โรคระบาดและการประท้วง! สองวิกฤตและการเลือกตั้งอเมริกัน
โรคระบาดและการประท้วง! สองวิกฤตและการเลือกตั้งอเมริกัน
สุรชาติ บำรุงสุข
“การประท้วงเพื่อต่อต้านความอยุติธรรมคือรากฐานของประชาธิปไตยแบบอเมริกันของเรา”
Thurgood Marshall
Associate Justice of the Supreme Court of the US
(ผู้พิพากมาร์แชลเป็นชายสีผิวคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้)
หนึ่งปัญหาใหญ่ที่เป็นมรดกตกทอดจากอดีตของสังคมอเมริกันคือ ปัญหาการแบ่งแยกผิว (racism) ความขัดแย้งในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ไม่จบในสังคม และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็พร้อมที่จะขยายตัวเป็นความรุนแรงได้เสมอดังจะเห็นได้จากกรณีการประท้วงที่ตำรวจผิวขาวชาวอเมริกันจับกุมชายผิวดำ และมีการใช้อำนาจเกินขอบเขตด้วยการใช้เข่ากดที่คอของผู้ต้องหา จนนำไปสู่การเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) … การเสียชีวิตของฟลอยด์กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงใหญ่อีกครั้งหนึ่งต่อการใช้อำนาจของตำรวจที่กระทำต่อคนผิวดำในสังคมอเมริกัน การประท้วงครั้งนี้ขยายตัวมากกว่าในครั้งก่อนๆ และเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่ที่เกิดในขณะเดียวกับที่สังคมอเมริกันกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนเกิดความกังวลว่าการชุมนุมขนาดใหญ่ที่เป็น “mass protest” นี้ จะนำไปสู่การขยายตัวของโรคระบาดในสังคมอเมริกันหรือไม่ในอนาคต
สภาวะเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตสองชุดที่ผู้นำสหรัฐกำลังเผชิญ คือ “วิกฤตโรคระบาด” และ “วิกฤตการประท้วง” ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายทำเนียบขาวในการบริหารจัดการวิกฤตเป็นอย่างยิ่ง และท้าทายอย่างมากกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันในปลายปี 2020 นี้
สงครามเลิกทาส-สงครามที่ไม่จบ!
ผลจากการประท้วงที่ลุกลามไปในหลายเมืองของสหรัฐ ทำให้มีการประกาศเคอร์ฟิวใน 22 รัฐ และ 37 เมือง และในหลายเมืองนั้น การประท้วงยกระดับจนมีสภาพที่ต้องเรียกว่าเป็น “จลาจล” จนถึงกับผู้ว่าการในหลายรัฐต้องออกคำสั่งให้นำอาสาสมัครจาก “กองกำลังป้องกันชาติ” (หรือกองกำลังเนชั่นแนลการ์ด – The National Guard) ออกมารักษาความสงบ ซึ่งดูจะไม่ต่างกับภาพในอดีตที่ต้องนำกองกำลังเช่นนี้ออกมาควบคุมการประท้วงใน “ยุคต่อต้านสงครามเวียดนาม” มาแล้ว
ภาพสะท้อนที่ชัดเจนจากการประท้วงที่ขยายตัวเป็นความรุนแรงในหลายเมืองในสหรัฐนั้น ชี้ให้เห็นถึง “สงครามภายใน” ที่ความขัดแย้งชุดนี้ไม่เคยยุติได้จริง และเป็นการต่อสู้อย่างยาวนานในสังคมอเมริกันตั้งแต่ครั้ง “สงครามกลางเมืองในสหรัฐ” (The American Civil War, 1861-65) ที่เริ่มขึ้นในปี พศ. 2404 และจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายเหนือในปี 2408
ในด้านหนึ่งสงครามกลางเมืองอเมริกันเป็น “สงครามปลดปล่อยทาส” และผลจากชัยชนะของรัฐฝ่ายเหนือที่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีต่อรัฐฝ่ายใต้ที่เป็นภาคเกษตรกรรมนั้น ทำให้การมี “ระบบทาส” ในรัฐเกษตรสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ แต่อาจจะต้องยอมรับความจริงว่า การยุติระบบทาสด้วยชัยชนะของประธานาธิบดีลินคอล์นนั้น ไม่ได้เปลี่ยนทัศนะของคนผิวขาวที่เป็นสายอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง เพราะรัฐฝ่ายใต้ยังคงสภาวะของการแบ่งแยกผิว (racism) ต่อไป และสภาวะเช่นนี้จึงกลายเป็น “สงครามภายใน” ที่แอบซ่อนอยู่ในสังคมอเมริกันมาอย่างยาวนาน แม้หลายคนจะมีความคาดหวังว่า การขึ้นเป็นประธานาธิบดีของชายผิวสีอย่างบารัค โอบามา จะเป็นสัญญาณการสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองอเมริกันอย่างแท้จริง ซึ่งในที่สุดแล้วคนผิวสีก็สามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหารที่ทำเนียบขาวได้อย่างไม่คาดคิด
แต่ในความเป็นจริงหลายคนตระหนักดีว่า ตำแหน่งของประธานาธิบดีโอบามาอาจจะไม่สามรถเปลี่ยน “ภูมิทัศน์ของปัญหาการแบ่งแยกผิว” ให้จบลงได้เช่นชัยชนะในเส้นทางสู่ทำเนียบขาวในครั้งนั้น ฉะนั้นความขัดแย้งจากปัญหาการแบ่งแยกผิวจึงเป็นเสมือน “ระเบิดเวลา” ที่รอคนมาจุด และเมื่อระเบิดขึ้นมาครั้งใด ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นความรุนแรงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายส่วนต่างๆ ของสังคมอเมริกันอย่างน่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ “ความเป็นอเมริกัน” เช่นเดียวกับที่กระทบอย่างมากต่อภาพของ “ระบอบประชาธิปไตย” อีกด้วย … แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่ฝ่ายต่อต้านสหรัฐจะ “เยาะเย้ย-ถากถาง” ภาพลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยได้มากเท่ากับปัญหาการประท้วงในเรื่องการแบ่งแยกผิวที่มักจะขยายตัวเป็นความรุนแรงในสังคมอเมริกันอยู่เสมอ เช่นที่ผู้นำทางการเมืองในสายอำนาจนิยมในหลายประเทศจึงมักจะหยิบยกด้วยการโจมตีว่าการควบคุมฝูงชนของตำรวจอเมริกัน ก็นำไปสู่ความรุนแรงจากการปะทะระหว่างตำรวจกับประชาชน (เพราะฉะนั้นสหรัฐจึงไม่ควรวิจารณ์ตำรวจฮ่องกงที่ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาและผู้ประท้วง)
แต่อย่างน้อยเราอาจจะต้องยอมรับว่า สิ่งที่ระบอบประชาธิปไตยอเมริกันให้ไว้ก็คือ สิทธิในการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองด้วยการเรียกร้องในเรื่องต่างๆ ที่ผู้ร่วมการประท้วงไม่เห็นด้วย เพราะการชุมนุมและการเรียกร้องทางการเมืองไม่อาจเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ระบอบการปกครองเป็นอำนาจนิยม
ตำรวจและอคติสีผิว
ในหลายครั้งจะเห็นได้ว่า สถานการณ์ที่เป็นตัวจุดชนวนของความรุนแรงคือ การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวกระทำต่อคนผิวดำ และในหลายกรณี การกระทำของตำรวจจบลงด้วยการเสียชีวีตของผู้ต้องหาที่เป็นคนผิวสี เช่นในกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในปัจจุบัน แต่ในอีกด้าน คดีเช่นนี้มักจะจบลงด้วยตำรวจผู้ใช้ความรุนแรงนั้น ถูกตัดสินจากศาลว่า “ไม่ผิด” และมีตำรวจบางส่วนเท่านั้นที่ถูกพิพากษาลงโทษจากการกระทำที่เกิดขึ้น ดังนั้นในช่วงเวลาของวิกฤตครั้งนี้ หลายฝ่ายมีความเห็นพ้องต้องกันอย่างมากว่า สังคมอเมริกันต้องการ “การปฏิรูปตำรวจ” ซึ่งประเด็นนี้เป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงมาอย่างยาวนาน เพราะปัญหาที่สังคมเผชิญคือ “การใช้ความรุนแรงของตำรวจ” (police brutality) ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ
ความรุนแรงในสังคมพัฒนาแล้วไม่ได้มาจากทหาร เนื่องจากในประเทศเหล่านี้ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพมาก บนเงื่อนไขที่กองทัพไม่ได้มีบทบาททางการเมือง ภาวะเช่นนี้แตกต่างอย่างมากจากประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายที่ระบอบการเมืองจะถูกผูกไว้กับการมีอำนาจของฝ่ายทหาร และเกิด “การใช้ความรุนแรงของทหาร” (military violence) เพราะอำนาจทางการเมืองเป็นของทหาร ซึ่งในสังคมตะวันตกได้ก้าวข้ามภาวะเช่นนี้ไปแล้ว
แม้ประเด็นการใช้ความรุนแรงของตำรวจจะได้รับการยอมรับว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ อย่างน้อยเพื่อบรรเทาความรู้สึกของคนในสังคมที่เกิดความไม่พอใจอย่างมากจากการกระทำของตำรวจ เพราะการเสียชีวิตของฟลอยด์ไม่ใช่กรณีแรกในเรื่องนี้ แต่ก็อาจจะไม่ง่าย เพราะอำนาจในการควบคุมตำรวจไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาลกลาง แต่ตำรวจอยู่ภายใต้ในอำนาจของมลรัฐ (ผู้ว่าการรัฐ) และเมือง (นายกเทศมนตรี) การออก “แผนในระดับชาติ” เพื่อการปฏิรูปตำรวจ (National Plan) อาจจะไม่เป็นจริงในทางปฎิบัติ และประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงอย่างมากก็มากคือ จะเริ่มต้นการปฎิรูปด้วยประเด็นใด
การกระทำของตำรวจอาจจะเป็นสาเหตุเบื้องต้นของความรุนแรง แต่สิ่งที่เป็น “แรงขับเคลื่อนของความรุนแรง” อีกส่วนที่สำคัญมาจากต้นรากของสาเหตุพื้นฐานที่เกิดจากปัญหา “การแบ่งแยกผิว” (racism) ในสังคมอเมริกัน ที่ทำให้คนผิวดำในสหรัฐมี “ความรู้สึกร่วม” ถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรม และหากเกิดปัญหาขึ้นเมื่อใด พวกเขาก็จะไม่ได้รับความยุติธรรมด้วย อีกทั้งยังมีประเด็นสำคัญในเรื่องของ “ความไม่เท่าเทียม” ไม่ว่าจะสะท้อนผ่านทางด้านเศรษฐกิจหรือการศึกษาก็ตาม และทั้งยังสมทบด้วยความรู้สึก “อคติ” เรื่องสีผิวที่ดำรงอยู่ในหมู่คนผิวขาวที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมอีกด้วย เช่นในช่วงที่โควิดระบาด คนผิวขาวอาจจะกลัวการติดเชื้อจากคนผิวสีในที่สาธารณะ แต่ขณะเดียวกันคนผิวสีก็รู้สึกอย่างมากว่า ผู้เสียชีวิตจากการระบาดเป็นจำนวนมากนั้นเป็นคนผิวสี เป็นต้น ปัญหาสำคัญในมิตินี้จึงเป็นทั้งเรื่องของ “อคติ” ทางการเมืองและ “ทัศนคติ” ทางการเมืองที่ดำรงอยู่ควบคู่กันในหมู่ตำรวจ
แม้ปัญหาการแบ่งแยกผิวจะมีสภาวะเสมือนกับ “การสมานแผล” ในสังคมอเมริกันด้วยการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโอบามา แต่หลังจากชัยชนะของโดนัล ทรัมป์จากการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2559 แล้ว เหตุการณ์ดูจะพลิกกลับ และมีภาวะเป็นเหมือนกับ “การเปิดแผลเก่า” ที่ผู้นำที่ทำเนียบขาวดูจะไม่ใส่ใจมากนักกับความละเอียดอ่อนของปัญหาดังกล่าว จนวันนี้ผู้คนหลายส่วนในสังคมอเมริกันมีความรู้สึกคล้ายกันว่า การแสดงความเห็นด้วย “ทวีตเตอร์” ของทรัมป์นั้น เป็นดังการ “ขยายปากแผล” ให้สังคมอเมริกันต้องเจ็บปวดและเสียเลือดมากขึ้นไปอีกกับ “แผลเก่า” เช่นนี้
วิกฤตของทรัมป์
บางคนเปรียบเทียบว่า การพูดของทรัมป์เป็นเหมือนกับ “การทิ้งระเบิด” ใส่ปัญหาให้มีความรุนแรงมากขึ้น มากกว่าจะช่วยแก้ปัญหา เช่น เมื่อเกิดการประท้วงขึ้นที่เมืองมินนิอาโปลิส เขาได้แสดงความเห็นว่าผู้ประท้วงเป็นพวก “อันธพาล” (thugs) และขู่ว่าจะยิง ดังที่เขากล่าวในทวีตเตอร์ว่า “เมื่อการปล้นเริ่มขึ้น การยิงก็จะเริ่มขึ้น” หรือแม้กระทั่งขู่ว่าจะเอา “สุนัขที่ดุที่สุด” มาเตรียมรอรับผู้ประท้วงที่จะมาทำเนียบขาว เป็นต้น
การแสดงออกเช่นนี้ ทรัมป์อาจจะไม่สนใจกับคะแนนเสียงของคนผิวสี และคนผิวขาวที่เป็นเสรีนิยม แม้เขาอาจจะเชื่อว่าจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากคนผิวขาวสายอนุรักษ์นิยมต่อไป แต่การแสดงที่ประธานาธิบดีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า “ไม่รับผิดชอบ” นั้น จึงท้าทายอย่างมากกับการเลือกตั้งที่จะเกิดในตอนปลายปีนี้ … น่าคิดเล่นๆว่า พรรครีพับลีกันจะยังคง “อุ้มทรัมป์” ในการเลือกตั้งนี้อย่างไร และขณะเดียวกันเหตุการณ์นี้ก็เปิดช่องให้ผู้ชิงตำแหน่งจากพรรคดีโมแครตมีประเด็นที่จะใช้ในการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมากขึ้น
นอกจากนี้ การบริหารจัดการโรคระบาดที่เกิดขึ้นของทำเนียบขาวครั้งนี้ ดูจะกลายเป็น “ปัจจัยลบ” ต่อการเลือกตั้งเช่นกัน เพราะยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวนมากกว่า 1 แสน 6 พันคนโดยประมาณ (ตัวเลขของวันที่ 30 พฤษภาคม 2563) และในจำนวนนี้ คนผิวสีเสียชีวิตมากกว่าคนผิวขาวสามเท่า (สัดส่วนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละคือ คนผิวดำ 50.3 คนฮิสแปนิค 22.9 คน คนเอเชีย 22.7 คนผิวขาว 20.7) [คนฮิสแปนิคหมายถึงคนที่มีเชื้อสายจากทางละตินอเมริกา] ปัญหาโควิดจึงสาเหตุสำคัญอีกประการทีทำให้ชุมชนของคนผิวดำมีความรู้สึกถึงความ “ไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรม” ที่เกิดขึ้นในบริบทของการรักษาพยาบาล
