นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(4)
นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(4)
โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
ซ. ประเทศไทยในศตวรรษที่ 21
ในศตวรรษที่ 21 วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด แต่ดูเหมือนว่า มีน้อยประเทศที่รู้จักใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ บางประเทศกลับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอำนาจทำลายล้างสูงสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมากนักการเมืองบางคนใช้เทคโนโลยีในการสร้าง ข่าวลือข่าวลวง ข่าวเท็จ หลอกลวงประชาชนเพื่อให้ตนเองชนะการเลือกตั้ง และเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็ใช้อำนาจรัฐดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง มีพฤติกรรมทุจริตคอรับชั่นด้วยวิธีการที่แยบยลเอาผิดได้ยาก แต่ถ้าถูกจับและศาลตัดสินลงโทษก็หาทางหลบหนี ออกนอกประเทศ ดังนั้น การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ถ้าใช้ในทางที่ไม่ดี ก็สร้างความเสียหายได้มาก ผู้มีอำนาจรัฐ ถ้าคิดผิดทำผิด ยิ่งมีเทคโนโลยีสูง ก็ยิ่งสร้างความเสียหายได้มาก
ในสองทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศจำนวนมาก เสื่อมถอยลงมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาด ที่เกิดจากความโลภ มัวเมาในอำนาจ การทุจริตโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยไปในทิศทางที่ขัดกับศีลธรรมและจริยธรรม
ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศได้น้อย ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ อาศัยเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ทันสมัย ในการหาเสียงเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง โดยส่วนมากประสบความสำเร็จ สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลเมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ก็บริหารราชการในลักษณะเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ประเทศชาติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในเวลากว่าสองทศวรรษของ ศตวรรษที่ 21 นี้ โครงสร้างเศรษฐกิจไทย มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ดูเหมือนว่า ไม่ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นมากเท่าไร ทั้งในบางด้านยังมีการเสื่อมถอยลงด้วย ประเทศมีรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชาชนสูงขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆกลับเพิ่มมากขึ้นมากประชาชนจำนวนมากยังมีความเป็นอยู่ที่ยากจนขัดสน ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในประเทศดีขึ้นมาบ้างหลังเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2560
ก่อนหน้านั้น มีการชุมนุมประท้วงของประชาชนกลุ่มทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลในขณะนั้น และกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคซึ่งก่อการจลาจลเผาบ้านเผาเมือง เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองนี้ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอีก ก็มีนโยบายและพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่นเหมือนเดิม เมื่อประชาชนออกมาชุมนุมประท้วง ก็ใช้อำนาจรัฐออกมาปราบปราม ทั้งยังสนับสนุนฝ่ายที่เป็นพวกของตนออกมาก่อกวน ทำให้เกิดความวุ่นวาย จนฝ่ายทหารใช้การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นข้ออ้างในการก่อรัฐประหารอีก
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายชุด บางชุดก็อยู่ได้นานหลายปี แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆที่มีการหมักหมมมานาน ทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำในรายได้ของประชาชน และการลดลงของความสามารถการแข่งขันในภาคเศรษฐกิจต่างๆได้
บางคนอาจเห็นว่า เศรษฐกิจ และสังคมไทย มีการปรับปรุงดีขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย มีนโยบายจำนวนมากในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนก็รู้จักใช้เครื่องมือสื่อสารเทคโนโลยีสมัยใหม่ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาให้ดี จะเห็นว่า แม้ประชาชนจำนวนมากสามารถใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ในการค้นหาและรับทราบข่าวสารข้อมูล มีการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ผู้ที่ถูกหลอกโดยนักการเมืองที่โป้ปดและคดโกงกลับมีมากขึ้น ข่าวเท็จ ข่าวลือ และความคิดเห็นในลักษณะที่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อมีมากขึ้นด้วย ในส่วนของรัฐบาล แม้จะมีการใช้เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ในการบริหารงานมากขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ก็ไม่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นมากนัก
ในต้นศตวรรษที่ 21 รัฐบาลพรรคไทยรักไทย มีโอกาสบริหารประเทศเป็นเวลากว่าห้าปี แต่ถูกรัฐประหารจนหัวหน้ารัฐบาลต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังจากนั้นพรรคการเมืองเดียวกันในชื่อใหม่(เพราะพรรคชื่อเดิมถูกยุบไป ด้วยข้อหาทุจริตในการเลือกตั้ง) มีโอกาสกลับเข้ามาบริหารประเทศอีก เป็นเวลากว่าสามปี ก่อนที่จะถูกล้มล้างโดยการรัฐประหารอีก แต่ถึงแม้พรรคการเมืองที่ฉ้อฉลนี้ จะไม่ได้เป็นรัฐบาล บ้านเมืองก็ไมสงบ เพราะในช่วงที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็ยุยงให้ประชาชนที่เป็นลูกสมุนออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น ทำการก่อกวน สร้างความไม่สงบถึงขนาดเผาบ้านเผาเมือง จนฝ่ายทหารเข้าทำรัฐประหารอีกครั้ง
ดังนั้น หากเราจะหาสาเหตุว่า ทำไมประเทศไทยจึงยังล้าหลังอยู่จนถึงทุกวันนี้ จึงต้องพิจารณานโยบายพรรคไทยรักไทย และพรรคที่ใช้ชื่ออื่น แต่ถูกควบคุมโดยนักการเมืองกลุ่มเดิม และมีนโยบายลักษณะเดียวกัน ที่มีจุดเด่นคือ ใช้นโยบายประชานิยม เพื่อเรียกความนิยมจากประชาชนจนชนะการเลือกตั้ง มีนโยบายกึ่งการคลังในการใช้เงินรัฐโดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา กำหนดนโยบายที่สร้างผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง มีพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่น เบียดบังเงินแผ่นดิน จนหัวหน้ารัฐบาลต้องถูกศาลตัดสินจำคุก และหลบหนีออกนอกประเทศ ปล่อยให้ลูกน้องถูกดำเนินคดีและติดคุก ในสมัยที่พรรคนี้เป็นรัฐบาล มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการกำหนดนโยบายของรัฐโดยปราศจากผู้คัดค้าน นักวิชาการและข้าราชการดูเหมือนว่า ไม่มีบทบาทในการเสนอแนะคิดเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ การดำเนินนโยบาย ของรัฐบาลที่มุ่งเน้าการหาเสียงโดยนโบายประชาน ยม จึงไม่ส่งผลต่อการลดปัญหาที่มีผลกระทบทางลบต่อการพัฒนาประเทศ แต่กลับส่งผล ลบทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องประสบกับความเสียหาายในระยะยาว
นโยบายประชานิยมสร้างความเสียหายต่อประเทศได้อย่างไร คำว่า”นโยบายประชานิยม” มีคนให้ความหมาย และมีแนวทางการปฏิบัติที่แตกต่างกัน มีทั้งประชานิยมที่เชิดชูความสำคัญของประชาชน ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ และนโยบายประชานิยมเลวร้าย ที่มุ่งได้คะแนนเสียงเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง แต่เมื่อขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ไม่แก้ไขความยากแค้นของประชาชน ทั้งยังมีพฤติกรรมทุจริต ที่มุ่งสร้างประโยชน์และความร่ำรวยให้แก่ตนเองและพรรคพวก ตัวอย่างนโยบายประชานิยมเลวร้ายที่สร้างความเสียหายให้ประเทศที่มีคนพูดถึงมาก ก็คือกรณีของประเทศอาร์เจนตินา(Agentina) ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ เมื่อประมาณร้อยปีก่อน อาร์เจนตินาเป็นประเทศร่ำรวยลำดับต้นๆของโลก ที่มีทรัพยากรณ์ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีอุตสาหกรรมเกษตรที่ก้าวหน้า ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในหลายช่วงเวลา รัฐบาลการใช้นโยบายประชานิยมที่เลวร้ายในการบริหารประเทศ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของอาร์เจนตินาเสื่อมถอยลงมาก: เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกตำ่ ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจต่างๆลดลง สัดส่วนประชาชนที่ยากจนพุ่งสูงขึ้น และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงมาก จนถึงปัจจุบัน อาร์เจนตินาก็ยังมีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมมาก มีประชาชนยากจนในสัดส่วนที่สูง ภาวะเงินเฟ้อแม้ไม่รุนแรงเหมือนบางช่วงในอดีต แต่ก็อยู่ในระดับสูงมาก เศรษฐเสื่อมถอย ขีดความสามารถในการแข่งขันก็ลดลงไปมาก แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งในอาร์เจนตินา ก็ยังมีพรรคการเมืองที่ชูนโยบายประชานิยมในลักษณะต่างๆอีก และก็ยังได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนจำนวนไม่น้อย จนบางครั้ง สามารถเอา
ชนะการเลือกตั้ง ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล และมีนโยบายประชานิยมที่เลวร้ายสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศอีก
นโยบายประชานิยม จึงนำมาใช้ในการหาเสียง หลอกลวงประชาชนได้เสมอๆ แม้ผู้มีความรู้ จะเข้าใจ และตระหนักถึงความชั่วร้ายของนโยบายประชานิยม รู้ว่าการที่อาร์เจนตินาเปลี่ยนจากประเทศรำ่รวยมาเป็นประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จนถึงปัจจุบันนั้น สาเหตุที่สำคัญคือ การใช้นโยบายประชานิยมในการบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมาก ยังคงถูกหลอกครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่ตระหนักถึงความชั่วร้ายของนโยบายที่เน้นในเรื่องของการลดแลกแจกแถม ซื้อความนิยมของประชาชน เพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง และเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ดำเนินนโยบายที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ในที่นี้ จะไม่พูดถึงนโยบายประชานิยมที่เลวร้ายในอาร์เจนตินาและในประเทศอื่น ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประเทศ แต่จะพูดถึงนโยบายประชานิยมในประเทศไทยในสมัยที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงนโยบายที่ต่อเนื่องกันในเวลาต่อมา ตัวอย่างของโครงการที่มีลักษณะประชานิยมของรัฐบาลไทยรักไทย มีอยู่เป็นจำนวนมาก ในที่นี้กล่าวเพียงโครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการพักหนี้เกษตรกร โครงการธนาคารประชาชน โครงการบ้านเอื้ออาทร และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายเหล่านี้ มีวัตถุประสงค์ที่น่าประทับใจ ส่งผลทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น จนได้อำนาจรัฐ และก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล เมื่อได้เป็นรัฐบาล ได้แปรนโยบายเหล่านี้สู่การปฏิบัติ แต่เนื่องจาก นโยบายส่วนใหญ่มีขึ้นเพื่อการหาเสียง ขาดการศึกษาที่รอบคอบ จึงประสบกับปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งอีกเมื่อเกิดปัญหาแล้ว ก็ไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจังและทันท่วงที นโยบายเหล่านี้ จึงไม่มีผลทำให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศมีความก้าวหน้ามากนัก แม้ต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมากก็ตาม อีกทั้งยังมีการทุจริตคอรัปชั่นในการดำเนินนโยบาย ในเวลาต่อมา มีผู้เกี่ยวข้องถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีหลายราย บางรายถูกตัดสินจำคุก จนถึงปัจจุบันยังมีคดีที่รอการพิพากษาอีกนับสิบคดี
โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชน หรือที่รู้จักกันในชื่อ”หมู่บ้านละล้าน” ระบุวัตถุประสงค์ว่า ต้องการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในท้องถิ่น ให้ชุมชนจัดการหมู่บ้านและอนาคตของตนเอง เกื้อกูลประโยชน์แก่ผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการนี้รัฐบาลจัดสรรกองทุนให้หมู่บ้านละหนึ่งล้านบาท โดยให้เจ้าหน้าที่หมู่บ้านและชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินงานและจัดการในเรื่องการใช้เงิน ด้วยตนเอง แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่หมู่บ้านและชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการและวิธีการ จึงยังไม่พร้อม แต่รัฐบาลมีความเร่งรีบในการดำเนินนโยบาย (เพื่อใช้หาเสียง) มีหมู่บ้านที่ยังไม่พร้อมที่จะใช้เงินอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ต้องทำตามนโยบายที่สั่งการจากรส่วนกลาง ให้มีการจัดตั้งกองทุน เพื่อรับการจัดสรรเงินงบประมาณ และเมื่อได้รับงบประมาณแล้ว ก็เร่งรัดให้มีการใช้เงิน ด้วยการให้สมาชิกกู้เงิน ใช้ตัวเลขเงินกู้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้าน ผลที่ได้รับก็คือ เงินกองทุนถูกใช้ไปในทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในหมู่บ้าน ไม่พัฒนาประสิทธิภาพการทำมาหากิน แต่กลับทำให้ชาวชนบทจำนวนมากมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นมาก
อีกนโยบายหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรในชนบทต้องมีหนี้สินพอกพูนขึ้นมากก็คือ โครงการพักหนี้เกษตรกร ให้เกษตรกรไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลาสามปี โครงการนี้ดำเนินงานโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) โดยนัยยะว่า เพื่อลดภาระหนี้สินของเกษตรกรผู้ยากไร้ แต่ในทางปฏิบัติ เงื่อนไขการพักชำระหนี้เงินกู้กลับทำให้เกษตรกรต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบมากขึ้น กล่าวคือเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการพักหนี้ฯ ต้องมีหนี้กับกับธกส. ไม่เกิน 100,000 บาท ในระหว่างพักหนี้ ไม่สามารถกู้เงินจาก ธกส. ได้อีก ในความเป็นจริง ในระหว่างสามปีที่พักชำระหนี้ เกษตรกรยังต้องใช้เงินเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว เมื่อกู้เงินจากธกส. ไม่ได้ จึงต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก แม้ไม่ต้องชำระหนี้ให้ธกส. แต่ก็มีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินนอกระบบ นอกจากนี้ การใช้นิยามว่า ผู้มีสิทธิ์พักหนี้ต้องมีหนี้กับธกส.ไม่เกิน 100,000 บาท ก็ทำให้เกษตรกรจำนวนมากไม่มีสิทธิ์ได้รับการพักชำระหนี้
โครงการธนาคารประชาชน ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน มีการระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่า เป็นโครงการที่ส่งเสริมการกระจายโอกาสให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ของธนาคารในระบบการเงินปกติ เพื่อให้มีศักยภาพในการประกอบอาชีพการงาน มีคุณภาพชีวิตและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้มีสิทธิ์กู้เงิน มีทั้งประชาชนทั่วไป ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร และลูกจ้างบริษัทเอกชน วัตถุประสงค์ของโครงการกล่าวว่า เป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคาร เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนราคาถูกได้ แต่ผลปรากฏว่า แต่ผู้ที่ได้รับเงินกู้ส่วนใหญ่กลับเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่เคยเปิดบัญชีกับธนาคาร อย่างไรก็ตาม โครงการธนาคารประชาชนนี้ แม้จะมีปัญหาในทางปฏิบัติและทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้ผู้กู้รายย่อยที่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าถึงเงินกู้มากขึ้น จึงไม่อาจถือว่า เป็นนโยบายประชานิยมที่เลวร้าย
โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการรักษาโรคในโรงพยาบาลของรัฐโดยจ่ายเงินเพียง 30 บาท เป็นโยบายที่ประชาชนมีความนิยมมาก และได้รับการชื่นชมจากบุคคลที่ชื่อเสียงในวงการสาธารณสุขหลายคน ก่อนหน้านั้น ในประเทศมีระบบสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพอยู่หลายรูปแบบ แต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมประชาชนทุกคนได้ และยังมีประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับการรับประกันสุขภาพใดๆเลย โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ แม้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการนี้สร้างภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีไม่เพียงพออยู่แล้วให้เพิ่มขึ้นมาก ผู้ใช้สิทธิ์โครงการนี้อาจไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณทางด้านสาธารณสุขเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ก็ทำให้ประชาชน สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น
อีกโครงการหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์จะแก้ไขความเดือดร้อนทางด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยคือ โครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ และกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อการเช่าซื้อบ้านในราคาที่ไม่แพง โดยผ่อนส่งเงินกู้ในเวลาที่ยาวนาน การจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เป็นนโยบายที่น่าสนใจ แต่ในการดำเนินงานตามโครงการ พบว่า รัฐมนตรี ข้าราชการ และพรรคพวกของรัฐมนตรี มีพฤติกรรมทุจริตคอรัปชั่น มีการประเมินราคาที่ดินเกินจริง และเรียกรับสินบนในการอนุมัติโครงการก่อสร้าง เมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยพ้นอำนาจไปแล้ว มีการสอบสวนโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) และส่งเรื่องถึงศาล ในที่สุด ศาลตัดสินให้รัฐมนตรีและพวกที่มีส่วนในการทุจริต ต้องถูกยึดทรัพย์และถูกจำคุกเป็นเวลานานปี
ในการดำเนินนโยบาย รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้ใช้มาตรการต่างๆที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดินที่กำหนดไว้ แต่เป็นกิจกรรมตามโยบายของรัฐที่ต้องใช้จ่ายเงินและสร้างภาระทางการคลังแก่ประเทศ ที่เรียกกันว่า”นโยบายกึ่งการคลัง” โดยการดำเนินนโยบายรัฐบาลผ่านหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รัฐวิสาหกิจ และเงินกองทุนซึ่งจัดสรรเงินในการโครงการต่างๆตามคำสั่งของรัฐบาล รัฐบาลจึงสามารถเข้าไปควบคุมและแทรกแซงหน่วยงานเหล่านี้ เพื่อให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลโดยไม่ต้องเสนอนโยบายการใช้เงินต่อรัฐสภา
การดำเนินนโยบายกึ่งการคลังนี้ สามารถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากกระบวนการจัดทำงบประมาณได้ ในระหว่างการหาเสียงพรรคไทยรักไทยมีการให้สัญญากับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเพื่อสร้างคะแนนนิยม เมื่อชนะการเลือกตั้งขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้ว ก็พยายามผลักดันโครงการต่างๆตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ แต่งบประมาณของรัฐมีจำนวนจำกัดไม่เพียงพอสำหรับโครงการต่างๆ รัฐบาลพรรคไทยรักไทยจึงหันไปใช้มาตรการต่างๆที่เป็นนโยบายกึ่งการคลัง ผ่านหน่วยงานอื่นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล แต่ไม่ได้ดำเนินการโดยกระทรวงทบวงกรมในรัฐบาล เงินที่ใช้จ่ายในการดำเนินงานตามนโยบายกึ่งการคลังนี้ ไม่ได้มาจากงบประมาณของรัฐ แต่การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยโครงการต่างๆตามนโยบายของรัฐบาลนี้ ถ้ามีปริมาณมาก ก็ย่อมสร้างภาระการคลังและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้ อาจมีการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส เพราะปราศจากการตรวจสอบจากรัฐสภาและหมิ่นเหม่ต่อการทุจริตคอรัปชั่น
ในช่วงเวลาเกือบทศวรรษที่พรรคไทยรักไทย และพรรคที่ใช้ชื่ออื่นที่ถูกควบคุมโดยนักการเมืองกลุ่มเดียวกัน มีการใช้เงินนอกงบประมาณตามนโยบายกึ่งการคลังเป็นปริมาณมหาศาล ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก แต่เมื่อรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจสร้างหนี้มาก รัฐบาลชุดต่อๆมา ก็ต้องรับภาระ ซึ่งเงินที่ต้องจ่ายนั้น ก็ต้องเอามาจากรายรับของรัฐบาลซึ่งก็คือภาษีจากประชาชนนั่นเอง
แม้การใช้นโยบายกึ่งการคลัง จะหลีกเลี่ยงข้อจำกัดในการใช้งบประมาณอย่างเป็นทางการ และเปิดโอกาสให้รัฐบาลที่มีข้อจำกัดงบประมาณใช้จ่ายเงินตามนโยบายได้ แม้อาจมีบางโครงการที่มีผลในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจบ้าง แต่ก็เป็นการปฏิบัติที่ขาดความโปร่งใส และขัดกับหลักธรรมาภิบาล ทั้งยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโครงการต่างๆที่ใช้เงินตามนโยบายกึ่งการคลังนี้ เป็นโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจ แต่กลับไปบั่นทอนฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น
นโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย ส่วนใหญ่เป็นประชานิยมที่เลวร้าย ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไม่แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชน ไม่สร้างเสริมประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ หรือความสามารถของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งยังทำให้ประชาชนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น และรัฐบาลมีภาระทางการคลังมากขึ้น ในการดำเนินนโยบายมีการทุจริตการคอรับชั่นมากมาย การดำเนินนโยบาย ที่เป็นนโยบายประชานิยม ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติดีขึ้น ในช่วงเวลาห้าปีที่พรรคนี้มีอำนาจปกครองประเทศ เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเจริญเติบโตที่ตำ่กว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ รายได้เฉลี่ยของประชาชนชาวไทยก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก สรุปได้ว่า นโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย ไม่ใช่นโยบายประชานิยมที่ดี แต่เป็นประชานิยมเลวร้าย
การมีนโยบายประชานิยม หากมุ่งหวังเพียงชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนำมาปฏิบัติ ก็มีข้อบกพร่อง และมีการทุจริต ประเทศชาติก็จะเสียหาย อย่างไรก็ดี นโยบายประชานิยมบางอย่าง ที่มีความมุ่งหวังชัดเจนในการแก้ปัญหาของประเทศ และมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ถ้าใช้ในทางที่ถูก มีการแก้ไขข้อบกพร่องเมื่อพบว่ามีปัญหา และมีการดำเนินการอย่างสุจริต ก็อาจเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้จากการทบทวนนโยบายของพรรคไทยรักไทย และพรรคที่ใช้ชื่ออื่น แต่ควบคุมโดยนักการเมืองและนักธุรกิจกลุ่มเดียวกัน ที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศมาก เทียบเคียงได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอาร์เจนตินา ที่มีการใช้นโยบายประชานิยมที่เลวร้ายในหลายช่วงเวลา จนฐานะของประเทศตกต่ำ จากประเทศที่ร่ำรวยมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่งเทียบได้กับสหรัฐอเมริกา เมื่อเวลาผ่านไป กลายมาเป็นประเทศที่ยากจนล้าหลัง ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น อันเป็นผลของการใช้นโยบายประชานิยมเลวร้ายที่หวังเพียงเพื่อชนะการเลือกตั้ง ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองหลายพรรค ยังมีการชูนโยบายประชานิยม เพื่อให้พรรคของตนได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน โดยสัญญาว่าจะใช้เงินงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้บอกว่าจะเอาเงินมาจากไหน โยบายเหล่านี้ เมื่อนำมาปฏิบัติ อาจซ้ำรอยความผิดพลาดของพรรคไทยรักไทย และพรรคที่ควบคุมโดยนักการเมืองกลุ่มเดียวกัน ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย เช่น การใช้นโยบายกึ่งการคลังซึ่งสร้างภาระทางการคลังให้ประเทศในภายหน้า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศที่สูงกว่าอัตราในปัจจุบันมาก ทำให้เกิดปัญหาต่อโครงสร้างต้นทุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดย่อม จนไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้เกิด ภาวะว่างงาน ฯลฯ แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ ไม่มีนโยบายและมาตรการที่จะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศในระยะยาว ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะว่า นโยบายประชานิยมแบบลดแลกแจกแถม ที่มุ่งให้ประชาชนหวังพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาล เห็นผลทันใจ ได้คะแนนเสียงจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้มากกว่า นอกจากการดำเนินนโยบายประชานิยมที่เลวร้ายแล้ว ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น การทุจริตทางนโยบาย โดยอาศัยอำนาจรัฐในการกำหนดนโยบาย ที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและครอบครัว ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศ ของนักการเมืองที่เลวร้ายในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวข้ามวงจรการล่อซื้อเสียงจากประชาชน เพื่อหวังผลชนะการเลือกตั้งแล้วเข้ามา กอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง นักการเมืองเหล่านี้เมื่อพ้นจากอำนาจ จึงมีคดีความติดตัว ในตอนต่อไป จะกล่าวถึงพฤติการณ์ทุจริตทางนโยบาย และคดีความต่างๆของ นักการเมืองในรัฐบาลไทยรักไทยต่อไป