คำศัพท์และความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ: self-fulfill prophecy(คำทำนายนำไปสู่ความเป็นจริง)
คำศัพท์และความคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ: self-fulfill prophecy(คำทำนายนำไปสู่ความเป็นจริง)
ความหมายและตัวอย่าง
Self-fulfill prophecy หมายถึง สิ่งที่คาดคะเนหรือที่ทำนายไว้ แล้วทำให้เกิดสิ่งนั้นขึ้นมาได้เอง (จากความคิดของเรา) คำคำนี้ไม่ใช่คำศัพท์เฉพาะทางเศรษฐศาสตร์ แต่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจได้
ตัวอย่างเช่น ถ้าคนจำนวนมากคิดว่าค่าของเงินตราสกุลหนึ่งจะสูงขึ้นและเงินอีกสกุลหนึ่งจะต่ำลง คนก็จะแห่กันไปซื้อเงินสกุลที่เขาคิดว่าจะมีค่าสูงขึ้น และเทขายเงินที่เขาคิดว่าจะมีค่าลดลง ในกรณีเช่นนี้ เงินสกุลที่มีคนซื้อมากก็จะมีค่าสูงขึ้น และเงินสกุลที่มีคนเทขายก็จะมีค่าตํ่าลงตามคาด ราคาสินค้าและราคาหุ้น ก็มีลักษณะเดียวกัน ถ้าคนคิดว่าสินค้านี้จะขึ้นราคา ก็จะแย่งกันซื้อ สินค้านั้นก็จะมีราคาสูงขึ้นตามคาด ทำนองเดียวกัน ถ้าคนจำนวนมากคิดว่า หุ้นตัวใดตัวหนึ่งจะปรับตัวสูงขึ้น ก็พากันซื้อหุ้นตัวนี้ และมีผลทำให้หุ้นตัวนั้นราคาสูงขึ้นจริง
ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจมีความสำคัญ ถ้าประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในระบบการเงิน เช่น มีข่าวลือว่าธนาคารจะล้ม จึงพากันไปถอนเงินที่ธนาคาร ในที่สุด ธนาคารแห่งนั้นก็ต้องล้ม จากที่ไม่มีเงินจ่ายให้ผู้ฝากจำนวนมากที่พากันมาถอนเงินในคราวเดียวกัน การบริหารเศรษฐกิจด้านอื่น ก็เช่นเดียวกัน หากนักธุรกิจและประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าเศรษฐกิจไม่ดี ก็จะไม่ลงทุนและบริโภคน้อยลง หากนักธุรกิจคิดว่าถ้าลงทุนผลิตสินค้าแล้วขายไม่ได้ เขาก็จะไม่ลงทุนเพิ่มการผลิต แม้รัฐบาลลดดอกเบี้ยลงก็ตาม ถ้าประชาชนผู้บริโภคเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ตนอาจต้องตกงาน และกลัวว่ารายได้ในอนาคตจะไม่พอกับการใช้จ่าย เขาก็จะซื้อสินค้าบริการน้อยลง แม้จะมีเงินใช้จ่ายก็ตาม การคาดคะเนว่าเศรษฐกิจไม่ดี จึงมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้ลงทุนและผู้บริโภค และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ตามความคาดหมายของเขา ในการดำเนินนโยบายการเงินเงินเฟ้อคาดการณ์(inflation expectation) คือ การคาดการณ์หรือการคาดคะเนของผู้บริโภคและผู้ลงทุนว่า เงินเฟ้อในอนาคตจะเป็นอย่างไร จึงเป็นปัจจัยที่ควรพิจารณา
ความเชื่อมั่นในตัวเอง
ความคิด การทำนายที่นำไปสู่ความเป็นจริงนี้ ยังอธิบายปรากฏการณ์ในชีวิตคนได้ ผู้ใหญ่ที่ชอบดุด่าเด็ก โดยใช้คำพูดที่ทำลายความมั่นใจของเขา เช่น เด็กโง่ เด็กปัญญาอ่อน เด็กที่สอนไม่รู้จักจำ เมื่อเป็นเด็กก็โง่มากแล้ว แต่ยิ่งโตยิ่งโง่มากขึ้น ฯลฯ ในกรณีเช่นนี้ เด็กที่โตขึ้นอาจกลายเป็นคนโง่คนปัญญาอ่อนตามความคิดของผู้ใหญ่ที่ใช้คำพูดรุนแรงเหล่านี้ ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากการขาดความมั่นใจในตนเอง
สุภาษิต“ คุณเป็นคนอย่างที่คุณคิด”(you are what you think”) และคำกล่าวของเดการ์ด(Rene Deartes) นักปรัญญาและนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 ที่กล่าวว่า “ฉันคิด ฉันจึงเป็นฉัน” เป็นการยืนยันความสำคัญของความคิด
ความเห็นผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก ทั้งพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ และครูอาจารย์ มักมีผลกระทบต่อความคิดซึ่งจะมีผลกระทบต่ออนาคตของเด็กคนนั้นได้ตัวอย่างของอดิสัน(Thomas Edison) นักประดิษฐ์มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน ที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนหลังจากเข้าเรียนได้ไม่นานเป็นตัวอย่างที่ดีของความสำคัญของความเชื่อมั่น เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่ง ครูของเอดิสันเขียนจดหมายถึงแม่ของเอดิสัน มีใจความว่า เอดิสันเป็นเด็กปัญญาอ่อน โรงเรียนไม่สามารถสอนเขาได้ จึงให้เขาลาออก แม่เอดิสันซึ่งเคยเป็นครูมาก่อน อ่านจดหมายแล้ว รู้สึกเสียใจมาก แต่ไม่ได้บอกเรื่องที่ครูว่าเขาเป็นเด็กปัญญาอ่อน เพียงแต่บอกว่า หนูชอบถามคำถามแปลกๆ ที่ครูตอบไม่ได้ จึงไม่อยากให้หนูเรียนต่อ แต่ไม่เป็นไร แม่จะสอนหนูเอง ต่อจากนั้น แม่ก็สอนเอดิสัน อ่าน เขียน และคิดเลข และพยายามตอบทุกคำถามที่เอดิสันถามเท่าที่จะตอบได้ และไม่คิดว่าคำถามเหล่านั้นเป็นคำถามปัญญาอ่อน
โดยทั่วไป นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ที่เก่ง มักมีนิสัยอยากรู้อยากเห็นตั้งแต่เด็ก ตั้งคำถามสิ่งที่คนอื่นไม่เคยคิด ในประวัติศาสตร์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์และทฤษฎีความคิดในวิชาการแขนงต่างๆ เกิดได้จากการสังเกต การคิด การตั้งคำถาม และการทดลอง ถ้าไม่มีความอยากรู้อยากเห็นตั้งแต่ต้น หลายสิ่งหลายอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันอาจไม่เกิดขึ้นในโลกนี้ก็ได้ เอดิสันมีความอยากรู้อยากเห็นตั้งแต่เด็ก จึงมักมีคำถามที่คนทั่วไปไม่เคยถาม แต่เมื่อครูตอบไม่ได้ กลับว่าเอดิสันเป็นเด็กปัญญาอ่อน ซึ่งเป็นคำพูดที่ทำลายความมั่นใจของเด็ก หากแม่เขาเชื่อว่าลูกเป็นเด็กปัญญาอ่อน เอดิสันคงไม่สามารถเติบโตเป็นนักประดิษฐ์คนสำคัญของโลกได้
วงจรความเชื่อและความจริง
ความคิดการคาดคะเนหรือความเชื่อที่ทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ จนทำให้ความเชื่อกลายเป็นความจริงนั้น มีผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันของคน ในบทความ“ วงจรชั่วร้ายและวงจรความดี” ที่เคยเขียนลงในบล็อกนี้ กล่าวถึงตัวอย่างการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดผลดีต่อสิ่งหนึ่งหรือภาคเศรษฐกิจหนึ่ง แล้วส่งผลดีต่อสิ่งอื่นหรือภาคเศรษฐกิจอื่นเป็นวงจร และผลเสียที่เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจในส่วนหนึ่งที่ส่งผลเสียต่อส่วนอื่นๆ ติดต่อกันเป็นลูกโซ่ รวมทั้งพฤติกรรมและอุปนิสัยที่ดีและไม่ดีของคนที่ทำให้เกิดผลดีหรือผลเสียเชื่อมโยงกันเป็นวงจร ก็ใช้วิธีคิด“ การคาดหมายนำไปสู่ความเป็นจริง” นี้อธิบายได้เช่นกัน
การลดผลกระทบและการใช้ประโยชน์จากการคาดการณ์
การคาดการณ์จากสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจมีต่อพฤติกรรม และทำให้สิ่งที่คาดหวังนั้นกลายเป็นความจริง แต่ความคิดและการคาดคะเนของคน บ่อยครั้ง อาจรับอิทธิพลจากความเห็นหรือคำพูดของคนอื่น นักการเมือง ผู้โฆษณาสินค้า มักคิดว่า “ไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าพูดไปมากๆ คนก็จะเชื่อเอง” ข่าวเท็จแม้ไม่สมเหตุสมผล แต่เมื่อมีการพูดกันมากๆ ก็จะมีคนเชื่อว่าเป็นความจริง
แล้วเราจะใช้ประโยชน์แต่ลดผลกระทบที่ไม่ดีจากการคาดคะเนที่นำไปสู่ความเป็นจริงได้อย่างไร?
สำหรับบุคคลทั่วไป สิ่งสำคัญคือต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดในด้านบวก ถ้ามีคนดูถูกดูแคลน กล่าวหาเราอย่างเสียๆหายๆ ก็ไม่โกรธ ไม่เสียใจ ไม่ท้อแท้ใจ ไม่สะทกสะท้านกับความคิดและคำพูดของคนอื่นที่มีต่อเรา ผู้ใหญ่ที่มีความหวังดีต่อเด็ก ก็ไม่ควรดุเด็กด้วยคำพูดที่ทำให้เขาเสียความมั่นใจ ถ้าไปว่าเขาโง่บ่อยๆ เด็กคนนี้อาจจะกลายเป็นคนโง่ตามที่เราว่าก็ได้
การสร้างความมั่นใจแก่เด็กเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน การชื่นชมเด็กที่เกินเลยความจริง ก็อาจสร้างความเสียหายแก่เขาได้เช่นกัน แนวทางที่เหมาะสม คือ คาดหวังได้ แต่ไม่เกินเลยจนเกินไป อย่าไปคิดว่า การกระตุ้นให้เด็กมีความพยายาม ไปทำในสิ่งที่เกินกว่าความรู้ความสามารถเขามาก จะสร้างความสำเร็จกับเขาได้
ในปัจจุบัน ข่าวลือ ข่าวลวง การเผยแพร่ความคิดเห็นที่บิดเบือนความจริง การโฆษณาชวนเชื่อ การยกย่องสรรเสริญบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างเลิศลอย ฯลฯ ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในยุคเทคโนโลยีการสื่อสารเจริญก้าวหน้า การสร้างเรื่องที่นำไปสู่การปลุกระดมมวลชนมีให้เห็นบ่อยๆ ทางที่ดีคือ เมื่อได้รับทราบข้อมูลข่าวสารหรือความคิดเห็นใดๆแล้ว ต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนก่อนว่า สิ่งที่รับรู้มานั้นสอดคล้องกับความเป็นจริงและสมเหตุสมผลหรือไม่ อย่าไปเชื่อและทำตามสิ่งที่เขาพูดง่ายๆ และอย่าเผยแพร่ต่อโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจริงเท็จประการใด
แม้ความคาดหวังทำให้คนมีพฤติกรรมและนำไปสู่ความจริงตามที่หวังไว้ แต่ความคาดหวัง ก็ไม่ได้นำไปสู่ความเป็นจริงเสมอไป บางครั้ง พฤติการณ์ที่คิดว่าจะทำให้เกิดผลสมตามที่คาดหวัง ก็อาจให่ผลตรงกันข้าม คือ แทนที่จะได้ผลดี กลับได้ผลร้าย ไม่ว่าปัจเจกบุคคลหรือสถานประกอบการธุรกิจ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต พยายามรักษาชื่อเสียงของตนเอง ไม่คดโกง พูดเท็จ หรือสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองที่ไม่เป็นความจริง เพื่อหวังผลที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ธุรกิจที่ตกแต่งตัวเลขเพื่อโอ้อวดคุณภาพของสินค้า เพื่อหวังว่าสินค้าจะขายดีขึ้น และธุรกิจมีกำไรมากขึ้น แต่ถ้าสิ่งที่โฆษณานั้นไม่เป็นความจริง เมื่อมีคนจำนวนมากรู้เข้า ก็จะทำให้ปริมาณการขายลดลง ผลกำไรลดลงมากหรือถูกลงโทษ จนธุรกิจเขาก็เสียหาย และอาจต้องถึงกับล้มละลาย หรือมีการแต่งตัวเลขผลประกอบการเพื่อหวังจะเสียภาษีน้อยลง การโกงภาษีนี้ ถ้าถูกจับได้ นอกจากจะเสียชื่อเสียง ทำให้ธุรกิจตนเองประสบผลเสียหายแล้ว ยังอาจได้รับโทษตามกฏหมายด้วย เรื่องความซื่อสัตย์นี้เมื่อดูเผินๆ บางคนอาจคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการคาดหวังที่นำไปสู่ความเป็นจริง แต่ความคาดหวังโดยมีพฤติการณ์ไม่ซื่อสัตย์ เมื่อถูกเผยแพร่ออกไป ก็จะสร้างความเสียหายได้มาก
ความคิดการคาดคะเนหรือความคาดหวังนำไปสู่ความจริง จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่หวังผลให้เกิดความจริงตามที่คาดหวังไว้ มีผลกระทบต่อผู้สร้างความคาดหวัง ในกรณีที่มีพฤติการณ์ไม่สุจริตเพื่อบรรลุผลตามความคาดหวัง
กรณีการสร้างข่าวและหลักฐานปลอมเพื่อทำลายชื่อเสียงคนอื่น เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการได้ผลตรงกันข้ามกับความหวัง นักการเมืองหรือนักธุรกิจที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต มักทำลายชื่อเสียงของฝ่ายตรงข้าม โดยการสร้างข้อมูลและหลักฐานปลอมกล่าวหาคู่อริ หากมีคนเชื่อ ฝ่ายตรงข้ามที่ถูกกล่าวหาก็จะเสียชื่อเสียง และอาจถึงกับถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย สมความปรารถนาของผู้กล่าวหาได้ แต่ถ้าในที่สุด ความจริงถูกเปิดเผย ผู้ที่เสียหายมากก็คือผู้สร้างข่าวเท็จและหลักฐานปลอมนั้นๆ
สำหรับรัฐบาลที่มีหน้าที่บริหารประเทศ ความเชื่อมั่นของประชาชนมีความสำคัญ ในเวลาผ่านมา เราได้เห็นรัฐบาลที่ชอบสร้างความคาดหวังปลอม เพื่อหวังการสนับสนุนจากประชาชน เช่น บอกว่า เมื่อรัฐบาลชุดนี้ขึ้นมาบริหารประเทศแล้ว เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในไม่นาน เมื่อผู้นำรัฐบาลเดินทางออกไปพบปะกับผู้บริหารของบริษัทต่างประเทศ ก็กลับมาประชาสัมพันธ์ว่า มีหลายบริษัทรับปากว่าจะมาลงทุนในประเทศเรา แต่จนแล้วจนรอด เศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้น และบริษัทต่างชาติก็ไม่มา แต่กลับไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีสภาพเศรษฐกิจดีกว่า ในกรณีนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลจะเสื่อมถอยลงไป นโยบายต่างๆของรัฐบาลก็จะไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน ทำให้รัฐบาลทำงานลำบาก ทำอะไรก็ไม่สามารถบรรลุผลตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ได้
ที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ความคิด“ การคาดหวังนำไปสู่ความเป็นจริง”นั้น เป็นความคิดที่ไม่ผิด การกระทำตามความคาดหวัง อาจทำให้เกิดผลตามความหวังได้ แต่ความคาดหวังนั้น ต้องเป็นความคาดหวังที่สอดคล้องกับเหตุผลและความเป็นจริง เป็นความหวังที่นีความซื่อสัตย์สุจริต ความคาดหวังที่ไม่สุจริต อาจหลอกลวงคนได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อความจริงถูกเปิดเผยออกมา ผู้สร้างความคาดหวังจอมปลอมเหล่านั้น ก็จะได้รับความเสียหายมาก อีกสิ่งที่พึงสังวรคือ สิ่งชั่วร้ายหนึ่ง อาจส่งผลเสียต่อสิ่งอื่นๆเป็นวงจร และจนอาจลุกลามใหญ่โตจนไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคล หน่วยธุรกิจ หรือรัฐบาล ต้องรู้จักสำรวจตัวเอง ไม่ให้ตนตกอยู่ในวงจรชั่วร้าย ทำผิดแล้วต้องหาทางแก้ไข ไม่ใช่ผิดแล้วผิดอีก หรือไปโทษปัจจัยภายนอกต่างๆที่ไม่สามารถควบคุมได้