นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(16)
นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(16)
โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
ภาคอุตสาหกรรม (ต่อ)
การส่งเสริมอุตสาหกรรมเฉพาะประเภท และทิศทางอุตสาหกรรมไทยในอนาคต
นโยบายอุตสาหกรรม ส่งเสริมทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดเล็กมากในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่การส่งเสริมอุตสาหกรรมเฉพาะประเภทก็มีความสำคัญ
การพัฒนาอุตสาหกรรม ควรคำนึงถึงข้อได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของประเทศในแต่ละช่วงเวลา รู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ และปรับปรุงนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสภาวะเศรษฐกิจในประเทศในเวลานั้น อุตสาหกรรมที่ยังไม่มีอยู่เดิม ก็พัฒนาขึ้นมาได้จากการศึกษา การวิจัยพัฒนา และการลงทุนจากต่างประเทศ
ในประเทศไทย ประเภทของอุตสาหกรรมที่ควรให้ความสนใจ คือ
ก. อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ เช่นอุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์ยาง ที่เรามีวัตถุดิบที่ผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรมในปริมาณมาก แต่ก็ต้องพัฒนาคุณภาพของสินค้าและประสิทธิภาพในการผลิตให้สูงขึ้น
ข. อุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ(S-curve) ทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก(EEC) ที่ใช้ เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ โดยใช้ประโยชน์จากการวิจัยพัฒนา และการลงทุนจากต่างประเทศ
ค. อุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน และผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานทดแทน รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ใช้ประโยชน์จากการวิจัยพัฒนาและการลงทุนจากต่างประเทศได้ เช่นกัน
ง. ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น สินค้าสำหรับผู้สูงอายุ อาหาร และของใช้ที่มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาดในปัจจุบันที่ประเทศจำนวนมากเข้าสู่สังคมสูงวัย และให้ความสนใจในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเทศไทยควรส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ตอบสนองความต้องการทางด้านนี้
จ. อุตสาหกรรมที่อยู่ในเครือข่ายของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ (international production network) การมีส่วนร่วมในเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ มีประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศ ในปัจจุบัน รูปแบบการค้าการผลิตเปลี่ยนแปลงไปมาก สินค้าอุตสาหกรรมแต่ละชนิดมีส่วนประกอบจำนวนมาก ชิ้นส่วนของเครื่องจักรอุปกรณ์ เครื่องไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสินค้าอื่นๆหลายชนิด มีการผลิตชิ้นส่วนในหลายประเทศ การเข้าร่วมอยู่ในเครือข่ายการผลิต มีส่วนสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆได้ ในสามทศวรรษที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศในสินค้าขั้นกลางมีสัดส่วนสูงขึ้น เมื่อเทียบกับสินค้าสำเร็จรูป การส่งเสริมอุตสาหกรรมวิธีหนึ่งคือ เข้าไปมีส่วนร่วมในเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ และการออกไปลงทุนในประเทศอื่น ทำให้เราสามารถร่วมในเครือข่ายการผลิตนานาชาติได้สะดวกขึ้น ผู้ลงทุนต่างประเทศมักจะมองหาแหล่งผลิตสินค้าและชิ้นส่วนอุปกรณ์ในสถานที่ที่เหมาะสม ประเทศไทยควรสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี มีสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ มีทรัพยากร บุคลากร
อุตสาหกรรมสนับสนุน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่จะดึงดูการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้อยู่เครือข่ายการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมนานาชาติได้
การกำหนดนโยบายอุตสาหกรรม ควรพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ ในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก โลกได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่(new economy) (ซึ่งมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่นเศรษฐกิจข้อมูลข่าวสาร(information economy) เศรษฐกิจความรู้(knowledge economy) และเศรษฐกิจดิจิตอล(digital economy) เป็นต้น )
ลักษณะสำคัญของเศรษฐกิจใหม่คือ: เปลี่ยนแปลงเร็ว เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น สินค้าและบริการมีความหลากหลาย ผู้บริโภคมีทางเลือก เศรษฐกิจภาคต่างๆมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น การขนส่งและการติดต่อสื่อสารที่สะดวกมากขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง ทำให้การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสะดวกมากขึ้น การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจึงมีการพัฒนาขึ้นมาก สินค้าและบริการต่างๆมีอายุการใช้ที่สั้นลง เพราะมีสินค้าใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา ธุรกิจแข่งขันกันมากขึ้น แต่ก็มีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายมากขึ้น สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน(intangible assets) เช่น ข่าวสารข้อมูล การออกแบบ การจัดการ ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา มีความสำคัญต่อการผลิตและการจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบ่งขั้นตอนการผลิตออกไปสู่สถานที่ต่างๆ ทั้งในภูมิภาคของประเทศและในต่างประเทศ การผลิตสินค้ามีต้นทุนลดลง แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น สิ่งที่ผลิตออกมานั้นอาจล้าสมัยในระยะเวลาสั้น ผู้ผลิตสินค้าจึงต้องพยามปรับปรุงตนเองอยู่ตลอดเวลา
ในทศวรรษ 1980 มีกระแสโลกาภิวัตน์(globalization) การค้า การผลิตมีการขยายตัวสู่ประเทศต่างๆทั่วโลก นโยบายเศรษฐกิจที่นิยมกันในสมัยนั้นคือ
-การเปิดเสรี (liberalization): เปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ลดภาษีศุลกากร และลดสิ่งกีดขวางทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจด้านอื่น
-การลดกฎระเบียบ (deregulation): ลดกฎระเบียบและขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจ ทำให้การประกอบธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น
-การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ(privatization): จำหน่ายรัฐวิสาหกิจให้เอกชนหรือให้ภาคเอกชนมีส่วนเป็นเจ้าของในรัฐวิสาหกิจมากขึ้น
การดำเนินนโยบายที่แตกต่างกัน ทำให้ประเทศต่างๆมีความเจริญเติบโตและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีหลายประเทศในทวีปเอเชีย ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น ที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ จนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียและใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ต่อจากนั้น กลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ คือ เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่มีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมการส่งออก ก็มีอัตราการเจริญเติบโตสูงในช่วงทศวรรษ 1970-1990 อย่างไรก็ตาม ต่อมาเศรษฐกิจของประเทศที่กล่าวมาบางแห่ง ก็ต้องประสบปัญหา มีความตกตํ่าทางเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพัฒนาจากประเทศที่แพ้สงคราม ขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ก็ต้องประสบความซบเซาทางเศรษฐกิจเป็นเวลาหลายทศวรรษตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 จากที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรรม(GDP)มากกว่าจีน จนไม่ถึงหนึ่งในสามของจีนในปัจจุบันตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาสู่การปฏิรูปและการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจในปีค.ศ. 1978 ประเทศจีนมีการเจริญเติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานติดต่อกันหลายทศวรรษ จนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ เป็นอันดับสองของโลกรองจากอเมริกา และคาดว่าจะก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลกภายในเวลาสิบปีข้างหน้า แม้ในปัจจุบัน อัตราการเติบโคจะชะลอตัวลงมาก
เศรษฐกิจจีนนอกจากจะมีขนาดใหญ่แล้ว ยังมีความหลากหลาย มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีทรัพยากรในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน การก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆของโลก ประเทศไทยซึ่งมีที่ตั้งใกล้จีน ก็รับผลกระทบมากจากการผงาดขึ้นของเศรษฐกิจจีนด้วย
ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับจีน มีผลดีต่อเศรษฐกิจไทย การเจริญเติบโตของจีน ทำให้ประเทศจีนซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น การพัฒนาอุตสาหกรรมของจีน ต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์ที่ไทยผลิตได้ เช่น ยางพารา และมันสัปปะหลัง สินค้าอื่นของไทย ก็ส่งออกไปประเทศจีนได้มากขึ้น
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยนโยบาย”ก้าวออกไปข้างนอก”ของรัฐบาลจีน การลงทุนต่างประเทศของจีนในภูมิภาคต่างๆของโลกเพิ่มขึ้นมาก ด้วยรายได้ที่สูงขึ้น ในแต่ละปี จึงมีคนจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของคนจีนด้วย
แนวโน้มอีกอย่างหนึ่งในเศรษฐกิจโลก คือ ความร่วมมือทางการค้าการลงทุน และกิจกรรมเศรษฐกิจอื่นของประเทศในภูมิภาคเดียวกัน หรือประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน เช่น ในยุโรป มีกลุ่มสหภาพยุโรป ในเอเชีย มีกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อมา มีกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการครอบคลุมกว้างขวางขึ้น เช่น กลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ( Asian-Pacific Economic Cooperation :APEC) หุ้นส่วนเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก(Trans-Pacific Partnership : TPP) ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค(Reginal Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งแต่ละกลุ่มมีประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่รวมอยู่ด้วย ทำให้กลุ่มความร่วมมือเหล่านี้ มีสัดส่วนการค้าการลงทุนในเศรษฐกิจโลกสูง
นอกจากมีความร่วมมือกันเป็นกลุ่มประเทศแล้ว ยังมีการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็นข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศ และข้อตกลงทวิภาคี เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือ (North Amrican Free-Trade Areement : NAFTA) ข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียน(China-ASEAN Free-Trade Area : CAFTA) และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างสองประเทศ เช่น ข้อตกลงที่ประเทศไทยทำกับออสเตรเลีย บาเรนห์ และนิวซีแลนด์ เป็นต้น
ในทศวรรษที่ผ่านมา การเจรจาการค้าเสรีระดับโลกขององค์การการค้าโลกไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ประเทศต่างๆจึงหันมาทำข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคและระหว่างสองประเทศมากขึ้น
ข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งระดับภูมิภาค กลุ่มประเทศ และระดับทวิภาคี มีจุดประสงค์ส่งเสริมการค้าการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอื่นระหว่างกัน ลดภาษีศุลกากร ลดข้อจำกัดและกฎระเบียบการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ข้อตกลงการค้าเสรีส่งเสริมการค้าการลงทุนและความร่วมมืออื่นทางเศรษฐกิจระหว่างกัน แต่ประเทศที่เข้าร่วมในกลุ่มการค้าเสรีนี้ ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งบางเรื่องอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศได้ เช่น กฎระเบียบที่เข้มงวดในการป้องกันสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งบางประเทศยังมีมาตรฐานไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล การทำการค้าเสรีโดยการลดภาษีศุลกากรและกฎระเบียบการค้าการลงทุน ยังมีผลทำให้ประเทศที่ทำข้อตกลง ต้องนำสินค้าเข้า และรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบเศรษฐกิจในบางด้านได้
อย่างไรก็ตาม ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกมีลักษณะทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) คือ มีการค้าการลงทุนเสรีลดลง และมีการกีดกันกันมากขึ้น สหรัฐอเมริกาซึ่งขาดดุลการค้ากับจีนเป็นจำนวนมาก ในสมัยที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี มีนโยบายกีดกันทางการค้า มีการปรับขึ้นอัตราภาษีในสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนสูงขึ้น และมีกฎระเบียบการนำเข้าที่เข้มงวดมากขึ้น ต่อมา ในสมัยชรัฐบาลไบเดน อเมริกาก็ยังคงนโยบายกีดกันการนำเข้าจากจีน และมีการกีดกันด้านอื่นๆ เช่น ห้ามไม่ให้บริษัททั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกาสูง ไม่ให้ชส่งผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีให้จีน ให้สิทธิประโยชน์แก่โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่มีการลงทุนในจีนและในประเทศอื่น เพื่อชักชวนให้ย้ายการผลิตมาลงทุนในสหรัฐอเมริกา
การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ได้ทวีความรุนแรงขึ้น จากการระบาดของโรคโควิด และการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากการบาดเจ็บล้มตายที่เกิดจากโรคระบาดและสงครามแล้ว เศรษฐกิจโลกยังถูกกระทบกระเทือนมาก จากราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศมีปัญหาเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจตกต่ำ การค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลงมาก นโยบายการกีดกันการค้า และการคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ ถูกรื้อฟื้นนำกลับมาใช้ใหม่
อย่างไรก็ตาม กระแสโลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว คงจะไม่สะดุดหยุดลง การค้า การลงทุน และการแบ่งงานระหว่างประเทศคงมีต่อไป แต่อาจมีการเปลี่ยนสภาพไปบ้าง สิ่งที่เห็นได้ในขณะนี้คือ
-เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิธีการผลิต การค้าและการลงทุนของโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก
-อัตราการเจริญเติบโต ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ความต้องการสินค้าและบริการของประเทศต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง
-เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมาก เกิดปัญหาเงินเฟ้อ เกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจ การขาดแคลนอาหารและพลังงาน ทวีความรุนแรงขึ้น
-สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองของโลกมีความเปราะบาง มีความไม่แน่นอนมากขึ้น โยบายกระตุ้นการเจริญเติบโต และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น
-การค้าการลงทุน และการแบ่งงานระหว่างประเทศยังคงมีอยู่ และยังขยายตัวต่อไป แต่เปลี่ยนสภาพไป ภายใต้สถานการณ์ใหม่ บางกลุ่มอุตสาหกรรม อาจมีโอกาสขยายตัวได้มากขึ้น
-ประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจมากขึ้น
นิตยสารทางเศรษฐกิจ “The Economist ” ประเมินว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนของประเทศที่มีที่ตั้งใกล้เคียงกันสมีความใกล้ชิดมากขึ้น การลงทุนระหว่างประเทศ จะทำในประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันมากขึ้น ในภูมิภาคเอเชีย จากการผงาดขึ้นทางเศรษฐกิจของจีน และนโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุนในประเทศต่างๆ ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเติบโตขึ้นมาก การลงทุนต่างประเทศภายในภูมิภาคเอเซียเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 48 ในปีค.ศ. 2010 เป็นร้อยละ 59 ในปี 2021 นอกจากจีนแล้ว การลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศอื่นก็เพิ่มขึ้นในอัตราสูง ธุรกรรมทางการเงินในภูมิภาคเอเซีย ก็เจริญเติบโตขึ้น ดังนั้น ในยุคทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ประเทศในภูมิภาคเอเชียกลับรวมกันเป็นปึกแผ่นทางเศรษฐกิจมากขึ้น
-การเปลี่ยนแปลงในระบบการชำระเงินของโลก
การบุกยูเครนของรัสเซีย ทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรในยุโรป ใช้มาตรการคว่ำบาตรลงโทษรัสเซีย เช่น กีดกันการส่งออกและตัดรัสเซียออกจากเครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศที่ใช้สกุลเงินดอลลาร์อเมริกัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เข่น กลุ่มบริ๊กส์ (BRICS) ซึ่งมีรัสเซีย บราซิล อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ รวมทั้งสมาชิกใหม่อีกหลายประเทศ จึงลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ หันมาใช้เงินตราของตนเองชำระเงินระหว่างกันเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้เงินดอลลาร์ในการชำระเงิน
จากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสถานการณ์โลก การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ชัดเจนทำได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลักการการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมที่กล่าวมาแล้ว คือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย และเปลี่ยนเป้าหมายการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมให้ทันกับสถานการณ์ สำหรับไทย การส่งเสริมการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ มีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยี ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความต้องการของตลาดโลก ร่วมอยู่ในเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ ยังเป็นนโยบายที่ควรมี
การกำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม ควรพิจารณาสถานการณ์ในเศรษฐกิจโลก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนต้องประสบกับการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมบางอย่างในจีน จึงย้ายฐานการผลิตออกไปลงทุนในประเทศอื่นแทน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการถูกกีดกันการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศอาเซียนเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของจีน เราจึงควรให้ความสนใจในการชักชวนการลงทุนจากจีนมากขึ้น
ไม่เพียงแต่จีน ประเทศไทยควรชักชวนการลงทุนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอื่นของโลกให้เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะช่วยให้เราใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี
การส่งออกก็เช่นเดียวกัน ความขัดแย้งทางการค้าการลงทุนในที่อื่นๆของโลก อาจสร้างโอกาสการส่งออกแก่สินค้าไทยบางประเภทได้ การลงทุนจากต่างประเทศ ก็สามารถช่วยให้เราส่งออกสินค้าได้มากขึ้น
โดยสรุป การพัฒนาอุตสาหกรรมต้องพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของโลก กฎกติกาการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอึ่นๆระหว่างประเทศ มีความเป็นมิตรกับทุกประเทศ ส่งเสริมเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา การสร้างนวัตกรรม การพัฒนากำลังคน และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง