ส่งคำท้าถึงรัฐบาล “ประยุทธ์”
สบาย สบาย สไตล์เกษม
เกษม อัชฌาสัย
ส่งคำท้าถึงรัฐบาล “ประยุทธ์”
วันนี้ยังไม่เห็นมีประเด็นเด่นอะไร ที่จะเขียนถึง
ก็จะลองเขียนเรื่องที่เป็น”นามธรรม”มาให้อ่าน เผื่อจะได้ข้อคิดอะไร ที่จะทำให้ มีความหวัง หรืออย่างน้อย ก็จะช่วยให้มองอนาคต ในแง่ดีงามบ้าง
ไม่เอาจริงเอาจังชนิดที่ “เอาชนะ-เอาแพ้”หรือ”เอาเป็น-เอาตาย”ให้ได้ อย่างที่เห็นการฟาดฟันกันในประเด็นทั่วไป
โดยยกเอามาพูดเพียงหัวข้อเดียวคือ “ประชาธิปไตย” อันเป็นระบอบการปกครองที่เชื่อกันอย่างฝังหัวว่า จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้อยู่ใต้ระบบ ได้มากกว่าระบบอื่นใดทั้งหลายแหล่ ที่กำหนดเรียกหาเอาไว้ ในวิชารัฐศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ต้องขออนุญาตไว้เป็นการล่วงหน้า ว่าหากข้อเขียนนี้ เกิดไปล้ำเส้นใคร ตรงไหนและอย่างไรเข้า ก็ต้องขออภัยล่วงหน้าเอาไว้ อย่ามาเอาเรื่องเอาราวกับผม(ผู้เขียน)
เพราะจะเป็นการเปิดหัวใจพูด ตามที่ชาวบ้านไปอยากพูด อยากจะแสดงออก ตามสิทธิเสรีภาพ ด้วยทัศนะส่วนตัวเท่านั้น ครับ
ว่าด้วย”สภาวะประชาธิปไตยไทย”ปัจจุบัน
ผมไม่เห็นว่าจะพัฒนาไปถึงไหน หลังจากเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งหลายท่านถือว่า เป็นการบังอาจ”ตีชิง”พระราชอำนาจจากสถาบันกษัตริย์เสียด้วยซ้ำ
ประชาธิปไตยในปัจจุบันนับว่า”ถอยหลังเข้าคลอง”ไปมากๆ เลยก็ว่าได้ หลังจากที่ยึดอำนาจครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา ในนามของ คสช.แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดขึ้นมา เน้นย้ำรายละเอียด อ้างว่าเพื่อป้องกัน”การโกง”และป้องกันการรวมตัวของพรรคการเมืองและนักการเมือง หากสมคบกันเข้ามา”กินเมือง” หรือปล้นชาติ
ในขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ กลับเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ แท้จริงแล้ว เป็นการเอื้อให้ทหารสืบทอดอำนาจผูกขาดยาวนาน ไม่ใช่ประชาธิไตยที่แท้จริง แต่เป็นประชาธิปไตยจอมปลอม เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่ง หรือไม่ถึงครึ่งใบเท่านั้น
จึงต้องหาทางแก้แต่เนิ่นๆ ด้วยการรีบเร่งเดินหน้า หมายแก้ไขรัฐธรรมนูญในทันที ด้วยเกรงว่า”กลุ่มทหาร”จะหยั่งรากลึกมากเกินไป จึง”ตีรวน”ไปเสียแทบจะทุกอย่าง เท่าที่จะทำได้ ไม่ฟังเสียงอะไรทั้งนั้น แม้แต่เสียงสะท้อนจากสถาบันกษัตริย์ ซึ่งส่งนัยเตือนให้หยุดเคลื่อนไหว ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอขอพระราชทานไป ด้วยหวังว่าฝ่ายค้านจะเกรงใจ แต่ฝ่ายค้านก็ยังคงเดินหน้าต่อ หมาย”สั่นคลอน”ความน่าเชื่อถือในตัว พล.อ.ประยุทธ์ โดยขอเปิดอภิปรายในประเด็น”ถวายสัตย์ปฏิญาตนเข้ารับตำแหน่ง” ที่แม้จะมีการส่งเรื่อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญ”ตีความ”แล้วว่าเป็น”โมฆะ”หรือไม่ ก็ไม่รอฟังผล ซึ่งคงจะเล็งไว้ว่า ยังไงๆ ศาลรัฐรรมนูญ ก็ต้องชี้ขาดในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองแน่ๆ
ดังนั้น ฝ่ายค้านจึงขอเปิดอภิปรายไว้ก่อน ไม่สนใจว่าบ้านเมือง จะต้องเดินหน้าต่อทันที โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจโลก ใกล้ตกอยู่ในภาวะถดถอยและไทยก็คงไม่รอดพ้นจากผลกระทบที่จะตามมา ทั้งไม่สนใจด้วยว่าไทยกำลังเผชิญกับภาวะแปรปรวน ด้านดินฟ้าอากาศอันรุนแรง ส่งผลถึงความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างอุกฤษฎ์
สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ ทำให้ผมเองในฐานะราษฎรเต็มขั้นและสื่อมวลชนอิสระ อดคิดไม่ได้ว่า ได้เกิด”การ”แย่งชิงอำนาจ”กันเข้าแล้ว อย่างเอาเป็นเอาตาย ระหว่างสองฝ่าย
คือเป็น”การแย่งชิง”กันระหว่าง กลุ่ม”อีลีท”(ชนชั้นผู้ปกครองและมีอำนาจ)กับ”กลุ่มการเมือง” ที่ชอบอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชน(ซึ่งไม่เป็นจริงเสมอไป)
หากถามผมว่า ทำไมจึงเรียกว่า”การแย่งชิง”
ตอบว่า ก็เพราะ”อำนาจ”ไม่ใช่หรือ ที่เอื้อประโยชน์สูงสุดแก่สองกลุ่มนี้
ดังนั้น ไม่ว่าอำนาจจะมาจากวิธีใด หากได้มาแล้ว ก็จะสามารถกระทำได้ในทุกๆ เรื่อง แต่มักจะอ้างอิงว่า ทำเพื่อราษฎร เพื่อส่วนรวม แต่เอาเข้าจริงแล้วก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน(และพรรคพวก)ด้วย
ตั้งแต่เกิดมา ผมไม่เคยเห็นการใช้อำนาจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของราษฎรส่วนใหญ่ อย่างชัดๆสักครั้ง มีแต่การอ้างว่าทำเพื่อส่วนใหญ่ แต่อีกส่วนก็คือรักษาประโยชน์ของกลุ่มเอาไว้อย่างแนบเนียนและได้ประโยชน์มากกว่า สาธารณชน
ถามว่า ทำไมไม่เกลี่ยผลประโยชน์นั้นอย่างเป็นธรรมเล่า ในเมื่อฝ่ายมีอำนาจกับฝ่ายใต้อำนาจ ต่างก็ต้องคอยค้ำจุนกันภายใต้ระบอบการปกครองเดียวกัน ในการรักษาความเป็นชาติบ้านเมืองเอาไว้
ตอบว่า เพราะความโลภ โกรธ หลง(เห็นแก่ตัว) เป็นตัวการผลักดัน ตามสันดานมนุษย์ที่มีมีกิเลส
แม้แต่ในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งเน้นความเท่าเทียมกัน ก็ไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมได้ คงมีความเหลื่อมล้ำให้เห็นเสมอๆ บางทีก็เหลื่อมล้ำกันมากๆ เสียด้วย ไม่ว่าในรัสเซีย ในจีนหรือในชาติอินโดจีน
ดังนั้น ระบอบการปกครอง ไม่ว่าเป็นประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือเผด็จการ จึงไม่สามารถให้ความเท่าเทียมต่อสังคม ได้อย่างแท้จริง ตรงเผง แต่จะมากบ้างน้อยบ้างเป็นปกติ
จะทำได้อย่างมาก ก็เพียงนิดหน่อยเท่านั้น
ไอ้ที่ตะโกนเรียกร้องประชาธิปไตยปาวๆ ไม่ว่าเป็นในฮ่องกง หรือในเมืองไทย เป็นเพียง“วาทกรรมประดิษฐ์”เท่านั้น ว่าอยากได้สิทธิเสรีภาพเท่านั้นเท่านี้ …เป็นไปไม่ได้หรอกครับ
ที่จะทำได้ ก็แค่พยายามทำให้เกิดความเป็นธรรมมากกว่าเดิมนิดหน่อย ซึ่งต้องใช้เวลา แม้การปฏิวัติรัฐประหาร ก็ไม่ช่วยอะไรได้มาก ตัวอย่างเป็นที่ประจักษ์แล้ว ในเมืองไทยนี่เอง
เพราะประชาธิปไตย ต้องให้มีเวลาค่อยๆพัฒนาอย่างต่อเนื่อง(จากจุดริ่มต้น) นับร้อยๆ ปี ไม่ใช้แคเพียง ๘๐-๙๐ ปี
ถามว่าทำอย่างไร จึงจะช่วยให้การพัฒนาประชาธิปไตยเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยที่จริงแท้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ใช้เงินซื้อได้ง่ายๆ
ตอบว่าจะต้องได้รัฐบาลที่ดี มีคุณธรรม ไม่ฉ้อโกง ไม่เอารัดเอาเปรียบ แต่ใช้อำนาจที่มีอยู่ สร้างระเบียบแบบแผน มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ให้ฝังอยู่จิตสำนึกลึกๆ ซึ่งแน่นอน ต้องใช้เวลา
จะเป็นประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ อย่างสิงคโปร์ก็ได้ เพราะถ้าทำเพื่อส่วนรวมจริงๆและมีความโปร่งใส ชาวบ้านก็พร้อมที่จะยอมรับ จะอยู่นานเท่าไร ก็จะเลือกตั้งเข้ามาทุกทีไป
ถามว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ที่ยั่งยืนในอนาคต คนไทยพร้อมที่จะร่วมมือและยอมรับสภาพนี้ไหม
แล้วรัฐบาล”ประยุทธ์” มีความกล้าและมุ่งมั่น ที่จะทำหรือไม่