ศัพท์และแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ: ความหลงผิดในองค์ประองค์ประกอบ (fallacy of composition)
ศัพท์และแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ: ความหลงผิดในองค์ประองค์ประกอบ (fallacy of composition)
คำศัพท์และความคิดเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ:
ความหลงผิดในองค์ประกอบ(fallacy of composition)
ความหลงผิดในองค์ประกอบ (fallacy of coposition) คือ การเข้าใจผิดว่าสิ่งที่เป็นจริงสำหรับส่วนย่อย ก็เป็นจริงสำหรับส่วนรวมด้วย คำนี้ไม่ใช่ศัพท์เฉพาะทางเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไป เช่น ในห้องที่มีคนชมละครบนเวทีจำนวนมาก ถ้ามีคนหนึ่งยืนบนเก้าอี้ เขาจะเห็นการแสดงบนเวทีได้ดีกว่าคนอื่น เพราะไม่ต้องถูกคนอื่นบัง แต่ถ้าทุกคนในห้องยืนอยู่บนเก้าอี้ คนจำนวนมากก็ไม่สามารถชมการแสดงบนเวทีได้ชัด ยกเว้นคนสูงกว่าคนอื่น ประเทศในโลกต่างแข่งขันกันทุ่มเทงบประมาณสร้างแสนยานุภาพ เพื่อให้ประเทศตนมีความสามารถในการสู้รบที่ดีกว่าประเทศอื่น แต่ถ้าหากมีประเทศหลายประเทศพากันสร้างแสนยานุภาพแล้ว ความได้เปรียบของประเทศใดประเทศหนึ่งก็จะลดลง การแข่งขันสร้างแสนยานุภาพของประเทศต่างๆ สักแต่ทำให้โลกสุ่มเสี่ยงต่อการทำสงครามมากขึ้น
คำว่า”ความหลงผิดในองค์ประกอบ”นี้ ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดี มีตัวอย่างอยู่มาก เช่น ถ้าหน่วยผลิตรายใดรายหนึ่งลงทุนมาก จ้างคนงานมากขึ้น ซื้อวัตถุดิบมากขึ้น ก็จะผลิตสินค้าได้มากขึ้น มีรายได้แบะกำไรมากขึ้น แต่ถ้าทุกหน่วยผลิตต่างพากันลงทุนผลิตเพิ่ม คนงานและวัตถุดิบก็จะเกิดการขาดแคลน สินค้าอาจล้นตลาด มีผลทำให้หน่วยผลิตที่ขยายการลงทุนเกิดการขาดทุน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งทำการลดค่าเงินของตนเทียบกับเงินตราต่างประเทศ จะมีผลทำให้สินค้าส่งออกของตน เมื่อคิดเป็นเงินตราต่างประเทศแล้ว มีราคาลดลง ประเทศนั้นจะส่งสินค้าออกได้มากขึ้น แต่ถ้าหลายประเทศหรือทุกประเทศลดค่าเงินพร้อมกัน การลดค่าเงินของประเทศใดประเทศหนึ่งก็ไม่เป็นประโยชน์
ตัวอย่างความหลงผิดในองค์ประกอบมีการกล่าวถึงมากในทางเศรษฐศาสตร์ คือ”ความขัดแย้งของการประหยัด”(paradox of thrift) คือ ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีการประหยัด ซื้อของน้อยลง ออมเงินมากขึ้น ก็จะใช้เงินออมนี้ไปลงทุน หรือฝากไว้ในธนาคารเพื่อให้ได้ดอกเบี้ย คนนั้นก็จะมีความมั่งคั่งมากขึ้น แต่ถ้าทุกคนประหยัด ลดการใช้จ่ายลงมาก ก็ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ถ้าความต้องการสินค้าลดลงไปมาก จนทำให้รายได้ประชาชาติลดลง ผลของการประหยัดมากเกินไปของคนจำนวนมาก ก็จะทำให้ทุกคนจนลงกว่าเดิม
ทรัพยากรบางอย่างเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป แต่เป็นของสาธารณะที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปใช้ได้ (non-excludable) ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน” (common pool resource) ทรัพยากรเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ใช้ได้โดยไม่ต้องถูกเรียกเก็บเงินหรือมีค่าใช้จ่ายใดๆ ถ้าทุกคนแห่กันไปใช้”ของฟรี”เหล่านี้ ก็อาจทำให้ทรัพยากรเหล่านี้ร่อยหรอลง ตัวอย่างเช่น ในหลายประเทศ การใช้พื้นที่สาธารณะ ใช้ได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ พื้นที่ป่าอันกว้างใหญ่เป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ การเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรที่อยู่ในป่ามีการเปิดกว้าง ผู้ใช้ก็ไม่มีพันธะและไม่มีสิ่งจูงใจใดๆในการอนุรักษ์ทรัพยากรที่อยู่ในป่า ปรากฏการณ์ที่ทุกคนสามารถใช้ทรัพยากรตามความต้องการนี้ ในที่สุดอาจส่งผลทำให้ทรัพยากรในป่ามีน้อยลง จนเกิดผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวม
ตัวอย่างการใช้แม่น้ำลำคลอง ป่าไม้ และมหาสมุทรสาธารณะอย่างเกินขอบเขตมีให้เห็นอยู่เนืองๆ การตกปลาในแม่น้ำ การตัดไม้ทำลายป่า และการขับรถในถนนสาธารณะ หากทำมากไป ก็จะส่งผลเสียต่อผู้อื่น ทำให้คนที่มาทีหลังไม่สามารถใช้ทรัพยากรเหล่านี้ได้ ปรากฏการณ์ดังกล่าว เศรษฐศาสตร์เรียกว่า”โศกนาฎกรรมของสาธารณสมบัติ”(tragedy of the commons) ซึ่งอธิบายว่า ทรัพยากรที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้ หากไม่มีการทะนุถนอม ก็จะเกิดผลเสียแก่สังคมได้
การเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าสาธารณะ การจับปลาในแม่น้ำลำคลอง หรือการเก็บของป่า คนทำมากจะได้ผลประโยชน์มาก แต่ถ้าหากทุกคนต่างทำงานมากขึ้น ขยายกิจกรรมของเขา ผลสุดท้าย จะมีผลทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์น้อยลง การขยายกิจกรรมของคนหนึ่งส่งผลกระทบ(externaliies)ต่อผู้อื่น ทำให้ทรัพยากรที่เป็นของส่วนรวมลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้ บางประเทศ ในสิ่งสาธารณะที่ใช้ร่วมกันได้ จะมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้ เช่น จำกัดการใช้ถนนในบางเวลา ห้ามจับสัตว์นำ้ในทะเลหรือแม่น้ำลำคลองในบางฤดู จำกัดจำนวนคนเข้าสวนสาธารณะในช่วงเทศกาล ของบางอย่าง แม้เป็นสิ่งที่ทุกคนใช้ร่วมกันได้ ก็อาจมีกฎระเบียบที่จำกัดการใช้ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่ส่งเสริมให้มีการสร้างทรัพยากรที่มีประโยชน์ขึ้นมาใหม่ เพื่อเสริมเติมหรือชดเชยส่วนที่สูญเสียไปจากการใช้ที่เกินขอบเขต
ปรากฎการณ์”โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ” แม้มีความหมายที่แตกต่างกับ”ความหลงผิดในองค์ประกอบ” แต่ก็แสดงถึวปรากฏการณ์ที่พฤติกรรมของแต่ละคน ส่งผลแตกต่างกันแก่ประเทศชาติหรือสังคมโดยรวม โดนผลประโยชน์ของแต่ละคน อาจไม่สอดคล้องกับประโยชน์ของส่วนรวม
ความคิดเศรษฐศาสตร์ที่กล่าวว่า ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการของคนมีไม่จำกัด ถึงทุกวันนี้ ยังคงเป็นหลักการที่เป็นจริง ในเศรษฐศาสตร์ ความหายาก(scarcity)มีส่วนในการกำหนดราคาสิ่งของ มีคนตั้งคำถามว่า ทำไมเพชรมีราคากว่าน้ำ ทั้งที่น้ำใช้ประโยชน์ได้มากกว่า หลักความหายากอธิบายว่า เพชรหามาได้ยากกว่านำ้ จึงมีราคาแพงกว่า อากาศก็มีลักษณะเดียวกัน แม้มีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก แต่ก็หาได้ไม่ยาก จึงใช้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ (ยกเว้นสถานที่ที่อากาศมีความขาดแคลน)
คำกล่าวที่ว่า ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด และทรัพยากรแต่ละอย่างล้วนมีความขาดแคลน รวมทั้งความคิดที่กล่าวว่า สิ่งที่เป็นจริงสำหรับแต่ละคน อาจไม่เป็นจริงสำหรับส่วนรวมนั้น ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่มีความก้าวหน้าในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาก ควรมีการอธิบายหรือขยายความมากขึ้น ทุกวันนี้ เราได้เห็นสินค้าและบริการบางอย่างที่ยิ่งมีมาก หรือยิ่งมีคนใช้มาก ก็ยิ่งมีคุณค่ามาก ตัวอย่างเช่น ถ้าในโลกนี้ มีเครื่องโทรสารหรือแฟ็ก(facsimile)เพียงเครื่องเดียว ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ และถ้ามีไม่กี่เครื่อง ก็มีคนใช้ได้เพียงไม่กี่คน แต่ถ้ามีคนใช้กันกว้างขวาง ก็จะยิ่งมีประโยชน์มากขึ้น การติดต่อสื่อสารด้วยเครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์อื่นๆ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ยิ่งมีผู้ใช้กันมาก หรือมีอยู่อย่างแพร่หลาย ก็ยิ่งมีประโยชน์มาก ดังนั้น สิ่งที่เป็นจริงสำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็เป็นจริงสำหรับสังคมโดยส่วนรวมได้ด้วยเช่นกัน ความคิดเรื่องความหลงผิดในองค์ประกอบ จึงต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้นกว่าเดิม