คัมภีร์กุรอานว่าด้วยการสืบพันธุ์ ตอนที่ 1
คัมภีร์กุรอานว่าด้วยการสืบพันธุ์ ตอนที่ 1
จรัญ มะลูลีม
คัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์กุรอานและวิทยาศาสตร์ (The Bible the Quran and Science) เป็นงานชิ้นเอกของมอริส บูกายย์ ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสที่เขียนขึ้นเพื่ออธิบายว่าคนเราจะสามารถเข้าใจคัมภีร์กุรอานได้ก็ต่อเมื่อใช้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เท่านั้น ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับคัมภีร์กุรอานว่าด้วยการสืบพันธุ์ของมนุษย์ บูกายย์มีความเห็นว่า
นับตั้งแต่ที่การเขียนของมนุษย์ในสมัยโบราณมีรายละเอียด (ถึงแม้ว่าจะเล็กน้อยเท่าไรก็ตาม) ในเรื่องการสืบพันธุ์ มันก็ให้ข้อความที่ไม่ถูกต้องอย่างช่วยไม่ได้ ในสมัยกลางหรือแม้แต่ในสมัยใกล้ๆ นี้เรื่องการสืบพันธุ์ถูกห้อมล้อมด้วยนิยามปรัมปราและไสยศาสตร์ทุกชนิด ก็จะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไรเล่าในเมื่อการที่จะเข้าใจถึงกลไกอันสลับซับซ้อนของมันนั้นในขั้นแรกมนุษย์จะต้องมีความรู้ในเรื่องกายวิภาควิทยา จะต้องมีการค้นพบกล้องจุลทรรศน์และจะต้องสร้างสิ่งที่เรียกกันว่าวิทยาศาสตร์พื้นฐานขึ้นมาเสียก่อนจึงจะส่งเสริมวิชาสรีรศาสตร์ กำเนิดวิทยาและสูติศาสตร์ ฯลฯ ได้
แต่ในกุรอานสถานการณ์ออกจะแตกต่างกัน พระคัมภีร์เล่มนี้กล่าวถึงกลไกที่ถูกต้องไว้ในหลายๆ ที่และบรรยายขั้นตอนในการสืบพันธุ์ไว้อย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อความที่ไม่ถูกต้องอยู่เลย เป็นคำที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับมนุษย์และสอดคล้องกับสิ่งที่ถูกค้นพบในภายหลังต่อมาเป็นอย่างยิ่ง
การสืบพันธุ์ของมนุษย์ได้ถูกกล่าวถึงไว้ในโองการของคัมภีร์กุรอานหลายสิบโองการด้วยข้อความต่างๆ กัน และมีการอธิบายโดยอาศัยคำพูดที่เกี่ยวกับจุดเฉพาะจุดหนึ่งหรือหลายๆ จุด เราจะต้องเอาโองการเหล่านั้นมารวมกันจึงจะได้ความคิดทั่วไปของโองการทั้งหมด
เมื่อเราได้ตรวจดูเรื่องอื่นๆ กันไปแล้ว ในที่นี้เราจะได้ตรวจดูคำอธิบายในเรื่องนี้ได้ง่ายๆ โดยวิธีนี้
คำเตือนถึงแนวความคิดมูลฐานบางอย่าง
เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องนึกถึงแนวความคิดพื้นฐานบางอย่างซึ่งไม่เป็นที่รู้จักกันในสมัยที่คัมภีร์กุรอานได้รับการเปิดเผยและในสมัยต่อมาอีกหลายร้อยปี
การสืบพันธุ์ของมนุษย์นั้นเป็นผลของกระบวนการต่างๆ ชุดหนึ่งซึ่งเรามีอยู่เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น จุดเริ่มต้นคือการผสมพันธุ์ของไข่ซึ่งแยกตัวออกมาจากรังไข่ การผสมพันธุ์เกิดขึ้น ณ ครึ่งทางในท่อรังไข่ (คือท่อสองท่อที่ไข่ผ่านจากรังไข่ไปสู่มดลูก) โดยอาศัยวงจรของโลหิตประจำเดือน
ตัวผสมพันธุ์ก็คือน้ำอสุจิของเพศชายหรือถ้าจะเรียกให้ถูกต้องยิ่งขึ้นก็คือสเปอร์มาโตซูน ที่จริงนั้นต้องการเพียงเซลผสมพันธุ์เพียงหน่วยเดียวเท่านั้น แต่เพื่อจะประกันว่ามีการผสมพันธุ์อย่างได้ผลจึงใช้น้ำอสุจิจำนวนนิดหน่อยซึ่งมีสเปอร์มาโตซูนเป็นจำนวนมาก (ครั้งละหลายหมื่นล้านเซล) ของเหลวนี้ผลิตขึ้นโดยลูกอัณฑะและถูกเก็บไว้ชั่วคราวในระบบที่เก็บและท่อซึ่งในที่สุดจะนำสู่ท่อปัสสาวะ มีต่อมอย่างอื่นๆ ตั้งอยู่คู่เคียงไปกับท่อปัสสาวะซึ่งจะขับน้ำอสุจิออกมาได้
ไข่ที่ถูกผสมแล้วด้วยกระบวนการนี้จะไปฝังตัวอยู่ที่จุดหนึ่งในระบบสืบพันธุ์ของสตรี มันจะลงไปยังมดลูกโดยอาศัยท่อรังไข่และเข้าไปอยู่ในตัวมดลูกซึ่งในไม่ช้ามันก็จะฝังตัวเองลงโดยแทรกเข้าไปในความหนาของมดลูกและกล้ามเนื้อ
เมื่อรกในครรภ์ก่อรูปขึ้นและด้วยความช่วยเหลือของรก ถ้าหากว่าการฝังของไข่ที่ผสมพันธุ์แล้วเกิดขึ้นที่อื่นตัวอย่างเช่นในท่อรังไข่แทนที่จะเป็นในมดลูก การตั้งครรภ์ก็จะไม่เกิดขึ้น
เมื่อลูกอ่อนในครรภ์เริ่มสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้ว มันจะดูคล้ายกับก้อนเนื้อก้อนเล็กๆ ซึ่งในตอนแรกจะดูไม่ออกว่าเป็นรูปร่างมนุษย์ ลูกอ่อนนั้นจะเจริญเติบโตอยู่ที่นั่นในขั้นตอนที่ก้าวหน้าซึ่งทุกวันนี้เป็นที่รู้จักกันดี นำไปสู่การมีโครงสร้างกระดูก กล้ามเนื้อ ระบบประสาทการหมุนเวียนของเลือดและตับไตไส้พุง ฯลฯ
ความรู้นี้จะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบกับคำกล่าวในคัมภีร์กุรอานเกี่ยวกับเรื่องการสืบพันธุ์ได้
การสืบพันธุ์ของมนุษย์ในคัมภีร์กุรอาน
การจะได้รู้ว่าคัมภีร์กุรอานกล่าวอะไรไว้บ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้มิใช่เรื่องง่าย ความลำบากขั้นต้นเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวถึงแล้ว นั่นคือถ้อยคำที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วเล่มพระคัมภีร์ อย่างไรก็ดีนี่มิได้เป็นความลำบากที่สำคัญอะไรนัก สิ่งที่มักจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดไปก็คือปัญหาของคำศัพท์อีกนั่นเอง
อันที่จริงนั้นยังมีคำแปลและคำอรรถาธิบายที่หมุนเวียนอยู่ในทุกวันนี้ที่ให้ความคิดผิดๆ อย่างที่สุดของวะห์ยุหรือวิวรณ์ (การเปิดเผย) ในคัมภีร์กุรอานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่ได้อ่าน
ตัวอย่างเช่นคำแปลส่วนใหญ่บรรยายถึงการก่อรูปของมนุษย์มาจาก “ก้อนเลือด” หรือ “การเกาะติด” คำกล่าวแบบนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้เอาเลยแก่นักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความชำนาญพิเศษในแวดวงนี้ในข้อความในย่อหน้าที่กล่าวถึงการที่ไข่ฝังตัวอยู่ในมดลูกของผู้เป็นแม่นั้น เราจะได้เห็นเหตุผลว่าทำไมนักภาษาศาสตร์อาหรับผู้มีชื่อเสียงที่ขาดพื้นภูมิหลังด้านวิทยาศาสตร์จึงได้ทำให้เกิดความพลาดพลั้งเช่นนั้นขึ้นได้
ข้อสังเกตนี้แสดงว่าความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์นั้นมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงเพียงไรในการให้ความหมายของถ้อยคำในคัมภีร์กุรอานที่เกี่ยวกับเรื่องการสืบพันธุ์
คัมภีร์กุรอานเริ่มต้นด้วยการเน้นถึงการเลี่ยนรูปที่ต่อเนื่องกันไปของลูกอ่อนในครรภ์ที่ดำเนินไปก่อนที่จะไปถึงจุดหมายของมันในมดลูกของมารดา
ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 82 โองการที่ 6-8 “โอ้มนุษย์เอ๋ย ใครเล่าหลอกลวงพวกเจ้าเกี่ยวกับพระผู้อภิบาลผู้ประเสริฐของพวกเจ้าผู้ทรงสร้างพวกเจ้าขึ้นและกล่อมเกลาพวกเจ้าให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมและให้รูปร่างใดๆ แก่พวกเจ้าตามที่พระองค์ทรงประสงค์”
ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 71 โองการที่ 14 “พระผู้เป็นเจ้า ทรงกล่อมเกลาพวกเจ้ามาในขั้นตอนต่างๆ”
คู่เคียงไปกับข้อสังเกตทั่วๆ ไปอย่างมากนี้ ข้อความในคัมภีร์กุรอานยังดึงดูดความสนใจไปยังหลายๆ จุดที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ซึ่งอาจให้รายชื่อได้ดังต่อไปนี้
- การผสมพันธุ์กระทำได้โดยใช้ของเหลวปริมาณนิดเดียวเท่านั้น
- ส่วนประกอบของของเหลวที่ใช้ในการผสมพันธุ์
- การฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว
- วิวัฒนาการของลูกอ่อนในครรภ์
- การผสมพันธุ์กระทำได้โดยใช้ของเหลวปริมาณนิดเดียวเท่านั้น
คัมภีร์กุรอานกล่าวซ้ำถึงแนวความคิดนี้ถึง 11 ครั้งด้วยกันโดยใช้ถ้อยคำต่อไปนี้
ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 16 โองการที่ 4 “พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาจากน้ำอสุจิจำนวนเล็กน้อย”
คำภาษาอาหรับว่า นัฏฟะฮฺ นั้นแปลว่า “จำนวนเล็กน้อย (ของน้ำอสุจิ)” เพราะเขาไม่มีคำศัพท์ที่ใช้ได้อย่างเหมาะสมจริงๆ คำนี้มาจากคำกริยาที่หมายถึง “การหยุดลงไปทีละน้อยๆ หรือไหลรินๆ จำนวนเล็กน้อยหรือรั่วออกไป” มักใช้กล่าวถึงสิ่งที่เหลืออยู่ก้นถังซึ่งถูกเทน้ำออกแล้ว เพราะฉะนั้นจึงหมายถึงของเหลวจำนวนเล็กน้อยมาก ในที่นี้ของเหลวนั้นหมายถึงน้ำอสุจิเพราะคำที่ใช้ในอีกโองการหนึ่งที่ติดต่อกันคือคำว่าน้ำอสุจิ
ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 75 โองการที่ 37 “มนุษย์นั้นมิใช่น้ำอสุจิจำนวนเล็กน้อยที่ถูกหลั่งออกมาดอกหรือ?”
ในที่นี้คำภาษาอาหรับคือ มะนี ซึ่งหมายถึงน้ำอสุจิ
อีกโองการหนึ่งที่แสดงว่าสิ่งที่กล่าวถึงจำนวนเล็กน้อยนั้นถูกใส่ลงไปใน “ที่อยู่ซึ่งถูกสร้างไว้อย่างมั่นคง”
ซูเราะฮ์ (บท) ที่ 23 โองการที่ 13 พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “ครั้นแล้วเราก็ใส่ (มนุษย์) ในตอนที่เป็น (น้ำอสุจิ) จำนวนเล็กน้อยลงในที่อยู่ซึ่งสร้างไว้อย่างมั่นคง”
จะต้องกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าคุณศัพท์ซึ่งในข้อความนี้กล่าวถึง “ที่อยู่ซึ่งถูกสร้างไว้อย่างมั่นคง” คือคำว่า มะกีน ซึ่งแปลได้ยาก คำนี้แสดงว่าเป็นสถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมั่นคงและเป็นที่นับถือ ไม่ว่าสิ่งนี้อาจจะเป็นอะไรก็ตาม มันก็พาดพิงถึงจุดตรงที่มนุษย์เจริญเติบโตขึ้นในอวัยวะของมารดา เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเน้นถึงแนวความคิดที่ว่าในกระบวนการผสมพันธุ์นั้นต้องการของเหลวจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องต้องกับสิ่งที่ทุกวันนี้เรารู้แล้วในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง