ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย (1)
“…อัตราค่าครองชีพที่เป็นจริงก็ยังสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ทางการประกาศมาก ทำให้ครัวเรือนไทยต้องก่อหนี้สินสูง โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท เกือบ 80% ต่อจีดีพี สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และติดอันดับ 11 ของโลก…”
ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังปรับโครงสร้างเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ (modern economy) สังคมไทยเองก็ปรับโครงสร้างเหมือนกัน โดยทำให้มีการขยายตัวของเขตเมือง และเกิดมีชนชั้นกลาง หรือ Middle Class มากยิ่งขึ้น และทุกประเทศก็มีโครงสร้างคล้ายๆ กัน คือ
1. มีมหาเศรษฐี หรือคนรวย เหลือกินเหลือใช้ … คนไทยที่รวย 1% ครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 60% ของประเทศ
2. มีชนชั้นกลาง ซึ่งแบ่งเป็น ชนชั้นกลางระดับบน ที่มีรายได้สูง มีความสะดวกสบายในการทำธุรกิจ หรือเป็นลูกจ้าง ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร กับ ชนชั้นกลางระดับล่าง ที่แม้จะมีความสะดวกสบายในการมีชีวิตอยู่ในสังคมเมือง แต่ต้องทำงานหนักและต้องต่อสู้เพื่อรักษาตำแหน่งหน้าที่การงาน ย้ายงานบ่อย มีรายได้ประจำ แต่อยู่แบบเดือนชนเดือน และมีหนี้สินสูง
3. ส่วนชนชั้นแรงงาน หรือชาวไร่ชาวนา ที่มีรายได้น้อย ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะว่า มีชีวิตอย่างขัดสน หาเช้ากินค่ำ มีหนี้สินล้นพ้น ต้องปากกัดตีนถีบอยู่ตลอดเวลา
กล่าวโดยรวมแล้ว ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างของไทยมีรายได้ไม่พอรายจ่าย ต้องต่อสู้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน และขึ้นเร็วกว่า สูงกว่ารายได้
นอกจากนี้ อัตราค่าครองชีพที่เป็นจริงก็ยังสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ทางการประกาศมาก ทำให้ครัวเรือนไทยต้องก่อหนี้สินสูง โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท เกือบ 80% ต่อจีดีพี สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และติดอันดับ 11 ของโลก
การที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนรวยทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ แต่การที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศกินดี อยู่ดี รวมทั้งยกระดับชนชั้นกลางให้เข้มแข็งและมีจำนวนมากขึ้น เป็นเป้าหมายสำคัญ ทั้งเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถในการบริหารประเทศ
จึงต้องพูดถึงเรื่องของชนชั้นกลางโดยเฉพาะ
เพราะว่าชนชั้นกลางเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า
เพราะชนชั้นกลางคือกลุ่มสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ
วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด