jos55 instaslot88 Pusat Togel Online นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(18) - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(18)

นโยบายเศรษฐกิจสำคัญอย่างไร(18)

โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย

ภาคอุตสาหกรรม(ต่อ)

การจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม

นโยบายการจัดจำหน่ายหรือการส่งเสริมทางด้านการตลาด มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม  การส่งเสริมการจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมทำได้หลายแนวทาง วิชาการตลาดกล่าวถึงปัจจัยสำคัญสี่อย่าง หรือ 4p ด้านการตลาด คือ ผลิตภัณฑ์ (product) ราคา(price)

สถานที่หรือช่องทางการจำหน่าย (place)  และการส่งเสริมการขาย (promotion)    สิ่งที่มีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย 4 p คือ ความรู้  ข่าวสารข้อมูล เครือข่ายการจำหน่าย และมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลและหน่วยงานในภาคเอกชน  ในแต่ละปัจจัย สรุปได้ดังนี้

ผลิตภัณฑ์(product) : มีการผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการ   มีลักษณะ  รูปแบบ และคุณภาพที่ดี

ราคา (price) : สินค้ามีราคาที่เหมาะสม  คุ้มค่า

สถานที่ (place) : มีช่องทางที่จะเข้าถึงลูกค้า สามารถขนส่งและจัดจำหน่ายสินค้าได้โดยสะดวก

การส่งเสริมการขาย (promotion) : มีวิธีประชาสัมพันธ์ และมีกลยุทธ การโฆษณาที่ดี มีชื่อและตราสินค้าที่ดึงดูดความสนใจ  สามารถสร้างความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าแก่ลูกค้า และมีบริการหลังการขายที่เหมาะสม

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคมมีความเจริญก้าวหน้า ข่าวสารข้อมูลทางด้านการตลาดด้านต่างๆมีมาก และหามาได้ง่าย การโฆษณา รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าทำได้สะดวก  พาณิชยอิเล็กทรอนิกส ( E-commerce) หรือการขายสินค้าออนไลน์แพร่หลาย  การขายสินค้าอุตสาหกรรมทำได้โดยการโฆษณาผ่านอินเตอร์เน็ต เมื่อสั่งซื้อแล้ว ก็ส่งของถึงมือลูกค้าโดยตรงหรือส่งทางช่องทางขนส่งเอกชนต่างๆ  รวมทั้งทางไปรษณีย์

นโยบายการจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม ทำได้หลายทาง คือ

ก. เผยแพร่ข้อมูลการตลาด  ให้ผู้ผลิตและผู้ค้าเข้าใจถึงพฤติกรรมของลูกค้า สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และวางแผนการตลาดที่มีประสิทธิภาพได้

ข. ส่งเสริมการทำงานของกลไกตลาด หน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีการร่วมมือกัน มีการรวมกลุ่มสมาคมอุตสาหกรรม การค้า หรือกลุ่มเครือข่ายธุรกิจต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และช่วยเหลือสมาชิกให้ได้รับข้อมูลข่าวสารการตลาด  มีกิจกรรมการศึกษาดูงาน ฝึกอบรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับสภาพการตลาด

ค. สนับสนุนการสร้างตรา และเครื่องหมายการค้า แนะนำวิธีการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

ง. สนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่าย  ทั้งที่ดำเนินการเอง ที่ร่วมมือกับร้านสรรพสินค้า และธุรกิจการค้าปลีกและค้าส่งอื่นๆ  ร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและนอกประเทศ  จัดอบรมให้ความรู้การค้าสินค้าออนไลน์

จ. สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านการผลิตและการจัดจำหน่าย เสริมสร้างความสามารถการแข่งขันของการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ   ทั้งสินค้าที่ผลิตตามคำสั่งซื้อ ที่มีการออกแบบ และมีตราสินค้าของตนเอง

นโยบายและมาตรการส่งเสริมการส่งออก  มีทั้งการส่งเสริมโดยตรงและโดยอ้อม  การส่งเสริมโดยตรง มีเครื่องมือหลายอย่าง เช่น ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งออก ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก (ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ผลิตและส่งออกมาก่อน)  โดยการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนต่างๆ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการในช่วงแรก    ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีวัตถุดิบและชิ้นส่วนนำเข้าที่นำมาผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งออก   ปรับระบบภาษีศุลกากร ยกเว้นภาษีในสินค้าส่งออก ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน และการประกันภัย

การส่งเสริมการส่งออกทางอ้อมก็ทำได้หลายทาง เช่นการเผยแพร่ข้อกำหนดในมาตรฐานและกฎระเบียบขององค์การนานาชาติ ข้อกำหนดในข้อตกลงการค้าเสรี และของประเทศผู้นำเข้า เผยแพร่และแนะนำวิธีการใช้สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีตามข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ  จัดให้คณะนักธุรกิจไปศึกษาตลาดและร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ให้คำแนะนำ ตรวจสอบ และออกใบรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้า  มีการประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ส่งออกดีเด่น เป็นต้น

นโยบายเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น นโยบายการเงิน การคลัง และการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ควรมีความสอดคล้อง ไม่ขัดแย้งกับเป้าหมายการส่งเสริมการส่งออก

ในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ในช่วงแรกที่ดำเนินนโยบายส่งเสริมการส่งออก ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับสูงที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้ว่าการธนาคารยชาติ  รัฐมนตรีจากหลายกระทรวง และตัวแทนจากภาคเอกชนเป็นกรรมการ  มีการประชุมทุกเดือนเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการส่งออก รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ

ในปัจจุบัน หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย มีผู้แทนการค้าทำหน้าที่ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก

เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดที่พึ่งพาการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศมาก ตั้งแต่มีนโยบายส่งเสริมการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรม ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สามในปี ค.ศ.1972 เป็นต้นมา การส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตในอัตราสูง

สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ก็มีส่วนเอื้อต่อการส่งออก ในช่วงทศวรรษ 1970 เงินดอลล่าร์อเมริกันอ่อนค่าลงไปมาก เงินบาทที่ผูกค่าไว้กับดอลล่าร์ก็อ่อนค่าตามลงไปด้วย   ทำให้สินค้าออกของไทยมีราคาถูกลง จึงส่งออกได้มาก

ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 ค่าเงินเยนญี่ปุ่น และค่าเงินของเกาหลี ไต้หวัน ขยับตัวสูงขึ้นมาก  ประกอบกับนโยบายการลดค่าเงินบาทก่อนหน้านั้น ทำให้ประเทศไทยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมส่งออกจำนวนมาก  การส่งออกมีการขยายตัวมาก เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราสูง จนมีผู้กล่าวขานกันว่า ไทยจะขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือเสือตัวที่ห้าในทวีปเอเชีย  แต่หลังจากนั้น ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด แทนที่จะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย ประเทศไทยกลับประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปีค.ศ.1997

ปัญหาและข้อจำกัดของการตลาดในสินค้าอุตสาหกรรม

ก. ข้อจำกัดในการเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่าย: ผู้ผลิตไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางการจำหน่าย ไม่สามารถนำสินค้าไปจำหน่ายในตลาดที่ต้องการสินค้านั้น และไม่สามารถเข้าสู่ระบบการจำหน่ายสินค้าทั้งในระดับค้าส่งค้าปลีก และทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

ข. ขาดข้อมูลความต้องการของตลาด: ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำนวนมาก ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนให้สอดคล้องกับความต้องการลูกค้า โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับความต้องการในตลาดต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถผลิตและขายสินค้าตรงกับความต้องการ และถูกต้องหรือเหมาะสมกับคุณภาพมาตรฐานของตลาดได้

ค. ขาดทักษะความรู้ด้านการตลาด: ขาดความรู้ความสามารถในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ  ในการกำหนดราคาที่เหมาะสม  และการหาช่องทางการตลาด การประชาสัมพันธ์โฆษณาและการสร้างเครื่องหมายการค้าที่ดึงดูดความสนใจ

ง. ขาดการสนับสนุนด้านการเงิน: สถานประกอบการอุตสาหกรรมจำนวนมากไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ เนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านการเงิน โดยเฉพาะการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

จ. ขาดการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี: ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมจำนวนมาก ไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพตามความต้องการลูกค้า การผลิตยังไม่มีประสิทธิภาพ

หน่วยงานการส่งเสริมทางด้านการตลาดของสินค้าอุตสาหกรรม

ตั้งแต่จะเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมในต้นทศวรรษ 1970 รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการส่งออกมาก ในภาครัฐมีหน่วยงานที่มีภารกิจส่งเสริมการตลาดจำนวนมาก กระจายอยู่หลายกระทรวง ในภาคเอกชน ก็มีองค์กรและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้าอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทั้งในการส่งออกและตลาดภายในประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่ส่งเสริมการตลาดของสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และกิจกรรมบริการต่างๆ ทั้งด้านการส่งออก และการค้าภายในประเทศ

หน่วยงานที่สำคัญที่ส่งเสริมการตลาดต่างประเทศ ที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์ คือ กรมการค้าต่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ส่วนการค้าในประเทศ ก็มีกรมการค้าภายใน ที่ดูแลการแข่งขันที่เป็นธรรมและส่งเสริมกลไกตลาดเสรี  กรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจ

หน่วยงานอื่นที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา องค์การคลังสินค้า ก็มีส่วนในการส่งเสริมการตลาดด้วย

ในกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก สถาบันอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เช่นสถาบันอาหาร สิ่งทอ ยานยนต์เหล็กและเหล็กกล้า สนับสนุนด้านเทคโนโลยี วิจัยพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า สำนักงานมาตรฐานสินค้า มีหน้าที่ตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพมาตรฐานของสินค้าอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่จัดสรรทรัพยากร และบุคลากรของกระทรวง รวมทั้งสำนักงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ  สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มีภารกิจเสนอแนะนโยบาย แผนงาน ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ทั้งระดับมหภาค และอุตสาหกรรมรายสาขา

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หน่วยงานส่งเสริมที่สำคัญ คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมในภาคเศรษฐกิจต่างๆ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นหน่วยงานสำคัญในภาครัฐ ที่ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆตามกฏหมายส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่ปี 1972 เป็นต้นมา การส่งเสริมการลงทุนให้ความสำคัญแก่การส่งออก และสามารถดึงดูดการลงทุนต่างประเทศในอุตสาหกรรมส่งออกจำนวนมาก

ในกระทรวงมหาดไทย มีกรมพัฒนาชุมชนที่มีหน้าที่ในการดูแลความมั่นคงและความเข้มแข็งของชุมชน เชื่อมโยงการผลิตในชุมชนกับธุรกิจเอกชน และสนับสนุนการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

หน่วยงานภาครัฐที่กล่าวมา นอกจากหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ที่มีหน้าที่ในการพาณิชย์โดยตรงแล้ว ส่วนมากมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมหลายด้าน ไม่เฉพาะด้านการตลาด แต่การส่งเสริมการตลาดก็ถือว่าเป็นงานสำคัญอย่างหนึ่งของหน่วยงานเหล่านี้

การสนับสนุนทางการเงินในการตลาด นอกจากธนาคารพาณิชย์แล้ว ในปีค.ศ.1993 รัฐบาลได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ส่งออก และผู้ลงทุนที่ทำรายได้นำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ ช่วยเหลือนักธุรกิจไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ให้บริการทางการเงินแก่ผู้ส่งออก ที่ธนาคารพาณิชย์ตอบสนองได้ไม่เพียงพอหรือไม่ทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการส่งออก การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

นอกจากสนับสนุนด้านการเงินแล้ว ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอื่นๆ เช่น จัดอบรมให้ความรู้การประกอบธุรกิจการส่งออก ประสานงานกับสมาคมผู้ค้าสินค้าไทย ให้บริการทางการเงินเพื่อพัฒนาทางกายภาพของผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก สนับสนุนให้มีการใช้สินเชื่อการส่งออกไทยในสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน  มีศูนย์บริการ เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ส่งออกที่ยังขาดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจการส่งออก

สำหรับการสนับสนุนทางการเงินให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รัฐบาลมีการจัดตั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยขึ้นในปีค.ศ. 2002 ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการให้สินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ที่ไม่อาจเข้าถึงบริการการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ได้  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ก็มีกิจกรรมช่วยเหลือทางด้านการตลาด เช่นโครงการอาหารปลอดภัย การยกระดับการผลิตอาหาร การให้สินเชื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกให้ได้รับเงินทุนหมุนเวียนเตรียมผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ให้สินเชื่อที่สนับสนุนด้านเงินทุนในการพัฒนาการผลิต การหาตลาด และการจัดจำหน่ายแก่โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดย่อมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยเหลือให้ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆมากขึ้น รวมทั้งค้ำประกันสินเชื่อทางด้านการตลาด

นอกจากหน่วยงานในภาครัฐแล้ว ยังมีสถาบันอิสระ เช่น สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมนิทรรศการ และหน่วยงานในภาคเอกชนจำนวนมาก เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมต่างๆ และสมาคมที่ส่งเสริมการตลาดโดยเฉพาะ เช่น สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการ เพื่อนำความรู้ด้านการตลาด มาปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ

สถาบันและหน่วยงานในภาคเอกชนที่มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาด มีอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ซึ่งมีเครือข่ายในอุตสาหกรรมต่างๆและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรกลุ่มพ่อค้าไทยและพ่อค้าต่างประเทศในประเทศไทย

ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้า มีเครือข่ายการค้าและอุตสาหกรรมในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ มีบทบาทส่งเสริมการค้า การผลิต การขนส่ง และให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายเศรษฐกิจต่างๆแก่รัฐบาล สภาหอการค้ายังทำการศึกษาปัญหาทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าด้วย

นอกจากนั้น ยังมีหน่วยงานต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน เช่น เจโทร   หรือองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO: Japan External Trade Organization) สถาบันคีแนน(Kenan) สถาบันไทย-เยอรมัน ที่ให้การสนับสนุนการค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศ เช่น ช่วยให้ผู้ส่งออกไทยส่งอาหารและผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ไปประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนการพัฒนาสินค้า ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอบรม ยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของสินค้า เป็นต้น

ในการส่งเสริมการตลาดทั้งค้าต่างประเทศและการค้าในประเทศ ภาคเศรษฐกิจต่างๆสามารถเชื่อมโยงกันได้  การท่องเที่ยวอาจมีส่วนเสริมสร้างตลาดแก่การค้าในหัตถกรรมพื้นเมือง อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆบางอย่างที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ในเวลาที่ผ่านมา สินค้าบางอย่าง เช่น ที่นอนยางพาราและนมอัดเม็ด เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจีนมาก การมีร้านหรือศูนย์แสดงสินค้าขายสินค้าพื้นเมืองในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมาก เป็นวิธีหนึ่งที่ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองได้  การโฆษณาขายสินค้าพื้นเมืองทางอินเตอร์เน็ต การร่วมมือกับบริษัทที่มีเครือข่ายธุรกิจออนไลน์ขนาดใหญ่ที่มีการขายสินค้าในประเทศต่างๆ เป็นกิจกรรมการตลาดที่ควรให้การสนับสนุน

หน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมการตลาด ทั้งที่อยู่ในภาครัฐ ภาคเอกชน และที่เป็นองค์การต่างประเทศ มีอยู่จำนวนมาก ไม่อาจกล่าวได้ครบถ้วน แต่อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมการตลาดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หน่วยงานต่างๆเหล่านี้ มักไม่มีการประสานงานและร่วมมือกันอย่างเป็นกิจลักษณะ ในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคืองและการส่งออกซบเซา เช่นในปัจจุบัน หน่วยงานและองค์การต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมด้านการตลาด ควรร่วมมือกันจัดกิจกรรม เพื่อช่วยให้การส่งออกและการค้า กระเตื้องขึ้นมาในระดับหนึ่ง

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *