การย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นในเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ (1)
การย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นในเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ (1)
จรัญ มะลูลีม
เมื่อวันที่ 15-16 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมนานาชาติในฐานะแขกรับเชิญ (Guest of Honour) ร่วมกับนักวิชาการจากตะวันออกกลางทั้งจากประเทศโอมาน ตุรกี อิรักและนักวิชาการจากประเทศไทย (ผศ.ดร. อาทิตย์ ทองอินทร์) จาก ม.สุโขทัยธรรมาธิราช รวมทั้งนักวิชาการอีกจำนวนมากจากหลากหลายมหาวิทยาลัยของอินเดีย
ในการประชุมนานาชาติครั้งนี้ ซึ่งมีผู้นำเสนอถึง 161 ผลงานมีชื่อว่า การย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ (WANA): ข้อกังวลระดับโลกและผลกระทบต่ออินเดีย (Migration And Diaspora In West Asian and North African (WANA) Region : Global Concern And Implication For India) จัดโดยภาควิชาเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือศึกษา (Department of West Asian and African Studies) Aligarh Muslim University (AMU) Aligarh, UP. India ซึ่งเนื้อหาสำคัญของการประชุมในครั้งนี้มีดังต่อไปนี้
การย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นได้เชื่อมโยงกันเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ (WANA) มาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว
การข้ามผ่านการเดินทางของชาวยิวพลัดถิ่นจำนวนมากไปสู่การอพยพของกองกำลังต่างชาติเข้ามาในภูมิภาคผ่านการค้าและการรุกรานได้ทิ้งร่องรอยถาวรไว้ในสังคม การเมือง เศรษฐกิจ โดยรวม
การโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นในภูมิภาค WANA เกิดขึ้นตรงทางแยกของโลกและในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ วิถีการอพยพยังถูกชี้นำด้วยการมีส่วนในแหล่งพลังงานร่วมกัน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซ
คำว่าการพลัดถิ่นถูกใช้ครั้งแรกสำหรับการแพร่กระจายของชาวยิวและการกระจัดกระจายใน ค.ศ. 70 เมื่อชาวโรมันขับไล่พวกเขาออกจากบ้านที่พวกเขาเคยอาศัยอยู่เมื่อพันปีที่แล้ว
เมื่อก้าวไปข้างหน้าในหน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นในภูมิภาค WANA เราก็จะได้เห็นกระแสการย้ายถิ่นเข้าและออกจำนวนมหาศาล ซึ่งทำให้ภูมิภาคนี้เป็นอย่างทุกวันนี้
นอกจากนี้ การก่อตั้งประเทศอิสราเอลในปี 1948 บนดินแดนปาเลสไตน์ได้บังคับให้ชาวปาเลสไตน์ต้องลี้ภัยไม่เพียงแต่ในประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในส่วนต่างๆ ของโลกอีกด้วย
การเฟื่องฟูของน้ำมันในปี 1973 ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญ ได้กระตุ้นให้เกิดการอพยพของแรงงานและเปลี่ยนชะตากรรมของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในโลกอาหรับไปตลอดกาล
การย้ายถิ่นของแรงงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้ย้ายถิ่นและกลายเป็นประโยชน์ทั้งต่อประเทศผู้ส่งออกแรงงานและผู้รับเข้าแรงงาน ในประเทศกลุ่มสภาความร่วมมือแห่งอ่าว (Gulf Cooperation Council หรือ GCC) (ในที่นี้หมายถึงอ่าว เปอร์เซียหรือเรียกโดยชาวอาหรับว่าอ่าวอาหรับ) จะพบว่าในดินแดนเหล่านี้จำนวนแรงงานข้ามชาติได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จำนวนมากมีทักษะต่ำในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างและการบริการ หรือแรงงานรับใช้ในบ้าน ในขณะที่คนอื่น ๆ อยู่ในงานที่มีทักษะสูงและอยู่ในธุรกิจที่มีความมั่นคง
แรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมอย่างมากในการพัฒนาประเทศปลายทาง และส่งเงินกลับที่สำคัญไปยังครอบครัวและชุมชนของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม หลายคนต้องเผชิญกับความท้าทายในการทำงานที่ดี ภูมิภาคนี้มีส่วนแบ่งแรงงานข้ามชาติสูงที่สุดในโลก
เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของแรงงานทั้งหมดพบว่าสูงถึงร้อยละ 41.4 ในปี 2019 เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่มีอยู่เพียงร้อยละ 5
ข้อมูลขององค์การแรงงานโลก (ILO) แสดงให้เห็นว่าเกือบร้อยละ 83 ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมดเป็นแรงงานชาย ส่วนแรงงานหญิงมีเพียงร้อยละ 17 ของประชากรที่เป็นแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคนี้ เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่มีอยู่ร้อยละ 41 เท่านั้น (ILO 2021)
ก่อนหน้านี้การย้ายถิ่นฐานและภูมิทัศน์ของเมืองเป็นแง่มุมที่ไม่ค่อยได้มีการกล่าวถึงมาก่อน ดังนั้นการประชุมในครั้งนี้จึงมีขึ้นเพื่ออภิปรายถึงมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐาน การขยายตัวของเมือง และการพัฒนาเมืองระดับโลกในภูมิภาค
ระดับการขยายตัวของเมืองนั้นสูงมากในหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ GCC ซึ่งกว่าร้อยละ 80 มีลักษณะเป็นเมือง
ดังนั้น เมืองต่างๆ ยังคงดึงดูดผู้คนที่แสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นและโอกาสในการทำงานและการบริการที่ดียิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของการประชุมครั้งนี้คือการระบุและหารือเกี่ยวกับปัจจัยที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นศูนย์กลางในการกำหนดแนวโน้มของปริมาณ อัตราความเร็ว และรูปแบบการไหลเข้าของแรงงานข้ามชาติในอนาคตสู่เมือง และปัจจัยที่กำหนดการย้ายถิ่นฐานไปยังเมืองต่างๆ
การอพยพย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นของประชากรหลังเหตุการณ์ Arab Spring /การจลาจลในปี 2011 เริ่มต้นขึ้นในตูนิเซีย ต่อมาได้แพร่กระจายไปในหลายประเทศในภูมิภาค WANA
การประชุมในครั้งนี้อีกเช่นกันที่ได้มีการหารือกันในเรื่องดังกล่าวว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัยที่เลวร้ายที่สุดในต้นศตวรรษที่ 21
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของการอพยพระหว่างและหลังการระบาดของ COVID-19 อีกด้วย
ที่น่าสนใจก็คือพลวัตการอพยพของชาวอินเดียไปยังประเทศในเอเชียตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปยังประเทศในกลุ่ม GCC ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ในขณะที่ประเทศอินเดียกำลังเฉลิมฉลอง 75 ปีแห่งการประกาศอิสรภาพอยู่นั้นอินเดียมีผู้พลัดถิ่นที่ขยายตัวออกไปจำนวนมากถึง 18 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งประมาณ 8 ล้านคนอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลาง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ขนาดมหึมา
จุดประสงค์ในการพิจารณาประเด็นเหล่านี้ คณะเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือศึกษา (West Asian and North African Studies) มหาวิทยาลัยมุสลิมอลีการ์ (Aligarh Muslim University) จึงได้จัดประชุมในหัวข้อ การย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ (WANA) ข้อกังวลระดับโลกและผลระทบต่ออินเดีย ในวันที่ 15-16 มีนาคม 2023 ขึ้นโดยในการประชุมครั้งนี้ได้มีการพูดถึงปัญหาจากแง่มุมต่างๆ ดังต่อไปนี้
แง่มุมทางประวัติศาสตร์
- การย้ายถิ่นและการพลัดถิ่นในภูมิภาค WANA: จากแง่มุมทางประวัติศาสตร์
- การอพยพและการพลัดถิ่นจากประเทศในภูมิภาค WANA ไปยังส่วนต่างๆ ของโลก
- การอพยพกลับของชาวยิวจากทั่วโลกไปยังปาเลสไตน์: จากแง่มุมทางประวัติศาสตร์
แง่มุมของการเคลื่อนย้ายแรงงาน
- รูปแบบ ประเด็น และความท้าทายของการย้ายถิ่นในแถบอ่าวเปอร์เซียก่อนและหลังยุคน้ำมันเฟื่องฟู: มิติทางภูมิศาสตร์ สังคมวิทยา การเมือง และเศรษฐกิจ
- ส่วนต่างของค่าจ้างและการเคลื่อนย้ายแรงงาน
- กลุ่มประเทศ GCC เป็นจุดที่เป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการอพยพจากประเทศในเอเชียใต้
- พลวัตของการย้ายกลับ; การโยกย้ายรุ่นที่สองและการย้ายถิ่นที่ผิดกฎหมาย