เมาลานา ญะลาลุดดีน รูมี กับอิทธิพลวรรณคดีเปอร์เซีย อดีต/ปัจจุบัน/อนาคต ตอนที่ 1
เมาลานา ญะลาลุดดีน รูมี กับอิทธิพลวรรณคดีเปอร์เซีย
อดีต/ปัจจุบัน/อนาคต ตอนที่ 1
ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิสลามและอิหร่านศึกษา วทส.
ภาษาเปอร์เซียถือว่าเป็นมรดกอันยิ่งใหญ่ของโลก เป็นภาษาเก่าแก่ภาษาหนึ่งของประเทศอิหร่านและได้ถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ประชาชนได้สนทนาและพูดคุยด้วยภาษาเปอร์เซีย และภาษาเปอร์เซียยังถือว่าเป็นสื่อของการแสดงออกทางความคิดและทางศาสตร์ต่างๆ ศิลปะและวรรณคดี โดยเป็นแหล่งกำเนิดจากภาษาเปอร์เซียเอง ไม่ได้ส่งผ่านมาจากวัฒนธรรมอื่น
ภาษาเปอร์เซียได้สะท้อนถึงอัตลักษณ์ความงดงามทางภาษาและทางจิตวิญญาณผ่านกวีผู้ยิ่งใหญ่หลายต่อหลายท่าน ที่พวกเขาได้เลือกใช้ภาษากวีนั้นเป็นภาษาเปอร์เซีย เป็นการบ่งบอกถึงแม่แบบทางศิลปะและวัฒนธรรมที่งดงามอันทรงคุณค่า
ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาในตระกูลอินโด-ยูโรเปียน ในกลุ่มภาษาอิหร่านที่รวมถึงภาษาเคิร์ดและปาชตูหรือปุคตุนของชาวปาทาน ถือเป็นหนึ่งในบรรดาภาษาของวรรณคดีอิสลามและได้รับความนิยมในโลกมุสลิมระดับต้นๆภาษาหนึ่งมิได้เกี่ยวดองอะไรกับภาษาอาหรับ เพราะมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่เฉพาะและน่าสนใจจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว
นับจากคริสตศตวรรษที่ 7 อันเป็นช่วงเวลาที่ชาวอาหรับออกจากคาบสมุทรอาระเบียพร้อมกับศาสนาอิสลามและกระจายไปทั่วทุกสารทิศเพื่อนำศาสนาและศรัทธาใหม่นี้ไปมอบให้แก่ผู้คนในอาณาจักรต่างๆที่อยู่รายรอบอาระเบีย อาณาจักรเปอร์เซียเป็นส่วนหนึ่งที่ชาวอาหรับมุสลิมได้ผนวกไว้ในโลกอิสลาม แต่ความที่เปอร์เซียเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่มานานนับพันปีทั้งภาษาเปอร์เซียเองก็ผ่านพ้นพัฒนาการมาอย่างยาวนาน เพียงแต่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 650-900 นั้นเป็นช่วงเวลาที่ไม่ปรากฎผลิตผลทางวรรณคดีที่ชัดเจนเนื่องจากภาษาอาหรับได้เข้ามาแทนที่ภาษาเปอร์เซียในฐานะภาษาของชนชั้นปกครองและวัฒนธรรม การใช้ภาษาเปอร์เซียในแวดวงวรรณคดีวัฒนธรรม หรือภาษาสาหรับพูดจาสื่อสารยังมีอยู่แต่จำกัดขอบเขตอยู่เพียงในกลุ่มชาวเปอร์เซียผู้นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ (ดร.อณัส อมาตยกุล :วรรณคดีเปอร์เซีย)
ในตอนปลายของคริศตศตวรรษที่ 9 บทบาทของภาษาอาหรับเริ่มลดน้อยลงไปเป็นลำดับ ขบวนการฟื้นฟูศิลปวิทยาการเปอร์เซียเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 10 โดยภาษาเปอร์เซียแจ้งเกิดใหม่อีกครั้งโดยยอมใช้พยัญชนะอาหรับทำให้ดูกลมกลืน ส่วนไวยากรณ์ที่เคยยุ่งยากซับซ้อนก็ได้รับการปรับให้ง่ายขึ้น ยอมรับเอาคำในภาษาอาหรับจำนวนมากเข้ามาใช้ ก่อกำเนิดภาษาเปอร์เซียในรูปลักษณ์และกลิ่นอายใหม่ที่ต่อมาได้กลายเป็นภาษาของศิลปะ การปกครอง วรรณคดี และการศึกษาทั้งภายในอิหร่านเองและภายนอกแผ่นดินเปอร์เซียและสามารถดำรงค์ความเป็นภาษาแห่งวัฒนธรรมชั้นสูงอยู่ในอิหร่านได้จนถึงปัจจุบัน(ดร.อณัส อมาตยกุล :วรรณคดีเปอร์เซีย)
นักปราชญ์หรือนักการศาสนาที่ได้มีความรู้ด้านการเขียนตำราเป็นภาษาเปอร์เซียและมีความชำนาญในภาษาเปอร์เซียไม่น้อยทีเดียว จึงทำให้เกิดโอกาสที่ดีและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในด้านภาษาเปอร์เซีย เพราะว่าภาษาอาหรับและวรรณกรรมอาหรับได้ใหล่บ่าเข้าสู่วรรณคดีเปอร์เซียและยังได้เข้ามามีบทบาทในภาษาเปอร์เซียอย่างมาก จะเห็นได้ว่าภาษาอาหรับหลายพันคำทีเดียวถูกนำไปใช้ในภาษาเปอร์เซีย ทำให้ภาษาเปอร์เซียเพิ่มความเข้มข้นและเข้มแข็งไปอีกระดับหนึ่ง จนปรากฏเกิดวรรณคดีเปอร์เซียที่น่าทึ่งและน่าสนใจทีเดียว และต่อมาทำให้วรรณคดีเปอร์เซียได้รับการสนอกสนใจจากนักปกครองและจากชาวต่างชาติ เพราะว่าได้พัฒนาตัวเองถึงขั้นสูงส่งกว่าวรรณคดีอาหรับ เพราะเหตุว่ารูปแบบและการวางตัวอักษรและการเขียนบกวีเปอร์เซีย นั้นมีความอ่อนโยนและได้รับการขัดเกลาทางภาษามาเป็นเวลาช้านาน จึงทำให้ภาษาเปอร์เซียมีท่วงทำนองทีไพเราะและหวานซึ้ง จนต่อมากลายเป็นวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ
ผลของวรรณคดีเปอร์เซียที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีบทบาทในเชิงบวกตลอดมา กล่าวกันว่าในอินเดียสมัยการปกครองราชวงศ์โมกุลได้นำภาษาเปอร์เซียมาเป็นภาษาราชการในราชสำนัก และยังคงใช้เป็นภาษาราชสำนักจนจนกระทั่งปลายคริสตศักราชที่๑๙ หรือแม้แต่วรรณคดีตุรกี โดยเฉพาะในบทกวีนับว่าได้รับอิทธิพลจากกวีเปอร์เซียอย่างมากทีเดียว
วรรณคดีเปอร์เซียมีความน่าสนใจทั้งรูปลักษณ์และเนื้อหา ชาวเปอร์เซียได้นำรูปลักษณ์แบบ”ฆาซัล”(เป็นรูปแบบที่อาหรับได้ใช้ในการเขียนบทกวี) โดยที่ปราชญ์เปอร์เซียได้นำมาพัฒนาและสร้างความก้าวหน้า จนกลายเป็นรูปแบบที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง บทกวีที่เขียนออกมาในลักษณะ”ฆาซัล” จะรำพันถึงลำนำแห่งความรักเป็นบทสั้นๆ หรือเป็นบทกวีที่แสดงออกถึงด้านอภิปรัชญา(Meta-Physics)และด้านรหัสยนัย(Mystics)ด้านซูฟีและการจาริกสู่พระเจ้า หรือการรำพันค่ำครวญถึงเรื่องการจากไปของกาลเวลา หรือการจากไปของคนรัก ซึ่งจะประจักษ์พยานจากบทกวีใน “ดีวาน ฮาฟิซ”หรือที่โด่งดังที่สุดคือ”มัษนะวี” วรรณคดีเปอร์เซีย ของเมาลานา รูมี
เมาลานา ญะลาลุดดีน รูมี
อิหร่านถือว่าอู่อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก เพราะเป็นแหล่งก่อเกิดอารยธรรมและวัฒนธรรมในด้านต่างๆหลากหลาย โดยเฉพาะด้านทางด้านศิลปกรรมและวรรณคดี เปรียบเสมือนเพชรเม็ดใหญ่ที่เต็มไปด้วยประกายแสง เป็นแหล่งก่อเกิดคติธรรมสอนใจและเป็นแหล่งที่พบปะของอารยธรรมที่หลากหลาย
เมาลานา ญะลาลุดดีน มุฮัมมัด รูมี ( جلالالدین محمد رومی) เป็นกวีเอกของอิหร่าน เกิดที่เมืองบัลค์เมื่อ ค.ศ. 1207 ซึ่งสมัยนั้น อยู่ภายใต้การปกครองของมุฮัมมัด ชาห์แห่งควาร์ชมา ต่อมา ครอบครัวของรูมีได้ออกจากเมืองบัลค์ไปกับบิดา โดยได้อพยพออกไปเพราะปัญหาศึกสงครามไปอยู่ที่เมืองซารันเดห์ในตุรกีและเมืองรูมที่เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเซลญูกและหนึ่งจากสาเหตุที่เรียก เมาลานา ญะลาลุดดีน ว่า”รูมี”เนื่องจากเขาได้ไปพักนักและอาศัยอยู่ในเมืองรูม ประเทศตุรกี
เมาลานา รูมีได้ศึกษาลัทธิซูฟีจากบิดาของเขาเอง และอีกท่านหนึ่งคือเชคบูรฮานุดดีน ติรมีซี จนได้เป็นผู้รู้ทางศาสนาคนหนึ่ง ต่อมาเมาลานารูมีได้พบกับชัมส์ ตับรีซี ซึ่งทั้งคู่สนิทสนมกันมากเป็นทั้งครูและทั้งเพื่อน ต่อมา ชัมส์ ตับรีซีได้หายสาบสูญ ทำให้เมาลานา รูมีจึงแต่งบทโอดครวญเพื่อระลึกถึงชัมส์ที่เรียกว่า”ดิวานชัมส์ตับรีซี” ต่อมา ซอลาซุดดีน ซาร์กูบ และฮุสซามุดดีน เชะเลบี ถือว่าเป็นคนสำคัญของเมาลานา รูมี ได้ช่วยเหลืองานด้านจิตวิญญาณและแนวทางซูฟี แต่ทว่าทั้งสองได้เสียชีวิตลงอีก เมาลานา รูมีโศกเศร้ามาก ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของชีวิต และรูมีได้เขียนบทกวีที่ยิ่งใหญ่ชื่อ “มัษนาวี”เป็นบทกวีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เราคงจะได้นำมาอรรถาธิบายกันในตอนต่อๆไป และเมาลานา รูมีเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1273 และได้นำร่างของเมาลานา รูมีไปฝัง ณ เมืองกูนีเยะหรือที่รู้จัก เมืองคอนย่า(โคเนีย) ประเทศตุรกี รวมอายุได้ 66 ปี
บทกวีของเมาลานา รูมี อยู่ในรูปแบบรหัสยนัยที่ใฝ่ทางจิตวิญญาณ ผูกพันด้านศาสนาและแนคิดนิยมความลี้ลับตามแบบลัทธิซูฟี
อิทธิพลเมาลานา รูมีและฐานะภาพความสูงส่งของเขาในโลกอิสลามได้ถูกกล่าวขานไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลงานด้านวรรณคดีของรูมีถูกแปลออกเป็นภาษาต่างๆมากมาย ไม่ว่าภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ ภาษาอุรดู ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน หรือแม้แต่ภาษาไทยก็ยังได้มีผู้หลงใหลนำบทกวีของรูมีมาแปลและเผยแพร่ ถึงแม้ว่าในสังคมไทยไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเหมือนกับโลกตะวันตกก็ตาม
เมาลานา รูมี นามอุโษกนี้ได้กระจ่อนกระจายไปทั่วทุกมุมของโลก ทำให้วรรณคดีเปอร์เซียได้เข้าไปมีอิทธิพล ไม่ว่าในตุรกี ในอินเดีย หรือในโลกอาหรับ และทำให้บทกวีรูมีได้ถูกกล่าวขานอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศตุรกี
เมาลานา รูมี เป็นนักกวีชาวอิหร่านที่ยิ่งใหญ่ มีผลงานดีเด่นในทางวรรณคดี ซึ่งชาวตะวันตกได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่สองร้อยกว่าปีที่แล้วเลยทีเดียว เซอร์ วิลเลี่ยม โจนส์(ค.ศ.๑๗๔๖-๑๗๙๔)ได้เริ่มศึกษาภาษาเปอร์เซียและวรรณคดีเปอร์เซียจากหนังสือดีวานฮาฟีซ หลังจากนั้นได้มีนักวิชาการชาวตะวันออกจำนวนไม่น้อยที่หันมาสนใจวรรณคดีเปอร์เซีย และหนึ่งในนั้นคือ วรรณคดีของรูมี ดังที่ได้มีคำกล่าวว่า”มัษนะวี”ของเมาลานา รูมี คือ อัลกุรอานฉบับภาษาเปอร์เซีย หรือบางคนถึงกับยกย่องว่า มัษนะวี คือวิญญาณแห่งคัมภีร์อัลกุรอานเลยทีเดียว