jos55 instaslot88 Pusat Togel Online นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(7) - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(7)

นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(7)

โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย

นโยบายที่ผิดพลาดสร้างความเสียหายอย่างไร?ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ระหว่างเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2015 รวมเวลาบริหารประเทศเพียงสองปีเก้าเดือน แต่ได้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจไทยอย่างมากมายมหาศาล รัฐบาลพรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์ มีความคล้ายรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณผู้เป็นพี่ชาย คือมีการดำเนินนโยบายประชานิยมที่เลวร้าย มีการทุจริตคอรัปชั่น สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศมาก และสิ้นสุดลงด้วยการรัฐประหาร เมื่อถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดต้องถูกจำคุก ก็ไม่ยอมรับการลงโทษ หลบหนีคดีออกนอกประเทศ การดำเนินนโยบายผิดพลาดและการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ในที่นี้ จะกล่าวเพียงการจำนำข้าว(ที่จริงเป็นการรับซื้อข้าวโดยไม่มีการไถ่ถอนคืน)โดยการรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมาก การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วทุกจังหวัดในประเทศ และนโยบายลดภาษีเพื่ออุดหนุนให้ประชาชนซื้อรถคันแรก

นโยบายการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกับหลักเศรษฐศาสตร์ในเรื่องการทำงานของระบบตลาด การรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศมาก โครงการจำนำข้าวนอกจากขัดแย้งกับกลไกตลาดแล้ว ยังมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง ทำให้รัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องหลายคนถูกศาลตัดสิน ลงโทษจำคุกคนละหลายปี แต่คนทำความผิดที่สำคัญที่สุด คือ นายกรัฐมนตรี กลับหลบหนีออกนอกประเทศ
นโยบายการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก่อให้เกิดความเสียหาย

แก่เศรษฐกิจของประเทศมาก จนทุกวันนี้ พรรคเพื่อไทยหมดอำนาจไปหลายปีแล้ว รัฐบาลปัจจุบันยังต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้ที่เกิดจากการจำนำข้าวในสมัยนั้นทุกปี และอาจต้องชำระหนี้ต่อไปอีกหลายปี
ข้อเสียของนโยบายจำนำข้าวมีอยู่หลายประการ สรุปสั้นๆได้ดันนี้
-การรับซื้อข้าวจากชาวนาทุกเม็ด เป็นการรับซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาดมาก(รับซื้อข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท ในขณะที่ราคาตลาดคือ ตันละ10,000 บาท) เมื่อรับซื้อมาแล้ว ก็มอบหมายให้โรงสีที่รับการคัดเลือกจากรัฐบาลไปสีเป็นข้าวสาร แล้วเก็บไว้ยุ้งฉางหรือโกดัง ไม่ระบายออกสู่ต่างประเทศทันที โดยอ้างว่า เมื่อข้าวถูกเก็บไว้ไม่นำออกขายทันที ราคาข้าวในตลาดโลกก็จะสูงขึ้น เพราะเมื่อประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ลดการส่งข้าวออกไปยังตลาดโลก อุปทานข้าวในตลาดโลกจะลดลง และราคาข้าวก็จะสูงขึ้น ต่อเมื่อราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นแล้ว ประเทศไทยจึงจะระบายข้าวออกสู่ตลาดโลก
แต่ในความเป็นจริง ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก แต่ก็ไม่มีอำนาจในการกำหนดราคา เพราะยังมีหลายประเทศที่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ปริมาณการผลิตข้าวในไทย ก็น้อยกว่าอีกหลายประเทศ เช่น จีนและอินเดีย ที่ผลิตข้าวได้มากกว่าไทยมาก
ไทยต้องเสียตลาดส่งออกข้าวให้กับคู่แข่ง เพราะเมื่อรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด (ทั้งราคาในประเทศและราคาในตลาดโลก) มาก ถ้าจะส่งออกตามราคาที่รับซื้อ ข้าวไทยจะมีราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลกมาก ประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก ก็จะหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน ข้าวไทยก็ขายไม่ได้
-เมื่อข้าวขายไม่ออก ก็ต้องเก็บข้าวไว้ในโกดัง ข้าวสารที่เก็บในโกดังนานเข้าก็เสื่อม สภาพ อีกทั้งเมื่อรัฐบาลมีการรับซื้อข้าวมามากๆ โกดังเก็บข้าวของรัฐที่มีอยู่เดิมมีไม่เพียงพอ ต้องใช้โกดังของเอกชน ซึ่งเปิดช่องให้มีการทุจริตคอรัปชั่น
-เมื่อชาวนาสามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ก็ต่างเร่งผลิตข้าว โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ เพียงต้องการขายข้าวให้รัฐบาล เมื่อข้าวคุณภาพต่ำมีมากขึ้น ข้าวไทยซึ่งเคยมีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพดี ก็ต้องเสื่อมเสียไปด้วย

