส่วนใหญ่ (ยกเว้นซีเรีย ซึ่งมีความไม่ลงรอยกับอิรัก) ยืนหยัดอยู่ข้างอิรัก  แต่ก็เอาชนะอิหร่านไม่ได้

สงครามจบลงจากการไกล่เกลี่ยของผู้นำคนสำคัญของโลกหลายคน  โดยแต่ละฝ่ายเสียชีวิตทหารของตนไปฝ่ายละสามแสนคน  ส่วนที่เหลืออีกสี่แสนคนเป็นความตายของพลเรือน  รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นราวหนึ่งล้านคน

ในเวลานั้นโลกอาหรับโดยเฉพาะรัฐกษัตริย์ทั้งหลายที่ร่ำรวยน้ำมันและอยู่ร่วมกันภายใต้สภาความร่วมมือแห่งอ่าว (Gulf Cooperation Council)  ได้แก่คูเวต ซาอุดีอาระเบีย โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์และบาห์เรน ต่างก็หวาดกลัวการปฏิวัติส่งออก (Export of Revolution) ของอิหร่านโดยมองว่าการปฏิวัติที่นำโดยอายะตุลลอฮ์ โคมัยนีดังกล่าวเป็นการคุกคามโลกอาหรับ

อาณาจักรเปอร์เชีย (Persian Empire) หรืออิหร่านในปัจจุบันมีส่วนสำคัญต่อความรุ่งเรืองในอดีต  ทั้งนี้อาณาจักรเปอร์เชียมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาอารยธรรมและความเจริญก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม  และเป็นต้นแบบของภาษาอินโดยุโรป (Indo-European languages) ปฏิทิน วรรณกรรมเปอร์เชีย วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม การปกครอง การคิดค้นแอลกอฮอล์ เครื่องดนตรี ฯลฯ ล้วนมาจากอาณาจักรเปอร์เซียทั้งสิ้น

ก่อนการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 อิหร่านถูกปกครองโดยราชวงศ์ปาลาวี (Pahlavi dynasty) ระหว่างปี 1925-1979  ในช่วงการปกครองของราชวงศ์นี้พบว่าชัยชนะของความเป็นชาตินิยมอยู่เหนืออุดมการณ์ทางศาสนา

ในช่วงนั้นความเป็นชาตินิยมของชาวอิหร่าน (Iranian nationalism) ต้องใช้ความเป็นโลกนิยม (Secularisms) อย่างมากและขัดขวางลักษณะของความเป็นอิสลาม  ด้วยเหตุนี้ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นระหว่างผู้นิยมศาสนาอิสลามและความเป็นชาตินิยมของอิหร่านในที่สุด

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *