ข้อสังเกตต่อการกวาดล้างในราชวงศ์ซะอูด
สบาย สบาย สไตล์เกษม
เกษม อัชฌาสัย
ข้อสังเกตต่อการกวาดล้างในราชวงศ์ซะอูด
เมื่อวันที่ ๗ มีนาคมที่ผ่านมานี้ สำนักข่าว”มิดเดิลอีสต์อาย”(เอ็มอีอี) ซึ่งเป็นแหล่งข่าว ที่น่าเชื่อถือในแวดวงข่าวสารตะวันตกและตะวันออกกลาง ในด้านความแม่นยำและถูกถ้วน ได้เผยแพร่ข่าวอีกครั้งว่า การกวาดล้างด้วยการจับกุมกลุ่มเจ้าชายในราชวงศ์ซะอูด ฐานร่วมกันวางแผนโค่นล้มมกุฏราชกุมารโมฮัมมัด บิน ซัลมาน(เอ็มบีเอส) ซึ่งทรงร่วมบริหารประเทศในพระนามกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุล อะซิส อัล ซะอูด(ทรงพระชราภาพและทรงป่วย)ในปัจจุบัน ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง หลังเงียบหายไปพักหนึ่ง
ข่าวแจ้งว่ากองกำลังสังกัดหน่วยราชองครักษ์ได้จับกุมเจ้าชายอะห์มัด บิน อับดุล อะซิส อัลซะอูด พระอนุชาของกษัตริย์(วัย๗๘ พรรษา)และพระโอรสของพระอนุชาสองพระองค์(หลานกษัตริย์)คือเจ้าชายนาเยฟ(หัวหน้าหน่วยข่าวกรองทางบกและฝ่ายความมั่นคง) กับพระอนุชา(ต่างพระมารดาของเจ้าชายนาเยฟ) คือเจ้าชายนาวัฟ เอาไปขังไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันศุกร์(๗ มีนาคม) ในข้อหาพยายามโค่นอำนาจ”เอ็มบีเอส” หมายขจัดออกไปให้พ้นจากตำแหน่งมกุฏราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอูดิอาระเบีย ซึ่งเท่ากับเป็นรัชทายาทสืบต่อตำแหน่งกษัตริย์ จากพระราชบิดาซัลมาน นั่นเอง
ข่าวระบุด้วยว่าในการนี้ มีเจ้าชายในราชวงศ์ถูกจับกุมรวมด้วยกันอย่างน้อย ๒๐ พระองค์และหลังจากจับกุมแล้ว มกุฎราชกุมารก็ทรงสั่งให้เข้าชายทั้งหมดในราชวงศ์แสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ให้ปรากฏต่อสาธารณะ ด้วยเขียนผ่านการ”ทวีตเตอร์”ไม่มีการยกเว้นแม้แต่เจ้าชายทั้งสามพระองค์ที่ระบุชื่อข้างต้นด้วย
ข้อสังเกต ณ ที่นี้ก็คือ ความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งโค่นกษัตริย์ทั้งระบบ เพียงแต่มุ่งโค่นบุคคลคือ เจ้าชายซัลมานที่รู้จักกันในนาม“เอ็มบีเอส”เท่านั้น
ผมเองเคยเขียนถึงความเคลื่อนไหวในราชวงศ์ซะอูดเมื่อปลายปีที่แล้ว ในคอลัมน์นี้ คาดหมายล่วงหน้าเอาไว้ว่า จะเกิดการแย่งชิงอำนาจกันเองระหว่างพี่ๆน้องๆลูกๆหลานๆ ในราชวงศ์ หลังปรากฏข่าวผ่านสำนักข่าว“เอ็มอีอี” ในช่วงนั้น ว่าเจ้าชายอะห์มัด บิน อับดุล อะซิส อัลซะอูด (พระอนุชาองค์เล็กของกษัตริย์ซัลมาน)ทรงแอบเดินทางจากการลี้ภัยในอังกฤษกลับไปยังซาอูดิอาระเบีย โดยมีเจ้าหน้าที่อังกฤษและสหรัฐร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อรักษาความปลอดภัย
การเดินทางไปครั้งนั้น ตามข่าวระบุว่าเพราะเจ้าชายอะห์มัดทรงไม่พอพระทัยพฤติกรรมของมกุฎราชกุมารเอ็มบีเอส ที่ทรงเลือดร้อน ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ซึ่งแสดงออก เช่น ในกรณีสั่งสังหารโหดแยกชิ้นส่วนร่างกายทำลายหลักฐานนักข่าว-นักวิจารณ์ปากกล้าชาวซาอุ”จามาล คาช็อกกี”ที่สถานกงสุลซาอูดิอาระเบียในนคร”อิสตันบูล”แม้จะทรงมีแผนที่จะปฏิรูปประเทศซึ่งจะน่าเป็นผลดีกับชาติ เพื่อสรรสร้างความทันสมัยก็ตามที
นอกจากนั้น ก็ทรงต้องการขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารเอง หรือหาคนอื่นที่เหมาะสมขึ้นแทน เอ็มบีเอส
นั่นก็หมายความว่าเจ้าชายอะห์มัด มิได้ทรงคิดก้าวพ้นจากระบอบกษัตริย์แต่อย่างไร แต่ยังจะทรงรักษาระบอบเดิมเอาไว้
นอกจากนั้นแล้ว ผมก็ยังตั้งข้อสงสัยตอนนั้นว่า ข่าวนั้นจะเป็นจริง ก็ต่อเมื่อมีข่าวตามมา ถึงความเคลื่อนไหวของเจ้าชายและก็มีขึ้นแล้วจริงๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้
มีคำถามต่อไปว่า เอ็มบีเอส จะทรงจัดการกับเจ้าชายอะห์มัดกับพวกอย่างไร ในแง่กฎหมาย ซึ่งคาดหมายได้ยากมาก แม้มีข่าวที่ไม่ยืนยันว่า ความพยายามที่จะโค่นล้มครั้งนี้ มีมหาอำนาจต่างชาติ รวมทั้งอเมริกาและอื่นๆ ร่วมในการวางแผนด้วย แต่รัฐบาลซาอุฯ ก็ไม่ได้ยืนยันข่าวในเชิงกล่าวหานี้ กลับรูดซิบปากเงียบไม่ให้รายละเอียดอะไรต่อการกวาดล้างจับกุม
ข้อเท็จจริงที่สมควรนำมาประกอบการพิจารณากรณีจับกุมกลุ่มเจ้าชายครั้งนี้ก็คือ เหตุเกิดขึ้นในช่วงที่ซาอูดีอาระเบีย กำลังเผชิญกับสองปัญหาใหญ่เฉพาะหน้าคือ การแพร่ระบาดของโรค”โควิด-19”(ทำให้ต้องงดวีซาท่องเที่ยวและวีซาอุมเราะห์-การแสวงบุญนอกเทศกาลฮัจญ์)และกรณีราคาน้ำมันโลกลดราคาลงอย่างมหาศาลกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องส่งผลกระทบต่อภาวะเศษรฐกิจโดยรวมอย่างแน่นอน เพราะรายได้ที่ใช้ในการบริหารประเทศส่วนใหญ่ มาจากน้ำมัน(มีรายได้จากน้ำมันราว ๒ ใน ๓) แม้เคยมีรายได้จากการเดินทางไปทำ”อุมเราะห์”และจากการไปทำ”ฮัจญ์”ของมุสลิมต่างชาวชาติในแต่ละปี แต่ก็ไม่เพียงพอ ที่จะนำไปปฏิรูปประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสันได้ เพราะเดิมทีซาอูดีอาระเบียใช้จ่ายเกินตัว ในลักษณะฟุ่มเฟือยทั้งในภาครัฐและเอกชนจนติดเป็นนิสัย ในขณะที่แรงงานซาอุฯเอง ก็ไม่มีความชำนิชำนาญเพียงพอที่จะมาทำงานแทนนี่แรงงานต่างชาติ ที่ยังคงนำเข้า นอกจากนั้น การทำสงครามในเยเมนกับกบฏ”ฮูธี” ซึ่งต้องใช้จ่ายอย่างมหาศาล ก็ยังคาราคาซังอยู่
บางทีจึงอาจเป็นไปได้ที่ จะยืดเวลาพิจารณาคดีกบฏกลุ่มเจ้าชายที่จับกุมไป ให้เนิ่นนานที่สุด หรือไม่ก็ยกเลิกการตั้งข้อหาไปเลย หากประนีประนอมกันได้ เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว คนกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ ล้วนเป็นญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ จนกว่าวิกฤติการณ์เฉพาะหน้าจะผ่านพ้น
เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในซาอูดีอาระเบียนั้น สำหรับใครก็ตาม ที่คาดหวังจะได้เห็นประเทศนี้กลับกลายเป็นประชาธิไตย คงจะต้องตายไปเสียก่อน ที่จะได้เห็นในชาตินี้ เพราะสภาวะการเมืองที่นั่นยังหมุนคว้างคุ้นเคยอยู่กับระบอบกษัตริย์มาเนิ่นนานแต่แรก
ข้อสังเกตก็คือ ดูหมือนระบอบปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชเท่านั้น ที่จะเหมาะสมกับแผ่นดินนี้ ยิ่งกว่าแผ่นดินใด ๆ
แต่ถ้าหากจะสรุปว่า เมืองไทยก็น่าจะเป็นอย่างนั้นด้วย เพราะระบอบประชาธิปไตยแหลกเหลวเละเทะ
ผมถูกรุมกระหน่ำตายคา”เฟซบุ๊ก”แน่ๆ