-การรับซื้อข้าวของรัฐบาลไทยในราคาสูงกว่าราคาตลาดมาก ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำมา”จำนำ”ในประเทศไทย การรับซื้อข้าวของรัฐบาลในเวลานั้น จึงมีส่วนอุดหนุน ชาวนาของประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยภาษีอากรของประชาชนคนไทย
-การรับซื้อข้าว โดยให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ซื้อ และขายข้าวเอง เป็นการลดบทบาทของพ่อค้า รัฐบาลยังประโคมข่าวว่า ได้ขายข้าวไปต่างประเทศเป็นจำนวนมากในลักษณะการค้ารัฐบาลต่อรัฐบาล(G to G) แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทั้งราคาและปริมาณการซื้อขายเลย ต่อมาพบว่า ที่บอกว่ามีการขายข้าวโดยรัฐบาลนั้น แท้ที่จริงเป็นการให้พวกพ้องเอาข้าวออกจากโกดังมาเวียนเทียนขายในประเทศทั้งนั้น
-นอกจากการทุจริตโดยนักการเมืองแล้ว การจำนำข้าว ยังมีการทุจริตในทุกขั้นตอน ทั้งขั้นตอนการขนส่ง การรับซื้อ การตรวจสอบคุณภาพ การเก็บรักษา และการระบายข้าวออกสู่ตลาด ทั้งหมดมีการสมรู้ร่วมคิดทำการทุจริตร่วมกัน โดยนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจในภาคเอกชน ซึ่งในเวลาต่อมา บุคคลเหล่านี้ ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก เป็นเวลาหลายปี
การรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมาก สร้างความเสียหายได้มาก ทั้งการทำลายตลาดส่งออก และชื่อเสียงของประเทศ ต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก และยังก่อให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา ก็ไม่ดีขึ้น ไม่เพียงแต่ชาวนาที่มีฐานะยากจนที่ผลิตข้าวได้น้อย หรือผลิตได้เพียงเก็บไว้เพื่อบริโภคเอง ชาวนาผู้ที่นำข้าวไป”จำนำ”ก็ไม่ได้รับเงินตามราคาที่ประกาศไว้ เพราะต้องถูกหักค่าความชื้นและถูกโกงตาชั่ง โครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐบาลสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก สร้างภาระทางการคลังที่หนักหนา แก่ประเทศในระยะยาว ถือได้ว่าเป็นโครงการ “โบว์ดำ” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ยังมีการพูดถึงจนปัจจุบัน

การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในอัตราวันละ 300 บาท เท่ากัน ทั่วประเทศ ก็สร้างความเสียหายหลายอย่าง ในจังหวัดที่ค่าครองชีพไม่สูง เดิมมีค่าแรงขั้นต่ำไม่ถึง 200 บาทต่อวัน เมื่อต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททันที ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากมีต้นทุนสูงขึ้น ต้องประสบปัญหาขาดทุน มีการปิดกิจการ ต้องปลดคนงานเลิกจ้าง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง ย้ายฐานการผลิตไปประ เทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราค่าจ้างแรงงานตำ่กว่าประเทศไทยมาก
การขึ้นค่าแรงในเวลานั้น ยังมีผลกระทบต่อราคาสินค้า ทำให้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศมีความรุนแรงขึ้นด้วย คนงานจำนวนมากที่หลงเชื่อการโฆษณาหาเสียงของพรรคเพื่อไทยว่า ถ้าเลือกพรรคเขาเป็นรัฐบาลแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น ต้องถูกปลดออกจากงาน มีชีวิตที่ยากแค้นมากขึ้น จากการขาดแคลนรายได้ ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

การกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำ เดือนละ 15,000 บาทให้ผู้ที่เพิ่งเรียนจบการศึกษาขั้นปริญญาตรี ที่เข้าทำงานใหม่ ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเดือนตลาดในเวลานั้น สร้างภาระแก่หน่วยงานของรัฐบาลต่างๆ เพราะเมื่อมีการรับข้าราชการที่เข้ามาใหม่และได้รับเงินเดือนสูงกว่าเก่า ก็จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราเงินเดือนของข้าราชการที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น ที่มีตำแหน่งที่สูงกว่า มิฉะนั้น ข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงกว่าจำนวนมากจะได้รับเงินเดือนที่น้อยกว่าผู้ที่เข้ามาใหม่
บริษัทภาคเอกชน เมื่อต้องปรับขึ้นเงินเดือนให้สูงขึ้นในลักษณะก้าวกระโดดตามข้อกำหนดของรัฐบาล ก็พยายามประวิงเวลาการรับคนเข้าทำงาน ผู้จบการศึกษาใหม่ๆ จึงมีโอกาสเข้าทำงานได้น้อยลง
โดยสรุป การกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าอัตราตลาดมาก เช่นเดียวกับการรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับกลไกตลาด ที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศได้รับความเสียหาย นโยบายรถคันแรก ลดภาษีหรือคืนภาษีให้ประชาชนซื้อรถคันแรกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณ ทั้งยังทำให้ผู้ซื้อรถ และอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับความเสียหาย นโยบายรถคันแรกนี้ ทำให้ผู้ที่ไม่มีรถพากันไปซื้อรถใหม่ บางคนขับรถไม่ค่อยเป็น ก็ไปซื้อรถมาด้วย เพราะอยากได้สิทธิ์ประโยชน์จากการลดภาษี อุบัติเหตุจากการขับรถมีการเพิ่มขึ้นเพียงไร ไม่มีสถิติที่แน่ชัด แต่ข้อกำหนดที่ว่า เมื่อซื้อรถมาแล้ว ไม่สามารถขายได้ในเวลาห้าปี ทำให้ผู้ซื้อรถที่ไม่สามารถผ่อนส่งได้ตามกำหนด ต้องถูกยึดรถไปเป็นจำนวนมาก นโยบายนี้ยังมีผลทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบมาก เมื่อหมดช่วงเวลาการรับสิทธิ์คืนภาษีซื้อรถไปแล้ว ตลาดซื้อขายรถยนต์ก็ซบเซาลง ส่งผลให้การค้าและการผลิตรถยนต์ ลดน้อยลงไปมาก

ในช่วงสองปีแรกของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ชินวัตร บ้านเมืองยังมีความสงบ แม้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ และเศรษฐกิจต้องประสบปัญหาหลายอย่างที่เกิดจากความผิดพลาดของนโยบายรัฐบาล แต่ไม่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปลายปีค.ศ. 2013 เป็นต้นมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญกับการชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง จนต้องประกาศยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งใหม่ แต่หลังการยุบสภา การชุมนุมประท้วงรัฐบาลก็ยังคงมีอยู่ต่อไป การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2015 ก็ถูกต่อต้านโดยผู้ชุมนุมประท้วง และถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ
ในปี 2015 เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลกับกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาล มีคนบาดเจ็บล้มตาย เกิดความวุ่นวายมากขึ้น จนฝ่ายทหารเข้ามาทำรัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015 ต่อมา เมื่อมีการนำคดีรับจำนำข้าวขึ้นสู่ศาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็หลบหนีออกนอกประเทศ ไม่ยอมมาฟังคำพิพากษา ที่ศาลตัดสินว่ามีความผิด ต้องถูกลงโทษจำคุกการล่มสลายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เริ่มจากเหตุการณ์การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่มีความผิดในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศ ทำลายชีวิต และทรัพย์สิน เป็นจำนวนมาก รัฐสภาลงมติอนุมัติการพิจารณาวาระสองและสามของพรบ.นี้ เมื่อเวลา 4.25 น. ของวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2013 นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมประท้วง และผู้ทำความผิดทุกคนทุกกรณี รวมทั้งผู้ที่เผาศาลากลางจังหวัดและสถานที่อื่นๆ และผู้ที่ก่อความรุนแรงทำลายชีวิตทรัพย์สิน พรบ.นี้ยังมีบทบัญญัติหรือข้อความที่สอดไส้ ช่วยเหลือทักษิณให้กลับประเทศได้โดยไม่ต้องได้รับการลงโทษด้วย (พรบ.นิรโทษกรรมที่มีเนื้อหาสุดขั้วนี้ จึงมีฉายาหลายอย่าง เรียกกันว่าเป็น”พรบ.สุดซอย”บ้าง “พรบ.เหมาเข่ง”บ้าง หรือ “พรบ.ลักหลับ” บ้าง) การผ่านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ทำให้ประชาชนไม่พอใจเป็นอย่างมาก ต่อมาจึงมีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของกลุ่มประชาชนที่เรียกชื่อกลุ่มตนเองว่า”คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ” ซึ่งมีการชุมนุมประท้วงเป็นเวลานานกว่าปี มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ในที่ชุมนุม มีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนร่วมอภิปราย เปิดโปงความชั่วร้าย การทุจริตคอรัปชั่น และการกระทำที่ไม่เคารพกฎหมายของรัฐบาลทักษิณ ยิ่งลักษณ์ และพรรคพวก การชุมนุมประท้วงรัฐบาลได้ลุกลามไปมาก จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องประกาศยุบสภา และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 แต่กลุ่มกปปส.ไม่เห็นด้วยกับการจัดการเลือกตั้งใหม่โดยไม่มีการปฏิรูปประเทศ จึงไม่ยอมเลิกชุมนุม และประกาศคำขวัญ ว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” คือ ถ้าไม่มีการปฏิรูปประเทศให้มีการเมืองการปกครองที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น ก็จะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง ในช่วงเวลาระหว่างการประกาศยุบสภาของรัฐบาลในปลายปีค.ศ. 2013 จนถึงการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2015 เหตุการณ์ในประเทศมีความโกลาหลวุ่นวายมาก นอกจากการชุมนุมของ กปปส. แล้วยังมีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มชาวนาที่ไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าว รวมทั้งการทำร้ายผู้ประท้วงรัฐบาลด้วยพฤติกรรมรุนแรง มีการประทะกันถึงขั้นนองเลือด จนฝ่ายทหารต้องทำรัฐประหาร โดยอ้างว่าเพื่อยุติความรุนแรง การชุมนุมของกลุ่มชาวนา เกิดจากความไม่พอใจที่ไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าว ในภาวะปกติ รัฐบาลกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ แต่หลังจากยุบสภา รัฐบาลรักษาการไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อมอบให้ธกส.จ่ายเงินค่าจำนำข้าวแก่ชาวนาได้ ในช่วงเวลานั้น สถาบันการเงินต่างไม่ยอมปล่อยเงินกู้ กระทรวงการคลังก็ไม่ยอมค้ำประกันเงินกู้ เพราะเกรงว่าจะทำผิดกฎหมาย เงินที่รัฐบาลได้รับอนุมัติใช้จ่ายหมุนเวียนในโครงการจำนำข้าวมีอยู่เหลือน้อย กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่สามารถขายข้าวได้ ชาวนาที่นำข้าวมาจำนำ จึงไม่ได้รับเงิน ต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากมาก ชาวนาหลายคนที่มีหนี้สินล้นพ้น และมีความเป็นอยู่แร้นแค้น บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย

ในต้นปีค.ศ. 2015 สถานการณ์ในประเทศเลวร้ายลงมาก นอกจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มกปปส.และชาวนาแล้ว ยังมีการต่อต้านผู้ชุมนุมประท้วงของกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ด้วยพฤติกรรมที่โหดร้าย รุนแรง
แม้สถานการณ์เลวร้ายลงมาก และมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการก็ไม่ยอมลาออก ฝ่ายทหารจึงต้องออกมาทำรัฐประหารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การขึ้นครองอำนาจรัฐ จนถึงการล่มสลายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความคล้ายคลึงกับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรมาก คือ ก้าวขึ้นสู่อำนาจรัฐจากการหาเสียงเสนอนโยบประชานิยมเลวร้าย ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งหลงเชื่อจนได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง เมื่อได้อำนาจแล้ว ก็นำนโยบายประชานิยมที่เสนอไว้ในช่วงหาเสียงมาใช้ มีการทุจริตคอรัปชั่น ไม่เคารพกฎหมาย ทั้งยังสั่งการให้พรรคพวกและลูกสมุนร่วมทำความผิด เมื่อถูกจับได้และถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด หัวหน้ารัฐบาลก็หลบหนีออกนอกประเทศ ปล่อยให้ผู้ที่ร่วมทำความผิด ต้องถูกจับติดคุกเป็นเวลานาน นอกจากนั้น แม้เจ้าตัวหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศแล้ว แต่ก็ยังคงมีพรรคการเมือง ที่อยู่ภายใต้การบงการ จึงสามารถสั่งการและบงการ เพื่อให้กลับเข้ามามีอำนาจอีกโดยใช้นโยบายประชานิยม โฆษณาชวนเชื่อ สร้างความนิยมจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง เพื่อหวังชัยชนะจากการเลือกตั้ง กลับมาเป็นรัฐบาลอีก และเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วก็ดำเนินนโยบายประชานิยมตามที่หาเสียง สร้างความเสียหายให้ประเทศอีก วนเวียนกันอยู่เช่นนี้

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *