jos55 instaslot88 Pusat Togel Online จีน-อินเดียและยุคสมัยของการทูตสามเหลี่ยม (1998-2008) - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

จีน-อินเดียและยุคสมัยของการทูตสามเหลี่ยม (1998-2008)

จรัญ มะลูลีม

ความสัมพันธ์จีน-อินเดียจากความห่างเหินสู่ความชิดใกล้

การเดินทางไปเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีอินเดียในปี 1988 นับเป็นจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและจีนที่สำคัญ   การพบปะกันในครั้งนั้นได้สร้างความเข้าใจอันดีต่อกระบวนการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไปสู่ระดับปกติ   การกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียและจีนนั้น   สิ่งจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจ  ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ    รวมทั้งทัศนวิสัยของทั้งสองประเทศ ในช่วงปี 1990-1991 ระบบระหว่างประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ภายใต้ผลกระทบขององค์ประกอบต่างๆ  กล่าวคือ การสิ้นสุดลงของสงครามเย็น  และระบบสังคมนิยมในประเทศแถบยุโรปตะวันออก  การยุติลงของสนธิสัญญาวอร์ซอร์  การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต  การรวมประเทศของเยอรมนีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ  สังคม และการเมืองของกลุ่มประชาคมยุโรป  ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสหภาพยุโรป (European Union) หรือ EU

การฟื้นตัวของญี่ปุ่นจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ  อำนาจที่เริ่มปรากฏตัวขึ้นของอาเซียน (ASEAN)   การฟื้นฟูขึ้นมาของการเมืองแนวทางอิสลาม (Political Islam) ในแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียกลาง  และที่สำคัญคือการปรากฎตัวของสหรัฐอมริกาที่เป็นเสมือนมหาอำนาจผู้เดียวในเวลานั้น[1]

นอกจากนี้จีนยังต้องทนรับแรงกดดันอย่างหนักจากประเทศตะวันตกในกรณีสิทธิมนุษยชน  ดังนั้น ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของจีนที่มีต่ออินเดียสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. จีนได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์แล้วว่านโยบายที่เคยใช้ปฏิบัติต่ออินเดียในช่วงปี 1955-1977 นั้นส่งผลให้อินเดียต้องหันหน้าเข้าหาอดีตสหภาพโซเวียต และความสัมพันธ์ที่เน้นแฟ้นระหว่างรัสเซียและอินเดียยังทำให้เกิดสภาวะที่ตีบตันทางด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ของอินเดียและจีนอีกด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้  เมื่อสหรัฐอเมริกาและอินเดีย  พยายามพัฒนาความสัมพันธ์ให้แนบแน่นยิ่งขึ้นภายหลังสงครามเย็นทำให้จีนไม่ต้องการผลักดันให้อินเดียเข้าใกล้สหรัฐอมริกามากจนเกินไป
  2. ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับอินเดียในอดีต ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศโลกที่สามอื่นๆ
  3. อินเดียเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาทางด้านอำนาจและจีนไม่สามารถเพิกเฉยได้
  4. จีนสามารถรับแรงกดดันจากตะวันตกในกรณีนโยบายของจีนต่อทิเบต และสิทธิมนุษยชนได้โดยการสร้างสัมพันธ์อันดีกับอินเดีย   เพราะอินเดียได้ให้การยอมรับจีนในกรณีทิเบต  และเริ่มแสดงท่าทีที่อ่อนลงในบทบาทของจีนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
  5. ในสภาวะเศรษฐกิจเสรีนิยม จีนสามารถขยายความสัมพันธ์ด้านการค้า อุตสาหกรรม วัฒนธรรมและการทหารกับอินเดียได้

สำหรับอินเดียภายหลังจากได้รับเอกราช  อินเดียตัดสินใจพัฒนาความสัมพันธ์ในระดับสูงต่อจีนอินเดียให้การยอมรับคอมมิวนิสต์จีน  และสนับสนุนให้เข้าสู่สหประชาชาติ    รวมทั้งเป็นสมาชิกถาวรในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ   การลงนามในข้อตกลงทิเบตและหลักปัญจศีลกับจีน  แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็ประสบปัญหา   เมื่อจีนแสดงท่าทีสนับสนุนปากีสถานในความสัมพันธ์ทุกด้าน

อย่างไรก็ตาม  ก้าวสำคัญของการขยายความสัมพันธ์ระดับพหุภาคีระหว่างอินเดียและจีน  ได้มีขึ้นโดยทั้งสองฝ่ายฟื้นฟูการค้าขายแถบชายแดน   ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ร่วมกัน[2]

ทั้งนี้อินเดียได้ให้คำมั่นว่าจะไม่อนุญาตให้ชาวทิเบตดำเนินกิจกรรมต่อต้านจีนในอินเดีย   และยอมรับว่าทิเบตเป็นเขตปกครองอิสระของจีน  ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความต้องการด้านความร่วมมือในระดับสูงในด้านการค้า  วัฒนธรรม  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้อินเดียและจีนได้ขยายความร่วมมือไปสู่การศึกษา พลังงาน กสิกรรม และสุขภาพอนามัย

ในปี 1993 อินเดียและจีนได้ตกลงร่วมกันในการเปิดพรมแดนเพิ่มที่จุดชิบกี (Shipki La Pass) ในรัฐหิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh) นอกเหนือไปจากจุดลิปูเล็กห์ Lipu Lekh เพื่อการค้าและเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาพรมแดนทีละขั้นตอน  และต่อมาในปี 1995 ได้มีการเปิดพรมแดนเพิ่มขึ้นอีกสองจุดที่ชายแดนนาตูลา (Nathula) และสิกขิม (Sikkim) ส่วนในปี 1994 อดีตรองประธานาธิบดี นารายานัน (K.R.Narayanan) เดินทางเยือนจีน      ในระหว่างการเยือนนั้นทั้งสองฝ่ายได้แสดงเจตจำนงในการกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับพหุภาคี   และลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการธนาคารและกงสุลเพิ่มเติม

ดังนั้นในช่วงปี 1991-1996 ทั้งอินเดียและจีนต่างก็พยายามรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่มั่นคงหลากหลายรูปแบบมากขึ้น   แต่ทั้งสองประเทศได้ประสบกับปัญหาที่รุนแรง   เนื่องจากอินเดียทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จในปี 1998 และได้ประกาศตนเองเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์   จากเหตุการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์ของอินเดียและจีนเต็มไปด้วยความตึงเครียด      ในขณะเดียวกัน นายจอร์จ เฟอร์นันเดซ (George Fernandes) อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอินเดียในเวลานั้น   ได้เปิดแถลงการณ์ว่าอินเดียรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยที่ได้แผ่ขยายมาจากจีน    และยังได้ระบุด้วยว่าจีนเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของอินเดีย[3]

ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายยังคงพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า และเมื่อนายกรัฐมนตรี อตัล พิหารี วัชปายี (Atal Bihari Vajpayee) ของอินเดียได้พบปะกับทะไล ลามะ ผู้นำของทิเบต การพบปะครั้งนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากจีนถึงการที่ทะไล ลามะไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมด้านการเมืองในอินเดีย   จีนรู้สึกว่าอินเดียพยายามหยิบยกประเด็นทิเบตมาต่อต้านจีน  ทำให้จีนตระหนักว่าตนเองก็สามารถนำเอาประเด็นแคชมีรมาโจมตีอินเดียได้ในลักษณะถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน  ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดปี 1998 ความสัมพันธ์อินเดีย-จีน จึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งและจีนก็ได้แสดงนโยบายชื่นชอบปากีสถานให้เห็นอย่างชัดเจนและจับมือกับสหรัฐอเมริกาสร้างแรงกดดันให้อินเดียลงนามในข้อตกลง CTBT

ในปี 1999 ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศได้รับการพัฒนาไปในหนทางที่ดีขึ้น  เมื่อนายกรัฐมนตรีอินเดียได้ใช้การทูตรถบัส (bus diplomacy) เพื่อพัฒนาสันติภาพและความร่วมมือฉันท์มิตรต่อปากีสถาน   จีนรู้สึกถึงความจำเป็นในการปรับปรุงนโยบายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการสานต่อความสัมพันธ์กับอินเดีย  จะเห็นได้ว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ ทั้งอินเดียและจีนต่างก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของกันและกัน

ในเดือนมีนาคมปี 2000 อินเดียและจีนได้จัดการเจรจาด้านความมั่นคงรอบแรกที่ปักกิ่ง  และมีแนวโน้มที่จะจัดการเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศขึ้นอีกในประเด็นอาวุธนิวเคลียร์   ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่เคยได้รับการพิจารณามาก่อน

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน    จึงเป็นการเหมาะสมในการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบ  ทั้งด้านความช่วยเหลือและไมตรีจิตระหว่างอินเดียและจีนตามแนวคิดฮินดี-จินี ใบ๋ใบ๋ (Hindi-Chini Bhai Bhai) ซึ่งหมายถึงอินเดีย-จีนเป็นพี่น้องกัน    และเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ความขัดแย้งเรื่องเขตแดนที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน

 

ยุคสมัยของการทูตสามเหลี่ยม 1998-2008

การเลือกตั้งในเดือนมีนาคมปี 1998 ทำให้พรรคภารัตติยะ ชะนะตะ (Bharatiya Janata)    หรือ BJP ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลซึ่งนำโดยนายอตัล พิหารี วัชปายี (Atal Bihari Vajpayee) ที่ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[4]

นายวัชปายีได้นำเสนอนโยบายใหม่ของอินเดียที่มีต่อประเทศที่จะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอย่างจีน ตัวเขาและผู้ใกล้ชิดอย่างนายจัสวัน ซิงค์ (jaswan Singh) และนายบราเจสห์ มิสรา (Brajesh Misra) นั้นถือว่าเป็นนักสัจนิยมคนแรกที่ปกครองอินเดียที่เสนอว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้อินเดียมีความเข้มแข็งเช่นเดียวกับจีนไม่เฉพาะในระดับเอเชียใต้เท่านั้น แต่ในระดับโลกด้วย

แนวคิดของนักคิดอินเดียอย่างนายปราเจสห์ มิสรา เห็นได้จากจดหมายของนายวัชปายีที่เขียนไปถึงประธานาธิบดีบิล คลินตัน[5] (Bill Clinton) ซึ่งเรียกร้องสหรัฐอเมริกาให้เข้าใจการทดลองนิวเคลียร์ของอินเดีย  เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1998 อันเป็นวิธีการที่คนในระดับแกนนำของประเทศไม่เคยสื่อสารกับสหรัฐอเมริกาแบบนี้มาก่อน

จดหมายของนายวัชปายี[6]มุ่งประเด็นไปที่การท้าทายของจีนที่มีต่ออินเดีย  แม้จะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงจีนเป็นการเฉพาะและเร่งให้เกิดปฏิกิริยาในแง่ลบต่อจีน[7]   สองปีต่อมาจีนก็ได้เปิดเผยถึงมาตรการต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อลงโทษอินเดียที่มี่จุดยืนต่อต้านจีน   ด้วยการลอบบี้สหรัฐอเมริกาให้สนับสนุนการแซงก์ชั่นอินเดียแต่ไม่ให้แซงก์ชั่นปากีสถาน   ยกเลิกกำหนดการพบปะคณะทำงานร่วมชายแดนเพิ่มการส่งอาวุธให้กับปากีสถาน   และย้ำถึงมติของสหประชาชาติว่าด้วยจุดยืนของจีนที่มี่ต่อปัญหาแคชมีร

จีนแสดงความสนใจในเรื่องที่อินเดียต่อต้านจีนหรือที่อินเดียเรียกว่า “การคุกคามของจีน” (China threat) จนเป็นผลให้อินเดียต้องทดลองนิวเคลียร์   ดังนั้นในจุดหนึ่งการทดลองนิวเคลียร์ของอินเดียนั้นอินเดียอ้างว่ามาจากการคุกคามของจีนมากกว่าจะมาจากความสนใจของอินเดียเองเสียอีก  ทั้งนี้โดยส่วนลึกแล้ว  มีการแนะนำกันว่าสิ่งที่จีนหวาดกลัวและการที่นายวัชปายีเขียนจดหมายเพื่อให้สหรัฐอเมริกาเข้าใจนั้นไม่ได้เป็นอะไรอื่นนอกจากจะแสดงความร่วมมือกันของสหรัฐอเมริกาและอินเดียในการต่อต้านจีนให้เห็น

ความคิดในประเด็นอินเดีย-จีนผ่านการวิวัฒนาการไปอย่างไหลลื่นอันเนื่องมาจากการทดลองนิวเคลียร์ในเดือนพฤษภาคมปี 1998 การพูดคุยในเวลาต่อมา  ในตอนกลางทศวรรษ 1990 ทั้งในอินเดียและที่อื่นๆ ที่มีกลุ่มยูเรเซีย (Eurasian bloc) รวมทั้งรัสเซียจีนและอินเดียเข้าร่วมด้วยนั้นเป็นการพูดคุยกันเพื่อที่จะต่อกรกับการมีอำนาจฝ่ายเดียวของสหรัฐอเมริกา    นักวิเคราะห์ของสหรัฐอเมริกาจึงได้ตั้งคำถามถึงการสังกัดกลุ่มของอินเดียในโลกหลังสงครามเย็นและในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งสหรัฐอเมริกา-จีนเพิ่มขึ้นว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใดกันแน่

การเผชิญหน้าในปี 1996 ที่ช่องแคบไต้หวันที่อาจเกิดขึ้นได้ทำให้สหรัฐอเมริกาคิดว่าจะหยุดยั้งจีนจากการเข้าไปผูกพันในสงครามดังกล่าวได้อย่างไร    แม้ว่าการคิดไปในเส้นทางนี้ยังไปไม่ได้ไกลนักในช่วงที่อินเดียทดลองนิวเคลียร์ในปี 1998      อย่างไรก็ตามฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาได้ขานรับจดหมายของนายวัชปายีในปี 1998 ที่พูดถึงการคุกคามของจีนต่ออินเดีย

จดหมายของนายวัชปายีที่ตรงไปตรงมาเริ่มไหลผ่านเข้าสู่กลุ่มผู้วางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา  ความตรงไปตรงมาของจดหมายของนายวัชปายีทำให้จีนไม่สบายใจอย่างลึกซึ้งและนำไปสู่การรณรงค์ของจีนที่จะลงโทษอินเดีย  แต่จดหมายฉบับนี้ก็ช่วยเร่งเร้าให้สหรัฐอเมริกาได้คิดทบทวนนโยบายของตนอีกครั้ง

ปฏิกิริยาของอินเดียที่เป็นไปในทางลบอย่างรุนแรงต่อแถลงการณ์ร่วมของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและจีนในเดือนมิถุนายน ปี 1998 ก็มีส่วนช่วยให้สหรัฐคิดใหม่อีกครั้งว่ากระบวนการใดที่จะทำผลประโยชน์ให้สหรัฐอเมริกามากที่สุด[8]

ในท้ายที่สุดได้มีการหารือกันอย่างจริงจังระหว่างนายจัสวัน ซิงค์ (Jabwant Singh) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังในเวลานั้นและนายสโทรบ ทัลบอตต์ (Strobe Talbort) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา  ที่เริ่มตั้งแต่กลางปี 1998 เรื่อยไปจนถึงปลายสมัยการบริหารของประธานาธิบดีคลินตัน   ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจอย่างแท้จริงในเรื่องความห่วงใยของอินเดียต่อบทบาทของจึงที่มีต่อเอเชียใต้และต่อโลก

การพูดคุยแลกเปลี่ยนของซิงค์-ทัลบอตต์นำไปสู่กระบวนการความสัมพันธ์ใหม่ที่สหรัฐอเมริกามีต่ออินเดียและจีน    ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาจะไม่เป็นพันธมิตรกับจีนในการต่อต้านอินเดียอีกต่อไป  แต่จะสนับสนุนให้อินเดียปรากฏตัวขึ้นมาในฐานะประเทศที่มีอำนาจมากขึ้นของเอเชียและของโลก[9]

อย่างไรก็ตาม  “ปัจจัยจีน” (China factor) ในความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-สหรัฐอเมริกาที่เริ่มเมื่อตอนปลายของปี 1998 ก็เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยทั้งหมดเท่านั้น   แต่มิได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่มีความสำคัญ  อิทธิพลที่เติบโตของชาวอินเดียที่กระจายตัวอยู่ในสหรัฐอเมริกา   รวมทั้งชนชั้นนำของอินเดียที่ค้นพบขุมทรัพย์ที่มีศักยภาพในการมีส่วนร่วมอยู่ในเศรษฐกิจโลกและความเข้าใจในบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเศรษฐกิจโลกก็มีส่วนอยู่ด้วย

ในปี 2000 สถานการณ์การแข่งขันกันระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาในความร่วมมือกับอินเดียได้พัฒนาขึ้น  จีนมองดูสหรัฐอเมริกาด้วยความเข้าใจ   เมื่อสหรัฐอเมริกาให้ความร่วมมือกับจีนน้อยลงในการต่อต้านการขับเคลื่อนเรื่องนิวเคลียร์ของอินเดีย   ตัวอย่างเช่นการเน้นย้ำในมติที่ 1172  ของสหประชาชาติ  โดยมีความร่วมมือระหว่างอินเดีย-สหรัฐอเมริกามากขึ้น

ในปีเดียวกันประธานาธิบดีคลินตันมาเยือนอินเดีย    นับเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่มาเยือนอินเดียนับตั้งแต่ปี 1978   ซึ่งจีนมองว่าการมาเยือนอินเดียของนายคลินตันเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของสหรัฐอเมริกาที่จะดึงอินเดียเข้ามาอยู่ในแบบแผนการปิดล้อมจีน

ความร่วมมือทางทหารระหว่างอินเดียกับสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาขึ้น[10] อย่างต่อเนื่อง   โดยมีความรวดเร็วและก้าวหน้าเป็นพิเศษในสมัยการบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W.Bush) ซึ่งสร้างความยุ่งยากใจให้กับจีน  นักวิเคราะห์ชาวจีนมองความสัมพันธ์ดังกล่าวว่าเป็นความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการดึงจีนเข้ามาอยู่ในตารางการปิดล้อมจีน   จีนจึงขัดขวางการดำเนินงานเพื่อปิดล้อมจีนเหล่านั้นเสียด้วยการปิดล้อมอินเดีย[11]

ปี 2000 จีนยุติการรณรงค์เพื่อลงโทษอินเดียและเริ่มกระบวนการลดหย่อนอย่างต่อเนื่องอย่างเงียบๆ เพื่อให้อินเดียออกห่างจากการรวมตัวกับสหรัฐอเมริกา  พร้อมกับตกลงที่จะมีการสานเสวนาด้านยุทธศาสตร์กับอินเดีย   โดยจีนได้กล่าวถึงประเด็นนิวเคลียร์กับอินเดียเป็นครั้งแรก    ด้วยพื้นฐานที่ว่าอินเดียมิใช่รัฐอาวุธนิวเคลียร์ตามที่ได้มีการยอมรับกันในสนธิสัญญา NPT

นอกจากนี้จีนยังรับฟังความกังวลใจของอินเดียว่าด้วยการผลิตจรวดของจีนและความร่วมมือด้านนิวเคลียร์ของจีนกับปากีสถาน   แต่เดิมมีการย้ำกันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นกิจการของสองประเทศ  ไม่ใช่หัวข้อที่จะมาพูดคุยกัน    ทั้งนี้อินเดียก็พยายามที่จะลดความขัดแย้งกับจีนให้เหลือน้อยลง  โดยอินเดียจะไม่กดดันในประเด็นนี้

เดือนมกราคมปี 2005 จีนและอินเดียได้ร่างการสานเสวนาทางยุทธศาสตร์ขึ้นมา  และในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ก็ได้ประกาศให้มีการร่างความร่วมมือเพื่อสันติภาพและความรุ่งเรืองของสองประเทศขึ้นมาเช่นกัน

ระหว่างปี 2003 ถึง 2005 จีนให้การยอมรับว่าซิกขิม (Sikkim) เป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย   ด้วยเหตุนี้จึงยกเลิกนโยบายไม่ยอมรับการรวมซิกขิมเป็นของอินเดีย  ซึ่งมีมานาน 30 ปีลง  ยิ่งไปกว่านั้นจีนยังยอมให้อินเดียเป็นผู้สังเกตการณ์องค์การความร่วมมือชั่งไห่ (Shanghai Cooperation Organization) หรือ SCO อีกด้วย

การแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ทางทหารระหว่างอินเดียกับจีนและการฝึกทางเรือที่มุ่งไปที่ปฏิบัติการการช่วยเหลือทางทะเลนั้นมีชื่อเรียกว่ามิตรภาพ จีน-อินเดีย 2005 (Sino-Indian Friendship-2005)  ได้จัดขึ้นที่มหาสมุทรอินเดีย   ในการเยือนอินเดียเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2006 ของประธานาธิบดีหูจินเทา (Hu Jintao) นายชีพชังการ์ เมนอน (Shivshankar Menon) รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียในเวลานั้น กล่าวว่าจีนจะไม่ปิดกั้นการเข้าเป็นสมาชิกถาวรของอินเดียตามที่อินเดียมีความใฝ่ฝันอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้อินเดียจึงอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบอันเนื่องมาจากการถูกห้อมล้อมโดยจีนและสหรัฐอเมริกา   ซึ่งทำให้อินเดียกลายเป็นรัฐที่มีความมั่นคงตามระบอบหลังสงครามเย็นระหว่างประเทศ

ความไม่ไว้วางใจกันอย่างลึกซึ้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน  การขึ้นมามีอำนาจและขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างรวดเร็วของอินเดีย   ทำให้ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกามีความอ่อนไหวต่อการเข้าไปร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดของอินเดีย   แน่ละการทูตของอินเดียจำเป็นต้องมีทักษะที่จะบ่งชี้ถึงผลประโยชน์ของอินเดียจากนั้นจึงหาหนทางทางการทูตทำให้ผลประโยชน์นั้นมีประสิทธิภาพในบริบทของสามเหลี่ยมใหม่นี้ต่อไป

 

[1] ในสภาพแวดล้อมใหม่นี้จีนหวาดกลัวการถูกโดดเดี่ยว   เนื่องจากอิทธิพลที่กำลังแผ่ขยายไปสู่ประเทศต่างๆ และการจัดระเบียบโลกใหม่ของสหรัฐอมริกา  อาจทำให้จีนต้องถูกครอบงำโดยสหรัฐอเมริกาได้   ในขณะเดียวกันการปรากฎตัวของการเมืองตามแนวทางอิสลามอาจส่งผลกระทบต่อจีน   เนื่องจากจำนวนประชากรที่เป็นมุสลิมมีจำนวนมากในจีนนั่นเอง

[2] ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม  เมื่อทั้งสองประเทศได้เปิดกงสุลใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่งทั้งที่มุมใบหรือบอมเบย์และเซียงไห้   ภายหลังที่ยุติไป 29 ปี  รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือซึ่งกันและกันในการค้นคว้าด้านอวกาศและเทคโนโลยี   และแถลงการณ์ร่วม (The Joint Communique) ซึ่งมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับกิจกรรมการต่อต้านจีนในอินเดียโดยกลุ่มชาวทิเบต

 

[3] จีนตอบโต้อินเดียโดยร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ประณามอินเดียในการทดลองอาวุธนิวเคลียร์  แต่ในเวลาต่อมาเมื่อปากีสถานได้ทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์  จีนได้กล่าวตำหนิอินเดียว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่บีบให้ปากีสถานต้องทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์  ต่อมาในเดือนมิถุนายน ปี 1998 จีนได้จัดการประชุมหลายฝ่ายขึ้นประกอบด้วยอินเดีย ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาแคชมีร (Kashmir) อย่างไรก็ตามจีนได้พยายามทำให้ประเด็นแคว้นแคชมีรกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศเพื่อที่จะให้เป็นข้อกดดันต่ออินเดีย

[4] ปัจจุบันพรรคภารัตติยะชะนะตะประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งหลังสุด (2014) และขึ้นมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี

[5] กล่าวกันว่าจดหมายนี้เขียนโดยนายบราเจสห์ มิสรา

[6] จดหมายนี้รั่วไหลออกมาจากฝ่ายสหรัฐอเมริกาเอง

[7] ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ใน  Nuclear Anxiety : India’s Letter to Clinton on the Nuclear Testing,  New York Times, 13 May 1988.

[8] แถลงการณ์ร่วมเดือนมิถุนายนปี 1998 เรียกร้องให้อินเดียยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) และยอมรับสถานะของรัฐที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าวพร้อมกับมีข้อเสนอให้จีนและสหรัฐอเมริกาทำงานร่วมกันในเอเชียใต้เพื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการด้านความมั่นคงของภูมิภาค

[9] Strobe Talbott, Engaging India : Diplomacy, Democracy and the Bomb, New York : Penguin Books : Vikas Publication, 2004

[10] John W.Garver, Evolution of India’s china Policy, in Sumit Ganguly , (ed) India’s Foreign Policy, Oxford : Oxford University Press, 2013, p.191.

[11] Ibid., p.101

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *