jos55 instaslot88 Pusat Togel Online เลือกตั้งอิรัก 2021 กับฉากทัศน์การเมืองชีอะห์และบทบาทอิหร่าน ตอนที่ 1 - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

เลือกตั้งอิรัก 2021 กับฉากทัศน์การเมืองชีอะห์และบทบาทอิหร่าน ตอนที่ 1

เลือกตั้งอิรัก 2021 กับฉากทัศน์การเมืองชีอะห์และบทบาทอิหร่าน ตอนที่ 1

ดร.ประเสริฐ สุขศาส์กวิน

ศูนย์อิสลามศึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม

 

เกริ่นนำ

ทันทีที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2021ที่ผ่านมาว่า อิรักได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทั่วประเทศ ทำให้โลกการเมืองอิสลามตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการเมืองในอิรักถูกจับตาอีกครั้ง  เพราะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ทั้ง 329 ที่นั่ง โดยพรรคการเมืองซึ่งต้องการครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดต้องชนะการเลือกตั้งให้ได้ไม่น้อยกว่า 165 ที่นั่ง เพื่อความได้เปรียบในการเสนอชื่อ และการลงมติรับรองผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี

เดิมทีการเลือกตังครั้งนี้ต้องเกิดขึ้นในปี 2022 แต่รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินใจจัดการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น 1 ปี สืบเนื่องจากการประท้วงของประชาชนในกรุงแบกแดด และเมืองใหญ่หลายแห่งทางตอนใต้ของอิรัก เมื่อปลายปี 2019 เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ การลุกฮือครั้งดังกล่าวของประชาชนยืดเยื้อนานหลายเดือน และมีรายงานผู้เสียชีวิตมากกว่า 600 ราย

ข้อมูลเบื้องต้นจากคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า ชาวอิรักมากกว่า 24 ล้านคนมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ จากจำนวนประชากรทั้งประเทศราว 40 ล้านคน และมีผู้สมัครสมาชิกรัฐสภาจำนวนทั้งสิ้น 3,449 คน  จากหลากหลายพรรคการเมืองและเป็นการกระบวนการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 5  นับตั้งแต่กองทัพสหรัฐบุกเข้ามาโค่นอำนาจรัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น จากปีค.ศ.2003

ได้มีจำนวนชาวอิรักกลุ่มหนึ่งได้ต่อต้านและไม่สนับสนุนการเลือกตั้งครั้งนี้ พวกเขาถือว่า “ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” โดยเป็นเพียงการแข่งขันระหว่างสองขั้วการเมืองภายในอิรักและตัวแสดงภายนอก นั่นเป็นการแข่งขันระหว่างขั้วอำนาจทางการเมืองในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ เพื่อแย่งชิงความได้เปรียบทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาผลการเลือกตั้งจำนวน ส.ส.  329 ที่นั่ง ทำให้กลุ่มการเมืองชีอะห์ของซัยยิด มุกตะดา ศ๊อดร์ ได้ไป 73ที่นั่ง ซึ่งถือว่าได้คะแนนนิยมเพิ่มมากกว่าเลือกตั้งในปี2018 ซึ่งได้ 54ที่นั่ง และพรรคจากกลุ่มของซุนนีนำโดยมุฮัมมัด ฮัลบูซี ประธานรัฐสภา  ได้ไป41ที่นั่ง  กลุ่มการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีนายนูรี อัลมะลิกีได้ไป 38ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปไตยชาวเคอร์ด(KDP)  ได้ไป37ที่นั่ง แต่ที่น่าจับตาคือพรรคการเมืองที่สนับสนุนโดยอิหร่านคือพรรคกองกำลังบะดัร(ตัวแทนอิหร่าน)นำโดยนายฮาดี ฮามีรี่ ได้ไปแค่14ที่นั่งซึ่งการเลือกตั้งปี2018ได้ไปถึง 38ที่นั่งจนเกิดตั้งคำถามว่าอิทธิพลของอิหร่านในอิรักกำลังถดถอยใช่หรือไม่?หรืออิหร่านมียุทธศาสตร์ทางการเมืองต่ออิรักแบบไหน? และยังมีพรรคเล็กๆของมุสลิมนิกายซุนนีและชาวเคร์อดได้จำนวนส.ส.ไล่เรียงกันไปตามลำดับ

ผลการเลือกตั้งล่าสุดนี้ทำให้กลุ่มปีกการเมืองชีอะห์ของซัยยิด มุกตะดา ศ๊อดร์ได้คะแนนมากที่สุดทำให้การเมืองอิรักร้อนฉ่าอีกครั้งเพราะว่ากลุ่มการเมืองของนายมุกตะดานั้นดูแล้วค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของอิหร่านที่เข้ามาแทรกแซงอิรักเท่าไหร่นักและเขายังได้ต่อต้านการดำรงอยู่ของสหรัฐฯในอิรักอย่างหนัก แต่กลับกันซัยยิด มุกตะดา ศ็อดร์กลับสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาติอาหรับได้ดีทีเดียวโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอารเบีย คูเวตและกลุ่มประเทศอ่าวฯ จนเกิดคำถามน่าสนใจว่าแล้วการเมืองอิรักหลังจากการเลือกตั้งจะก้าวไปทิศทางใด?ฉากทัศน์ทางการเมืองชีอะห์จะเป็นอย่างไร?และอิทธิพลอิหร่านต่ออิรักเป็นเช่นไร? แต่บรรดานักวิเคราะห์มองว่าเป็นไปได้ยากการเมืองในอิรักวันนี้จะมีเสถียรภาพและจะสร้างความหวังให้กับชารวอิรักด้วยกับกลุ่มการเมืองหน้าใหม่ในขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองของชีอะห์จะเข็มแข็งมากขึ้นแต่จะไปได้นานแค่ไหนนั้นต้องคอยจับตาดูกันหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

นายอะลี มะฮ์ดี นักเคลื่อนไหวทางการเมืองของอิรักได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอิรักอัลมุดาไว้น่าสนใจว่าการออกกฏหมายใหม่การเลือกตั้งและทำให้การเลือกตั้งเร็วกว่าเดิมมาหนึ่งปีนั้น ไม่ได้สร้างความหวังให้กับประชาชนอะไรได้มากนักหรือจะเกิดการปฏิรูปการเมืองในอิรักได้ โดยที่นายอะลี มะฮ์ดียังตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งเร็วกว่ากำหนดนี้คือการทำให้การเมืองเลวร้ายลงไปอีก  เขากล่าวว่า เราก็รู้ดีว่าการต่อสู้ทางการเมืองในพรรคต่างๆแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองกันมากที่สุดแต่เรานักการเมืองจำเป็นต้องรับกฏหมายการเลือกตั้งนั้นด้วยการถูกบีบบังคับซึ่งนั่นคือการกดดันที่มาจากประชาชน

ประเทศอิรักเป็นประเทศในตะวันออกกลาง มีอาณาเขตทางทิศเหนือจรดประเทศตุรกี ทางทิศตะวันออกจรดประเทศอิหร่าน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จรดประเทศคูเวต ทางทิศใต้จรดประเทศซาอุดีอาระเบีย ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดประเทศจอร์แดน และทางทิศตะวันตกจรดประเทศซีเรีย และประเทศอิรักถูกควบคุมโดยพรรคบาธสังคมนิยมอาหรับตั้งแต่ ค.ศ. 1968 ถึง 2003 หลังการบุกครองโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร พรรคบาธของซัดดัม ฮุสเซนถูกโค่นจากอำนาจและมีการจัดการเลือกตั้งรัฐสภาหลายพรรคการเมืองและได้ผ่านการเลือกตั้งมาถึง5ครั้งแล้ว

สังคมของอิรักเป็นสังคมหลากหลายชาติพันธุ์ เป็นเหตุมาจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เป็นแหล่งอารยธรรมมาหลายพันปี พลเมืองของอิรักที่นับถือศาสนาอิสลามนั้น ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ มุสลิมชีอะห์(ร้อยละ 65) และ มุสลิมสุหนี่ (ร้อยละ 20) นอกจากนี้ยังมีชาวเคิร์ด อยู่ในบริเวณเคอร์ดิสถาน ชาวเคริ์ดในอิรักมีอยู่ประมาณ 3,700,000 คน สิทธิและความเท่าเทียมในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Autonomous Region) ซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ มีพื้นที่รวมบางส่วนของจังหวัดทางเหนือและเป็นเขตปกครองตนเองของชาวเคิร์ด

ย้อนดูบทบาททางการเมืองของชีอะฮ์ในอิรัก

การขึ้นมาปกครองของพรรคสังคมนิยมบาธถือว่าเป็นช่วงเลวร้ายของชีอะฮ์ในอิรัก เพราะชีอะฮ์จะถูกควบคุมและไม่ให้มีอำนาจทางการเมือง   ชีอะฮ์จึงได้สร้าสังคมและทางการเมือง  ๒ ลักษณะ หนึ่งการธำรงไว้วัฒนธรรมประเพณีเดิมที่ได้ยึดมั่นผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำศาสนา(มัรเยี๊ยะ)ในด้านสังคมและการเมือง สองการตั้งกลุ่มการเมืองต่างๆขึ้น ไม่ว่าจากสายตระกูลใหญ่ๆอิรัก อย่างสายตระกูล ศ๊อดร์  สายตระกูลฮากีม    การการจัดตั้งการเมืองในระดับที่สูงกว่าอย่างตั้งพรรคดะวะตุลอิสลามี  พรรคมัจลิสอะลา

พรรคฮิซบุดะวะติลอิสลามียะฮ์ได้ก่อตัวขึ้นในปีค.ศ.1950 โดยการรวมตัวของบรรดาอุลามาห์ชีอะห์กลุ่มหนึ่ง  สาเหตุจากการรุกคืบของแนวคิดแบบสังคมนิยมและการแยกศาสนาออกจากการเมืองและความไม่เป็นธรรมในสังคมอิรัก จนในปีค.ศ. 1957 ได้นัดประชุมครั้งแรก ณ บ้านของอายาตุลลอฮ์ ซัยยิด มุฮัมมัด บาเกร ศ๊อดร์ และได้วางรากฐานทางการเมืองเริ่มระดับแรกคือการสร้างอุดมการณ์อิสลามการเมืองและการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของอิรักโดยสร้างแนวร่วมทางการเมืองทุกฝ่าย จนสามารถสร้างอำนาจทางการเมืองในอิรักได้อย่างน่าสนใจมาก และต่อมากลุ่มการเมืองกลุ่มนี้นี้มีความทันสมัย โดยยอมรับในระบอบรัฐสภาที่มีรัฐธรรมนูญและยอมรับการเลือกตั้ง หลังจากนั้นกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ได้เริ่มด้วยการออกคำฟัตวาห์ต่อต้านการปกครองของพรรคบาธโดยการนำของซัดดาม อุสเซน ในปีค.ศ.1980 โดยอายาตุลลอฮ์ ซัยยิด มุฮัมมัด บาเกร ศ๊อดร์  เริ่มขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐของซัดดาม อุสเซนในเมืองนะจัฟ ทำให้คนหนุ่มสาวอิรักเข้าร่วมอุดมการณ์อย่างมากของพรรคฮิซบุดะวะติลอิสลามียะฮ์อย่างมากทีเดียว  และพรรคฮิซบุดะวะฮ์ฯนี้ได้สืบเนื่องมาจนถึงวันนี้และถือว่าเป็นพรรคการเมืองชีอะห์ที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก

องค์การแรงงานอิสลาม  (มุนัซซอม อะมัลอิสลามี)ได้เริ่มก่อตัวทางสังคมและการเมืองในปี1961 โดยอายาตุลลอฮ์ มุฮัมมัด ชีรอซี ได้ก่อตัวขึ้นในเมืองกัรบาลา  โดยมีนโยบายต่อต้านแนวคิดคอมมิวนิสต์  แลจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างกองกำลังอาสาสมัครของชีอะฮฺเพื่อไปสู่อิสลามการเมือง

มัจลิสอะลา อินกิลาบ อิสลามี ฟี อิรักได้จัดตั้งขึ้นโดย ซัยยิด มุฮัมมัด บาเกร ฮากีม ปี1982  ได้มีนโยบายเรียกร้องทุกนิกายทุกศาสนาเพื่อเข้าร่วมการจัดตั้งการเมืองแบบใหม่ เป็นการเมืองแบบอิสลามและต่อต้านพรรคบาธที่มีซัดดาม อุสเซนเป็นผู้นำ

กลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ได้มองว่ารัฐอิสลามอิหร่านเป็นต้นแบบและพวกเขาได้รับแรงบรรดาลใจจากการปฎิวัติในอิหร่าน1983 โดยการนำของอายาตุลลอฮ์อิมามโคมัยนี  และต่อมาในปีค.ศ.1983 ได้จัดตั้งกองกำลังเป็นของตัวเองและยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับชาวเคิร์ดในภาคเหนืออิรัก จนกระทั้งในปี 1987 ได้ผนึกกำลังระหว่างกันในต่อต้านระบอบซัดดามอุสเซน ต่อมาพรรคการเมืองนี้ได้จัดตั้งกองกำลัง มี ๓ หน่วย  หนึ่ง กองกำลังพิเศษ ชื่อว่า”กองกำลังบะดัร”เป็นกองกำลังภายในรักษาความมั่นคงภายในของอิรักและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองกำลังกุดส์ IRGCของอิหร่าน  สอง กองกำลังเตรียมการ  สาม กองกำลังอาสาสมัครและต่อมาพรรคมัจลิสอะลาอิสลามีนี้ได้รวมผนึกกำลังกันกับพรรคดะวะตุลอิสลามี  ต่อมาพวกเขาได้สร้างเครือข่ายในต่างประเทศและตั้งสำนักงานในต่างประเทศและหลังจากการล่มสลายของระบอบซัดดามสองพรรคการเมืองใหญ่นี้ได้รวมตัวกันและทำงานไปในทิศทางเดียวกันพร้อมกับมียุทธศาสตร์ทางการเมืองเพื่อสร้างอิสลามการเมืองในอิรักที่ยอมรับความครอบคลุมทุกๆนิกายและศาสนาต่างๆ อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมความเป็นชีอะห์ นั่นคือการยึดมั่นต่อผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำทางศาสนาสูงสุดต่ออายาตุลลอฮ์ ซิสตานี ในเมืองนะยัฟ

กลุ่มการเมืองศอ๊ดร์ หรือขบวนการทางการเมืองมุกตะดา ศ๊อดร์

การเลือกตั้ง2021ที่ผ่านมาของอิรักทำให้ชื่อของซัยยิดมุกตะดา ศ็อดร์ถูกกล่าวถึงในสื่อกระแสหลักและสื่อท้องถิ่นเองอย่างหนาหูมากขึ้นทีเดียว เพราะว่าคะแนนเลือกตั้งของกลุ่มการเมืองศ็อดร์ได้เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งในปี2018 จำนวนมากทีเดียวซึ่งการเลือกตั้งครั้งก่อนได้ไป50กว่าที่นั่ง แต่ครั้งนี้ได้มากถึง73ที่นั่ง  และยังถือว่าเป็นพรรคการเมืองมากที่สุดอีกด้วย จึงทำให้เขามีสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล  ถึงแม้ว่าการมาลงคะแนนเลือกตั้งของชาวอิรักครั้งนี้น้อยกว่าครั้งก่อนก็ตาม แต่ก็ถือว่ามีนัยยะสำคัญของทิศทางการเมืองในอิรักอย่างมากทีเดียว

ได้มีรายงานว่า ซัยยิดมุกตะดา ศ็อดร์ได้ส่งจดหมายเชิญยังพรรคการเมืองอื่นๆเพื่อจัดตั้งรัฐบาล  ได้รายงานว่า ซัยยิดมุกตะดา ศ็อดร์กล่าวว่า  คณะกรรมาธิการการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองนั้น เป็นคนของเรา และคนอื่นไม่มีสิทธ์เข้ามาแทรกแซง

ถ้าย้อนดูประวัติย่อๆของซัยยิด มุกตะดา ศ็อดร์แล้ว จะพบว่าเขานั้นทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นของกลุ่มการเมืองนี้คือเขาได้รวบรวมชาวอิรักที่เป็นคนหนุ่มสาวจำนวนมากมายและถือว่าเป็นความหวังของชาวอิรักยุคใหม่เพื่อเข้าถึงประชาชนที่ยากจนและเขาได้รวบรวมกลุ่มก้อนที่เป็นสายตระกูล อัศศ๊อดร์ เข้าด้วยกัน  ต่อมาเขาได้จัดตั้งกองกำลังอาสา”เยชุลมะฮ์ดี(กองกำลังอิมามมะดี)”  จุดเด่นของขบวนการศ๊อดร์ คือเขาได้นำเรื่องปัญหาปาเลสไตน์ผูกโยงกับปัญหาในอิรักและเขาสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธฮามาสต่อสู้กับอิสราเอลและยังสนับสนุนกลุ่มกองกำลังฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอนอีกด้วย และซัยยิดมุกตะดา ศ็อดร์ยังทำงานร่วมกับกลุ่มการเมืองของนิกายซุนนีในเขตพื้นที่ฟะลูจา และจุดยืนขบวนการการเมืองซัยยิดมุกตะดา อัศศ็อดร์ ต่อต้านสหรัฐฯอย่างรุนแรงและเรียกร้องให้สหรัฐฯถอนฐานทัพออกไปจากอิรัก ไม่ต่อต้านกลุ่มชีอะอ์อื่นๆ  เรียกร้องความเป็นเอกภาพในหมู่ชีอะห์และไม่เผชิญหน้ากับผู้นำทางจิตวิญญาณระดับสูงชีอะฮ์อย่างอายาตุลลอฮ์ ซิสตานี มีความสัมพันธ์อันดีกับอิหร่าน ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายทางการเมืองแตกต่างกันอยู่บ้างก็ตาม และเขายังมีแนวคิดสร้างเมือง”อัศศ๊อดร์” ในแบกแดดรวบรวมประชาชนจะอยู่รวมกันมากถึงสองล้านคน

ซัยยิด มุกตะดา อัศศอดร์ เคยเอนเอียงไปทางอาหรับ และได้แสดงความเห็นที่ต่างการเมืองกับอิหร่าน แต่ในเวลาต่อมา ซัยยิดมุกตะดา อัศศอดร์ กับการปรากฏตัวของเขากับผู้นำสูงสุดอิหร่าน อายาตุลลอฮ์ ซัยยิด อะลี คามาเนอี ชี้ให้เห็นว่าอัศศอดร์กำลังหารือเรื่องการเมืองกับผู้นำสูงสุดอิหร่าน และการได้คะแนนจำนวนส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้นั้น ทำให้เป็นที่จับตามองว่าท่าทีของซัยยิดมุกตะดา ศ็อดร์กับอิหร่านเป็นอย่างไร แล้วเราค่อยมากล่าวกันในตอนต่อไป.

 

 

 

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *