อิทธิพลภาษาเปอร์เซียในสังคมไทย(ตอนที่1)
อิทธิพลภาษาเปอร์เซียในสังคมไทย(ตอนที่1)
ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิหร่านศึกษาและภาษาเปอร์เซีย วทส.
วัฒนธรรมและอารยธรรมเปอร์เซียถือว่ามีส่วนสำคัญในการจรรโลงโลกใบนี้ทั้งในในอดีตอันยาวไกลจนถึงปัจจุบันวันนี้ จึงนับได้ว่าวัฒนธรรมและอารยธรรมที่โดดเด่นอยู่ในตัวเองของความเป็นเปอร์เชียนั้นได้มีโอกาสพบกัน ณ จุดนี้ในดินแดนของประเทศไทย โดยได้ผสมผสานและหล่อหลอมระหว่างวัฒนธรรมเปอร์เซียกับวัฒนธรรมไทยจนเป็นเนื้อเดียวกัน และตกผลึกกลายอารยธรรมอันทรงคุณค่าหนึ่งในประเทศไทยผ่านภาษาเปอร์เซียที่ได้แฝงอยู่ในภาษาไทยอย่างงดงามและน่าทึ่งทีเดียว
หลักฐานยืนยันไว้ว่า ประมาณปี พ.ศ. 2211 ได้มีชาวเปอร์เซียเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา รัชธานีแห่งสยามประเทศ โดยปรากฏตามจดหมายเหตุโบราณว่า มีคนยุคนั้นเรียกว่า “แขกเทศ” ตั้งบ้านเรือนอยู่ด้านตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากเฉกอะหมัด กูมี ซึ่งเป็นชาวเปอร์เซียที่มาตั้งถิ่นฐานแล้ว ยังมีชาวเปอร์เซียที่สำคัญอีกท่านหนึ่งเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่หัวเขาแดง (จังหวัดสงขลา ภาคใต้) เข้ามาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2145 ชื่อสุลต่าน ชาฮ์ สุลัยมานที่บทบาทในการใหลบ่าของอารยธรรมเปอร์เซียสู่ประเทศไทย
ในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ศิลปะ วัฒนธรรมและอารยธรรมเปอร์เซียได้ใหลบ่าสู่ประเทศไทย อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะภาษาเปอร์เซียเข้ามามีอิทธิพลต่อชาวไทยอย่างมาก และผู้ที่มีบทบาทสำคัญการนำภาษาเปอร์เซียสู่ประเทศไทย มีนามว่า “เฉก อะหะมัด กุมมี”และต่อมาเขาได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทย
ภาษาเปอร์เซียเข้าสู่สังคมสยามในอดีต ถูกนำภาษาเปอร์เซียใช้เรียกหรือขานเรียกในรั้วในวังในหมู่ขุนนางและเเพร่ขยายยังกลุ่มพ่อค้าวาณิชย์และที่เห็นได้ชัดคือการถ่ายถอดผ่านบทกวีและวรรณกรรมเช่นนิทานอิหร่านราชธรรม บทกวีรุไบยาต ของโอมาร์ คัยยัม แล้วต่อมาได้นำบางคำของคำเปอร์เซียมาใช้เรียกเช่น กุหลาบ รากศัพท์มาจากคำว่า”กุหล๊อบ” [گلاب]เรียกดอกกุหลาบจนถึงวันนี้
ย้อนดูประวัติศาสตร์เมื่อ 400 กว่าปีที่ผ่านมาในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวร มหาราช จะพบว่าศิลปะและอารยธรรมเปอร์เซียได้ใหลบ่าสู่ชาวสยามอย่างกว้างขวางโดยอารยธรรมเปอร์เซียและอารยธรรมไทยถูกเจียรนัยผสมผสานเข้าหาด้วยกันอย่างน่าทึ่ง ทำให้วัฒนธรรมเปอร์เซียมีโอกาสเผยตัวเองสู่ชาวสยามอย่างลงตัวและมีเสน่ห์ โดยบุคคลสำคัญที่มีบทบาทที่สุดผู้มีนามว่า “เฉก อะหมัด กุมมี” ชาวเปอร์เซียผู้โด่งดัง และ ณ ช่วงเวลานั้นเองวัฒนธรรมการใช้ภาษาเข้ามีบทบาทเชิงอารยธรรม และหนึ่งในนั้นคืออิทธิพลภาษาเปอร์เซียในสังคมสยาม อย่างน่าสนใจทีเดียว
ดังนั้นภาษาเปอร์เซียได้รับใช้สังคมชาวสยามตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเมื่อหลายร้อยปีก่อน ซึ่งในสังคมไทยได้ใช้ภาษาเปอร์เซียตลอดมา แต่อาจจะมีรูปประโยคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง แต่ยังคงรักษาตัวอักษรอันงดงามของภาษาเปอร์เซียไว้ จะเห็นได้จากบทสวดหรือบทลำนำรำลึกวันอาชูรอของมุสลิมนิกายชีอะฮ์ ถึงแม้ว่าชาวอิหร่านปัจจุบันที่พูดภาษาเปอร์เซียก็อาจไม่เข้าใจความหมายหรือสำเนียงแปลกหูแปลกตา เว้นเสียแต่นักภาษาศาสตร์หรือพจนานุกรมทางภาษาเท่านั้น ที่อาจบอกได้ถึงที่มาหรือร่องรอยของคำเหล่านั้น เช่นคำ “สบู่” รากคำมาจากภาษาเปอร์เซีย คือ “ซอบูน”[صابون]ให้ความหมาย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชำระร่างกายซึ่งสมัยโบราณจะใช้พืชสมุนไพรหลายชนิดในการอาบน้ำชำระร่างกาย
ถ้าเพ่งนินิจต่อวรรณคดีเปอร์เซีย จะพบว่ามีความน่าสนใจทั้งรูปลักษณ์และเนื้อหา ชาวเปอร์เซียได้นำรูปลักษณ์แบบ”ฆาซัล”(เป็นรูปแบบที่อาหรับได้ใช้ในการเขียนบทกวี) โดยที่ปราชญ์เปอร์เซียได้นำมาพัฒนาและสร้างความก้าวหน้า จนกลายเป็นรูปแบบที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง บทกวีที่เขียนออกมาในลักษณะ”ฆาซัล”จะรำพันถึงลำนำแห่งความรักเป็นบทสั้นๆ หรือเป็นบทกวีที่แสดงออกถึงด้านอภิปรัชญา(Meta-Physics)และด้านรหัสยนัย(Mystics)ด้านซูฟีและการจาริกสู่พระเจ้า หรือการรำพันค่ำครวญถึงเรื่องการจากไปของกาลเวลา หรือการจากไปของคนรัก ซึ่งจะประจักษ์พยานจากบทกวีใน “ดีวาน ฮาฟิซ”((دیوان حافظและอิทธิพลของวรรณคดีเปอร์เซียที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีบทบาทในเชิงบวกตลอดมา กล่าวกันว่าในอินเดียสมัยการปกครองราชวงศ์โมกุลได้นำภาษาเปอร์เซียมาเป็นภาษาราชการในราชสำนัก และยังคงใช้เป็นภาษาราชสำนักจนจนกระทั่งปลายคริสตศักราชที่๑๙ หรือแม้แต่วรรณคดีตุรกี โดยเฉพาะในบทกวีนับว่าได้รับอิทธิพลจากกวีเปอร์เซียอย่างมากทีเดียว
ภาษาเปอร์เซียได้รับใช้ศาสนาอิสลามมาเป็นอย่างมาก เพราะศาสนาอิสลามได้ผ่านการเผยแพร่ไปในอนุทวีปอินเดีย จีน และบางส่วนของเอเชีย หรือ ประเทศไทย ที่ได้มีชาวเปอร์เซีย นามว่า เฉก อะหมัด กูมี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยผ่านสื่อของภาษาเปอร์เซียในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนต่างๆ จนปรากฏเห็นในสังคมไทยจนถึงวันนี้