อิหร่านกับสำนักคิดชีอะฮฺ และมายาคติที่ถูกสร้าง
อิหร่านกับสำนักคิดชีอะฮฺ และมายาคติที่ถูกสร้าง
โดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิหร่านศึกษาและภาษาเปอร์เซีย วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
มีนักเขียนบางคนจากนักบูรพาคดีได้ให้ความเห็นไว้ว่า แท้จริง ชาวอิหร่านในอดีตสมัย (ในช่วงต้นๆที่พวกเขายอมรับอิสลาม) พวกเขามีความผูกพันกับเครือญาติของศาสดามุฮัมมัด(ศ) และมีความรักต่อลูกหลานของศาสดาอีกทั้งได้แสดงออกถึงการจงรักภักดีต่อคนในครอบครัวของศาสดา และการแสดงออกของชาวอิหร่านต่อการมีความรักต่อลูกหลานศาสดานั้น แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นความบริสุทธิ์ใจ เป็นเพียงการแสดงให้เห็นภายนอก แต่ต้องการจะฟื้นฟูศาสนาดั้งเดิม(ศาสนาโซโรอัสเตอร์)พวกเขา เพื่อการตอบโต้และล้างแค้นต่ออิสลามและอาหรับ
การพูดเช่นนี้ คงจะเป็นข้ออ้างที่ดีสำหรับบุคคลสองกลุ่มนี้
กลุ่มแรก กลุ่มซุนนีที่มีความเป็นชาตินิยมจัด ที่จะอ้างว่า การเกิดขึ้นของนิกายชีอะฮ์มาจากผลทางการเมือง ไม่ได้เป็นผลผลิตจากความเชื่อที่มีต่ออิสลามอย่างบริสุทธิ์ พวกเขาได้โจมตีชีอะฮ์ด้วยข้อหานี้อย่างรุนแรง
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มชาตินิยม ในความเป็นอิหร่านหรือความเป็นเปอร์เซียจัด กลุ่มนี้แตกต่างกับกลุ่มแรก พวกเขาได้ยกย่องและเทิดทูนชาวอิหร่าน พวกเขากล่าวว่า แท้จริงชีอะฮ์คือกลุ่มที่ได้ธำรงรักษาคำสอนดั้งเดิมของพวกเขาไว้ (ที่เป็นความเชื่อของชาวเปอร์เซียโบราณ) ดังที่มีตำราบางเล่มได้เขียนไว้ว่า
“แท้จริงการกำเนิดของชีอะฮ์ เนื่องจากการคิดค้นสิ่งใหม่แนวคิดของชาวอิหร่าน และเพื่อจะมีเสรีภาพทางชาติพันธุ์และเชื้อชาติ และฟื้นฟูสัญลักษณ์ต่าง ๆ ดั้งเดิมของเปอร์เซีย และจากการที่อิมามอุเซน ได้แต่งงานกับบุตรตรีคนหนึ่งของกษัตริย์เปอร์เซีย และจะเห็นว่าลูกหลานของอิมามอุเซน ได้เป็นกษัตริย์สืบทอดกันมา และถือว่าสร้างความยิ่งใหญ่แก่ชาติเปอร์เซีย อีกทั้งให้การปกครองอยู่ภายใต้ของอิหร่านมาอย่างต่อเนื่อง และจากสมัยนั้นเอง คำว่าซัยยิด” จึงถูกนำมาเรียกต่อลูกหลานของอิมามอุเซน ซึ่งใช้แทนคำเดิม”คือกษัตริย์น้อย” นั่นเอง”
“แก่นของความคิดของสำนักคิดชีอะฮ์ ผ่านกลุ่มชาวอิหร่านนั้น ได้คงรักษาความเป็นชาติแห่งเปอร์เซียไว้ และยังพบว่าบางคำสอนในชีอะฮ์มีหลักคิดแบบความเชื่ออิหร่านโบราณ หรือบางคำสอนที่เป็นศาสนาโซโรอัสเตอร์ แล้วนำมาผสมผสานกับชีอะฮ์ จนทำให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างนิกายชีอะฮ์กับอิหร่านโบราณ ด้วยสมัยของเรานี่เอง กล่าวคือ ทำให้เราเข้าใจ และรู้ว่า แท้จริงบางความเชื่อ หรือบางประเพณีของอิหร่านโบราณ ได้ถูกเก็บรักษาไว้ในนิกายชีอะฮ์”
หรือแม้แต่นักเขียนด้านศาสนศาสตร์ก็เชื่อเช่นนั้น ดังกล่าวไว้ว่า
“ความเชื่อดั้งเดิมแบบเปอร์เซียโบราณ ในด้านจิตวิญญาณหรือด้านวิวรณ์ ที่เคยมีอยู่ในกลุ่มซาซาเนียน ถือว่าเป็นรากฐานความเชื่อของนิกายชีอะฮ์ ว่าด้วยบทเรื่องตำแหน่งผู้นำ และความไร้มลทินของผู้นำ หรือความบริสุทธิ์ ผู้ไร้บาปของผู้นำ และการแต่งงานอิมามอุเซน กับธิดาของกษัตริย์เปอร์เซีย คือที่มาของการขยายความเชื่อแบบเปอร์เซียโบราณสู่นิกายชีอะฮ์”
นี่คือความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างรุนแรงของนักบูรพาคดีและชาวอิหร่านที่มีความเป็นชาตินิยมจัด จนเป็นเหตุทำให้บางกลุ่มนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง หรือทางศาสนาในการสร้างความแตกแยกและปลุกปั่นให้มีความบาดหมางใจระหว่างสองนิกายนี้ตลอดมา และเป็นที่มาของการทำให้บางกลุ่มหลงเชื่อว่า นิกายชีอะฮ์ถูกสร้างขึ้นโดยอิหร่าน และหลงเชื่อว่านิกายชีอะฮ์มิใช่มุสลิมแท้ มิได้เป็นนิกายหนึ่งของอิสลาม และอื่นๆอะไรทำนองนั้น
เรื่องการแต่งงานอิมามฮุเซนกับนางชะฮ์บานู เป็นธิดาของกษัตริย์แห่งเมืองยาซ (ศูนย์กลางพวกบูชาไฟ) แล้วได้มีลูกชายที่มีชื่อว่า อะลี ซัยนุลอะบีดีน ที่มีเชื้อสายจากกษัตริย์ของเปอร์เซีย และหลังจากนั้นมีผู้นำปกครองอีกเก้าคนนั้น โดยอ้างว่าเป็นลูกหลานของกษัตริย์ของเปอร์เซีย และทำให้หลาย ๆ คนได้มโนคิดไปต่าง ๆ นานาว่า แท้จริงการเลื่อมใสของชาวอิหร่านต่อศาสดาและลูกหลานศาสดามุฮัมหมัด เนื่องจากว่าบรรดาอิมามเหล่านั้นมีเชื้อสายจากกษัตริย์ซาซาเนียน และการเชื่อของชาวชีอะฮ์ว่าตำแหน่งอิมามภายหลังจากศาสดานั้นได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าและเป็นตัวแทนของพระเจ้า เป็นหลักความเชื่อดั้งเดิมของศาสนาโซโรอัสเตอร์ เพราะว่าชาวโซโรอัสเตอร์เชื่อว่า บรรดากษัตริย์ของสายตระกูลซาซาเนียน เป็นเผ่าพันธุ์ที่มาจากฟากฟ้า มาจากเทพ เป็นสมมติเทพ ดังนั้นพวกเขามีความเป็นเทพอยู่ครึ่งร่างและอีกครึ่งร่างเป็นมนุษย์
สิ่งที่เราได้กล่าวมาแบบพอประมาณเกี่ยวกับความเชื่อของพวกโซโรอัสเตอร์ ซึ่งเราถือว่านั้นคือเป็นเพียงมายาคติ ไม่มีสาระทางตรรกะและทางปรัชญาใด ๆ ดังนั้นเราจะขอวิพากษ์ต่อสมมติฐานดังกล่าว เพื่อได้เห็นถึงข้อเท็จจริง สามารถแยกได้ ๒ ประเด็น ที่ต้องแยกออกจากกัน ดังนี้
หนึ่ง-เรื่องตำแหน่งผู้นำและตำแหน่งอิมามภายหลังจากศาสดามุฮัมหมัด ถ้าต้องการจะตรวจสอบและสืบค้นหาความจริง ก็ต้องย้อนไปดูหลักฐานจากพระคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮ์แบบฉบับของศาสดา เพื่อจะได้ข้อสรุปว่าความเชื่อของศาสนาโบราณเข้ามาสอดแทรกในคำสอนของศาสนาอิสลามในเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร?
การสืบค้นหลักฐานจากพระคัมภีร์อัลกุรอานและแบบฉบับของศาสดามุฮัมหมัด ประการแรก แท้จริงการมีภาวะผู้นำและมีธรรมะขั้นสูง และเป็นตำแหน่งที่ถูกแต่งตั้งโดยพระเจ้า และตำแหน่งผู้นำนั้นมาจากบุคคลที่ทรงคุณธรรม และทรงความยุติธรรม อัลกุรอานได้สนับสนุนและเสนอไว้เช่นนี้
อัลกุรอาน ได้กล่าวไว้อย่างชัดแจ้งและสนับสนุนถึงการมีตำแหน่งผู้นำภายหลังจากศาสดามุฮัมหมัด และอัลกุรอานได้เสนอบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอิมามว่า มาจากทายาทของศาสดาที่มีภาวะความบริสุทธิ์ ไร้มลทิน ก่อนที่อาหรับที่เป็นมุสลิมได้ปะทะกับศาสนิกอื่น ๆ จนทำให้ความเชื่อของพวกเขาได้อิทธิพลต่อกันและกัน ได้มีตัวบทเป็นหลักฐานได้อิงไว้จากอัลกุรอาน
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงแต่งตั้งอาดัม นูห์ และลูกหลานของอิบรอฮีม ลูกหลานของอิมรอน บนโลกใบนี้ โดยทายาทของพวกเขาจะสืบทอดกันและกัน และแท้จริงองค์อัลลอฮ์ ทรงได้ยินและทรงรอบรู้ยิ่ง”
ในโองการนี้ดูแบบผิวเผินและทั่ว ๆ ไปแล้ว ตำแหน่งผู้ปกครองและผู้นำนั้นได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้า และเป็นมนุษย์ และพื้นฐานหลักความเชื่อของสำนักคิดชีอะฮ์ในเรื่องตำแหน่งอิมาม ก็ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของอัลกุรอานและซุนนะฮ์ของศาสดา โดยมิได้เลยเถิดหรือนอกลู่แต่อย่างใด (แต่เราคงไม่สามารถจะเปิดประเด็นนี้มาพูดคุยกัน เพราะต้องใช้เวลาและต้องการรายละเอียด)
สอง ที่อยากจะนำมาวิเคราะห์ในตรงนี้คือ มีนักบูรพาคดีบางคนและชาวอิหร่านบางกลุ่มได้มโนและคิดไปเอง โดยการวิเคราะห์ในเชิงทฤษฎีข้างต้นว่า แท้จริงชาวอิหร่านได้เลือกนิกายชีอะฮ์เป็นศาสนาและการปฏิบัติของพวกเขา ซึ่งมีเจตนาแอบแฝงอยู่คือ ต้องการจะรักษาความเชื่อเดิมของชาวบูชาไฟ และเราจะนำมาวิเคราะห์อย่างจริงจังในประเด็นนี้ดังต่อไปนี้ว่า ถ้าหากว่าชาวอิหร่านมีความศรัทธาและเคารพต่อการเป็นผู้นำในครอบครัวศาสดามุฮัมหมัด เนื่องจากเป็นความเชื่อเดิมของชาวซาซาเนียน แน่นอนว่า ชาวอิหร่านก็ต้องให้การยอมรับต่อการปกครองของบะนีอุมัยยะฮ์ด้วย เพราะว่าพวกเขาเป็นผู้ปกครองอาณาจักรอิสลาม และหนึ่งจากผู้ปกครองบะนีอุมัยยะฮ์ ชื่อว่า วะลีด บิน อับดุลมะลิก ในช่วงทำสงคราม โดยมีแม่ทัพกุตัยบะฮ์ บินมุสลิม เขาได้จับเชลยสาวคนหนึ่งเป็นลูกหลานของกษัตริย์เปอร์เซีย ชื่อว่า ชาฮ์ ออฟารีด และคอลีฟะฮ์วะลิด บิน อับดุลมาลิก ได้แต่งงานกับเธอ และมีลูกชายหนึ่งคน ชื่อว่า ยะซีด หรือเรียกว่า ยะซีดนากิศ และต่อมายะซีดนากิศได้เป็นผู้ปกครองคนหนึ่งของราชวงศ์บะนีอุมัยะฮ์ด้วย และแน่นอนว่า เขาได้สืบเชื้อสายจากทางแม่มาจากชาวอิหร่าน
แต่ในประวัตืศาสตร์ทำไมชาวอิหร่าน ไม่มีใครเลยสักคนที่อ้างถึงสายตระกูลนั้นแล้วมาศรัทธาและเคารพเขาทั้ง ๆ วะลีด คือเขยแห่งเปอร์เซีย และยะซีด นากิศเป็นหลานแห่งกษัตริย์ แต่ไม่มีนักประวัติศาสตร์คนใดรายงานถึงการยกย่องบะนีอุมัยยะฮ์โดยชาวอิหร่านเลย
หรือถ้าจะบอกว่าชาวอิหร่านมีความเป็นชาตินิยมในการศรัทธาต่อครอบครัวศาสดา ก็ต้องยอมรับอับดุลลอฮ์ อิบนิซิยาด และต้องเคารพเป็นพิเศษด้วย เพราะว่าอับดุลลอฮ์ อิบนิซิยาด ครึ่งตัวของเขาเป็นคนอิหร่าน เพราะว่าพ่อของเขา ซียาดนั้นได้แต่งงานกับหญิงอิหร่านคนหนึ่ง เป็นชาวเมืองชีราซ (ชีราซี) และเมื่อซียาดได้มาปกครองเมืองฟาส เขาได้แต่งงานกับเธอ และได้บุตรชายชื่อ อับดุลลอฮ์
นี่คือมายาคติที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่างที่พวกเขาได้วางแผนไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่า เราต้องรู้เท่าทัน เพื่อให้ได้เห็นว่า ความหลากหลายทางนิกายนั้นมิได้เป็นมูลเหตุของการขัดแย้งและการแตกแยก แต่ทว่ากลับกันทำให้เราเข้าถึงและเข้าใจว่า ความแตกต่างทางนิกายหรือความหลากหลายทางลัทธินั้น เป็นเรื่องปกติของโลกใบนี้ และเราสามารถจะอยู่ได้กับความแตกต่าง แต่จะไม่แสวงหาความแตกแยก