โควิด เศรษฐกิจ ยาสูบ
โควิด เศรษฐกิจ ยาสูบ
อิศรา ศานติศาสน์
ช่วงนี้ถ้าผมไม่เขียนถึงโควิด 19 บ้าง ก็จะกลายเป็นนักวิชาการที่เชยที่สุด
เพราะการปรากฏตัวของมันสร้างความปั่นป่วนไปทั่ว นอกจากผู้คนทั่วโลกที่ติดเชื้อ (ซึ่งคาดว่าจะทะลุ 20 ล้านคน) เจ็บป่วย ล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วงแล้ว ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลายกิจการต้องปิดตัว ผู้คนตกงาน ไม่มีรายได้ โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การเดินทางขนส่ง การท่องเที่ยว การโรงแรม การค้าขาย และอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้คน เช่น สนามมวย สนามม้า ผับ บาร์ ตลาดนัด สถานศึกษาและโรงเรียนต่าง ๆ
เกิดการสูญเสียมหาศาลทั้งในด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจ
ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมยาสูบ ผมพอรู้ข้อมูลทางการแพทย์อยู่บ้างว่า คนติดบุหรี่หรือยาสูบมีโอกาสได้รับอันตรายจากเชื้อโควิด 19 มากถึง 14 เท่าของคนที่ไม่ติดบุหรี่หรือยาสูบ ทุก ๆ ฝ่ายจึงพยายามช่วยกันเผยแผ่องค์ความรู้ ข้อมูลนี้ เพื่อลดการสูญเสียจากโควิด 19
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้เก่งขั้นเทวดาหยั่งรู้ฟ้าดิน ผมได้แต่คอยอ่านคอยฟังคำพยากรณ์อนาคตเศรษฐกิจจากสำนักต่าง ๆ ว่าจะถดถอยมากน้อยเพียงใด (คงบ้าเต็มที่ถ้าหวังว่าเศรษฐกิจยังจะมีโอกาสเติบโต) เท่าที่สรุปได้ ในกรณีของประเทศไทย คาดว่าจะถดถอยประมาณร้อยละ 7-8 (ถึงแม้จะมีบางสำนักคาดว่าจะเกิน 10%) ถ้ามองในแง่ดี ถดถอยร้อยละ 7 น่าจะเป็นตัวเลขที่มีโอกาสพลาดน้อยที่สุด
หลายปีมาแล้ว ผมทำวิจัยเรื่อง An Economic Analysis of Tobacco Control in Thailand ให้กับ World Bank และ WHO เป็นงานวิจัยที่ครอบคลุมหลายด้านจึงถูกอ้างอิงค่อนข้างมากจนถึงปัจจุบัน ในด้านอุปสงค์ของยาสูบ ผลวิจัยชี้ว่า เมื่อรายได้ลดลง 1% อุปสงค์ของยาสูบจะลดลง 0.7049% เมื่อราคายาสูบลดลง 1% อุปสงค์ของยาสูบจะเพิ่มขึ้น 0.3925% และเงินเฟ้อทุก ๆ 1% จะทำให้อุปสงค์ของยาสูบลดลง 0.3124% จึงน่าจะเอามาใช้ประโยชน์ในสถานการณ์นี้ได้บ้าง
ด้วยเหตุที่เชื้อไวรัสตัวนี้ ทำให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจจึงจะส่งผลให้การบริโภคยาสูบทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และในกรณีของประเทศไทยน่าจะลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 (คำนวณจากค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้ 0.7049 และไม่รวมผลของราคายาสูบโดยเฉพาะบุหรี่ที่คาดว่าจะลดลง และเงินเฟ้อที่ยังเดาขนาดและทิศทางที่ชัดเจนไม่ได้)
ในสถานการณ์ปกติตัวเลขลดลงร้อยละ 5 นี่ ทำกันไม่ได้ง่าย ๆ และผมเชื่อว่าบรรดาบริษัทบุหรี่ทั่วโลกก็รู้เรื่องนี้ดี และกำลังพยายามหากลยุทธใหม่ ๆ มาสู้ มากระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะบุหรี่ราคาถูก ฝ่ายควบคุมยาสูบเองก็คงจะเตรียมรับมือกันประเภทไม่ให้คลาดสายตา
ฝ่ายไหนจะแพ้ ฝ่ายไหนจะชนะ ต้องติดตามกันต่อไป
คิดกันเล่น ๆ นะครับ ในวันที่ 31 พฤษภาคม ของปีหน้า ซึ่งเป็นวันที่มีชื่อเรียกว่า World No Tobacco Day หรือวันงดสูบบุหรี่โลก เช่นเดียวกับทุกปี องค์การอนามัยโลกจะมีการมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณ (Award) แก่บุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือหน่วยงาน ที่มีผลงานควบคุมการบริโภคยาสูบดีเด่น คราวนี้ โควิด 19 น่าจะมีผลงานเข้าตากรรมการมากที่สุด แต่จะมอบรางวัลให้เชื้อไวรัสก็จะหาตัวแทนยาก คงต้องให้ต้นกำเนิดเชื้อไวรัสนี้ออกมาแสดงตัว ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีตัวตนหรือเปล่า และถ้ามีตัวตน ก็คงยากที่จะรู้ว่าเป็นใครหรือประเทศใด