คิดกันดีแล้วหรือ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
คิดกันดีแล้วหรือ
แม้ว่าจะมีข่าวร้ายทางเศรษฐกิจทยอยออกมาเรื่อยๆ เช่น การว่างงานที่จะมีจำนวนมากโดยหลายสำนักประมาณกันว่าจะมีประมาณ 8-10 ล้านคน ทั้งในระบบและนอกระบบ ยังไม่นับผู้ที่ได้รับการจ้างงานแบบไม่เต็มเวลาอีกจำนวนมากที่เรียกว่า Under Employment
หรือที่กระทรวงพาณิชย์รายงานว่าการส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 63 ซึ่งมีมูลค่า 16,444.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯนั่นคือลดลง 23.17% อันนับว่าต่ำสุดในรอบ 131 เดือน นับจากเดือนกันยายน 52
รายได้จากการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนสูงถึง 15% ของ GDP ก็หดหายไปเมื่อมีการปิดประเทศ และอีกนานกว่าจะเปิดได้ ต้องรอการแพร่ระบาดของโควิดหดหายไป
ส่วนการบริโภคภายในก็ลดฮวบลงอย่างมากเนื่องจากการปิดเมืองป้องกันโควิด-19 กล่าวคือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจากระดับ 69.1 เหลือเพียง 68.3 ในเดือนธ.ค.62 แต่เป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 68 เดือน และจะลดต่อไปอีก
ด้านหอการค้าไทยเปิดเผยการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ 56.0 ลดลงจากเดือนพ.ย. ที่ระดับ 56.4 และจะลดต่อไปโดยพิจารณาจากแนวโน้ม ทำให้มองเห็นว่าประชาชนไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจจนทำให้มีการลดการบริโภคและการลงทุน
หนี้ครัวเรือนก่อนมีการระบาดของโควิดมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของรายได้มวลรวม และมีแนวโน้มสูงขึ้นเพราะประชาชนมีรายได้ลดลง จำต้องกู้มาใช้ในการบริโภคตามความจำเป็น ซึ่งทำให้ปริมาณหนี้เพิ่มจาก 7 ล้านล้านบาท อาจถึง 10 ล้านล้านบาทภายในปี 63 นี้
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ภายใน 4 ปี นี้มีคนจนเพิ่มขึ้นโดยความหมายของคนจนคือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน โดยคาดว่าคนจนที่มีจำนวน 6.7 ล้านคนจะเพิ่มเป็น 13.8 ล้านคน ทั้งๆที่ในช่วงดังกล่าวเศรษฐกิจไทยโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี แสดงว่ารายได้ไหลเข้าไปในกลุ่มคนระดับบนเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังทำให้คาดว่าเมื่อเศรษฐกิจติดลบประมาณ 8-10% จะมีคนจนเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน
ทั้งนี้จากการสำรวจการกระจายรายได้เมื่อไม่นานมานี้พบว่า กลุ่มคนรวย 10% แรกกับกลุ่มคนรวย 10% ถัดลงมามีรายได้รวมกัน 50% ของรายได้ประชาชาติ ส่วนกลุ่มคนยากจน 10% ล่างสุดกับกลุ่ม 10% ยากจนถัดขึ้นมามีรายได้รวมกันเพียง 5% ของรายได้ประชาติ
และกลุ่มงานตามอาชีพที่จะมีสภาพจนลงอย่างมาก คือ กลุ่มเกษตรกรยากจน นี่นับเฉพาะรายได้ที่นับเป็นตัวเงินเท่านั้น แต่สภาพความยากจนอื่นๆ เช่น ที่อยู่อาศัย บริการสาธารณสุข และการศึกษายังไม่ได้คิดรวมไปด้วย
อนึ่งหนี้สาธารณะของรัฐบาลเมื่อสิ้นปี 62 อยู่ที่ 41% ของ GDP แต่คาดว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มจนชนเพดานในปีนี้นั่นคือประมาณ 6 ล้านล้านบาท ในเมื่อ GDP จะลดลงมาถึงประมาณ 10-11 ล้านล้าน
ดังนั้นในช่วงนี้ที่เรามีหนี้สาธารณะท่วมท้นและรัฐบาลมีภาระที่จะต้องใช้จ่ายเยียวยาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงพึงสังวรว่าเราต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ Cost Effective นั่น คือจ่ายเงินได้คุ้มค่ากับผลที่จะตอบสนองมาหรือไม่ และจะต้องมีการจัดลำดับความจำเป็นจากมากไปสู่น้อยหรือไม่
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงขอยกตัวอย่างการจะใช้จ่ายเงินบางโครงการเข้ามาให้ผู้อ่านลองพิจารณาดู เช่น
โครงการขุดคลองไทยที่มีการโหมประโคมกันอย่างมากส่วนใหญ่จะมาจากวุฒิสภา และกลุ่มทุนหรือกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม โดยขอให้พิจารณากันว่ามันจะคุ้มค่ากันไหม
ส่วนที่สนับสนุนอ้างว่าการลงทุนในครั้งนี้จะมีผลในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และจะนำเงินเข้าประเทศเป็นจำนวนมากจากการให้บริการเรือผ่านและอื่นๆ
แต่จากการที่มีรายงานการศึกษาโครงการพบว่าจะมีผลตอบแทน IRR เพียง 3-4% และใช้เวลาคืนทุนกว่า 50 ปี ทั้งนี้แม้จะประเมินว่าจะมีเรือมาใช้บริการในระดับสูงสุด เนื่องจากเบื่อหน่ายการจราจรที่คับคั่งในช่องแคบมะละกา
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่าย่นเวลาเดินทางได้เพียงวันครึ่ง เมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไปในการรอคิวที่มะละกาเพียง 2-3 วัน ผู้เขียนเคยสอบถามชมรมเดินเรือยุโรปต่างให้ความเห็นว่าไม่คุ้มกับการมาใช้บริการ
ที่สำคัญเราต้องลงทุนถึง 2.26 ล้านล้านบาท ซึ่งเราไม่มีเงินจึงต้องใช้เงินกู้ และรัฐบาลจีนซึ่งได้ส่งคนมาศึกษาโครงการนี้พร้อมให้กู้ แต่มีเงื่อนไข คือต้องใช้วิศวกรและบริษัทก่อสร้างจีนทั้งหมด เหมือนกับเงื่อนไขในการสร้างรถไฟความเร็วสูง เท่ากับควักกระเป๋าซ้ายจ่ายกระเป๋าขวา โดยไทยเป็นผู้รับความเสี่ยงหากการเดินเรือไม่เป็นไปตามเป้า แค่ค่าออกแบบก็ต้องจ่ายให้จีนแล้วประมาณ 2 หมื่น 2 พันล้านบาท การจ้างงานก็ไม่ได้อะไรเพราะจีนจะยกขบวนมาหมด อันอาจเกิดสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอีกด้วย
คำถามคือแล้วจีนจะได้อะไรจากการขุดคลองไทย จึงกระตือรือร้นสนับสนุน คำตอบก็คือจีนต้องการสร้างฐานเรือดำน้ำที่สามารถส่งมาจากทะเลจีนใต้ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา อันจะถูกสะกัดได้จากสิงคโปร์ มาเลเซีย และสหรัฐฯ และฐานทัพเรือดำน้ำที่เหมาะสมในอันดามันก็คงหนีไม่พ้น บ้านทับละมุในจังหวัดพังงา ซึ่งก็สอดรับกับการที่ประเทศไทยจะสั่งซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ แล้วไปจัดทำฐานทัพรอท่าอยู่ที่นั่น
หากไทยไม่มีความสามารถในการจ่ายคืนเงินกู้ รัฐบาลจีนก็จะใช้การบีบให้จีนมาเช่า เหมือนท่าเรือลึกที่ศรีลังกา
ส่วนการอ้างว่าจะใช้เรือดำน้ำในอ่าวไทยเพื่อปกป้องแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนชายเกาะกูด ที่อาจพิพาทกับกัมพูชานั้น มีความจำเป็นน้อยมาก แม้จะอ้างว่ากัมพูชามีเรือดำน้ำก็ตาม เพราะอ่าวไทยมันตื้น ใช้เครื่องบินปราบเรือดำน้ำหรือโดรนได้ไม่ยาก เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันทันสมัยมากแล้ว เดี๋ยวจะเหมือนการซื้อเรือเหาะ
นอกจากนี้การปล่อยให้จีนมามีอิทธิพลในคลองไทยและฐานทัพเรือดำน้ำในทะเลอันดามัน จะเป็นจุดล่อแหลมทางยุทธศาสตร์ ที่สหรัฐฯภายใต้ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกยอมไม่ได้ มันก็เท่ากับเรานำเอาภัยมาหาตัว
ที่สำคัญเมื่อขุดคลองไทยอาจทำให้เกิดเงื่อนไขในการแบ่งแยกดินแดนโดยการสนับสนุนของสหรัฐฯมากขึ้น เหมือนเช่นการขุดคลองปานามา ที่ทำให้ปานามาแยกตัวจากโคลัมเบีย โดยสหรัฐฯสนับสนุนได้เช่นกัน
โครงการที่เกี่ยวเนื่องกันคือโครงการซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ มูลค่าหลายหมื่นล้าน แม้จะมีคำชี้แจงจากทัพเรืออย่างละเอียด แต่ก็ยังไม่มีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงและการสร้างฐานทัพที่ต้องใช้งบอีกประมาณเกือบหมื่นล้าน แม้จะถือว่าจำเป็นต้องซื้อ ก็มีคำถามว่าทำไมต้องมาซื้อตอนนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจเรากำลังย่ำแย่ เอาเงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจไม่ดีกว่าหรือ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวค่อยซื้อก็จะไม่มีใครมาโจมตี อย่างนี้ใช้สามัญสำนึกก็ได้
อนึ่งมีงานวิจัยอยู่หลายชิ้นที่ผู้เขียนเคยเป็นทั้งที่ปรึกษาหรือประธานกำกับและตรวจรับงานวิจัย พบว่าเราอาจใช้การใช้จ่ายในทางทหารมาสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ด้วยการสร้างเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้างให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมทหารหรืออุตสาหกรรมทั่วไปก็ได้
หรือเอาอย่างง่ายที่สุดก็ใช้วิธี Barter คือ แลกกับสินค้าเกษตร เช่น ข้าว หรือยางพารา ที่ราคาตกต่ำอยู่ก็ได้ ทำไมไม่ทำ ถ้าทำอย่างนี้ยังตอบประชาชนที่เสียภาษีได้อย่างเต็มภาคภูมิ ไม่ใช่มาแก้เกี้ยวว่าใช้งบของทัพเรือเอง ไม่ได้เอาจากงบกลาง ทั้งที่มันเป็นเงินภาษีหรือภาระหนี้สินของรัฐบาลเหมือนกันใช่หรือไม่
อย่าลืมว่านี่ไม่ใช่เงินบาทสองบาท หากใช้ไม่คุ้มค่าหรือไร้ค่า อย่างเรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีเครื่องบินประจำการแล้ว เพราะมันต้องใช้เครื่องบิน บินขึ้นในแนวดิ่งและบริษัทผู้ผลิตเลิกทำแล้ว หรือจะเหมือนเรือเหาะกับเครื่องตรวจจับระเบิดGT200 ที่เราสูญเงินเปล่า
ดังนั้นผู้ที่สนับสนุนการซื้อเรือดำน้ำหากจะขยับมุมมองมาที่การเลื่อนการซื้อออกไปจนกว่าเศรษฐกิจเราจะดีขึ้นในระดับปกติ หรือปรับเปลี่ยนวิธีการซื้อมาเป็นแบบแลกซื้อกับสินค้าเกษตร หรือเทคโนโลยีดีกว่าใช้อัตตาคนเองมาผลักดันสนับสนุนว่าต้องซื้อ มันน่าจะดีกับประเทศโดยรวมมิใช่หรือ
เพราะหากเกิดสงครามในขณะนี้เรือดำน้ำก็คงช่วยไม่ได้หากไม่มีข้าวกิน ไม่มีเงินเติมน้ำมันนะครับ