อีกทั้ง สถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังเกิดในขณะนี้ยังเป็นการซ้อนทับลงบนปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19 อันก่อให้เกิด “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผลจากโรคระบาดนั้น ทำให้คนอเมริกันมากกว่า 41 ล้านคนตกงาน พร้อมกันนี้คนหนึ่งในห้าในสังคมไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านในเดือนพฤษภาคม (ตัวเลขจากบทความของ Robert Reich อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย) และโรคระบาดยังนำมาซึ่งการล้มละลายของหลายธุรกิจในสังคม จนถึงขนาดที่รัฐสภาอเมริกันต้องอนุมัติเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนสูงถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ($3 trillion) เพราะเกิดความกังวลถึงการก่อตัวของภาวะ “คลื่นของการล้มละลาย” (wave of bankruptcies) … เศรษฐกิจอเมริกันกำลังก้าวสู่วิกฤตที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ประเด็นนี้ได้กลายเป็นปัญหา “วิกฤตเศรษฐกิจ” ที่ดำรงอยู่ทับซ้อนกับ “วิกฤตโควิด” และ “วิกฤตการประท้วง” จนต้องยอมรับว่าทั้งหมดนี้กำลังกลายเป็น “วิกฤตทรัมป์” ที่อาจจะส่งผลอย่างมากต่อการเลือกตั้งอเมริกันที่จะเกิดในช่วงปลายปี 2020
ถ้าทรัมป์เชื่อว่า เศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพาเขากลับสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งแล้ว เขาจะทำอย่างไร เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายครั้งใหญ่ … เขาจะทำอย่างไรกับความรู้สึกของคนจำนวนมากในสังคมที่มองว่า เขาไร้ประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรคระบาด … เขาจะทำอย่างไร เมื่อการประท้วงขยายตัวเป็นความรุนแรงขนาดใหญ่ในหลายเมือง และหลายคนมองว่า ส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่มากขึ้นมาจากการใช้คำพูดแบบไม่รับผิดชอบของประธานาธิบดีเอง อันทำให้หลายฝ่ายไม่ยอมรับต่อสถานะความเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ (Trump’s Presidency) และมองว่าประธานาธิบดีไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา แต่เป็นตัวปัญหาหลักของความรุนแรงที่เกิดในครั้งนี้
การเลือกตั้งในอนาคต
สภาวะเช่นนี้กำลังท้าทายประธานาธิบดีทรัมป์อย่างมากว่า เส้นทางกลับสู่ทำเนียบขาวในการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2563 อาจจะไม่สวยหรูดังที่คิด และในทำนองเดียวกันก็อาจจะมีอุปสรรคขวากหนามมากกว่าที่คิดด้วย … น่าสนใจว่า ทรัมป์จะมีอะไรเป็น “ความมหัศจรรย์” ที่จะเป็นดังราชรถพาเขาเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง นอกจากนี้ในทางการเมือง ทรัมป์จะรอดจาก “สงครามโควิด” ที่สังคมสหรัฐกำลังต่อสู้อย่างหนักได้หรือไม่ เพราะการแข่งขันชิงตำแหน่งในครั้งนี้มีสงครามโควิดเป็นภูมิทัศน์ที่สำคัญ และต้องยอมรับว่า ทรัมป์ไม่ประสบความสําเร็จในการจัดการปัญหาโรคระบาดในครั้งนี้
การเลือกตั้งสหรัฐ 2563 จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามอย่างยิ่งประการหนึ่งในอนาคต เพราะไม่เพียงจะมีนัยถึงทิศทางการเมืองภายในของสังคมอเมริกันเอง หากยังมีผลอย่างสำคัญต่อทิศทางการเมืองโลกในยุคหลังโควิด ที่ยังคงมีประเด็นเรื่องการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่คือ สหรัฐกับจีนนั้น เป็นแกนกลางของปัญหาเสถียรภาพในระบบระหว่างประเทศในอนาคตด้วย