ความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย : ในมุมมองของข้าพเจ้า
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
ความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์
แห่งประเทศไทย : ในมุมมองของข้าพเจ้า
เมื่อได้ยินได้ฟังผู้บัญชาการทหารบก พูดถึงคอมมิวนิสต์ ก็ให้รู้สึกว่าท่านคงไม่รู้จักและไม่ได้ศึกษาเรื่องคอมมิวนิสต์มาเพียงพอ จึงดูผิวเผินมาก และไม่น่าจะเข้าใจอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ แต่ก็เอาเถอะท่าน เกิดไม่ทันหรือยังคงเด็กมากๆในช่วงนั้น ครั้นมาเรียนที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าก็คงไม่ค่อยสนใจเรียนเท่าไร คงจะหลับบ่อยๆ เหมือนหลายๆคน ก็เลยมาสับสนปนเปกับแนวคิดของพวกหัวก้าวหน้า หรือฝ่ายซ้ายของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งต่างกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์อย่างสิ้นเชิง
แต่แรงจูงใจอีกประการที่ต้องมาเขียนเรื่องนี้ ทั้งๆที่มันก็เป็นเรื่องนานมาแล้ว ก็เพราะได้มีโอกาสรับเชิญไปในงานคล้ายวันเกิดครบ 72 ปี ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ คุณชายอุ๋ย และได้รับแจกหนังสือ “ในหนึ่งแผ่นดิน” ของท่าน ซึ่งเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าและต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ หรือจดหมายเหตุที่บันทึกจากประสบการณ์ของท่าน
อย่างไรก็ตามในหนังสือดังกล่าวท่านได้บันทึกไว้เกี่ยวกับเรื่องคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นบทสั้นๆที่กล่าวถึงการดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน โดยให้พลเอกชาติชาญ ชุณหวัน เป็นกองหน้าไปเจรจากับท่านนายกจูเอนไล นายกรัฐมนตรีจีน จนพัฒนาไปสู่การพบปะกันระหว่าง ฯพณฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทยกับท่านประธานเหมาเจ๋อตุง และนำไปสู่การที่จีนยุติการให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
แน่นอน ฯพณฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นั้นท่านเป็นคนมีเสน่ห์และมีศิลปะการเจรจาในระดับสูง แต่ที่อยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อคิดในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ คือเบื้องหลังการถ่ายทำ
นั่นคือ การเจรจาการเมืองระหว่างประเทศมันไม่ใช่แค่ผู้นำไปพบกัน เอามือกุมเป้า พูดแค่เยส โน อาห๊ะ แต่มันต้องมีทีมงาน ที่ต้องทำงานอยู่เบื้องหลัง ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ความต้องการของคู่เจรจา นอกเหนือจากเสน่ห์และศิลปะการเจรจาชั้นสูง เพื่อให้ผู้นำเขาเปิดไฟเขียวไปสู่การเจรจาในรายละเอียด
ผู้เขียนจึงขอนำเสนอในภาคส่วนนี้เท่าที่มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ และเป็นมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น
ก่อนจะพูดถึงเบื้องหลังการถ่ายทำ ก็ขอสรุปสถานการณ์การเมืองในขณะนั้นพอสังเขป
กล่าวคือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประสบความสำเร็จอย่างมากในการขยายพื้นที่ปลดปล่อยจากอำนาจรัฐ จนรัฐบาลทหารเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ยิ่งส่งทหารไปปราบก็ยิ่งสูญเสีย ล้มตายและบาดเจ็บพิการก็มาก ทั้งนี้เพราะรัฐบาลเผด็จการนั้นไม่เข้าใจอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และยิ่งเผด็จการรวบอำนาจและเด็ดขาดมากเท่าไร แม้จะได้เปรียบทางทหาร แต่ก็พ่ายแพ้ในทางอุดมการณ์ทางการเมือง
ผู้เขียนเคยนำเสนอให้มีการสอนเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า แต่ผู้บังคับบัญชามองว่าจะไปสอนให้นักเรียนนายร้อยเป็นคอมมิวนิสต์หรือ เกือบถูกตั้งกรรมการสอบด้วยซ้ำ แต่ผู้เขียนก็อธิบายว่า ได้ทำตามยุทธศาสตร์ของซุ่นหวู นั่นคือ “ต้องรู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ก็ชนะร้อยครั้ง” จึงรอดตัวไม่ถูกสอบ แต่ก็ยังไม่มีการสอนเรื่องนี้จนอีกหลายปีต่อมา
กลับมาพิจารณาเงื่อนไขระหว่างประเทศในช่วงนั้น จีนกับรัสเซีย เกิดขัดแย้งกัน ด้วยแนวคิดและทฤษฎีระหว่าง เหมาอิสต์ และเลนินนิสต์ ต่อมาเกิดข้อพิพาทเรื่องดินแดนตามแนวแม่น้ำอุสซารี จนเกิดการปะทะกันทางทหาร ฝ่ายจีนก็เกิดความกลัวว่าโซเวียตรัสเซียจะบุก จึงเตรียมกำลังพร้อมตั้งรับ และคิดทำสงครามยืดเยื้อ
ฝ่ายโซเวียตก็มองว่าถ้ารบกับจีนอย่างเต็มรูปแบบ ก็คงจะต้องสูญเสียทั้งไพร่พลและทรัพยากรอย่างมาก และอาจเป็นช่องทางให้ตะวันตกเข้าโจมตี ในขณะที่ติดพันทางการรบกับจีน จึงมิได้ขยายผลของความขัดแย้ง
ขณะเดียวกันโซเวียตก็สร้างแนวปิดล้อมจีนทางใต้ คือเป็นพันธมิตรกับเวียดนาม และให้การสนับสนุนในการทำสงครามกับสหรัฐฯจนได้รับชัยชนะ ซึ่งก็เป็นบทเรียนอันหนึ่งในการทำสงคราม นั่นคือ เวียดนามอ่อนด้อยกว่าสหรัฐฯมากในด้านกำลังอาวุธ แต่เข้มข้นมากในการทำสงครามการเมืองทั้งภายใน และระหว่างประเทศ แน่นอนจีนเองก็ให้การสนับสนุนเวียดนามด้วย
แต่เวียดนามต้องผนึกกำลังกับโซเวียต เพราะกลัวอิทธิพลของจีน และเคยเข็ดขยาดที่เคยถูกจีนรุกรานมาแล้วในอดีต ซึ่งในขณะนั้นจีนก็มีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ลาว เขมร และไทย
ดังนั้นเมื่อจีนประสบความสำเร็จในการสนับสนุนคอมมิวนิสต์ในลาว และเขมร โดยเฉพาะที่เขมรได้เขมรแดงปกครองประเทศอย่างทารุญโหดร้าย เกิดความหวาดกลัวไปทั่ว และกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนต่อพคท.ด้วย เวียดนามจึงให้การสนับสนุนเฮงสัมริน นำกองทัพมารุกรบขับไล่เขมรแดงจนถอยมาจนมุมอยู่ที่แถบเทือกเขาพนมมาลัยชายแดนไทย และเวียดนามก็ยังขยายอิทธิพลเข้าในลาวด้วยการสนับสนุนนายไกรสร พรหมวิหาร เป็นผู้นำ
จากนั้นเวียดนามก็มีแผนจะรุกไทย ซึ่งตอนนั้นพวกผู้นำและเศรษฐีก็กลัวกันมากต่างเตรียมหนี เพราะเชื่อในทฤษฎีโดมิโนของคิสซิงเจอร์
จีนเองก็ไม่สบายใจเพราะหากเวียดนามครอบงำไทยได้ก็เท่ากับเป็นการสร้างวงล้อมจีนทางใต้ อาจลามไปถึงพม่าก็ได้
ด้วยเหตุนี้เมื่อไทยไปเจรจาสัมพันธไมตรี จึงสมประโยชน์จีนด้วย คือจีนต้องการหยุดอิทธิพลเวียดนาม
คณะทำงานที่จัดทำข้อเสนอกับจีนก็คือฝ่ายยุทธการของศปก.ทบ.ที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าทีม จึงจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเจรจากับจีน
เบื้องต้นจีนต้องการให้ไทยยุติสถานีเรดาร์ค่ายรามสูรของเมกา ไทยก็ขอให้จีนยุติสถานีวิทยุเสียงประเทศไทยของพคท.ที่คุนหมิง ต่อมาจีนขอให้ไทยเป็นตัวกลางส่งกำลังบำรุงให้เขมรแดงที่เป็นรอยต่อไทยกับกัมพูชา ไทยก็ตกลง แต่ขณะเดียวกันเวียดนามก็เตรียมบุกไทย ซึ่งเราก็คงไม่อาจรับมือได้เกิน 3 วัน ตามที่ทราบกันดี
ทางฝ่ายไทยจึงขอให้จีนช่วย ด้วยการทำสงครามสั่งสอนเวียดนามด้วยการเข้าตีทางเหนือ ทำให้เวียดนามต้องถอนกำลังที่เตรียมบุกไทยไปตั้งยันจีนทางเหนือ
ส่วนเรื่องภายในประเทศไทย เมื่อจีนเลิกสนับสนุนพคท.ทำให้การดำเนินงานระส่ำระสาย และแตกกันเอง ในทางแนวความคิด คือ มีกลุ่มดาวเขียวเกิดขึ้นนั่นคือ พคท. สายที่นิยมโซเวียต กับกลุ่มดาวแดงที่นิยมจีน กลุ่มดาวเขียวเห็นว่าถ้าเปลี่ยนค่าย ก็จะมีเวียดนามเป็นหลังพิงจะทำให้เข้มแข็งขึ้น เพราะจีนไม่สนับสนุนแล้ว แต่กลุ่มดาวแดงไม่ไว้วางใจเวียดนาม เกรงว่าจะถูกครอบงำเหมือนลาวและเขมร ความขัดแย้งทางความคิดและความติดขัดในการประสานทางข้าง ซึ่งเป็นข้อห้ามของพคท.และพคจ.ทำให้สุดท้าย พคท.ก็ถอยร่น
นี่จึงเป็นโอกาสที่ไทย โดยการนำเสนอของพลเอกชวลิต ประกาศนโยบาย 66/23 ในสมัย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้สมาชิกพคท.ออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย นั่นคือ เปิดทางถอยแทนการสู้รบหลังชนฝา ฮันรังจะทำให้เกิดการสูญเสีย
เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเพียงการสรุปย่อ และเป็นมุมมองอีกด้านเท่านั้น มันยังมีเหตุการณ์อื่นๆเชื่อมโยง แต่คงจะเพียงพอให้เห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะได้ไม่สับสนกับทั้งแนวคิด อุดมการณ์ และแนวทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่จะทำให้ประเทศอยู่รอดโดยคิดถึงประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ปลอมปนกับประโยชน์ส่วนตัว
ปัจจุบันด้วยอำนาจเศรษฐกิจจีนได้เข้าครอบงำลาวและกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว ส่วนไทยก็ใกล้มากแล้ว