วัฒนาการของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย
วัฒนาการของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย
รศ.ดร.สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
วิวัฒนาการของระบบอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศไท1.ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา (multiple exchange rate system)
ตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายครั้ง หลังสิ้นสุดสงครามโลก เศรษฐกิจไทยต้องประสบกับปัญหาหลายประการ เช่น มีเงินเฟ้อในระดับสูง ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเพราะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม การค้าต่างประเทศต้องถูกควบคุม และขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศซึ่งจำเป็นต่อการนำเข้าสินค้า
ในช่วงแรกรัฐบาลไทยต้องเข้าควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แต่การควบคุมเงินตราต่างประเทศนี้ต้องประสบกับปัญหาในทางปฏิบัติมาก เช่น เกิดตลาดมืดในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีการลักลอบส่งออกและนำเข้า ตั้งแต่ปี 1947 เป็นต้นมาประเทศไทยจึงมีการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา (multiple exchange rate system) กล่าวคือ ในสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ข้าว ยาง ดีบุกและไม้สัก ผู้ส่งออกต้องนำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับมานั้นแลกเป็นเงินบาทกับธนาคารแห่งประเทศไทยในอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก โดยผู้ส่งออกข้าวต้องนำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับมาทั้งหมดแลกเป็นเงินบาท และผู้ส่งออกยาง ดีบุกและไม้สัก ต้องนำเงินที่ได้รับครึ่งหนึ่งมาแลกกับธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาจึงมีการลดข้อกำหนดการแลกเปลี่ยนเงินลงมาคือ ผู้ส่งออกข้าวต้องนำเงินตราต่างประเทศทั้งหมดมาแลกกับทางการ ส่วนผู้ส่งออกยางและดีบุก จะต้องนำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับมาแลกกับทางการร้อยละ 20 แต่ผู้ส่งออกไม้สักไม่ต้องนำเงินตราต่างประเทศมาแลกกับทางการ ทางด้านการนำเข้านั้น การนำเข้าสินค้าจำเป็นบางอย่าง เช่น น้ำมันและเครื่องจักร ผู้นำเข้าสามารถแลกเงินตราทางการได้ แต่ผู้นำเข้าสินค้าทั่วไปจะต้องแลกเงินตราต่างประเทศในตลาด ซึ่งมีอัตราที่แพงกว่าอัตราทางการมาก การนำเข้าของรัฐวิสาหกิจ ก็ขออนุญาตแลกเงินตามอัตราทางการได้
ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรานี้มีการใช้กันอยู่นานหลายปี และมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดในทางปฏิบัติหลายครั้ง ระบบนี้แม้มีความลำบากในการควบคุม ทั้งยังมีตลาดมืดในการแลกเงินและการลักลอบการส่งออก แต่ก็มีผลทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้นและทำให้รัฐบาลไทยมีการสะสมเงินตราต่างประเทศได้ระดับหนึ่ง ทั้งยังช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อและทำให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจสามารถนำสินค้าเข้าได้ในราคาต่ำด้วย
ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรานี้มีการใช้กันจนถึงปี 1955 เมื่อประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของ International Monetary Fund (IMF)จึงหันมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ในอัตราเดียวกัน
2.ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
ในเวลาหลายทศวรรษตั้งแต่ปี 1955 เป็นต้นมา ระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทย เป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่แต่ปรับได้ (adjustable peg) เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกของ IMF อื่นๆ ในระหว่างช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ค่าของเงินบาทมีเสถียรภาพมาก การส่งออกของไทยทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยต้องมีการนำเข้าสินค้าจำนวนมากเพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงทำให้มีมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าการส่งออกและมีดุลการค้าที่ขาดดุลเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดีเนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าประเทศในบัญชีบริการและบัญชีทุนเคลื่อนย้ายจำนวนมาก ประเทศไทยจึงมีดุลการชำระเงินเกินดุลเป็นส่วนใหญ่ และสามารถสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก
ระหว่างปี 1969 ถึง 1971 ดุลการชำระเงินของไทยมีการขาดดุลหลังจากที่เกินดุลมาหลายปี ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็สืบเนื่องมากจากดุลบริการที่ลดลงและเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศที่มีน้อยลง และหลังจากการใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม ประเทศไทยต้องนำเข้าเครื่องจักร ชิ้นส่วนและวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก การพัฒนาเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ เช่น การสร้างเครือข่ายการคมนาคมที่ต้องอาศัยสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น ธนาคารโลกและสหรัฐอเมริกา แต่ดุลการค้าก็ยังขาดดุลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงทศวรรษ 1970 รัฐบาลไทยมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้ามาเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น โดยการแก้ไขนโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่อุตสาหกรรมส่งออก แม้ยังคงมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการทดแทนการนำเข้าอยู่
ในปี 1971 และ 1973 สหรัฐอเมริกาลดค่าเงินลงมาสองครั้ง ประเทศไทยซึ่งยังคงตรึงค่าเงินกับดอลลาร์อเมริกา จึงมีค่าเงินลดลงมาด้วย ในระหว่างปี 1971 ถึง 1979 ดอลลาร์มีค่าลดลงมาก ทำให้ค่าเงินบาทที่ผูกค่าไว้กับเงินดอลลาร์ลดลงตาม ซึ่งการลดค่าเงินบาทลงมานี้เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยเพราะสินค้าไทยมีราคาลดลงเมื่อคิดเป็นเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตามมีอยู่ช่วงหนึ่งที่รัฐบาลไทยเกรงว่าค่าเงินบาทลดลงเร็วเกินไป ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อราคาสินค้าในประเทศ จึงใช้ระบบการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนวันต่อวัน (daily fixing) โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวัน ซึ่งมักมีการเคลื่อนไหวในวงแคบ
ในช่วงที่ โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) เป็นประธานธิบดีสหรัฐมีการใช้นโยบายลดภาษี แต่เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐโดยเฉพาะการใช้จ่ายในการป้องกันประเทศ ทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีการขาดดุลงบประมาณในปริมาณสูง และมีการกู้ยืมเงินจากตลาดเงินทุนโดยการขายพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในอเมริกาสูงขึ้นมาก จึงมีเงินทุนไหลเข้าสู่สหรัฐเป็นจำนวนมาก และดึงให้เงินดอลลาร์มีค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์ส่งผลให้ค่าของเงินบาทสูงขึ้นมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจปรับค่าเงินบาทสองครั้งในช่วงปี 1981 รวมราวร้อยละ 10 และในปลายปี 1984 เมื่อดุลการค้าของประเทศไทยมีขนาดการขาดดุลที่สูงมาก รัฐบาลไทยจึงประกาศลดค่าเงินบาทลงมาอีกร้อยละ 14.8 พร้อมกับการลดค่าเงินบาทครั้งนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้เป็นระบบตะกร้า (basket system) คือ ผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินตราต่างประเทศหลายสกุล โดยมีการถ่วงน้ำหนักต่างกันอย่างไรก็ตาม ในตะกร้าเงิน ดอลลาร์ยังเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลหลักที่มีน้ำหนักในสัดส่วนสูง ระบบตะกร้านี้แม้มีความยืดหยุ่นมากกว่าการผูกค่าเงินไว้กับเงินตราต่างประเทศสกุลใดสกุลหนึ่ง แต่ก็ยังถือได้ว่าเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ในรูปแบบหนึ่ง
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 การส่งออกของไทยมีการขยายตัวในอัตราสูง แต่ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษเศรษฐกิจไทยต้องตกอยู่ในภาวะซบเซา จากผลของวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สอง และการตกต่ำของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมาก แต่พอถึงช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และจากการปรับค่าเงินบาทก่อนหน้านั้น ซึ่งช่วยสนับสนุนการส่งออกโดยเฉพาะในสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากการลดค่าเงินลงในปี 1984 แล้ว ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ค่าเงินสกุลต่างๆของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมากในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย กล่าวคือ ค่าเงินดอลลาร์ของอเมริกาลดลงมามาก แต่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นและเงินตราของประเทศอื่นๆที่มีการค้าเกินดุล เช่น เกาหลี ไต้หวัน ได้ปรับค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว การสูงขึ้นของค่าเงินเยนญี่ปุ่นทำให้บริษัทญี่ปุ่นต้องแห่กันออกมาลงทุนในประเทศอื่น และไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการลงทุนจากญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆในปริมาณมาก ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งเสริมการส่งออก ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึง 1990 เศรษฐกิจไทยจึงมีการขยายตัวที่สูงมาก โดยในระหว่างปี 1988-1990 ประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตในระดับสองหลัก หลายฝ่ายกล่าวกันว่าประเทศไทยจะกลายเป็น “เสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย” ตามหลังเกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์และฮ่องกง
