โอกาสที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์
คอลัมน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ทหารประชาธิปไตย
โอกาสที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์
แม้ว่าสหรัฐฯ และสหพันธรัฐรัสเซีย จะมีสนธิสัญญาในการลดอาวุธนิวเคลียร์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีค.ศ.1991 ที่เรียกว่า START I (Strategic Arms Reduction Treaty) ที่ลงนามโดยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีมิคาเอล โกบาชอพ แห่งสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ.1991 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 5 ธันวาคม ค.ศ.1994 โดยกำหนดว่าจะมีหัวรบนิวเคลียร์ไม่เกิน 6,000ลูกและICBM ขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ข้ามทวีปไม่เกิน 1,600ลูกซึ่งรวมถึงจำนวนระเบิดที่ใช้บรรทุกในเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล
และเมื่อสนธิสัญญา START I หมดอายุก็มีการลงนามในสนธิสัญญา START ใหม่ เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ.2010 หมดอายุ 5 กุมภาพันธ์ 2026 โดยมีผลบังคับใช้ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2011
อย่างไรก็ตามโดยธรรมเนียมปฏิบัติก่อนสนธิสัญญานี้จะหมดอายุประมาณ 5 ปี คือประมาณปีค.ศ.2021 จะต้องเริ่มมีการเจรจากันเพื่อร่างสนธิสัญญาที่ปรับปรุงใหม่ แต่จนบัดนี้จะสิ้นปี 2022 แล้ว ก็ยังไม่มีการเจรจาจากทั้ง 2 ฝ่าย แม้ทางฝ่ายรัสเซียจะได้เคยพยายามเร่งเร้าให้มีการเจรจาเมื่อต้นปีค.ศ.2021 ก็ตาม
จวบจนกระทั่งเกิดความขัดแย้งในยูเครน ก็ยิ่งไม่มีการกล่าวถึงการกลับมาเจรจาเรื่องการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียอีกเลย ทว่าท่าทีของทั้ง 2 ฝ่ายคือสหรัฐฯ และรัสเซีย กลับมีท่าทีในทางตรงข้าม คือเตรียมพร้อมในการใช้อาวุธนิวเคลียร์หากมีความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น
ล่าสุดประธานาธิบดีปูตินประกาศว่าจะทำการทบทวนระบบการใช้อาวุธนิวเคลียร์เสียใหม่ จากระบบการตอบโต้หากถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ มาเป็นระบบการโจมตีก่อนหากมีข้อมูลว่าจะถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากฝ่ายตรงข้าม เช่นเดียวกับระบบการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่มีอยู่เดิม
เพียงแค่นี้สื่อตะวันตกก็ประโคมโหมข่าวว่าประธานาธิบดีปูติน เตรียมจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หากความขัดแย้งขยายตัวรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ตะวันตกคาดว่าปูตินอาจตั้งใจหรือต้องการขู่ตะวันตก จากกรณีที่มีการสนับสนุนให้ยูเครนโจมตีเข้ามาให้ดินแดนของรัสเซีย ดังเช่น การโจมตีฐานบินทิ้งระเบิดของรัสเซียถึง 3 แห่ง ในระยะเวลาติดต่อกัน และฐานบินเหล่านี้ก็อยู่ลึกเข้ามาในดินแดนรัสเซียถึงกว่า 700 กิโลเมตร แถมยังอยู่ไม่ห่างสถานที่เก็บหัวรบนิวเคลียร์ของรัสเซีย และนี่คือช่องโหว่ของระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ทำให้รัสเซียตระหนก
ความตึงเครียดอันเกิดจากความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งในความเป็นจริงคือ สงครามระหว่างนาโต้และรัสเซีย ที่มาใช้ยูเครนเป็นสนามรบนั้น นับวันยิ่งขยายตัวและรุนแรงขึ้น โดยฝ่ายตะวันตกก็เปิดเผยตัวในการให้การสนับสนุน ตลอดจนการส่งทหารไปช่วยยูเครนมากขึ้น ทำให้เกิดความวิตกว่ามันอาจขยายตัวไปสู่การเปิดสงครามใหญ่ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์
จากการศึกษาของสถาบัน Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ได้รายงานว่ายุคแห่งการแข่งขันในการสร้างสมอาวุธนิวเคลียร์ได้เริ่มขึ้นแล้ว และจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 10 ปี (หากไม่เกิดสงครามเสียก่อน)
ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันระบุว่า ทั้ง 9 ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ คือ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล และเกาหลีเหนือ ต่างก็ได้เพิ่มการลงทุนในการปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น นั่นคือปรับปรุงอานุภาพของการระเบิด และอุปกรณ์ส่งระเบิด เช่น จรวดข้ามทวีปเร็วกว่าเสียง จรวดหลายหัวรบ หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหนเป็นต้น
ในขณะที่รายงานของ SIPRI พบว่าจำนวนหัวรบนั้นลดลงจากปี 2021 นั่นคือ ปี 2022 มีหัวรบ 12,705 ในขณะที่หัวรบนิวเคลียร์ในปี 2021 มี 13,080 แต่อย่าพึ่งดีใจเพราะหัวรบนิวเคลียร์ที่ลดลงนั้น เกิดจากการที่ทั้งสหรัฐฯ และ รัสเซียปลดระวางหัวรบที่หมดอายุไป ซึ่งได้มีการวางแผนมาหลายปีแล้ว แต่หัวรบนิวเคลียร์หลัก ยังคงเท่าเดิม โดยอาจมีการทดแทนด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำลายล้างมากขึ้น
นอกจากนี้เพื่อเพิ่มเขี้ยวเล็บในการปฏิบัติการทางทหาร แม้จะไม่เพิ่มอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ (Srategic Neuclear War Head) มหาอำนาจทางอาวุธนิวเคลียร์ได้ทำการเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical Neuclear War Head)
ทั้งนี้รัสเซียและสหรัฐฯรวมกันมีอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี 90% โดยรัสเซียมีถึง 1,912 หัวรบ ในขณะที่สหรัฐฯก็มีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน และส่วนใหญ่ติดตั้งในยุโรป
ในขณะที่จีนก็กำลังรีบเร่งเพิ่มอาวุธนิวเคลียร์ทั้งการเพิ่มไซโล ของจรวดอีก 300 แห่ง และมีการติดตั้งในเรือดำน้ำทั้งเครื่องดีเซล และขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์ที่เพิ่มเป็น 3 ลำ
สหราชอาณาจักรได้ปฏิเสธการลดอาวุธที่เคยสนับสนุนมานับสิบปี โดยการวิพากษ์วิจารณ์รัสเซีย และจีนในขณะที่ได้มีโครงการเพิ่มอาวุธนิวเคลียร์ในระยะอันใกล้ตลอดจนการให้การช่วยเหลือออสเตรเลียในการสร้างเรือดำน้ำนิวเคลียร์ร่วมกับสหรัฐฯ
ส่วนฝรั่งเศสได้ประกาศเริ่มโครงการนิวเคลียร์รุ่น 3 ในการติดตั้งบนเรือดำน้ำ ด้านอินเดีย ปากีสถาน และอิสราเอล ต่างก็มีโครงการปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ของตนให้ทันสมัย แม้ว่าอิสราเอลจะไม่เคยยอมรับหรือปฏิเสธว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ข่าวกรอง หรือแม้แต่สถาบันการศึกษาอาวุธนิวเคลียร์ต่างก็ทราบกันดีว่าอิสราเอลมีหัวรบนิวเคลียร์ไม่ต่ำว่า 100 ลูก
เกาหลีเหนือเมื่อไม่นานมานี้ได้ประกาศต่อโลกว่าตนเองเป็นรัฐนิวเคลียร์ และมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนให้ทันสมัย ทั้งความรุนแรงของหัวรบ และพิสัยทำการไกลขึ้นของจรวด โดยทำการทดลองถี่ขึ้น แม้ว่าในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาจะยังไม่มีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ก็ตาม แต่ก็เริ่มมีการเตรียมการที่จะทดลองในอนาคตอันใกล้ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าเกาหลีเหนือมีหัวรบประมาณ 20 หัว และมีวัตถุดิบที่จะผลิตได้อีก 20-25 หัวรบนิวเคลียร์
ดังนั้นความเสี่ยงในการเกิดสงครามนิวเคลียร์จึงเพิ่มมากขึ้นจนนับได้ว่าสูงที่สุดนับจากเริ่มสงครามเย็น ในขณะที่สหรัฐฯก็เพิกเฉยที่จะให้ความร่วมมือในการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์อย่างทั่วถึง แต่กลับมีการเลือกปฏิบัติกับบางประเทศ
ทว่าความเสี่ยงที่มีอัตราสูงก็คือการใช้หัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี ซึ่งระบบการควบคุมมีความซับซ้อนน้อยกว่าหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการใช้หัวรบทางยุทธวิธีในยุโรป หรือการที่ยูเครนมีระเบิดสกปรก “Dirty Bomb” ในครอบครองก็อาจกลายเป็นตัวจุดชนวนสงครามนิวเคลียร์ หากมีการนำไปใช้ในพื้นที่ของรัสเซีย เหมือนการใช้โดรนโจมตีฐานบินรัสเซียเมื่อไม่นานมานี้
อนึ่งแรงกดดันจากการคุกคามว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น อาจทำให้บางประเทศ เช่น อิหร่าน หรือ ญี่ปุ่นจำต้องหันมาพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ของตนก็เป็นไปได้ และนั่นก็คือการเพิ่มความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์ในอนาคต