นิทานในประวัติศาสตร์และพงษาวดารจีน เส้นทางการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของรัฐจิ้น(1)
นิทานในประวัติศาสตร์และพงศาวดารจีน
เส้นทางการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของรัฐจิ้น(1)
โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
สมัยชุนชิว(春秋)ในราชวงศ์โจวตะวันออก(东周)เริ่มตั้งแต่ปี 770 ถึงปี 476 ก่อนคริสตกาล รวมเวลาทั้งสิ้นเกือบ 300 ปี ในสมัยนั้น หลายรัฐได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์โจวให้เป็นผู้นำรัฐ เริ่มตั้งแต่รัฐฉี(齐)ในช่วงที่ฉีหวนกง(齐桓公)เป็นผู้ครองรัฐ ต่อด้วยรัฐจิ้น(晉)หลังจากที่จิ้นเหวินกง(晉文公)ขึ้นเป็นผู้ครองรัฐ แต่เขาต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างรัฐกว่า 20 ปี จึงได้กลับมาเป็นผู้ครองรัฐได้
เรื่องราวของจิ้นเหวินกง ย้อนความตั้งแต่ สมัยพ่อเขา จิ้นเซี่ยนกง(晉献公)เป็นผู้ครองรัฐ ตลอดระยะเวลากว่า 26 ปีที่จิ้นเซี่ยนกงเป็นผู้ครองรัฐ เขาได้ยกทัพไปตีเผ่าตี๋หยง (狄戎) ได้บุตรีสองคนของหัวหน้าเผ่าหยงมาเป็นภรรยา ต่อมาก็ยกทัพไปตีเมืองของเผ่าหลี(骊)ที่อยู่ทางตะวันตก ได้สาวเผ่าหลีอีกสองคนมาเป็นภรรยา และมีลูกด้วยกันสองคน
จิ้นเซี่ยนกงมีบุตรชายห้าคน ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท ชื่อเซินเซิง(申生) แต่เซี่ยนกงหลงรักสาวเผ่าหลีมาก จึงคิดปลดรัชทายาทคนเดิม แล้วให้ลูกของนางหลีจี(骊姬)เป็นรัชทายาทแทน ทั้งที่ลูกนางหลีจียังมีอายุน้อยมาก และยังมีลูกที่เกิดกับภรรยาเผ่าหยงอีกสองคนที่อายุมากกว่า
นางหลีจี เป็นคนมีเล่ห์เหลี่ยม มีกลอุบายแยบยล และเสแสร้งเก่ง นางคิดว่าการปลดรัชทายาทคนเดิมที่เป็นที่นิยมชมชอบของเหล่าขุนนางและข้าราชการ ขณะยังไม่มีจุดด่างพร้อยใดๆ โดยทันทีอาจสร้างผลเสียแก่ตนและลูก จึงกล่าวกับจิ้นเซี่ยงกงว่า นางไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนตัวรัชทายาท เพราะรัชทายาทคนปัจจุบัน เป็นที่ข้าราชการและประชาชน เคารพนับถือ การแต่งตั้งรัชทายาท ก็เป็นที่รับรู้ของรัฐต่างๆโดยทั่วไป ลูกของตนก็ยังเล็กอยู่ จึงไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงใดๆในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม นางหลีจี มีความมุ่งมั่นที่จะให้ลูกของตนเป็นรัชทายาทสืบทอดตำแหน่งผู้ปกครองรัฐต่อจากจิ้นเซี่ยนกง จึงใชักลยุบายเป็นขั้นตอนคือ
ก. สร้างพรรคพวกของตนในหมู่ขุนนางข้าราชการ : โดยการเลื่อนตำแหน่งผู้ที่ใกล้ชิดกับนางให้สูงขึ้น นางเองก็ให้คำปรึกษาแก่จิ้นเซี่ยนกงในภารกิจการปกครองในเรื่องต่างๆ
ข. ให้เงินทองแก่ขุนนางข้าราชการที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อนาง แต่งตั้งให้ขุนนางและข้าราชการที่ใกล้ชิดกับตนให้มีตำแหน่งสูงขึ้น แล้วให้คนพวกนี้เสนอแก่เซี่ยนกงว่า รัฐจิ้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ เมืองชายแดนอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ของชนเผ่าอื่นๆ ควรมอบหมายให้ผู้ที่ไว้ใจได้ไปดูแลพื้นที่เหล่านั้น ผู้ที่เซี่ยนกงจะไว้ใจได้มากที่สุด ก็คือบุตรของตนทั้งเซินเซิงซึ่งเป็นรัชทายาท และบุตรอีกสองคนที่โตแล้ว ถ้าทำเช่นนั้น รัฐจิ้นก็จะมีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เซี่ยนกงเห็นชอบด้วย และแต่งตั้งบุตรชายที่โตทั้งสามคนไปปกครองเมืองชายแดน
ค. สร้างเรื่องทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของรัชทายาทเซินเซิง: เมื่อแต่งตั้งเซินเซิงไปปกครองพื้นที่หัวเมืองได้ระยะหนึ่งแล้ว หลีจีกล่าวกับเซี่ยนยกงว่า เซินเซิงจะขึ้นมาเป็นผู้ครองรัฐจิ้นต่อไป นางอยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัชทายาท ขอให้เขาดูแลลูกของตนซึ่งยังมีอายุน้อย เซี่ยนกงจึงสั่งเซินเซิงกลับเมืองหลวงสักสองสามวัน เมื่อมาถึงแล้ว นางหลีจีก็เชิญให้เซินเซิงมากินเลี้ยงที่บ้าน บอกเชสว่าดอกไม้ในสวนกำลังออกดอกสวยงาม พรุ่งนี้นางจะไปชมสวน อยากให้เซินเซิงไปด้วย เซินเซิงไม่รู้ปฏิเสธอย่างไร ก็ตอบรับว่าจะไป
พอถึงเวลากลางคืนก่อนเข้านอน หลีจีทำเป็นร้องไห้เสียใจ เซี่ยนกงถามว่าเสียใจเรื่องอะไร นางก็ไม่ยอมตอบ บอกถ้าพูดไปแล้วเซี่ยนกงคงไม่เชื่อ เมื่อถามหนักเข้า จึงพูดสะอึกสะอื้นว่า นางถูกรัชทายาทรังแก บอกนางว่า พ่อแก่แล้ว นางไม่รู้สึกเหงาหรือ ถ้าจำเป็น เขาจะมาเยี่ยมนางบ่อยๆ ทั้งยังชวนนางให้ไปชมดอกไม้ในสวนพรุ่งนี้ คิดว่าพรุ่งนี้เมื่ออยู่กันสองต่อสองแล้ว นางอาจถูกลวนลามได้ จึงขอให้เซี่ยนกงมองดูจากที่ไกลๆ พอถึงวันรุ่งขึ้น นางหลีจีใส่เสื้อผ้าบางๆ แล้วเอาน้ำผึ้งทาที่เสื้อ เมื่อทั้งสองได้พบกัน ก็มีผึ้งบินมาเกาะที่เสื้อนางจำนวนมาก นางจึงขอให้เซินเซิงช่วยไล่ผึ้งออกจากตัวนาง ในระหว่างนั้น นางก็เอนตัวเข้าหาซินเซิง จิ้นเซี่ยนกงที่เฝ้ามองอยู่ในระยะไกล เมื่อเห็นเช่นนี้ คิดว่าซินเซิงลวนลามนางหลีจี
เมื่อหลีจีเข้าพบเซี่ยนกงในตอนคํ่า เล่าเรื่องที่นางถูกลวนลามให้ฟัง เซี่ยนกงโกรธมาก ไม่คิดว่าลูกของตนไร้มารยาทเช่นนี้ น่าจะฆ่าเขาทิ้งเสียเลย แต่นางหลีจีขอร้องว่า ทำเช่นนี้ไม่ได้ เซี่ยนกงสั่งเซินเซิงมาเมืองหลวงจากการขอร้องของนาง หากฆ่าเขาตอนนี้คนจะคิดว่าเป็นกลอุบายที่หลอกเขามาฆ่า อีกอย่าง เรื่องไร้ศีลธรรมแบบนี้ถ้าถูกเปิดเผยออกไป จะเสียชื่อวงศ์ตระกูลมาก เซี่ยนกงจึงปล่อยเซินเซิงกลับด้วยความโกรธ
ต่อมาไม่นาน นางหลีจี ก็มีกลอุบายทำร้ายเซินเซิงอีก นางส่งลูกน้องไปบอกเขาว่า แม่ของซินเซิงที่เสียชีวิตไปแล้วมาเข้าฝัน บอกนางว่าไม่มีอะไรกิน นางหลีจี ก็ระลึกถึงความดีของแม่ของเขาด้วย อยากให้เซินเซิงจัดพิธีเซ่นไหว้ ให้มีข้าวปลาอาหารเพียบพร้อม แม่จะได้ไม่อดอยากหิวโหย
เซินเซิงจึงจัดพิธีไหว้แม่ โดยมีอาหารจำนวนมาก เมื่อเซ่นไหว้เสร็จแล้ว ตามประเพณีสมัยนั้น ต้องเอาเนื้อสัตว์ที่เซ่นไหว้ไปแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เซินเซิงจึงส่งเนื้อสัตว์ชิ้นหนึ่งมาให้บิดาที่เมืองหลวง แต่เผอิญเซียงกงไม่อยู่ที่บ้าน หลีจีจึงเป็นคนรับแทน เมื่อเซี่ยงกงกลับถึงบ้าน จะเอาเนื้อสัตว์นั้นมากิน แต่หลีจีห้ามไว้ บอกว่าของที่มาจากข้างนอก ไม่รู้ว่าเป็นอันตรายหรือไม่ ทางที่ดีควรแร่เนื้อชิ้นหนึ่งให้สุนัขลองกินดูก่อน ถ้าปลอดภัยแล้วค่อยกิน ปรากฏว่า สุนัขได้กินเนื้อสัตว์แล้วดิ้นตายทันที เซี่ยนกงให้คนรับใช้ลองกินดู ก็ตายทันทีเช่นกัน หลีจีจึงแกล้งอุทานออกมาว่า “เซินเซิงจะได้เป็นผู้ครองรัฐแน่นอนอยู่แล้ว ทำไมต้องใจร้อน เอาเนื้อที่มียาพิษมาให้พ่อกิน”
จิ้นเซี่ยนกงซึ่งหลงรักหลีจีอยู่แล้ว เชื่ออย่างสนิทใจว่า ซินเซิงเป็นผู้วางยาพิษ จึงสั่งให้ลูกน้องไปจับตัวเซินเซิงมาประหารชีวิต หลีจีกล่าวว่า บุตรชายคนโตของเซี่ยนกงอีกสองคนเป็นพวกเดียวกันกับเซินเซิง คุมหัวเมืองชายแดนอยู่ มีกำลังทหารของตนเอง หากฆ่าเซินเซิง สองคนนี้อาจก่อการรัฐประหาร ทางที่ดี ควรคุมขังสองคนนี้ไว้ก่อนที่จะฆ่าเซินเซิง
คนในรัฐจิ้น เมื่อทราบข่าวว่าเซินเซิงจะถูกจับประหารชีวิต ก็รีบไปส่งข่าวให้เขาหนีออกไปรัฐอื่น แต่เซินเซิงไม่ยอมหนี บอกว่า ถ้าไม่ไปเมืองหลวง จะเป็นการขัดขืนคำสั่งพ่อ คนที่ไปส่งเขาบอกเขาว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็เข้าไปพบเซี่ยนกง แสดงความบริสุทธิ์ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้วางยา ลที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นกลอุบาของหลีก็ได้ ซินเซิงกล่าวว่า ถ้าเขาไม่เข้าเมืองหลวง เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งบิดา แต่ถ้าพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หลีจีจะถูกลงโทษ เซี่ยนกงต้องมีหลีจีอยู่ใกล้ขิดคอยปรนนิบัติ เมื่อคิดเช่นนั้นแล้ว ซินเซิงที่เป็นคนดีรักษาชื่อเสียง ก็ฆ่าตัวตาย
ส่วนลูกคนโตอีกสองคนของเซียนกง หลังจากทราบข่าวว่าตนตตกอยู่ในอันตราย ก็เดินทางหนีออกไปจากรัฐจิ้น
ซีฉี(奚齐) ลูกชายของนางหลีจี จึงได้รับการสถาปนาเป็นรัชทายาทสมความปรารถนา
ในช่วงที่จิ้นเซี่ยนกงป่วยหนัก ใกล้จะเสียชีวิต ก็มอบหมายให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งมาเป็นครู ช่วยซีฉีในการปกครองรัฐจิ้น
อย่างไรก็ตาม ในรัฐจิ้นมีขุนนางข้าราชการจำนวนมากที่รู้ดีว่า เหตุวุ่นวายทั้งหลายเกิดขึ้นจากการกระทำของหลีจี ทั้งยังไม่ยอมรับซีฉี ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง 11 ปีขึ้นเป็นผู้ครองรัฐ ในพิธีสถาปนาผู้ครองรัฐคนใหม่ จึงมีคนก่อการรัฐประหาร แล้วฆ่าซีฉีเสียชีวิต แต่หลีจียังไม่ยอมแพ้ บอกแม้ซีฉีตายแล้ว น้องชายชื่อจัวจื่อ(卓子)ที่มีอายุ 9 ปียังอยู่ ควรสถาปนาขึ้นเป็นผู้ครองรัฐแทน แต่ฝ่ายรัฐประหารไม่ยอม จึงฆ่าจัวจื่ออีกคน ทั้งยังขู่จะฆ่านางหลีจีอีก หลีจีเห็นว่าหมดหวังแล้ว จึงฆ่าตัวตาย
ในเวลานั้น จิ้นเซี่ยนกงเสียชีวิตไปแล้ว เซินเซิงที่เป็นรัชทายาทคนแรกก็ฆ่าตัวตายไปแล้ว รัชทายาทคนใหม่และน้องถูกฆ่า ลูกของเซี่ยนกงอีกสองคน ก็ลี้ภัยไปรัฐอื่น เหล่าขุนนางได้ปรึกษาหารือกันแล้ว ต่างเห็นว่าควรไปเชิญฉงเอ่อ(重耳) ลูกคนโตของเซี่ยนกงกลับมาเป็นผู้ครองรัฐ ฉงเอ่อเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและมีจริยธรรม ตอนเขาลี้ภัย มีขุนนางและข้าราชการที่มีความศรัทธาในตัวเขาติดตามไปหลายคน เมื่อตกลงกันได้เช่นนั้น เหล่าขุนนางจึงลงชื่อส่งหนังสือไปเชิญฉงเอ่อกลับมาเป็นผู้ครองรัฐ
ในเวลานั้น ฉงเอ่อลี้ภัยที่รัฐตี๋(翟)เมื่อได้เห็นจดหมาย พบว่า แม้มีคนเซ็นชื่อหลายคน แต่ไม่มีชื่อของ หูถู(狐突)ซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ และลูกสองคนของหูถูก็ติดตามลี้ภัยมาด้วย คิดว่า สถานการณ์ในรัฐจิ้นตอนนี้อาจยังไม่เรียบร้อย แม้หลีจีและลูกตายแล้ว แต่พรรคพวกหลีจียังมีอยู่มาก เมื่อคิดได้ดังนี้ ฉงเอ่อจึงปฏิเสธคำเชิญให้กลับไปเป็นผู้ครองรัฐ
เมื่อฉงเอ่อไม่ยอมกลับมา ผู้เหมาะที่จะเป็นผู้ครองรัฐจิ้นก็เหลืออยู่เพียงคนเดียว คือ อี๋อู๋(夷吾)ขุนนางบางคนเห็นว่าอี๋อู๋เป็นคนโลภและไม่รักษาสัจจะ ไม่เหมาะเป็นผู้ครองรัฐ แต่ในที่สุด ก็ตกลงกันว่าควรไปเชิญอี๋อู๋กลับมา
อี๋อู๋เมื่อได้รับคำเชิญ ก็ดีใจมาก แต่คนใกล้ชิดบอกเขาว่า ที่ฉงเอ่อไม่ยอมกลับไปเป็นผู้ครองรัฐ แสดงว่าสถานการณ์ในรัฐจิ้นยังไม่สงบ กลับไปคงมีปัญหา แต่ถ้าจะกลับไป ควรปูนบำเหน็จและให้สัญญากับผู้เชิญเขาเป็นผู้ครองรัฐว่า จะตอบแทนบุญคุณพวกเขาให้มีตำแหน่งที่สูงขึ้นและครอบครองพื้นที่มากขึ้น อีกอย่างคือต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐอื่น โดยเฉพาะรัฐฉิน(秦)รัฐใหญ่ที่มีพรมแดนติดกับรัฐจิ้น และเมื่อกลับไปถึงรัฐจิ้นแล้ว ต้องหาทางริดรอนอำนาจของผู้ที่ยังไม่ยอมสวามิภักดิ์กับตน ซึ่งอี๋อู๋ก็เห็นด้วย เผอิญในเวลานั้นฉินมู่กง(秦穆公)ผู้ครองรัฐฉินส่งคนมาบอกว่า รัฐฉินยินดีช่วยเหลืออี๋อู๋ให้กลับไปเป็นผู้ครองรัฐจิ้น หลังจากที่ฉงเอ่อปฏิเสธที่จะรับความช่วยเหลือของมู่กงและกลับไปครองรัฐจิ้นแล้ว อี๋อู๋ดีใจมาก บอกคนของมู่กงว่า ถ้าได้เป็นผู้ครองรัฐจิ้น ตนยินดีจะยกพื้นที่ 5 เมืองที่อยู่ติดกับรัฐฉินให้แก่ฉิน นอกจากนั้น อี๋อู๋ยังทำหนังสือว่าจะปูนบำเหน็จให้แก่ผู้ที่เชิญเขากลับไปเป็นผู้ครองรัฐด้วย
เมื่อฉินมู่กงรู้ว่า อี๋อู๋จะกลับรัฐจิ้น จึงส่งทหารมาอารักขาเขาและผู้ติดตาม อี๋อู๋จึงได้เป็นผู้ปกครองรัฐจิ้นคนใหม่ ชื่อจิ้นฮุ่ยกง(晉恵公)ครองรัฐอยู่ 16 ปี ในสมัยเขา รัฐจิ้นไม่มีความสงบเลย หลังเป็นผู้ครองรัฐ เขาไม่ได้ทำตามสัญญาที่จะปูนบำเหน็จให้แก่ผู้สนับสนุนและไม่ยอมยกที่ดินให้รัฐฉิน กลับบอกว่า ที่ดินรัฐจิ้นแต่ละผืนได้มาด้วยความยากลำบาก จะยกให้คนอื่นได้อย่างไร ขุนนางที่ทำหนังสือเชิญอี๋อู่กลับมารัฐจิ้น แม้ไม่พอใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ จึงบอกเขาว่า พวกเราจะได้รับการปูนบำเหน็จหรือไม่ เป็นอำนาจผู้ครองรัฐ แต่ถ้าไม่ทำตามสัญญายกที่ดินให้รัฐฉิน ก็ควรทำหนังสือบอกให้รัฐฉินทราบ
ฉินมู่กงเมื่อได้รับหนังสือ ก็โกรธมาก แต่คนส่งหนังสือซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่ลงชื่อให้อี๋อู๋กลับมาเป็นผู้ครองรัฐ แต่ไม่ได้รับการปูนบำเหน็จ บอก ุมู่กงว่า การที่จิ้นฮุ่ยกงไม่ทำตามสัญญานั้น เป็นคำแนะนำของผู้ใกล้ชิดสองคน น่าจะให้หุ้ยกงส่งขุนนางสองคนนี้มาฉินแล้วทำการลงโทษ แต่เรื่องนี้มู่กงก็ไม่ได้ทำ
ในรัฐจิ้น ก็มีคนเห็นว่า ผู้ครองรัฐไม่ควรตระบัดสัตย์ ควรทำตามคำมั่นสัญญา แต่ชี่ยุ่ย(郤芮)หนึ่งในผู้ที่แนะนำจิ้นฮุ่ยกงกลับมารับตำแน่งผู้ครองรัฐ อธิบายว่า เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทุกเวลา ก่อนที่ฮุ่ยกงเป็นผู้ครองรัฐ พื้นที่ในรัฐจิ้นไม่ได้เป็นของเขา เรารับปากว่าจะยกที่ให้โดยพื้นที่ยังไม่เป็นของเราจึงไม่เสียดาย แต่เวลานี้ พื้นที่ทุกส่วนในรัฐจิ้น ล้วนเป็นของเราแล้ว ถ้าเราไม่ให้ เขาก็ทำอะไรไม่ได้
ซี่ยุ่ยรู้ดีว่า ขุนนางข้าราชการจำนวนมาก ไม่พอใจในผู้ครองรัฐและตัวเขา อยากให้ฉงเอ่อกลับเข้ามาเป็นผู้ครองรัฐแทน จึงยุยงให้ฮุ่ยกงลงโทษประหารชีวิตผู้มีแนวโน้มใกล้ชิดฉงเอ่อ และหาทางขจัดฉงเอ่อเสีย จะได้ไม่มีคู่แข่งมาแย่งเป็นผู้ครองรัฐ
จิ้นฮุ่ยกงปกครองรัฐจิ้นได้ห้าปี ก็เกิดภัยแล้ง ประชาชนอดอยากขาดแคลนอาหารการกิน โดยทั่วไป เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐอื่น ซึ่งรัฐที่อยู่ใกล้จิ้นและช่วยเหลือได้ก็คือรัฐฉิน จึงมีคนแนะนำให้ไปขอความช่วยเหลือจากรัฐฉิน แต่จิ้นฮุ่ยกงรู้สึกลังเลใจ เพราะตนไม่ได้ยกดินแดนให้ฉินตามสัญญา ถ้าไปขอความช่วยเหลือรัฐฉินอาจไม่ให้ ซี่ยุ่ยกล่าวว่า การที่เราไม่ยกที่ให้รัฐฉิน ฉินไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าเราลำบาก ประชาชนอดอยาก แล้วไปขอเขาช่วย แล้วเขาไม่ยอมช่วยเหลือ ก็แสดงว่าเขาไม่เห็นใจเรา อยากเห็นประชาชนอดอยากล้มตาย ดังนั้นจึงน่าลองไปขอความช่วยเหลือจากฉินดู ฮุ่ยกงจึงส่งคนไปขอความช่วยเหลือจากรัฐฉิน
เมื่อฉินมู่กงได้รับหนังสือขอความช่วยเหลือ จึงปรึกษาหารือกับเหล่าขุนนาง บางคนเห็นว่า จิ้นฮุ่ยกงเป็นคนเนรคุณ ไม่รักษาสัญญา เราไม่เพียงแต่ไม่ควรให้ความช่วยเหลือ ยังควรถือโอกาสนี้ยกทัพไปตีรัฐจิ้น ในขณะที่เขาอ่อนแออยู่ แต่ฉินมู่กงไม่เห็นด้วย บอกว่า ผู้ไม่ทำตามสัญญา คือผู้ครองรัฐจิ้น แต่ผู้ที่อดอยากหิวโหย ก็คือประชาชนจิ้น การรุกรานรัฐจิ้นในเวลาที่เขาประสบภัยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ในที่สุด มู่กงก็ยอมส่งเสบียงอาหารไปช่วยรัฐจิ้น
ต่อมาอีกไม่นาน รัฐฉินประสบกับภัยธรรมชาติที่รุนแรง ประชาชนต้องอดอยาก แต่รัฐจิ้นมีผลการเก็บเกี่ยวที่ดี รัฐฉินจึงมาขอความช่วยเหลือจากรัฐจิ้น ซึ่งน่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่จิ้นฮุ่ยกงกลับไม่ยอมช่วย ซียุ่ยกล่าวกับฮุ่ยกงว่า เรามีเหตุผลสามอย่างที่ไม่ควรให้ความช่วยเหลือรัฐฉิน คือ ก) ถึงจะให้เสบียงอาหารแก่เขา เขาก็ยังไม่พอใจ เพราะไม่ยกพื้นที่ให้เขาตามสัญญา ข) หากบอกว่าการช่วยเหลือให้เสบียงอาหารในปีก่อนเป็นบุญคุณ แต่การช่วยให้ฮุ่ยกงขึ้นมาเป็นผู้ครองรัฐจิ้นนั้นน่าจะเป็นบุญคุณมากกว่า ทำไมเราจึงต้องไปตอบแทนบุญคุณที่เล็กกว่า แต่ไม่ยอมตอบแทนบุญคุณที่ใหญ่กว่า ค) ไม่ช่วยเหลือเสบียงอาหารทำให้รัฐฉินไม่พอใจ การไม่ยกพื้นที่ให้ เขาก็ไม่พอใจ ถึงอย่างไรเขาก็ไม่พอใจเราอยู่แล้ว ทำไมต้องไปช่วยเหลือเขา กลอุบายที่ดี คือ ร่วมกับรัฐอื่นไปโจมตีรัฐฉินในช่วงที่รัฐฉินยังอ่อนแอแล้วแบ่งพื้นที่กัน หากทำเช่นนี้ได้ รัฐจิ้น ก็จะมีความเข้มแข็งขึ้น
ฉินมู่กงเมื่อทราบเรื่องนี้ ก็โกรธมาก เหล่าขุนนางรัฐฉินเห็นว่า แทนที่จะรอให้รัฐจิ้นและรัฐอื่นมาโจมตี เราควรไปตีรัฐจิ้นก่อน แล้วแย่งชิงเสบียงอาหารจากรัฐจิ้นมาเลี้ยงประชาชนของเรา หลังจากนั้นไม่นาน สงครามระหว่างรัฐฉินกับจิ้นก็ประทุขึ้น
ขอพักเรื่องการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของรัฐจิ้นไว้เพียงเท่านี้ก่อน แต่จะสรุปข้อคิดและบทเรียนจากนิทานตอนนี้ว่า การมุ่งมั่นปรารถนาที่จะก้าวขึ้นมามีอำนาจโดยกลอุบายที่ไร้คุณธรรม และการไม่รักษาวาจาสัตย์ เป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายให้กับตนเองได้มาก
กรณีของหลีจีที่ใช้เล่ห์กลสารพัด เพื่อให้ลูกของตนได้ขึ้นเป็นผู้ครองรัฐ ทำให้ลูกถูกฆ่า และตนเองต้องฆ่าตัวตายนั้น มีจุดจบเหมือนกับกรณืของหยวนซีไขหรือเหวียนซื่อไข่(袁世凯) ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง (清) ต้นสาธารณรัฐในประเทศจีน เมื่อกว่าร้อยปีก่อน แม้มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่มีจุดจบคล้ายกัน ซึ่งจะได้กล่าวถึงดังนี้
ยวนซีไขเป็นคนที่มีกลอุบายที่แยบยลมาก เขาเป็นคนเผ่าฮั่นคนหนึ่งที่ขึ้นมากุมอำนาจในราชวงศ์ที่ปกครองโดยชนเผ่าแมนจูได้ เขามองเห็นความสำคัญของการฝึกทหารตามแบบอย่างตะวันตก จึงจ้างที่ปรึกษาชาวเยอรมัน และสรรหานักเรียนที่เรียนดีจากโรงเรียนทหารมาเป็นผู้ช่วยของตน ต่อมา เขาได้รับมอบหมายให้ปราบปรามพวกปฏิวัติที่นำโดยซุนยัดเซ็น(孙中山) แต่เขาเห็นว่า ผู้บริหารและประขาชนในมณฑลต่างๆ สนับสนุนกลุ่มปฏิวัติ และราชวงศ์ชิงก็มีความอ่อนแอมากแล้ว จึงเจรจาต่อรองกับกลุ่มปฏิวัติว่า จะบีบให้กษัตริย์ราชวงศ์ชิงสละราชบัลลังก์ และจะไม่สู้รบกับฝ่ายปฏิวัติ เพื่อป้องกันการนองเลือด แต่ฝ่ายปฏิวัติซึ่งเลือกยัดเซ็นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราวแล้วจะต้องสละตำแหน่งให้ยวนซีไขเป็นประธานานาธิบดีแทน ซุนยัดเซ็นก็ยอมตามนั้น แต่มีเงื่อนไขว่า ยวนซีไขต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว และเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการเลือกตั้งจากรัฐสภาที่จะตั้งขึ้นภายหลังเท่านั้น ยวนตอบตกลง และบีบให้กษัติริย์ราชวงศ์ชิงสละราชบัลลังค์ แต่เมื่อเขาได้เป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐแล้ว กลับใช้กลอุบายและเล่ห์เหลี่ยมสารพัด ทำการละเมิดรัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อมีรัฐสภา ก็ใช้เงินซื้อเสียงสมาชิกรัฐสภาให้เลือกเขาเป็นประธานาธิบดี และใช้วิธีการต่างๆ รวมทั้งทำร้ายและลอบฆ่าคนที่ไม่ยอมเข้าพวก จนในที่สุด สามารถคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้
เมื่อได้เป็นประธานาธิบดีสมความปรารถนาแล้ว ยวนซีไขรก็พยายามทุกทางเพื่อให้ประเทศจีนกลับไปใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และให้ตนเองเป็นกษัตริย์ ด้วยวิธีการสลับซับซ้อน เริ่มด้วยการสร้างกระแสว่าประเทศจีนไม่เหมาะกับการปกครองระบอบสาธารณรัฐ โดยจ้างนักวิชาการที่มีชื่อเสียง เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ แสดงความเห็นว่า ระบอบกษัตริย์มีความเหมาะสมกับประเศจีนมากกว่า ซื้อเสียงจากผู้บริหารและกลุ่มประชาชนในมณฑลต่างๆ ให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้เขาขึ้นเป็นกษัตริย์ ให้ประโยชน์แก่มหาอำนาจต่างประเทศที่สนับสนุนเขา โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศ เซ็นสัญญาให้ประโยชน์แก่ญี่ปุ่นมากมาย เพื่อแลกกับการสนับสนุน ให้เขาขึ้นเป็นกษัตริย์ ฯลฯ
ในที่สุด ยวนซีไขก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์สมความปรารถนาในต้นปี ค.ศ.2015 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายปฏิวัติที่นิยมระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ
แต่ยวนซีไขเป็นกษัตริย์ได้เพียง 83 วัน ก็ต้องถูกบีบให้ลงจากตำแหน่ง แล้วตรอมใจตายไปในที่สุด จากการที่ลูกน้องคนสนิทที่เขาปั้นมากับมือและเป็นผู้คุมกำลังทหารไม่ยอมฟังคำสั่งยวนซีไข ที่ให้ปราบปรามกองทหารในมลฑลต่างๆทั่วประเทศที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านเขา เมื่อผู้คุมกำลังทหารที่เป็นลูกน้องคนสนิทของเขาไม่ทำตามคำสั่ง ยวนซีไขก็ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงต้องยกเลิกความคิดการขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และตรอมใจตายในที่สุด
เรื่องราวของหลีจีและยวนซีไข แม้มีรายละเอียดที่แตกต่างกันมาก และมีช่วงเวลาห่างกันกว่าสองพันปี แต่มีบทเรียนอย่างเดียวกัน คือ การทำความขั่ว ไม่ว่าจะใช้กลอุบายแยบยลเพียงใด ก็ต้องจบด้วยความหายนะของผ้ใช้กลอุบายนั้น
คำพังเพย ที่ว่า “ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” นั้น ไม่ถูกต้องเสมอไป ต้องดูว่า พยายามในเรื่องอะไร ใช้วิธีการอย่างไร บางคนอยากได้เงินทอง อยากได้อำนาจ ทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้อำนาจและเงินทองโดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด ศีลธรรมและจริยธรรม แม้จะสร้างความเสียหายแก่สังคมและประเทศชาติก็ยอมทำ ในที่สุด ตนเองก็เดือดร้อน และประสบกับความเสียหายเช่นกัน
ส่วนข้อคิดในกรณีของจิ้นเซี่ยนกงที่หลงรักนางหลีจี จนหลงกลนาง และจิ้นฮุ่ยกงที่โลภมาก ไม่รักษาวาจาสัตย์ จนทำให้รัฐจิ้นเกิดความวุ่นวายนั้น ก็เป็นบทเรียนตรงไปตรงมาสำหรับผู้มีอำนาจรัฐเช่นเดียวกัน