ในช่วงปี 1986-1995 เศรษฐกิจไทยแม้มีการขยายตัวในอัตราสูง แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาการขาดดุลในดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมาก และการส่งออกมีการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย แต่ในช่วงนั้นมีเงินทุนไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเงินทุนระยะสั้น อัตราดอกเบี้ยประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศมาก จึงมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ผู้ให้กู้ต่างประเทศก็เต็มใจที่จะให้เงินกู้แก่ธุรกิจในประเทศไทย เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมมีการขยายตัวในอัตราสูงและเศรษฐกิจการเมืองของไทยมีเสถียรภาพ ในปี 1990 รัฐบาลไทยประกาศรับพันธะข้อ8 ของ IMF คือ การเปิดเสรีให้มีการแลกเปลี่ยนส่งออกและนำเข้าเงินตราต่างประเทศ ในดุลบัญชีเดินสะพัด และในปี 1993 ก็มีการเปิดเสรีในรายการต่างๆของบัญชีทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งธนาคารพาณิชย์และธุรกิจเอกชนทุกภาคส่วนสามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาได้โดยเสรี การเปิดเสรีทางการเงินนี้ทำให้ธุรกิจเอกชนในประเทศไทยสามารถกู้ยืมเงินตราต่างประเทศได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องถูกควบคุมโดยทางการ จึงมีผลทำให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก
ในช่วงปี 1995-1996 ด้วยความเกรงกลัวว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวด อัตราดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มสูงขึ้นไปมาก ในช่วงเวลานั้นอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศมีอัตราต่ำกว่าอัตราในประเทศมาก และทั้งผู้กู้เงินและผู้ให้กู้ต่างก็เชื่อมั่นในแนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยและคิดว่าค่าเงินบาทจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจเอกชนในภาคเศรษฐกิจต่างๆจึงหันไปกู้เงินจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยในปริมาณมหาศาล
3.วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว
เงินทุนที่หลั่งไหลมาจากต่างประเทศช่วยทำให้ธุรกิจไทยสามารถทำการลงทุนมากขึ้น ซึ่งกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตในระดับสูงต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนและการบริโภคในระดับสูงก็ทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายสูงขึ้นมาก ในช่วงปี 1995 และ 1996 ดุลบัญชีเดินสะพัด (การค้าและบริการระหว่างประเทศ) ของไทยพุ่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 8 ของผลิตภัณฑ์ประชาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นขีดอันตราย ในปี 1996 มูลค่าการส่งออกของไทยต้องเผชิญกับอัตราการเจริญเติบโตที่ติดลบ หลังจากที่มีการขยายตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน แม้ขนาดการติดลบของมูลค่าการส่งออกมีไม่มาก แต่หลายฝ่ายก็มีความกังวลว่าความสามารถในการแข่งขันในสินค้าส่งออกของไทยได้ลดลงไปมากแล้ว และการขาดดุลจะมีอยู่ต่อไปหากไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน และเริ่มมีการคาดคะเนว่ารัฐบาลอาจต้องประกาศลดค่าเงินบาทลงในอนาคตอันใกล้ แม้รัฐบาลไทยยืนยันหลายครั้งว่าจะไม่มีการลดค่าเงิน แต่นักเก็งกำไรทั้งในประเทศและต่างประเทศก็เริ่มเทขายเงินบาทและซื้อเงินตราต่างประเทศ ผู้ส่งออกก็พยายามประวิงเวลาที่จะนำเงินตราต่างประเทศที่ได้รับเข้ามาในประเทศ ส่วนผู้นำเข้าก็เร่งชำระหนี้ต่างปะเทศ ผู้ให้เงินกู้จากต่างประเทศก็เร่งรัดการชำระหนี้การเก็งกำไรในค่าเงินบาททวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ จากการเปิดเผยของธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา ในบางวันทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทยต้องไหลออกไปหลายพันล้านเหรียญจากการเก็งกำไรในค่าเงินบาท
วิกฤตการณ์ในภาคการเงินทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีข่าวลือว่าสถาบันการเงินจะต้องล้มละลายลง จึงมีการแห่กันไปถอนเงินที่ธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆมากขึ้น วิกฤตการณ์ในภาคการเงินไทยจึงมีทั้งวิกฤตที่เกิดจากการไหลออกของเงินทุนจากการเร่งชำระหนี้และการเก็งกำไรในค่าเงินบาท กับวิกฤตในภาคการเงินภายในประเทศจากความไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเงิน และต่อมาลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง
จากการสูญเสียทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศจนเกือบหมดเกลี้ยง รัฐบาลไทยต้องเข้าขอความช่วยเหลือจาก IMF ซึ่งต้องยอมรับเงื่อนไขในการกู้เงินหลายประการ เช่น ขึ้นอัตราดอกเบี้ยและภาษี ลดการใช้จ่ายภาครัฐ และปรับเปลี่ยนระบบเงินตราต่างประเทศ ในวันที่ 2 กรกฎาคม ปี 1997 รัฐบาลไทยได้ประกาศเลิกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้อยู่เดิมและหันมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินบาทในตลาดลดลงทันทีอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 27 บาทต่อดอลลาร์เป็นกว่า 40 บาทและลดลงไปอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับกว่า 50 บาทต่อดอลลาร์ในปีต่อมา
ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม ปี 1997 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยจึงมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากระบบคงที่มาเป็นระบบลอยตัว ในระบบลอยตัวนี้อัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทจะเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกตลาดคือ ตามลักษณะอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของทางการ และการเคลื่อนไหวขึ้นลงของค่าเงินบาทจะต้องรับอิทธิพลจากตลาดเงินตราสกุลต่างๆในโลก ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้แก่ผู้ค้าและลงทุนในประเทศไทย แต่ก็มีผลสกัดกั้นการเก็งกำไรได้ระดับหนึ่ง และทางธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต้องมีการเก็บทุนสำรองระหว่างประเทศมากๆ เพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศดังแต่ก่อน การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนนี้ย่อมสร้างผลกระทบต่อธุรกิจและประชาชนมาก ผู้ที่เป็นหนี้ต่างประเทศเมื่อค่าเงินบาทลดลง ปริมาณหนี้ต่างประเทศคิดเป็นเงินบาทจะเพิ่มสูงขึ้นมาก สินค้านำเข้าก็มีราคาแพงขึ้น แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ส่งออกจะได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่ลดลง เพราะสินค้าในราคาที่คิดเป็นเงินตราต่างประเทศถูกลงหรือถ้าขายในราคาเดิมก็แลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น
หลังจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนในกลางปี 1997 ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงตามสถานการณ์อุปสงค์และอุปทานและตามการเปลี่ยนแปลงของเงินตราต่างประเทศสกุลต่างๆในตลาดเงินตราของโลก ในช่วงปี 1998 ค่าเงินบาทลดลงมาถึงกว่า 50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเงินดอลลาร์มีแนวโน้มลดลงและค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น ในบางช่วงเวลาค่าเงินบาทสูงถึงระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ เช่น 28-29 บาท ในปี 2014-2015 เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากระเตื้องขึ้นมาบ้างและเงินดอลลาร์มีค่าแข็งขึ้น ค่าเงินบาทจึงมีค่าลดลงมาอยู่ระดับ 33-36 บาทต่อดอลลาร์
ในที่นี้จะไม่เล่ารายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงในค่าเงินบาทช่วงหลังการปรับเปลี่ยนนโยบายค่าเงินของไทยมาเป็นระบบลอยตัว แต่จะกล่าวถึงข้อถกเถียงในการจัดการกับค่าเงินบาทโดยสังเขป ในช่วงเวลา 2009-2012 ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นโดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร ก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจส่งออก สาเหตุสำคัญของการแข็งค่าของเงินบาทนั้นไม่ได้เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยเข็มแข็ง แต่เกิดจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และเงินยูโรที่สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในอเมริกาและยุโรป ในอเมริกาวิกฤตการณ์ภาคการเงินที่ก่อตัวจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการล้มละลายของภาคการเงินลามไปถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานระดับสูง รัฐบาลสหรัฐจึงพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า การผ่อนคลายทางการปริมาณ (Quantitative Easing : QE) ทำให้อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐลดลงมาอยู่ในระดับต่ำมากจนเข้าใกล้ศูนย์ เงินดอลลาร์จึงไหลออกสู่ต่างประเทศในปริมาณมาก เพราะการให้กู้เงินลงทุนในประเทศอื่นได้ผลตอบแทนที่สูงกว่ามาก ในยุโรปก็เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ หลายประเทศมีหนี้สินพอกพูนซึ่งก็ต้องมีการอัดฉีดเงินเข้าช่วยกอบกู้ ในช่วงเวลานั้นจึงมีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากและผลักดันให้ค่าเงินบาทมีค่าสูงขึ้น
ในช่วงเวลาที่ค่าเงินบาทมีค่าสูงขึ้นมาก มีนักธุรกิจและนักวิชาการบางคนออกมาเสนอแนะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้มาตรการสกัดกั้นการไหลเข้าของเงินทุน เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยลง และหาทางใช้เงินตราต่างประเทศที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ เช่น ส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ นำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์จากต่างประเทศ และใช้มาตรการทางภาษีคือ เก็บภาษีกับเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะเงินทุนที่เข้ามาเพื่อการเก็งกำไร และกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่โดยกำหนดให้คงค่าเงินบาทไว้ในระดับที่มีค่าไม่สูงจนเกินไป ในช่วงนั้นมีนักวิชาการคนหนึ่งถึงกับเสนอว่า ควรมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงมาทันทีร้อยละ 1 เพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้าซึ่งกระทบต่อค่าเงินบาท
ในช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพยายามออกมาอธิบายถึงผลกระทบของการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างฮวบฮาบและการกลับไปตรึงค่าเงินบาทไว้ที่ 30 บาทหรือมากกว่านั้น โดยชี้แจงว่าการลดดอกเบี้ยมากๆลงมาทันทีจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง และอธิบายว่าการลดดอกเบี้ยนั้นอาจเป็นมาตรการที่ไม่มีประสิทธิภาพในการสกัดกั้นการไหลเข้าของเงินทุน แม้การเคลื่อนย้ายของเงินทุนต่างประเทศนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยเปรียบเทียบ แต่การลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 หมายถึงลดลงมาร้อยละ 1 ต่อปี แต่การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอาจเปลี่ยนแปลงมากถึงร้อยละ 5 หรือมากกว่านั้นในเวลาไม่กี่เดือน และในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงกว่าไทยก็มีเงินทุนไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมากเช่นกัน ส่วนการกลับไปตรึงค่าเงินบาทโดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่นั้นมีผลเสียหลายประการ รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อแทรกแซงตลาดเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ให้เงินบาทมีค่าแข็งขึ้นในยามที่มีเงินทุนไหลเข้ามามาก แต่แม้จะทุ่มเงินเข้าไปมากก็อาจไม่ส่งผลต่อการขึ้นค่าเงินบาทมากนักดังกรณีของหลายประเทศที่พยายามแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศโดยทุ่มเงินเข้าไปจำนวนมหาศาล แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินได้มากนัก ส่วนที่ว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการดูจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์ แต่หากเราพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระหว่างค่าเงินบาทกับเงินตราของประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยโดยเปรียบเทียบดัชนีค่าเงิน (effective exchange rate) หรืออัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราสกุลใดสกุลหนึ่งถ่วงน้ำหนักกับเงินตราหลายๆสกุลแล้ว เงินบาทก็ไม่ได้มีค่าสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามรักษาค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเงินของประเทศคู่แข่งทางการค้าของไทย โดยไม่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่น ส่วนการเก็บภาษีกับเงินทุนไหลเข้านั้นแม้ทางการจะนำมาพิจารณา แต่ก็ไม่ได้นำมาใช้ เพราะในเวลาต่อมาค่าเงินดอลลาร์มีการปรับตัวลดลงมาบ้าง
ในปี 2014 สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวในแนวทางที่ดีขึ้น ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี รัฐบาลสหรัฐอเมริกายกเลิกมาตรการการผ่อนคลายทางการปริมาณ (QE) (ซึ่งก่อนหน้านี้มีการทยอยลดปริมาณการทุ่มเงินซื้อพันธบัตรจากตลาดเงินหลายรอบแล้ว) และเงินดอลลาร์กลับมามีค่าแข็งขึ้น ทั้งยังมีการเก็งกันว่า อัตราดอกเบี้ยในอเมริกาจะขยับตัวสูงขึ้นและเงินทุนที่ไหลเข้าไปในประเทศต่างๆก่อนหน้านั้นจะพากันไหลกลับเข้าไปสหรัฐ ในช่วงปลายปี 2014 ถึงปี 2015 เงินบาทได้อ่อนตัวลงไปมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ อยู่ในกรอบประมาณ 33-36 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งๆที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยในเวลานั้นมีระดับที่ลดต่ำลงมากว่าช่วงก่อนหน้ามากพอควร แต่ต่อมาเมื่อค่าเงินสกุลต่างๆมีการอ่อนค่าลงไปมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ และเมื่อการขยายตัวของการส่งออกของไทยชะลอตัวลงไปมาก เสียงเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศ ทำให้ค่าเงินบาทมีค่าอ่อนลงก็ดังขึ้นมาอีก โดยมีการเสนอแนะให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อสกัดกั้นการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้เงินบาทมีค่าแข็งขึ้นมาบ้างเมื่อเทียบกับเงินตราบางสกุลในภูมิภาคเอเชีย