ลัทธิพาณิชย์นิยมกับการกลับมามีอิทธิพล ต่อนโยบายต่างประเทศของมหาอำนาจ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
ลัทธิพาณิชย์นิยมกับการกลับมามีอิทธิพล
ต่อนโยบายต่างประเทศของมหาอำนาจ
หลังยุคสงครามเย็น หลายฝ่ายก็ตั้งความหวังว่าโลกจะได้กลับมาสู่ความสันติสุขโดยแท้จริง แต่เหตุการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม นั่นคือเกิดสงครามแบบยืดเยื้อขึ้นในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อุดมไปด้วยเหล่าทรัพยากรที่มีค่าสูง เช่น น้ำมัน โคบอล ลิเธียม
แม้การแข่งขันในเรื่องลัทธิ คือ การต่อสู้ระหว่างลัทธิเสรีประชาธิปไตย กับลัทธิคอมมิวนิสต์จะคลายตัวไปมาก เพราะจีนที่เป็นเจ้าลัทธิคอมมิวนิสต์ประเทศหนึ่งได้มีการผสมระบบระหว่างระบบของคอมมิวนิสต์กับระบบของทุนนิยมที่มีพื้นฐานในโลกเสรีประชาธิปไตย กลายมาเป็นระบบผสมผสานที่อาจเรียกว่าระบบทุนนิยมที่ชี้นำโดยรัฐวิสาหกิจ ส่วนรัสเซียภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ก็มีการขายรัฐวิสาหกิจให้กับภาคเอกชน ซึ่งเข้ามาตักตวงผลประโยชน์อย่างมหาศาลจนประเทศแทบล่มสลาย สุดท้ายรัฐบาลยุคหลังคือสมัยวลาดิเมียร์ ปูติน รัฐบาลก็กลับมากอบกู้รัฐวิสาหกิจ และฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้มีดีกรีของทุนเสรีมากขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นก็คือประเทศทั้งสองยุติการส่งออกลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้นดังที่เคยทำมา แต่หันไปเน้นในเรื่องเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูประเทศและสร้างความเข้มแข็งทางการค้าระหว่างประเทศ
ปรากฎว่าจีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจโดยสร้างความร่วมมือกับประเทศตะวันตกในการดูดซับเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาต่อยอด
อาศัยที่จีนมีตลาดใหญ่ด้วยประชากร 1,300 ล้าน ทำให้เป็นที่สนใจต่อประเทศที่จะมาร่วมลงทุน ซึ่งจีนก็ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการผลิตเพื่อการส่งออก ทำให้จีนเติบโตอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 10% ต่อปี จนมาเกิดสงครามการค้า ซึ่งทำให้อัตราการเติบโตชะลอตัวลงเหลือประมาณ 7% ต่อปี
ด้านรัสเซียก็มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่หวือหวาอย่างจีนก็ตาม
ในทางตรงข้ามสหรัฐฯและกลุ่มประเทศตะวันตกยกเว้นเยอรมันต่างประสบกับการถดถอยทางเศรษฐกิจมาโดยลำดับ
นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯและสหราชอาณาจักรหันมาตื่นตัวที่จะพลิกกระแสให้ตนได้กลับมายิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ด้วยการนำเอาแนวคิดของลัทธิพาณิชย์นิยมกลับมาใช้อีก
ทั้งนี้ลัทธิพาณิชย์นิยมก็คือแนวคิดที่เป็นที่นิยมมากในหมู่ประเทศตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 16-18 นั่นคือ การขยายตลาดการค้าของตน โดยมีเป้าหมายที่จะขายสินค้าส่งออกให้มากที่สุดและกีดกันการนำเข้าอย่างถึงที่สุด
ด้วยแรงผลักดันที่มาพร้อมกับการเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในอังกฤษและกระจายไปในภาคพื้นยุโรป-สหรัฐฯ ซึ่งทำให้กำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น และต้องการวัตถุดิบมาป้อนโรงงานเป็นจำนวนมาก
นโยบายของประเทศเหล่านี้จึงออกมาในรูปของการล่าเมืองขึ้นเพื่อหาแหล่งวัตถุดิบในราคาถูก และทำนองเดียวกันก็เป็นตลาดระบายสินค้าของตน
ประเทศนักล่าเมืองขึ้นจึงต้องสร้างสมแสนยานุภาพ โดยเฉพาะแสนยานุภาพทางทะเล ซึ่งทำให้ลักษณะภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปจากการยึดใจกลางโลก (Heartland) มาสู่การยึดครองพื้นที่ชายทะเล (Rimland)
อย่างไรก็ตามลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) มาเสื่อมถอยลงในศตวรรษที่ 18 เพราะปรากฏว่าประเทศที่มั่งคั่งจากการล่าอาณานิคม และสะสมเงิน โดยเฉพาะทองคำได้เป็นจำนวนมาก กลับประสบปัญหาการตกต่ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศสเปนที่ถือเป็นมหาอำนาจทางทะเลและการทหารในสมัยนั้น ได้ประสบการณ์ที่ย่ำแย่ นั่นคือเกิดเงินเฟ้อขึ้นในประเทศอย่างรุนแรง ทำให้ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจลดต่ำลงอย่างที่สุด ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางทหารเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ด้วยความต้องการที่จะผยุงอำนาจทางทหารเอาไว้ แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ
แนวคิดเรื่องการค้าเสรีจึงได้เกิดขึ้นและแพร่กระจายโดยรวดเร็ว โดยสำนักคิดทางเศรษฐกิจคลาสิค (Classic School) ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำอย่าง Alfred Mashale หรือ David Ricardo เป็นต้น ซึ่งทำให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว และถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ
เมื่อแต่ละประเทศพยายามที่จะขยายตัวทางการค้าในที่สุดก็เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นมหาอำนาจอันนำไปสู่สงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง
จวบจนการเข้าสู่ยุคสงครามเย็น เกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างลัทธิเสรีประชาธิปไตยและลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ด้วยระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีทำให้กลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ประสบความพ่ายแพ้ และเลิกส่งออกลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเป็นนัยสำคัญ
เมื่อสิ้นยุคสงครามเย็น สหรัฐฯกลายมาเป็นผู้นำเดี่ยวและได้ปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของตน จากการมุ่งแนวทางสร้างความมั่นคงเพื่อปกป้องโลกเสรีจากภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งแน่นอนก็เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
สหรัฐฯหันมาประเมินใหม่ว่า การไปมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของตนตกต่ำลง จึงเริ่มหันเหทิศทางมาสู่แนวทางของลัทธิพาณิชย์นิยมใหม่ (Neomercantilism)
แต่แทนที่จะเน้นการส่งออกสินค้าทั่วไป ซึ่งสหรัฐฯพบว่าความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยเฉพาะค่าแรงที่สูงขึ้นมาก สหรัฐฯจึงหันไปเน้นการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ตนเองมีขีดความสามารถสูง
การส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์จะทำได้ดีก็ต่อเมื่อเกิดความไม่มั่นคงในแต่ละภูมิภาค และเพื่อตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญก็ต้องสร้างภาวะสงครามให้เกิดขึ้น นั่นคือ นำโลกมาสู่ภาวะ “สันติภาพร้อน” (Hot Peace)
พอเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯก็ยิ่งนำเอาแนวคิดแบบพาณิชย์นิยมมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ นั่นคือการไล่เช็กบิลการขาดดุลการค้ากับประเทศทั้งหลาย ซึ่งประเทศสำคัญที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ามากที่สุดคือจีน
นั่นคือที่มาของการทำสงครามการค้ากับจีน จนกระเทือนไปทั้งโลกพร้อมกันนี้ก็ไล่ตัด GSP กับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งเดิมสหรัฐฯให้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของแต่ละประเทศ สร้างพันธมิตรโดยหวังปิดล้อมประเทศคอมมิวนิสต์
ประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ จึงควรพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวนโยบายต่างประเทศของตนเสียใหม่ ไม่ใช่ยึดติดกับแนวคิดเดิมๆ ที่ไปพึ่งพิงนโยบายเดิมของสหรัฐฯ แต่มิได้หมายความว่าจะถอยห่างสหรัฐฯและหันไปพึ่งพิงจีน เพราะจีนก็ใช้แนวคิดพาณิชย์นิยมแบบเข้มข้นไม่แพ้สหรัฐฯเพียงแต่เนียนกว่า
ในทางตรงข้ามก็เลิกเพ้อฝันเรื่องภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เสียที เพราะลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ถูกปรับเปลี่ยนและประยุกต์ไปมากแล้ว จนไม่ใช่ภัยคุกคาม เหมือนที่นายปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศพยายามมาโฆษณาชวนเชื่ออีกครั้ง