jos55 instaslot88 Pusat Togel Online คำศัพท์และแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ: impossible trinity (นโยบายเศรษฐกิจสามอย่างที่ใช้ร่วมกันไม่ได้) - INEWHORIZON

INEWHORIZON

ขอบฟ้าใหม่

คำศัพท์และแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ: impossible trinity (นโยบายเศรษฐกิจสามอย่างที่ใช้ร่วมกันไม่ได้)

คำศัพท์และแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ: impossible trinity (นโยบายเศรษฐกิจสามอย่างที่ใช้ร่วมกันไม่ได้)

โดย รศ.ดร สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย

 ความหมาย

    Impossible trinity เป็นความคิดในวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นว่า   มีนโยบายเศรษฐกิจสามอย่างที่ใช้ร่วมกันในเวลาเดียวกันไม่ได้ คือ

   1. อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศคงที่(fixed exchange rate)

   2. การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่เสรี(free capital flows)

   3. การดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นอิสระ(independent monetary policy)

   กล่าวคือ เป็นไปไม่ได้ที่จะนำนโยบายทั้งสามอย่างนี้มาใช้ในเวลาเดียวกัน อาจจะใช้ร่วมกันได้สองในสามอย่าง แต่ถ้าร่วมกันใช้ทั้งสามอย่างในเวลาเดียวกัน จะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจทางการเงินได้

   เหตุผลคือ ถ้าอัตราดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าในต่างประเทศ และปล่อยให้เงินทุนเข้าออกประเทศได้โดยเสรี ผู้ลงทุนในประเทศอาจนำเงินทุนเข้าจากต่างประเทศเพื่อได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยไม่ต้องได้รับความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน   การมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามามาก ทำให้หนี้ต่างประเทศของผู้ยืมเงินต้องสูงขึ้นเป็นหนี้ต่างประเทศมากขึ้น ถ้าเป็นการลงทุนของชาวต่างประเทศ  ตราบใดที่เศรษฐกิจของประเทศที่เขามาลงทุนนั้นยังดีอยู่ เขาจะคงการลงทุนถ้าส่วนต่างของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนมีมาก เขาจะลงทุนมากขึ้น แต่ถ้าประเทศที่รับการลงทุนมีแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ดี เขาก็จะถอนการลงทุนออก   ส่วนผู้กู้เงินต่างประเทศ ถ้าอัตราดอกเบี้ยภายในยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยภายนอก เขาก็จะกู้เงินจากต่างประเทศ  ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนเคงที่ เขาจะกู้เงินโดยไม่ต้องคำนึงถึงความผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

     แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มไม่ดี  โดยเฉพาะถ้ามีการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมาก รัฐบาลมีแนวโน้มลดค่าเงินเพื่อแก้ไขภาวะขาดดุลการค้าและดุลเดินสะพัด   เขาก็จะรีบคืนเงินกู้ต่างประเทศ นอกจากนั้น เมื่อมีการคาดการณ์ว่า เงินตราสกุลใดสกุลหนึ่งหนึ่งจะลดค่า  นักเก็งกำไรก็จะมีพฤติกรรมเก็งกำไร  แห่กันนำเงินสกุลที่เขาคาดว่าจะลดค่าไปซื้อเงินตราต่างประเทศ ในที่สุดเมื่อมีการปรับเปลี่ยนค่าเงินตามที่คาดหมาย  เขาก็จะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ  การโจมตีค่าเงินในเงินสกุลที่มีแนวโน้มอ่อนค่านี้ เข้าลักษณะการคาดคะเนมีพฤติกรรมที่ทำให้สิ่งที่คาดคะเนนั้นมีความเป็นจริง(self-fulfill prophrecy) เมื่อประเทศหนึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนค่าเงินเมื่อเศรษฐกิจประเทศนั้นมีปัญหา ก็ต้องลดค่าเงินของตนลง  และไม่ปรับให้ค่าเงินแข็งขึ้น  เมื่อนักเก็งกำไรจะนำเงินตราสกุลนั้น ไปแลกเป็นเงินตราต่างประเทศมากๆ  ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศนั้นก็จะลดน้อยลง จนมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้เงินตราต่างประเทศ ประเทศนั้นก็ต้องประสบวิกฤติเศรษฐกิจ

วิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย  ค.ศ. 1997-1998

    หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลายประเทศในทวีปเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ จนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูง  เริ่มจากประเทศญี่ปุ่นในทศวรรษ 1950-1970 ต่อด้วยกลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่:ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมส่งเสริมการส่งออกจน มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงในทศวรรษ 1980

   ในปีค.ศ. 1993  ธนาคารโลกได้ตีพิมพ์หนังสือ“ มหัศจรรย์เอเชียตะวันออก (East Asian Miracle) สาธยายถึงความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ  แต่อีกไม่กี่ปีต่อมา ประเทศที่ถูกยกย่องว่ามีผลการพัฒนาเศรษฐกิจดีในรายงาน ดังกล่าวบางประเทศ กลับต้องประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ จนต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ   วิกฤตเศรษฐกิจเอเชียครั้งนั้น  เริ่มจากประเทศไทยแล้วลุกลามไปยังประเทศอื่น  วิกฤตครั้งนั้นจึงถูกขนานนามว่า“วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง“

   ในช่วงต้นของทศวรรษ 1980 ดอลลาร์อเมริกันมีค่าสูงขึ้นมาก เงินบาทไทยซึ่งผูกค่าติดกับดอลลาร์ ก็มีค่าสูงขึ้นตามไปด้วย  การแข็งค่าของเงินบาทมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย  ในปี คศ 1981 การส่งออกลดต่ำลง  ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้น  เศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก ในปีค.ศ. 1984  รัฐบาลไทยต้องประกาศลดค่าเงินบาทลงร้อยละ 14.8  พร้อมกับปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบตะกร้า(basket currency system) คือผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินหลายสกุล โดยมีการถ่วงน้ำหนัก แต่อย่างไรก็ตาม ในตะกร้าเงิน   เงินดอลลาร์อเมริกันยังคงมีน้ำหนักสูงมาก แม้เป็นระบบตะกร้าเงิน แต่ก็ยังถือได้ ว่า  เป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่(fixed exchange-rate system)

   ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจไทยขยายตัวมาก  ระหว่างปีค.ศ 1987-1993  เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี  จนเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในโลก หลังจากปี 1993  เศรษฐกิจไทยก็ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อนๆ    บางคนถึงกับกล่าวว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นเสือตัวที่ห้า เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชียต่อจากเสือสี่ตัวเดิม   แต่ต่อมาอีกไม่กี่ปี ในปีค.ศ. 1997  ประเทศไทยก็ต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในข่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

    วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้มีผลกระทบมากต่อประชาชนไทยมาก ในต้นเดือนกรกราคม ค.ศ. 1997 รัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท  หลังจากนั้น ค่าเงินบาทลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 25 บาทต่อดอลลาร์ลงมาเป็น 40 กว่าบาทและลดต่ำลงถึง 56 บาทต่อดอลลาร์ในปี 1998 ธุรกิจจำนวนมากต้องล้มละลายจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัว  เศรษฐกิจทรุดตัวลงมาก เงินเฟ้อรุนแรง การว่างงานพุ่งสูงขึ้นมาก การใช้จ่ายของรัฐบาลต้องลดลงไปมาก  การขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่มีเงื่อนไขเข้มงวด  ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำลงอีก

 

สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจไทย

     วิกฤติเศรษฐกิจไทยในปีค.ศ. 1997-1998 เป็นอย่างของการละเมิดไม่ให้ใช้นโยบายทั้งสามอย่างคือ มีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ปล่อยให้เงินทุนเข้าออกประเทศโดยเสรี และใช้นโยบายการเงินที่เป็นอิสระร่วมกันในเวลาเดียวกัน

    ในครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 ถึงกลางทศวรรษ 1990  เศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม  ภาคการเงินการธนาคาร อสังหาริมทรัพย์  และมีอัตราการเจริญโตสูง  ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกสูง  มีสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank financial institutions) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกลดลง อัตราดอกเบี้ยในประเทศไม่ได้ลดลงมาก  ในช่วงนี้เศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตสูง  นอกจากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมแล้ว การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ และในตลาดหลักทรัพย์ก็มีมากด้วย ราคาหุ้นและราคาสินทรัพย์ถึบตัวสูงขึ้นมาก

    ในปีค.ศ. 1990 รัฐบาลไทยประกาศยอมรับเงื่อนไขข้อแปดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ  เปิดเสรีในบัญชีเดินสะพัด(current account) คือ ให้การค้าในสินค้าและบริการระหว่าประเทศทำได้โดยเสรี ต่อมาในปีค.ศ. 1992  ก็มีการประกาศเปิดเสรีในบัญชีทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ(capital accont) คือ เงินทุนจากต่างประเทศสามารถเคลื่อนย้ายเข้าออกประเทศไทยได้โดยเสรี   ในปีต่อมา ก็มีการเปิดกิจการวิเทศธนกิจกรุงเทพฯ(Bangkok International Banking Facilities : BIBF)ขึ้น  อนุญาตธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างประเทศมาเปิดสาขาในประเทศไทย  ธนาคารไทยและธนาคารต่างชาติสามารถกู้เงินตราต่างประเทศให้ธุรกิจไทยและธุรกิจต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยได้ ทั้งยังมีการเปิดเสรีและลดข้อจำกัดลักษณะอื่นๆ เช่น ยกเลิกการควบคุมอัตราดอกเบี้ย   ปล่อยให้สถาบันการเงิน มีขอบเขตการดำเนินงานอย่างกว้างขวาง

    ผู้บริหารนโยบายการเงินในสมัยนั้นเห็นว่า  การเปิดเสรีในบัญชีทุนเคบื่อนย้ายนี้มีความจำเป็นในการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ และเตรียมความพร้อมให้สถาบันการเงินไทยในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ประเทศต่างๆทั่วโลกมีการเปิดเสรีกัน

    แต่การเปิดเสรีอย่างเร่งรีบ โดยไม่มีมาตการตรวจสอบ (prudential measure)ที่รัดกุม ประกอบกับการมีอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ  ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาก นอกจากการลงทุนในอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แล้ว ยังมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจำนวนมากมาลงทุนในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การเก็งกำไรในอสังหาริมมาทรัพย์และในตลาดหลักทรัพย์ และการกู้ยืมมาลงทุนในอุตสาหกรรมบางอย่าง ที่กว่าจะได้คืนทุนต้องใช้เวลามาก   การพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศนี้ ยังมีผลส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินในประเทศไม่พยายามระดมเงินฝากภายในประเทศ  การมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ก็ทำให้ผู้กู้เงินโดยรู้สึกว่าไม่มีความเสี่ยงในความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน  จึงกู้เงินต่างประเทศโดยไม่ป้องกันความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด

    แม้ในเวลานั้น มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นว่า การเปิดเสรีทางการเงินโดยมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เป็นสิ่งอันตราย แทนที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ น่าจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว แต่รัฐบาสมัยนั้นเห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่มีเสถียรภาพ เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดีกว่า และถ้าค่าเงินบาทแข็งขึ้น ก็จะกระทบต่อการส่งออก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย  จึงไม่ปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยน

    ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1990 ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยมีการขาดดุลสูงขึ้นมาก แต่เมื่อมีเงินทุนไหลเข้ามาก บัญชีทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศจึงเกินดุล  ดุลการชำระเงินก็มีการเกินดุล

    ในปีค.ศ. 1995-1996   การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอยู่ในระดับสูงมาก จนถึงขีดอันตราย  ผู้ลงทุนต่างประเทศจึงพากันถอนทุนออก  ผู้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศก็ทยอยส่งคืนเงินกู้ เพราะในขณะนั้นมีคนเห็นว่า สักวันหนึ่ง รัฐบาลไทยจะต้องประกาศลดค่าเงินบาท  นักเก็งกำไรค่าเงิน ทั้งในต่างประเทศและภายในประเทศ จึงเร่งโจมตีค่าเงินบาท แม้ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย พยายามจะปกป้องค่าเงินบาท  แต่ก็ไม่สามารถต้านทานการโจมตีของการเก็งกำไรนี้ได้

    การไหลออกของเงินตราต่างประเทศ ทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศไทยลดลงมาก  จนถึงขั้นไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ต่างประเทศ  ในที่สุด ในวันที่ 2 กรกฎาคม ปีค.ศ. 1997 รัฐบาลไทยต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท  และขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและแหล่งอื่นเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะล้มละลาย

    วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจไทย  ที่ขีดความสามารถการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจต่างๆอ่อนแอ และจากนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด  แต่ถูกกระตุ้นโดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะสั้น  ทั้งการแห่กันเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศ และการถอนเงินจากธนาคารและสถาบันการเงิน จากที่มีข่างความไท่มั่นคงของระบบการเงิน ซึ่งเป็นทั้งปัญหาเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจต่างประเทศ  วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นตัวอย่างการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดที่ควรแก่การจดจำ

ข้อคิดจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

   ก. ความเชื่อมั่นของธุรกิจและประชาชนที่มีต่อระบบการเงินของประเทศมีความสำคัญ   ถ้าหากธุรกิจและประชาชนจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นในระบบการเงิน คาดการณ์ว่าธนาคารและสถาบันการเงินจะประสบปัญหา ก็จะมีพฤติกรรมที่ทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆต้องล้มละลายตามที่คาดได้

   ข. ในการพัฒนาประเทศ ควรให้ความสนใจในเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หากภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่พยายามปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน และรัฐบาลสนใจแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยละเลยการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะยาว เศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นไม่ได้

  ค. มาตรการตรวจสอบและควบคุมพฤติกรรมของธนาคารและสถาบันการเงิน (prudential measure) เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

  ง. ผู้บริหารเศรษฐกิจของประเทศต้องมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์  รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ และอะไรทำแล้วสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ  สิ่งที่น่าเสียใจคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มักมีรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงที่ไม่มีความรู้เศรษฐศาสตร์  สนใจแต่การหาเสียงจากประชาชน กำหนดนโยบายที่แม้อาจจะสร้างความนิยมได้ แต่ก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ  นักการเมืองทั่วไป มักไม่สนใจในเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผล  แต่สนใจในนโยบายที่เห็นผลได้ในระยะสั้นมากกว่า ความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจต่างๆ จึงลดลงเมื่อเวลาผ่านพ้นไป

   จ. การติดตามศึกษาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและในโลก  รวมทั้งทราบปัญหาที่จะสร้างความเสียหายที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล แล้วปรับปรุงแก้ไขมีความจำเป็น รัฐบาลต้องใจกว้างรับฟังปัญหาจากประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากผู้ที่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์  ไม่ปกปิดความผิดของตนเอง หรือตอบโต้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล

  ฉ. ความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจของนักลงทุนชาวต่างชาติ ก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง พฤติกรรมของธุรกิจต่างชาติ ทั้งผู้เก็งกำไรในค่าเงิน ผู้ให้ยืมเงินและผู้ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ล้วนมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้

Facebook Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *