jos55 instaslot88 Pusat Togel Online ปาเลสไตน์ - ฮามาส ความขัดแย้งครั้งที่ 4 ตอนที่ 1 - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

ปาเลสไตน์ – ฮามาส ความขัดแย้งครั้งที่ 4 ตอนที่ 1

ปาเลสไตน์ – ฮามาส ความขัดแย้งครั้งที่ 4 ตอนที่ 1

จรัญ มะลูลีม

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2021 หนึ่งชั่วโมงหลังจากอิสราเอลออกคำสั่งให้ประชาชนอพยพทันทีออกจากตึกที่มีชื่อว่า อัล-ญะลาอะฮ์ (Al-Jalaa) อันเป็นที่รวมของสำนักข่าวหลายแห่ง เช่นเอพี (AP) และอัล-ญะซีเราะฮ์ (Al-Jazeera) ระเบิดก็พุ่งตรงลงมาที่ตึกดังกล่าวซึ่งได้กลายเป็นเป้าหมายของการโจมตี  โดยอิสราเอลอ้างในเวลาต่อมาว่าตึกดังกล่าวเป็นที่พักอาศัยของสำนักข่าวกรองแห่งเมืองกาซ่า

สำนักงานของ Associated Press และ Al-Jazeera ซึ่งเป็นตึกสูงถูกถล่มทางอากาศ  พร้อมๆ ไปกับตึกและสำนักงานที่อยู่ในบริเวณนั้นอีกหลายแห่ง

การถล่มตึกสำนักข่าวเกิดขึ้นหลังจากอิสราเอลโจมตีทางอากาศในเมืองกาซ่าและสังหารชาวปาเลสไตน์ไป 10 คนเป็นอย่างน้อย   ซึ่งรายงานจาก AP กล่าวว่าส่วนใหญ่เป็นเด็ก

หลังจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและขบวนการฮามาสขยายตัวออกไป  ชาวปาเลสไตน์ก็ได้เห็นการประท้วงที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างไกลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  คนหนุ่มสาวปาเลสไตน์ที่เดินขบวนอยู่ทั่วไปได้ออกมาปะทะกับทหารอิสราเอลจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกันอย่างน้อย 11 คน

ในเวลาเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียได้เรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกองค์กรที่ใหญ่ที่สุดของชาวมุสลิมอย่าง OIC ให้มีการประชุมร่วมกันในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2021

การรวมตัวดังกล่าวก็เพื่อพูดคุยกันในเรื่องการใช้ความรุนแรงของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์  ทั้งนี้ตำรวจอิสราเอลได้ใช้กำลังต่อต้านผู้ประท้วงที่มัสญิดอัล-อักศอ (Al-Aqsa Mosque) ในนครเยรูซาเล็มในช่วงปลายเดือนเราะมะฎอนหรือเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอดพร้อมกันทั่วโลก

โดยซาอุดีอาระเบียจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดทางออนไลน์  พร้อมกับรัฐมนตรีต่างประเทศขององค์การความร่วมมืออิสลาม 57 ประเทศเพื่อ “พูดคุยถึงการรุกรานของอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ของมัสญิดอัล-อักศอ

อย่างน้อยชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารไป 7 คน เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2021 หลังจากอิสราเอลถล่มบ้านเรือนในเมืองกาซ่า    ความรุนแรงเริ่มขึ้นเมื่ออิสราเอลยิงถล่มมาจากรถถัง ซึ่งตามมาด้วยการถล่มทางอากาศที่เมืองกาซ่าหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าฉนวนกาซ่า

อิสราเอลกล่าวว่าการถล่มดังกล่าวถือเป็นการถล่มเพื่อเปิดทางไปสู่อุโมงค์ของเครือข่ายผู้ต่อต้านอิสราเอลก่อนที่อิสราเอลจะใช้การรุกรานทางภาคพื้นดินต่อไป    ในขณะเดียวกันความรุนแรงในเวสต์แบงก์เผยให้เห็นถึงคลื่นของความไม่สงบอันเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากการขยายตัวของความขัดแย้งอิสราเอล-กาซ่า

ท่ามกลางการถูกถล่มอย่างต่อเนื่องในเมืองต่างๆ ของอิสราเอล กองกำลังของอิสราเอลก็เพิ่มความรุนแรงด้วยการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ และการถล่มทางอากาศ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่อุโมงค์ของผู้ต่อต้านอิสราเอลที่อยู่ในเมืองกาซ่า  ซึ่งถูกเรียกว่า “เมโทร”

ความขัดแย้งอิสราเอล-ขบวนการฮามาสขยายตัวออกไปในหลายแห่ง   รวมทั้งกลุ่มก้อนของผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย  อย่างเช่นอิหร่าน ซึ่งหนุนขบวนการฮามาสกับออสเตรียที่หนุนอิสราเอล   ทั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านได้ยกเลิกการเยือนออสเตรียในกรุงเวียนนา  หลังจากผู้นำออสเตรียและรัฐมนตรีต่างประเทศโบกธงอิสราเอลเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับอิสราเอลอันเนื่องมาจากความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

โดย Die Presse ซึ่งเป็นสื่อของออสเตรียได้รายงานถึงการตัดสินใจยกเลิกการเดินทางของรัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านดังกล่าว

 

ความพยายามในการสนับสนุนการหยุดยิงพลเรือนในเมืองกาซ่า

สิทธิในการปกป้องตนเองไม่ได้หมายถึงการถล่มประชาชนอย่างไม่เลือกหน้าในเมืองกาซ่า

นับจากกองกำลังของอิสราเอลถล่มมัสญิด อัล-อักศอ เมื่อวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2021 ในตอนเช้าจนถึงอิสราเอลถล่มเมืองกาซ่าทางอากาศและการใช้ปืนใหญ่ในค่ำคืนวันพฤหัสบดีเพื่อโต้ตอบกับจรวดของขบวนการฮามาสได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ขยายตัวสู่อันตรายในระยะเวลาไม่กี่วัน

อย่างน้อยชาวปาเลสไตน์ 119 คน เด็กๆ อีก 31 คน ต้องจบชีวิตลงจากการโจมตีของอิสราเอลในเมืองกาซ่ามาตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม

ชาวอิสราเอลถูกสังหารไป 9 คน จากการโจมตีด้วยจรวดของปาเลสไตน์  รวมทั้งเด็กเชื้อสายอินเดียหนึ่งคน

ขณะที่เขียนเรื่องนี้อยู่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะไม่ยุติการต่อสู้ทั้งๆ ที่ได้รับการเรียกร้องจากนานาชาติ

ทั้งนี้อิสราเอลไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบจากวิกฤตการณ์ที่รายล้อมภูมิภาคนี้ได้  สิ่งที่ปรากฎให้เห็นก็คือความเบื่อหน่ายและความไม่พอใจในหมู่ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ยึดครองที่แลเห็นการขยายพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชาวยิวในเขตยึดครองอยู่ตลอดเวลา

ความไม่พอใจนี้มาจากการจัดการของเจ้าหน้าที่อิสราเอล  ในนครเยรูซาเล็มตะวันออกและความเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเรือนของพวกเขาในชัยค์  ญัรเราะฮ์ (Sheikh jarrah) โดยให้ชาวยิวเข้าไปอยู่แทนอันนำไปสู่ความโกรธเคืองยิ่งขึ้นไปอีก

กองกำลังฮามาส ซึ่งถือกันว่าเป็นกลุ่มต่อต้านการยึดครองหลักจึงยื่นข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่ของอิสราเอลถอนตัวออกจากมัสญิดอัล-อักศอ เมื่อไม่สำเร็จจึงใช้จรวดโจมตีทำให้ความขัดแย้งขยายตัวในเวลาต่อมา

อิสราเอลจึงประกาศที่จะทำลายล้างโครงสร้างของฝ่ายต่อต้านปาเลสไตน์  แต่อิสราเอลก็รู้ว่าไม่ได้ทำได้อย่างง่ายๆ

ในปี 2014 อิสราเอลต้องใช้เวลาถึงเจ็ดสัปดาห์สำหรับปฏิบัติการณ์ในแบบเดียวกัน 7 ปีต่อมาฮามาสก็ยิงจรวด 1,800 ลูกถล่มอิสราเอลห้าวันติดต่อกัน

ท่ามกลางโวหารที่มาจากทั้งสองฝ่าย   สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหตุการณ์ที่มีแต่เสียกับเสีย (loss-loss situations) ซึ่งพลเรือนต้องกลายเป็นเหยื่อจรวดของขบวนการฮามาสและของอิสราเอล

ในขณะที่ Iron Dome ซึ่งเป็นระบบป้องกันจรวดที่ส่วนหนึ่งสหรัฐมอบให้และอีกส่วนหนึ่งที่อิสราเอลผลิตเองสามารถป้องกันจรวดที่มาจากกาซ่าได้เป็นส่วนใหญ่  แม้ว่าประชาชนอิสราเอลจำนวนหนึ่งจะถูกโจมตีด้วยจรวดของปาเลสไตน์ที่เล็ดรอดจากการติดตามของ Iron Dome มาได้ก็ตาม

การจลาจลทำให้ประธานาธิบดี Rewven Rivlin หวาดหวั่นว่าสงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้นรัฐบาลจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางแห่ง   รวมทั้งใจกลางเมืองล๊อด (Lod)

นี่เป็นการใช้ระเบียบและกฎหมายที่เอาจริงเอาจังที่สุดต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นภายในอิสราเอลนับตั้งแต่มีการลุกฮือเพื่อการปลดปล่อยของชาวปาเลสไตน์หรืออินติฟาเฎาะฮ์ (Intifata) ครั้งที่ 2 ในปี 2000 ในทางกลับกันอิสราเอลได้เข้าบดขยี้ชาวปาเลสไตน์ในเมืองกาซ่าจนนำไปสู่การสูญเสียของเด็กๆ จำนวนมากโดยอิสราเอลอ้างถึงสิทธิในการป้องกันตัวเองตามที่สหรัฐและเยอรมนีให้การยอมรับแต่สิทธิดังกล่าวอิสราเอลก็ไม่อาจถล่มอย่างไม่เลือกหน้าต่อพลเรือนของเมืองกาซ่าได้

ทั้งนี้ประชาคมระหว่างประเทศมั่นใจว่าสหรัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรชิดใกล้ของอิสราเอลมีความสามารถที่จะกดดันให้ทั้งสองฝ่ายยุติความขัดแย้งดังกล่าวได้และควรรีบเร่งโดยไม่รั้งรอ  เนื่องจากคนจำนวนมากต้องมารับเคราะห์กรรมอันเนื่องมาจากความรุนแรงดังกล่าวในแต่ละวันที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน

ความรุนแรงเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เริ่มต้นเดือนเราะมะฏอนแล้วหลังจากเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม  ตำรวจอิสราเอลได้เข้ามาปิดกั้นประตูทางเข้ามัสญิดที่เรียกว่าประตูดามัสกัส (Damaskat Gate) ซึ่งอยู่ภายนอกเมืองเก่าในนครเยรูซาเล็มตะวันออกที่ถูกยึดครอง (Occupied Old City)

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม กองกำลังอิสราเอลบุกเข้าไปในมัสญิดอัล-อักศอในหะรอม อัล-ชารีฟ (Haram al-Sharif) แห่งนครเยรูซาเล็ม ก่อนหน้าที่ชาวอิสราเอลจะมีการเดินเฉลิมฉลองการรำลึกถึงการยึดเอาครึ่งหนึ่งของนครเยรูซาเล็มตะวันออกมาเป็นของตัวเองในปี 1967 การบุกเข้าไปในมัสญิดอัล อักศอของกองกำลังอิสราเอลดังกล่าวนำไปสู่การปะทะและการบาดเจ็บของชาวปาเลสไตน์ 300 คน

เพื่อโต้กลับการกระทำดังกล่าวขบวนการฮามาส ซึ่งบริหารฉนวนกาซ่าได้ยิงจรวดนับโหลออกไป  แต่อิสราเอลตอบโต้ด้วยการถล่มทางอากาศอย่างหนักหน่วง  สังหารชาวปาเลสไตน์ที่เมืองกาซ่าไป 21 คน รวมทั้งเด็กอีก 9 คน

 

ความขัดแย้งขยายตัว

เป็นที่รับทราบกันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าความรุนแรงได้ก่อตัวขึ้นในช่วงเริ่มต้นเดือนเราะมะฏอน ซึ่งตรงกับตอนกลางของเดือนเมษายน ดังได้กล่าวมาแล้ว  เมื่อชาวมุสลิมถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในมัสญิด อัล-อักศอ เมื่อการปะทะกันเกิดขึ้น ตำรวจได้เอาเครื่องกีดกั้นออกไปแต่ความรุนแรงก็ขยายตัวออกไปเรียบร้อยแล้ว

การข่มขู่ให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ในนครเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งอยู่ติดกับชัยค์ อัล-ญัรเราะฮ์ออกจากที่อยู่อาศัยของพวกเขาทำให้ความขัดแย้งขยายตัวในช่วงปลายของเดือนเราะมะฏอน

การปะทะกันเกิดขึ้นในค่ำคืนของวันที่ 7 ในนครเยรูซาเล็มระหว่างผู้ประท้วงปาเลสไตน์และตำรวจอิสราเอล ซึ่งชาวปาเลสไตน์นับร้อยและตำรวจอิสราเอลนับโหลได้รับบาดเจ็บ

องค์กรต่างๆ ของอิสราเอลอนุญาตให้มีการรวมตัวกันในวันที่เรียกกันว่า Jerusalem Day March ซึ่งโดยปกติกลุ่ม Zionist ขวาจัดจะเดินผ่านส่วนหนึ่งของดินแดนที่ชาวอาหรับอาศัยอยู่ในเมืองเก่า

ก่อนหน้าการรวมตัวกันในวันที่ 10 พฤษภาคม กองกำลังของอิสราเอลได้บุกเข้าไปในมัสญิด อัล-อักศอพร้อมกระสุนยาง   รวมทั้งแก๊สน้ำตาเพื่อสลายชาวปาเลสไตน์  ซึ่งอิสราเอลกล่าวว่าคนเหล่านั้นได้ตอบโต้ออกมาด้วยก้อนหินและระเบิดขวด   ฮามาสได้ยื่นคำขาดให้ทหารอิสราเอลหยุดการกระทำดังกล่าวที่อัล-อักศอ เย็นเดียวกันนั้นเองฮามาสก็ยิงจรวดเข้าไปในอิสราเอล  การตอบโต้จากอิสราเอลจึงตามมา

 

ความขัดแย้งที่ชัยค์  อัล-ญัรเราะฮ์

ประชาชนชาวปาเลสไตน์นับแสนถูกบังคับให้ออกมาจากบ้านเรือนของตัวเอง   เมื่อรัฐอิสราเอลถูกสร้างขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ที่เก่าแก่ในปี 1948 วันนี้เป็นวันที่ชาวปาเลสไตน์เรียกว่าเหตุการณ์นักบะฮ์ (Nakba) หรือการทำลายล้าง   ครอบครัว 28 ครอบครัวของชาวปาเลสไตน์ต้องย้ายไปอยู่ที่ชัยค์ อัล-ญัรเราะฮ์และตั้งรกรากอยู่ที่นั่น

ในปี 1956 เมื่อนครเยรูซาเล็มตะวันออกถูกปกครองโดยจอร์แดน กระทรวงเพื่อการก่อสร้างและพัฒนาและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ของ UN ได้มาช่วยสร้างบ้านเรือนให้ครอบครัวที่ชัยค์ อัล-ญัรเราะฮ์แห่งนี้    อย่างไรก็ตามอิสราเอลได้เข้ายึดครองนครเยรูซาเล็มตะวันออกจากจอร์แดนในปี 1967

ในทศวรรษ 1970 หน่วยงานของชาวยิวได้เริ่มเรียกร้องให้ครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่นี่ให้ย้ายออกไป

โดยคณะกรรมการชาวยิวอ้างว่าบ้านเรือนเหล่านี้ตั้งอยู่บนที่ดินที่พวกเขาซื้อมาในปี 1885   เมื่อชาวยิว อพยพมาอยู่ปาเลสไตน์  ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมาน

เมื่อตอนต้นปี ศาลกลางในนครเยรูซาเล็มตะวันออก มีคำตัดสินให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ออกไปจากดินแดนที่พวกเขาอยู่มาช้านานเพื่อเปิดทางให้ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวเข้ามาอยู่แทน

ศาลสูงของอิสราเอลมีกำหนดที่จะตัดสินกรณีนี้ในวันที่ 10 พฤษภาคม แต่ก็ได้เลื่อนคำตัดสินออกไปท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นในนครเยรูซาเล็ม  ประเด็นนี้ยังคงแก้ไขไม่ได้และมีส่วนก่อให้เกิดการลุกลามใหญ่โตต่อไป

 

นครเยรูซาเล็มมหานครอันยิ่งใหญ่

นครเยรูซาเล็มได้กลายมาเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ตามแผนของ UN ว่าด้วยการแยกตัว (UN Partition Plan) นครเยรูซาเล็มถูกกำหนดให้เป็นนครของนานาชาติ

แต่สงครามอาหรับอิสราเอลครั้งแรกในปี 1948 อิสราเอลได้เข้ายึดครึ่งหนึ่งที่เป็นส่วนตะวันตกของนครเยรูซาเล็มในขณะที่จอร์แดนได้ปกครองส่วนตะวันออก   รวมทั้งนครเก่าที่มีหะรอม อัล-ชะรีฟ หรือพื้นที่แห่งความสูงส่ง (Noble Sanctuary) นั่นคือมัสญิด อัล-อักศอที่มีความศักดิ์สิทธิ์อันดับ 3 ของอิสลาม   และโดมแห่งศิลา (Done of the Rock) ที่อยู่ติดกับหะรอมอัลชะรีฟตั้งอยู่

ด้านหนึ่งของบริเวณดังกล่าวชาวยิวจะเรียกว่า Temple Mount นั่นก็คือ Wailing Wall หรือกำแพงตะวันตกและบ้างก็เรียกว่ากำแพงร้องให้  ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เหลือของวิหารแหล่งที่สองของชาวยิว  อันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาจูดาห์ (Judaism)

อิสราเอลได้เข้าครอบครองนครเยรูซาเล็มตะวันออกจากจอร์แดนในปี 1967 ที่เรียกกันว่าสงครามหกวัน (Six-Day War) และเข้าครองพื้นที่นี้ในเวลาต่อมา

นับตั้งแต่ผนวกดินแดนดังกล่าวมาเป็นของตนแล้วอิสราเอลก็ได้ขยายพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยในนครเยรูซาเล็มตะวันออก  ซึ่งเวลานี้เป็นที่อยู่ของชาวยิว 220,000 คน

ชาวยิวที่เกิดในนครเยรูซาเล็มตะวันออกถือเป็นพลเรือนของอิสราเอล   ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในนครแห่งนี้ต้องมีใบอนุญาตให้อาศัยอยู่  ชาวปาเลสไตน์ในนครเยรูซาเล็มตะวันออกไม่เหมือนกับผู้ที่อาศัยอยู่ในเวสต์แบงก์พวกเขาสามารถยื่นหนังสือเพื่อขอเป็นพลเมืองชาวอิสราเอลได้

แต่แทบจะไม่มีชาวปาเลสไตน์คนใดทำอย่างนั้นเลย  อิสราเอลมีความคิดว่านครทั้งนครเป็น “ผืนแผ่นดินอมตะเป็นหนึ่งเดียวของอิสราเอล” อันเป็นข้ออ้างที่ได้รับการยอมรับเมื่อทรัมป์ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ  แต่ประเทศส่วนใหญ่ไม่ให้การรับรอง

ผู้นำปาเลสไตน์ไม่ว่าจะมาจากอุดมการณ์ใดต่างก็ไม่ยอมรับสูตรการประนีประนอมใด ๆ สำหรับอนาคตของรัฐปาเลสไตน์   นอกเสียจากว่านครเยรูซาเล็มจะเป็นเมืองหลวงของพวกเขาเท่านั้น

กองกำลังรักษาความปลอดภัยของอิสราเอลตกอยู่ภายใต้การรีบเร่งที่จะจัดการกับการจลาจลที่นำไปสู่ความตายระหว่างยิวกับอาหรับ

อิสราเอลถล่มเมืองกาซ่าด้วยปืนใหญ่และการถล่มทางอากาศในวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม เพื่อตอบโต้การถูกถล่มด้วยจรวด ซึ่งมาจากขบวนการฮามาส  โดยเปลี่ยนการโจมตีมาเป็นภาคพื้นดิน  หลังจากมีผู้เสียชีวิตในเมืองกาซ่านับร้อยคน

เมื่อความรุนแรงเพิ่มขึ้น  อิสราเอลได้ทำการโจมตีต่อไปในเมืองกาซ่า   แม้ว่าในภายหลังเป็นที่ประจักษ์ว่ายังไม่มีปฏิบัติการทางภาคพื้นดินแต่อย่างใด

สหประชาชาตินำโดยคณะมนตรีความมั่นคงได้จัดการประชุมเพื่อหาทางยุติสงครามในวันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม    ทั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ Antony Blinken กล่าวว่าสหรัฐมีความห่วงใยอย่างลึกซึ้งในความรุนแรงบนท้องถนนของอิสราเอล “เราเชื่อว่าชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์สมควรได้รับมาตรการที่เท่าเทียมกันในเรื่องของเสรีภาพ  ความมั่นคง  เกียรติยศและความรุ่งเรือง”

ทหารอิสราเอลได้ออกมาเปิดเผย เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ว่ากองทัพของตนไม่ได้เข้าไปในฉนวนกาซ่า  ตามที่ได้กล่าวมาแต่ต้น โดยกล่าวว่า “การสื่อสารระหว่างประเทศ” มีปัญหามาจากความสับสน

มีการใช้ปืนใหญ่อย่างหนักในช่วงวันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม และมีรายงานจากผู้สื่อข่าวของ AFP ว่ากองทหารของอิสราเอลได้มารวมตัวกันในพื้นที่ที่มีความปลอดภัย

เปลวเพลิงขนาดใหญ่พวยพุ่งอยู่เหนือท้องฟ้าของเมืองกาซ่าที่มีประชาชนอยู่รวมกันหนาแน่น  ในขณะเดียวกันจรวดนับโหลถูกยิงจากเมืองกาซ่าไปสู่ชายฝั่งทางใต้ของอิสราเอลที่แอชดอดและแอชกีลอนและบริเวณใกล้เคียงกรุงเทลอาวีฟอย่างสนามบินเบนกูเรียน

โฆษกกองทัพอิสราเอล John Conricus กล่าวว่าอิสราเอลเตรียมการและยังคงเตรียมที่จะเจอกับฉากทัศน์อื่นๆ ที่จะตามมา   โดยพูดถึงการรุกทางภาคพื้นดินว่าเป็นหนึ่งในฉากทัศน์ดังกล่าว

ช่างภาพ AFP กล่าวว่า ผู้คนกำลังอพยพออกจากทางตอนเหนือของเมืองกาซ่า  ซึ่งอาจจะถูกโจมตีจากอิสราเอล  ทั้งนี้ขบวนการฮามาสและกลุ่มอื่นๆ ที่ควบคุมเมืองกาซ่าอยู่ได้รับการเตือนว่าจะมีการตอบโต้อย่างหนักจากอิสราเอล  รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะมีการบุกเข้ามาทางภาคพื้นดิน

ความขัดแย้งดูเหมือนจะยังไม่ยุติลงง่ายๆ อิสราเอลต้องสั่นสะเทือนไปด้วยคลื่นของม็อบที่เกิดขึ้นระหว่างยิวกับอาหรับ   ซึ่งมีการทุบตีกันอย่างป่าเถื่อนพร้อมๆ ไปกับสถานีตำรวจที่ถูกโจมตี

รัฐมนตรีกลาโหม Benny Grant ของอิสราเอลออกคำสั่งให้มีการเสริมกำลังขนาดใหญ่เพื่อหยุดยั้งการจราจลภายในประเทศที่เกิดขึ้น

การถล่มอย่างหนักหน่วงเกิดขึ้นตรงกับการเริ่มต้นวันอีฎิลฟิตริอันเป็นวันสำคัญที่ชาวมุสลิมจะมารวมตัวกันหลังการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนเราะมะฏอนพอดิบพอดี  โดยผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลามจะมารวมตัวกันที่มีมัสญิดท่ามกลางตึกรามบ้านช่องที่ถูกถล่มด้วยระเบิดจนถล่มถลาย

การถล่มทางอากาศจากอิสราเอลได้เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่า  โดยมีเป้าหมายการทำลายล้างอยู่ที่ที่ทำการต่างๆ ซึ่งเกี่ยวโยงกับขบวนการฮามาส    รวมทั้งการถล่มทางเครื่องบินไปยังที่ทำการทางทหาร  โดยเฉพาะสำนักงานใหญ่ของสำนักงานข่าวกรองของขบวนการฮามาส

ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขแห่งเมืองกาซ่า   มีผู้เสียชีวิต 103 คน นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 เรื่อยมา  รวมทั้งเด็กๆ ที่ถูกสังหารไป 27 คน บาดเจ็บมากกว่า 580 คน

การถล่มอย่างหนักนำไปสู่การพังทลายของตึกที่อยู่อาศัยโดยทั่วไป   ในอิสราเอลมีผู้เสียชีวิตเจ็ดคน  รวมทั้งเด็กที่มีอายุ 6 ขวบ  หลังจากจรวดพุ่งตรงสู่ครอบครัวของพวกเขา

ทหารอิสรเอลรายงานว่าได้ยิงเข้าสู่เป้าหมายในเมืองกาซ่ามากกว่า 600 ครั้ง   ในขณะที่จรวด 1,750 ลูกถูกยิงออกไป

ดังได้กล่าวมาแล้วจรวดนับร้อยลูกของปาเลสไตน์ถูกประกบจาก Iron Dome อันเป็นระบบการป้องกันที่อิสราเอลและของสหรัฐที่ยังคงมีประสิทธิภาพ  แม้ว่าความถี่ของจรวดจำนวนมากที่ยิงมาจากเมืองกาซ่าจะเล็ดรอดและทำความเสียหายแก่อิสราเอลได้ระดับหนึ่งก็ตาม

มีจรวดอยู่สามลูกที่ยิงมาที่อิสราเอลจากภาคใต้ของเลบานอน   แต่ได้ตกลงในทะเลมิดิเตอร์เรเนียนเสียก่อน  ตามคำกล่าวอ้างของทหารอิสราเอล

 

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกลุ่มฮิสบุลลอฮ์ (Hazbullah) ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของอิสราเอลและเคยเอาชนะอิสราเอลมาแล้วกล่าวว่ากลุ่มเลบานอนชีอะฮ์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

อาจกล่าวได้ว่าการขยายตัวของความขัดแย้งกว่าหนึ่งสัปดาห์ได้เริ่มต้นมาจากพื้นที่ที่ตั้งมัสญิดอัลอักศอแห่งนครเยรูซาเล็มที่มีความศักดิ์สิทธิ์ต่อชาวมุสลิม  ชาวคริสต์และชาวยิว

ความวุ่นวายซึ่งตำรวจได้ปะทะกับชาวปาเลสไตน์ครั้งแล้วครั้งเล่ามาจากความโกรธเคืองที่มีการขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์จากชัยค์ อัล-ญัรเราะฮ์ที่อยู่ติดกับนครเยรูซาเล็มตะวันออก

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นขยายตัวออกไปในเมืองหลายเมืองที่มีชาวยิวกับชาวอาหรับเป็นพลเมืองอยู่ที่นั่น  โดยอิสราเอลทั้งประเทศมีชาวอาหรับอยู่ประมาณร้อยละ 20

ตำรวจประจำชายแดนกว่า 1,000 นายถูกเรียกมาหยุดยั้งความรุนแรงและมีประชาชนกว่า 400 คนถูกจับตัวไป

โฆษกตำรวจ Micky Rosenfeld กล่าวว่าความรุนแรงระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตน์ในเมืองต่างๆ อยู่ในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับทศวรรษ

Benjamin Netanyahu กล่าวว่าตำรวจจะใช้กำลังมากขึ้นโดยเตือนว่าอาจต้องนำเอาทหารเข้ามาในเมืองต่างๆ

มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มขวาจัดของอิสราเอลกับกองกำลังฝ่ายความมั่นคงและชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ  ซึ่งภาพในโทรทัศน์แสดงถึงม็อบขวาจัดที่เข้าทุบตีผู้ชายที่พวกเขาคิดว่าเป็นชาวอาหรับที่มาจาก Bat Yam ใกล้กับกรุงเทลอาวีฟและได้รับบาดเจ็บสาหัสในเมือง Lod ซึ่งกลายเป็นที่ปะทะกันระหว่างอาหรับกับยิว  และชาวบ้านอาหรับถูกสังหารพร้อมๆ ไปกับโบสถ์ยิวที่ถูกเผาและมือปืนที่ยิงเข้าใส่ชาวยิวจนได้รับบาดเจ็บหนึ่งคน  เนทับยาฮูกล่าวว่าความรุนแรงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้      และในท่ามกลางการปะทะกันทางอากาศของสองฝ่ายและการปะทะกันในประเทศทำให้สายการบินต้องเลื่อนการบินออกไปอย่างต่อเนื่อง

 

ประวัติศาสตร์ของการทำให้ไม่เป็นอาหรับ

ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ (ขบวนการฮามาส) เป็นตัวอย่างล่าสุดที่ว่าแม้จะมีความรุนแรงมากขึ้นก็ตามแต่ความพยายามของรัฐที่จะลบประวัติศาสตร์ของชาวปาเลสไตน์ออกไปและสร้างภูมิศาสตร์ใหม่ขึ้นมาก็ยังดำเนินต่อไป

ทั้งนี้อิสราเอลได้พยายามพลิกหินทุกก้อนขึ้นมาดูเพื่อจะยืนยันว่าอิสราเอล มีรกรากของแผ่นดินมากกว่าที่ชาวปาเลสไตน์มี

แผนการขยายพื้นที่ของอิสราเอลได้ถูกใช้ทั้งสองทางคือการบีบบังคับและวิธีการอื่นๆ เป็นการใช้การเมืองเป็นตัวกลาง ซึ่งเรียกโดยนักวิชาการว่าการทำให้ไม่มีความเป็นอาหรับ (de-Arabisation) ของพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเวลานี้เป็นที่สนใจของประชาชน โดยรัฐเคลื่อนไหวเพื่อจะบังคับชาวปาเลสไตน์นับร้อย ๆ คนให้ออกจากพื้นที่ที่พวกเขาเคยอยู่มาช้านานในชัยค์ ญัรเราะฮ์ ที่อยู่ติดกับนครเยรูซาเล็มตะวันออกและส่งต่อผืนแผ่นดินที่พวกเขาอาศัยอยู่ให้กับผู้อยู่อาศัยชาวยิว

ความรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดในนครเยรูซาเล็มได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วเป็นทศวรรษ  เมื่อฝ่ายบริหารเปิดทางให้ผู้อาศัยชาวยิวเข้ามาแทนที่ชาวอาหรับภายใต้กฎหมายของชาวยิว

แผนการบังคับให้ออกจากที่อยู่อาศัยถูกเรียกโดย UN ว่าเป็น “อาชญากรรมสงคราม” ในเมื่อมันเป็นการทำตามอำเภอใจ  และไม่มีกฎหมายใดคุ้มครองพลเรือนปาเลสไตน์ในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง

นโยบายการทำให้ไม่มีความเป็นอาหรับกระทำผ่านการเปลี่ยนแปลงแผนที่และวิธีการอื่นๆ ที่เอนเอียงสู่อัตลักษณ์ของชาวยิว

กระบวนการทำให้ไม่มีความเป็นอาหรับได้ทำผ่านดินแดนของปาเลสไตน์  ผลที่ตามมาก็คือระบบการตั้งชื่อด้วยภาษาฮิบรูได้ถูกบันทึกไว้ในหลายสถานที่  ในที่อยู่อาศัย   วัตถุต่างๆ  รวมทั้งต้นไม้  และสถานที่ต่างๆ ที่จะถูกตั้งชื่อขึ้นใหม่ด้วยภาษาฮิบรูหรือชื่อในคัมภีร์ไบเบิลตามประวัติศาสตร์โบราณของชาวยิวที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่

ชื่อต่างๆ ในแผนที่ของปาเลสไตน์ระหว่างที่อยู่ใต้อาณัติของอังกฤษที่ถูกตั้งชื่อด้วยภาษาอาหรับหรือชื่อในศาสนาคริสต์ถูกปรับเปลี่ยนด้วยกระบวนการการทำให้ไม่มีความเป็นอาหรับ  หากแต่ถูกทำให้เป็นภาษาฮิบรู (Hebraicisation) คำว่าอัล-กุดส์ (al-Quds) หรือนครเยรูซาเล็มกลายเป็น Yerushalayim     al Halili กลายเป็น Hebron และ West Bank กลายเป็น Judia Samaria

ที่คู่ขนานไปกับสิ่งนี้ก็คือการที่ฝ่ายบริหารของอิสราเอลได้แนะนำโครงการเสริมสร้างการรื้อฟื้นภาษาฮิบรูให้เป็นภาษาของชาติ   แม้ว่าการฟื้นฟูในฐานะภาษาที่ใช้อยู่จะเป็นแนวทางที่ไม่เป็นทางการของรัฐก็ตาม

นับตั้งแต่ชื่อ Aliyah Harishona อันเป็นคลื่นของผู้อพยพชาวยิวตะวันตกที่เขามาสู่ปาเลสไตน์แห่งออตโตมานในปี 1882-1904 คำว่า Yiddish ซึ่งเป็นการผสมผสานกันของภาษาเยอรมันและฮิบรู    ได้กลายมาเป็นภาษาสำหรับการสื่อสารระหว่างกลุ่มต่างๆ ในหมู่ไซออนิสต์รุ่นบุกเบิก ซึ่งอาศัยอยู่ในปาเลสไตน์

พร้อมไปกับคลื่นของชาวยิวจากแหล่งอื่นๆ ของเอเชียและแอฟริกาในกระแสการอพยพต่อมา  การย้ำในเรื่อง Yiddish อันเป็นภาษาของชาวยิวในยุโรปตะวันตกและตะวันออกกลับไม่ได้รับความประทับใจสำหรับชาวยิวที่ไม่ได้เป็นชาวยุโรป  ซึ่งยังคงติดต่อกับชาวตุรกีออตโตมานด้วยอักขระภาษายิว-อาหรับอย่างเช่น Yahudi

การมาถึงของภาษาฮิบรูก็นำไปสู่มิติที่สำคัญในความหมายของอัตลักษณ์ด้านพื้นที่และช่วยชาวยิวที่อพยพจากส่วนต่างๆ ของโลกให้ยืนยันตัวเองว่าพวกเขาเป็นประชาชนของเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลาง

Amos Oz นักเขียนชาวอิสราเอลบันทึกว่า “Zionism ได้นำเอาภาษาที่มีมาราว 18 ศตวรรษและไม่เคยมีใครพูดในชีวิตประจำวันให้กลายมาเป็นภาษาที่ใช้ได้อีกครั้งในเกือบ 70 ปีของประวัติศาสตร์

ความจริงกระบวนการทำให้เกิดความไม่เป็นอาหรับนอกจากจะมีอยู่มากและจะย้ำไปที่การผลิตความทรงจำและตำนานที่เกี่ยวกับพื้นที่และการใช้ชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับสัญลักษณ์และการอุปมาอุปมัยแล้ว  กระบวนการนี้ยังถูกทำให้เป็นวาทกรรมแห่งชาติของอิสราเอล    ควบคู่ไปกับวรรณกรรมและวัฒนธรรมสมัยนิยมของอิสราเอลเสมอมา

เอ็ดเวิร์ด สะอีด  (Edward Said) นักวิชาการคนสำคัญของโลกกล่าวว่า ยิวของอิสราเอลมองหาความทรงจำที่ทำขึ้นใหม่ด้วยพื้นที่เฉพาะ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการรวมเข้าด้วยกันเพื่อแสดงอัตลักษณ์ร่วม

แม้ว่าไซออนิสต์ในเบื้องต้นจะกล่าวว่าปาเลสไตน์เป็นแผ่นดินว่างเปล่าและเป็นดินแดนทุรกันดาร  ผู้นำทางการเมืองในอิสราเอลก็ยอมรับถึงความสัมพันธ์ของดินแดนว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการผูกโยงอัตลักษณ์แห่งชาติของชาวยิว      การเปลี่ยนผ่านทัศนคติดังกล่าวมีผลมาจากการครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของชาวปาเลสไตน์และสร้างที่อยู่อาศัยของตนเองขึ้นมาในดินแดนที่เป็นของชาวปาเลสไตน์

นับมาตั้งแต่ต้นแล้วที่ชาวปาเลสไตน์รู้สึกถึงการคุกคามที่มาจากโครงการต่างๆ ของชาวยิวที่พยายามขยายการมีอยู่ของชาวยิวต่อไปผ่านกิจการต่างๆ อย่างเช่นการตั้งชื่อสถานที่ใหม่  การเข้ายึดครองดินแดนต่างๆ การสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นใหม่    การขับไล่ชาวปาเลสไตน์จากที่อยู่อาศัยเดิม   และการออกกฎหมายที่สามารถทำให้ชุมชนชาวยิวขยายตัวในพื้นที่ยึดครองของชาวปาเลสไตน์ได้อย่างอิสระ ฯลฯ

ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ที่ชัยค์ อัล-ญัรเราะฮ์ เป็นเหยื่อล่าสุดของความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ที่มาจากการทำให้ไม่มีความเป็นอาหรับ    ทั้งๆ ที่ในความจริงพวกเขาเป็นเจ้าของชื่อต่างๆ  ซึ่งพวกเขาได้มาจากข้อตกลงระหว่างกระทรวงการก่อสร้างและการพัฒนาของจอร์แดนและหน่วยงานผู้ลี้ภัย UNRWA ในช่วงที่จอร์แดนปกครองเวสต์แบงก์ (1948-1967) อันเป็นการชดเชยการสูญเสียบ้านเรือนของพวกเขาไปในสงครามปี 1948

 

ความรุนแรงที่ขยายตัวไปยังอิสราเอล  เมืองกาซ่าและเวสต์แบงก์แสดงให้เห็นความผิดพลาดจากประวัติศาสตร์บาดแผลของอาหรับ-อิสราเอลที่ยังคงหลอกหลอนอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

หากอ่านบทกวีของมะห์มูด ดาร์วิช (Mahmud Darwish) กวีชาวปาเลสไตน์ที่มีชื่อเสียงเรื่องแม่น้ำที่จบลงด้วยความกระหาย (A River Dies of Thirst) ก็จะเข้าใจถึงความทรมานและความเจ็บปวดของชาวปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นในเมืองกาซ่า เวสต์แบงก์และเลบานอนได้เป็นอย่างดี

บทกวีของดาร์วิชสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดหวั่น   ความตระหนก  รวมทั้งความหวาดกลัวและความตายในทุกแห่งหนสำหรับชาวปาเลสไตน์ทุกคนในโลก

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *